06/10/2020
Public Realm

บ้านสูง เมืองต่ำ : ถอดความหนังเอเชียรางวัลออสการ์ ผ่านงานสร้าง ‘ขั้นบันได’ แบบ ‘ชนชั้นปรสิต’

ธีพิสิฐ มหานีรานนท์
 


เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงรู้จัก หรือได้ยินชื่อภาพยนตร์ หนังแนวธริลเลอร์/ตลกร้ายสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Parasite (หรือ ‘ชนชั้นปรสิต’ ในบ้านเรา) ของผู้กำกับ บงจุนโฮ (Bong Joon-ho) ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญด้วยการคว้ารางวัลใหญ่สุดในสาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ (Oscars หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Academy Awards) ครั้งที่ 92 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาครอง นับเป็นหนังจากเอเชียเรื่องแรกที่สามารถทำได้บนเวทีรางวัลชั้นนำด้านภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยถือเป็นการตอกย้ำปรากฏการณ์ความนิยมข้ามทวีปของตัวหนังอย่างสวยสดงดงาม หลังชนะรางวัล ‘ปาล์มทอง’ (Palme d’Or) อันทรงเกียรติจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาเมื่อกลางปี 2019 และจนถึงตอนนี้ Parasite ก็กวาดเงินจากการออกฉายทั่วโลกไปมากกว่า 266 ล้านเหรียญสหรัฐฯ!

ความยอดเยี่ยมของหนังทำให้การดูซ้ำ หรือดูช้ากว่ากระแส ไม่ได้เป็นปัญหาเลย แถมยังได้เห็นอะไรใหม่ๆ เสียด้วยซ้ำ  

นอกจากความสำเร็จครั้งมโหฬารของหนังร่วมทวีปเรื่องนี้จะเกิดจากฝีไม้ลายมือของทั้งผู้กำกับที่เล่าเรื่อง ‘ครอบครัวคนจนที่แฝงตัวมารับใช้ครอบครัวคนรวยเพื่อหวังปอกลอก’ ได้อย่างแยบคาย และทีมนักแสดงหลากรุ่นที่ถ่ายทอดตัวละครทุกตัวได้อย่างเปี่ยมมิติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมแรงให้ตัวหนังออกมาทรงพลังจนสามารถจับใจผู้ชมได้ในวงกว้างขนาดนี้ ก็คือ ‘งานสร้าง’ สุดปราณีตบรรจง โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ ‘บ้าน’ สำหรับตัวละครต่างครอบครัว และการออกแบบ ‘เมือง’ แวดล้อม ที่ดูจะสอดรับกับ ‘ความหมาย’ ของเรื่องเล่าใน Parasite จนแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน

เพราะ ‘บ้าน’ และ ‘เมือง’ ที่หยิบยืมเอารูปแบบ/คุณสมบัติของ ‘บันได’ มาปรับใช้ในหนังเรื่องนี้ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยตีแผ่ ‘ความแตกต่างทางชนชั้น’ ระหว่างครอบครัว ‘คนรวย-คนจน’ ซึ่งสามารถส่องสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่และโครงสร้างสังคมอันเหลื่อมล้ำในโลกแห่งความเป็นจริงออกมา ได้อย่างน่าขบคิดตามอยู่ไม่น้อย

(หมายเหตุ : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของหนัง)

1

หนังเข้าชิง 6 รางวัล และชนะไปถึง 4 รางวัล โดยรางวัลที่ชนะรวมถึง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวที ‘ออสการ์’ และ ‘ปาล์มทองคำ’ ที่เทศกาลหนังนานาชาติ

หลังได้รางวัลกระแส Parasite ก็ครองโลก รายได้ของหนังพุ่งสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนการชนะออสการ์มากถึง 230 เท่า! — ซึ่งหากนับรวมมาถึงปัจจุบัน Parasite ก็สามารถทำรายได้รวมจากทั่วโลกไปกว่า 266 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างราว 11 ล้านเหรียญฯ  จนอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นความสำเร็จระดับโลกของทั้งบริษัทผู้จัดจำหน่ายอย่าง CJ Entertainment และผู้กำกับอย่างบงจุนโฮในฐานะ ‘หนังที่ทำเงินสูงเกินกว่า 100 ล้านเหรียญฯ เรื่องแรก’ ของเขา

นี่คือความสำเร็จของ Parasite หากจะย่นย่อให้เหลือ 1 พารากราฟ

แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงเพราะคุณงามความดีของตัวผู้กำกับ นักแสดง หรือเนื้อหาสุดระทึกเท่านั้นที่ทำให้หนังเดินทางมาได้ไกลถึงเพียงนี้ หากแต่ยังเป็นเพราะองค์ประกอบสำคัญอย่าง ‘การออกแบบงานสร้าง’ (Production Design) อันหมายถึงการก่อร่าง ‘ฉากหลัง’ อย่าง ‘บ้าน’ และ ‘เมือง’ ที่ช่วยให้หนังสามารถบอกเล่าเรื่องราวออกมาได้อย่างลุ่มลึกและน่าค้นหามากขึ้น จนถึงขนาดมีคนกล่าวว่า หากออสการ์มีการมอบรางวัลในสาขา ‘งานสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม’ บ้านของครอบครัวคนรวย-คนจนในหนังเรื่องนี้ คงถือเป็น ‘ตัวเก็ง’ ที่น่าเกรงขามที่สุด

และคำกล่าวนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด หากผู้ชมได้ทราบข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาสถาปัตยกรรมบ้านเรือนอันเปี่ยมความหมายใน Parasite ล้วนแล้วแต่ถูก ‘สร้างขึ้นใหม่’ ทั้งหมด! 

เริ่มจากสถาปัตยกรรมในฉากเปิดเรื่องอย่าง ‘บ้านเช่ากึ่งใต้ดิน’ อันแสนอุดอู้ของครอบครัว คิม ผู้อัตคัดขัดสน (พ่อ, แม่ และลูกชาย-ลูกสาวหัวหมอที่ต่อมาได้พยายามเข้าไปใช้ชีวิตในบ้านคนรวยด้วยการ ‘สวมรอย’ เป็นคนขับรถ, แม่บ้าน และสองติวเตอร์จบนอกโดยแสร้งว่าไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) ที่ถูก อีฮาจุน (Lee Ha-jun) โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของหนัง ออกแบบให้ตั้งอยู่ ‘ต่ำกว่า’ ระดับพื้นถนนลงไปราว 1.5 เมตร ซึ่งภายในนั้นถูกอัดแน่นไปด้วยข้าวของเก่าเก็บ และมีเพียงหน้าต่างบานเล็กแคบที่แทบจะไร้แสงสว่างส่องถึง

โดยพร้อมกันนั้น เขากับทีมงานก็ยังลงทุนสร้าง ‘เมือง’ หรือชุมชนแวดล้อมอันประกอบด้วยอาคารอีก 20 หลังและตัวละครประกอบอีก 40 ครัวเรือนที่ต่างมี ‘เรื่องราวชีวิต’ เป็นของตัวเอง จากหญิงชราที่ต้องเก็บขยะประทังชีวิต ไปจนถึงอดีตทหารเรือที่ผันตัวมาเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยเสริมบรรยากาศของบ้านหลังนี้ให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา (แม้มันจะเป็นภาพชีวิตที่ดู ‘ลำบากลำบน’ จนไม่น่าอาศัยอยู่เอาเสียเลยก็ตาม) ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกปลูกสร้างอย่างปราณีตบรรจงอยู่ภายในสตูดิโอถ่ายหนังที่เมืองโกยาง (Goyang) ของเขตโซลนั่นเอง — ด้วยเหตุนี้ ทั้งตัวบ้านและชุมชนรอบข้างของครอบครัวคิม จึงออกมาดู ‘สมจริง’ เสียจนแม้แต่ผู้ชมชาวเกาหลีใต้แท้ๆ เองก็ยังไม่รู้สึกเอะใจว่า มันเป็นเพียง ‘ฉากที่ถูกสร้างขึ้นใหม่’ ด้วยซ้ำไป 

ตามด้วยอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นไม่แพ้กันอย่าง ‘บ้านสองชั้น’ สุดหรูของครอบครัว พัค ผู้ร่ำรวย (พ่อ, แม่ และลูกสาว-ลูกชายหัวอ่อนที่ถูกครอบครัวคิมเข้าลวงหลอกปอกลอก) ที่อีฮาจุนออกแบบบ้านหลังนี้ร่วมกับบงจุนโฮ ผู้เป็นหนึ่งในทีมเขียนบทด้วย โดยอ้างอิงจากหลักการแต่งบ้านแบบมินิมอล (Minimalism) ที่เน้นการมี ‘ข้าวของปริมาณน้อย แต่ประโยชน์ใช้สอยมาก’ ของตัวละครสถาปนิกชื่อดังผู้เป็นอดีตเจ้าของบ้าน ซึ่งสะท้อนชัดจากการสร้างสรรค์ ‘โถงนั่งเล่น’ อันเรียบหรูและกว้างขวางที่มีไฮไลต์อยู่ตรง ‘กระจกใสบานใหญ่’ ที่สามารถมองเห็นสนามหญ้าและสวนภายนอกบ้านได้อย่างชัดแจ๋ว จนดูคล้ายกับเป็น ‘จอภาพยนตร์’ ที่สมาชิกของบ้านจะสามารถดื่มด่ำกับภาพความงดงามตามธรรมชาติร่วมกันได้ในทุกฤดูกาล โดยอีฮาจุนกับผู้กำกับภาพ ฮงคยองพโย (Hong Kyung-pyo) ได้เลือกสรรพื้นที่โล่งกว้างในการก่อสร้างบ้านหลังนี้ตามทิศทางการ ‘ขึ้น’ และ ‘ตก’ ของพระอาทิตย์ เพื่อให้ ‘แสงจริง’ สาดส่องเข้ามาในฉากได้อย่างสวยงามและสอดคล้องกับ ‘ช่วงเวลา/สภาวะอารมณ์’ ของเรื่องเล่าตรงตามบทหนัง

นอกจากนี้ ทีมงานยังสร้างบ้านของครอบครัวพัคขึ้นมาเพียง ‘ครึ่งเดียว’ ในขั้นตอนการถ่ายทำ (Production) กล่าวคือสร้างแค่ ‘บ้านชั้นล่าง’ และบางส่วนของสวนเท่านั้น โดยก่อฉาก บลู สกรีน (Blue Screen) เอาไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อนำไปต่อเติมเป็น ‘บ้านชั้นบน’ และปรับแต่งรายละเอียดรอบบ้านด้วยงานเทคนิคพิเศษด้านภาพ (Visual Effects – VFX) ในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-production) อีกทีหนึ่ง ขณะที่ฉากภายในของ ‘ห้องนอนชั้นสอง’ ของเหล่าสมาชิกครอบครัว กับ ‘ห้องเก็บของใต้ดิน’ นั้น ก็ถูกสร้างแยกออกมาในสตูดิโอ โดยเน้นการออกแบบบ้านที่ทั้ง ‘กว้าง’ และ ‘ลึก’ เพื่อให้เหมาะกับภาพขนาดกว้างที่ปรากฏบนจอหนัง

และด้วยการเข้าควบคุมงานสร้างในทุกตารางนิ้วของบงจุนโฮกับทีมงานเช่นนี้ บ้าน/เมืองใน Parasite จึงเป็นมากกว่าเพียง ‘ฉากหลังธรรมดาๆ’ อย่างไม่ต้องสงสัย 

2

บงจุนโฮเผยว่าชื่อหนังอย่าง Parasite อันแปลว่า ‘ปรสิต’ ที่อาศัยร่างกายของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อให้ตนอยู่รอด อาจสื่อความแทนค่าได้ทั้งกับครอบครัว ‘คนจน’ ที่กำลังคิดหาหนทางกอบโกยผลประโยชน์จากคนรวย และครอบครัว ‘คนรวย’ ที่กำลังพึ่งพาคนจนให้มาทำกิจวัตรที่ดู ‘ต่ำชั้น’ แทนตน (เช่น งานบ้าน, การขับรถ) — กล่าวคือ หากสบโอกาส ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ชนชั้นไหนก็สามารถเอาเปรียบกันได้เสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดที่ผู้กำกับอย่างเขาอยากบอกเล่าผ่านหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก

บงจุนโฮเริ่มต้นร่างไอเดียของ Parasite ขึ้นมาในปี 2013 ขณะทำหนังเรื่อง Snowpiercer (ซึ่งพูดเรื่องชนชั้นภายใต้ฉากหลังที่เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งในรถไฟสายดิสโทเปียเช่นกัน) โดยนำเอาประสบการณ์การเป็นติวเตอร์ให้กับลูกคนรวยในช่วงวัยรุ่นของเขา มาผสมผสานเข้ากับแรงบันดาลใจจาก The Housemaid (1960) หนังคลาสสิกของเกาหลีใต้ที่ว่าด้วยสงครามประสาทระหว่างเจ้านายกับลูกจ้างหญิงของผู้กำกับ คิมคียัง (Kim Ki-young) ซึ่งบงจุนโฮกับคนเขียนบทร่วมอย่าง ฮานจินวอน (Han Jin-won) ได้เขียนเรื่องราวและกำหนดการกระทำของตัวละครไปพร้อมๆ กับการสร้าง ‘แปลนบ้าน’ แต่ละหลังขึ้นมาในหัว ซึ่งฝ่ายผู้กำกับก็ย้ำว่า บ้านเหล่านี้ ไม่ว่าของคนรวยหรือคนจน คือ ‘จักรวาลของหนัง’ ที่ช่วยสื่อถึง ‘สถานะทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน’ ของตัวละครทั้งสองฝั่งฝ่ายได้อย่างดีเยี่ยม 

ดังเช่นบ้านของครอบครัวพัคที่ถูกตกแต่งภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์เรียบหรูที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยเน้นสีโทนเย็นและ/หรือหม่นเข้ม, มีพื้นผิวเรียบมัน-เหลี่ยมมุมคมชัด และถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบภายในบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางห่างไกล เพื่อสื่อถึง ‘ความไว้ตัว’ และ ‘ความเหินห่าง’ ที่คนรวยผู้อยู่อาศัยมีต่อเพื่อนมนุษย์ ขณะที่บ้านของครอบครัวคิมนั้น กลับรกเลอะไปด้วยชิ้นส่วนห้องและข้าวของหลากสีหลายขนาดภายในบ้านกึ่งใต้ดินที่คับแคบอับทึบ โดยทีมงานประกอบสร้างขึ้นมาจากของบรรดาเก่าเหลือทิ้งที่มีร่องรอยการใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 10-20 ปี ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง, ประตู, กระเบื้อง ไปจนถึงท่อประปา ซึ่งนั่นก็ทำให้ภาพของบ้านคนจนหลังนี้ดู ‘ทรุดโทรม’ และ ‘สมบุกสมบัน’ แถมยัง ‘ส่งกลิ่นเหม็น’ โชยทะลุจอออกมาได้อีกด้วย — ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็น ‘ห้องน้ำ’ แสนสกปรกของบ้านที่ชักโครกถูกยกสูงมาครึ่งชั้นจนศีรษะของคนนั่งเกือบจะติดชิดเพดาน ซึ่งบงจุนโฮกล่าวว่า มันเปรียบเสมือน ‘วิหารแห่งสิ่งปฏิกูล’ (Temple of Excrement) ที่สะท้อนถึงสภาพชีวิตอันต่ำตมถึงขีดสุดของครอบครัวคิม เช่นเดียวกับในฉากท้ายๆ ที่ ‘ของเสีย’ ในนั้นลอยฟ่องขึ้นมาปะปนกับน้ำที่กำลังทะลักท่วมบ้านพวกเขาอย่างน่าหดหู่ใจ

ยิ่งไปกว่านั้น, การจัดวาง ‘ตำแหน่ง’ ของบ้านแต่ละหลัง รวมถึง ‘ผังเมือง’ ที่เชื่อมบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน ก็ยังสื่อถึงสถานะ ‘สูง-ต่ำ’ ระหว่างชนชั้นของพวกเขาอย่างชัดเจน ซึ่งบงจุนโฮเคยถึงกับเรียกหนังเรื่องนี้เล่นๆ ว่าเป็น ‘หนังขั้นบันได’ (Staircase Movie) เพราะเราจะได้เห็น ‘บันได’ ปรากฏอยู่เต็มไปหมด ทั้งบันไดสองสามแห่งในบ้านพัคที่ทอดขึ้น-ลงทั้งชั้นบนและชั้นใต้ดิน, บันไดของชุมชนคนจนที่ไล่ระดับลดหลั่นกันลงไป รวมถึงบันไดที่พาบ้านพัคมุดลงดิน — บันไดจึงถือเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการเล่าเรื่องของ Parasite โดยบงจุนโฮอธิบายว่า มันคล้ายกับหนังคลาสสิกเรื่อง High and Low (1963) ของ อากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa) ที่เปรียบ ‘คฤหาสน์คนรวยเบื้องบน’ กับ ‘สลัมคนจนเบื้องล่าง’ ให้เป็นดั่ง ‘สวรรค์’ กับ ‘นรก’ 

‘สวรรค์’ อย่างบ้านคนรวยของครอบครัวพัคจึงถูกออกแบบให้ตั้งอยู่บนเนินที่ ‘สูงกว่า’ เพื่อนบ้านรอบข้าง โดยทุกครั้งที่พวกเขาเข้าบ้านมา ไม่ว่าจะจากประตูหน้าบ้านหรือลานจอดรถใต้ดิน พวกเขาต้อง ‘ขึ้นบันได’ เสมอ และแม้จะเข้าไปภายในบ้านแล้ว พวกเขาก็ยังต้อง ‘ขึ้นบันได’ ไปเสพสุขที่ชั้นบนอีกทอดหนึ่งด้วย (ซึ่งตรงกันข้ามกับครอบครัวคิมที่ต้องคอย ‘ขึ้นๆ ลงๆ บันได’ ทั้งในบ้านตัวเองและบ้านพัค เพื่อพยายามแย่งชิงอำนาจจากคนรวยที่มีชีวิตสมบูรณ์พร้อมกว่า) ซึ่งนอกจากบันไดที่โผล่มาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นในบ้านพัคก็ยังถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดรับกับการสื่อความนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะในโถงนั่งเล่น-ซึ่งครอบครัวคิมที่กำลังปาร์ตี้จนเมาเละขณะอยู่กันตามลำพังใช้ ‘หลบซ่อน’ จากครอบครัวพัคที่เดินทางกลับบ้านมาอย่างกะทันหันในคืนวันฝนตก-ที่ถูกประกอบขึ้นจากแผ่นไม้ที่วางเหลื่อมกันถึง 4 ระดับจนมีรูปทรงที่ดูคล้ายกับ ‘ขั้นบันได’ ซึ่งสามารถ ‘บดบัง’ ไม่ให้คนบ้านพัคมองเห็นคนบ้านคิมที่นอนแอบอยู่ข้างใต้ได้

นอกจากนี้ เมื่อเรื่องราวของหนังเต็มไปด้วย ‘ความลับ’ ที่ถูกซุกซ่อนไว้ บ้านของครอบครัวพัคจึงถูกสร้างมาให้มี ‘เหลี่ยม’ และ ‘มุม’ มากมาย เพื่อให้เหล่าตัวละครผู้มีความลับ ไม่ว่าจากฝั่งไหน สามารถหลบซ่อนจากกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ ‘บันไดลับ’ ที่ถูกซ่อนอยู่หลังตู้เก็บของขนาดมหึมา ซึ่งเก่าคร่ำจนไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีกลไกที่สามารถเลื่อนออกได้และเปิดทางไปสู่ ‘หลุมหลบภัย’ ที่อยู่ลึกลงไปด้านล่างห้องใต้ดิน ที่ทำให้ทั้งสองครอบครัวได้เผชิญหน้ากับ ‘สามีผู้ป่วยไข้ของแม่บ้านคนเก่าที่ใช้ชีวิตลับๆ อยู่ในบ้านหลังนั้น’ ภายใต้สถานการณ์อันน่าสะพรึงกลัวในช่วงครึ่งหลังของหนัง  

ขณะเดียวกัน ‘นรก’ อย่างบ้านคนจนของครอบครัวคิม ก็ถูกออกแบบให้อยู่ ‘ต่ำกว่า’ พื้นถนนลงไปกว่าครึ่ง ซึ่งระดับ ‘ความสว่าง’ ยังถูกนำมาใช้ถ่ายทอดบุคลิกของบ้านด้วย เพราะขณะที่บ้านคนรวยมีหน้าต่างกว้างใหญ่หลายบานที่ช่วยให้แสงส่องผ่านมาได้จากทุกทิศทาง ทว่าบ้านคนจนกลับมีหน้าต่างเล็กแคบติดพื้นถนนบานเดียวที่ปล่อยให้แสงเล็ดลอดลงมาได้เพียงน้อยนิด ซึ่งแสงภายในบ้านที่แตกต่างกันสุดขั้วของสองครอบครัวนี้ สามารถสื่อถึงระดับ ‘ความหวัง’ หรือ ‘ความสบายใจ’ ในชีวิตที่ช่างไกลห่างกันอย่างสิ้นเชิง

และเพื่อให้บ้านคนจนของครอบครัวคิมดู ‘ตกต่ำ’ ลงไปอีกขั้น บงจุนโฮกับผู้กำกับภาพจึงถ่ายทำช่วงต้นของซีเควนซ์ ‘ฝนตกหนักจนน้ำท่วมชุมชนบ้านคิม’ (บ้านคิมและชุมชนเลยต้องถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ของสตูดิโอที่มีลักษณะเป็นเหมือน ‘แท้งค์น้ำ’ ขนาดยักษ์) โดยให้สามพ่อลูกครอบครัวคิมหลบหนีกลับบ้านด้วยการเดินฝ่าพายุฝนอย่างยาวนาน ไล่จากบ้านพัคบนที่สูง ลงไปยังบ้าน/ชุมชนของตนบนที่ต่ำ-ที่น้ำฝนปริมาณมหาศาลกำลังไหลทะลักเข้าท่วม ซึ่งหลายฉากที่พวกเขาต้องเดินลงต่ำไปเรื่อยๆ นั้น ถูกประกอบขึ้นมาจากโลเคชั่นถ่ายทำหลายแห่ง จากเนินสูงในย่านซองบุก (Seongbuk) ที่คลาคล่ำไปด้วยบ้านคนรวย จนถึงบันไดลงอุโมงค์ยักษ์ ชาฮามุน (Jahamun) โดยทีมงานได้คัดเลือกเฉพาะสถานที่ที่มีโครงสร้างเป็นไปในแนวดิ่ง (Verticality) ทั้งสิ้น ซึ่งถูกนำมาใช้สื่อสารถึง ‘การเดินทางกลับสู่สถานะอันต่ำเตี้ย’ ของครอบครัวคิมในช่วงท้าย 

คล้ายกับพวกเขากำลังถูกชะตากรรมผลักไสให้ออกห่างจาก ‘สวรรค์’ อันอุ่นสบายหอมหวานของคนรวย และบีบบังคับให้หวนคืนสู่ ‘นรก’ อันเปียกแฉะเน่าเหม็นของคนจนนั่นเอง

3

‘บ้านกึ่งใต้ดิน’ อันเปรียบได้กับ ‘นรก’ สำหรับครอบครัวคิมของบงจุนโฮนั้น เป็นบ้านที่ ‘มีอยู่จริง’ ในประเทศเกาหลีใต้

แถมมันยังมีจำนวนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อเสียด้วย!

‘พันจีฮา’ (Banjiha) คือชื่อเรียกของบ้านกึ่งใต้ดินที่มีขนาดเล็กแคบและมีแสงส่องผ่านได้ยาก ไม่ต่างจากบ้านคนจนใน Parasite โดยมันเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตกทอดมาจากยุค 70 ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือกำลังเป็นไปอย่างตึงเครียด หลังการพยายามลอบฆ่าอดีตประธานาธิบดี พัคจองฮี (Park Chung-hee) จากฝั่งอนุรักษนิยม และการแฝงตัวเข้ามาทางฝั่งใต้เพื่อก่อการร้ายของกองกำลังติดอาวุธจากฝั่งเหนือ จนกลายเป็นข้อบังคับของกฎหมายก่อสร้างในยุคนั้นว่า อาคารที่จะถูกปลูกสร้างใหม่นับจากปี 1970 เป็นต้นไป ต้องสร้าง ‘ห้องกึ่งใต้ดิน’ ในลักษณะนี้เอาไว้ เพื่อใช้เป็น ‘หลุมหลบภัย’ ยามเกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือภาวะสงครามฉุกเฉิน — มันจึงถือเป็นผลผลิตทางสถาปัตยกรรมที่เกิดจากประวัติศาสตร์อันผันผวนของคนเกาหลีใต้โดยแท้

และแม้ว่าการเช่าพันจีฮาเพื่อพักอาศัยจะเคยถูกกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายในช่วงแรกเริ่ม ทว่าหลังเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ซึ่งสืบเนื่องจากภาวะประชากรล้นกรุง ในยุค 80 พันจีฮาก็ได้รับอนุญาตให้เจ้าของสามารถนำมาเปิดเช่าได้ จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ มันจึงกลายมาเป็นประเภทของห้องเช่าที่มีราคาค่อนข้างถูก และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ ‘ผู้มีรายได้น้อย’ ในเมืองหลวงอย่างกรุงโซล โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือคนยากไร้จากชนบทที่ย้ายเข้ามาเพื่อหวังที่จะทำงานเก็บเงินและแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า (จากข้อมูลสถิติในปี 2018 บ่งชี้ว่ามีคนในโซลอาศัยอยู่ในพันจีฮาไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย!) แต่ถึงกระนั้น นอกเหนือไปจากความคับแคบและปริมาณแสงสว่างที่มีจำกัดแล้ว ความยากลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ภายในพันจีฮาก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของหน้าต่างที่มักประจันหน้ากับพื้นถนนจนผู้คนสามารถส่องลงมาหรือแม้แต่ถ่มน้ำลาย/ทิ้งขี้บุหรี่ให้ผู้อยู่อาศัยต้องเดือดร้อน หรือจะเป็นภัยตามธรรมชาติอย่างแมลง หนู เชื้อรา กองหิมะ หรือภาวะน้ำท่วม ที่มักจะดาหน้ากันเข้ามาก่อกวนในต่างกรรมต่างวาระ 

และเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งเกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในพันจีฮากับ องค์การการท่องเที่ยวแห่งกรุงโซล (Seoul Tourism Organization) เมื่อการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ‘ชุมชน’ ที่มีลักษณะเดียวกับหนังเรื่อง Parasite ได้กลับกลายเป็นการ ‘แสวงหาประโยชน์จากวิถีชีวิตของคนยากไร้’ ในแถบนั้นไป เพราะการที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันไปถ่ายรูปกับพันจีฮาโดยปราศจากการร้องขอนั้น ส่งผลให้บรรดาผู้เช่าพันจีฮาเกิดความไม่สบายใจ และรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแค่ ‘ลิงในสวนสัตว์’ สำหรับผู้มาเยือน — พันจีฮาจึงยังคงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่คอยตอกย้ำถึง ‘ความยากจน’ ของผู้คนที่พักอาศัยเสมอมา ดังเช่นใน Parasite ที่ตัวละครพ่อผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวคิมเคยพูดว่า ‘กลิ่นคนจน’ ของพวกเขา ที่ครอบครัวพัคมักบ่นว่าเป็น ‘กลิ่นเหม็น’จะไม่มีวันจางหายไป ตราบใดที่พวกเขายังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านกึ่งใต้ดินอันแสนสกปรกรกชื้นแห่งนี้ ความรู้สึกโดนดูถูกจากโลกภายนอกนี่เองที่ทำให้ ‘คนที่โดนดูถูก’ อย่างพวกเขาต้องคอย ‘เอาคืน’ ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส  

“มันสามารถสะท้อนถึงสภาวะจิตใจของครอบครัวคิมได้เลยนะครับ” ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์อย่างบงจุนโฮกล่าวถึงพันจีฮาหลังนั้นที่เขาสร้างขึ้น “เพราะคุณสามารถมองเห็นโลกภายนอกนั่นได้ตั้งครึ่งหนึ่ง มันเลยพอจะดูมี ‘ความหวัง’ หลงเหลืออยู่บ้าง คุณยังสัมผัสได้ว่ามีแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามา และคุณก็ยังไม่ได้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินเสียทีเดียว 

“มันจึงเป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างแปลกประหลาดระหว่างความหวังที่ว่านี้ กับ ‘ความกลัว’ ที่ว่าตัวคุณเองอาจมีวันที่ต้องตกต่ำไปมากกว่านี้ ซึ่งผมคิดว่ามันช่างสอดพ้องกับสิ่งที่ตัวละครเหล่านี้ ‘รู้สึก’ เหลือเกิน” 

และนั่นก็คงไม่ใช่แค่ความรู้สึกของครอบครัวคิม ผู้สิ้นหวังกับชีวิตจนต้องลุกขึ้นมาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนมีอนาคตที่ดีกว่า ในหนังอย่าง Parasite เท่านั้น…

หากแต่มันคือ ‘ความรู้สึกร่วม’ หนึ่งเดียวกันของ ‘ผู้ยากไร้’ ทุกผู้ทุกนามในสังคมโลกอันแสนเหลื่อมล้ำและร้ายกาจแห่งนี้ 


Contributor