01/11/2019
Mobility

ปิดเพื่อเปิดกว้าง ไปกับ Rue de la République ถนนคนเดินที่ยาวที่สุด ณ เมืองลียง ฝรั่งเศส

The Urbanis
 


ในช่วงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษที่ 1990 แนวคิดของการฟื้นฟูเมือง (Urban Regeneration) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาเมือง และได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อพื้นที่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนไปตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม โดยแนวคิดพื้นฐานคือ การปรับปรุงสภาพทางกายภาพของเมืองให้มีสภาพที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมร่วมสมัย

ปัจจุบันถนนคนเดินตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ กำลังกลายเป็นกระแสนิยม เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป้าหมายที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ การแวะเลือกซื้อสินค้าในท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ถนนคนเดินจึงกลายเป็นตัวเลือกที่สร้างความเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยว

โดยได้รับแนวคิดจากความต้องการสร้างจุดขายและเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ ปรับสภาพให้เข้ากับความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนในชุมชน สามารถนำเอาสินค้าของตนออกมาวางจำหน่าย ถือเป็นการรวมกลุ่มของบรรดาผู้ประกอบการสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับท้องถิ่น สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน

จนบางแห่งกลายเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ มีสินค้าให้เลือกสรรมากมายหลากหลายประเภท ทั้งสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น สินค้าพื้นเมือง หรือแม้กระทั่งอาหารพื้นบ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ยังสามารถกลายมาเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมได้ ทั้งนี้ ถนนคนเดินยังสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดแสดง หรือจัดกิจกรรมของท้องถิ่น ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเวทีกลางแจ้ง เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม อัตลักษณ์ เทศกาลและประเพณีของเมืองไปในตัว

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

โดยเดิมพื้นที่ดังกล่าว มีลักษณะผสมผสานระหว่างที่อยู่อาศัย สำนักงาน และพื้นที่สาธารณะ ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่นที่จะสร้างสามถนนสายใหม่ นั่นก็คือ ถนน Rue de la République แห่ง Presqu’île เพื่อเชื่อมต่อกับ Place Bellecour ซึ่งเป็นจัตุรัสใจกลางเมืองขนาดใหญ่ของ Presqu’île อันได้แก่

1. ถนน  Rue Victor Hugo เชื่อมระหว่าง Place Bellecour และPlace Carnot
2. ถนน Rue de l’Impératrice และเปลี่ยนเป็นชื่อ Rue de l’Hôtel de Ville และ Rue du Président-Édouard-Herriot ซึ่งอยู่ระหว่างPlace Bellecour กับ Place des Terreaux
3. ถนน Rue Impériale (ช่วงปี คศ.1862–1871) หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Rue de Lyon (ช่วงปี คศ.1871–1878) และเปลี่ยนมาเป็น Rue de la République (ตั้งแต่ช่วง สิงหาคม–กันยายน ในปี คศ.1878) มุ่งตรงจาก PlaceBellecour ไปที่ Place Louis Pradel ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hôtel de Ville หรือศาลาว่าการเมือง และโรงละครโอเปร่า

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

ด้วยจุดเด่นของสถานที่ตั้ง Rue de la République ที่อยู่ในใจกลางของเมือง มีลักษณะคล้ายกับย่าน Champs-Élysées ในกรุงปารีส และเต็มไปด้วยร้านค้า ทั้งร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง ร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารและคาเฟ่นั่งดื่มตลอดสองข้างทาง จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนแวะเวียนเข้ามา ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า “Rue de la Ré” และสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย จากสถานีรถไฟใต้ดิน Bellecour, Hôtel de Ville – Louis Pradel and Cordeliers นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญและเป็นมิตรกับการเดินเท้าได้ดี 

 นอกจากจุดเด่นในเรื่องของสถานที่ตั้ง สิ่งที่เป็นภาพลักษณ์และเอกลักษณ์สำคัญของถนนสายสำคัญแห่งนี้คือ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นสง่าและสร้างความน่าตื่นตาให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี สร้างประสบการณ์ความแตกต่างในรูปแบบใหม่ของการเดินเลือกซื้อสินค้า เพราะภาพที่เรามักคุ้นชินของการช้อปปิ้งคือ การเดินเลือกซื้อของภายในห้างสรรพสินค้าที่รวบรวมทุกแบรนด์สินค้า ร้านอาหารและโรงภาพยนตร์ไว้ในพื้นที่เดียวกัน

แต่บนถนน Rue de la République แห่งนี้ ภาพเหล่านั้นกลับถูกแทนที่ด้วยตึกสูง 4-6 ชั้น ตลอดระยะทางกว่า 1.1 กิโลเมตร ที่เต็มไปด้วยมรดกทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น เป็นการผสมผสานระหว่างพื้นที่ที่อยู่อาศัย โรงแรมที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว สำนักงานต่างๆ รวมทั้งอาคารเชิงพาณิชย์ เพื่อการค้าปลีก รวมไปถึงสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองกระจายตัวอยู่รอบๆ การบริหารจัดการภูมิสถาปัตยกรรมย่านการค้าบนถนนแห่งนี้ ได้สร้างความมีสีสัน ความทันสมัย และความแปลกตา จนเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักเดินทางในเมืองลียง

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

ในแง่มุมของการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมถือว่าถนน Rue de la République เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible) ด้วยคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม  และยังเป็นถนนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตส์ Haussman สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 เป็นหนึ่งในย่านที่รวบรวมสถานที่ที่สำคัญ อาทิ เช่น เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์ Le Progrès ภายใต้การดูแลของ Fnac Bellecour, โรงภาพยนตร์ Pathé ที่มีหอระฆัง ด้านบนประดับด้วยรูปไก่ ซึ่งเป็นศิลปะสไตล์ Art Deco หาดูได้ยากในเมืองลียง

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560
ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

Palais du Commerce หรือสำนักงานใหญ่ด้านการค้าอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ของเมือง ที่สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1853 และสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1860 ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากโบสถ์เก่าแก่อย่าง Church of Saint-Bonaventure ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี ค.ศ.1325 ในย่าน Place des Cordeliers, The Nouveau Grand Bazaar ที่เต็มไปด้วยร้านค้า มีรูปแบบอาคารแตกต่างไปจากอาคารโดยรอบ รวมทั้ง Hôtel de Ville ศาลาว่าการเมือง และโรงละครโอเปร่า ทั้งสองสถานที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือในย่าน Place de la Comédie ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่สำคัญที่ตั้งอยู่บนถนน Rue de la République ทั้งสิ้น

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อริยา อรุณินท์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง แนวคิดในการจัดการถนนเพื่อกิจกรรมสาธารณะมีการพัฒนาเป็นระยะ ตั้งแต่ช่วง ปี ค.ศ. 1970 โดยพิจารณาจากแนวความคิด “สาธารณชนผู้ครอบครองถนนของพวกเขา” (Public Reclaim Their Streets) ของ Moudon, Anne Vernez (1987) ได้ตัวอย่างกรณีของการจัดการกับถนนสาธารณะในประเทศต่างๆ และนํามาจัดแยกออกเป็นประเภท และประเภทที่มีความใกล้เคียงกับ Rue de la République มากที่สุดคือ ถนนสายบันเทิง (Center of Dinning and Entertainment) เป็นแนวทางที่ต้องการเสริมกิจกรรมความบันเทิงและร้านอาหารยามเย็น เพื่อเป็นการทําให้เมืองหลังจากช่วงเวลาทําการ มีชีวิตชีวาขึ้น เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบของเมืองจนเกินไป ซึ่งในขณะที่ Rue de la République สามารถสร้างความบันเทิงให้กับผู้คนได้ตลอดทั้งวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดทำการและวันพักผ่อนของคนในเมือง

นับได้ว่า ถนนคนเดิน เป็นแนวทางการฟื้นฟูเมือง สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีความสร้างสรรค์ สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรม และทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่น อันประกอบด้วย คนในชุมชนโดยรอบ ผู้ประกอบการ และรัฐบาลท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน 

ตัวอย่างของถนนคนเดินในประเทศไทย เช่น ถนนคนเดินท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ถนนคนเดินเชียงคาน จังหวัดเลย ต่างก็มีการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างกลุ่มคนตามรูปแบบฉบับของตนเอง สืบเนื่องจากพื้นที่ถนนคนเดินส่วนใหญ่ มักเป็นพื้นที่สาธารณะ หากไม่ได้รับความร่วมมือและการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนต่างๆ กระบวนการใดๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ยกตัวอย่าง กรณี “ถนนคนเดินริมน้ำจันทบูร จังหวัดจันทบุรี” ในแง่ของการให้ความร่วมมือของคนในชุมชน ที่มีกลุ่มคนในชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ ทั้งไทยพุทธ ไทยคริสต์ ไทยญวน และชาวไทยเชื้อสายจีน แต่กลับสามารถร่วมมือกัน จัดกิจกรรมเปิดบ้านประวัติศาสตร์ของแต่ละหลัง ใครใคร่ค้าขนมไทยหรืออาหารไทย สามารถแสดงฝีมือปลายจวักเปิดหน้าบ้าน เปิดหน้าร้านวางขายได้ทันที

บ้างก็เปิดเป็นโฮมสเตย์ที่พักอย่าง “บ้านหลวงราชไมตรี” บ้านพักประวัติศาสตร์อายุกว่า 150 ปี รวบรวมเรื่องราวของหลวงราชไมตรี บุคคลทางประวัติศาสตร์ของชาวเมืองจันท์ ล้วนก่อให้เกิดเป็นการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม สร้างแรงกระตุ้นให้กับคนในชุมชนได้หันมาสนใจและสำนึกร่วม ในการฟื้นฟูเมืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ และขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวสามารถได้สัมผัสถึงความงดงามของภูมิปัญญา ภาษา อาหาร ความเชื่อ ศาสนา การแต่งกาย จารีตประเพณี รวมทั้งการดำรงวิถีชีวิตของคนในชุมชนท่าหลวง ชุมชนริมแม่น้ำ รวมไปถึงชาวจันทบุรี

นอกจากความร่วมมือของคนในชุมชน เพื่อฟื้นฟูย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาแล้ว ยังจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารท้องถิ่นในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

ที่มา : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, 2560

หากมองย้อนกลับมายังเมืองมรดกโลกอย่างลียง ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะร่วงโรยไปนานเพียงใด แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมของผู้คน และความร่วมสมัย บนถนนสายสำคัญอย่าง Rue de la République แห่ง Presqu’île จะยังคงตราตรึงและดึงดูดให้นักเดินทางได้หมุนเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนอย่างไม่รู้จบ แม้จะมีบริบทแตกต่างจากถนนคนเดินแห่งอื่นบนโลกใบนี้

แต่ทำให้เราได้เรียนรู้โดยนัยถึงกระบวนการทางความคิดของกลุ่มคนในสังคม ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าในทรัพยากรของตนเอง พร้อมที่จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา ฟื้นฟู เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม กลายเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “เมืองที่ดี ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ” หากแต่เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั่นเอง

อ้างอิง:

Rues de lyon à travers les siècles, Maurice Vanario, ELAH, Lyon, 2002, Retrieved 1 jun 2019.

พื้นที่ทิ้งร้างกับการฟื้นฟูเมือง: กรณีพื้นที่ใต้ทางพิเศษยกระดับในกรุงเทพมหานคร, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.

MANAGING PUBLIC ACTIVITIES ON PUBLIC STREETS;CASE STUDY OF BANGKOK, THAILAND, ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 


Contributor