02/11/2021
Public Realm
สมดุลระหว่างการใช้พื้นที่สาธารณะ กับ มาตรการปิดเมือง ถอดบทเรียนกับ ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์
ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
![](https://theurbanis.com/wp-content/uploads/2021/11/20211102-00.jpg)
เรียงเรียงจากการบรรยายสาธารณะ พื้นที่สาธารณะเมืองยุคโควิด โดย อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียบเรียงโดย ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
พื้นที่สาธารณะ เป็นองค์ประกอบที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง ผ่านกิจกรรมและวิถีชีวิตอันเป็นภาพจำที่คุ้นชิน หากการเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2020 ส่งผลให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากการประเมินสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 โดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบยาวนานต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป และส่งผลให้เกิดลักษณะของการเปิด-ปิด กิจกรรมเมืองตามระลอกการระบาด โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการติดเชื้อสูง สำหรับประเทศไทยซึ่งมีอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางค่อนมาก ส่งผลต่อการกำหนดมาตรการทางภาครัฐเพื่อควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตามมาตรการปิดเมืองหรือควบคุมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การปิดห้างร้าน พื้นที่สาธารณะ ตลอดจนการกำหนดช่วงเวลาฉุกเฉิน ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม กายภาพและการดำเนินชีวิตในเมืองเช่นกัน
การเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจศึกษาและคาดการณ์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด จนเกิดปรากฏการณ์สำคัญหลายด้านทั้งในเชิงองค์ความรู้และเชิงข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวหลังอุปสรรคอย่างรวดเร็ว หรือ Resilience ที่ถูกเน้นย้ำความสำคัญมากยิ่งขึ้น หรือปรากฏการณ์การใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูล (Datafication) เพื่อทราบถึงการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และสามารถวางแผนรองรับได้อย่างเหมาะสม
จากการศึกษาข้อมูลสถิติเปรียบเทียบด้านการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนสู่จุดหมายปลายทางประเภทต่าง ๆ ระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศไทย พบว่า ประเทศอังกฤษมีอัตราการลดลงของการเดินทางสู่ปลายทางแหล่งงาน จุดเปลี่ยนถ่าย ร้านค้า ฯลฯ ที่ค่อนข้างคงที่จากระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมระยะยาวภายในเมือง โดยมีเพียงพื้นที่สวนสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่กิจกรรมทางเลือกที่ประสบความผันผวนและมีค่าระดับการใช้งานสูงกว่าปลายทางประเภทอื่น ในขณะที่ประเทศไทยอัตราการเคลื่อนที่และการใช้งานพื้นที่ประเภทต่าง ๆ มีความผันผวนจากมาตรการที่ไม่แน่นอนและปลายทางที่มีระดับการใช้งานสูงสุด คือ พื้นที่จับจ่ายใช้สอย ในขณะที่พื้นที่สวนสาธารณะและจุดเปลี่ยนถ่ายมีระดับการใช้งานต่ำ จะเห็นได้ว่าลักษณะการเพิ่มลดของกิจกรรมและการใช้งานพื้นที่ของทั้งสองประเทศมีความแปรผกผันกันซึ่งเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อพื้นที่แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน
![](https://theurbanis.com/wp-content/uploads/2021/11/20211101-02-1024x494.png)
ก่อน-ระหว่าง (โควิด) ต่างกันอย่างไร
จากการศึกษา Public Space & Public Life during COVID19 (Gehl) แสดงข้อมูลความสัมพันธ์ของกลุ่มคน รูปแบบกิจกรรมและช่วงเวลาการใช้งาน ในพื้นที่ 4 เมือง ได้แก่ โคเปนเฮเกน ฮอร์เซนส์ สเวนบอร์ค และ เฮลซิงเกอร์ ในช่วงก่อนและระหว่างการเกิดสถานการณ์การระบาด พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
- อัตราการใช้งานพื้นที่สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างสถานการณ์การระบาด จากมาตรการภายในประเทศซึ่งไม่กำหนดการปิดเมืองหรือพื้นที่สาธารณะ ร่วมกับการมีเวลาว่างสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและกลุ่มคนสูงวัย
- การใช้งานพื้นที่ระหว่างวันบริเวณศูนย์กลางเมือง (urban core) น้อยลง ในขณะที่เกิดการใช้งานบริเวณละแวกบ้าน ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุมชนสูงขึ้น
- พื้นที่นอกอาคารเป็นทางเลือกในการใช้งาน มากกว่าพื้นที่ภายในอาคารซึ่งเป็นระบบปิด
ภายใต้สถานการณ์การระบาดนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบพฤติกรรมและการเลือกใช้งานพื้นที่ ส่งผลให้การออกแบบพื้นที่สาธารณะในอนาคตย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม โดยในการศึกษา manual of physical distancing (architects, 2020) ได้เสนอแนวทางการออกแบบพื้นที่สาธารณะในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับย่อยรองรับชุมชนจนไปถึงระดับเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางเท้า พื้นที่หน้าร้านอาคาร พื้นที่สวนหย่อม ฯลฯ เสนอประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 4 ประเด็น สำหรับการประยุกต์ใช้กับพื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย ได้แก่ (1) การลดความหนาแน่น (2) การขยายทางเท้า (3) การกำหนดจุดทางเข้าที่ชัดเจน และ (4) การเพิ่มการเดินทางทางเลือกอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในลักษณะของการปรับเปลี่ยน สร้างความยืดหยุ่นของการใช้งาน อีกทั้งยังต้องบูรณาการหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างพื้นที่อาคารและภายนอก โดยมีเกณฑ์สำคัญคือการเว้นระยะสร้างความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการจัดการพื้นที่ศูนย์กลางระดับเมือง อ้างอิงมาตรการในประเทศอังกฤษ ซึ่งยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้งานพื้นที่ภายนอก โดยมีการจัดสรรพื้นที่ทางเดินเท้าให้มีพื้นที่พักรอคิวโดยเฉพาะย่านพาณิชยกรรมและการบริการ และการควบคุมปริมาณการสัญจร ซึ่งแนวทางการออกแบบดังกล่าวจะถูกประยุกต์ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับพื้นที่การปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น กล่าวได้ว่าแนวทางข้อเสนอในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะจากกรณีศึกษาหลายแห่งมุ่งให้ความสำคัญกับ การจัดการระยะห่างบนพื้นที่กิจกรรมที่ยังดำเนินการต่อไป ซึ่งนำมาสู่คำถามชวนคิดที่ว่า ระยะห่างเท่าใดถึงสร้างขอบเขตที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง?
ขอบเขตที่ปลอดภัยในโลกเท่ากันหรือไม่? ดังที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกมีการกำหนดระยะห่างมาตรฐานที่ระยะ 1-2 เมตร หากแต่การศึกษาระยะห่างในการใช้พื้นที่ในยุคโควิด (Reuters, n.d.) พบว่า พื้นที่ของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับใกล้ชิด (intimate space) ระดับคุ้นเคย (personal space) และระดับคนแปลกหน้า (social space) โดยมีระยะห่างตามระดับความสัมพันธ์เชิงสังคมของมนุษย์ และระยะใกล้ไกลที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่และความรู้สึกที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นผลจากตัวแปรของระดับความสัมพันธ์ปัจเจกบุคคลและวัฒนธรรมเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียมีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่สูง ส่งผลให้ช่วงก่อนการระบาดมีระยะความใกล้ชิดในการดำเนินกิจกรรมประมาณ 1 เมตร ซึ่งภายหลังการระบาดเกิดมาตรการกำหนดระยะห่างที่ระยะมากกว่ากว่า 1 เมตรขึ้นไปเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงมากนักในการดำเนินกิจกรรมประจำวัน ในขณะที่บางประเทศมีมาตรการกำหนดระยะห่างที่สูงกว่าระยะในการดำเนินกิจกรรมเดิมสูงกว่าถึง 2-3 เท่า ทำให้เกิดความรู้สึกในการใช้พื้นที่ต่างกัน
![](https://theurbanis.com/wp-content/uploads/2021/11/20211101-03-1024x581.png)
สำหรับสถานการณ์ในบริบทประเทศไทย ซึ่งเริ่มมีการผ่อนปรนเชิงมาตรการการควบคุมเป็นระยะ ส่งผลให้เกิดอัตราการใช้พื้นที่ภายนอกและการเดินทางสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับพื้นที่ประเทศอื่น ๆ แต่ข้อแตกต่างที่ชัดเจนอย่างมากนั่นคือ ประเทศไทยมีอัตราการเดินที่ลดลง 40% การขับขี่ที่เพิ่มสูงขึ้น 30% จากสถิติฐานเดิม จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานพื้นที่สาธารณะภายใต้สถานการณ์โควิด โดยสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสำรวจการปรับพื้นที่ทางกายภาพ รูปแบบพฤติกรรม และผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่และพฤติกรรม มีกรอบการวิเคราะห์บนปัจจัยฐาน 3 ปัจจัย ได้แก่ ความจำเป็น ความเชื่อใจ(ต่อสภาพพื้นที่ และคนในพื้นที่) และการเว้นระยะห่างเชิงกายภาพ สะท้อนสู่ 4 ลักษณะกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมใช้ระวัง กิจกรรมใช้เหมือนเดิม กิจกรรมเลิกใช้ และกิจกรรมเลือกใช้ โดยสำรวจพื้นที่ 5 ประเภทตัวอย่าง ได้แก่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่กิน พื้นที่ทำงาน พื้นที่เปลี่ยนถ่าย และพื้นที่นันทนาการ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่อยู่อาศัย หรือชุมชนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ดูแลตนเอง การช่วยเหลือจากภายนอก และจัดการระบบภายในชุมชน ซึ่งผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ ประเภทของชุมชนที่อยู่อาศัยมีผลต่อรูปแบบพฤติกรรมการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยพบว่า ชุมชนที่มีความเป็นปัจเจกสูงจะมีรูปแบบพฤติกรรมใช้พื้นที่ส่วนกลางอย่างระมัดระวังหรือไม่มีการใช้งานต่างกับชุมชนที่ปัจเจกต่ำจะมีปรับเปลี่ยนพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการใช้งานร่วมกัน
- การเปลี่ยนแปลงด้านเคลื่อนที่ เนื่องด้วยบริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งไม่มีขอบเขตเชิงกายภาพและเจ้าของสิทธิที่ชัดเจน ส่งผลให้ไม่เกิดการขยายพื้นที่เพื่อลดความหนาแน่นได้ แต่มุ่งเน้นการจัดการพื้นที่ในขอบเขตเดิม อาทิ การกำหนดตำแหน่งยืน การสร้างระเบียบแถว
- การเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่กิน ผลกระทบต่อร้านค้าหาบเร่แผงลอยสูง จากข้อจำกัดพื้นที่ตั้งส่งผลให้รูปแบบการใช้งานไม่เป็นไปตามลักษณะหรือข้อกำหนดมาตรการความปลอดภัย อาทิ ระยะห่าง ระบบการจัดการแถว ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้ใช้งาน ในขณะที่เกิดพฤติกรรมปกติใหม่อย่างชัดเจนได้แก่ บริการเดลิเวอรี่ บริการรถพุ่มพวงและการขับขี่ส่วนตัว
- การเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่ทำงาน ผลกระทบค่อนข้างมาก ความจำเป็นและความไว้ใจ เกิดการเลิกใช้ของพื้นที่ทำงานมากกว่าประเภทอื่น ๆ
- การเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่นันทนาการ เนื่องด้วยบทบาทการเป็นพื้นที่สาธารณะเสี่ยงต่อการรวมกลุ่มจำนวนมากจึงได้รับผลกระทบจากมาตรการความปลอดภัยเป็นลำดับแรกในระยะเวลาที่ยาวนาน ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ จากมาตรการจำกัดทางเข้า-ออก ลดความสามารถในการเข้าถึงส่งผลให้ระดับความต้องการในการใช้งานพื้นที่ดังกล่าวลดน้อยลง ในขณะเดียวกันพื้นที่นันทนาการบางประเภทเริ่มปรับตัวสู่ระบบดิจิทัลในรูปแบบ virtual space
กล่าวสรุปได้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เห็นได้อย่างชัดเจนคือ จำนวนผู้ใช้งานพื้นที่ที่ลดน้อยลงจากมาตรการปิดพื้นที่และเว้นระยะห่างเพื่อลดความหนาแน่น เกิดเป็นลักษณะพฤติกรรมการใช้งานแบบเลือกใช้เพียงตามความจำเป็นในวิถีชีวิตประจำวันเท่านั้น นอกจากนี้ ตัวแปรด้านความมั่นใจ กลับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจใช้พื้นที่หนึ่งร่วมด้วย
![](https://theurbanis.com/wp-content/uploads/2021/11/20211101-04-1024x576.png)
แนวทางและเครื่องมือการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างระวัง
ปัจจุบันหลายเมืองใช้การออกแบบพื้นที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยควบคุม กำหนดขอบเขตการใช้งานกิจกรรมในพื้นที่นอกบ้านแบบมีระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขอบเขตการใช้งานเป็นวงเล็กอย่างชัดเจนและกระจายตัวในระยะห่างที่เท่า ๆ กัน เช่น ลานกิจกรรม The Gastro Safe Zone สาธารณะรัฐเช็ก พื้นที่สวนสาธารณะนิวยอร์ก การกำหนดตำแหน่งผ่านการออกแบบแพทเทิร์นของพื้นบนพื้นที่สาธารณะ การออกแบบพัฒนาเมืองหรือชุมชนโดยเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างเพื่อสร้างการมือส่วนร่วมของคนในชุมชน (tactical urbanism) หรือแม้กระทั่งการนำเทคโนโลยีมาใช้สำรวจเก็บข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นปัจจุบัน
จากการสำรวจแบบสอบถามเพื่อศึกษาแนวโน้มการเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 57.4% อาจจะตัดสินใจเข้าร่วมหากงานน่าสนใจ ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการใช้งานพื้นที่สาธารณะซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมือง อีกทั้งยังต้องผลักดันให้เกิดความสมดุลของปริมาณผู้ใช้งานในกิจกรรมเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจการค้าขายอย่างปลอดภัย จึงมีการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยผลักดันการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างปลอดภัยและเกิดระยะห่างในการใช้งานได้ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ตระบบค้นหาและติดตาม “Crown Check” ในรูปแบบแอพลิเคชั่นและเว็บไซต์ โดยมีหลักการทำงานโดยใช้ระบบบลูทูธในการส่งสัญญาณตำแหน่งของอุปกรณ์ทุกเครื่อง และนำมาคำนวณความหนาแน่น เพื่อแสดงผลแบบเป็นปัจจุบัน (realtime data) ว่าแต่ละพื้นที่มีความสามารถรองรับความหนาแน่นได้มากน้อยเท่าใด ช่วยประกอบการตัดสินใจใช้พื้นที่โดยมีทางเลือกเลี่ยงสภาพแวดล้อมแออัดได้ นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ว่าส่วนไหนมีการใช้งานมากหรือน้อย นำไปสู่การออกแบบแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของเสี่ยงต่างกัน
![](https://theurbanis.com/wp-content/uploads/2021/11/20211102-01.jpg)
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า อัตราการติดเชื้อไม่แปรผันตรงกับความหนาแน่นของเมืองเสมอไปแต่ขึ้นอยู่กับแผนการจัดการร่วมด้วย ในปัจจุบันหลายประเทศมีแนวทางการลดความเสี่ยงมากมาย อาทิ การสร้างทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งการปั่นจักรยาน การเดิน กลายเป็นแผนและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชั่วคราว (pop-up lane) หรือแม้แต่ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับละแวกบ้าน หรือชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างนิเวศการดำรงชีวิตในบั้บเบิ้ลชุมชนของตนเอง สามารถดำเนินกิจกรรมกับผู้ใช้งานในเครือข่ายเดิม ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระเบิดหรือติดเชื้อจากการพบเจอคนที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองในหลายประการ ทั้งแนวคิดหลายศูนย์กลาง (polycentric) และแนวคิด 15 minutes city ที่ส่งเสริมให้สามารถดำเนินชีวิตครบครันภายในละแวกบ้าน
จึงสามารถกล่าวสรุปได้ว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมเลิกใช้ หรือเลือกใช้พื้นที่อย่างระมัดระวังตามความจำเป็น และความเชื่อมั่นที่ต่างกันไปตามแต่ละบริบทสังคม พื้นที่สาธารณะซึ่งได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในบริบทเมืองไทยที่ถูกลดความสำคัญอย่างมากจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการใช้งานอย่างเข้มข้น แต่สำหรับสถานการณ์ในระยะยาวนั้น ไม่เพียงแต่คนที่โหยหาการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม แต่เมืองก็ต้องการคนที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้เช่นกัน ดังนั้น พื้นที่สาธารณะจะยังคงมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการกิจกรรมของคนและเมืองต่อไป การพัฒนาจึงควรมีแนวทางสร้างสมดุลในการจัดการพื้นที่สาธารณะในเมือง ให้ยังสามารถดำเนินกิจกรรมและวิถีชีวิตได้บนพื้นฐานความปลอดภัย ผ่านวิธีการที่หลากหลายทั้งการออกแบบกายภาพเมือง ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลเพื่อวางแผนรองรับอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยผลักดันให้ฟันเฟืองของเมืองกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
หมายเหตุ: ท่านสามารถรับชมการบรรยายสาธารณะ พื้นที่สาธารณะเมืองยุคโควิด โดย อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย้อนหลังได้ทาง UDDC- Urban Design and Development Center
การบรรยายสาธารณะ URBAN DESIGN DELIVERY อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหลักการวางผังและออกแบบชุมชนและปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน (District Planning) ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The Urbanis
ที่มาภาพปก Freepik