20/09/2020
Life
“นิเวศแห่งการเรียนรู้” : บนเส้นทางการเติบโตของฮับ – เหมวิช เด็กชายอายุ 13 เจ้าของ นวัตกรรมเพื่อช่วยคนหูหนวก
The Urbanis
เรื่อง : เมธิรา เกษมสันต์ ภาพ/สัมภาษณ์ : ชยากรณ์ กำโชค
11 ปี คืออายุของเด็กชายคนหนึ่ง ที่เดินไปบอกพ่อแม่ว่า “ผมอยากทำเครื่องช่วยฟังเพื่อคนหูหนวก”
12 ปี คืออายุของเด็กชายคนนั้น ที่กำลังนั่งหาข้อมูลวิทยาศาสตร์ ต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเขียนบทคัดย่อโครงการ เพื่อเตรียมส่งสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นเข้าประกวดในโครงการ Google Science Fair
13 ปี คืออายุเมื่อเขาได้เข้ารอบ 20 คนสุดท้าย ซึ่งถือเป็นเด็กไทยคนแรกที่ได้เข้ามาถึงรอบนี้ และเป็นผู้มีอายุน้อยที่สุดของผู้เข้าร่วมโครงการ
เด็กชายคนนั้นมีชื่อว่า เหมวิช วาฤทธิ์ หรือ ฮับ
สิ่งประดิษฐ์ของเขา คือเครื่องช่วยฟัง EarZ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ที่ใช้หลักการการนำเสียงผ่านกระดูก (Bone Conduction) และโปรแกรมฝึกการเปล่งเสียง EZ Speak เพื่อช่วยให้พวกเขาออกเสียงได้ชัดถ้อยชัดคำมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจของเด็กชายคนนี้ ไม่ได้อยู่ที่ความอัจฉริยะเหนือเด็กทั่วไป แต่อยู่ที่วิธีการคิด วิธีการเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมที่เด็กชายคนนี้เติบโตมา
อะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กอายุ 13 ปี สามารถสร้างนวัตกรรมที่อาจเปลี่ยนชีวิตผู้พิการทางการได้ยินนับล้านคนทั่วโลก
วิธีการสอนของพ่อแม่แบบไหน ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งกล้าคิดกล้าฝัน และมุ่งมั่นตั้งใจจนทำสิ่งที่ยากเกินวัยได้สำเร็จ
การปลูกฝังของครอบครัวแบบไหน ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีความคิดกว้างไกล มีหัวใจรักการเรียนรู้ และรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว
ต่อจากนี้ น้องฮับ – เหมวิช วาฤทธิ์ และคุณแม่ – นิชาพร วาฤทธิ์ จะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด
ไอเดียจากเสียงกีต้าร์
ในวันพักผ่อนสบายๆ วันหนึ่งของครอบครัววาฤทธิ์ ขณะที่แม่กำลังนั่งดูซีรีส์ และฮับกำลังนั่งเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าอยู่ใกล้ๆ แต่ด้วยความที่กีต้าร์ของเด็กชายไม่ได้ต่อเครื่องขยายเสียง เขาจึงต้องก้มหน้าไปใกล้ๆ และเมื่อคางของเขาไปแตะตัวกีต้าร์โดยบังเอิญ… ไม่กี่อึดใจถัดจากนั้น เด็กชายก็ร้องเฮขึ้นมาอย่างดีใจ จนแม่ตกใจและหันไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น
“เนี่ยแม่ อยู่ๆ เสียงมันก็เข้าไปตรงนี้ แล้วก็ได้ยินชัดเลย ถ้าเราเอาตรงนี้ไปทำเครื่องช่วยฟัง ให้คนพิการได้ยินจากคางขึ้นไปน่าจะดีนะแม่” ฮับตะโกนบอกแม่ด้วยความตื่นเต้น
แทนที่จะบอก… “ไร้สาระ” หรือ “เอาเวลาไปอ่านหนังสือเรียนไป” แบบที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ทำ คุณแม่ของเขากลับหยุดดูโทรทัศน์และหันมาตั้งใจฟังลูกด้วยความตื่นเต้น “เฮ้ย! ความคิดดีนี่ เอาอย่างนี้ ฮับไปค้นคว้ามาก่อนเลย ไปเสิร์ชกูเกิลซิว่าเทคโนโลยีตรงนี้มีใครเคยค้นพบมาหรือเปล่า”
จากนั้นเด็กชายก็ได้เรียนรู้ว่า นี่คือหลักการของการนำเสียงผ่านกระดูก หรือ Bone Conduction ซึ่งฮับก็รีบวิ่งเข้าไปบอกแม่ว่า “มะม๊าๆ… เชื่อไหม บีโธเฟนเป็นคนค้นพบ Bone Conduction คนแรกของโลกเลย”
ทุกคนในบ้านต่างตื่นเต้นตามฮับ แต่ไม่นาน เด็กชายก็กล่าวด้วยน้ำเสียงกังวลว่า “แต่คนอื่นก็ทำกันนะแม่ แล้วเราจะทำยังไง” ซึ่งแม่ของเขาก็ให้กำลังใจว่า ไม่เป็นไร คนอื่นทำแล้ว เราก็คิดค้นของเราได้ เพราะวิทยาศาสตร์มีการต่อยอดได้ พร้อมบอกว่า…. เต็มที่เลยลูก ทำเลย
แล้วความสนุกก็เริ่มขึ้น โดยคุณพ่อซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเรื่องการต่อวงจร โดยที่หาอุปกรณ์ในบ้าน อย่างเช่นตลับคอนแทกเลนส์และไส้ที่คาดผมของแม่ มาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ต้นแบบ แล้วทั้งคู่ก็พาเด็กชายไปทดสอบอุปกรณ์ที่โรงเรียนคนหูหนวก แม้การทดสอบครั้งแรกจะไม่สำเร็จ เด็กชายก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ แต่นำกลับมาแก้ไขและนำไปทดสอบอีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้ก็ทำให้เด็กชายยิ้มออกมา
“พอทดสอบแล้วใช้ได้ เขาถามผมเลยว่าจะไปซื้อได้ที่ไหน เพราะเขาชอบและอยากได้มากเลย เสียงมันนุ่ม ตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจที่เราอยากที่จะทำต่อให้สำเร็จให้ได้”
จุดเด่นที่สำคัญของอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่มีเหนือกว่าเครื่องช่วยฟังทั่วไป คือการเป็นเครื่องที่ติดที่หลังหูและใช้เทคนิคการนำเสียงผ่านกระดูกเข้าไปที่หูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ใส่รู้สึกสบายกว่าเครื่องช่วยฟังธรรมดาที่จะต้องเสียบเข้าไปในรูหู อีกทั้งยังทำให้เสียงที่ได้ยินมีความนุ่มกว่า
ความคิดของเด็กชายเหมวิชไม่ได้จบสิ้นแค่ตรงนั้น อีกสิ่งที่เขาสังเกตระหว่างทดสอบอุปกรณ์คือ ผู้พิการทางการได้ยินส่วนใหญ่มักควบคุมน้ำหนักเสียงที่ตัวเองพูดไม่ได้ เดี๋ยวพูดดัง เดี๋ยวพูดเบา หรือบางทีก็พูดไม่ชัด เช่น พูดคำว่า ‘ป้อ’ แทน ‘พ่อ’ ฮับจึงทดลองเขียนโปรแกรมช่วยพูดขึ้นมา ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเครื่องช่วยฟังผ่านทางบลูทูธ ทำให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถฝึกเปล่งเสียง โดยที่ได้ยินเสียงตัวเองและประเมินได้
“พอผมเอาตรงนั้นไปทดสอบ แล้วเขาสามารถพูดคำว่า ‘ป้อ’ เป็น ‘พ่อ’ ได้ รวมทั้งสามารถเขาคุมน้ำหนักเสียงได้ ตรงนี้ก็คือแรงผลักดันให้ผมอยากทำต่อ สมมติถ้าคนหูหนวกในประเทศไทยได้ยินประมาณ 90% คุณภาพชีวิตของเขาจะสูงขึ้น แล้วอันตรายก็จะน้อยลง เช่น การถูกรถชน รวมถึงโอกาสในการทำงาน การเข้าสังคม และการสื่อสารที่เขาจะสามารถมีได้เท่าเทียมคนปกติ”
คุณแม่นิชาพรเล่าเสริมถึงความประทับใจในวันนั้นว่า “วันที่ไปทดสอบคือขนลุกเลย ทุกคนน้ำตาไหล ฮับก็น้ำตาไหล เพราะเขาได้ยิน แล้วก็พูดได้ การได้เห็นพวกเขายิ้ม มันเป็นสิ่งที่ฮับบอกว่า หยุดไม่ได้ครับแม่ เราทำต่อกันเถอะ”
บนเส้นทางแห่งอุปสรรค… สู่การเรียนรู้และเติบโต
เส้นทางของความฝันไม่เคยง่าย สิ่งประดิษฐ์ในฝันที่เด็กชายอยากทำเพื่อช่วยคนพิการก็เช่นกัน
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะลุยทำสิ่งนี้อย่างจริงจัง เด็กชายเหมวิชในวัย 12 ปี ก็ไปยื่นขอทุนจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง แม้เขาจะได้เข้าไปนำเสนอผลงานถึงรอบสุดท้าย แต่ก็ต้องลงเอยด้วยความผิดหวัง เมื่อได้ยินคำตอบจากกรรมการว่า จะให้ทุนก็ต่อเมื่อโครงการนั้นสามารถทำเงินกลับมาได้ภายใน 6 เดือน และหลังจบโครงการหนึ่งปีจะต้องขายได้
“ตอนนั้นฮับก็เฟลมาก ร้องไห้ แล้วพูดอยู่คำหนึ่งว่า ฮับไม่สามารถช่วยคนพิการได้แล้ว เพราะฮับไม่มีเงิน แม่ก็บอกว่า อยากร้องไห้ ร้องไปเลย หนึ่งเดือนเต็มๆ ฮับไม่ต้องทำอะไร ร้องไห้ไป นอน เฟลให้สุดๆ เลย พอผ่านหนึ่งเดือนปุ๊บ เราค่อยมานั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรต่อ” คุณแม่เล่าย้อนถึงวิธีการสอนลูกให้เผชิญความผิดหวังครั้งนั้น
ระหว่างนั้น นิชาพรก็นึกถึงโครงการหนึ่งซึ่งเคยมีครูต่างชาติแนะนำไว้ นั่นคือโครงการ Google Science Fair เธอจึงรีบค้นข้อมูล และปรากฏว่าอายุที่เปิดรับคือ 13-18 ปี ซึ่งฮับจะอายุครบ 13 ปี ในไม่กี่วันก่อนวันที่ปิดรับสมัครพอดี
ความพยายามครั้งใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น แต่ความท้าทายของโครงการนี้ คือผู้เข้าร่วมต้องเขียนโครงการส่ง ซึ่งรายละเอียด เรียกได้ว่าเทียบเท่าวิทยานิพนธ์เล็กๆ ชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว เช่น ต้องมีการเขียนสมมติฐาน (Hypothesis) มีการเก็บข้อมูล ทดลอง สรุปผล เขียนแหล่งอ้างอิง ซึ่งเด็กอายุ 12 อย่างฮับในเวลานั้น ไม่เคยรู้จักแม้กระทั่งว่า ‘สมมติฐาน’ คืออะไร
“เราก็คุยกับพ่อว่า ปะป๊า อธิบายลูกเรื่องการตั้งสมมติฐานหน่อยสิ เพราะพ่อเขาเป็นอาจารย์ ส่วนเราก็เริ่มสอนลูกเรื่องกระบวนการเก็บข้อมูล การใช้โปรแกรม Excel ทำกราฟ”
สำหรับคนที่เคยเขียนวิทยานิพนธ์ย่อมรู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กอายุ 12 ปี ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แล้วโครงการของฮับก็มีความยากทวีไปอีกสองเท่า เนื่องจากโครงการของเขามี 2 สมมติฐาน ทั้งเครื่องช่วยฟังและโปรแกรมช่วยพูด ซึ่งเด็กชายต้องเขียนทั้งสองสิ่งให้อยู่ในความยาวที่กำหนด
“ตอนแรกฮับก็กังวล มาคุยกับเราว่า คนอื่นเขามีสมมติฐานเดียวทั้งนั้นเลย ทำไงดีแม่ เราก็บอกว่า จะเครียดอะไร ก็ใส่ไปทั้งสองสมมติฐานเลย คนอื่นค้นพบอย่างเดียวก็ช่างเขาสิ เราค้นพบสองอย่างซึ่งเชื่อมโยงกัน เราเป็น Risk Taker ซึ่งมันไม่ผิด”
วันกำหนดส่งใกล้เข้ามาทุกที แต่เด็กชายก็ยังไม่สามารถเขียนออกมาได้ ความเครียดเริ่มก่อตัว
“เราก็เครียด ฮับก็เครียด เราก็บอก ปะป๊าช่วยลูกหน่อยสิ แต่ปะป๊าฝึกลูกเหมือนเป็นนักศักษาปริญญาเอกเลยนะ คือเขาพูดว่า… นี่เป็นงานของฮับ ฮับต้องเขียนเอง ปะป๊าไม่ช่วย… เราก็บอก เวลามันไม่ทัน…พ่อเขาก็ตอบ ไม่ทันก็ไม่ต้องส่ง คือพ่อเขาเป็นคนใจแข็งมาก เราก็ต้องไกด์และดันให้เขาทำจนออกมาให้ได้”
ในที่สุด เด็กชายก็เขียนออกมาจนได้จริงๆ และได้รับคัดเลือกจนเข้าไปถึงรอบ 20 คนสุดท้าย
“เราก็ได้เห็นว่า เฮ้ย…ลิมิตเด็กอายุ 12 มันไม่ธรรมดา คือเราคิดว่าลิมิตลูกเรามีเท่านี้ แต่พอดูลูกทำงานปุ๊บ อ้าว ลิมิตของเขามันเกินน่ะ เขาทำได้ โดยที่เขาไม่ได้กดดันตัวเองมาก เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่า เราต้องเปิดโอกาสให้เด็กขยายศักยภาพ ลิมิตเด็กแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่ครูต้องรู้ว่าคนไหนเท่าไหน แล้วค่อยเสริมงานที่เพิ่มขึ้นกับเด็กที่เก่ง หรือเสริมเด็กที่ด้อย”
จากมุมเล็กๆ ในบ้าน… สู่การสร้างนิสัยรักการเรียนรู้
กว่าที่ฮับจะเดินมาถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยที่สำคัญมากคือการปลูกฝังของครอบครัว ที่ส่งเสริมให้คิด ให้ตั้งคำถาม ไม่กลัวที่จะแตกต่าง และทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก
“เริ่มจากเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จะสร้าง Learning Environment ให้เรา ที่บ้านจะมีมุมหนึ่งที่จัดไว้เป็น Learning Corner มีของเล่นอยู่ด้านใน มีหนังสือ ดินสอ สี จิ๊กซอว์ เลโก้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ใช้เวลากับเรา บางทีคุณพ่อก็มีการหยอดคำถาม เช่น เวลาต่อเลโก้ พ่อก็จะบอกว่าต่ออันนั้นให้ดูหน่อยสิ มีการไกด์บ้าง ซึ่งก็ฝึกให้เราได้คิด ได้วิเคราะห์” ฮับเล่าถึงสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เขาเติบโตมา
สิ่งหนึ่งที่พ่อและแม่ของฮับให้ความสำคัญมากคือ การเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ เมื่อสนใจอะไรแล้วก็จะพาไปให้สุด
“เราให้ลูกลองทุกอย่าง ไม่เคยปิดกั้น เช่น ตอนเด็กๆ ลูกดูหนังพระนเรศวร เขาก็อยากฟันดาบ เราก็ไปซื้อดาบไม้ที่ตลาดมาถูกๆ ก็โช้งเช้งอยู่ที่บ้าน พอได้ดูพระนเรศวรทรงช้าง ก็ไปสิคะ ปางช้างที่เชียงใหม่ บอกขอนั่งคอได้ไหมคะ ลูกอยากร่ายดาบบนคอช้าง แล้วเขาก็สนุกมาก ทำท่าตามหนังได้หมด ลูกเราสนใจอะไร เราก็จัดให้เขาไปเจอของจริง หรือลูกบอกว่าอยากเห็นหัวใจ ก็ไปตลาด หาหัวใจหมูมาชำแหละดูด้วยกัน หาหนังสือมาศึกษาว่าการทำงานเป็นยังไง หรือเขาอยากทำภูเขาไฟ เราก็ไปค้นในยูทูป ไปซื้อสาร เอาดินน้ำมันมาปั้น มันพุ่งขึ้นมา ก็สนุกกัน”
คุณแม่ของฮับยังเล่าให้ฟังอีกว่า การเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองหลายๆ อย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเสมอไป อย่างเช่นเมื่อฮับอยากเล่นกีต้าร์ คุณแม่ก็เริ่มจากไปซื้อกีต้าร์พลาสติกถูกๆ ไม่กี่ร้อยให้ลองมาเล่นก่อน เมื่อเห็นว่าลูกสนุก ดีดเป็นจังหวะได้ ก็ค่อยสนับสนุนให้เรียนในระดับที่ต่อยอดขึ้นไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะไม่บังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ หรือผลักไสให้เขาไปอยู่ในจุดที่เขาไม่อยากไป
“ตอนฮับ 2-3 ขวบ พอเรารู้ว่าเขารักเสียงเพลง เราก็พาเขาไปเข้าคอร์สเรียนภาษาอังกฤษผ่านเพลง ครูก็จะร้องเพลงเล่นกีต้าร์ เด็กก็จะร้องเพลงภาษาอังกฤษ ฮับเขาก็ชอบ แต่ด้วยวัยขนาดนั้นที่ไม่เคยเรียนกับเพื่อนเยอะๆ เขาก็กลัว เราก็จับเขานั่งตัก ไปเรียนกับลูก ลูกไปไหนเราก็ไปด้วย พอสักพัก 2-3 เดือน ก็เปลี่ยนมาเป็นนั่งข้างๆ พอเขามีความมั่นใจ เราก็ค่อยๆ ขยับออก จนสุดท้ายทิ้งไว้เลย นี่คือการสร้างความมั่นใจแบบเป็นธรรมชาติ โดยที่เราจะไม่ผลักเด็กว่า ไปสิ ไปเอง ปล่อยให้เด็กร้องไห้ กลัว นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะสร้างความมั่นใจให้ลูกเรา”
ทางด้านวิชาการ คุณแม่ก็พยายามสอนให้คิด ให้เข้าใจมากกว่าท่องจำ เช่น เมื่อเรียนเรื่องการหาร ก็ไปเอาพิซซ่ามาหั่นแบ่งให้เห็นภาพ และเมื่อฮับ 9 ขวบ ก็เริ่มสอนให้รู้จักการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง เช่น เมื่อฮับมีคำถามวิ่งไปถามพ่อแม่ แทนที่พ่อแม่จะบอกคำตอบเลย ก็จะบอกให้ฮับลองไปค้นข้อมูลเองก่อน โดยพ่อและแม่จะช่วยแนะนำวิธีการ เช่น จะใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหาแบบไหน จะค้นยังไงให้ได้คุณภาพ หรือบางครั้งก็นั่งค้นหาไปด้วยกัน ซึ่งนั่นก็ปลูกฝังวิธีคิด วิธีการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบให้ลูก และทุกคำถามที่ฮับถามขึ้นมา พ่อและแม่ก็ไม่เคยปล่อยผ่านหรือมองว่าไร้สาระ แต่จะท้าทายให้ฮับไปหาข้อมูลต่ออยู่เสมอ
“เวลาลูกพูดอะไรสักอย่างมา เราจะตั้งใจฟัง แล้วให้ลูกพูดให้จบ ให้โอกาสเขาคุย ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น แล้วจากนั้นเราค่อยเสริม บางคำถามเราก็ไม่รู้ เราก็ต้องไปค้นข้อมูล แล้วเอาความรู้มาแชร์กับลูก
“เด็กจะต้องมี Freedom of Speech คือเขาจะพูดอะไร เราต้องเคารพในสิทธิของเขา เคารพในความคิดของเขา ผู้ใหญ่อย่างเราต้องรับฟังเด็ก ไม่ใช่ครอบงำเด็กหรือคิดว่าฉันเกิดมาก่อน ฉันต้องรู้ดีกว่า แล้วหลังจากนั้นคือ Freedom of Choice ให้ลูกตัดสินใจว่าจะเลือกทำหรือคิดอย่างไร แม้เราจะรู้ว่าถ้าลูกทำแล้วจะผิดพลาด แต่เราก็ไม่สกัดกั้น ให้ทำไป พอเขาถึงทางตัน เขาจะรู้เอง แล้วเขาก็จะกลับมาทำในอีกหนทางหนึ่งที่มันถูกต้อง ให้เขาลองคิด ลองทำ กล้าเสี่ยง โดยที่อยู่ในความดูแลของเรา ถ้าเขาจะล้มเหลว ก็ปล่อยให้เขาเรียนรู้ เพราะมันเป็น Process of Learning เพราะเมื่อโตมาแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราไม่กล้าล้มเหลวแล้ว”
มองการศึกษาไทย – อะไรคือตัวสกัดกั้นความสามารถเด็ก
“ถ้าพูดด้านวิชาการ เด็กไทยเรียนเก่งมากทุกวิชา แต่การนำวิชาพวกนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดนวัตกรรมยังมีน้อย สิ่งที่กระทรวงหรือครูต้องทำ คือการมีเวที การสนับสนุน การต่อยอด ไม่ใช่ว่าประกวดชนะแล้วจบ พับเก็บ คือถ้าเด็กอยากทำต่อ กระทรวงศึกษาฯ ควรมีงบประมาณให้ จะเป็นงบฯ ทิ้งก็ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นต้องทำเงินได้ภายในกี่เดือน เพื่อทำให้เป็นผลงานของรัฐบาล มันไม่ใช่นะ…
“ถ้าสิ่งที่เขาทำไม่สำเร็จ ก็ปล่อยให้เขาล้มเหลวไง มีงบฯ ให้เด็กเขาล้มเหลวบ้าง ครั้งนี้ล้มเหลว แต่สิ่งประดิษฐ์ต่อมามันอาจปังปุริเย่ก็ได้นะ คุณลงงบฯ ไปร้อย อาจจะได้กลับมา 30 นั่นยังดีกว่าที่องค์กรอื่นมาให้ทุน แต่พอเวลาเด็กคิดอะไรได้ สิทธิบัตรเป็นของเขาหมด” คุณแม่นิชาพรสะท้อนสิ่งที่เธอมองเห็นในระบบการศึกษาไทย
ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่ฮับประสบมาโดยตรง นั่นคือทัศนคติและวิธีคิดของครู ที่ปิดกั้นการเรียนรู้และตั้งคำถามของเด็ก
“ตอนที่ฮับอยู่ ป.5 เขาเรียนวิทยาศาสตร์ ครูสอนว่าถ้าข้างนอกอากาศเย็น แล้วอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า เวลาพูดควันจะออกปาก ทีนี้ฮับก็ยกมือถามครูว่า แล้วถ้าอุณหภูมิข้างนอกสูงกว่าในร่างกาย เป่าออกมาแล้วจะเป็นอะไร ปรากฏว่าแทนที่ครูจะตอบหรือทำอะไรสักอย่าง ครูไม่ตอบ แล้วเราเพิ่งรู้ว่าลูกเราก็ไม่ยอม ไปดักรอครูหน้าโรงเรียน พอครูเดินมาปุ๊บก็ถามทันทีว่า คำถามที่ผมถามได้คำตอบหรือยัง
“สุดท้ายคือคุณครูกาหัว แบนเลย ยกมือถามก็จะไม่เรียกตอบอีกแล้ว คะแนนก็ไม่ให้แล้วด้วย จนสุดท้ายคุณแม่ก็คิดว่า พอทีระบบนี้ ไม่เหมาะกับลูกเรา เพราะลูกเราเป็นเด็กช่างถาม ก็เป็นจุดที่ตัดสินใจว่าจะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์”
แน่นอนว่าการตัดสินใจนั้น ก็ไม่ใช่ทำโดยพ่อแม่เพียงลำพัง แต่คือการนำเรื่องนั้นมาคุยกับฮับด้วย โดยบอกตามตรงว่า ถ้าแม่ส่งฮับเรียนโรงเรียนอินเตอร์ นั่นแปลว่าเมื่อฮับเรียนจบ เงินแม่จะหมดแล้ว และฮับก็ต้องหาทุนเรียนต่อปริญญาตรีเอง ซึ่งเด็กชายก็ตกลง
“ความแตกต่างคือ ที่นั่นถ้าลูกเราถามอะไรแล้วครูตอบไม่ได้ ครูก็จะบอกให้เด็กทุกคนไปช่วยกันหาข้อมูล โดยที่ครูก็จะไปหามาด้วย แล้ววันถัดมาก็กลับมาคุยกันถึงสิ่งที่แต่ละคนไปค้นพบ แล้วแทนที่จะได้คำตอบอย่างหนึ่ง มันก็จะได้อย่างอื่นใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย แตกแขนงออกไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าถูกทางละกับสิ่งที่เราหล่อหลอมลูกเรามาจากที่บ้าน
“เราว่าเด็กมีความคิด แล้วก็สามารถเปลี่ยนโลกได้ ถ้าครูเข้าใจในตัวเด็ก เข้าใจในการใช้จิตวิทยาเด็ก และไม่ใช้ความรู้ของตัวเองไปตีกรอบและครอบงำเด็กว่า สิ่งที่ครูพูดถูกต้องเสมอไป แต่มันคือการที่มาพูดคุยและอภิปรายกัน การพูดจาข่มเด็กแบบ เธอน่ะโง่ เขาไม่ใช้กันแล้ว การที่จะต้องด่าต้องตีลูกแบบในสมัยก่อนมันไม่ใช่แล้ว เราต้องต่อยอดและส่งเสริมเขา เช่น ลูกจ๋า ลูกเก่งมากเลย แต่ครูคิดว่าหนูน่าจะทำตรงนี้เพิ่มดีไหม แบบนี้ดีกว่าไหม”
ส่วนในมุมของฮับ เด็กชายนักประดิษฐ์ก็เสริมว่า “ผมเชื่อว่าถ้าครอบครัวและครูให้ Freedom of Speech แก่นักเรียน ให้เขามี Freedom of Thinking เคารพความคิดเด็ก ผมว่าผลลัพธ์ตรงนี้จะทำให้เขาสามารถคิดค้นอะไรที่สร้างสรรค์ได้ แต่ถ้ายังมีการกดทับเรื่องความคิด กดทับด้านการพูด การแสดงออก ผมว่าผลลัพธ์ตรงนี้ก็ไม่สามารถออกมา”
วาดภาพเมืองในฝัน… หนทางสู่ Smart City ในความคิดเด็กอายุ 13
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ฮับได้รับเชิญไปพูดคุยในงานเสวนา ‘กรุงเทพ Smart City หรือแค่ชื่อที่ Smart’ ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งเขาได้เสนอความคิดเกี่ยวกับ 5 เสาหลักของการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมือง Smart City นั่นคือ
หนึ่ง – Smart Environment การที่เมืองมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ
สอง – Smart Energy การมีพลังงานสะอาดและยั่งยืน
สาม – Smart Technology การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยแก้ปัญหา
สี่ – Smart Education การศึกษาที่มีความเท่าเทียมและมีคุณภาพ
และสุดท้าย – Smart Governance การพัฒนาหรือการวางแผนงบประมาณที่ชาญฉลาด
“เสาหลักทั้ง 5 ที่ผมเห็นในกรุงเทพฯ ตอนนี้ มันยังมีปัญหาและยังแยกกันอยู่ ความฝันของผมคือการที่ทำให้ทั้งหมดมันเชื่อมต่อถึงกัน อย่างเช่น Smart Environment ปัญหาหลักคือเรื่องมลพิษ พอรถติดก็ทำให้การปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องมี Smart Energy เช่น รถยนต์ไฟฟ้า มาช่วยแก้ ซึ่งเราก็สามารถเอา AI มาช่วยควบคุมระบบไฟเขียวไฟแดงให้เป็นอัตโนมัติ ก็คือ Smart Technology รถก็น่าจะติดน้อยลง ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
“ต่อมาคือ Smart Education ซึ่งผมคิดว่าผู้พิการควรมีโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังหรือโปรแกรมฝึกพูดก็คือหนึ่งในแนวทางนั้น นอกจากนั้น การเก็บข้อมูลและเปิดเป็น Open Data ก็สำคัญ เช่น ข้อมูลการจราจรก็จะช่วยนำไปพัฒนา AI ควบคุมไฟเขียวไฟแดง รวมถึงการเก็บข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น เช่น ความคิดเห็นของคนเมืองว่ามีปัญหาตรงไหน อะไรคือสิ่งที่ต้องการแก้ แล้วนำข้อมูลนั้นมาประมวล เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด Smart City”
เมื่อมองในภาพใหญ่ขึ้น ฮับก็มองว่าการที่กรุงเทพฯ เป็น Smart City อย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องทำให้เมืองอื่นๆ Smart ด้วย
“ที่ผมเห็นคือ นักเรียนต่างจังหวัดหลายคนต้องย้ายเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อ ซึ่งตอนนี้ทุกอย่าง ไม่เฉพาะการศึกษา มันกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็นและอยากให้เป็นคือ การกระจายความเจริญ มีการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในทุกจังหวัด และให้คนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ในทุกภาคส่วน
“เมืองในฝันของผมต้องเป็นเมืองที่อยู่แล้วมีความสุขแล้วก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่าย และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีธรรมชาติที่ดี ไร้มลพิษ แล้วก็เป็นเมืองที่สงบ เดินทางไปไหนมาไหนได้ง่าย” ฮับสรุป
และเมื่อถามถึงอนาคตของตัวเองในฝัน สิ่งที่ฮับอยากทำเมื่อโตขึ้น เด็กชายก็ตอบว่า
“ผมอยากเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น นี่คือความฝันที่ผมอยากเห็นตัวเองทำในอนาคต”