01/11/2019
Mobility

WHY WE WALK? – เราเดินเพื่ออะไร?

The Urbanis
 


เพราะการเดินนับเป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ที่จะพาตัวเองไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ซึ่งนอกเหนือจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งแล้ว การเดินยังมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จึงอยากรวบรวมประโยชน์ของการเดินแต่ละอย่าง ว่าเราสามารถเดินเพื่อวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง

เดินปลดปล่อยความคิด

ฌอง ฌาค รุสโซ นักทฤษฎีการเมืองในยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ใครหลายคนรู้จักกล่าวว่า‘สมองหยุดคิดเมื่อเท้าหยุดเดิน’การเดินของเขาจึงเปรียบเสมือนการเดินเพื่อค้นพบ เพื่อทบทวน และเพื่อสื่อสารกับตัวเอง สอดคล้องกับงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2014 ที่พบว่า 60 % ของความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากออกไปเดิน ฉะนั้นเมื่อคุณสมองตันคิดงานไม่ออก ลองปลีกตัวออกไปเดินเล่นๆ รอบบ้านหรือออฟฟิศดูได้นะ

เดินประท้วง

ย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 การเดินก็เริ่มมีนัยยะในเชิงการเปลี่ยนแปลงสังคมกันแล้ว มีบันทึกว่า อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญของโลก ก็ชอบเดินประท้วงไปรอบๆ ถิ่นที่อยู่อาศัยของเขาแทบทุกวัน ขณะที่ในปัจจุบันการเดินเริ่มเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการแสดงพลังทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า การเดินกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของสัญญะการประท้วง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมิติเล็กๆ กระทั่งมิติใหญ่อย่างล้มรัฐบาลมาแล้วในหลายประเทศ

เดินเพื่อสื่อสารตัวตน

ออนอเร เดอ บาลซัก นักประพันธ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศสมองเห็นท้องถนนในศตวรรษที่ 19 เป็นแรงบันดาลใจให้เขาหยิบฉวยช่วงขณะย่างเดินมาเป็นแว่นตาในการศึกษาผู้คนในเมืองและเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการเขียนงาน บัลซัค พบว่า การเดินเป็นการสื่อสารตัวตนที่แสดงออกถึงชนชั้นทางสังคม บุคลิก อาชีพ รวมไปถึงมีผลต่อการแต่งกาย ท่วงท่าการเดินของคนเราจึงไม่เหมือนกัน ถนนจึงเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายและกลายมาเป็นสีสันสำคัญของเมือง

เดินเปลี่ยนเมือง

เจน จาคอบส์ หญิงแกร่งที่ได้ชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการพลิกเกมของการวางผังเมืองของเมริกา เธอเสนอว่าเราสามารถวัดความศิวิไลซ์ของเมืองใดเมืองหนึ่งได้จากคุณภาพของสาธารณูปการพื้นฐาน กิจกรรมที่สร้างความมีชีวิตชีวาให้พื้นที่ และความปลอดภัยของถนนนั้นๆ  หัวใจสำคัญที่ทำให้เมืองน่าอยู่คือ พลังงานที่เกิดขึ้นจากความหลากหลายที่มาปะสังสรรค์กันอย่างอิสระตามท้องถนนและพื้นที่สาธารณะของเมือง ดังนั้นการเดินในเมืองจึงกลายเป็นการส่งเสริมชีวิตสาธารณะของสังคมไปด้วยนั่นเอง

เดินย่อยอาหาร

ปี 2013 มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน ของสหรัฐฯ แนะนำผู้สูงอายุทั้งหลายให้เดินออกกำลังหลังอิ่มข้าวทุกมื้อ ครั้งละ 15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผลวิจัยของเขา กล่าวว่า การเดิน 15 นาทีหลังรับประทาน จะช่วยกดระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง เทียบเท่ากับการเดินช้าๆ ถึงเร็วปานกลางนาน 45 นาที โดยช่วงที่เหมาะที่สุดกับการเดินคือ หลังมื้อเย็น เพราะเป็นมื้อหนักสุดของวันที่ก่อระดับน้ำตาลขึ้นได้สูงสุดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรลุกพรวดเดินทันทีหลังทานเสร็จ เพราะการเดินทันทีจะขัดขวางระบบการย่อยจนทำให้เราจุกเสียดได้ ฉะนั้นควรรอเวลาสักระยะก่อนออกเดินนะจ๊ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

เดินออกกำลังกาย

การเดินเป็นกิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activity ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยอาศัยการใช้พลังงานของกล้ามเนื้อและกระดูกมีประโยชน์ทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และยังช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือโรคความดันโลหิต ทั้งยังช่วยสร้างสมดุลของร่างกาย จนกระทั่งถึงควบคุมน้ำหนักได้ การเดินจึงเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่กระทำได้ง่ายและสะดวกอย่างยิ่ง

เดินพักผ่อน

จวบจนศตวรรษที่ 21 การเดินไม่ได้มีมิติเดียวอีกต่อไป ปัจจุบันการเดินยังถูกยกระดับให้เป็นสุนทรียะและวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นชมเมือง เดินช็อปปิ้ง เดินเพื่อความผ่อนคลาย หรือกระทั่งเดินเพื่อเดินเฉยๆ การเดินจึงสามารถช่วยเรากำจัดความเครียดได้ เพิ่มความสบายใจ และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง:

Stanford study finds walking improves creativity, โดย Stanford, 24 April 2014, Retrieved 2 February 2019.

After-meal walks may help control diabetes, study suggests, โดย Brian Alexander, 12 Jun 2013, Retrieved 2 February 2019.

7สิ่งไม่ควรทำหลังอาหาร, โดย Sanook, 17 เมษายน 2555, สืบค้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562.

เดินหลังกินอิ่มทุกมื้อ หนีโรคเบาหวานพ้น, โดย ไทยรัฐออนไลน์, 17 มิถุนายน 2556, สืบค้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562.

โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี


Contributor