05/05/2021
Public Realm

จัดการเมืองอย่างไรก่อนเตียงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ชวนมองฉากทัศน์เมืองในอนาคตหากมีโควิดระลอก 4 กับ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์

นรวิชญ์ นิธิปัญญา อวิกา สุปินะ
 


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ได้ส่งผลให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในพื้นที่ทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมีผู้ติดเชื้อรวมทะลุกว่า 1 แสนคน แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเมืองโดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนเมือง การประกอบอาชีพ กิจการร้านค้าต่าง ๆ มากมายทั่วประเทศ ในหลายพื้นที่ที่เป็น “คลัสเตอร์” การแพร่ระบาด

เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบให้โรงพยาบาลอาจมีเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นวันละ 1,000-2,000 คนหรือมากกว่านั้น จึงนำมาสู่การตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่กล่าวได้ว่า อาจเป็นความหวังในการจัดการกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตเมือง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองฉากทัศน์การจัดการเมืองในภาวะโรคระบาด โดยย้ำว่าต้องมองถึงการระบาดระลอกที่ 4 ตั้งแต่ยังมีการระบาดระลอกที่ 3 ก่อนที่เตียงผู้ป่วยจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ และสัปเหร่อไม่พอจะทำศพ!

หมายเหตุ : สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนเมษายน 2564

ปัจจัยและสาเหตุกับจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วในประเทศไทย  

จากที่ติดตามดูสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในครั้งนี้ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 หรือแม้แต่ระลอกแรกและระลอกที่ 2 ของการระบาด พบว่า มีบางช่วงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้นและลดลงตามจังหวะ (Wave) ของการระบาดวิทยา ซึ่งย่อมมีปัจจัยและเหตุผลรองรับไว้เสมอ เช่น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการท่องเที่ยวและสถานบันเทิงเกิดขึ้นมา ยังไม่รวมกับการตรวจเชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงคลัสเตอร์จากฟาร์มกุ้ง เป็นต้น    

เมื่อมองตัวเลขผู้ติดเชื้อตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 1-3 พบว่า มีอัตราผู้ติดเชื้อขึ้นลงอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ซึ่งช่วงการเพิ่มขึ้นและลดลงนั้นผันไปตามสถานการณ์ แต่หากมองในการระบาดระลอกแรก ด้วยมาตรการของภาครัฐที่มีการประกาศ Lockdown จึงให้อัตราผู้ติดเชื้อค่อย ๆ ลดลง ทว่าการระบาดในระลอกที่ 2 ในคลัสเตอร์ฟาร์มกุ้งที่มีการปิดเมืองสมุทรสาคร แต่เริ่มมีสัญญาณที่ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ระดับ 100 คนต่อวัน ซึ่งในหลายครั้งเป็นการตรวจเชิงรุก จึงเริ่มมีการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่เราคิดไว้

ด้วยเงื่อนไขระหว่างระบบสาธารณสุขที่มีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเป็นตัวพิจารณา และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งการเยียวยาและมาตรการต่าง ๆ แต่คำถามความสำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีผู้ติดเชื้อลดลงเพื่อมิให้เกิดความสูญเสีย อีกทั้งต้องไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ คำถามนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณา ทว่าการระบาดระลอกที่ 3 คลัสเตอร์เกิดจากพื้นที่สถานบันเทิงในเมืองที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น มิใช่คลัสเตอร์จากฟาร์มกุ้ง จึงทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาไร้การควบคุม ซึ่งรัฐบาลทราบดีว่าหากมีการควบคุมและขอความร่วมมือจะลดอัตราการติดเชื้อของผู้คนได้เป็นจำนวนมาก  แต่ด้วยความชะล่าใจทำให้จึงทำให้ขาดการควบคุมดูแลที่เพียงพอในการระบาดระลอกที่ 3

พื้นที่เมืองกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

สังเกตได้ว่าพื้นที่เมืองจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งผู้ติดเชื้อครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยมิใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล  

ตามกราฟสถิติ พบว่า วันที่ 15 เมษายน 2564 – 25 เมษายน 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ประมาณ 1,000 คน จนถึง 2,800 กว่าคนต่อวัน มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตอนนี้มีการออกมาตรการที่เรียกว่า Mobility ของคน ลดการเดินทางของคน ไม่ได้ห้ามออกจากบ้านแต่ให้ออกจากบ้านน้อยลง บริษัทที่มีผู้ติดเชื้อเริ่มมีการ Work From Home มันเป็นการ Mobility ทั้งตัวรัฐบาลเองแล้วก็ตัวภาคเอกชนซึ่งเห็นปัญหาร่วมนี้จนเกิดเป็นมาตรการลดการเคลื่อนย้ายของคนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นความหวังในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยกว่า 2,000 คนต่อวัน        

จากจำนวนผู้ติดเชื้อนับพันคนต่อวัน ครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นกลุ่มสังคมในชุมชนเมืองซึ่งมีโอกาสของการติดเชื้อได้มาก ทั้งการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดสูง มันมีโอกาสติดเชื้อสูงมากจำนวนผู้ติดเชื้อย่อมมากขึ้น        

มาตรการในการลด Mobility ที่เรียกได้ว่ามีความเหมาะสม คือ การลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ของผู้คนให้น้อยลง แต่ด้วยคลัสเตอร์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นมาก ทำให้มิอาจทราบได้ว่าปัจจุบันเชื้อได้มีการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ส่วนไหนของเมืองแล้วบ้าง ซึ่งจากตัวเลขสถิติของกราฟตัวสีส้มอาจมีผู้ติดเชื้อรวมหลักแสนคน แบ่งเป็นครึ่งแสนอยู่ในเขตเมืองหรือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกครึ่งหนึ่งกระจายตัวไปทั่วประเทศ โรงพยาบาล หรือกระจัดกระจายตามพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ   

ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมาร้านค้าประเภท Open Air อย่างเช่นตลาดสดที่เป็นพื้นที่ชุมชนยังเปิด คนยังแน่นอยู่เท่าเดิม แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการการเว้นระยะห่างในการดำเนินวิถีชีวิตปะจำวันและในส่วนของ Mobility ถือว่าลดลงไปมาก แต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่กรณีตลาดกลางกุ้งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ว่าคุณเข้ามาทำกิจกรรมในตลาด Open Air แต่คนบางคนอยู่เพียงแค่ 10 นาที ก็มีจังหวะที่จะติดเชื้อได้ การแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัสถือว่ามีนัยสำคัญกับเรื่องของพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ชุมชนที่เป็นตลาดนั้นยังมีความหนาแน่นอยู่

ตัวแปรสำคัญของการจัดการโควิด-19 ในปัจจุบัน

ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญ ก่อนจะมีวัคซีน คือ การแยกตัวผู้ป่วยแล้ว แล้วไม่ทำให้เกิดผู้ป่วยใหม่ เพราะเมื่อมีวัคซีน วัคซีนไม่ทำให้เกิดผู้ป่วยใหม่ แต่วัคซีนไม่ใช่ตัวรักษา ขณะนี้คงได้แต่ภาวนาให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนต่อวันลดลงในเร็ววัน

วัคซีนที่คาดว่าจะเข้ามาในเร็ววันนี้ ต้องเข้าใจว่า วัคซีนจะมาช่วยลดจำนวนคนติดเชื้อ แต่ไม่ได้ช่วยลดคนที่ติดเชื้อและไม่ได้ทำให้คนหาย ขณะนี้ยังไม่มีการการันตีผลของวัคซีน บางห้องทดลงอาจบอกว่ามีประสิทธิภาพ 97% บางห้องทดลอง 50% เมื่อฉีดยาเข้าไปที่สุดแล้วคุณยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่  

แล้วสิ่งที่การันตีคือผลทดสอบ 6 เดือนจากห้องทดลอง ทว่าหลังจากการฉีด 6 เดือน คุณยังคงมีโอกาสที่จะติดเชื้ออีก นโยบายอย่างหนึ่งของการที่ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็เป็นนโยบายซึ่งส่วนหนึ่งก็คงมีความยั่งยืนพอสมควร ทว่าประเทศเราเป็นฐานการผลิตวัคซีนเพียง AstraZeneca เท่านั้น สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะมีวัคซีน AstraZeneca มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับบริษัทแม่เป็นคนกำหนด ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการผลิต การชื้อวิธีการผลิตใดๆ เนื่องด้วยคงมีข้อจำกัดบางประการ

วัคซีนก็ไม่ใช่สิ่งที่การันตีเหมือนกันเพราะว่าวัคซีนอยู่ในช่วงการทดลองมันก็ต้องไปดูผลของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษ อิสราเอล เป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากที่สุด เราก็ต้องดูว่าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือไม่ และในระยะยาววัคซีนเป็นผลของการป้องกันจริง ๆ ไหม หรือว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้อง Monitor ผู้ป่วยอยู่ตลอด คือมันลดการ์ดได้แต่ลดการป้องกันลงไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทำงานช้ากว่าสถานการณ์ไปมากกว่า 1 ก้าว

ภาพ : กรุงเทพมหานคร โดย สำนักประชาสัมพันธ์

การรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อ: ความจำเป็นของการตั้งโรงพยาบาลสนาม

ด้วยสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน ด้วยระบบสาธารณสุข เชื่อได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถในการรับมือผู้ป่วยอยู่ที่ 50,000 คน แต่แน่นอนจำนวนผู้ติดเชื้อมีโอกาสมากถึง 100,000 คน บางส่วนอาจรักษาหายดีในช่วง 2-3 สัปดาห์ สามารถรักษาให้หายด้วย “ยาฟาวิพิราเวียร์” และอาจมีภูมิคุ้มกันมายิ่งขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวได้ว่า โดยพื้นฐานเตียงในโรงพยาบาลมันไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นมันจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามขึ้นมา      

โรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นต่อผู้มีอาการป่วย พิสูจน์ได้ว่ามีการตรวจเชื้อว่าพบเป็นผลบวก ผู้ป่วยจึงจะเข้าสู่กลไกการเข้าโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะคนที่มีอาการรุนแรงขึ้นและยังไม่ได้รับการตรวจเชื้อเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น จนนำมาซึ่งการสูญเสียตามที่สื่อต่าง ๆได้นำเสนอให้เห็น คือ ผู้ป่วยไม่สามารถไปตรวจได้ ไม่สามารถเข้าระบบการตรวจได้ จึงไม่สามารถเข้าระบบโรงพยาบาลสนาม     

ธรรมชาติของโรงพยาบาลสนาม ตามความจริงจำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบโรงพยาบาลจริง มีการให้ยาแบบโรงพยาบาล หรือหากไม่ใช่โรงพยาบาลสนามแต่เป็น Hospitel คือใช้สถานที่แห่งหนึ่งแล้วทำหน้าที่เหมือนโรงพยาบาล ในกระบวนการคือการให้ยารักษา แต่ถ้าผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยจะต้องไปอยู่ใน ICU เพื่อแยกเชื้อ แต่ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลต้องมีกระบวนการแยกคนที่ไม่มีเชื้อหรือพิสูจน์ได้ว่าไม่มีเชื้อกับคนที่พิสูจน์ได้ว่ามีเชื้อออกจากกันเพราะหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามคือการแยกผู้ป่วยออกจากระบบของผู้ที่ไม่ป่วยกับผู้ที่พิสูจน์ได้ว่ามีเชื้อแล้วออกมา เพราะฉะนั้นหากแยกได้เร็ว ตรวจเชื้อได้เร็ว ในภาพรวมการติดเชื้อจะลดลง                   

เงื่อนไขสุดท้ายของโรงพยาบาลสนาม คือ โรงพยาบาลสนามทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงพยาบาล ขณะที่หมอมีเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้นตามเตียงกระดาษ บุคลกรทางการแพทย์เท่าเดิม การแพทย์มีเท่าเดิม แต่ต้องทำงานหนักเต็ม Capacity เมื่อเพิ่มโรงพยาบาลสนามแต่ไม่สามารถเพิ่มบุคลกรทางการแพทย์ได้ตามเตียงกระดาษ ทั้งในมิติของการจัดการจัดหาอุปกรณ์ จำนวนชุด PPE จำนวนเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ Staff ไปจนถึงบุคลากรทางแพทย์ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น ภาชนะข้าวของของผู้ป่วยจะมีการจัดการอย่างไร

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลสนามย่อมต้องอยู่ใน Concept ของระบบโรงพยาบาลจริง ๆ โรงพยาบาลสนามที่มักจะเห็นในข่าวนั้นเบื้องหลังมีระบบที่ซับซ้อนอยู่อีกมาก รวมถึงการ Design อาสาสมัคร การรับอาสาสมัครเข้าไปในโรงพยาบาลสนาม เงื่อนไขมากมายเหล่านี้ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 1 โดยอาศัยบทเรียนทั้งภายในและภายนอกประเทศ เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมรัฐช้าไปก้าวหนึ่ง” ตั้งแต่กระบวนการการคัดกรอง สิ่งที่ตามมาก็คือว่า “ทำไมกระบวนการการตัดสินใจของรัฐไม่มีการวางแผน อย่าเรียกว่าวางแผนเลย ก่อนที่จะวางแผน คือมันต้องเห็นภาพอนาคตก่อน ภาพอนาคตมีความเป็นไปได้ตรงไหน”

ปัญหานโยบายกับการบริหารที่ไม่ชัดเจนสู่การจัดการบริหารโควิด-19

ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ เมื่อมองถึงโอกาสในการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 แล้ว หากอัตราผู้ติดเชื้อต่อวันมีจำนวนไม่ลดลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า อาจมีผู้ติดเชื้อนับแสนคน นโยบายของโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องมีการค้นหาว่ามีสนามโรงยิมเพียงพอหรือไม่ พื้นที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถตั้งโรงพยาบาลสนามได้หรือไม่ อีกทั้งการจัดตั้งพื้นที่การคัดกรอง หรือแม้แต่เรื่องของสัปเหร่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการผู้สูญเสียที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอนาคตสัปเหร่ออาจไม่เพียงพอ ถึงแม้อาจฟังดูแล้วรู้สึกหดหู่แต่มันเป็นความจริง หากถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำมาสู่ระดับนี้

1. การรับมือของรัฐบาลที่ช้าเกินไป 1 ก้าว ไม่ทันการไม่มีมาตรการป้องกัน เตรียมรับและเยียวยา       
2. พฤติกรรมปกติของผู้คนในสังคม         
3. มาตรการควบคุมสถานการณ์ที่ออกมาช้าเกินไป

ในการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้ฉากทัศน์กับภาพอนาคต วิธีการมองฉากทัศน์นี้ มองว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรได้บ้าง ฐานคือการมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ในพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น ซึ่งเริ่มมีสัญญาณให้เห็นบ้างแล้วในเขตพุทธมณฑล หากเทียบตัวเลขมันอาจดูยังไม่น่าตกใจนัก แต่เรื่องนี้คือเรื่องที่น่าอันตราย คือถ้าหากเทียบกรุงเทพฯ ประชากร 6-8 ล้านคน รวมปริมณฑลแล้วอาจถึง 12 ล้านคน แต่หากเทียบตัวเลขการติดเชื้อต่อวัน ครึ่งหนึ่งของประชากรตัวเลขจะอยู่ที่หลักพัน   
สิ่งที่ตกใจคือถ้าหากตัวเลขพุ่งสูงถึงวันละ 3,000 หรือ 4,000 คนต่อวัน แล้วเชื้อเกิดการดื้อยาขึ้นมา และจะรอหวังพึ่งวัคซีนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้ใจ แล้วจำเป็นต้องส่งมาจากต่างประเทศอีกด้วยด้วย

ตอนนี้อัตราการตายอยู่ที่ 0.24 เพราะว่าประชากรยังสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม มีการรับยา มีการดูแลสุขภาพผ่านระบบสาธารณสุขที่ดี ไม่มีการกระจายของการติดเชื้อ ยังคงมีการควบคุมอยู่ แต่ภาพของสัปเหร่อไม่พอที่มันเกิดขึ้นแล้วทั้งในเมืองใหญ่แบบ New York ก่อนหน้าที่ต้องเอาศพไปแช่แข็งไว้เพื่อรอการเผา ที่ประเทศอินเดียเองก็เกิดขึ้นแล้วคือมีการเผากันกลางแจ้ง ฉะนั้นเรื่องสัปเหร่อไม่พอมันจึงเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะว่าถ้าหากไม่สามารถเอาคนเข้าระบบโรงพยาบาลได้ตัวเลขการเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น ปรากฏการณ์สัปเหร่อไม่เพียงพอ ถ้าหากไม่อยากให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้น จะต้องมีการวางแผนในการรองรับ ซึ่งกลไกแบบนี้ไม่อยู่ในกลไกของรัฐ เพราะหากมีอยู่มันต้องไม่ช้าไปก้าวหนึ่ง หากจะยับยั้งเหตุการณ์เหล่านี้สิ่งที่ต้องทำคือการคิดถึง Scenario ที่เป็น worse case บ้าง แล้วทำแผนยุทธศาสตร์รองรับ ซึ่งการเผชิญกับสถานการณ์ covid-19 มันเป็นการทำงานแข่งกับเวลา

ถ้าหากชีวิตพวกเราในอีก 1 เดือนข้างหน้า หวังพึ่งวัคซีนแต่วัคซีนไม่เข้ามา เราจะมีแผนอย่างไรต่อไปในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด มันจึงจำเป็นต้องมีการคาดการณ์ภาพอนาคตไว้  ยิ่งสถานการณ์ ณ ปัจจุบันเป็นแบบนี้ โอกาสเกิดความเสียหายที่ยิ่งกว่าการ Lockdown คือ การที่ระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ความล้มเหลวนี้จะสร้างความเจ็บปวดความสูญเสียยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะฉะนั้นด้านหนึ่ง โรงพยาบาลสนามอาจจะไม่เหมาะก็ได้ แล้วถ้าเกิดประชาชนต้องกักตัวที่บ้านจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เพราะว่าที่ประเทศจีน อังกฤษ ก็มีการกักตัวที่บ้าน แต่สัญญาณก็เป็นไปตามอย่างที่เห็นในกราฟ แล้วกราฟนี้ผมก็ไม่ได้เขียนเพื่อโจมตีรัฐบาล แต่ว่าเกิดจากการวิเคราะห์ของภาคเอกชนของธนาคารกรุงศรีฯ เพื่อจะทำนายเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เห็นตอนนี้คือกราฟยังคงเป็นสีส้มอยู่ ผมภาวนาให้กราฟยังคงเป็นสีส้ม เพราะนี่คือ best case ที่เกิดขึ้น    

ภาพ : กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการประชาสัมพันธ์

ชวนคิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทำไมถึงต้องชวนคิดถึงการแพร่ระบาดครั้งต่อไปในขณะที่ครั้งนี้ยังไม่จบ

การแพร่ระบาดระลอกที่ 1 มันต่างกับระลอกที่ 2 ตรงที่มันเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ และส่วนใหญ่จะติดเชื้อผ่านทางท่าอากาศยาน แต่ตอนนั้นเริ่มมีสัญญาณมาแล้วคือเรื่องของการติดเชื้อผ่านประเทศเพื่อนบ้าน การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 มันมีความต่อเนื่องกับระลอกที่ 3 ตรงที่มันมีการติดเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านและระบาดจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งถูกกฎหมาย และไม่ถูกฎหมาย โดยการติดเชื้อในระลอกที่ 3 นั้นระบาดที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ยอดผู้ติดเชื้อรวมเกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นทั้งแหล่งงาน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางการขนส่ง การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 มียุทธศาสตร์หลักคือ การฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มให้ได้มากที่สุด สุดท้ายแล้วมันล้มเหลวทั้ง 2 ส่วน

โรงพยาบาลรัษฎากร กรณีศึกษาที่คนไม่ค่อยพูดถึง

หลายวันก่อน ผมเขียนถึง Worst Case Scenario ว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เราต้องคิดเผื่อไว้บ้าง ผมปรามตัวเองบ้างว่า เบาได้ก็เบา เพราะมันจะทำให้แตกตื่น และคนทำงานเสีย ที่ผมเรียก “ฉากทัศน์สัปเหร่อไม่พอ” มันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แม้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นกับ การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 แต่ถ้าเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ซ้อนกับระลอก 3 ขึ้นมา น่าจะได้เห็นการติดเชื้อเกิน 5,000 ราย และเมื่อนั้นจะเห็นภาพว่าสัปเหร่อขาดจริงๆ

กรณีปิดโรงพยาบาลเพราะบุคลากรติดเชื้อเนื่องจากการปกปิดข้อมูลของคนไข้บางคน ถือว่าเป็น descriptor ที่สำคัญตัวหนึ่ง การที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อนั้นจำต้องปิดโรงพยาบาลอย่างแน่นอน เพราะการดูแลผู้ป่วยมันเป็นการ share facility มันคือการแชร์คน เราไม่สามารถเอาคนป่วยมารักษาคนป่วยได้ เราจะเอาคนเสี่ยงกับการติดเชื้อมาพบกับคนป่วยที่ไม่มีเชื้อไม่ได้

กรณีของโรงพยาบาลรัษฎากร แม้ว่าโรงพยาบาลจะไม่ใหญ่ ไม่เล็ก แต่มันมีบุคลากรกว่า 30 คน มีการให้การรักษาในฐานะโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวนเตียงหลักประมาณ 100 เตียง ให้บริการครบวงจร ไม่ใช่แค่การรักษาโควิด กรณีของการปิด ER ของโรงพยาบาลประจำอำเภอ อาจจะทำให้คนต้องเดินทางไกลออกไปอีกไม่ต่ำกว่า 20-50 กิโลเมตร

โรงพยาบาลรัษฎากร เป็นกรณีศึกษาที่คนไม่ค่อยพูดถึงนัก ในมุมของบุคคลากรติดเชื้อจนต้องปิดหน่วยให้บริการ แต่มันไม่ใช่กรณีแรก และไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่นอน ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อยังกระจายและอยู่ในอัตราที่สูงแบบนี้ และหากโรงพยาบาลหลักมีการติดเชื้อ โรงพยาบาลสนามไม่ต้องพูดถึง

คิดแบบฉากทัศน์ “สัปเหร่อไม่พอ” บ้างก็ดี

จากกรณีที่เพิ่งมาแก้ปัญหาพื้นฐานอย่างการจัดการรถรับส่งผู้ป่วย การ Match ผู้ป่วยกับเตียง และอีกสาระพันปัญหาเชิง Algorithm  ที่จะตามมา มันเป็นตัวบอกจุดอ่อนของวิธีคิดในการเผชิญปัญหาแบบที่ผ่านมาของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันอาทิตย์ หมอทวีศิลป์ (นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ​ หรือ ศบค.) ทิ้งท้ายว่า ใครเก่ง ใครมีความรู้ ความสามารถ ก็ขอให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะผมเองก็ไม่ใช่คนเก่ง ต่อให้คิดอย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะนอกเหนือจากไม่มีอำนาจที่จะสั่งการแล้ว ก็ยังคงติดปัญหาเรื่องของการเมือง สิ่งที่ขาดตามที่หมอทวีศิลป์ขอร้องคือ การเปิดเผย Data Sources ที่มากกว่าแค่การเปิดเผยข้อมูลรายวัน

หมอทวีศิลป์กำลังชวนให้คนเข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งถ้าคิดจะชวนให้ทำแบบนั้นจริงๆ ภาครัฐพร้อมที่จะรับฟังและเปิดเผยข้อมูลให้ช่วยกันคิดจริงหรือไม่ เพราะมาตรการไม่ใช่แค่การจัดคิวรถตู้ มันต้องโยงถึงมาตรการทางการเงิน และการสร้างแรงจูงใจด้วย ผมจึงมาชวนให้ลองคิดแบบ “สัปเหร่อไม่พอบ้าง” ก็ยังดี

ที่มาภาพ รัฐบาลไทย

คิดแบบ “สัปเหร่อไม่พอ” คืออะไร

มันคือการพยายามที่จะสร้าง Scenario ที่ไกลไปกว่าปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเตรียมนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา อาทิเช่น ถ้ารู้ว่ามีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะกระจาย และ เพิ่มขึ้นถึงหลักพัน ก็ต้องรู้ล่วงหน้าว่าต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ต้องมีการฝึกอบรมบุคคลากร ต้องมี Logistics และ Matching  Algorithm จากปัญหาที่เจออยู่ตอนนี้ เราอาจจะบอกว่าเรายังไม่เคยเจอผู้ติดเชื้อหลักพันมาก่อน แต่จริงๆ แล้ว ยอดผู้ติดเชื้อระดับนี้มันเคยอยู่ใน Scenario แล้ว ผมสงสัยว่ามันเคยมี Sandbox  หรือ  Workshop ระหว่างหน่วยงานที่จะจัดการกับ Scenario แบบนี้หรือไม่

ตั้งแต่ปลายปี มันมีสัญญาณมาตลอดว่าจะมีการแพร่เชื้อจากสถานบันเทิง ภาครัฐอาจคิดว่าจะควบคุมแหล่งอบายมุขได้ แต่กลับลืมไปว่าประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสีเทา

ผมไม่ได้มาโชว์ความเก่ง หรือโชว์เหนือใดๆ แต่ผมมาชวนให้คิดแบบ “สัปเหร่อไม่พอ” นั่นก็คือ มันมีสัญญาณและโอกาสที่เกิด แม้จะน้อย แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศจากการที่ฉีดวัคซีนไม่ครบโดส การติดเชื้อในอัตราที่สูง และการเกิดน้ำท่วมก่อนที่วัคซีนจะมาถึง หรือแม้กระทั่ง ผู้คนลุกฮือ และเกิดการระบาดครั้งใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเผาศพหรือทำพิธีศพไม่ทัน มันก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการ ไม่ใช่คำอธิบายว่านี่คือ New Normal of Dead

อยากให้ภาครัฐลองมาคิดฉากทัศน์เผื่อ “สัปเหร่อไม่พอ”

เรื่องเหล่านี้ในเชิงการมองภาพอนาคต มันสามารถเอามาเขียนเป็นฉากทัศน์เพื่อเตรียมการรับมือได้ เหมือนปัญหาเรื่องการ Match เตียง รถ และผู้ป่วย มันคือ  Algorithm ง่ายๆ ก็เหมือนกับ Algorithm ของธุรกิจเดลิเวอรีอาหาร ถ้าสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ มันก็จะลดความวุ่นวายของเหตุการณ์ลง

สัปเหร่อไม่พอ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ให้ลองดูตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 5,000 หรือ 10,000 คน อัตราการตายที่เพิ่มมากขึ้น มันทำให้สัปเหร่อไม่พออย่างแน่นอน มันเหมือนกับกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ เปิดโรงพยาบาลสนาม แต่ในขณะเดียวกัน หมอและพยาบาลกลับติดเชื้อเพราะผู้ป่วยปกปิด สุดท้ายโรงพยาบาลสนาม จะมีคนอาสามาทำได้มากน้อยขนาดไหน มีการเทรนอาสาสมัคร หรือมีการทำ Standard Protocol ของอาสาสมัครแล้วหรือยัง

เพราะสุดท้าย เราต่างวิ่งหารถเข้าโรงพยาบาลสนาม หาสนามกีฬามาทำโรงพยาบาล แต่มันจะมีจุดหนึ่งซึ่งโรงพยาบาลสนามแบบนี้มีไปก็ไม่มีประโยชน์​และถ้าจุดนั้นมันมาถึงเร็วในเร็วๆนี้ สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ มันไม่ Robust ต้องรีบเปลี่ยนนโยบายโดยเร็ว เพราะการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ใดๆ มันต้องใช้ทั้งคน เวลา และงบประมาณ เรื่องพวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการคิดเชิงฉากทัศน์ทั้งสิ้น

หากทุกคนยังยุ่งอยู่กับการเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า อยากให้ลองจัดหาบุคลากรมาช่วยแก้ปัญหาผ่านการคาดการณ์และการทำนายล่วงหน้าดู เพราะโรคระบาดเป็นการทำงานแข่งกับเวลา สาธารณสุขทำงานหนักเพราะหน่วยงานอื่นไม่เห็นภาพร่วมกัน ไม่ถูกดึงเข้ามาอยู่ในการแก้ปัญหาของอนาคต ตั้งแต่อดีตแล้วที่ หน่วยงานส่วนใหญ่ต้องรอคำสั่ง ทำให้ทุกอย่างสายไปทีละนิด แต่รวมๆ แล้วช้าไปก้าวหนึ่งเสมอ อาทิ การรับมือยอดคนป่วยรายวัน ช้าไป 1 เดือน วัคซีน ช้าไป 4 เดือน เพราะไม่เผื่อภาพที่วัคซีนจะไม่สามารถใช้การได้ ทุกอย่างมันจึงดูเหมือน Lay back กว่าสถานการณ์จริงไปหมด

สิ่งที่สำคัญคือการเปิดเผยข้อมูล หรือ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

โชคดีที่โรคนี้อัตราการตายต่ำ สถานการณ์สัปเหร่อไม่พอ อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าวันหนึ่งเจอโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงแบบอีโบร่าขึ้นมา หรือเราปล่อยให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนเกินความสามารถของสาธารณสุขขึ้นมา เรื่องแบบนี้ เราไม่คิดล่วงหน้าไม่ได้

พิสูจน์อักษร : ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์


Contributor