06/04/2021
Economy
8 โจทย์การฟื้นฟูสะพานเขียว สู่แนวคิดการออกแบบโครงสร้างเชื่อมต่อ 3 มิติ: เชื่อมการสัญจร เชื่อมระบบนิเวศ เชื่อมสังคมเศรษฐกิจ
ชยากรณ์ กำโชค ประกายรัตน์ เตรียมล้ำเลิศ
“สีเขียวเชื่อมย่าน สะพานเชื่อมเมือง”
เป็นแท็กไลน์ของโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวกรุงเทพฯ (Bangkok Green Bridge) ที่ศูนย์แบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ใช้สื่อสารกับสาธารณะตั้งแต่ปี 2562 แท็กไลน์ 8 พยางค์สะท้อนหัวใจของแนวคิดการฟื้นฟูโครงสร้างลอยฟ้าอายุกว่า 20 ปีแห่งนี้ได้พอสังเขป เช่น การเพิ่ม “ความเขียว” และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสองสวน ชุมชน และเมือง
จุดเริ่มต้นของโครงการฟื้นฟูสะพานเขียวมาจากการที่ กทม. เห็นปัญหาของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพทรุดโทรมของสภาพแวดล้อมใต้สะพาน และสภาพเน่าเสียของคลองไผ่สิงห์โต การเป็นพื้นที่ “เกือบอโคจร” ไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรผ่าน เนื่องจากจุดขึ้นลงมีน้อยและอยู่ไกลกัน ส่งผลให้สะพานเขียวเคยเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามามากเป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ
เบื้องต้น ความเขียว ความปลอดภัย การเชื่อมต่อ จึงเป็นโจทย์สำคัญของภารกิจเพื่อเมืองในครั้งนี้
ทว่า การเจรจาหารือระหว่าง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (สนย.) ตลอดจนการปฏิบัติการออกแบบร่วมกับชาวชุมชนโปโล-ชุมชนร่วมฤดี ภาคีวิชาชีพสถาปนิก และ UddC-CEUS ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้โจทย์การออกแบบและฟื้นฟูเพิ่มแง่มุมที่หลากหลาย และทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS สรุปโจทย์การออกแบบฟื้นฟูไว้ 8 ข้อ
1) ออกแบบให้พื้นที่บนสะพานเขียวให้เขียวมากที่สุดเท่าที่สะพานจะสามารถรองรับน้ำหนักได้ และมีความเป็นอารยสถาปัตย์ (universal design) คนทุกกลุ่มสามารถเข้าใช้งาน
2) ออกแบบปรับปรุงพื้นที่ใต้สะพานให้สวยงาม สอดคล้องกับพื้นที่บนสะพาน เพิ่มจุดเชื่อมต่อและการเข้าถึงจากชุมชนโปโลและชุมชนร่วมฤดี
3) ออกแบบสะพานลอยทางเข้าโครงการให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมือง สามารถกันแดดและฝนได้บางส่วน สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของจราจร และความสามารถในการรับน้ำหนักของสะพาน
4) ออกแบบปรับปรุงพื้นที่ต่อเนื่องไปเชื่อมพื้นที่ริมคลองไผ่สิงโต ซึ่งเป็นขอบเขตของโครงการสวนเบญจกิติ สู่พื้นที่เรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาของเมือง และทางเชื่อมไปยังถนนรัชดาภิเษก (โซนอโศก)
5) ออกแบบแสงสว่างให้พอเพียงสามารถใช้งานพื้นที่ได้ในยามค่ำคืน มีความสวยงามและปลอดภัย
6) ออกแบบระบบระบายน้ำให้มีการถ่ายเทและเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ ป้องกันการขัง เน่าเสีย และส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์
7) ออกแบบกฏกติกาการใช้งานพื้นที่และออกแบบระบบการบริหารจัดการพื้นที่ โดยชักชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
8) บูรณาการกับโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการสวนป่าเบญจกิติของกรมธนารักษ์ ออกแบบโดยอาศรมศิลป์
ความพิเศษอีกประการสำคัญของโครงการคือ ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในภาคีวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกแขนง ประกอบด้วย ATOM DESIGN / Studio TAILA / Landscape Collaboration / ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ UddC-CEUS
โจทย์ (อย่างน้อย) 8 ข้อข้างต้น จึงแจกจ่ายให้ภาคีสถาปนิกดำเนินการแก้โจทย์ด้วยการออกแบบและศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญ
ล่าสุดทีมออกแบบได้พัฒนาแบบร่างการออกแบบขั้น preliminary design ภายหลังได้รับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชนโปโลและชาวชุมชนร่วมฤดีเพิ่มเติม ประกอบไปด้วยแนวคิดการออกแบบ 5 แนวคิด ดังนี้
1) สะพานเขียว : THE NEW ICONIC OF BANGKOK
จุดหมายตาแห่งใหม่ของเมืองที่ใจกลางกรุงเทพฯ สะท้อนแนวคิดหลักของโครงการ “THE NEW ICONIC URBAN SPACE” แลนด์มาร์กจะจัดวางใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ สะพานลอยข้ามแยกสารสิน, ทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษเฉลิมมหานคร, สะพานลอย ถ.รัชดาภิเษก ทางเข้าสวนเบญจกิติ ทั้ง 3 จุดออกแบบให้สวยงาม โดดเด่น กลมกลืนกับพื้นที่บนสะพานเขียว มีโครงเหนือหัวที่สามารถกันแดดกันฝนได้เป็นบางช่วง และเน้นวัสดุที่โปร่งเพื่อให้ความรู้สึกน่าสบายในการใช้งาน
ไพทยา บัญชากิติคุณ กรรมการผู้จัดการ ATOM Design ผู้รับผิดชอบงานหลักส่วนแลนด์มาร์ก 3 จุด กล่าวว่า ข้อจำกัดหลายประการทำให้สะพานเขียวยังไม่อยู่ในการรับรู้ของคนจำนวนมาก การเพิ่มสถาปัตยกรรมบนตัวสะพานจึงไม่เพียงช่วยสร้างร่มเงาเท่านั้น แต่ยังเป็นแลนด์มาร์ก เป็นที่หมายตาให้พื้นที่โดยรอบและคนที่สัญจรไปมาได้ เพื่อให้สะพานเขียวมีศักยภาพเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่และเป็นที่จดจำของเมือง อย่างน้อยคนใช้งานผ่านไปผ่านมารู้ว่าพื้นที่นี้มีฟังก์ชันด้านเมืองอยู่
อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างสะพานเดิมเพื่อให้คนเดินสัญจรเท่านั้น ไม่ได้มีการมองเผื่อการเพิ่มภูมิทัศน์สีเขียว หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับตัวสะพาน จากข้อจำกัดเรื่อง capacity เราต้องมาออกแบบร่วมกับภูมิสถาปนิกกำหนดตำแหน่งของตัวโครงสร้างที่เป็นตัวสถาปัตยกรรม และตำแหน่งภูมิทัศน์ต้นไม้ที่มีขนาดกลางแบบอย่างแม่นยำ เพราะต้องดูศักยภาพในการรับน้ำหนักของตัวโครงสร้างเดิม รวมถึงเรื่องของการจัดเตรียมระบบ เช่น ระบบน้ำ ทั้งในแง่การจ่ายน้ำให้กับพื้นที่สีเขียว และทั้งในแง่ของการระบายน้ำในกรณีต่างๆ เช่น ฝนตก
“จุดประสงค์เดิมของสะพานเขียวที่เคยพยายามเชื่อมสองสวนเข้าด้วยกัน ก็น่าจะมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น คนรับรู้ได้ การใช้งานจะมีความ friendly กับการใช้งานมากขึ้น มีการสร้างร่มเงาความเขียวไม่ได้เป็นแค่สะพานลอยโล่งๆ ที่ไม่ได้มีการบังแดดหรือสิ่งปกคลุม ไม่ได้มีทัศนียภาพที่ส่งเสริมให้เกิดสภาวะของความน่าสบายในการใช้งาน” ไพทยา กล่าว
2) เป็นมากกว่าสะพาน แต่คือ “สวน” ที่เชื่อมสองสวน
เพิ่มความเขียวให้สะพานเขียวได้เขียวสมชื่อ ด้วยการเพิ่มเติมพรรณไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศกรุงเทพฯ เน้นพืชที่บำรุงรักษาง่าย พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของสะพานให้รับน้ำหนักได้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมทางลาดให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง-ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังมีแผนติดตั้งอัฒจันทร์สำหรับชมทัศนียภาพและศาสนสถานสำคัญ 2 ข้างทาง คือ โบสถ์พระมหาไถ่ของชาวคริสต์ และมัสยิดอินโดนิเซียของชาวมุสลิม
ธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกและกรรมการผู้จัดการ Landscape Collaboration ผู้รับผิดชอบงานหลักส่วนโครงสร้างลอยฟ้าจากแยกสารสินถึงทางด่วนพิเศษเฉลิมมหานคร หลังสำรวจพื้นที่ทีม Landscape Collaboration พบปัญหาด้านความมั่นคงแข็งแรงของสะพานและความสามารถในการรับน้ำหนัก เนื่องจากเป็นโครงสร้างเก่า จึงจำเป็นต้องรีเช็คระบบและเสริมโครงสร้างตามความจำเป็น เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการใช้งานของคนกลุ่มใหญ่
ธัชพลเล่าเสริมว่า สะพานเขียวเป็นโครงสร้างลอยฟ้าที่สร้างคร่อมคลองไผ่สิงโต มีเสาไฟฟ้าแรงสูงแทรกอยู่ และสร้างผ่านถนนหลายเส้น มีการยกขึ้น ยกลง ข้ามทางด่วน ความไม่สม่ำเสมอและความชันไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนวิ่งและปั่นจักรยานส่วนใหญ่ จึงปรับด้วยการเสริมทางลาดที่ได้มาตรฐานเข้าไป ตามหลักการ universal design ที่ใช้ได้ทุกคน ทั้งผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ และคนสูงอายุ
เขาหวังว่าสะพานเขียวหลังการฟื้นฟูจะสร้างให้เกิดวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่ คนเดินกันมีโอกาสได้คุย ผ่านชุมชน เห็นเนื้อเมือง และได้ใช้พื้นที่สำหรับเสริมสร้างสุขภาวะด้วย
“อยากให้ สะพานเขียวเป็น connector เป็นสวนที่เชื่อมระหว่างสองสวนใหญ่ สะพานนี้เราก็มองว่าเป็นสวนอันหนึ่ง สวนในที่นี้คือมีที่ร่ม มีผู้คนเข้าไปใช้งานได้ แม้กระทั่งมีสภาพความเป็นนิเวศระดับหนึ่งที่ ทำให้คนรู้สึกว่าเชื่อมสวนลุมพินีไปสวนเบญจกิติโดยเดินผ่านสวนไปจริงๆ สะพานเขียวยังเป็น change agent สำหรับเมืองได้ คือคนเลือกที่จะเคลื่อนที่ระหว่างจุดนี้ไปจุดนี้ นอกจากสวนไปสวนแล้วอาจใช้เป็นทางสัญจรสำหรับบางคนที่เดินตัดจากอโศกเข้ามาสีลม” ธัชพล กล่าว
3) พื้นที่ศักยภาพ ผสานกิจกรรมสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชน
พื้นที่ส่วนกลางแห่งใหม่ของชุมชน ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ใต้สะพานเขียวเหนือคลองไผ่สิงโต ที่เดิมมีลักษณะมืดทึบและเข้าถึงการใช้งานได้ยาก สู่พื้นที่ทำกิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชนที่เปิดโล่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี และมีแสงสว่างใช้งานตลอดทั้งวันทั้งคืน พร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำใต้สะพานให้สะอาด
คุณชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์ และ คุณพิชนา ดีสารพัด สถาปนิกผังเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (สนย.) คือ การฟื้นฟูพื้นที้ด้านล่างสะพานเขียวซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างชุมชนโปโลและชุมชนสะพานเขียว จากเดิมพื้นที่รกร้างไม่เป็นระเบียบให้เป็นพื้นที่ศักยภาพ ผสานกิจกรรมสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชน ปรับพื้นที่โล่งเป็นลานกิจกรรม และค้าขายอย่างเป็นระเบียบ พร้อมปรับสภาพน้ำในคลองให้ใสสะอาด ไม่ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์
UddC-CEUS มีข้อเสนอแนะการออกแบบให้มีการเปิด-ปิดคลองบางช่วงเพื่อการใช้งานอเนกประสงค์ บำบัดคลองเพื่อน้ำใสและลดกลิ่น ด้วยการหมุนเวียนน้ำจากกังหันน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าอาคารส่วนบุคคลและริมคลองด้วยการปลูกพืชพรรณในกระถางตลอดแนว พร้อมปรับปรุงผิวอาคารและผนังให้มีสีสว่างที่มีค่าสะท้อนแสงมากกว่า 50% ปรับปรุงทางเดินริมคลองด้วยการเพนท์ลวดลายตลอดแนว และเพนท์ลวดลายบนผนังสูงบริเวณที่ไม่มีการใช้งาน เพื่อดึงดูดผู้คนจากภายนอก
“โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs Goal) เนื่องจากเป็นพื้นที่สุขภาวะใหม่ของเมือง ส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในช่วงอายุ เส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ย่านธุรกิจของเมือง เกิดพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจระดับเมือง เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจชุมชน ส่งเสริมการเดินเท้า รูปแบบการสัญจรของคนทุกกลุ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเชื่อมต่อและพักผ่อนหย่อนใจ ที่มีความปลอดภัยทั้งในระดับย่านและในระดับเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองอันจะเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสร้างความร่วมมือผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม อันเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน” ทีมสถาปนิกผังเมือง UddC-CEUS กล่าว
4) พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ของเมือง
ออกแบบสะพานเขียวโซนคลองไผ่สิงโตใกล้สวนเบญจกิติและโรงงานยาสูบ เป็นสวนลอยน้ำแห่งการเรียนรู้ ที่อุดมไปด้วยพืชที่มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมืองเรื่องการบำบัดน้ำเสีย และเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบนิเวศเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ
รัชวุฒิ วงศ์ฮึกหาญ กรรมการผู้จัดการ Studio TAILA ผู้รับผิดชอบงานหลักงานฟื้นฟูสะพานเขียว ตั้งแต่ทางพิเศษเฉลิมมหานครถึงถนนรัชดาภิเษก เชื่อมกับสวนเบญจกิติ เป็นทางเดินทางจักรยานสีเขียวที่ด้านหนึ่งติดกับสวนป่าเบญจกิติ (โรงงานยาสูบเดิม) และอีกด้านหนึ่งคือคลองไผ่สิงโต มีย่านที่พักอาศัยฝั่งเพลินจิต-สุขุมวิทอยู่ตรงข้าม
ภูมิสถาปนิกแห่งสตูดิโอใต้หล้าพบปัญหาหลัก 2 ข้อ คือ ขนาดโครงสร้างทางสัญจรเดิมที่จำกัด ยากต่อการเพิ่มความความเขียว และพบปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ระดับน้ำขึ้น-ลงไม่สม่ำเสมอตามการควบคุมของประตูน้ำ
ทีมสตูดิโอใต้หล้าจึงออกแบบแนวทางการฟื้นฟูด้วยการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยออกแบบทางเดินและลานกิจกรรมบนน้ำในลักษณะโป๊ะที่ยืดหยุ่นไปกับระดับน้ำ พร้อมปลูกพืชพรรณที่ทำหน้าเพิ่มความเขียวให้พื้นที่ และบำบัดน้ำไปในตัว โดยตั้งใจให้เป็น Learning Wetland หรือ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งการเรียนรู้อีกด้วย
“การพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำคล้ายเป็นทางผ่าน มีจุดแวะพักให้สามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องพืชบำบัดน้ำเสียได้ และถ้าประสบความสำเร็จ เราจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใช้กับพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับคลองไผ่สิงโตได้ด้วย หากในอนาคตน้ำใสสะอาด คนก็อยากจะเข้ามาใช้พื้นที่ริมน้ำ สัตว์ก็จะเข้ามาใช้ด้วย เกิดเป็นการเชื่อมต่อของระบบนิเวศเมืองที่มีคุณค่า” รัชวุฒิ กล่าว
5) ต้นแบบการใช้แสงสว่างในพื้นที่สาธารณะของเมือง
ไม่เพียงเป็นการจัดวางศิลปะแสงไฟในพื้นที่สาธารณะ ที่ดึงดูดให้ชุมชนและคนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ในยามค่ำคืนเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเสริมความปลอดภัยและความรู้สึกปลอดภัยต่อการใช้งานสะพานเขียวอีกด้วย แสงสว่างในยามค่ำคืนจำเป็นต้องเพียงพอต่อกล้องซีซีทีวีเมื่อจับใบหน้าผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันก็ออกแบบแสงให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบ และไม่กระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า
ผศ.ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นอีกบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูสะพานเขียวตั้งแต่ก้าวแรก ทั้งยังมีส่วนผลักดันเทศกาลศิลปะแสงไฟ “Bridge of Lihgt สองศูนย์ สองสวน” เมื่อต้นปี 2563 ก่อนโครงการจะพับไปด้วยวิกฤตการระบาดของเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
หลังจากสำรวจพื้นที่และร่วมหารือกับชุมชนหลายครั้ง ผศ.ดร.จรรยาพร ได้ชี้เห็นปัญหาเดิมของการใช้งานคือความไม่ปลอดภัย และความรู้สึกไม่น่าใช้งานในตอนกลางคืน ตลอดจนแสงที่จ้าเกินไปจากโคมไฟเดิม เป็นที่มาของแนวคิดการออกแบบแสงสว่างที่ก่อให้ความปลอดภัยและความรู้สึกปลอดภัย สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นมิตร ชวนให้กลับมาใช้งาน
นอกจากนี้ ความสบายตาของผู้ใช้งานก็เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน ทีมออกแบบแสงสว่างใช้แนวคิด inclusive design กล่าวคือ ไม่มองผู้ใช้งานจำกัดเฉพาะ คนเดิน คนวิ่ง คนขี่จักรยานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ดวงตารับแสงสว่างของกลุ่มคนอายุน้อย และคนที่มีสายตาเรือนราง เช่น คนสูงอายุ ทั้งนี้ เพื่อให้คนทุกกลุ่มกล้าออกมาใช้งานยามค่ำคืน
อีกประเด็นที่คำนึงเสมอ คือ ประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะทางแสง
ผู้อำนวยการ LRIC เปิดเผยว่า ทีมเลือกใช้อุปกรณ์ที่จะไม่มีแสงกระจายขึ้นไปบนท้องฟ้า และการใช้แสงสีที่เป็น warm light ซึ่งเหมาะกับตอนกลางคืนและตอนไม่มีแสงธรรมชาติ เทคนิคดังกล่าวเหมาะสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น ใกล้กับสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่ชุ่มน้ำคลองไผ่สิงโต
“เราพยายามนำเสนออะไรที่เป็น lighting certainty ที่เมื่อเสร็จแล้ว ก็อยากให้เป็นต้นแบบของการให้แสงพื้นที่สาธารณะของเมือง โดยเฉพาะที่เป็นสวนสาธารณะแบบนี้” ผศ.ดร.จรรยาพร กล่าว
โครงการฟื้นฟูสะพานเขียวกรุงเทพฯ (Bangkok Green Bridge) ริเริ่มโดย สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS), บริษัท สตูดิโอ ใต้หล้า จำกัด, บริษัท อะตอม ดีไซน์ จำกัด, บริษัท แลนด์สเคปคอลลาบอเรชัน จำกัด, ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแสงสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, บริษัท วิศวกรรมและสถาปนิก คิวบิค จำกัด และ บริษัท ไทย-ธรรม ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด สนับสนุนโครงการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)