01/12/2020
Environment

พื้นที่สาธารณะ เลนจักรยาน อาคารทิ้งร้าง สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร ชวนศึกษา 5 เมืองทั่วโลกที่อยากเห็นผู้คนฉลาดขึ้น

The Urbanis
 


บทความดัดแปลงจากรายงานความคืบหน้าโครงการศึกษาบทบาท ศักยภาพ และพัฒนาดัชนีชี้วัดการขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต (The Future of Learning City) โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล / อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ / ธนพร โอวาทวรวรัญญู / อคัมย์สิริ ล้อมพงษ์ / บุษยา พุทธอินทร์ / พิชนา ดีสารพัด

Andrew Harrison และ Les Hotton ได้กล่าวถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด ภูมิทัศน์การเรียนรู้ (learning landscape) เพื่อส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้แห่งอนาคตว่า การสร้างภูมิทัศน์การเรียนรู้ตั้งอยู่บนหลักความเชื่อที่ว่า พื้นที่ไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงภาชนะสำหรับการเรียนหรือการทำงาน แต่ยังแสดงออกถึงวัฒนธรรม ตลอดจนเสริมคุณค่าและความเชื่อขององค์กรและบุคคลที่เป็นสมาชิก ดังนั้น หลักการออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพจึงไม่ควรเน้นที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่านั้น แต่ยังควรเน้นไปที่การแสดงออกถึงคุณค่าและหลักปรัชญา ความชัดเจนของภูมิทัศน์การเรียนรู้ที่ปรากฏผ่านทั้งในระดับผังและสถาปัตยกรรมจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (sense of belonging) ของกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในองค์รวม และจะเป็นแรงดึงดูดผู้เรียนให้คงอยู่สภาพแวดล้อมกายภาพ

องค์ประกอบของเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้

ภูมิทัศน์ของการเรียนรู้แห่งอนาคต ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยที่กระตุ้นทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน และเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต อีกทั้งเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ในปัจจุบันอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารและการประมวลผล ได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจโลกจากทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นทุนนิยมข้อมูล ส่งผลให้กรอบแนวคิดเรื่องการผลิตเปลี่ยนแปลงจากระบบการผลิตครั้งละจำนวนมากเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนหมู่มาก เปลี่ยนเป็นกระบวนการผลิตที่เน้นการออกแบบ ความสร้างสรรค์ และการผลิตต้นแบบผ่านการทดลอง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ที่เฉพาะเจาะจง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย

ภูมิทัศน์การเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการปรับตัวของสถานศึกษาในฐานะพื้นที่การเรียนรู้แห่งอนาคต การเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อสร้างความรู้ใหม่ และพัฒนาทักษะที่เฉพาะเจาะจงสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตอบรับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจึงเป็นโจทย์สำคัญ

ในขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรในสังคมเมืองมีแนวโน้มเกิดเป็นสังคมสูงวัย อันส่งผลต่อความหลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะเป็น ช่วงอายุ และวัฒนธรรม ทำให้บทบาทของสถาบันการศึกษาไม่ได้สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ภายในห้องเรียน หรือการสร้างความรู้และพัฒนาทักษะแต่ยังหมายรวมไปถึงการเป็นพื้นที่ขัดเกลาทางสังคมและการเรียนรู้ผ่านการสร้างปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยน เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความรู้ใหม่และนวัตกรรมให้เกิดขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้จากระยะทางไกลในปัจจุบันจะมีบทบาทที่สำคัญและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น แต่พื้นที่การเรียนรู้เชิงกายภาพยังคงสำคัญที่ยังส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่หล่อหลอมผู้คนให้เกิดการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ

การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นพบสิ่งที่สนใจและตัวตนผ่านประสบการณ์นอกห้องเรียน การเรียนรู้จึงเกิดได้ทั้งรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการควบคู่กันอย่างมีนัยยะสำคัญ ประเด็นคำถามที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมกายภาพแบบใดกันที่จะส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตเช่นนี้ได้ อย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม

ภายใต้กรอบการสร้างภูมิทัศน์การเรียนรู้ สภาพแวดล้อมของเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้นั้นมาจากความร่วมมือและส่งเสริมจากหลายภาคส่วน และมีแนวคิดของการพัฒนาเมืองและหลักการออกแบบให้มีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้เป็นพื้นฐานเดิม มุ่งเน้นไปที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพต้องสนับสนุนลักษณะการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์และการปฏิบัติ ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้

เมืองนัมยังจู (Namyangju) ประเทศเกาหลีใต้

Organic museum and center in Namyangju City
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Organic_museum_and_center_in_Namyangju_City_(4444965824).jpg

เมืองนัมยังจูดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Namyangju’s 1-2-3 Lifelong Learning Infrastructure เป็นโครงการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะโครงการประภาคารแห่งการเรียนรู้ (Learning Lighthouse) เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานโดยรอบเมือง เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ ภาครัฐยังคำนึงถึงการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ที่กระจายตัวอยู่รอบเมืองนั้น โดยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินไม่เกิน 10 นาที

สภาพโดยทั่วไปและปัญหาของเมือง

เมือง Namyangju ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด Gyeonggi ซึ่งเป็นเมืองที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสภาพแวดล้อมที่ดีและราคาที่ดินที่ถูกกว่ากรุงโซล หากพิจารณาองค์ประกอบในการส่งเสริมด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จะพบว่าองค์ประกอบมากกว่า 63 อย่างกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางเมือง ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างพื้นที่ศูนย์กลางเมืองและหมู่บ้านโดยรอบเมือง ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการสื่อสารและบริการจากหน่วยงานกลาง

หลักการและสภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ของเมือง Namyangju ทางภาครัฐใช้วิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการเกิด sense of community ซึ่งสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานรัฐเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการ Lifelong learning จะมีศูนย์สวัสดิการสังคม พิพิธภัณฑ์ แกลอรีศิลปะ ฯลฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม

โครงการที่ได้รับรางวัลและสามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ Namyangju’s 1-2-3 Lifelong Learning Infrastructure โดยตัวเลข 1 2 และ 3 ในชื่อโครงการล้วนมีนัยยะที่น่าสนใจ ดังนี้

1 = แต่ละคนจะต้องเข้าถึงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ด้วยการเดินไปยังพื้นที่เรียนรู้ระดับชุมชน หรือ “Learning Lighthouse”  

2 = ศูนย์กลางชุมชนขนาดใหญ่จะต้องเข้าถึงได้ด้วยการเดินไม่เกิน 20 นาที

3 = ทุกคนคนสามารถเดินไปห้องสมุดได้ไม่เกิน 3 นาที

Learning Lighthouse ถูกปรับมาจากพื้นที่บางประเภท เช่น อพาร์ทเมนต์ที่ว่างที่ไร้ประโยชน์ หรือ ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้งาน หรือมีพื้นที่ว่างในศูนย์ฯ เปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ นอกจากประโยชน์โดยตรงด้านการเรียนรู้ ประภาคารแห่งการเรียนรู้เหล่านี้ยังสร้างให้เกิดการรับรู้ถึงการเป็นชุมชน ที่ผู้คนสามารถมาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ห้องสมุดเมือง Namjangju สร้างพื้นที่ให้ผู้ปกครองและเด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ที่มา https://uil.unesco.org/city/namyangju

เมืองเม็กซิโกซิตี (Mexico City) ประเทศเม็กซิโก

Mexico City ใช้แนวคิดการสร้างสังคมยืดหยุ่น จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการเรียนรู้ อันส่งผลให้สังคมดีขึ้น เศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในเมืองดีขึ้นด้วยเช่นกัน

สภาพโดยทั่วไปและปัญหาของเมือง

แม้ Mexico City เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่พบว่าคงเผชิญปัญหาหลายด้าน อาทิ การกระจายความเท่าเทียมทางการศึกษา ผู้คนบางส่วนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ปัญหาสุขภาพของประชากร ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการวางผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชากรไม่ได้รับประโยชน์จากสาธารณูปการอย่างเต็มที่่

บางพื้นที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมากเกินไป ทำให้ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง รวมถึงเข้าถึงบริการสาธารณะได้ยาก และที่สำคัญคือ ขาดโอกาสด้านการเรียนรู้ และปัญหาสุดท้ายคือ ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย ซึ่งเมือง Mexico City ต้องเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ และการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่

หลักการและสภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

รัฐบาลท้องถิ่นเมือง Mexico City ส่งเสริมนโยบายด้านการเรียนรู้ด้วยการส่งเสริม Lifelong Learning ผ่านการพัฒนาเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เกิดโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่และโปรแกรมด้านการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นการทดลองและส่งเสริมวัฒนธรรมใหม่ๆ พื้นที่สาธารณะหลายแห่งถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายด้านทักษะ และการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียน  นอกจากนี้ภาครัฐยังสนับสนุนเรื่องพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ โดยการริเริ่มโครงการ Bici Escuela เป็นโรงเรียนสอนขี่จักรยานให้ประชนชนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องกฎจราจร การขับขี่บนท้องถนน และข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถนน นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้คนใช้จักรยานมาขึ้นเพื่อร่วมกันลดมลพิษ แต่ยังเกิดการพัฒนาพื้นที่ทางจักรยานในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง เป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจากข้อจำกัดการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้

MDF90510024. El gobierno del Distrito Federal reanudó este domingo el Paseo Dominical Muévete en bici, patines o caminando. NOTIMEX/FOTO/BERNARDO MONCADA/BMR/HUM/

เมืองเอสปู (Espoo) ประเทศฟินแลนด์

เป้าหมายการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในเมืองนี้ คือ การมีสุขภาวะที่ดีในชีวิตประจำวัน

สภาพโดยทั่วไปและปัญหาของเมือง

แม้ว่าการศึกษาและการเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ของประชากรในเมือง Espoo จะเพียงพอ แต่ภาครัฐยังคงเผชิญปัญหาด้านสุขภาวะที่ดีในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะการศึกษาในโรงเรียนและปัญหาอาคารเรียนซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ ในภาพรวมของเมือง แม้ว่าประชาชนเมือง Espoo จะไม่ได้เผชิญปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้ขาดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาเมือง นอกจากนี้การพัฒนาทางด้านสุขภาพและสภาวะจิตใจ เป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดโปรแกรมเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายจากกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่สาธารณะทั่วไปในเมือง

หลักการและสภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

Active Life คือสิ่งที่ภาครัฐพยายามกระตุ้นให้เกิดในประชากรเมือง Espoo ผ่านการสร้างพื้นที่กิจกรรมที่หลากหลายและสร้างสรรค์ เพื่อให้คนมีสุขภาวะจิตที่ดี ไม่เบื่อหน่อยหรือเหนื่อยหน่ายกับชีวิต เน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งทางภาครัฐได้สร้างศูนย์บริการด้านการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult Learning Services) ที่รวมทุกการบริการสาธารณะเพื่อการเรียนรู้และการพักผ่อนอยู่ในพื้นที่เดียว นอกจากนั้นการออกแบบการเข้าถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่น่าเบื่อ แต่กลายเป็นแหล่งนัดพบ แหล่งรวมกลุ่มทางสังคม หรือแม้แต่พื้นที่สร้างสรรค์และจัดแสดงงานศิลปะ เป็นการใช้พื้นที่ที่ยืดหยุ่น ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุดของเมืองหลายๆแห่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งการเป็นพื้นที่นัดพบสำหรับวัยรุ่น ซึ่งไม่ใช่แค่พื้นที่อ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว เพราะมีกิจกรรมที่หลากหลายภายในพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังมีกิจกรรมเพื่อคนทุกวัย เช่น การทำเวิร์คชอป การอบรมด้าน IT ให้แก่ผู้สูงวัย

นอกจากนี้การร่วมมือกันของทั้งประชานในเมือง ชุมชน และภาคเอกชน เป้นสิ่งที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดขึ้น เช่น หากมีกิจกรรมด้านการกีฬาของเมือง จะไปจัดที่ sport club ต่างๆของเมือง หรือแม้แต่โบสถ์ สามารถจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียนให้แก่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาครัฐจะเน้นไปที่การก่อใหเกิดกิจกรรมที่หลากหลายในเมือง บนพื้นที่หรือสถานที่หลากหลาย ใช้ประโยชน์ได้ยืดหยุ่น และทำให้เกิดสุขภาวะที่ไม่น่าเบื่อหรือจำเจบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

ที่มาภาพ https://www.edcities.org/en/proyectosg/espoo-opinmaki-learning-centre/

เมืองเกรโนเบิล (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส

เมืองตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศโดยถูกขนานนามว่าว่าเป็น เมืองหลวงของเทือกเขาแอลป์ โดยเน้นเป็นเมืองวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R+D) รวมเป็นเมืองสีเขียวที่พลิกโฉมเมืองอุตสาหกรรมในอดีต และมีความน่าอยู่ติดอันดับโลก อีกทั้งเป็นเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับ 5 ของโลก และยังเป็นศูนย์กลางงานวิจัยอันดับ 2 ของฝรั่งเศส โดยการพัฒนาเมืองจะมุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรม ในสาขาต่างๆ ทั้งโมโครและนาโนเทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ชีวศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดผ่านการวางแผนจากความร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารเมือง ผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมที่มีวิสัยทัศน์ มาไม่ต่ำกว่า 50 ปี

บรรยากาศมหาวิทยาลัยเกรโนเบิล-แอลป์
ภาพจาก https://www.facebook.com/hauteurs.uga/photos/a.427348927281481/427348940614813

สภาพโดยทั่วไปและปัญหาของเมือง

Grenoble เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นสูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศฝรั่งเศส และมีข้อจำกัดด้านการขยายตัวของเมืองเนื่องจากสภาพภูมิประเทศติดภูเขา แต่ถึงจะมีข้อจำกัดในการพัฒนาเมือง แต่ภาครัฐสามารถมองเห็นว่าข้อจำกัดบางอย่างสามารถเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งของเมืองได้

หลักการและสภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

หลักการพัฒนาเมือง Grenoble จะเน้นไปที่การแก้ไขปรับปรุงพื้นที่ (Urban Rehabilitation) โดนเปลี่ยนแปลงพื้นที่อาคารหรือที่ดินบางส่วนให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น มากกว่าแค่เป็นที่ตั้งของพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะ และพัฒนาพื้นที่ Brownfield ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เป็นย่านส่งเสริมสิ่งแวดล้อม (Eco-neighborhoods)

การพัฒนาเมือง Grenoble ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเพื่อการเป็นเมืองนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ได้มีการก่อตั้ง GIANT (Grenoble Innovation for Advanced New Technologies) ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์วิจัยและพัฒนา บนขนาดพื้นที่ 250 เฮคเตอร์ หรือกว่่า 1,562 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ร้านค้า และที่อยู่อาศัยครบวงจร 

โดยสัดส่วนการลงทุนใน GIANT นั้น มาจาก 5 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ 19% รัฐบาลท้องถิ่น 24% หน่วยงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แห่งสหภาพยุโรป (European Large Infrastructure) 19% คณะกรรมการพัฒนาพลังงานอะตอมและพลังงานทางเลือกแห่งฝรั่งเศส หรือ CEA 5% และหน่วยงานเอกชน 15%

ผลงานของ GIANT โดดเด่นในด้านพลังงานและระบบคมนาคมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น รถไฟ รถราง (tramways) จักรยาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตเมือง Grenoble ยังแผนพัฒนารถรางลอยฟ้า (cable car) ซึ่งจะช่วยรองรับจำนวนคนที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 

ผังการพัฒนาโครงการ GIANT เมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส
ภาพจาก https://www.giant-grenoble.org/en/30-000-men-and-women-joining-forces-to-build-a-world-class-campus/

จากการบริหารจัดการเมือง มีการใช้เทคโนโลยีขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green transportation ) สู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยใน GIANT มี Smart Grid Labs ของมหาวิทยาลัยเกรโนเบิล หรือ G2ELab (Grenoble Energy-Teaching Research) มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ระบบ Smart Grid มีห้องทดลองสำหรับการศึกษาและพัฒนาระบบพลังงานอัจฉริยะ มีการส่งเสริมการวิจัย ด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาและขยายเครือข่ายระบบ Smart Grid ภายในเมือง โดยสร้างความเชื่อมโยงระบบระบบพลังงานระหว่างอาคารต่างๆ รวมไปถึงแนวคิด Smart Building เพื่อรวมเข้ากับ Smart Grid แล้วเชื่อมโยงท้องถิ่นและคนภายในเมืองทั้งหมด

นอกจากการพัฒนาด้านการวิจัยและเทคโนโลยี ภาครัฐยังให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมและพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาวะที่ดีและการเป็นเมืองที่น่าอยู่ อีกนัยหนึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางภูมิประเทศและพื้นที่สีเขียวเดิมที่มีอยู่ โดยภาครัฐได้ส่งเสริมให้ผู้คนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง รวมไปถึงสวนแนวตั้ง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัย นำพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ของตนมาพัฒนาเป็นพื้นที่สวนขนาดเล็ก จากการผลักดันและพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมือง Grenoble ได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลล่าสุด คือ  The European Commission’s European Green Capital Award 2022. ซึ่งจะมอบให้กับเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่า 100,000 คน และเป็นเมืองที่มีเน้นการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Living) 

เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์

The Garden City วิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองสีเขียวของสิงคโปร์ ไม่เพียงส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มวิสัยทัศน์ที่ดีให้กับเมืองและเป็นพัฒนาให้เป็นเมืองที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ เพราะเมื่อไหร่ที่เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่งามและร่มรื่น เมื่อนั้นจะทำให้เมืองสามารถเดินได้และเดินดี ผู้คนมีสุขภาวะทั้งกายและทั้งจิตใจที่ดี สามารถส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของประชาชนในประเทศได้ดี

สภาพโดยทั่วไปของประเทศ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็ก เมื่อในสมัยอาณานิคม ทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศถูกทำลายหมด สิ่งเดียวที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศสิงคโปร์คือประชาชน โดยประเทศสิงคโปร์ได้มีการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรอย่างตลอดเวลา โดยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของประชาชนได้ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ประการ เพื่อนำประเทศสิงคโปร์สู่การเป็น Global Asia Hub ได้แก่

1) ส่งเสริมให้บุคคลตัดสินใจเลือกอย่างรอบรู้

2) พัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอบรมคุณภาพสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3) ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพตามทักษะวิชาชีพและความเชี่ยวชาญ

4) ส่งเสริมความคิดในการเรียนรู้ของประชาชนชาวสิงคโปร์

หลักการและสภาพแวดล้อมเมืองที่ส่งเสริมความเป็น Learning City

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์ที่มีการส่งเสริมความคิดในการเรียนรู้ของประชาชนชาวสิงคโปร์ ได้มีการพัฒนาแบรนด์ประเทศสู่การเป็น Green City โดยมองว่าการเรียนรู้มิได้จำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสาธารณูปการแต่อย่างเดียว หากแต่ว่าจะต้องมีสภาพแวดล้อมของเมืองที่ส่งเสริมและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ได้ จากประเทศที่ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่เลยสู่การเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวมากกว่าร้อยละ 30 ด้วยการพัฒนาจากแนวคิดที่มาก่อนกาล

เมื่อปี ค.ศ.1967 ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงโปร์ได้เกิดวิสัยทัศน์ในการสร้างประเทศสิงคโปร์สู่การเป็น The Garden City โดยคาดว่ามีต้นแบบมาจากแนวคิด อุทยานนคร (The Garden City of Tomorrow) ของนักผังเมืองสังคมนิยม Ebenezer Howard โดยการสร้าง The Garden City มิได้เป็นเพียงการก้าวหน้าทางด้านจิตวิญญาณของเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศได้ และในอีกแง่หนึ่ง สิ่งนี้จึงพาให้ประเทศสิงคโปร์พัฒนาองค์ความรู้ของประชาชนทัดเทียมระดับสากลโลกได้

การสร้างแบรนด์ The Garden City ของประเทศสิงคโปร์ได้มีการวางยุทธศาสตร์เป็นอย่างดีเพื่อให้มีต้นไม้หนาแน่นขึ้น (เสรีสกุล, 2562) ยกตัวอย่างเช่น การใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมเรื่องพื้นที่สีเขียวของเมืองผ่านการปลูกสร้างอาคารโดยร่วมมือกับภาคเอกชน ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,500 ต้น ทำให้ภายใน 3 ปี สิงคโปร์มีต้นไม้เพิ่มขึ้นถึง 55,000 ต้น มีกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 จัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนร้อยละ 85 มีสวนสาธารณะห่างจากที่พักในระยะเดินไม่เกิน 400 เมตร รวมทั้งพัฒนาพื้นที่มืองโดยการเชื่อมย่านผ่านสวนสาธารณะ (Park Connector Network: PCN) มีเป้าหมายเพิ่ม PCN ให้ยาวถึง 360 กิโลเมตร และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ถึง 56,520 ไร่


Contributor