28/05/2020
Life

How’s it going? : ฟรีแลนซ์ชาวไทยในอเมริกา กับชีวิตในเมืองที่ล็อกดาวน์มากว่า 2 เดือน

ภสรัณญา จิตต์สว่างดี
 


มากกว่า 1,600,000

คือจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในสหรัฐอเมริกา ณ ปลายเดือนพฤษภาคม 2563

ตอนนี้อเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก มียอดผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งแสนคน โดยนิวยอร์กเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศ ตามมาด้วยนิวเจอร์ซีย์ อิลลินอยส์ และแมสซาชูเซตส์

ชีวิตของชาวเมืองที่ต้องอยู่ในเมืองที่ผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศจะเป็นอย่างไร?

เราได้พูดคุยกับฟรีแลนซ์ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ‘ส้ม-กันยารัตน์ สุวรรณสุข’ ถึงการใช้ชีวิตในบอสตันในช่วงนี้

จริงๆ แล้ว ส้มบอกกับเราว่ากำลังอยู่ในช่วง gap year และมีแผนจะไปเรียนต่อ แต่ก็มีสถานการณ์โควิดเข้ามาเสียก่อน ตอนนี้เลยได้แต่เตรียมตัวไปพลางๆ และการอาศัยอยู่ในบอสตันที่ล็อกดาวน์มาแล้วกว่า 2 เดือน ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปไม่น้อยเลย

‘โอ้มายก็อด ปิดเมืองมานานขนาดนี้แล้วเหรอ’

ส้มอุทานออกมาเมื่อเราถามว่าบอสตันเริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่เมื่อไหร่

เราคุยกันผ่านทางวิดีโอคอล ส้มเล่าให้เราฟังว่าจากเดิมบอสตันเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีนักเรียน นักศึกษาจากหลายชาติทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาเสมอ ยิ่งในช่วงที่เริ่มจะเข้าซัมเมอร์เช่นนี้แล้ว ถ้าเป็นในปีก่อนๆ จะเริ่มเห็นผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งอเมริกัน ยุโรป รวมถึงเอเชีย ออกมาเดินเล่นรับอากาศดีๆ หลังจากหน้าหนาวผ่านพ้นไป

แต่ซัมเมอร์ปีนี้เงียบเหงาและเศร้ากว่าทุกปี สถานที่ที่ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานถูกปิดลง จะเหลือก็แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านขายยาเท่านั้นที่ยังพอมีให้เห็นกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่

แม้ว่าอเมริกาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเมืองและรัฐที่ส้มอาศัยอยู่ ทำให้ในช่วงนี้ไม่มีรายได้เลยก็ตาม แต่มาตรการการรับมือและการช่วยเหลือเยียวยาจากทั้งรัฐบาลกลางและผู้ว่าฯ ของแต่ละรัฐก็ช่วยให้การใช้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ทำอะไร และตอนนี้ทำอะไรอยู่

เราอยู่บอสตัน ประเทศอเมริกา ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นอาชีพจริงจัง เหมือน gap year อยู่มากกว่า เราหาอะไรทำไปเรื่อยๆ มีรับฟรีแลนซ์วาดรูปบ้างทั้งที่ไทยและที่บอสตัน แล้วก็มีทำพาร์ทไทม์อยู่ที่ร้านอาหาร

ส่วนตอนนี้ก็อยู่บ้าน หาอะไรทำ เรียนออนไลน์บ้าง จัดห้องบ้าง ทำทุกอย่างที่คิดออกและทำได้ (หัวเราะ)

การอยู่ในบ้านมันก็จำกัดการใช้ชีวิตในระดับหนึ่งเลย เราทำทุกอย่างที่ทำได้จริงๆ คือเรามีแพลนจะไปเรียนต่อ ตอนนี้ก็เอาเวลามาเรียนออนไลน์ด้วย ทำพอร์ตบ้างอะไรบ้าง ทำกับข้าว หางานอดิเรกทำ เอาจริงๆ มันเหมือนเรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เพราะถ้าเป็นปกติเราจะเป็นคนที่ชอบหางานหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เหมือนทุกอย่างแบบนั้นมันหายไปหมด ก็เลยเหมือนได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำอย่างอื่นบ้าง

ส่วนงานที่ไทย เรามีฝากขายของอยู่ที่ร้านในหอศิลป์ BACC แต่พอหอศิลป์ปิด ร้านปิด เราก็ไม่มีรายได้จากตรงนั้น เพราะเราไม่ได้ขายออนไลน์ด้วย หรือร้านอาหารที่เราทำพาร์ทไทม์อยู่ที่นี่ก็คือปิดไปเลยเหมือนกันจ้ะ ไม่มี To-go หรือ Delivery เราก็ไม่มีรายได้จากร้านอาหารเหมือนกัน

ส้ม-กันยารัตน์ สุวรรณสุข กับการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เท่ากับตอนนี้แทบไม่มีรายได้เลยใช่ไหม แล้วใ้ช้ชีวิตยังไง

ทุกวันนี้เหมือนใช้ชีวิตด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐและการลดค่าเช่าจาก Landlord ก็เลยยังอยู่ได้ เพราะที่นี่ช่วยเหลือเยอะมาก เริ่มจากระดับประเทศ คือ Federal จะให้เงินชดเชยกับคนที่เสียภาษี 1,200 USD (ประมาณ 38,000 บาท) คือให้ทุกคนเลย ทุกคนที่จ่ายภาษี อย่างเราเสียภาษีเราก็ได้ ได้โดยที่ไม่ต้องกรอกข้อมูล ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเรามีชื่ออยู่ในระบบว่าเราเป็นผู้เสียภาษี เงินก็จะเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ จากบัญชีที่เราใช้เสียภาษีไป แล้วก็จะมีเกณฑ์อื่นๆ อีก เช่น ถ้ามีครอบครัว มีลูก ก็จะได้เพิ่มอีก

นอกจากของรัฐบาลกลางแล้วก็จะมีของแต่ละรัฐอีกที่จะไม่เหมือนกัน อย่างของแมสซาชูเซตส์ มี Unemployment Benefits ให้สำหรับคนที่ตกงาน หรือไม่มีงานทำจากสถานการณ์โควิด ก็จะให้กรอกว่าเราตกงานใช่ไหม ค่าจ้างเท่าไหร่ อะไรยังไงบ้าง แล้วเขาก็จะประเมินจากรายได้ที่เราเคยได้แต่ละปี หรือแต่ละเดือน จากนั้นจะให้เงินชดเชยมาเป็นรายสัปดาห์ สมมติว่าเราเคยได้เงินสัปดาห์ละ 700 – 800 USD เขาก็จะให้มา 400 – 500 USD ก็จะโอนเข้ามาในบัญชี แต่ตรงนี้เขาก็จะนับว่าเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีนะ ซึ่งเราก็จะต้องไปเสียภาษีของเงินจำนวนนี้ตอนสิ้นปี หรือถ้าบางคนไม่ได้เป็นคนตกงาน ไม่เข้าข่ายเกณฑ์นี้ ก็จะไป claim เกณฑ์อื่นๆ ได้ อย่างเราเป็นฟรีแลนซ์หรือเป็นพาร์ทไทม์ก็จะมีอีกเกณฑ์ที่รองรับซึ่งก็จะแตกต่างกันไป

แล้วก็มี Food Bank ที่เป็นคล้ายๆ องค์กรอาหารโลก ให้เข้าไปกรอกเพื่อรับพวกเครื่องอุปโภคบริโภค ว่าเราขาดอะไรบ้าง ต้องการอะไร พวกอาหารของใช้ต่างๆ เขาก็จะช่วยจัดหามาให้เรา

หรือในด้านข้อมูลข่าวสาร จะมีแอปฯ ชื่อว่า News Break ที่เอาไว้ใช้ติดตามข่าวสาร พวก Local News ข่าวในพื้นที่ของเรา เราแค่พิมพ์ชื่อเมืองหรือตั้งค่าเป็นที่อยู่เราไว้ มันก็จะ provide ข่าวที่อยู่ในรัฐ ในเมือง หรือในบริเวณรอบๆ ที่อยู่เรามาให้ทุกวัน ในแอปฯ จะมีแท็ปหลักคือ Coronavirus ก็จะรายงานสถานการณ์ไวรัสในพื้นที่บริเวณนี้ว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็อ่านข่าวหลักๆ แบบ Mayor ทำอะไรบ้าง รัฐบาลกลางทำอะไรบ้าง ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อเท่าไหร่แล้ว คือเขามีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน ไม่ปล่อยให้เรางงหรือสงสัยอะไรเลย อย่างผู้ว่าฯ รัฐเราก็ออกมาแถลงข่าวทุกวันเลยนะ บอกนู่นบอกนี่ทุกอย่างแบบเป็นทางการและชัดเจน ทำให้เรารู้สึกว่าการเป็นผู้เสียภาษีในประเทศอื่นนี่มันดูได้อะไรกลับคืนมาดีเนอะ

มีลดหย่อนค่าที่อยู่อาศัยหรือภาษีด้วยไหม

บ้านเหมือนจะไม่ได้มีมาตรการลดราคานะ แต่จะมีเป็นแถลงออกมาว่า Landlord จะไม่มีสิทธิ์ไล่ผู้อยู่อาศัย แม้ว่าผู้อยู่อาศัยจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าก็ตาม ก็เหมือนขอความร่วมมือนั่นแหละ เพราะทุกคนก็ลำบาก อันนี้เป็นในระดับประเทศเลย อย่างบ้านที่ Landlord ไม่ใช่บริษัท ที่เป็นบุคคลธรรมดาเขาก็ลดค่าเช่านะ แบบ 50% อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเป็นบริษัทก็จะเป็น case by case ไป

อย่างบ้านเรา Landlord เป็นบริษัท ก็ไปคุยกับเขา เขาก็ให้จ่ายเท่าที่มีก็พอ จากค่าเช่าปกติที่ต้องจ่ายเดือนละประมาณ 2,400 USD ก็จ่ายเดือนละ 1,000 USD แทน แต่ส่วนใหญ่คนที่เช่าบ้านในโซนเรา เขาอยู่กันมานานแล้ว แบบอยู่ที่นี่มาหลายปี แล้วก็จ่ายค่าเช่าตรงเวลาตลอด มันก็เป็นเครดิตที่ดีทำให้ Landlord เขาโอเคกับการต่อรอง แต่ก็ต้องช่วยเหลือกันนั่นแหละ เพราะ Landlord เองก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ก็ต้องมาเจอกันกลางทาง หาตรงกลางร่วมกันให้ได้ คืออาจจะมีการทำข้อตกลงกันว่า หลังจากที่สถานการณ์ทุกอย่างมันกลับมาเป็นปกติ เราก็ค่อยจ่ายย้อนหลังไหม หรือผ่อนจ่ายไหม

ส่วนเรื่องภาษีก็มีการลดหย่อนภาษี ปกติช่วงเดือนเมษาจะเป็นเดือนที่ต้องจ่ายภาษี เขาก็ขยายเวลาออกไปถึงเดือนตุลา หรือธันวาปลายปีเลย ภาษีที่ต้องจ่ายในปีหน้าเราว่าเขาก็จะมีการลดหย่อนให้ หรือมีมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลืออีก เพราะด้วยความที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากๆ ถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้องคนก็จะออกมาเรียกร้องแน่นอน สิ่งที่เขาทำเลยเป็นสิ่งที่มันเกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ

หรือธนาคารและบัตรเครดิตเอง บางเจ้าเขาแจ้งมาอัตโนมัติเลยนะว่ายอดเดือนนี้ยังไม่ต้องจ่ายก็ได้ แล้วค่อยไปจ่ายย้อนหลัง บางธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยด้วย คือเขาเห็นปัญหาตรงนี้เหมือนกัน เขาก็ take action ชัดเจนเลย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในบอสตันหรือในอเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง

มันรุนแรงมาก คนติดเชื้อเป็นล้าน เสียชีวิตก็เยอะมาก เป็นอันดับหนึ่งของโลกเลย ที่หนักๆ ก็นิวยอร์ก แล้วบอสตันมันก็ไม่ได้ห่างจากนิวยอร์ก ด้วยความที่บอสตันเป็นเมืองการศึกษา มันก็จะมีคนมาจากทุกที่ มีนักศึกษาจากหลากหลายที่มาก ทั้งเอเชีย ยุโรป จีน

คนติดเชื้อเยอะน่าจะมาจากหลายปัจจัย คือปกติที่อเมริกาจะมีไข้หวัดใหญ่ที่เรียกว่า Influenza คือไข้หวัดนี้มันจะมาทุกปี แล้วก็จะมีคนเสียชีวิตจากไอการระบาดของสิ่งนี้ทุกปี ประมาณ 10,000 – 20,000 คน ซึ่งช่วงแรกๆ ของโควิด คนมันก็คิดว่าเป็นไข้หวัดอันนี้ไง แบบไข้หวัดธรรมดาที่มันมาทุกปีอ่ะ เขาก็เลยไม่ serious กันขนาดนั้น เพราะคิดว่ามันคงไม่เป็นไร เพราะเขาสูญเสียคนจากไข้หวัดใหญ่ระบาดทุกปี เป็นหลักหมื่นทุกปีอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ แล้วตอนนี้คนเสียชีวิตจากโควิดมันเพิ่มจากไอไข้หวัดนี้เป็นหลายเท่าตัวเลยด้วย พอเป็นแบบนี้ คนก็เริ่มจะ take it serious กันแล้ว

เมืองบอสตันที่เงียบเหงา

อย่างที่บอสตัน ถัดจากตัวเมืองออกไป มันจะเป็นเมืองที่มีคนแก่อาศัยอยู่เยอะประมาณหนึ่ง บอสตัน นิวยอร์กมันเลยมีผู้ติดเชื้อเยอะด้วย ซึ่งคนติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ หรืออย่างผู้ป่วยบางส่วนที่เขาไม่ได้จำแนก ผู้ป่วยบางคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ พอได้รับเชื้อแล้วเสียชีวิต เขาก็ระบุว่าผู้ป่วยคนนี้เสียชีวิตจากโควิด ทำให้เราเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตเยอะ แล้วประชากรในประเทศก็เยอะมากด้วย

ที่เคยรู้มาว่าบางคนอาจจะมีเชื้ออยู่กับตัวแต่ว่าไม่ได้เป็นอาการหนัก ร่างกายสามารถทำให้หายเองได้ แต่คนที่ได้รับเชื้อแล้วหนักนี่น่าจะเป็นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีด้วย หรือพวกผู้สูงอายุ แล้ววัยรุ่นอย่างเราๆ คนหนุ่มสาวนี่แหละที่อาจจะเป็นพาหะนำโรคไปสู่ผู้สูงอายุได้ เพราะเชื้อมันก็ไม่ได้แสดงอาการ เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นหรือเปล่า อย่างเพื่อนเราอยู่นิวยอร์กก็เลือกที่จะไม่กลับบ้าน เพราะกลัวว่าตัวเองจะมีเชื้อแล้วเอาเชื้อไปติดคนที่บ้าน

แต่ต้องบอกว่า ระบบสาธารณสุขของอเมริกาค่อนข้างแย่อยู่เหมือนกัน บางคนพูดเลยว่า ถ้าเป็นโรคอะไรสักอย่างก็ไม่ต้องไปตรวจหรอก นอนตายไปเลยดีกว่า เพราะค่าใช้จ่ายมันแพงมากๆ อันนี้พูดในแง่ของคนที่ไม่มีประกัน แต่ว่าถ้าเป็นคนที่ทำงาน เป็นคนที่เสียภาษี มันก็จะมีระบบประกันสุขภาพที่เข้ามาช่วยตรงนี้ หรืออย่างนักเรียนที่จะมาเรียนที่นี่ก็ต้องมีประกันสุขภาพก่อน ไม่งั้นเขาก็ไม่ให้เข้าประเทศ เท่ากับว่าคนส่วนใหญ่มันก็มีประกันแหละ

แล้วเราก็เคยอ่านงานที่ตีพิมพ์จาก MIT ประมาณว่า outcome มันอาจจะกลายเป็นแบบที่อังกฤษเคยพูดไว้ว่า ถ้าทุกคนได้รับเชื้อ สุดท้ายร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาเอง แล้วก็มีข่าวออกมาจากสหรัฐนี่แหละว่าอาจจะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าโควิดจะหายไป นั่นเท่ากับว่าคนทุกคนอาจจะได้รับภูมิคุ้มกันจากโรคนี้แล้ว โดยที่ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเอง เราก็เคยคิดมุมนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันก็อาจจะจริงนะ มันเป็นโรค ไวรัส ไข้หวัดที่พึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าควรจะรับมือกับมันยังไง เพราะมันก็หนักหนาสาหัสจริงๆ แหละ แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา กว่าโรคทุกโรคมันจะกลายมาเป็นโรคที่เราดีลกับมันได้ มันก็ต้องอาศัยเวลา

แล้วสถานการณ์บ้านเมืองและคนในสังคม

บอสตันเริ่ม Lockdown ก่อนหน้าไทยพักนึงเลย ประมาณวันที่ 13-14 มีนาคมมั้ง ซึ่งก็น่าจะเหมือนหลายๆ ที่บนโลกตอนนี้นะ ที่มีการ Lockdown ปิดเมือง เปิดเฉพาะแค่ร้านอาหาร พวกร้านขายยา แล้วก็ Grocery อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่เปิด แต่ด้วยความที่สังคมอเมริกันมันก็มีความสบายๆ อยู่บ้าง ยังมีคนออกไปข้างนอก เขาไม่ได้มีเคอร์ฟิวว่าห้ามออกจากบ้าน เขามาในเชิงขอความร่วมมือให้ทุกคนช่วยกันทำมากกว่า ขอให้ทุกคนพยายามอย่าออกจากบ้าน แต่ก็ไม่ได้มีตำรวจมาจับหรือมีพรก.ฉุกเฉินแบบที่ไทย

แต่ Grocery ต่างๆ เขาก็มีกฎ มีการจำกัดคนเข้า ต้องต่อคิวอยู่ข้างนอกแล้วทยอยเข้าไป ต้องใส่หน้ากาก สวมถุงมือ จากที่ตอนแรกๆ การใส่หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่คนเอเชียที่นี่อยากทำมาก แต่ไม่กล้าทำ ไม่กล้าใส่ เพราะคนอเมริกันหรือเวสเทิร์นจะ judge เราว่าคนที่ใส่หน้ากากคือคนที่ป่วย คือคนที่ติดเชื้อแล้ว และเป็นคนที่ไม่ควรออกมาอยู่ข้างนอก แต่ตอนนี้คือแทบทุกคนใส่หน้ากากอนามัยกันหมด 

สวนสาธารณะที่มีประกาศขอความร่วมมืองดเล่นกีฬา

ส่วนเรื่องการเดินทาง ขนส่งสาธารณะต่างๆ คือมันจะมีประตูบานที่ขึ้นไปแล้วเจอคนขับ กับบานที่อยู่กลางคันรถเมล์ หรือกลางขบวนรถไฟ ตั้งแต่มีโควิด เขาก็ปิดประตูบานตรงคนขับที่เราต้องแตะบัตร ปิดไปเลย เวลาเขาหยุดจอดรับผู้โดยสารเขาก็ไม่เปิดประตูนั้น แล้วให้เราขึ้นประตูบานตรงกลางแทนเพื่อให้เราและคนขับรถไม่ต้อง contact กันเลย แล้วก็โดยสารฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนการเดินทางระหว่างเมือง ระหว่างรัฐ สายการบินในประเทศก็ยังบินกันอยู่เลยนะ ไม่ปิดสนามบิน เพราะว่าบางเมืองก็ไม่ได้มีผู้ติดเชื้อเยอะ ก็ยังสามารถใช้ชีวิตปกติกันได้ เปิดเมืองปกติเลย อย่างเพื่อนเราก็พึ่งบินไปเพนซิลเวอร์เนีย แต่บนเครื่องบินก็คือมีกันแค่ 3 คน เหมือนทุกคนก็พยายามทำให้มันเป็น norm กันอยู่แหละ คือพยายามไม่ออกไปไหนถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าในระดับประเทศก็คือปิด border ไม่ให้คนนอกบินเข้ามา ถ้าจะเดินทางออกนอกประเทศต้องขอเอกสารยืนยันด้วย

แล้วคนก็ Work From Home กันเยอะมาก เกือบทุกอาชีพเลยแหละยกเว้นงาน Service งานเกี่ยวกับการบริการ พวกร้านอาหาร คนทำความสะอาด อันนี้ก็ Work From Home ไม่ได้เนอะ แต่ถ้าเป็นคนที่ทำงานพวก Professional หรืองานออฟฟิศส่วนใหญ่ก็ทำที่บ้านกัน แต่ก็มีเพื่อนเราบางคนที่ยังต้องไปทำงานที่ออฟฟิศอยู่นะ แต่เราว่ามันก็จะกลายเป็น New Normal แหละ ป้องกันตัวเองมากขึ้น hygiene กันมากขึ้น

เมืองเปลี่ยนไปเลยใช่ไหม

ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือคนมันบางตาไปมากจริงๆ จากช่วงแรกๆ ที่ประกาศปิดเมือง เรากับคนแถวบ้านก็ชวนกันไป Grocery เพื่อซื้อของมาตุนไว้ คือแถวบ้านจะมี Grocery ทั่วไปแบบฝรั่งๆ กับ Grocery ที่ขายของเอเชีย แล้วตอนไป Grocery ฝรั่ง คือคนไม่ใส่แมสก์กันเลย แบบไม่มีใครใส่เลยสักคน แล้วคนก็เยอะมากๆ เราก็เลยไม่กล้าใส่หน้ากากไปด้วย เพราะกลัวจะโดน judge ว่าติดเชื้อ แต่ที่ Grocery เอเชียคือทุกคนป้องกันตัวเองกันหมด มีแมสก์มีถุงมือ hygiene กันมากจริงๆ แล้วก็เดินห่างกันด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็เป็นนักเรียนเอเชียนั่นแหละ คือเห็นได้ชัดเลยว่าความตื่นตัวของคนเอเชียกับความตื่นตัวของ western มันต่างกันมากจริงๆ นะในช่วงแรก 

ซื้อข้าวของเครื่องใช้มากักตุนไว้ในช่วงล็อกดาวน์

แต่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิดวัฒนธรรมฝรั่งเขาก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะอเมริกันหรือยุโรป การใส่หน้ากากอนามัยคือคนป่วยรุนแรง ตอนที่โควิดเริ่มระบาดเราได้เมลจากบริษัทประกันสุขภาพ แบบเป็นเมลทางการมากๆ เนื้อความประมาณว่า ถ้าคุณไม่ป่วยจริงๆ ไม่จำเป็นต้องใส่เลย หน้ากากมีไว้สำหรับคนป่วยเท่านั้น เราตกใจเหมือนกันนะ คือมันเป็น norm ที่สามารถเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แบบประกาศเป็นทางการแบบนี้กันเลย แต่ตอนนี้ทุกคนก็ตื่นตัวกันแล้วแหละ

ตอนนี้เพื่อนเราที่อยู่นิวยอร์กเล่าให้ฟังว่าเงียบมาก มากกว่าที่เคยเป็นมา โอเค มันก็ยังมีคนที่ยังออกไปไหนมาไหนอยู่บ้าง แต่มันก็เปลี่ยนไปเลยอ่ะ เพราะว่ามันคือเมืองที่ติดเชื้อเยอะอันดับหนึ่งของประเทศเลย เราอ่านข่าวผู้ว่าเขาออกมาแถลงว่าเขาเสียใจมาก แบบเขาเองก็พยายามทำทุกอย่างที่ทำได้แล้ว แต่คนติดเชื้อมันก็ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุดสักที

รัฐที่มีการเมืองดีจะสามารถจัดการได้ดี?

ก็ใช่ ด้วยความที่การปกครองของแต่ละรัฐมัน Independent มากๆ ก็อยู่ที่ว่าการเมืองรัฐไหนจะดี

อย่างแคลิฟอร์เนียออกมาประกาศเลยว่าขอแยกตัวออกมาเป็นประเทศเองเลย เพราะจัดการทุกอย่างเองโดยไม่ได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง แคลิฟอร์เนียคือมาตรการเขาจริงจังมาก เข้มงวดกว่ารัฐเราเยอะ เพราะผู้ติดเชื้อเขาก็เยอะมากเป็นท็อปๆ ของประเทศเลยเหมือนกัน

อย่างรัฐเรา เขาก็ให้ความช่วยเหลือดีมาก แบบไม่ว่าเราจะเป็นคนชาติไหน เป็นชาวต่างชาติ นักเรียนต่างชาติ เขาก็ให้สิทธิเทียบเท่ากับเป็นประชาชนคนหนึ่งเลย แล้วมันก็มีองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือเยอะมาก ทั้งเรื่องอาหารที่พูดไป ห้างร้าน Grocery ต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือ แต่เรื่องพวกนี้นะ คือเราว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปกติที่รัฐต้องทำอยู่แล้วหรือเปล่า เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันน่าประทับใจหรือรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ อย่างค่าเดินทาง ค่าโดยสารต่างๆ ที่ฟรีอยู่ตอนนี้ หรือมาตรการต่างๆ พูดตรงๆ ว่ามันเป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

ด้วยความที่บอสตันเป็นเมืองการศึกษา ตอนนี้การศึกษาเป็นยังไงบ้าง

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดแรกๆ เขาไล่นักเรียนกลับบ้านหมดเลย อย่าง Harvard หรือ MIT ให้กำหนดการมาเลยว่าภายในวันนี้ๆ ต้องออกจากหอพัก แล้วก็ปิดมหาวิทยาลัยให้ไปเรียนเป็นออนไลน์แทน ซึ่งมันแอบเป็นปัญหานะ เพราะว่านักเรียนบางคนมันย้ายออกไม่ทัน หาตั๋วเครื่องบินไม่ได้ หรือบางคนอาจจะไม่ได้มีทุนทรัพย์มากพอที่จะจัดการที่อยู่อาศัยหรือบินกลับบ้านได้ แต่มันก็มีองค์การนักศึกษาที่จะไปขอความช่วยเหลือได้แหละ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าขนย้ายของ การเรียนการสอนที่เปลี่ยนเป็นออนไลน์มันก็ไม่เหมือนการเรียนจริงๆ อยู่แล้ว มันขาดการ interact ขาดการ discuss ขาดการสื่อสารกันจริงๆ

ชีวิตตอนนี้เปลี่ยนไปยังไงบ้าง และหลังจากนี้คิดว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไง

ชีวิตเราเองหลังจากนี้เปลี่ยนไปแน่นอน อาจจะไม่กล้าอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ หรือการกินข้าวกันพบปะกันในที่สาธารณะอาจจะยากกว่าเดิมหรือต้องมีการระมัดระวังมากกว่าเดิมมากๆ การใส่หน้ากากหรือพกเจลล้างมือก็คงเป็นเรื่องปกติ แต่เราเองไม่แน่ใจในส่วนของสังคมนะ เพราะคนเมกันมันชิวมากๆ แบบพอผ่านตรงนี้ไปอาจจะไม่เปลี่ยนมากก็ได้มั้ง อย่างเรื่องความสะอาดหรือกฎต่างๆ ที่ไทยเราไม่มี Inspector ที่จะมาคอยตรวจใช่ไหม แต่ที่นี่มันจะมี Inspector จะมาสุ่มตรวจที่ร้านอาหาร ห้าง ร้านค้าต่างๆ ทุกเดือนหรือสองเดือน เพื่อตรวจเช็คความสะอาดของสถานที่ที่ประกอบการนั้นๆ ว่าสะอาดไหม ได้มาตรฐานไหม ก็คือถ้าร้านนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ ร้านจะถูกสั่งปิดชั่วคราวทันทีจนกว่าจะได้รับการแก้ไข และต้องผ่านพรูฟจาก Inspector ถึงจะกลับมาเปิดอีกรอบได้ แถวบ้านเราเคยมีร้านที่ Inspector มาลงแล้วน่าจะมีอะไรสักอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ร้านนั้นก็ถูกปิดทั้งวันเลย ทุกอย่างที่นี่มันดูเหมือนจะชิลๆ นะ แต่มันคนละแบบกับที่ไทย แบบที่นี่มันมีกฎหมายกฎเกณฑ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว 

แต่อย่างงานฟรีแลนซ์ของเราอาจจะไม่เปลี่ยนมาก เพราะเรารับทำเป็น commission อยู่แล้ว แล้วก็ทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ที่มันแย่คือมันอยู่ได้แต่ในนี้ ในห้อง ในบ้าน มันน่าเบื่อ มันทำให้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ปกติเราชอบไปนั่งทำงานในที่สาธารณะมากกว่า พอมันต้องมาทำอยู่ในบ้านมันก็เลยเฉาๆ แต่สำหรับบางคนตอนนี้ก็กระทบเยอะมากนะ ด้วยความที่คนว่าจ้างก็ไม่รู้จะจ้างไปทำอะไร เพราะขายของก็ไม่ได้ ไม่มี product ให้ขาย ไม่มี demand จากลูกค้า งานที่จะมาจ้างฟรีแลนซ์ก็หดไป งานหายไป ไม่มีรายได้

วิวจากบ้านของส้ม ที่เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน และที่พักผ่อนในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้

New Norm น่าจะเกิดขึ้นในภาพรวมการทำงานมากกว่า บริษัทอาจจะรู้ว่าการ Work From Home ก็ทำงานได้ดีเหมือนกัน และอีกสิ่งที่คิดว่าเปลี่ยนและน่าจะได้รับผลกระทบแน่ๆ คือพวกผับบาร์ร้านเหล้าหรือพวกคาสิโน เพราะมันก็เป็นสถานที่ที่สุ่มเสี่ยง อาจจะมีรายได้น้อยลง

และที่เราสังเกตได้คือหุ้น Netflix ขึ้นเยอะมาก เพราะทุกคนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ แล้ว Netflix ก็เป็นเหมือนสื่อ entertainment ที่ทุกคนมี เพราะเราออกจากบ้านไปดูหนังก็ไม่ได้ ไปคอนเสิร์ตก็ไม่ได้ แล้วคนที่นี่ชอบดูหนังในโรงมาก มีโรงหนังแบบ local อยู่เต็มไปหมด ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้โรงหนังเองก็แย่เหมือนกัน ทุกคนก็ไม่อยากให้โรงหนัง local มันหายไป เขาก็พยายามช่วยเหลือกันแหละ อย่างโรงหนังเองก็หาวิธีอื่นๆ มาใช้ มีแบบ virtual screen ฉายผ่านออนไลน์ให้คนซื้อตั๋วเข้ามาดู สมัครเมมเบอร์ต่างๆ 

อีกอย่างที่อาจจะเปลี่ยนไปคือ คนที่นี่หันมากินอาหารที่ไม่ใช่ Meat-based มากขึ้น คือมันมีโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ปิดตัวลง เพราะคนงานติดเชื้อโควิด แล้วก็ไม่มีเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากจีนด้วย ก็เลยทำให้คนอเมริกันช่วงนี้หันมาเป็น vegan กันมากขึ้น กินเนื้อสัตว์น้อยลง คิดว่านี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งใน New Norm ก็ได้ เพราะช่วงหลังๆ มานี้คนก็สนใจสุขภาพกันมากขึ้น กินอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น

เราจบบทสนทนากับส้มราวๆ สี่ทุ่มของประเทศไทย ก็ได้แต่หวังว่าในพรุ่งนี้ มะรืน และวันถัดๆ ไป ทุกอย่างจะดีขึ้น

ขอให้มันดีขึ้นให้เร็ววัน


Contributor