19/10/2020
Life
ประท้วง-ช่วงชิง-เกทับ คุยกับธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่องพื้นที่การชุมนุมและการเมือง
กรกมล ศรีวัฒน์
การเมืองของมวลชนดูคุกรุ่น ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ประเด็นรุดหน้าไปอย่างที่หากมองย้อนอาจจะไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ยามบ่ายของวันหนึ่ง ในวันที่สนามหลวงยังไม่มีอีกชื่อว่าสนามราษฎร เรามีนัดกับธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกเรื่อง ‘พลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร’ เพื่อพูดคุยในเรื่องพื้นที่ของเมืองกับการชุมนุม การช่วงชิงอำนาจในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงหมุดคณะราษฎร
(1) ประท้วง
Q: สังเกตว่าช่วงที่ผ่านมาการชุมนุมเริ่มเกิดบ่อยครั้งขึ้นและมักเข้ามาเสนอข้อเรียกร้องในเมือง ทำไมเป็นเช่นนั้น
มีปัญหาที่ชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วทำไมเขาต้องมาเรียกร้องในเมืองแบบนี้ใช่ไหม ถ้าพูดอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าไม่มีการเรียกร้องหรือชุมนุมในพื้นที่ที่เป็นปัญหาเลย แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ อย่างไรก็ดี ถึงจุดหนึ่งก็จะต้องมีการชุมนุมในเมืองด้วย อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ คิดว่ามันไม่ได้มีประเด็นซับซ้อนมากไปกว่าเรื่องที่ว่าการชุมนุมเรียกร้องอะไรบางอย่าง นั้นจำเป็นต้องเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง คือต้องให้สาธารณชนรับรู้ว่ามีประเด็นนี้อยู่ เป็นปัญหาที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยากจะส่งเสียง
พื้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวรองรับในเชิงกายภาพก็จริง แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ที่บรรจุคน มันมีบทบาทอย่างอื่นด้วย พื้นที่การชุมนุมจะต้องเป็นที่ๆ คนเห็นได้ในวงกว้าง ในหลายกรณี พื้นที่ที่คนไปชุมนุมอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพื้นที่ที่เป็นต้นตอของปัญหาเลยก็ได้ แต่มันก็จะมีความสำคัญในแบบอื่น เช่น มันเป็นพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หรือว่าอยู่หน้าโรงงานอะไรสักอย่างที่เขาจะไปประท้วง ซึ่งพื้นที่พวกนี้มันอยู่ในเมือง คนก็ไม่ได้ไปประท้วงเรื่องป่ารอยต่อในป่าใช่ไหม
Q: ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะสะท้อนว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่มาจากเมืองด้วยไหม
มันก็ขึ้นอยู่ว่าเรื่องนั้นคนที่ต้องจัดการมันอยู่ที่ไหน หน่วยงานที่ต้องจัดการอยู่ที่ไหน เรื่องมันใหญ่ขนาดไหน ถ้าคุณต้องการที่จะประท้วงโรงงานก. ที่อยู่ในอำเภอข. คุณก็อาจจะไปประท้วงหน้าโรงงานนั้น มันก็อาจไม่จำเป็นต้องไปประท้วงที่กรุงเทพฯ ก็ได้ แต่ถ้าหน่วยงานที่คุณต้องสื่อสารเรื่องนี้ด้วยมันอยู่ในเมือง มันก็ต้องมาในเมือง หรืออาจจะต้องทั้งสองแบบประกอบกัน คือที่พูดมานี้ ไม่มีหลักวิชาการอะไรรองรับหรอกค่ะ ก็คิดไปตามเหตุผลที่น่าจะเป็น เราย่อมไม่เรียกร้องโดยที่ไม่ให้ใครได้ยิน คนต้องได้ยินข้อเรียกร้องของเรา แล้วที่ไหนล่ะที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ก็ต้องเป็นในเมือง
Q: พื้นที่สาธารณะในเมืองที่จะเป็นพื้นที่ชุมนุมก็ค่อนข้างเป็นปัญหา
ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะคือความเข้าใจเรื่องพื้นที่สาธารณะของคนในสังคมไทย ทุกคนไม่น่าจะเข้าใจอย่างเดียวกันหมด ทุกคนอาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน คุณลองไปพูดกับคนแก่ๆ เขาพูดถึงสิ่งต่างๆ ในประเทศนี้ที่ไม่ใช่ของส่วนตัวว่ามันเป็น “ของหลวง” คงเคยได้ยินคำว่า “ของหลวง” หรือหนักไปกว่านั้นคือ “ของหลวงท่าน” ซึ่งหมายถึง “ของราชการ” นะคะ การที่ใครสักคนบอกว่าตรงนี้เป็นของหลวง เขาไม่ได้กำลังหมายความว่ามันเป็นของรัฐที่แปลว่าเป็นของส่วนรวมที่ฉันมีส่วนร่วมในการเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
เราคิดว่าเซนส์เรื่องพื้นที่สาธารณะสำหรับคนไทยเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ เวลาเราพูดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ตรงนี้เป็นของหลวง คล้ายๆ กับว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน แต่จริงๆ มันควรจะเป็นอันเดียวกัน เพราะว่าของหลวงกับของราชการมันก็ดำรงอยู่และได้รับการบำรุงด้วยเงินจากภาษีที่ประชาชนที่เสียเข้าไปให้รัฐบริหาร แต่ในความเข้าใจของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ พอพูดว่าของหลวงปุ๊ปเหมือนมันแบบมีความชนชั้นเกิดขึ้น อย่างที่กล่าวว่าเรื่องพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ พอค่อนข้างใหม่เราก็เข้าใจไม่ตรงกันก็จะงงๆ ว่าใช้พื้นที่ตรงนี้ได้หรือไม่ ปัญหาแบบนี้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้คิด คนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีเซนส์ว่าการเป็นพื้นที่สาธารณะแปลว่าเป็นของที่ฉันห้ามใช้ เรากลับรู้สึกไปอีกทางว่าเพราะว่าเป็นของสาธารณะไง แปลว่า public ต้องมีสิทธิ์ใช้งานต่างๆ
Q: สมัยก่อนไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิด หรือมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ทำไมเซนส์ของการเป็นของหลวงถึงเข้มแข็งมาก
คนกลัวข้าราชการ ยิ่งต่างจังหวัด ข้าราชการก็จะยิ่งดูเป็นอะไรที่น่าเกรงขาม มีอำนาจมาก การได้เป็นข้าราชการมันคือการเลื่อนสถานะอย่างหนึ่ง สมมติเราเป็นลูกชาวบ้านเรามีโอกาสเรียนหนังสือ ถ้าคุณสอบเป็นข้าราชการได้มันคือแบบ โห มันเปลี่ยนสถานะคุณไปอย่างเยอะ ดังนั้นในระบบราชการเองก็ค้ำจุนความคิดในเชิงชนชั้นทางสังคมอยู่ค่ะ ข้าราชการในยุคหนึ่งซึ่งวนกลับมาในยุคนี้ถึงชอบเบ่งใส่ประชาชนเพราะคิดว่าเขาไม่ได้รับใช้ประชาชน แต่ว่าเขาอยู่ในสถานะที่ถ้าคุณไปที่ว่าการอำเภอแล้วแบบยกมือไหว้ “สวัสดีค่ะ” นายอำเภอทำเสียงดังใส่ ยิ่งถ้าไปต่างจังหวัดเรื่องพวกนี้ก็ยิ่งเห็นชัด
เวลาไปติดต่อราชการมันจะยากๆ หรือว่าเราต้องพินอบพิเทา แล้วเราลองนึกถึงลุงป้าตายายชาวบ้านที่ต้องมาติดต่อธุระ ยิ่งคนสมัยก่อนเวลาพูดถึงราชการมันเป็นท่าน แล้ววิธีคิดแบบนี้ก็ยังอยู่ ถึงแม้ว่าความคิดของคนร่วมสมัยจะเปลี่ยน มันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ หรือว่ามันค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในเมืองด้วยซ้ำเอาจริงๆ ต่างจังหวัดไกลๆ ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ในระดับที่มากกว่า
Q: ทำไมการชุมนุมถึงดูเป็นเรื่องเลวร้าย
โอ๊ย มันก็น่าจะถูกมองอย่างนั้นมาตลอด เพราะใครก็อยากอยู่สงบๆ ใช่ไหมคะ ในสังคมไทย ความไม่วุ่นวายอะไรต่อมิอะไรเป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญมาก เหมือนเป็นเรื่องเซนซิทีฟที่เราจะต้องได้อยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย
คนไทยถูกปลูกฝังมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘ความสามัคคี’ ‘เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’ ‘ความรัก’ ฯลฯ คือทั้งหมดถามว่ามันแย่โดยตัวมันเองไหม เป็นคอนเซปต์ที่แย่ไหม เราไม่อยากให้คนสามัคคีกันเหรอ ชอบให้คนเอาเก้าอี้ฟาดใส่กันเหรอ ก็เปล่า แต่วิธีคิดของคนไทยแบบนี้ที่ถูกหล่อหลอมมาตลอด เป็นร้อยปีของการปลูกฝังก็ทำให้เรื่องของความขัดแย้งหรือการโต้เถียงเป็นเรื่องยาก เพราะเราเป็นหมู่ชนที่ไม่ชอบเผชิญหน้า พอเราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เราก็อยู่เงียบๆ หรือว่าปล่อยๆ มันไป เพราะว่าเราเลือกที่จะรักษาความสงบ แต่ไม่ได้แปลว่าปัญหาจะถูกแก้ หรือปัญหาจะหายไปด้วยการทำอย่างนี้ ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาสักอย่างในสังคม ไม่ว่ามันจะสเกลใหญ่เป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศนี้ว่าจะไปทางไหน หรือปัญหาที่เล็กกว่านั้น ก็ต้องถูกเอาออกมาพูดถึงกัน ทีนี้เมื่อมีการนำออกมาพูดกันมันก็ต้องเกิดความขัดแย้ง แล้วพอเกิดความขัดแย้งปุ๊ปคนก็จะรู้สึกไม่ comfortable ยิ่งเราไม่ชอบเผชิญหน้า เราก็ยิ่งไม่มีสกิลในการจะดีเบทอะไรกับใคร เมื่อทัศนคติแบบนี้ครอบงำคนส่วนใหญ่ในสังคม ชาวไทยเหล่านี้รักสงบ มันก็เลยทำให้เกิดการมองว่าการประท้วงเป็นเรื่องที่ไม่ดี หลายคนไม่ได้คิดว่าการประท้วง การชุมนุมเป็นสิทธิที่กระทำได้และพึงกระทำ
หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ลองนึกถึงประเทศฝรั่งเศสเอะอะสไตรค์ๆ เงินเดือนของคนขับรถเมล์ไม่ขึ้น สไตรค์ คือการประท้วงมันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการต่อรอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรสักอย่าง ให้ปัญหาได้รับการแก้ไข คนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอยู่ในมือจะเรียกร้องผ่านช่องทางอะไรได้บ้าง ถ้าเรื่องมันหนักหนา ถ้ามันมีคนจำนวนมากที่เห็นพ้องต้องกัน ถ้าไม่ประท้วงเราจะทำอะไร ทำไมการประท้วงถึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จริงๆ คนจำนวนมากก็เห็นเหมือนกันนะว่าประเทศนี้มีปัญหา มันไม่โอเค แต่เพราะว่าเขามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการประท้วง เขาเลยแบบ “ฮูย การไปชุมนุมประท้วงนี่เป็นเรื่องที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน”
อยากจะยกตัวอย่างเช่นสมัยเรียนอยู่ที่อังกฤษ มหาวิทยาลัยที่อยู่ติดกันคือ SOAS (School of Oriental and African Studies, University of London) จะสไตรค์บ่อยมาก นักศึกษาและอาจารย์ทั้งหลายที่อยู่ในนั้นพากันสไตร์คหยุดงาน แล้วเราอยู่มหาลัยข้างๆ ซึ่งต้องพึ่งห้องสมุดของ SOAS ก็จะเข้าไปยืมไม่ได้ ถามว่ายุ่งยากกับชีวิตไหม ยุ่งยาก แต่เข้าใจไหม เข้าใจ เพราะว่าการประท้วงคือการทำให้สถานการณ์ต่างๆ ผิดไปจากปกติ ชีวิตมันต้องยากขึ้น ถ้าการประท้วงของคุณไม่ทำให้ชีวิตใครยากขึ้นเลย คุณก็กดดันอะไรใครไม่ได้ คนขับรถเมล์บอกฉันจะไม่ออกมาขับรถเมล์ จะไม่มีรถเมล์วิ่งไปเป็นเวลาสองเดือน โห คนเดือดร้อนมากนะ แต่ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในระดับหนึ่ง แล้วเราจะกดดันให้คนอื่นฟังปัญหาของเราได้ยังไง แต่นี่เป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจ เรามักจะรู้สึกว่าทำไมต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย ทำไมต้องสร้างผลกระทบให้กับคนอื่นด้วย แต่พ้อยท์มันอยู่ตรงนั้น คือคุณต้องสร้างผลกระทบที่นำไปสู่การกดดัน คุณต้องฟังคนขับรถเมล์ จากสหภาพคนขับรถเมล์ประจำเมืองปารีส ไม่ยังงั้นคนทั้งเมืองจะไม่มีรถเมล์ขึ้นนะ มันคือการต่อรอง
อย่างทุกวันนี้ผู้หญิงไทยมีสิทธิลาคลอด 90 วันก็เพราะภาคแรงงานร่วมกับภาคประชาสังคมออกมาประท้วง แม่ทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิลาคลอด 3 เดือนก็เพราะว่าคนประท้วง คุณไม่อยู่ๆ ก็ได้มาในสิ่งที่คุณเรียกร้อง แต่ว่าคุณต้องสู้เพื่อให้ได้มันมา มีคนท้องที่กรีดเลือดประท้วง ตอนนั้นเราก็เด็กๆ อยู่จำไม่ได้หรอก แต่ว่ามันมีข่าวที่กลับไปดูได้ คุณไม่ได้อะไรมาจากการร้องขอเฉยๆ ถ้าคุณไปนั่งเย็บปักถักร้อยหน้าทำเนียบมันก็ยาก
การประท้วงจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อนไป ในทิศทางต่างๆ ที่คนในสังคมเห็นว่าเขาอยากจะไป แน่นอนว่าเราไม่ได้ทุกอย่างที่เราประท้วง หรือบรรลุข้อเรียกร้องทุกข้อของทุกกลุ่ม บางอย่างมันอาจจะไม่เมคเซนส์ก็ได้ แต่นั่นคือสิ่งที่สังคมต้องมาหาทางออกร่วมกัน กลไกสำคัญก็คือรัฐต้องมารับฟังสิ่งนี้ การประท้วงนี่เป็นขั้นเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเจรจา แก้ปัญหา หาทางออกที่ทุกฝ่ายจะพอใจ
ถ้าคุณไม่มีการประท้วงมันก็ยาก ยิ่งกับรัฐบาลที่ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว คุณจะใช้วิธีส่งจดหมายไปที่ทำเนียบมันไม่เกิดอะไรขึ้น ก็ต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างที่ทำให้ข้อเรียกร้องของคุณเสียงดังขึ้น มีอิมแพ็ก “เนี่ย ทำไมต้องชุมนุมล่ะ ชุมนุมเดี๋ยวรถก็ติด” แต่ถ้าการประท้วงไม่มีผลกระทบกับชีวิตใครเลยก็จะไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครรู้สึกกดดันว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรงต้องมาแก้กัน ดังนั้น เหตุผลอีกอย่างที่เขาไม่ไปชุมนุมในทุ่งนาป่าเขาก็เพราะว่าการชุมนุมนั้นต้องมีผลกระทบต่อชีวิตคนอื่น
(2) ช่วงชิง
Q: ปัจจุบันสนามหลวงถูกจำกัดการใช้ให้มีประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นการช่วงชิงทางกายภาพที่สะท้อนอะไรรึเปล่า
ก็ช่วงชิงกันไปมานะคะ ถามว่าสนามหลวงเริ่มต้นเนี่ย ใครเป็นคนใช้พื้นที่อันนี้ก็เป็นเรื่องราชพิธีกับรัฐพิธี แล้วก็คนทั่วๆ ไปสามัญก็ใช้ มีการชิงกันไปชิงกันมาระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการใช้พื้นที่คล้ายๆ กับหลายๆ จุดที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์
สนามหลวงเดิมใช้ชื่อทุ่งพระเมรุ อ้างอิงไปถึงพระราชพิธีที่จัดขึ้นที่สนามหลวงคืองานพระเมรุซึ่งก็คืองานศพของชนชั้นนำ อันได้แก่ พระมหากษัตริย์แล้วก็สมาชิกในราชวงศ์ นั่นก็คือบทบาทดั้งเดิม แล้วก็เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอื่นๆ อีกด้วย รวมทั้งพิธีที่เป็นรัฐพิธี ต่อมาในสมัยคณะราษฎรจึงมีการใช้สนามหลวงจัดพิธีศพให้กับสามัญชนเป็นครั้งแรกจากกรณีกบฏบวรเดช
หลังจากนั้นก็มีการใช้สนามหลวงในฐานะตลาด เป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นพื้นที่ที่สามัญชนเข้ามาใช้ได้ สนามหลวงเคยเป็นทั้งพื้นที่ที่สามัญชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับการเป็นพื้นที่ที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง เหมือนกับในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษก็มีการชุมนุมในสวนสาธารณะขนาดใหญ่คือไฮด์ปาร์ก สนามหลวงก็มีฟังก์ชันแบบนั้น เป็นที่ชุมนุมในการเมือง เป็นที่ปราศรัย เป็นที่รวมตัวของคน
เพิ่งจะเป็นช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้เองที่บทบาทในฐานะพื้นที่สาธารณะที่คนมาชุมนุมได้ของสนามหลวงหายไป เพราะว่าสนามหลวงถูกปิด ตอนแรกด้วยเหตุผลว่าต้องการจะปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วก็ค่อยๆ มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ตามหลังมาจนทำให้สนามหลวงไม่สามารถใช้เป็นพื้นที่ของการชุมนุมได้อีก มีการล้อมรั้ว หมายความว่าไม่ได้มีแค่ตัวกฎระเบียบ แต่ว่ามีกายภาพที่เปลี่ยนไปด้วยคือมีรั้วมาล้อมอยู่รอบๆ แล้วก็มีป้ายอยู่ตามจุดต่างๆ ซึ่งได้ข่าวว่าป้ายที่ว่านี่หายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินไปดูว่าหายไปจริงๆ ไหม พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่สำหรับการชุมนุมก็หายไป การหายไปของสนามหลวงในการชุมนุมมันเป็นก้อนที่ค่อนข้างใหญ่เพราะแต่ไหนแต่ไรมาคนจะไปชุมนุมที่สนามหลวง ทีนี้พอสนามหลวงหายไปคนก็ต้องไปใช้สถานที่อื่น ซึ่งพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพที่จะไปทำอะไรๆ ได้มันมีน้อยนะคะ
ตัวเลือกอีกตัวหนึ่งคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งก็จะมีการปิดกั้นด้วยด้วยมาตรการต่างๆ มีแม้กระทั่งเอากระถางต้นไม้ดอกไม้ไปตั้ง มันไม่ได้ดูคุกคามเมื่อเทียบกับรั้ว หน้าตาอาจจะไม่ได้ดูขึงขังอะไรขนาดนั้น แต่นั่นก็เป็นวิธีการอีกอันที่รัฐทำให้การเข้าไปใช้พื้นที่ทำไม่ได้หรือทำได้ยากขึ้น การปรากฏขึ้นของกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ นั้นมีสิ่งอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมเข้ามาส่งเสริม หรือเป็นส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์นั้นด้วยเพื่อมาป้องกันไม่ให้คนเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการล้อมรั้ว การเอากระถางต้นไม้ ดอกไม้ไปวาง กลายเป็นว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยาก
อีกที่ที่คนมักจะไปกันก็คือลานหน้าหอศิลป์กทม. ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่ แล้วก็พอออกกฎห้ามชุมนุมสาธารณะที่มีเรื่องห้ามเข้าเขตพระราชฐานเกินกี่เมตรก็ทำให้ตรงนั้นยากอีก เพราะว่าอยู่ใกล้วังสระปทุม รัฐมีมาตรการต่างๆ นานาที่ออกมาเพื่อทำให้การชุมนุมของคนในเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถามว่ามันจะมีคนที่ฝ่าฝืนพรบ.การชุมนุมไหม เราก็เห็นมาโดยตลอดว่ามีการฝ่า มันก็ยังมีการสู้กันอยู่ระหว่างคนที่อยากจะชุมนุมกับฝ่ายที่ไม่อยากให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นโดยกระทำผ่านการควบคุมพื้นที่สาธารณะต่างๆ
Q: ทำไมพื้นที่ในเมืองมีส่วนสร้างความทรงจำทางการเมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท
มันก็เป็นผลพวงของการเกิดขึ้นของกิจกรรมเหล่านี้ พอคุณมีกิจกรรมอะไรสักอย่างในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง กิจกรรมที่ว่าก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตรงนั้น เมื่อมีการเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็กลายเป็นความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ มันก็แล้วแต่ความสำคัญของพื้นที่ด้วยว่าเคยมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นที่นั่นบ้างและเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
บางพื้นที่อาจจะเป็นพื้นที่เชิงความทรงจำที่เข้มข้นกว่าที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใครๆ ก็ไปใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่การชุมนุม 14 ตุลาไล่มาจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มคนที่เข้าไปใช้ก็หลายกลุ่ม หลายๆ กลุ่มก็ขัดแย้งกันเองด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือเสื้อเหลือง กับเสื้อแดง ทั้งสองฝั่งนี้มีเวอร์ชั่นของประชาธิปไตยคนละแบบ แต่ว่าทั้งสองกลุ่มก็เข้าไปใช้งานพื้นที่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นความทรงจำของการชุมนุมที่เกิดขึ้นรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเข้มข้นมากกว่าที่อื่นๆ เพราะมันเป็นผลพวงของการทับถมกันของกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งทุกกลุ่มล้วนมีคำอธิบายที่จะเอาตัวเองไปผูกกับพื้นที่ได้อย่างไร
ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลย อย่างพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์กทม.เองก็เป็นพื้นที่ใหม่เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ แต่ทุกวันนี้เราก็จะนึกถึงมันในฐานะพื้นที่ของการชุมนุมอันหนึ่ง และมันก็เกิดพื้นที่แบบใหม่ๆ ขึ้นมาโดยที่พื้นที่ที่ว่านั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่ต้นก็ได้ อย่างราชประสงค์ก็เป็นย่านการค้า เป็นย่านธุรกิจเต็มไปด้วยห้าง ความทรงจำทางการเมืองมันงอกมาทีหลัง เพราะว่ามีคนไปใช้งาน หรือว่ามีเหตุการณ์บางเหตุการณ์เกิดขึ้นที่นั้นแล้วตามมาด้วยการใช้งานของคนที่สืบเนื่องกับเหตุการณ์ที่ว่ามานั้น
Q: การเลือกพื้นที่ชุมนุมทำให้กระบวนการมันเข้มแข็งมากขึ้น
การเลือกพื้นที่มันต้องมีเหตุผล อย่างธรรมศาสตร์เองก็เป็นมหาวิทยาลัยที่รู้จักกันดีถึงความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง ผ่านเหตุการณ์มาหลายๆ อย่างแล้วก็เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นมรดกอันหนึ่งของคณะราษฎรด้วย มีประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่แล้วภายในมหาวิทยาลัยเอง โดยเฉพาะ 6 ตุลา แล้วมันก็อยู่ใกล้กับสนามหลวงอันเป็นพื้นที่ใหญ่อีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการช่วงชิงกันมาตลอดระหว่างอุดมการณ์กษัตริย์นิยมกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร
ตั้งแต่มีคณะราษฎรมาในปีพ.ศ. 2475 เราจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านเกาะรัตนโกสินทร์นั้นมีอะไรเกิดขึ้นเยอะมาก มีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือมีนัยยะที่สื่อถึงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ มันก็เป็นพื้นที่ของการช่วงชิงเชิงอำนาจ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่าคณะราษฎรไม่ได้สร้างอะไรที่อื่นเลย เราก็เห็นว่ามีที่ลพบุรีและอีกเยอะแยะมากมาย แต่ว่าเกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่สำคัญ เพราะว่าเป็นพื้นที่ของเจ้ามาก่อน เมื่อคุณต้องการนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่เข้ามาแทนที่ของเดิม คุณก็ต้องทำในนี้แหละ มีความทับซ้อนกันของการต่อสู้ทางการเมืองเป็นระลอกๆ อยู่ภายในพื้นที่นี้
ธรรมศาสตร์ก็อยู่ในพื้นที่ที่เป็นเหมือนจุดยุทธศาสตร์อันหนึ่งในเชิงการเมือง ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีขนาดใหญ่กว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรเท่านั้น แต่เพราะว่าประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์เอง ที่สำคัญ ธรรมศาสตร์อยู่ติดกับอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งก็มีประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันคือ 6 ตุลาอย่างเข้มข้นไม่แพ้กันอย่างสนามหลวงอีก
มองว่าตั้งแต่สมัยคณะราษฎรจนมาถึงปัจจุบัน การชิงกันระหว่างสองเวอร์ชั่นของประชาธิปไตยที่ปรากฏในพื้นที่ในกรุงเทพนั้นยังดำเนินอยู่ ยังไม่จบ ลองนึกถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมที่เกิดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ส่งผลกระทบกับการจัดผังเมืองใหม่ของรัชกาลที่ 5 ที่ขยายเมืองไปสู่ตำบลดุสิต จากเดิมพระบรมมหาราชวังจะอยู่ตรงวัดพระแก้ว พอคุณขยายเมืองไปตรงนู้น เกิดสถาปัตยกรรมแบบใหม่ มีวังใหม่ มีพระตำหนักใหม่ มีพระที่นั่งใหม่แบบตะวันตกขึ้นมา เมืองก็ขยายตัว แล้วพื้นที่เชิงการเมืองที่สำคัญกับสถาบันกษัตริย์ก็มีเพิ่มขึ้นมาด้วย พื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นมาในสมัยนั้นก็คือพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรงรับอาคันตุกะต่างบ้านต่างเมือง พอถึงยุคคณะราษฎร พระที่นั่งอนันตสมาคมก็กลายเป็นรัฐสภาแห่งแรก เกิดการเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ใช้สอยโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ภายใต้อุดมการณ์ทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง พอมาอีกยุคหนึ่ง พระที่นั่งอนันตสมาคมกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนเข้าไปเที่ยวได้ มีนิทรรศการศิลป์แผ่นดิน เราเข้าไปเที่ยวในวังได้เหมือนคุณไปเที่ยวฝรั่งเศสแล้วไปเที่ยวพระราชวังแวร์ซายส์ จ่ายค่าตั๋วแล้วคุณก็ได้เข้าไป แล้วพอถึงจุดหนึ่งก็อ้าว เข้าไม่ได้แล้วนะ ตอนนี้พระที่นั่งอนันตสมาคมไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับการหายไปของหมุดคณะราษฎรที่เคยอยู่บนพื้น อยู่บนถนนที่อยู่หน้าพระที่นั่งฯ สองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายในปีเดียวกัน หมุดฯ หายไปตอนต้นปีแล้วปลายปีพระที่นั่งฯ ก็ปิด
สัญลักษณ์หรือมรดกของคณะราษฎรค่อยๆ ถูกเอาออกหรือหายไปจากพื้นที่ภายในเมือง สนามหลวงก็เหมือนกัน จากที่เคยมีหน้าที่ใช้สอยแบบสามัญก็ถูกเรียกคืน เราอาจจะมองมันเป็นภาพใหญ่ก็ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีพื้นที่ย่อยๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง แล้วเรายังเห็นการพยายามช่วงชิงกันอยู่ ถ้าเป็นประเทศที่เรื่องมันจบแล้ว หมายถึงว่าเป็นมติเอกฉันท์ไปแล้วว่าประเทศนี้จะปกครองด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน ก็จะไม่ชิงกันไปมาในสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ ในประเทศฝรั่งเศส แวร์ซายส์จะไม่กลับไปเป็นที่อยู่ของราชวงค์บูบง เมื่อวังกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วมันก็กลายเป็นแบบนั้นไปเลย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น มันยังไม่จบ
Q: แล้วมันจะ…
ก็ยังต้องต่อสู้กันไปอยู่ เราก็ไม่สามารถทำนายในอนาคตได้ว่าจะเป็นยังไงกันแน่ แต่ก็ที่ยังเป็นอยู่คือยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชนะอย่างเด็ดขาด เพราะว่าถ้ามันเด็ดขาดไปแล้วตอนนี้ไม่มีคนออกมาประท้วงหรอก ที่มีคนออกมาประท้วงเพราะว่าคนจำนวนมากก็ไม่ได้ต้องการแบบนั้นไง ฉะนั้นก็เลยยังต้องสู้กันไป ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เราเห็นผ่านพื้นที่เมืองก็เป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ
(3) เกทับ
Q: อย่างที่เกริ่นมาข้างต้นเรื่องของการรื้อถอนพื้นที่หรือกระทั่งหมุดคณะราษฎร อันนี้ถือเป็นการรื้อถอนพื้นที่ความทรงจำด้วยไหม
มันให้ผลในทางกลับ สำหรับการหายไปของวัตถุบางอย่างในทางกายภาพ แน่นอนว่ามันสัมพันธ์กับการลืม พอเราไม่เห็นนานๆ เราก็ลืมไปถูกไหมคะ แต่การจะทำให้คนลืมอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา คือไม่ใช่ว่าคุณเอาของออกไปวันนี้แล้วคนจะลืมเลยว่าเคยมีสิ่งนี้อยู่ในโลก ฉะนั้นอย่างแรกเกี่ยวกับการทำลาย รื้อ เอาออกของวัตถุที่มีความทรงจำฝังอยู่เหล่านี้เราไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องของทำลายความทรงจำโดยตรง
การลืม การจำไม่ได้ การทำลายความทรงจำเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาของการกระทำอันนี้ แต่วัตถุประสงค์หลักอาจจะเป็นการเคลมพื้นที่คืนมากกว่า มันคือการเหมือนมาเกทับเชิงสัญลักษณ์ อธิบายอย่างง่ายๆ ว่าคือการแสดงว่าฉันชนะแก หรือว่าฉันเหนือกว่าแก คือเวลาเราชนะอะไรสักอย่าง เราก็จะเอาสิ่งใดๆ ก็ตามของคนที่แพ้เราออกไป นั่นเป็นวิธีที่คนเราแสดงอำนาจ ความเหนือกว่า แต่ผู้ชนะก็ไม่รู้ว่าชนะนานแค่ไหน อาจจะมีการกลับไปกลับมาก็ได้ เหมือนอย่างอดีตที่เคยกลับไปกลับมามาก่อน
ถามกลับว่าการทำลายทำให้ของพวกนี้หายไปจากความทรงจำของคนจริงไหม หรือยิ่งกลับทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นที่รับรู้มากขึ้น ยิ่งในสถานการณ์การเมืองที่กำลังเข้มข้นแบบนี้ คนยิ่งพูดถึงอดีตกันมาก วัตถุหรือสิ่งก่อสร้างพวกนี้กลับมามีบทบาทในบทสนทนาในชีวิตประจำวันจากที่เมื่อก่อนนั้นไม่ค่อยมี ความสนใจยิ่งไปจับจ้อง พอมีคนมาเอามันออกไป แน่นอนว่าคนจะยิ่งจับตามอง แล้วคนก็จะยิ่งพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ถ้าคนรู้สึกว่ามันสำคัญ คนก็จะผลิตคำอธิบาย ผลิตภาพ ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เต็มไปหมด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรื่องของการทำ archive อย่างเดียวก็ได้ หมายถึงว่าไม่ต้องเป็นเรื่องของบันทึก ภาพถ่ายเก่า หรือความทรงจำของฉันที่ได้ไปเดินผ่านหมุดฯ นี้มาหรือเรื่องของหมุดนี้เฉยๆ แต่ว่ามันมีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งคือการแปรรูปไปสู่วัตถุอื่นๆ คุ้กกี้รูปหมุดฯ มีไปถึงการจัดจานสลัดให้เป็นรูปหมุดคณะราษฎร กลายเป็นว่าไอ้วัตถุที่หายไปดันแตกแขนงไปสู่วัตถุอื่นๆ
คนอาจจะไม่มีปัญญาไปตามหาได้ว่าหมุดที่ถูกถอดหายไปอยู่ที่ไหน อาจจะถูกทำลายไปแล้วก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่ว่าก็มีวัตถุอื่นๆ ที่สร้างกันขึ้นมาแบบอย่างเยอะแยะเต็มไปหมดเลย แล้วใครทำก็ได้ ถ้าเป็น อนุสาวรีย์ รัฐมักจะเป็นผู้สร้างกลุ่มหลัก แต่วัตถุสิ่งของพวกนี้ที่พูดถึงสิ่งที่หายไปนั้น ใครทำก็ได้ ปัจเจกบุคคลคนไหนทำก็ได้ คุณไม่ต้องไปขออนุญาตใคร คุณจะทำคุกกี้รูปหมุดฯ คุณไม่ต้องไปบอกเนติวิทย์ว่า “เออ เดี๋ยวเราจะทำคุกกี้รูปหมุดฯ เวอร์ชั่นของเรานะเป็นรสชาเย็น” พอคุณไม่ต้องไปขออนุญาตใครมันก็ยิ่งแพร่กระจาย เพราะว่าทุกคนมีสิทธิที่จะทำสิ่งนี้ออกมาในเวอร์ชั่นของตัวเอง กลายเป็นว่ายิ่งขยายเข้าไปกันใหญ่ ควบคู่ไปกับการพูดถึงมันในรูปแบบอื่นผ่านข้อเขียน ผ่านวิดีโอ ผ่านอะไรต่อมิอะไร อันนี้ไม่ใช่ว่า รัฐไม่ได้ตระหนัก คือรัฐก็รู้แหละว่าการทำให้สิ่งหนึ่งหายไปมันไปเกิดใหม่ได้ในเวอร์ชั่นอื่นๆ แล้วพื้นที่โลกออนไลน์ก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญมากที่ทำให้เรื่องพวกนี้ถูกแพร่กระจายออกไป เพราะฉะนั้นเราเลยเห็นการเกิดขึ้นมาของพรบ. คอมฯ ที่เข้ามาคอยไล่จัดการว่าอันไหนบ้างที่จะเข้าข่ายข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งหลายๆ เรื่องก็ไม่ได้ดูเมกเซนส์ อันนี้เรียกว่าต้องโดนพรบ.คอมฯ เหรอ เราจะเห็นได้ว่าอำนาจรัฐพยายามจะเข้าไปในพื้นที่ที่มันไม่ใช่กายภาพ แต่ว่าเป็นโลกออนไลน์ ก็ไล่จับกันไปนี่แหละ การต่อสู้จึงอยู่ทั้งในและนอกโลกอินเทอร์เน็ต แล้วเราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ จำกัดอยู่ในโลกใดโลกหนึ่งไม่ได้ ลองนึกถึงสักปีที่แล้วที่คนก็จะแบบ “อุ้ย ทำไมพลังในทวิตเตอร์ไม่ออกมา จัดแฟลชม็อบทีนึงทำไมเวลาเราบ่นอะไรในทวิตมันดูมีคนบ่นกับเราโคตรเยอะเลย แต่พอมีการจัดชุมนุม ทำไมไม่มีคนมาวะ” สองโลกนี้มันควรจะต้องเชื่อมกัน แต่วันนี้ไม่ต้องบ่นอย่างนี้แล้ว เด็กที่เล่นทวิตเตอร์ไปชุมนุมกันเต็มเลย เพราะฉะนั้นการสัมผัสระหว่างโลกสองโลกอันนี้ก็เลยสำคัญ ไม่ต้องทิ้งอันใดอันหนึ่ง ในทางกลับกัน คนที่ออกมาชุมนุมในพื้นที่จริงๆ เขาคงมองว่าออนไลน์เป็นช่องทางการสื่อสาร การแพร่กระจายข่าว มีประโยชน์หน้าที่ในอีกแบบหนึ่ง