05/11/2020
Public Realm

Bologna: เมืองเรียนรู้เดินได้ มหาวิทยาลัยมีชีวิต

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


ถนนอิฐที่ทอดเป็นแนวยาว อาคารบ้านช่องสีอิฐ พร้อมประตูไม้บานใหญ่ที่เห็นอยู่ตลอดทาง ผสมผสานกับลวดลายกราฟฟิตี และเสียงหัวเราะของเหล่านักเรียนนักศึกษา เป็นภาพที่ชินตาของ Bologna เมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างนครแห่งศิลปะฟลอเรนซ์ และเมืองแห่งแฟชั่นอย่างมิลาน

ภาพจาก Flickr.com / Juan Antonio Segal

Bologna เป็นเมืองขนาดย่อมๆ ที่ผสมผสานทั้งประวัติศาสตร์ยาวนานและความทันสมัย ประชากรในตัวเมืองจำนวนเกือบ 4 แสนคน และกว่า 1 ล้านคนทั่วทั้งจังหวัด ประกอบด้วยชาวต่างชาติและนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้ Bologna กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและความหลากหลาย

ภาพจาก Flickr.com / Fred Romero
ภาพจาก Flickr.com / Fred Romero

ชื่อของเมือง Bologna อาจคุ้นหูใครหลายๆคน เพราะเป็นชื่อเดียวกับมหาวิทยาลัย Bologna หรือ Alma Mater Studiorum หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดชองโลก ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1088 แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่เหมือนกับที่เราคุ้นชินกัน เพราะตึกเรียนของสาขาวิชาต่างๆ กระจัดการจายไปทั่วทั้งเมือง เรียกได้ว่าทั้งเมืองคือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าเดินไปที่ไหนก็จะเจอนักเรียนเข้าออกชั้นเรียนอยู่ทุกซอกมุมเมือง และด้วยความที่ไม่มีรั้วรอบกำหนดพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทำให้การเข้าเรียนในแต่ละวันของนักศึกษา คือการเดินไปยังห้องเรียนทั่วเมืองตามแต่วิชาที่ตัวเองเลือก

ภาพจาก Bologna.bo

และสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาให้สามารถเข้าเรียนได้ทุกคาบในทุกสภาวะอากาศไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก ก็คือทางเดินมีหลังคาที่เรียกว่า Portici ที่เชื่อมต่อทุกอาคารบนถนนสายหลักในเมืองที่เริ่มจากใจกลางเมืองคือบริเวณจตุรัสกลางเมือง Piazza Maggiore และหอเอนคู่สัญลักษณ์ของเมือง กระจายออกไปสู่ประตูเมืองทั้ง 12 ประตู ที่ทำหน้าที่เป็นกำแพงล้อมเมืองและทางเข้าออกดั้งเดิม ทางเดินเหล่านี้เมื่อรวมทั้งในกำแพงเมืองและบางส่วนที่อยู่นอกเมือง มีความยาวรวมกันแล้ว 53 กิโลเมตร โดยมีส่วนที่ยาวที่สุดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตรซึ่งถือว่ายาวที่สุดในโลก โดยเชื่อมหนึ่งในประตูเมืองกับมหาวิหาร San Luca เรียกได้ว่าไม่ว่าที่ไหนในเมืองนี้ ก็สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า

แม้ซุ้มทางเดินแห่งแรกของเมืองจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1041 แต่ภายหลังในปี 1288 เมื่อทางเมืองเห็นว่าจำนวนนักศึกษาและผู้อยู่อาศัยมีมากขึ้น จึงออกกฎให้อาคารและบ้านทุกหลังที่สร้างตั้งแต่นั้นมาต้องอยู่บนซุ้มทางเดิน โดยกำหนดให้มีความสูงและความกว้างอย่างต่ำ 2.66 เมตร เพื่อให้สามารถใช้เดินทางได้ทั้งคนและม้า ซึ่งในปี 1352 กำหนดขนาดเพิ่มเป็นกว้างและสูงไม่ต่ำกว่า 3.6 เมตร ยกเว้นก็แต่เพียงบริเวณพื้นที่ที่ยากจน กำหนดให้ขนาดซุ้มทางเดินเล็กกว่านี้ได้ตามสมควร ส่งผลให้อาคารทุกแห่งในเมืองถูกสร้างและออกแบบมาให้สอดคล้องกับซุ้มทางเดิน เราจึงเห็นศิลปะการออกแบบซุ้มที่หลากหลาย ทั้งทำจากไม้ จากหิน การออกแบบเสารับน้ำหนักที่ต่างกันออกไป ไปจนถึงการวาดลวดลายบนเพดานด้านในซุ้มที่ยังหลงเหลือให้ผู้อยู่อาศัย นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ได้ใช้ประโยชน์และเดินชื่นชมความงามทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้

ภาพจาก Flickr.com / Aron

นอกจากนี้เสน่ห์อีกอย่างของเมืองโบโลญญา ในวันเสาร์อาทิตย์ คือเสียงดนตรีจากนักเล่นดนตรีเปิดหมวก ศิลปินกำลังสร้างสรรค์และขายผลงานศิลปะ และจักรยานที่ลัดเลาะหลบหลีกกลุ่มคนที่ออกมาเดินพูดคุยกันขวักไขว่บนท้องถนน ที่ปราศจากรถยนต์ รวมไปถึงรถประจำทางและมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในเขตกลางเมืองนี้ได้ เราจึงเห็นก็แต่เพียงจักรยาน ผู้คน นักดนตรี การแสดงเปิดหมวก ที่กลายเป็นภาพชินตาของที่นี่

ภาพจาก Flickr.com โดย N i c o l a

ที่ผ่านมาเมือง Bologna จำกัดการเข้าออกของรถยนต์ในส่วนใจกลางเมือง ให้รถที่ใช้น้ำมันสามารถเข้าออกได้ตามเวลาและบางพื้นที่เท่านั้นและต้องมีใบอนุญาตจากเมือง จนล่าสุดตั้งแต่ปีนี้เฉพาะรถที่ไม่ใช้น้ำมันเท่านั้นจึงสามารถเข้าออกเมืองได้

แต่เพียงแค่การจำกัดจำนวนรถ อาจไม่เพียงพอในการกระตุ้นให้คนออกมาเดินเล่นในเมืองได้ ทางเมืองจึงพยายามสนับสนุนให้คนเดินเท้ามากขึ้น โดยหวังคืนพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน นอกจากการปรับปรุงขนส่งสาธารณะ ทางจักรยาน บริการจักรยานให้ยืมหรือ Bike sharing ที่จอดรถ และการจัดการขยะแล้ว สิ่งหนึ่งที่ส่งผลอย่างชัดเจนคือการกำหนดพื้นที่ด้านในสุดของเมืองเป็นพื้นที่ปราศจากรถโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นรถสาธารณะหรือรถแท็กซี่ก็ตาม โดยหลังจากการทดลองที่ประสบความสำเร็จในปี 2011 ที่มีผู้คนออกมาร่วมกิจกรรมมากถึง 60,000 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ทุกๆวันเสาร์อาทิตย์ พื้นที่ด้านในสุดของเมืองจะปิดไม่ให้รถที่มีเครื่องยนต์เข้า ส่งผลให้พื้นที่บนท้องถนนกลายเป็นพื้นที่แสดงผลงานของเหล่าศิลปิน นักดนตรี และนักแสดงไปโดยปริยาย แม้ในเบื้องต้นจะมีกระแสต่อต้านจากร้านค้าในเมือง แต่เมื่อเห็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจจากผู้คนที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นแล้ว โครงการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในที่สุด

จะเห็นได้ว่าแม้ Bologna จะมีพื้นฐานที่ดีจากการเล็งเห็นความต้องการของผู้อยู่อาศัย และสร้างทางเดินขึ้นมาพร้อมๆกับการสร้างเมือง ทำให้กลายเป็นรากฐานสำหรับแนวคิดเมืองเดินได้ในปัจจุบัน แต่ Bologna เองก็ไม่หยุดหาวิธีสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีให้มากยิ่งขึ้น จนต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและลดมลภาวะในเมืองไปพร้อมๆกัน


Contributor