17/06/2021
Economy

THE POST-PANDEMIC CITY WE WANT เมืองแบบไหนที่ฉันอยากอยู่หลังโควิด

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


เรียบเรียงจากเวที TEDxBangkok: ประเทศไทยในจินตนาการ นำเสนอโดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย คุณบรรยง พงษ์พานิช และคุณพิเชษฐ กลั่นชื่น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เพื่อชวนสังคมไทยระดมไอเดียหาทางออกหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านมุมมองเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และเมือง

ขอพูดถึงสถานการณ์ปัญหา ก่อนพูดถึงความฝันหรือจินตนาการ

ดังที่ นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่า โควิด-19 เผยให้เห็นปัญหาของเมืองที่มีอยู่เดิมให้ปรากฏชัดขึ้น เช่น ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ว่า ปัญหาการแพร่ระบาดในประเทศไทยมาจาก ความอปกติปัจจุบัน หรือ CURRENT ABNORMAL ของเมือง เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาแรงงานนอกระบบ ปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกเรียกว่า สีเทา ซึ่งแรงงานในภาคเหล่านี้มีจำนวนมหาศาล และล้วนเป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเมือง แต่เมืองทำเหมือนว่าไม่มีพวกเขาอยู่ เป็นกลุ่ม INVISIBLE คือ ไม่ถูกมองเห็น หรือแย่กว่านั้นคือกลุ่ม UNVISIBLE คือ ตั้งใจจะไม่เห็น

เหตุที่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับความกระทบกระเทือนมาก เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวที่พึ่งพาการเดินทาง และเศรษฐกิจประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถขยับไปสู่ขั้นเทคโนโลยีเหมือนประเทศอื่นได้

งานวิจัยได้ทยอยออกมาชี้ว่า กลุ่มแรงงานที่มีระดับการศึกษาไม่สูงและมีรายได้น้อย เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ และมักเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการติดโรคหรือตกงาน แรงงานกลุ่มนี้คือภาพแทนของความอปกติเก่า ที่ถูกระบบกดขี่ ค่าแรง สวัสดิการ คุณภาพชีวิต เมื่อแรงงานผู้เป็นแรงงานขับเคลื่อนเมืองเหล่านี้ต้องหยุดงาน เศรษฐกิจจึงหยุดชะงักตามไปด้วย

เมือง คือ ภาชนะที่รองรับปัญหาทุกอย่าง

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองโตเดี่ยวของประเทศไทย เต็มไปด้วยปัญหาจากความอปกติเก่า ผลกระทบจึงมีความสาหัสมาก คลัสเตอร์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เกิดจากชุมชนแออัดหรือแคมป์คนงานก่อสร้าง จากข้อมูลสำนักข่าว TNN พบว่า มีแคมป์คนงานในกรุงเทพฯรวม 409 แห่ง มีจำนวนแรงงานประมาณ 62,000 คน ด้านข้อมูลจากสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร พบว่า มีชุมชนแออัดในกรุงเทพฯรวม 641 แห่ง มีประชากรราว 600,000 คน นี่คือ ระเบิดเวลากลางเมืองที่เราต้องเร่งถอดสลัก เร่งแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิต เมืองจะทำเป็นไม่สนใจ ปฏิบัติกับเขาเป็น INVISIBLE หรือ UNVISIBLE เหมือนเดิมไม่ได้ เพราะสุดท้ายคนทั้งเมืองได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากันหมด

ในระยะยาว ประเทศไทยต้องกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค สู่เมืองรองอื่นๆ ทำให้การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมเท่าเทียมกัน รวมทั้งการปรับเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การยกระดับการศึกษาและฝีมือแรงงาน สิ่งเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์หรือนักวางแผนภาคซึ่งมีความเชี่ยวชาญน่าจะพูดได้ดีกว่าดิฉัน

ดิฉันในฐานะคนทำงานเรื่องเมือง ขอพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาระยะกลางถึงระยะสั้น หากเราไม่มองสถานการณ์ในแง่ดีจนเกินไป (best case scenario) อาจเป็นไปได้ว่า เราต้องอยู่กับเชื้อโควิดไปอีก 1-2 ปี  หากสิ่งนี้คือฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น เมืองจะเตรียมพร้อมอย่างไร?

โควิดกระทบชีวิตเรา แต่เราจะอยู่กับมันอย่างไร?

หากเรายอมรับว่าเราอาจจะต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำงานอยู่กับบ้าน เรียนที่บ้านแบบ ON-LINE และ OFF-LINE สลับไปมา คำถามคือ เมืองควรทำหน้าที่อย่างไร? เมืองจะประคับประคองพวกเราอย่างไร? หากเป็นในฉากทัศน์นี้ ย่านรอบบ้าน จะมีความสำคัญขึ้นมาทันที จะทำอย่างไรที่จะให้การกักตัวที่บ้านไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต?

ตลอดปีที่ผ่าน เราจะเห็นนโยบายเชิงรุกจากเมืองอื่นๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และในเอเชีย หลายเมืองเตรียมที่จะ REMAKE หรือ REINVENT ย่านรอบบ้าน ตัวอย่างเช่น เราจะเห็นปารีสและเมืองอื่นๆ ลงมือปฏิบัติตาม แนวคิด 15 MINUTE CITY หรือ เมือง 15 นาที ซึ่งหากมองในเชิงทฤษฎีการวางผังแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สาระสำคัญคือ รอบบ้านในระยะ 15 นาที หรือ 1.5 กิโลเมตร คุณต้องสามารถเข้าถึงสาธารณูปการในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านค้า สวนสาธารณะ โรงเรียน พื้นที่การเรียนรู้ ฯลฯ ที่เชื่อมโยงด้วยทางเท้าและทางจักรยานที่มีคุณภาพ

เราจะเห็นได้ว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด การเดินทางระยะไกลจะลดน้อยลง ปริมาณจราจรลดลง มลภาวะฝุ่นควันเสียงบนถนนลดลงเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งคนไม่อยากเบียดกับผู้คนบนขนส่งสาธารณะ ในหลายเมืองพบว่า เกิดปรากฏการณ์ BIKE BOOM หรือ MICRO-MOBILITY BOOM ความนิยมจักรยานและพาหนะเดินทางขนาดเล็ก เช่น trottinette หรือ scooter ผู้คนออกมาขี่จักรยานมากขึ้น ในบางประเทศ บางเมืองจักรยานขาดตลาด สั่งจองต้องรอกันถึง 1-2 เดือน

พบว่า ในหลายเมืองทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีการลงทุนไปกับการพัฒนาทางเท้าและทางจักรยานในช่วงการกักตัวจากสถานการณ์โควิด ให้เมืองเป็นการขนส่งแบบใช้แรงกาย (active transportation) เช่นการเดินและปั่นจักรยาน มีระยะทางรวมกันกว่า 2,000 กิโลเมตร นับเป็นงบประมาณรวมหลายร้อยล้านยูโร มีการทดลองถนนไร้รถยนต์และที่จำกัดความเร็วรถ (car-free street & slow street) เกิดขึ้นหลายแห่ง ด้วยโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจต่างๆ

อาทิ ฝรั่งเศส รัฐบาลสนับสนุนเงิน 50 ยูโร ให้คนเอาจักรยานเก่าไปซ่อมได้ มีการเปิดโรงเรียนสอนขี่จักรยานฟรี ส่งผลให้ธุรกิจที่กำลังบูมตามมาคือ ร้านซ่อมจักรยาน ซึ่งตอนนี้ร้านซ่อมจักรยานหลายในปารีสขยายกิจการไปที่ เมือง Strasbourg และเมือง Bordeaux แล้ว ส่วนที่เบลเยียม ตอนนี้จักรยานมีคิวจองถึงสองเดือน

ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีหลายเมืองเช่น เมือง Seattle เมือง Austin ซึ่งเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมนำ คือวัฒนธรรมรถยนต์ส่วนตัว ได้มีการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานจักรยาน (bike infrastructure) เป็นนโยบายหลัก เรียกว่า หลายเมืองนักผังเมืองและสถาปนิกเมือง สามารถลงมือทำตามแนวคิดที่ในสถานการณ์ปกติอาจจะทำได้ยาก

พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ มีความต้องมากขึ้น สิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยกว่าติดโรคโควิด คือ โรคที่มาจากความเครียด และการไม่ขยับร่าง เช่น โรคอ้วน ความดัน หัวใจ การใช้ยาเสพติด ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัว นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าแล้ว จิตแพทย์ซึ่งก็อาจจะเป็นด่านที่สอง อาจต้องเตรียมรับภาระหนักเช่นกัน

ข้อมูลของกรมสุขภาพจิตปี พ.ศ. 2560 พบว่าประเทศไทยมีอัตราจิตแพทย์ต่อประชากรที่ จิตแพทย์ 1.34 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า จิตแพทย์ 4.15 คน ต่อประชากร 100,000 คน ประเทศไทยถือว่ายังมีสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรต่ำกว่าที่ WHO กำหนดถึง 3 เท่า

หลายเมืองลงทุนกับการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะ แต่ไม่ใช่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ยักษ์ระดับเมือง ที่ทุกคนต้องพุ่งมาใช้งานที่นี่ แต่เป็นสวนระดับย่านที่รองรับคนในย่านและสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดิน

อีกประเด็นที่ท้าทาย และต้องใช้จินตนาการใหม่มากๆ คือ การเรียนรู้

หากเราต้อง เรียน FROM HOME

ประสบการณ์จากการสอนนิสิตผ่านช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ได้สังเกตเห็นว่า การเรียนที่บ้าน นิสิตเครียดและซึมเศร้า คนที่มีลูก ลูกเรียนที่บ้าน แทนที่จะดีเหมือนปรัชญา HOME SCHOOL แต่บางส่วนกลับกลายเป็นความเครียดของพ่อแม่ เนื่องจากวัฒนธรรมการเรียนของประเทศไทย คือ ฝากไว้ที่โรงเรียน 8 ชั่วโมงของการเรียน ตั้งแต่ ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 คือเรียนในห้องเรียนกับคุณครู

การลงทุนของเมืองหรือรัฐบาลกระจุกไว้ที่โรงเรียน ส่วนพ่อแม่ต้องหาที่อยู่ที่ใกล้โรงเรียน หากมีบ้านชานเมืองไกล ก็ต้องมีบ้านที่สองเป็นคอนโดสตูดิโอกลางเมือง วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปโรงเรียนสอนพิเศษ

ดังนั้น การลงทุนในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี มันมากกว่าแค่ค่าเทอม

แต่หากเราเปลี่ยนการศึกษาเป็นการเรียนรู้แล้ว ครึ่งหนึ่งเรียนในห้องเรียน 4 ชั่วโมง อีกครึ่งหนึ่ง 4 ชั่วโมง นักเรียนเรียนด้วยตัวเองจากพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะต่างๆ ความเครียดกว่า 8 ชั่วโมง ที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอแล้วเรียนกับอาจารย์ก็อาจจะเปลี่ยนไป

นี่คือ ทิศทางของอนาคตการเรียนรู้ หรือ FUTURE OF LEARNING ที่สถานการณ์โควิดตัวเร่งกระบวนการ ทำให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ที่มีต่อการเรียนรู้และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เหล่านี้ให้แก่เมือง

ซึ่งในปัจจุบัน จากการศึกษาของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) พบว่า ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่กลางเมือง เช่น เขตปทุมวัน บางรัก ธนบุรี คลองสาน เท่านั้น แต่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะชานเมืองนั่นแทบไม่มีเลย พื้นที่สาธารณะก็เช่นกัน การเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะในย่านชานเมืองมีจำกัดมาก เหล่านี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ไข

เมืองแบบไหนที่ฉันอยากอยู่หลังโควิด

เชื้อโรคเปลี่ยนเมือง เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จาก HIPPOCRATES ในสมัยกรีก สู่ผังเมืองสมัยใหม่ (MODERN PLANNING) ในศตวรรษที่ 19 ที่ได้ชื่อว่า “เป็นหนี้เชื้ออหิวาต์” ที่ประเทศอังกฤษ ความแออัดของเมืองอันเกิดจากการที่ผู้คนหลั่งไหลจากภาคเกษตรมาทำงานในเมือง จนเกิดโรคระบาดโดยเฉพาะอหิวาตกโรคที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก นำไปสู่การสำรวจ ค้นคว้า วิจัยจนนำไปสู่การออกแบบมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคของเมืองใหม่ มีการจัดทำกฎหมายผังเมือง ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดทำกฎหมายอาคารเรื่องการระบายอากาศและระบบสุขาภิบาลเมือง การออกแบบพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเทมส์ที่สวยงามกว้างขวางพร้อมร้อยท่อสาธารณูปโภคทันสมัยไว้ใต้ดิน ซึ่งหากประเทศอังกฤษปล่อยผ่านก็คงมีผู้คนป่วยเป็นอหิวาต์ซ้ำๆ คงเกิดจลาจล เมืองล่มสลาย

หันมามองประเทศไทย นอกเหนือจากการจัดการเรื่องการแพร่ระบาดของโรค อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือภาวะหลังโรคระบาดอันเป็นผลกระทบที่ตามมาที่ชวนทุกคนให้มองไปข้างหน้า ถกเถียง และเรียกร้องกับคำถามว่า เมืองแบบไหนที่ฉันอยากอยู่หลังโควิด


Contributor