21/07/2020
Life

วินของคนเมือง ฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้

สมัชญา แซ่จั่น
 


ภาพ : พี่เขียว (วินมอเตอร์ไซค์)

หากเปรียบเมืองเป็นเครื่องจักรใหญ่ๆ สักเครื่อง ระบบขนส่งมวลชนก็คงเป็นฟันเฟืองที่ทำให้คนเมืองสามารถไปทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างบรรลุเป้าหมาย ด้วยผังเมืองที่ไม่ได้ออกแบบให้เราเดินทางได้สะดวกนัก ผู้ช่วยที่ดีที่สุดในยามที่เราต้องเข้าซอยลึกหรือรีบเร่งไปทำงานคงจะหนีไม่พ้น “พี่วินมอเตอร์ไซค์” ที่จะยืนรอผู้โดยสารประจำจุดเดิมในทุกๆ วัน

บทบาทของวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่เพียงขับรถรับ – ส่งผู้โดยสารเท่านั้น แต่วินบางคนยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการช่วยจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน จนไปถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยความไว้ใจด้วย ความสัมพันธ์แบบนี้เองที่หาไม่ได้ในขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ จึงไม่แปลกใจที่วินมอเตอร์ไซค์จะได้ใจคนเมือง

ชวนคุยและดูภาพถ่ายของ ‘พี่เขียว’ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ทำอาชีพนี้ด้วยหัวใจมายาวนานนับ 10 ปี ตั้งแต่ประสบการณ์ชีวิต มุมมองต่อการทำงาน ไปจนถึงเปิดอกคุยปัญหาและตอบทุกข้อสงสัย 

ผลกระทบจากโควิดที่วินมอเตอร์ไซค์ได้เจอ / ทำไมวินต้องมีปัญหากับคนขับบริษัทขนส่งเอกชน / โดนผู้โดยสารผู้ชายคุกคามทางเพศทำอย่างไรได้บ้าง / ชอบชวนคุยตอนขับรถแล้วได้ยินเสียงลูกค้าไหม ฯลฯ

ชื่อ : พี่เขียว
อายุ : 37 ปี
อาชีพ : มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ประสบการณ์ : 10 ปี

ตารางประจำวัน
5:30 น. รับลูกค้าประจำเจ้าแรก
6:00 – 7:00 น. แต่งตัวให้ลูก ถักเปีย ทำอาหาร พาไปส่งโรงเรียน
7:00 – 10:00 น. ขับรถต่อ รับลูกค้าตามจุดวินต่างๆ
10:00 – 12:00 น. กลับเข้าบ้าน ดูแลยาย 1 คน สัตว์เลี้ยง 1  ตัว
12:00 – 14:00 น. รับประทานอาหาร พักผ่อนตามอัธยาศัย
14:00 – 19:00 น. รับลูกค้า รับลูกกลับจากโรงเรียนและที่เรียนพิเศษ
19:00 น. กลับเข้าบ้านพักผ่อน

ที่เล่าไปคือตารางเวลาก่อนจะเกิดโควิดนะ พอมีโควิดความเงียบสงัดก็มาถึง เราเสียหายจาก

1. ลูกค้า Work From Home งดใช้บริการวินมอเตอรไซค์
2. นักเรียนปิดเทอมรายได้ที่ได้จากนักเรียนก็หดหาย
3. ตลาดปิด พ่อค้าแม่ขายก็ไม่ได้ฝากพี่เขียวซื้อของเหมือนทุกวัน
4.เราใกล้สนามบิน ชาวต่างชาติ ลูกเรือ นักบิน พนักงานสนามบิน เงียบ

เราหันมาขายกาแฟเป็นอาชีพเสริมจะได้มีรายได้เข้ามาอีกทางและจะได้ทำกิจกรรมที่บ้านกับลูกด้วย ช่วงที่วิ่งรถเรายังพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง มันเป็นการลงทุนที่ไม่มาก เลือกขายกาแฟโบราณเพราะเป็นของไม่เสียง่าย เป็นผงชากาแฟ ถ้าเราขายไม่หมดเราเก็บไปขายต่อได้ แล้วเราต้มน้ำเก๊กฮวยน้ำสมุนไพรช่วงหน้าร้อนพอดี ของมันขายได้แก้วละ 10 บาท 20 บาท ก็พอให้เรามีรายได้ เวลาขายหน้าบ้านก็ใส่เสื้อวินนะเผื่อว่าฟลุคๆ มีคนเดินมาเรียกให้ไปส่ง

แต่ถามว่ารายได้เราหายไปเยอะไหมช่วงโควิด เยอะมากนะ กระทบสุดๆ

ในทุกๆ วันเราจะมีเป้าหมายว่า เราจะหาให้ได้วันละ 600 บาท แต่ถ้าวันไหนไม่ถึง เช่น จะ 4 โมงแล้วเพิ่งได้ 300 ก็จะลดลงมานิดนึงเอาซัก 400 ก็ได้ หลังจากที่เราจ่ายค่าอาหาร จ่ายค่าไปโรงเรียนลูก เติมน้ำมัน ซื้อกับข้าว คือเรายังเหลือติดกระเป๋าเราต้อง 600 บาทบวกๆ เท่านั้นเราถึงจะมีเงินให้เก็บ

เมื่อก่อนเรามีลูกค้าประจำ นักเรียนตอนเช้า คนทำงาน หรือซื้อของให้ร้านนี้ทุกวัน มันจะมีตายตัวอยู่ประมาณ 300 บาท เรามาเก็บรายละเอียดข้างนอกเราก็ขอซัก 300 บาท แล้วพี่ก็จะมีวิ่งนอกรอบ วิ่งระยะไกล รับหมดทุกงาน ยิ่งกว่า Messenger คือฉันทำทุกอย่าง ให้ฉันไปไหน ธนาคาร สถานทูต ไปซื้อแคชเชียร์เช็ค ไปเสียภาษี คือฉันทำทุกอย่าง ขอแค่คุณบอกมา

แฟนพี่เขียวอะหนักกว่าเลยเพราะเขาเป็นวินอยู่ตรงสะพานลอยที่ปกติคนจะต่อแถวเยอะมากๆ วินตรงนั้นเป็นวินที่วิ่ง 24 ชั่วโมง รถวินจะเยอะมากเป็นร้อยคัน เขาก็มีการจัดระบบ ใครวิ่งกลางวันกลางคืนว่ากันไป แต่พอมีโควิดคนก็ไม่ออกจากบ้าน ยิ่งช่วงใกล้เคอร์ฟิววินก็เบียดแน่นร้อยกว่าคัน ซึ่งกว่าแต่ละคันจะออกก็นานมากแทบหาลูกค้าไม่ได้ อย่างจุดที่พี่เขียวอยู่มันมีกัน 7 – 8 คนมันยังพอแบบต่อแถวแล้วเดี๋ยวก็ได้ออก แต่วินที่มีแบบร้อยคนอะ พอเข้าไปคิวที่ 50 กว่าคิวที่ 1 จะออกใช้เวลาเป็นชั่วโมงมันก็ท้อนะ ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป ชั่วโมงนี้คนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นก็จะหันไปขับรถกับบริษัทขนส่งเอกชนต่างๆ

บางคนก็รับงานนอกเหนือจากการขับวิน ก็ต้องดิ้นรนให้อยู่ให้ได้

ยังดีที่มีการลดหย่อนอะไรหลายอย่าง เราหาแค่ค่ากินแต่ละวันให้ได้ ถ้าได้แล้วก็คือพอ

พวกวินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่จะมีเรื่องไฟแนนซ์ อาจจะมีการซื้อรุ่นใหม่โดยที่ยังผ่อนไม่หมด หรือรถที่ผ่อนหมดแล้วเอาเล่มไปจำนำเพื่อเอาเงินมาใช้ต่อ บางคนก็กู้เงินออมสิน กู้เงินกยศ. วินส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด พอถึงหน้าทำนา เขาก็จะกลับบ้านไปทำนา บางคนก็จะมีหนี้สินเกี่ยวกับการเกษตรอยู่ พอมีโควิดแต่ละธนาคารก็มีการพักชำระหนี้ พวกหนี้ในระบบเขาให้ทำเรื่องหยุดผ่อนรถได้ 3 เดือน 6 เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ บางคนอาจจะเช่าบ้านอยู่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของเมตตาเราไหม ลดให้ได้ซัก 500 ก็ยังดี อันนี้ก็คือส่วนที่เราต้องดิ้นรนเพิ่มเติม คนที่เขาได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทเขาถึงดีใจไง มันช่วยเขาได้มากๆ

วิธีการที่เขาให้เข้าไปรับเงินมันค่อนข้างจะทันสมัย ซึ่งคนยากคนจนเขาทำไม่เป็น มีคนที่ขอให้เราช่วยลงทะเบียนให้ด้วย คือเขาไม่รู้เรื่องพวกนี้ไง  การจะช่วยเหลือจริงๆ มันเข้าถึงยากสำหรับคนกลุ่มนี้ ต้องแบบวัยรุ่นที่รู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ ซึ่งบางคนก็รู้ บางคนก็แก่แล้ว เล่นโทรศัพท์ยังไม่เป็นเลย บางคนยังใช้โทรศัพท์กดๆ เขาก็ไม่สามารถทำได้ไง  มันควรง่ายกว่านี้หน่อย

การที่เราเป็นวินมอเตอร์ไซค์มานาน เราเห็นปัญหาอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่เวลาดูข่าวก็จะเห็นวินทะเลาะกับผู้ขับจากบริษัทขนส่งเอกชนซะเยอะ ส่วนใหญ่จะด่าวินก่อนเลย คนชอบถามว่า “แล้วทำไมไม่มาสมัครทำของเอกชนอย่างเขา ทำไมต้องไปขัดขวาง”

คิดภาพคุณลุงแก่ๆ มีมอเตอร์ไซค์คันเดียวหาค่ากับข้าวกินไม่กี่บาท เขาจะมีเงินมาซื้อสมาร์ทโฟนไหม เอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้นะ สำหรับวินสมัยใหม่เล่นโทรศัพท์เป็นก็ไม่ใช่ปัญหา

คุณรู้ไหมว่ากว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ถูกต้องมันยาก มันไม่เหมือนคุณสมัครขับตามบริษัทต่างๆ คุณใช้ใบขับขี่ส่วนบุคคล แต่วินต้องมีใบขับขี่อย่างน้อย 2 ใบ ซึ่งกว่าจะได้ใบขับขี่สาธารณะมา เราต้องไปสอบประวัติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยื่นเรื่องที่ขนส่ง กว่าจะเป็นวินที่ถูกต้องมันยากลำบากกว่า พวกวินก็เลยมองว่าทำไมคนขับเอกชนต้องมาบริการตัดหน้า เราเข้าใจลูกค้าบางคนที่ไม่ชอบวินแต่ก็อยากจะให้มีตรงกลาง เราไม่ได้ว่าคนขับเอกชนผิดนะ บริษัทก็ไม่ผิดเพราะอันนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ แต่เราจะจัดการยังไงดี อาจจะมีการจัดระบบไม่ให้มาเบียดบังวินแบบนี้ได้ไหม คือการจะตั้งจุดวินเราจะต้องไปขออนุญาตทางเขตนะ เขตจะรู้เลยว่าวินตรงนี้ตั้งอยู่ตรงไหน ถ้าคนขับเอกชนเขามีจุดเรียกไกลจากจุดที่ตั้งของเราออกไปหน่อยได้ไหม  ไม่ใช่ว่าวินตั้งอยู่หน้าตึกเขาแล้วคุณมาจอดรับหน้าตึกเขาเลยแบบนี้ รายได้เราขาดหายไป อยากให้ภาครัฐหาช่องว่างตรงนี้ให้นิดนึง คือทำยังไงให้อยู่ร่วมกันได้ หรือเอกชนให้มีแต่รถยนต์ไปเลย แต่เดี๋ยวก็ทะเลาะกับแท็กซี่อีก

ในเมื่อรัฐมีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นสาธารณะ คนขับรถเมล์ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ อย่างนี้มันถึงเรียกว่าการขนส่งมวลชนที่เป็นสาธารณะจริงๆ แต่การที่บริษัทขนส่งเอกชนใช้ใบขับขี่ส่วนบุคคลเพียงใบเดียวเราว่าอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง

ไม่งั้นจะให้วินมอเตอร์ไซค์ทำใบขับขี่สาธารณะเพื่ออะไร คนใส่เสื้อวินถ้ารถไม่เป็นป้ายเหลืองต้องโดนจับ ทำไมต้องเอาตำรวจเทศกิจมาคอยดู แต่เห็นว่าเขากำลังจะทำให้ถูกกฎหมายด้วย คำถามคือถ้าถูกกฎหมายขึ้นมา คุณจะมีขนส่งสาธารณะไว้ทำอะไร

คิดว่าทำไมคนถึงเลือกใช้บริการขนส่งเอกชนทั้งๆ ที่ก็มีรถสาธารณะอยู่

พูดง่ายๆ “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งหมด” คือคนเรามันก็มีทั้งดีและไม่ดีปนกัน คนนั่งเขาอาจจะไปเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีมา เช่น วินมอเตอร์ไซค์มีกฎหมายบอกนะว่าระยะทางเท่านี้เก็บเงินเท่าไหร่ แต่บางครั้งในเวลาเร่งด่วน หรือไปที่ที่ไม่เคยไป เขาอาจจะมีการตกลงราคากันสองคน ถ้าตกลงกันก่อนขึ้นรถก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าลืมตกลงกันแล้วเจอคนที่เรียกแพง เขาก็ด่าวินไม่ดี

ข้อดีแอปพลิเคชั่นของเอกชนคือดูราคากับระยะทางได้เลย พอได้รู้ก่อนคนยุคใหม่จะรู้สึกมั่นใจ ละบางครั้งเขาก็วิ่งถูกกว่าเรา สมมติลูกค้าจะไปจตุจักรจากอนุเสาวรีย์ ถ้าเขาอยู่ ณ จุดอนุเสาวรีย์อยู่แล้วเขาสามารถรับงานได้เลย แต่วินมอเตอร์ไซค์ทำไม่ได้เพราะวินเขามีที่ตั้ง ถ้าเราขับเข้าไปในเขตที่เขามีที่ตั้งอยู่ เราจะไปรับลูกค้าตัดหน้าเขาไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่วินเขาจะรู้กัน

ที่ว่าปลาเน่าตัวเดียวเน่าทั้งเข่ง เพราะมันมีข่าวข่มขืน ข่าวหลอกพาไปที่เปลี่ยว ทำให้คนไม่เชื่อถือ ทั้งๆ ที่วินทุกคนก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เอกชนก็มีข่าวพาผู้โดยสารไปข่มขืนนะ แต่ทำไมมันไม่เหม็นไม่เข้าใจ

กรุงเทพฯ ขาดวินไม่ได้

เรามองว่าเสน่ห์ของวินคือ การเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง เพราะเวลาเราอยู่วิน อย่างที่บอกมันมีที่ตั้ง คนที่เขาเห็นเราก็จะเห็นเราอยู่ทุกวัน เขาจะคุยกับเราทุกๆ วัน เมื่อกลุ่มลูกค้าใช้บริการเราก็มักจะมีการบอกต่อ อย่างพี่ก็จะมีลูกค้าที่รู้จักกัน นั่งกันทุกวัน คุยกันทุกวัน ยิ่งเราเป็นผู้หญิงแล้วเรารับส่งผู้หญิง เรายิ่งคุยกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องทั่วไปยันเรื่องส่วนตัว ด้วยความที่คุ้นเคยกันทุกวัน คอยซื้อของ ใช้ฝากเงิน กดเงิน คือมีความไว้เนื้อเชื่อใจ พอรู้ว่าเราดีก็มีการคุยกันปากต่อปาก ซึ่งคนขับเอกชนไม่มีแบบนี้ เจอเธอครั้งเดียวกดทางแอปแล้วฉันก็ไป

อย่างเรานี่นั่งรถพี่ทุกวันตั้งแต่เรียนจนตอนนี้ทำงานแล้วเพราะอะไรล่ะ

เพราะมันมีความสนิทสนมใช่ไหม มันรู้สึกฉันนั่งเธอแล้วฉันปลอดภัย ฉันนั่งเธอทุกวัน ฉันคุยได้ทุกเรื่องเลย พอเราคลุกคลีกันมันคือการเนินชีวิตไง “เอ้าพี่ ท้องหรอ ลูกโตหรือยัง” ซึ่งต่างจากบริษัทเอกชนที่เขาเรียกใช้ก็คือคุณกดผ่านแอพ สมมติงานคุณไปไม่ถึง งานไม่ได้ดั่งใจ จะไปเรียกร้องกับใคร คุณก็ต้องโทรตรงเข้าออฟฟิศถูกไหม แต่อย่างนี้คุณเดินมาด่าเราได้เลย อันนี้คือเสน่ห์ของวินนะ เรามีจุดยืน เราไม่ได้เจอกันที่หน้าจอ

คิดว่ากรุงเทพฯ ขาดวินมอเตอร์ไซค์ไม่ได้หรอก ซอกซอยเยอะแยะมากมาย ต่อให้คุณปักหมุดมันก็ไม่เหมือนกันเพราะเราเป็นคนพื้นที่

มีประกันอุบัติเหตุไหม

ประกันไม่รับอาชีพวินมอเตอร์ไซค์เพราะเป็นอาชีพเสี่ยง แต่สิ่งที่รับเราคือ พ.ร.บ.จักรยานยนต์มอเตอร์ไซค์ กับ 30 บาทรักษาทุกโรค บริษัทประกันโทรมาบ่อย พอบอกว่าเป็นวินมอเตอร์ไซค์วางสายเลย หรือบางอันมายื่นข้อเสนอแบบ “รักษาพยาบาลพี่ได้คืนวันละพัน ถ้าพี่ตายพี่ได้ล้านกว่าบาทเลยนะ” โห ให้มากกว่านี้พี่ก็ไม่อยากใช้หรอกประกันอ่ะ เพราะถ้าเราใช้ก็คือเราต้องประสบอุบัติเหตุหรือตาย พี่มีประกันสังคมด้วยแต่วินส่วนใหญ่เขาไม่มีหรอก มีแค่พ.ร.บ.กับ 30 บาทนี่แหละ

มีเหตุการณ์อะไรตลกๆ ไหม ที่ลูกค้าจ้างให้ไปทำ

เคยโดนจ้างขับรถตามผัว คือลูกค้าสงสัยว่าผัวมีเมียน้อยที่ไหนบ้าง คือเขาโทรบอกพี่ว่าผัวเขาต้องไปขายของเวลานี้นะ ให้พี่ตามไปดูให้หน่อย ถ้าผัวแวะที่ไหนให้มาบอก ขำไหม เหมาฉันเลยทั้งวัน 500 บาท เหมือนเป็นนักสืบเลย

อีกอันคือมีให้รับโทรศัพท์ให้หน่อย ให้ด่าแทนอะ มันไม่รู้จะจ้างใครได้มั้ง คือวินไม่ได้ส่งคนหรือส่งงานอย่างเดียวนะ ลูกค้าบอกให้พี่ด่าตามที่เขียนไว้ให้หน่อย เขาก็เขียนบทมาให้ เราก็ด่ายับเลย พอด่าเสร็จก็วางแล้วเราก็บล็อคเบอร์มันสิ เดี๋ยวมันโทรมาด่าเรา

มีอีกเรื่อง ไม่ได้เป็นเรื่องขำนะ จะอบอุ่นนิดนึง เราไปรับลูกค้าประจำ ขับอยู่ดีๆ เขาก็ถามเราว่า “พี่กินข้าวยัง เดี๋ยวเลี้ยงข้าว ไปกินข้าวกัน” บางครั้งเราก็เกรงใจ บางคนเวลาฝากเราซื้อของซื้อขนมก็ให้เราสั่งเพิ่มอีกชิ้นให้เอาไปฝากลูกๆ เราด้วย ก็มีโมเมนต์นี้ เลยบอกว่าวินไม่ใช่แค่วินนะ

โดนคุกคามทางเพศ

วินผู้ชายก็ไม่ได้มากดขี่คุกคามอะไรวินผู้หญิงนะ เพียงแต่ว่าวินผู้หญิงบางครั้ง ผู้ชายอาจหมั่นไส้นิดนึงเพราะว่าอาจจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า เราอาจจะมีความอดทนต่อเรื่องต่างๆ ได้มากกว่า เช่น เดินเอกสาร หรือการซื้อของหลายๆ จุด วินผู้ชายบางคนก็ทำแต่บางคนก็ไม่เอาเลย เขาเน้นรับส่งอย่างเดียวจะเร็วกว่า

ส่วนเรื่องวินผู้ชายไปคุกคามทางเพศผู้โดยสาร มองย้อนกลับมาที่วินผู้หญิง ฉันก็โดนนะจ๊ะ บางครั้งโดนจับเอว จับเอวก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติแต่ที่ไม่ปกติคือเขาบีบเอวเรา แล้วคุณคุกคามด้วยคำพูดว่า ‘ผอมไปหน่อยนะ’ ซึ่งมันส่ออะ บางครั้งเราขี่มอเตอร์ไซค์ แต่คุณมาจับต้นขาเรามันก็ไม่ใช่นะ เราเป็นวินเรารู้ เรารับคนมาต้ังเท่าไหร่

ล่าสุดที่เจอคือโดนกระเด้าใส่เลยอะ รถเราเป็นรถฟีโน่ แล้วเบาะฟีโน่ไม่ได้เทไปข้างหน้านะ เพราะฉะนั้นมึงจะไหลมาหากูแล้วเด้งขนาดนั้นมันเป็นไปไม่ได้ แล้วพอเจอแบบนี้เราจะไปบอกใครวะ

เราจะเอาหลักฐานจากตรงไหน ถ้าฟ้องเดี๋ยวก็อ้างว่าเราขับแรง เราต้องติดกล้องวงจรปิดที่ข้างหลังหมวกกันน็อคหรอ

แล้วบางครั้งคุยกับเรา ไม่ต้องเอาหน้ามาไว้ข้างหมวกกันน็อคเราก็ได้ คืออยู่ข้างหูเลย หันไปหน้ามึงก็โดนหน้ากูแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่จะมาคุยแนบชิดขนาดนั้น เจอแบบนี้ตั้งแต่คนหนุ่มยันแก่นะจ๊ะ ส่วนใหญ่ที่จะโดนคือขาจรไม่ใช่ขาประจำของเรา มันมาเพื่อสิ่งนี้ มันมาล่า 

ขอบอกอีกอย่าง เวลาผู้หญิงเราซ้อนวินมอเตอร์ไซค์ผู้ชายอะ ต้องช่วยเซฟตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ขนาดว่าพี่เขียวเป็นวินผู้หญิง เบรกเต็มแรง เรายังรู้สึกเลยว่าอะไรมันมาโดนหลังเรา

คำถามจากทางบ้าน : เป็นวินไม่กลัวผิวเสียหรอ แล้วเราบำรุงผิวของเราอย่างไร

โห มันผ่านจุดนั้นมาแล้ว เมื่อมันพบสิ่งที่ใช่เราก็ไม่ต้องกลัว แต่วินบางคนเขาก็กลัวผิวเสียนะ ครีมกันแดดก็มีบ้าง โปะแป้งบ้าง พวกเราบางคนถอดไอโม่งมาหน้าสวยๆ จัดเต็มก็มี เราก็มีวิธีเซฟกัน ใส่ถุงมือถุงเท้ารองเท้าผ้าใบให้แดดโดนเนื้อหนังน้อยที่สุดอะ แต่ด้วยอาชีพก็ต้องมีโดนกันบ้าง

เรา : ไม่บ้างหรอก

พี่เขียว : เออ โดนจะๆ อะ (ขำ)

เราเลือกแล้วสิ่งนี้ มันไม่ได้เป็นปัญหาของเรา คนถามเรื่องสวยงามก็คงกลัวเรื่องไม่มีแฟนถูกป้ะ ก็บอกเลยว่าถ้าจะชอบเราก็ต้องชอบที่เราเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ฉันสร้างภาพฉันสวย แต่ฉันต้องมานั่งโบ๊ะหน้าขี่มอเตอร์ไซค์มันก็ไม่ใช่ ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ต้องมายุ่ง แต่ตอนนี้พี่เขียวลูก 4 ละนะ

ทำไมวินถึงชอบชวนคุยตอบขับรถ มันไม่ได้ยินนะ

คือบางทีเราขับรถไปนานๆ มันรู้สึกว่าผู้โดยสารเงียบเกินไปมันเกร็งๆ อะ

มันคือการสร้างบรรยากาศระหว่างเรากับลูกค้า บางทีเราถามอย่าง ลูกค้าตอบอย่างก็ขำๆ ดี เราก็แก้เขินว่า “อ๋อหรอคะ” (ขำ)

สุดท้าย “อาชีพวินเป็นอาชีพที่ใช่”

พี่ชอบ พี่รักอาชีพนี้ ต่อให้ใครจะมองว่าไม่ดีแต่พี่ไม่ได้มองอย่างนั้นนะ พี่มองว่าเราก็อำนวยความสะดวกให้คนอื่นๆ เคยเข้าไปในห้างหรูๆ พี่เขียวใส่เสื้อวินพาลูกไปกินข้าวกินไอติม ทุกคนในร้านหันมามองฉันหมด มองทำไม ฉันก็พาลูกฉันกินได้เหมือนที่คุณกินอะ ไม่ชอบแต่ก็ไม่สนนะ ก็จ่ายเงินเหมือนกัน จะไปซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก ฉันก็ใส่เสื้อวินนะจ๊ะ แล้วลูกฉันหลายคน ฉันไม่ซื้อเครื่องเดียวหรอก ฉันซื้อทีเดียวเลย 2 – 3 เครื่อง คือพี่เป็นคนที่ไปไหนก็แล้วแต่ ถ้ายังอยู่ในการวิ่งรถ พี่จะไม่ถอดเสื้อวิน รู้สึกว่ามีเสื้อวินแล้วมั่นใจ พี่รักเสื้อวินมาก มันขนาดนั้นเลยนะ นอกจากลูกค้าจะขอว่า “ไปที่นี่รบกวนถอดให้หน่อยนะพี่ มันไม่สุภาพ” อันนั้นเราก็จะถอดให้

อยากให้มองหลายๆ มุม คนเรามันมีดีเหมือนกันหมดแหละ คนที่เขาเลือกอาชีพวินเพราะมันมีเหตุผลหลายๆ อย่าง ทุกคนไม่ได้เกิดมาสมบูรณ์แบบ มีครอบครัวที่ต้องดูแล มีอะไรที่ต้องจัดสรร พี่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือน้อย เคยเป็นพนักงานห้าง แต่งตัวสวยทุกวัน ตอนนี้จะให้ไปทำอย่างอื่นมันไม่ใช่เราอะ บางคนมองว่าเงินเดือนน้อย ใครจะไปรู้ว่ามากกว่าที่คุณได้ซะอีก ใครจะมองกระจอกก็ช่าง ฉันไม่สน ลูกฉันยังภูมิใจในฉันเลยที่ฉันเป็นวินมอเตอร์ไซค์ แล้วคุณเป็นใครจะมาว่าฉันกระจอก อาชีพไหนก็คนเหมือนกัน


Contributor