07/06/2021
Mobility

สังคมเมืองกับวัฒนธรรมการเดินเตร็ดเตร่ของผู้คน

สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์
 


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้หลายคนต้องอยู่บ้าน และทำให้ชีวิตของคนเมืองต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความเร่งรีบ นำไปสู่สังคมในแบบใหม่ที่ผู้คนใส่หน้ากากอนามัยเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กัน ความเร่งรีบที่หายไปจากการทำงานที่บ้าน ความวุ่นวายที่หายไปจากการทำงานที่บ้าน และความกลัวต่อเชื้อไวรัสของผู้คน

สังคมเมืองแบบที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความเร่งรีบ ก่อตัวชัดเจนในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพเข้ามาในเมืองเพื่อหางานหาโอกาส ทำให้ในเมืองเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก และผู้คนเหล่านั้นก็มีความหลากหลาย สิ่งที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันมีผู้คนบางกลุ่มที่ชอบการออกไปเจอผู้คน การเข้าไปในฝูงชนเพื่อลิ้มรสความวุ่นวายอันเป็นเสน่ห์ของสังคมเมือง ซึ่งอันที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมเมืองที่ก่อตัวขึ้นในช่วงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในสมัยนั้นคนกลุ่มนี้ก็คือ ผู้คนที่ชื่นชอบลิ้มรสสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และความเร่งรีบ ผ่านการแฝงตัวเข้าไปในฝูงชนอันวุ่นวายนี้ พวกเขามีชื่อเรียกว่า “flaneur” (ฟลาเนอร์) ซึ่งบทความชิ้นนี้เราจะกล่าวถึงที่มาของพวกเขาอย่างคร่าว ๆ 

สังคมเมืองยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ก่อนจะกล่าวถึง the flaneur เราต้องรู้ถึงเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสังคมเมืองในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อน

สังคมเมืองเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดการอพยพของผู้คนในชนบทจำนวนมากเข้ามาในเมือง เพื่อเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดกระบวนการขยายตัวของเมืองไปยังพื้นที่ชนบท (urban growth) ดังเช่นในภาพด้านล่างที่แสดงถึงการขยายตัวของมหานครลอนดอน และเมื่อประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ทำอาชีพเป็นแรงงานอุตสาหกรรมที่มีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอนมากขึ้น จึงทำให้ความสามารถที่จะซื้อสินค้าได้เพิ่มขึ้นไปด้วย

รวมถึงเวลาอยู่ในเมืองเราไม่ได้มีอาหารรองรับเหมือนตอนทำเกษตรกรรม เราต้องไปหาซื้ออาหารมากิน ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตพยายามผลิตสินค้าและบริการออกมามากขึ้น เพื่อตอบรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรม คือ การเกิดขึ้นของสังคมเมือง

จุดเด่นของสังคมเมืองคือความเป็นสังคมบริโภคนิยม และความเป็นสังคมแบบไร้ชื่อ ผู้คนในสังคมไม่รู้จักกัน แต่อยู่ร่วมกันในลักษณะของฝูงชนในเมือง (crowd) ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวเกี่ยวกับฝูงชนในเมืองกลุ่มหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้ที่เรียกว่า Flaneur ที่ได้รับความสุข (pleasure) จากการ “แฝงกาย” หรือ “ฝังกาย” (penetration) เข้าไปในฝูงชนในสังคมเมือง

Growth of London | Vintage world maps, Early 20th century, London
ที่มาภาพ Pinterest

Flaneur นักสืบสมัครเล่นและนักสำรวจแฟชั่น

คำว่า Flaneur เริ่มต้นจาก Walter Benjamin นักวิพากษ์วัฒนธรรมเชื้อสายยิวเยอรมัน จากการที่เขาได้นํางานของ Charles Baudelaire มาวิเคราะห์ในกรอบของวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมสมัยใหม่ในเมือง กับคำถามว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้คือใครกัน

คำตอบก็คือ Flaneur เป็นผู้เดินเตร็ดเตร่ในเมืองไร้จุดหมายแน่นอน คนกลุ่มนี้จะเดินเล่นไปเรื่อย ๆ แสวงหาที่ระบายความอ้างว้างโดดเดี่ยวจากความเป็นสังคมแบบไร้ชื่อ (anonymity) ในเมือง พวกเขามักแฝงตัวเข้าไปกับฝูงชนตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและร้านค้าตามถนนใหญ่ๆ พวกเขาจะไม่รวมตัวเองเข้ากับฝูงชนแต่จะทำหน้าที่เป็น “นักสืบสมัครเล่น”  ที่คอยเพ่งมองฝูงชนและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง หรือสํารวจรสนิยมและแฟชั่นของคน

การเดินเตร็ดเตร่ตามท้องถนนเช่นนี้เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรามองคนอื่น คนอื่นก็มองเรา เราได้ความสุขจากการแอบมองคนอื่น ขณะเดียวกันคนอื่นก็กําลังเสพความสุขที่ได้มองเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมการบันเทิงที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทําให้ flaneur ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว สำหรับบางคนอาจจะสงสัยว่าในสมัยนั้น ผู้หญิงยังต้องดำรงความเป็นสตรีโดยการอาศัยอยู่ที่บ้าน  คอยทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และดูแลสามี ทำไม่ถึงออกมาเดินเล่นในสังคมเมืองได้ คำตอบของคำถามนี้คือ ตัวบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงเองนั้นก็ช่วยสนับสนุนให้เกิดการออกมาเดินเที่ยวในสังคมเมืองเช่นกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือ แม้ว่าวัฒนธรรมในสมัยนั้นจะเรียกร้องให้สตรีอยู่กับบ้านเฝ้าเรือน แต่หน้าที่หนึ่งของสตรีคือ การจับจ่ายข้าวของเข้าบ้าน และหน้าที่นี้นั้นเองที่ทําให้สตรีอ้างตัวออกไปเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ในเมืองได้ และสถานที่เตร็ดเตร่ของสตรีก็ไม่ใช่ที่ใดอื่นนอกจากห้างสรรพสินค้า และนอกจากการจับจ่ายซื้อของเข้าบ้านแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากความเป็นสังคมบริโภคนิยมในสมัยนั้น ทำให้เมื่อพวกเธอได้โอกาสที่จะออกมาเดินเล่นในห้างแล้ว พวกเธอก็จะถูกดึงดูดไปกับสิ่งของต่าง ๆ ที่ตั้งโชว์ในห้างสรรพสินค้าอย่างสวยงามเพื่อดึงดูดลูกค้า การจ้องมองสิ่งของเหล่านั้นช่วยทำให้ผู้หญิงรู้สึกมีความสุข รู้สึกเหมือนได้ทำตัวให้เขากับกระแสความบริโภคนิยม การดึงดูดในลักษณะนี้เราเรียกกันว่า “window shopping” และนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้การชอปปิงถูกตีตราให้เป็นการกระทำของผู้หญิงในปัจจุบันนั้นเอง

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงยกภาพ Woman in front of a hat shop ของ August Macke ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ภาพนี้แสดงภาพผู้หญิงที่กำลังเดินเที่ยวอยู่ในเมือง พร้อมกับจ้องไปที่ตู้โชว์ของร้านหมวก เสมือนว่าเธอกำลังผ่อนคลายตัวเองกับการยินมองหมวกเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นการ window shopping นั้นเอง

Woman in front of a hat shop – August Macke
This image has an empty alt attribute; its file name is D-Kd6sRMxyTy0i_8slYRVcg-fGcuypP9UmeAv5j_8hApW23eOnb4z5dctebUPigoSCSiqjldrws7aG7Sk31EEf5xy-hfjiS3qDjQ0lORV1EEIxITlxs1Ps9HJViv-WpAohtmZ-M
Woman in front of a hat shop – August Macke

แม้ว่า flaneur จะเป็นกลุ่มคนที่รู้สึกเปล่าเปลี่ยว และต้องการออกไปหาฝูงชน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึกอันโดดเดี่ยว แต่ว่าพวกเขามักไม่ได้รวมตัวเองเข้ากับฝูงชนเหล่านั้น พวกเขาเพียงแค่เข้าไปในฝูงชนเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาเท่านั้น เมื่อพวกเขาพอใจแล้ว พวกเขาก็จะทำการปลีกตัวออกมาจะฝูงชนนั้น

ดังนั้นแล้วพวก flaneur จึงไม่จําเป็นต้องได้รับการยอมรับทางสังคมโดยฝูงชน ซึ่งบ่งบอกถึงภาวะของความแปลกแยกของผู้คนในมหานคร เช่น กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่ ผู้ที่เข้าสังคมไม่เก่ง ได้เป็นอย่างดี และนี่คือ ลักษณะสําคัญของมหานครในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากจากทุกสารทิศที่พากันเดินทางเข้ามาในเมือง เพื่อหาโอกาสทางการงานใหม่ หรืออพยพเข้ามาเพราะความต้องการแรงงานภาคเกษตรกรรมที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

รวมถึงแนวคิดสำคัญในกวีนิพนธ์เมืองใหญ่ รวมถึงตัวอย่างศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่บรรยายเกี่ยวกับมหานครในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่น ภาพวาด The Ponte de l’Europe ของ Gustave Caillebotte ในภาพจะเห็นผู้ชายสวมสูทสีดำ และหมวก Top Hat เขาคือพวก flaneur จะเห็นได้ว่าเขากำลังจ้องมอง (gaze) ผู้ชายใส่ชุดสีขาวที่ยืนอยู่ริมสะพานซึ่งแฝงนัยยะทางเพศได้อย่างน่าสนใจ

Le Pont de l'Europe - Wikipedia
The Ponte de l’Europe – Gustave Caillebotte

บทความนี้ได้บอกเล่าถึงคนกลุ่ม flaneur ที่ชื่นชอบการเดินเตร็ดเตร่ในสังคมเมือง เพื่อเข้าไปสัมผัสความวุ่นวาย ความเป็นสังคมบริโภคนิยมของเมือง ซึ่งปัจจุบันแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังพบได้ทั่วไปในสังคมเมืองทั่วโลก เพราะว่ายังไงก็ตามเมืองก็ยังเป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ทุก ๆ เมืองบนโลกใบนี้จะต้องมีจุดเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาสัมผัสมัน

แม้จะเป็นที่เสียดายว่าในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองอาจจะทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ การกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติ คนในเมืองก็เช่นกัน การกลับเข้าไปในวงจรความเป็นสังคมเมืองก็ถือเป็นการกลับไปสู่ภาวะปกติอันเป็นสิ่งที่เสริมสร้างเสน่ห์อย่างหนึ่งของสังคมเมืองที่ดึงดูดให้ flaneur แห่งศตวรรษที่ 21 เข้ามาสัมผัสชีวิตอันวุ่นวายแห่งนี้อีกครั้ง

แหล่งข้อมูล

Broude, Norma (2002). Gustave Caillebotte and the Fashioning of Identity in Impressionist 

Paris. Rutgers University Press.

Anne Friedberg, Window Shopping (1993)


Contributor