01/11/2019
Mobility

เมื่อการเดินกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

ชยากรณ์ กำโชค
 


เบรนท์ ชเลนเดอร์ เคยเขียนเรื่องราวของ สตีฟ จอบส์ ตีพิมพ์ลงใน Fortune และ The Wall Street Journal เป็นเรื่องราวที่เปิดเผยเบื้องหลังพฤติกรรมบางอย่างที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเปลี่ยนโลกมากมายในนาม “แอปเปิล”

พฤติกรรมที่ว่าไม่ใช่เรื่องซับซ้อน หรือลึกลับใดๆ แต่เป็นเรื่องพื้นฐานของพวกเราทุกคน พฤติกรรมที่ว่าคือ – การเดิน

เขาเล่าว่า สตีฟ จอบส์ เชิญเขาไปที่บ้านและสร้างบทสนทนาด้วยการเดินคุยกัน สอดคล้องกับที่หลายๆ คนรอบตัวของศาสดาแห่งแอปเปิลผู้นี้ บอกว่า เขามักเชิญให้ทีมงานระดมความคิดใหม่ๆ ด้วยการเดินรอบๆ แอปเปิลแคมปัส เดินไป คุยไป เพื่อสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ

เมื่อพูดถึงการเดินและความคิดสร้างสรรค์ก็ชวนให้คิดถึง แมริลี ออพเพซโซ่ นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ เธอเคยขึ้นเวที TED Talk ในหัวข้อ “Want to be more creative? Go for a walk” หรือ อยากมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเหรอ? ออกไปเดินสิ!

ที่มา https://www.ted.com/talks/marily_oppezzo_want_to_be_more_creative_go_for_a_walk

แมริลี เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยของเธอที่ตีพิมพ์ในวารสารการทดลองทางจิตวิทยาเมื่อปี 2015 โดยศึกษาระดับความคิดสร้างสรรค์ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนั่งและเดิน ผลปรากฎว่าผู้ที่เดินคิด ไม่ว่าจะเดินนอกสถานที่หรือเดินบนลู่วิ่งในร่ม จะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่นั่งคิดเฉลี่ยมากกว่า 60 เปอร์เซนต์

การทดลองของเธอเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 176 คน ทุกคนได้รับโจทย์ที่เหมือนกัน นั่นคือ ให้ทุกคนคิดวิธีการใช้งานสิ่งของธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้มากที่สุด แตกต่างมากที่สุด และต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ยกตัวอย่างเช่น กุญแจ ที่มีผู้ตอบว่าเอากุญแจขีดเขียนชื่อฆาตกรบนพื้นก่อนที่ตัวเองจะตาย

ทุกคนจะได้ทำแบบทดสอบ 2 ครั้ง ในเวลาเท่ากัน 4 นาที แต่ทุกคนจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. นั่งทำแบบทดสอบทั้ง 2 ครั้ง

2. นั่งทำแบบทดสอบครั้งแรก และ เดินบนลู่วิ่งในครั้งที่ 2

3. เดินบนลู่วิ่งครั้งแรก และ นั่งทำในครั้งที่ 2

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ 1 (นั่งทั้ง 2 ครั้ง) สามารถคิดได้ 20 ไอเดีย ทว่ากลุ่มที่ 2 และ 3 คิดได้มากกว่า 2 เท่า !

กลุ่มแรกซึ่งนั่งคิดทั้งสองครั้งได้ประมาณ 20 ไอเดีย ส่วนกลุ่มสองและกลุ่มสามที่เดินสายพาน คิดไอเดียได้เกือบสองเท่า! ใช่แล้ว กลุ่มที่ 3 แม้จะนั่งคิดในรอบที่ 2 แต่ความคิดก็ยังพรั่งพรู อันสรุปได้ว่า เพราะเป็นผลมาจากการเดินกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในรอบที่ 1 นั่นเอง !

อย่างไรก็ตาม การทดสอบดังกล่าวไม่ใช่คำตอบของการทำงานบางประเภทที่ยังจำเป็นต้องโฟกัสและใช้สมาธิ ข้อเท็จจริงสนับสนุนโดยการทดสอบอีกชิ้นของเธอ นั่นคือ การให้กลุ่มตัวอย่างเติมคำในช่องว่าง ผลปรากฎว่า คนนั่งคิดได้ถูกต้องแม่นยำกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แมริลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า แม้ไม่ใช่ทุกงานจะสำเร็จได้เพราะการเดิน แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าคุณอยากได้ไอเดียสดใหม่สำหรับเริ่มต้นงาน…การเดินเท่านั้นที่ช่วยได้

สอดคล้องกับแนวคิดของ บาร์บารา โอกลีย์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโอกแลนด์ ผู้เคยตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการเรียนรู้ ซึ่งหนึ่งในวิธีเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็คือ การเดิน

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นความเข้าใจผิดมาเสมอว่า การเรียนรู้เท่ากับการนั่งโฟกัสอย่างตั้งใจ แต่ความจริงแล้วการปล่อยให้ตัวเองเดินไปเรียนรู้ไปก็เป็นอีกหนทางที่ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพเช่นกัน

ที่มาภาพ https://www.ted.com/talks/marily_oppezzo_want_to_be_more_creative_go_for_a_walk

แนวคิดดังกล่าวยังสอดรับการที่ เคลย์ ค็อกเรลล์ นักจิตบำบัดชื่อดังที่เปิดคลินิกให้คำปรึกษาที่นิวยอร์ก มีผู้ขอคำปรึกษาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 35-40 คน

วิธีการรับฟังและให้คำปรึกษาของเขาไม่ใช่การนั่งบนโซฟาคนละตัวแต่คือ การออกไปเดินตามพื้นที่สาธารณะของเมือง ซึ่งบางครั้งก็ไร้หัวข้อสนทนาตายตัว แต่เขาเชื่อว่ามันทำให้ผู้ขอคำปรึกษารู้สึกเป็นอิสระ กล้าเปิดเผย ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผลจากการเดินนั่นเอง

จะเห็นว่า การเดินช่วยปลุกให้ความคิดสร้างสรรค์ของเราทำงานได้ในหลายมิติ

เพราะฉะนั้น – มาเดินกันเถอะ!

ที่มาข้อมูล

Want to be more creative? Go for a walk, โดย Marily Oppezzo, April 2017, Retrieved 5 May 2019.

Stanford study finds walking improves creativity, โดย MAY WONG, 24 APRIL 2014, Retrieved 7 May 2019.

Sitting down inhibits creativity, Stanford study finds, โดย Derek Beres, 15 May 2017, Retrieved 7 May 2019.

Why Walking Helps Us Think | Stanford Study Finds Walking Improves Creativity, โดย Devin C. Hughes, 23 Jan 2018, Retrieved 10 May 2019.

Research backs up the instinct that walking improves creativity, โดย Olivia Goldhill, 10 April 2016, Retrieved 10 May 2019.


Contributor