20/07/2020
Life
กรุงเทพฯ ในมุมที่ช้าลง ของคนวิ่ง City Run ส่งกาแฟ กรีฑา รัตนโพธิ
ณัฐพล ศรีเมือง
ถ้าเข้าไปดูในเฟซบุ๊คส่วนตัวของ กรีฑา รัตนโพธิ จะเจอข้อความที่คล้ายเป็นม็อตโต้ของเขาอย่าง “เดินให้ช้าลง ชีวิตมีสุขมากขึ้น”
แนวคิดของข้อความนี้หลายคนคงเห็นด้วยว่ามันฟังดูดี แต่คำถามคือ มีใครบ้างที่ลงมือปฏิบัติ ทำชีวิตตัวเองให้ช้าลง และได้รับความสุขที่เพิ่มขึ้นจริงๆ
กรีฑาไม่ได้แปะข้อความไว้เท่ๆ อย่างเดียว แต่เขาลงมือทำให้ชีวิตช้าลง ด้วยการลาออกจากงานประจำที่ทำมายี่สิบกว่าปี เพราะความอิ่มตัวและชีวิตที่คร่ำเครียดจนเกือบส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และออกมาเป็นคนคั่วเมล็ดกาแฟด้วยมือขายภายใต้แบรนด์ “กม กาแฟ”
กรีฑาไม่มีชื่อเล่น เขามีชื่อที่เข้ากับกีฬาวิ่งนี้มาตั้งแต่เกิด ก่อนที่จะเริ่มวิ่งเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน และขยับมาวิ่งซิตี้รันครั้นเมื่อเห็นว่าไหนก็ต้องไปส่งกาแฟให้ลูกค้าอยู่แล้ว ก็เลยวิ่งซิตี้รันไปส่งกาแฟให้ลูกค้าเสียเลย จนกระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นกิจวัตร ที่เหมือนเป็นทั้งการทำงานและการพักผ่อนไปในตัว
การวิ่งซิตี้รันก็คือการทำชีวิตให้ช้าลงอีกอย่างหนึ่งของกรีฑา เพราะมันทำให้เขาได้เห็นเมืองอย่างกรุงเทพฯ ในอีกมุมหนึ่ง ที่วิถีของการเดินทางปกติไม่อาจเห็น และยังนำความรื่นรมย์มาให้ชีวิต
เรามาทำความรู้จักเมืองในอีกมุมมอง ผ่านชีวิตที่เคลื่อนไปช้าๆ ของผู้ชายคนนี้กัน
ประสบการณ์การวิ่งซิตี้รันครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง
ผมเริ่มวิ่งมาประมาณ 6 ปี เริ่มจากวิ่งในสวน ขยับมาวิ่งงานซึ่งปีแรกก็เบื่อแล้ว ขี้เกียจตื่นเช้าเกินไปเลยวิ่งบนถนนเสียเลย ผมวิ่งซิตี้รันมาน่าจะประมาณ 5 ปีแล้ว วิ่งซิตี้รันครั้งแรกไม่ประทับใจเลย อย่างแรกคือควัน ฝุ่น สภาพฟุตบาท ผมวิ่งจากบ้านแถวจรัญสนิทวงศ์ ข้ามสะพานซังฮี้ไปวชิระ เลี้ยววนกลับ ได้ประมาณ 5 กิโลเมตร เราอาจจะสตาร์ทช้าไปด้วยก็ได้ แล้วช่วงนั้นมีการทำถนนด้วยเลยค่อนข้างลำบาก
ตอนนั้นคิดยังไงถึงออกไปวิ่งบนถนน
คือเราอยากเห็นเมืองนั่นแหละ ปกติขี่จักรยาน ขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ มันก็จะเห็นส่วนหนึ่ง แต่ผมว่ามันเร็วเกินกว่าที่สายตาเราจะจับได้ เดินก็ช้าไปหรือเปล่า เราก็เลยวิ่งไปด้วยเลย ง่ายดี ครั้งแรกวิ่งแบบดื้อๆ เลย ไม่ได้มีเป้น้ำ ไม่ได้มีอะไรเลย เพราะวิ่งใกล้ๆ นิดเดียวแล้วก็กลับ แล้วถ้าแถวนี้เป็นอย่างนี้ ที่อื่นเป็นยังไง
ผมก็เลยเริ่มวิ่งเป็นแบบ 3 – 4 สะพานก่อน หมายถึง ผมขึ้นซังฮี้ แล้วก็วิ่งไปทางสามเสน ขึ้นพระราม 8 วิ่งอัมรินทร์ แล้วก็ขึ้นปิ่นเกล้า แล้ววนกลับ 3 สะพานก่อน บางทีก็ 4 – 5 สะพานแล้วแต่ บางทีก็วิ่งฝั่งนี้บ้าง ถ้าไปทางฝั่งพระนครก็จะเสียเวลาหน่อย เพราะสถานที่สวยๆ เยอะ ของกินเยอะ แต่ถ้าวิ่งมาทางฝั่งพระราม 7 อันนี้จะไม่ค่อยเสียเวลา จากนี่ขึ้นซังฮี้ วิ่งผ่านบางโพธิ์ แล้วก็ไปโผล่ตรงทางด่วน แล้วก็ขึ้นพระราม 7 หรือพระราม 6 ก็ได้ กลับมาถึงบ้านก็ 14 กิโลเมตรแล้ว ถ้าอย่างนี้คือจะวิ่งเล่น เพราะเส้นนี้ไม่มีลูกค้าด้วย แล้วก็ไม่ค่อยมีของกินด้วย ถ้าวิ่งเช้า ก็จะวิ่งเพื่อทำเวลาได้ เป็นการซ้อมไปในตัว
จากครั้งแรกไม่ประทับใจ ทำไมถึงยังออกไปวิ่งซิตี้รันอีก หาวิธีเอ็นจอยกับมันยังไง
เมื่อเราไม่ประทับใจอะไร ไม่ใช่หมายความว่ามันจะเป็นอย่างนั้นตลอด เพราะฉะนั้นครั้งต่อๆ ไป ผมก็เปลี่ยนเส้นทางวิ่งบ้าง สิ่งที่ซิตี้รันให้ก็คือมุมมอง คือเราเปลี่ยนเส้นทางวิ่งปุ๊ป เราก็มองเห็นสิ่งใหม่ๆ เหมือนอย่างที่บอก ไม่ว่าเราจะเดินทางด้วยอะไร มันเร็วเกินกว่าที่ตาจะมองเห็นเสมอ ฉะนั้นพอเราวิ่งปุ๊ป เราก็จะมองเห็น บ้านเก่าบางหลังสวยมากแต่อยู่ในตรอก ถ้าไม่วิ่งก็ไม่เจอ เป็นการเปิดมุมมอง ฉะนั้นพอหลังจากครั้งแรกไม่ประทับใจ ครั้งต่อไปก็คือเรื่องพวกนี้แหละ เราต้องมองระหว่างทางให้มากขึ้น
แล้วเริ่มมาวิ่งส่งกาแฟได้ยังไง
เมื่อก่อนทำงานประจำ ผมก็ทำกาแฟอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้า ทำให้เพื่อน ทำเล่นๆ มีคนขอซื้อเราก็ทำ ก่อนหน้านั้นก็เริ่มวิ่งส่งให้เพื่อนบ้างแล้ว พอเริ่มออกมาจากงานประจำปุ๊ปก็วิ่งส่งเลย ก็ต้องเลือกพื้นที่ที่เราสามารถวิ่งได้ด้วย ทุกวันนี้วิ่งซิตี้รันส่งกาแฟอย่างน้อยๆ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง บางครั้งถุงเดียวผมก็ส่งถ้าวันนั้นอยากวิ่ง แต่ส่วนมากจะ 4 – 5 ถุง ใส่ถุงซิปกันเหงื่อ ใส่ในเป้น้ำไป แต่ถ้าเป็นไอซ์ดริป เป็นขวดแก้ว วิ่งไม่ได้อยู่แล้ว เราก็ส่งเป็นพัสดุหรือขับรถไปส่งเอง
ก่อนหน้านี้ทำงานอะไร ทำไมถึงตัดสินใจลาออกมา
ตำแหน่งสุดท้ายเป็น Senior Specialist ของบริษัทชาร์ป ก็จะทำงานระหว่างประเทศ ทำงานที่นี่มา 23 ปี เริ่มมาจากว่าเราไม่อยากเดินทางไปทำงานแล้ว ประกอบกับมีความเครียดสะสมจากการทำงานจนตาลืมไม่ได้ มีคนหนึ่งที่เป็นอาการเดียวกัน เขาไปตรวจเจอว่าเป็นความดันในกระบอกตาผิดปกติ เราเลยคิดว่าสงสัยเราเป็นรายต่อไปแน่นอน ก็เลยตัดสินใจออกมาได้ปีกว่าๆ แล้ว
ส่วนกาแฟไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นอาชีพที่ต้องเครียด เรากันเงินส่วนหนึ่งไว้มาทำ ถ้าหมดก็คงต้องเลิก แต่ตอนนี้ยังไม่หมด ขายบ้าง แจกเพื่อนฝูงบ้าง เราไม่ได้หวังกำไรมาก ขายได้ก็ได้ ไม่ได้เราก็กินเอง เราชอบอยู่แล้ว ทุกอย่างทำด้วยมือ คั่วมือ ใช้เตาถ่าน แต่ใช้เลเซอร์ยิงวัดอุณภูมิเมล็ด ติดนิสัยเอนจิเนียร์ ลูกค้าโอเค ไม่ตึงมือ
ทุกวันนี้รายได้หลักๆ ก็มาจากกาแฟ เราไม่ได้มีภาษีสังคมเยอะเหมือนเมื่อก่อน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดมาก พอออกมาเราถึงเห็นว่ามันไม่จำเป็น ไม่ต้องมีเงินเดือนขนาดนั้นนี่หว่า เพราะตอนที่มีเงินเดือนขนาดนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเหลืออะไร ตอนนี้ก๊อกๆแก๊กๆ อยู่ได้ สบาย ไม่มีหนี้มีสิน
จริงๆ มันเกิดจากการวางแผนก่อนออก บ้านเราเหลือเท่าไหร่ ออกมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราจะได้เท่าไหร่ พอออกมาปุ๊ปก็ปิดบ้านเลย พอปิดบ้านปุ๊ปก็ไม่มีหนี้แล้ว จบ ทุกอย่างฟรีหมด สบาย
ตอนนี้ทำกาแฟอย่างเดียวเลยหรือเปล่า
กาแฟเป็นส่วนหนึ่ง เราได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ด้วย แก่แล้ว พ่อ 80 กว่า แม่ 76 เรียนทำอาหารจากแม่ เพราะแม่เก่ง เรียนดนตรีไทยกับพ่อ พ่อผมเคยอยู่กองดุริยางค์ เก่งดนตรีไทยเยอะมาก เป็นอาจารย์ พี่น้องเล่นได้หมด ผมเล่นได้ไม่กี่อย่าง ช่วงนี้เรียนซออู้อยู่ เราไม่อยากให้หลายๆ อย่างสูญหาย ส่วนบริษัทเดิมเห็นว่าเรายังมีความสามารถ ก็จะจ้างเป็นครั้งๆ เพื่อไปสอนพิเศษบ้าง นอกนั้นใครมีงานอะไรให้ช่วยก็ช่วย ไม่ได้เป็นเงิน เช่นไปออกบูธเพื่อหาเงินบริจาค
ชีวิตดูน่ารื่นรมย์
ใช่ครับ ผมพูดได้เต็มปากเลย คือไม่มีความกดดัน แต่ไม่ใช่ตื่นสายนะ ตื่นเช้าทุกวัน นอนก็นอนปกติ ตื่นเพราะว่าเราจะเตรียมทำโน่นนี่ ชีวิตแฮปปี้ดี
เวลาไปวิ่งซิตี้รันวางแผนหรือว่าเตรียมตัวยังไง
แผนคือปลายทางอย่างเดียว แต่ที่เหลือก็ไม่ซีเรียส เมื่อก่อนไม่เตรียมตัว ออกก็ออกเลย เดี๋ยวนี้เตรียมโทรศัพท์ ชาร์จให้เต็มก่อน ถ้าวิ่งไกลก็จะใช้เป้น้ำ ไกลของผมหมายถึงว่า เราคิดว่าเราจะไปไกลสุดประมาณไหน ถ้าเป็นซิตี้รันธรรมดา อย่างเช่น วันนี้ไปแค่พระราม 7 ก็หมายความว่าไปพระราม 7 แหละ แต่ตอนกลับไม่รู้จะกลับยังไง ไปให้ถึงก่อน คือบางทีมันไม่สามารถจะบอกได้ บางทีไปเหนื่อยจัด กลับไม่ไหวก็ต้องหารถหรือเรือกลับ เตรียมแค่นี้ แล้วก็ตังค์ แน่นอนเพราะมีเซเว่น แล้วก็จะมีขวดน้ำนิ่ม เอาไว้วิ่ง น้ำเตรียมไปหน่อยหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าบางเส้นเซเว่นหายาก หรือคิดว่าจะเข้าไปในชุมชนเยอะ บางทีหาน้ำกินยาก ก็จะต้องเตรียมพวกนี้ไป อย่าขาดน้ำ บางคนคิดว่าวิ่งแล้วไม่ต้องกินน้ำก็ได้ แต่เมื่อตอนที่คุณเป็น มันจะเป็นทันที
แล้วผมไม่ชอบใส่หมวกวิ่ง จะมีแต่แว่นกันแดดกันตาอย่างเดียว ทิชชู่เปียก ฝุ่นควันเราจะรู้สึกได้ตอนที่เราวิ่ง ว่ามันเยอะขนาดไหน คือพอวิ่งไปแล้วจับหน้า จะเห็นเลยว่าฝุ่นหรือเปล่า รู้สึกว่าเป็นทรายเลย ถ้าเส้นไหนเป็นแบบนี้คราวหน้าเราก็จะไม่ค่อยอยากไปแล้ว แต่ถ้าน้อยๆ โอเค
เลือกช่วงเวลายังไง
ไม่เลือก สะดวก 10 โมงก็ไป 10 โมง บางทีเรามีอย่างอื่นทำ แต่ถ้าไปถึงแล้วแดดจัด ก็เลือกที่จะหารถกลับ แต่ตอนกลางคืนจะไม่วิ่ง อันตรายแน่นอน ไม่คุ้ม ถ้าเช้าก็จะไม่ได้ออกเช้ามืด ส่วนมากจะเริ่ม 7 โมง กำลังดี เช้าไปคนส่งลูกไปโรงเรียน รถติด สัก 7 โมงกว่า แป๊ปเดียวรถก็หมดแล้ว
อันตรายอะไรบ้างที่เราต้องระวังเวลาไปวิ่งซิตี้รัน
หลายคนบอกหมานะ แต่สำหรับผมไม่ใช่ หมามันก็เห่าแหละ แต่ว่าส่วนมากไม่ค่อยเข้า เวลาเจอหมาก็หยุดก่อน แล้วค่อยๆ เดินผ่านไป
ผมว่าอาจจะต้องดูเรื่องคนมากกว่า ยิ่งถ้าวิ่งซอกซอนหน่อย ล่าสุดวิ่งเข้าไปริมคลองหลังเกียกกาย เลาะคลองไป มันเป็นทางเดิน ก่อนเข้ามีป้ายชุมชน ก็ปรากฏว่าทางโดนปิด ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นทางที่เราสามารถจะไปได้ยาว เขาเอาแผ่นไม้มาปิด ไม่สูงหรอก ประมาณหัวเข่า แล้วเขาก็ออกมายืนมอง เราก็เอาแล้ว อันนี้อาจจะต้องระวังหน่อย ผมไปประมาณสิบเมตรผมก็ต้องเล็งแล้วว่า ไปแล้วเขาจะมองเราแบบไหนหรือเปล่า ผมก็ถอย
ผมว่าสิทธิส่วนบุคคลในชุมชน อาจจะต้องเคารพชาวบ้านเขาบ้าง แม้เราอาจจะมองว่าเป็นที่สาธารณะ อย่างตรงสำเพ็งแล้วก็เลี้ยวเข้าซอยเล็กๆ ทรงวาด จะมีบ้านหนึ่งประตูสวย เป็นบ้านเก่า ไม้เก่า เขาก็ติดป้ายว่าห้ามถ่ายรูป ปรากฏว่าเป็นจุดที่คนไปถ่ายรูปบ่อยมาก บางทีการเคารพสิทธิ ต้องให้ความเคารพกับในพื้นที่เป็นหลักก่อน อย่าไปคิดว่าตัวเองถูก
การเป็นคนแปลกหน้าวิ่งเข้าไปตามชุมชน เวลาถูกมองก็ สวัสดีครับ ยิ้มๆ ไป ไม่มีปัญหา แล้วก็อย่าไปยกกล้องถ่ายบ่อยๆ บางทีคนเราไม่สะดวกใจในการถูกถ่ายรูป เพราะฉะนั้นในชุมชนหลายๆ ที่เขาก็ไม่สะดวกใจให้คุณถ่ายรูปทุกอย่าง หน้าบ้านเขา เลขที่บ้าน มองด้วยตาเป็นหลักก่อนก็ได้ ถ้าจะถ่ายรูปก็ขอเขา ถ้าไม่ใช่เป็นที่ที่ทำเพื่อการท่องเที่ยว
แล้วก็ผมเคยเจออุบัติเหตุครั้งหนึ่ง เคยชนเหล็ก ยื่นออกมาจากบ้าน ซึ่งมันไม่ควรมี ถ้าดูจากแว่นจะเห็นลอยยังอยู่เลย เข้าเลนส์แว่นพอดี ถ้าไม่มีแว่นก็คงแหกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าใส่ไปเถอะแว่นกันแดด อย่างน้อยมันกันอะไรได้หลายอย่าง
รถราล่ะ บางทีต้องวิ่งลงถนนหรือเปล่า
พยายามลงน้อยสุด ถ้าลงถนนส่วนมากจะเป็นแนวตลาด คือเดินข้างบนก็ไม่ได้ ก็ต้องลงถนนละ เช่น ตลาดเทเวศร์ เดินได้ วิ่งไม่ได้ ถ้าจะวิ่งคุณต้องลงมาข้างล่าง ฉะนั้นก็จะพยายามน้อยที่สุดที่จะลงบนถนนถ้าเลือกได้ เพราะอย่างเทเวศร์ปุ๊ป ริมคลองผดุง ยาวไปจนถึงหัวลำโพงวิ่งได้ตลอด เพราะถนนที่เป็นฟุตบาทริมคลองวิ่งได้ มีบ้างที่เจอยึด แต่ยังวิ่งดีอยู่ นอกจากไปถึงตรงโบ๊เบ๊ ก็จะนิดหนึ่ง เรื่องรถนี่ ถ้าเราไม่ลงไปผมคิดว่าไม่น่ามีประเด็นเท่าไหร่
จริงๆ แล้ววิ่งซิตี้รันในกรุงเทพฯ เหมาะกับใคร
เหมาะสำหรับทุกคนนะ ถ้าถามผม เพราะว่าถ้าคุณวิ่งแค่แถวๆ บ้าน คุณก็เห็นแหละว่าแถวบ้านคุณมีอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นซิตี้รันคือ ถ้าคุณไม่ได้วิ่งเยอะ คุณวิ่งแถวบ้านเอา ลองเข้าไปในซอกซอยที่ไม่รู้จัก ก็จะเจออะไรใหม่ๆ มีคลอง มีปลา บางที่ยังมีปลาเสือพ่นน้ำอยู่ ซิตี้รันถ้าคุณอยากรู้อะไร เหมือนเดินนั่นแหละ ก็จะมองเห็นบ้านเมืองของตัวเอง แถวบ้านรอบบ้านตัวเอง ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ปกติคนทั่วๆ ไปไปวิ่งงานสิบโลฯ ขับรถไป วิ่งเส้นนี้ปั๊ป กลับบ้าน เห็นอะไรบ้าง เห็นวอเตอร์สเตชั่น เห็นซุ้มอาหาร ตรงไหนมันต่างกับงานอื่น แย่งกันอีก ไปถึงให้ไปรอ ร้อนก็ร้อน คนก็เยอะ ตื่นก็เช้า ผมไม่ได้แอนตี้งานนะ แต่ว่าเราก็เลือกงานหน่อย แต่ถ้าเราวิ่งงานได้ วิ่งซิตี้รันก็วิ่งได้ ให้เวลากับตัวเองได้ด้วย ถ้าคุณไปวิ่งคนเดียวก็มีเวลากับตัวเอง มองโน่นมองนี่ คิดไปคิดมา ถ้าไปวิ่งกันสองคน ก็โอเคมีคนคุย ถ้าวิ่งกลุ่มใหญ่ๆ ก็ลำบากหน่อย คุยไม่ถึง
เหมาะกับทุกคนแหละ ถ้ารักที่จะมองเห็น
นอกนั้นก็เปิดใจให้กว้างๆ ต้องบอกว่าอย่าไปตัดสินคนอื่นว่าเขาผิดในสิ่งที่เขาทำ เวลาที่เราวิ่งไปเราเห็น อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ บริบทต่างกันความผิดก็ต่างกัน นอกจากผิดจะๆ บางทีก็อาจจะหงุดหงิดได้ แต่บางทีไม่ใช่ เขาทำอย่างนั้นอยู่แล้ว คุณอาจจะไม่เคยเห็น คุณไปตัดสินไม่ได้ว่าเขาผิด เหมือนที่บอกว่า เขามาปิดเขาอาจจะรู้สึกว่าตรงนี้เป็นบ้านเขา เขารู้สึกอย่างนั้น เขาไม่ยินดีให้คนแปลกหน้าผ่านตรงนั้น เขาอาจะรู้สึกไม่ปลอดภัยที่คนแปลกหน้าผ่านตรงนั้นก็เป็นไปได้ เราต้องเคารพเขา
ฉะนั้นก็อย่าไปตัดสินใจเวลาที่เราวิ่ง มองเปิดกว้าง ตรงนี้สวย ตรงนี้น่าสนใจนะ มีป้ายทั่วกรุงเทพฯ นะ ป้ายที่จะบอกว่าตรงนี้คืออะไร อ่านเข้าไปครับ มีบอกหมด จรัญสนิทวงศ์ยาวกี่กิโลฯ 11 กิโล มีป้ายบอกอยู่ปลายทาง สร้างโดยใคร เมื่อไหร่ ชื่อเดิมคืออะไร
เมืองอย่างกรุงเทพฯ จะยกระดับอย่างไรให้เหมาะสมกับการเดินหรือวิ่งมากกว่าที่เป็นอยู่
เส้นทางหลักๆ เหมาะอยู่แล้ว บางส่วนทางการอาจจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ชาวบ้าน ให้ความรู้ชุมชน ว่าบางทีมันอาจจะมีลักษณะนี้เข้ามานะ ชุมชนก็จะมีโอกาสอย่างอื่นมากขึ้น แนะนำเขาในเรื่องของสุขลักษณะ แล้วก็ป้ายที่ชัดเจน ผมเจอทางตันบ่อยมาก เพราะว่าตัวบ้านเมืองเราสวยอยู่แล้ว สู้ได้สบายกับที่อื่น เส้นทางบางเส้นสวยกว่าต่างประเทศ คลองทำยังไงให้สะอาด
ประเด็นของผมอย่างหนึ่งคือ เรื่องคลองกับฟุตบาท คลองเราสามารถวิ่งเลาะคลองได้ทั่วกรุงเทพเลยนะ เส้นคลองผดุงกรุงเกษมสวยมาก ฟุตบาทกว้าง สวย วิ่งได้เรื่อยๆ สะพานข้ามคลองผดุงที่เป็นเขียวๆ คือถ้าเราวิ่งตามเส้นคลอง ข้อแรกรถมันไม่ได้พลุกพล่านจนควันเยอะจัด ก็จะวิ่งง่าย ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาในส่วนนี้ แล้วก็มาเรื่องของป้ายที่ชัดเจน มีการบอกแนะนำบางส่วน เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้คน เขาก็จะได้ใช้เวลากับตรงนั้นด้วย เห็นป้ายก็เหมือนเป็นที่พัก หยุดอ่านเสียหน่อย
ฟุตบาทยังไงก็คงต้องทำ อีกอย่างคือมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งบนฟุตบาท หรือบางที่วิ่งไปวิ่งได้ แต่ขากลับจะมีอะไรมากั้นแล้ว เพราะเขาบอกเขาจะใช้ที่ เราต้องวิ่งอ้อมลงฟุตบาท เอ๊ะใช่เหรอ ชื่อก็บอกว่าฟุตบาท แล้วก็เรื่องต้นไม้ริมทางที่มักโดนตัดโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้รับเหมาที่ตัดจนเหี้ยน ถ้ามีรุกขกรมาช่วยดูแลน่าจะทำให้ภูมิทัศน์สวยขึ้น จะได้เป็นการตัดแต่งต้นไม้ไม่ใช่ตัดทิ้ง