02/06/2021
Public Realm

ย้อนมองย่านปทุมวัน: ประวัติศาสตร์และอนาคตที่วาดฝันของเมืองมหาวิทยาลัยแห่งสยาม

หฤษฎ์ ทะวะบุตร
 


ภาพโดย สำนักกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพูดถึงเขตปทุมวัน ภาพที่ปรากฏขึ้นในมุมมองของชาวเมืองหลวงคงไม่พ้นแหล่งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ย่านแห่ง Lifestyle แหล่งกินเที่ยวแบบชิค ๆ และศูนย์กลางรถไฟฟ้าอันสะดวกสบาย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ที่เฉพาะอาคารเรียนและวิทยาเขตต่าง ๆ ก็ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1 ใน 5 ของเขต และคิดเป็นมากกว่า 50% ของพื้นที่ในแขวงวังใหม่และปทุมวัน เหล่านี้เมื่อรวมเข้ากับพื้นที่ของหอพัก ร้านค้า และพื้นที่ต่าง ๆ ที่คอยรองรับกิจกรรมของนักเรียนนักศึกษาแล้ว พื้นที่เขตปทุมวัน โดยเฉพาะในสองแขวงดังกล่าว อาจเรียกได้ว่าเป็น College Town หรือ College Neighbourhood ที่สำคัญที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

ก่อนจะเป็นศูนย์กลางเมือง

การเกิดขึ้นของ “เมืองมหาวิทยาลัย” ในพื้นที่นี้มีมาก่อนหน้าการเกิดศูนย์กลางความเจริญใหม่ เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2439 ก็เริ่มมีการใช้วังใหม่เป็นพื้นที่ของสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โรงเรียนการแผนที่ โรงเรียนสำหรับกระทรวงเกษตราธิการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน และมาจนถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอาคารเรียนแห่งอื่นนอกจากตัววังก็ได้ก่อสร้างและใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา เป็นเวลานานก่อนการเกิดศูนย์กลางเศรษฐกิจนอกกำแพงพระนคร กระทั่งปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังคงเป็นสถานศึกษาที่มีอิทธิพลต่อพื้นที่วังใหม่-ปทุมวัน เหล่านี้แสดงว่าโครงสร้างของย่านนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยผูกพันกับสถานศึกษาแต่แรกเริ่ม 

พัฒนาการและปัญหาหลังยุคแห่งนคราภิวัฒน์

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของการสถาปนาเป็นพื้นที่ของสถาบันการศึกษา พื้นที่วังใหม่-ปทุมวันในปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางของสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องและมีพื้นฐานมาจากงานด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติ กรมพลศึกษา และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นที่วังใหม่-ปทุมวันตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางใหม่ของเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อยู่บนพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากโครงข่ายการขนส่งสาธารณะใหม่อย่างรถไฟฟ้า พื้นที่นี้จึงกำลังประสบพบกับปัญหาเดียวกับศูนย์กลางเมืองใหญ่แห่งอื่น ๆ

การกลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่ ทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว บทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นร่วมกันมาคือการเป็นพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ พื้นที่ทั้งฝั่งติดกับถนนพระรามที่ 1 และถนนพระรามที่ 4 มีห้างสรรพสินค้าและโครงการพัฒนาแบบผสมสาน (Mixed-Use) หลายโครงการเกิดขึ้น และยังคงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ มาถึงปัจจุบันนี้

เหล่านี้ผลักดันค่าเช่าและเพดานราคาที่อยู่อาศัยให้สูงขึ้น จนกระทั่ง ในทางหนึ่ง มีเสียงบ่นจากนักเรียนนักศึกษาในระยะหลังมานี้ถึงวิถีชีวิตที่ “แพง” และสภาพแวดล้อมรอบมหาวิทยาลัยที่มีแต่ห้างใหญ่ ไม่ให้ความรู้สึกของชุมชน “หน้า ม.” ที่เป็นการกระจุกตัวของร้านค้าขนาดเล็กอย่างมหาวิทยาลัยที่อื่น ๆ และในอีกทางหนึ่ง ผลกระทบเหล่านี้อาจนำไปสู่การหายไปของชุมชนเก่าอย่างช้า ๆ หรือเป็นสภาวะที่เรียกว่า Displacement ได้ในอนาคต

ด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบข้างอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับที่ดินของจุฬาลงกรณ์เป็นผืนใหญ่และมีรั้วรอบขอบชิด แบ่งแยกพื้นที่การศึกษาขาดจากย่านชุมชนโดยรอบค่อนข้างชัดเจน เหล่านี้ทำให้เกิดช่องโหว่ทางการพัฒนาได้อีกประการหนึ่ง คือมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแก่นกลางของ College Neighbourhood นี้ดูเหมือนจะตัดขาดออกจากย่านพอสมควร

เมื่อเราลองดูพื้นที่บริการของสวนสาธารณะ ชุมชน และสถานีขนส่งมวลชนหลักในเขตปทุมวันและบางรักแล้ว จะเห็นว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะฝั่งแขวงปทุมวัน มีลักษณะเป็น barrier ที่แบ่งแยกย่าน มากกว่าศูนย์กลางของย่าน

“จุฬาก้าวหน้า” พัฒนาผังเมืองมหาวิทยาลัย

แผนการปรับปรุงพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ในชื่อ “จุฬาก้าวหน้า” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายพื้นที่ทั้งส่วนพื้นที่อาคารมหาวิทยาลัยและคณะต่าง ๆ ส่วนพื้นที่สนามกีฬาและนันทนาการ และส่วนพื้นที่ผลประโยชน์ โดยขยายไปในพื้นที่ของส่วนราชการอื่น ๆ ที่ล้อมรอบ ได้แก่บริเวณของราชกรีฑาสมาคมและกรีฑาสถานแห่งชาติ การพัฒนาพื้นที่ตามแผนนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันทั้งย่าน โดยปรับเปลี่ยนที่ตั้งและการใช้พื้นที่ของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย) วิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบันคือที่ดินโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไปพร้อมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย โดยภาพรวม แนวคิดในปี 2514 สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการฟื้นฟูเมือง (urban renewal) ความพยายามในการสร้างพื้นที่สาธารณะ และการพยายามสร้างและเชื่อมต่อชุมชนโดยรอบ เพื่อความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามแผนดังกล่าวทั้งหมด แต่ก็ได้มีการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ภายใน และโดยรอบมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มพื้นที่จัดสรรเพื่อย่านการค้าใหม่ สวนสาธารณะ และพื้นที่เพื่อส่งเสริมการศึกษาขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก หรือเขตติดต่อกับพื้นที่สามย่าน สะพานเหลือง และสวนหลวง

ปรับ เปลี่ยน เปิด เพื่อเกิด Campus Life ที่ดี

แม้ผ่านมากว่า 5 ทศวรรษ พลวัตในเมืองและในพื้นที่วังใหม่-ปทุมวัน ยังทำให้การออกแบบและพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังคงต้องมีการวางแผนและปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้มีที่ดินที่กว้างขวางและมุ่งเน้นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เมืองมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ

โครงการสำคัญที่มีการพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้คือ “ผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2” บนแนวคิด “ปรับ เปลี่ยน เปิด” คือ

ปรับ พื้นที่เดิมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ได้มากขึ้น

เปลี่ยน สิ่งที่กำหนดวิถีชีวิตของนิสิต บุคลากร และชุมชนโดยรอบ เพื่ออำนวยต่อกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่

เปิด ให้บุคคลภายนอกเข้าถึงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยทั้งเชิงพื้นที่และเชิงโครงสร้าง

แผนการดำเนินการส่งเสริมพื้นที่การศึกษาประกอบไปด้วย 6 ส่วนพื้นที่หลัก โดยความสำคัญของแต่ละส่วนได้แก่

Knowledge Quarter XP พื้นที่ของกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศาสตร์ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน

One Health พื้นที่ของกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่จะพัฒนาเชื่อมต่อเป็นพื้นที่ของคลินิกและสนามกีฬาไปด้วยกัน

Social Demo พื้นที่ของคณะนิติศาสตร์และนิเทศศาสตร์ ที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันได้จากทั้งสองคณะ

24 Hour School พื้นที่ของศูนย์กีฬา หอพัก และสำนักวิทยทรัพยากร ที่จะพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมเพื่อวิถีชีวิตในวิทยาเขต ทั้งกลางวันและกลางคืน

Bicentennial Axis พื้นที่อาคารเก่า ลานพระบรมรูปฯ สำนักงานมหาวิทยาลัย ไปถึงอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะพัฒนาเป็นสวนและพื้นที่สาธารณะที่เป็นแก่นกลางของเมืองมหาวิทยาลัย

Public Showcase พื้นที่ริมถนนพญาไทและอังรีดูนังต์ ที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่เปิดรับผู้คน และเปิดเพื่อการแสดงผลงานต่าง ๆ รวมถึงเปิดรั้วเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ของวิทยาเขต

ศึกษาโครงการผังจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 เขตการศึกษาได้ทางเพจ CU 2040 Masterplan

นอกจากพื้นที่การศึกษาแล้ว ผังแม่บทยังมุ่งพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสอดรับกับความเป็นศูนย์กลางของเมือง และร่วมกับชุมชนโดยรอบอีกด้วย 

เมื่อมองไปยังอนาคต หากมีการดำเนินการตามผังแม่บทฯ ไปอย่างเป็นระบบและเอาใจใส่ ภาพเมืองมหาวิทยาลัยที่วังใหม่-ปทุมวันที่พัฒนาเป็น College City ที่สมบูรณ์ย่อมไม่ไกลเกินจะคาดหวัง ดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่มีอิทธิพลในย่านต่าง ๆ ควรคำนึงถึง และพัฒนาขึ้นร่วมกับชุมชนและพื้นที่โดยรอบ ปรับ เปลี่ยน เปิด เพื่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนนักศึกษาและผู้อยู่อาศัยในย่าน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (หรือข้างนอก)

แหล่งอ้างอิง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “CU 2040 Master Plan: ผังแม่บทจุฬาศตวรรษที่ 2 “ปรับ-เปลี่ยน-เปิด” เพื่อทุกคน”.

พีรศรี โพวาทอง. “วังใหม่ที่ปทุมวัน: ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง”. ศิลปวัฒนธรรม. 15 ตุลาคม 2563.

สำนักบริหารระบบกายภาพ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “ข้อมูลอาคาร”.

อัน นิมมานเหมินท์. (2515). โครงการ 10 ปีแผนปฏิบัติการ “จุฬาก้าวหน้า” (ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับโครงการพัฒนา Master Plan). วารสารมหาวิทยาลัย. ฉบับ 23 ตุลาคม 2515. จ5-จ9.

Urban Displacement Project, University of California Berkeley. “Gentrification Explained”.


Contributor