01/11/2019
Mobility

Boost your health up! : อะไรก็ดีถ้าเมืองเดินได้เมืองเดินดี

The Urbanis
 


คำถามร่วมสมัยคนเมืองก็คือ เราจะมี “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ได้อย่างไร ท่ามกลางการเติบโตอย่างไม่ค่อยคอยใครของกรุงเทพมหานคร การก้าวข้ามกำแพงของความเหลื่อมล้ำดูจะเป็นเรื่องที่แค่คิดก็ท้อสำหรับใครหลายคน ทำวันนี้ให้อิ่มท้องก่อนดีไหม หรือเช้านี้จะฝ่ารถติดไปทำงานอย่างไรให้ทันก่อนดีกว่า

ยิ่งปัจจุบันระบบการสัญจรในกรุงเทพฯ ที่ง่ายที่สุดและช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนและละแวกบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่มากที่สุดอย่าง “การเดิน” กลับถูกลดความสำคัญลงและคนเดินเท้าก็กลายสถานะเป็น “ส่วนเกิน” ของถนนหรือทางเท้าไปได้ซะนี่ สิทธิที่จะเดิน จึงกลายเป็นเรี่องยากยิ่งกว่ายากสำหรับคนเมืองเนื่องจากการออกแบบสาธารณูปการต่างๆ ที่ไม่ได้คำนึงผู้ใช้งานทั้งหมดแต่กลับยกให้คนใช้รถเป็นใหญ่ที่สุดบนท้องถนนภาพฝันสวยๆ อย่างการเดินที่เชื่อมเราเข้ากับกิจกรรมอันหลากหลาย (mixed use) ในเมืองจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงสักที 

มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีข้อสงสัยกันบ้างว่า การเดินอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันดูเป็นเรื่องที่เหนื่อยเกินไป ช้าก่อนค่ะ อย่าเพิ่งเอาความเคยชินที่เราอาจจะปรับตัวอยู่ร่วมกับความไม่ปกติบนทางเท้ามาทำให้คุณสิ้นหวัง ลองมาฟังผลพลอยได้สำคัญที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ หากคุณเริ่มเดิน

เดินวันนี้ เฮลตี้วันนี้

หลายคนกังขาว่า การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ทำได้เฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไป หรืออย่างน้อยก็ทำได้เฉพาะกับคนที่มีเวลา แต่ปัจจุบันแวดวงการศึกษาเรื่องสาธารณสุขเริ่มหันมาสนใจ “การเดิน” ในฐานะการออกกำลังกายวิธีการหนึ่งที่ให้ผลดีต่อสุขภาพหากเดินเป็นประจำอย่างน้อย 20-30 นาที หรือจะลองสร้างนิสัยการเดินในชีวิตประจำวันด้วยการชวนคนรู้จักมาร่วมเป็นเพื่อนเดิน แล้วลองใช้แอปพลิเคชั่นนับก้าวเดินต่างๆ เป็นอุปกรณ์เพิ่มความสนุก ก็อาจกระตุ้นให้คุณยิ่งอยากเดิน อยากสะสมจำนวนก้าวมากขึ้น รู้ตัวอีกที เดินไปครบ 10,000 ก้าวต่อวัน เผาผลาญได้ 280-500 แคลอรี่ มีแต่ได้กับได้

การเดินไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงการเปิดพื้นที่ช่องทางการสัญจรที่หลากหลายขึ้นในสังคมที่มีรถเป็นใหญ่กว่าคน เพราะเมื่อเราออกมาเดินกันมากขึ้น การเดินของเรานี่แหละที่จะเป็นการช่วยตรวจสอบความปลอดภัย ความสะดวกสบาย รวมไปถึงปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ ที่มีผลต่อการเดิน ผลลัพธ์ก็คือ เราจะกลายเป็นมดงานที่ช่วยส่งต่อความต้องการ “ทางเท้าที่ดี” ให้ดังไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาสาธารณูปการเหล่านี้ (Judith Green, 2009)   

ขอยกตัวอย่างตัวเลขน่าสนใจที่ใกล้ตัวเราขึ้นมาอีกนิด เชื่อหรือไม่คะว่า คนกรุงเทพฯ ครองแชมป์อ้วนลงพุง! จากการสำรวจสุขภาพคนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า ร้อยละ 44.6 ของคนกรุงเทพฯ มีอาการอ้วนลงพุง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย นั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน ออกกำลังกายน้อยและทานอาหารที่ไม่ค่อยจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย

นอกจากนั้น จากการสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยด้วยการตรวจร่างกายในปี พ.ศ. 2557 เทียบกับผลการสำรวจเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า คนไทยมีแนวโน้มจะมีอาการของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease: NCD) เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 1.5 ล้านราย และโรคความดันโลหิตสูงที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านราย!

เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขด้านบนกับกายภาพขั้นพื้นที่ของทางเดินเท้าในกรุงเทพฯ เราจึงพอเห็นภาพได้ว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงอ้วนเอาอ้วนเอาทุกวัน จากงานศึกษาของ Ken R. ระบุว่า การพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้เอื้อต่อการเดินจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นได้เป็นอย่างดี

โดยการจัดวางผังเมืองให้ผู้คนสามารถเดินเข้าสู่สาธารณูปการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ที่ทำงาน สวนสาธารณะ ร้านค้า หรือพื้นที่ทางกิจกรรม จะทำให้ผู้คนเลือกใช้วิธีการเดินทางด้วยการเดินมากขึ้น และเมื่อคนเดินเข้าหาสิ่งต่างๆ ในละแวกไม่ไกลจากบ้านมากนัก ก็จะช่วยให้ลดอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนได้เกือบ 10% ดังนั้นการจัดบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐานและการวางผังเมืองให้มีความหลากหลายของกิจกรรมในพื้นที่ที่อยู่ในระยะเดินเท้าจึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินและยังมีผลให้เกิดการเชื่อมต่อของพื้นที่และผู้คนให้เข้าหากัน

การออกมาเดินที่มากขึ้นของผู้คนจึงมีส่วนสำคัญให้เกิดการใช้สอยและสอดส่องที่จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้มีกายภาพที่เหมาะสมและสะดวกสบายต่อการเดินและใช้ชีวิตในเมืองมากยิ่งขึ้น นอกจากสุขภาพกายที่แข็งแรง การเดินยังมีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีโดยที่เราไม่ต้องเสียเงินสักบาท และเมื่อกายภาพทางเท้าพัฒนามากขึ้น คนออกมาเดินมากขึ้นก็ย่อมมีผลต่อสุขภาพที่ดีขึ้นของคนในรัฐและเป็นผลดีต่อระบบการสาธารณสุขโดยรวมตามไปด้วย (J. Morris and A. Hardman, 1997)

ยังมีอีกหลายคุณประโยชน์ที่คุณจะได้รับง่ายๆ เพียงแค่เริ่มเดิน มาร่วมติดตามการเปลี่ยนแปลงเมืองที่จะเกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเดินเท้าไปกับเรา โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 3 ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง เร็วๆ นี้

 

อ้างอิง

Walking to health.Sports Medicine, 306-332, J. Morris and A. Hardman. (1997), Retrieved 10 Jun 2019.

‘Walk this Way’ : Public health and the social organization of walking .Social Theory&Health, 20-38, Judith Green. (2009), Retrieved 10 Jun 2019.


Contributor