11/08/2021
Life

เบื้องหลังการพัฒนาชุมชนเชิงทดลองสุดสร้างสรรค์กับ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

เรียบเรียงโดย ชยากรณ์ กำโชค, สรวิชญ์ อังศุธาร, ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

งานพัฒนาฟื้นฟูชุมชน เป็นตัวอย่างงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ ที่มักมีคนนอกพื้นที่เข้าไปช่วยปรับปรุงให้สวยงามน่ามอง แต่บ่อยครั้ง สิ่งที่ตามมามักเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างคนนอก ตั้งแต่สถาปนิก นักผังเมือง นักออกแบบ กับ ‘คนในพื้นที่ผู้อยู่อาศัย’ ที่ตั้งคำถามกับงานที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาใดๆ ให้ชุมชน ซ้ำยังอาจเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเดิมให้เสน่ห์สูญหายไป ทำให้งานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เพียงต้องใช้ทักษะในการออกแบบเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์และเข้าใจสิ่งที่ชุมชนต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นทักษะที่อาศัยองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างคนนอกและคนในพื้นที่ไม่น้อยเลย

อาจารย์หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือหนึ่งในสถาปนิกผู้คลุกคลีกับงานพัฒนาชุมชน และมักตั้งต้นโครงการฟื้นฟูย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ในเชิงทดลองที่ไม่เหมือนใครออกมาอยู่เสมอ อย่างโครงการพัฒนาชุมชนคลองบางหลวง นิทรรศการ ‘New เวิร์ล โอล Town’ ที่ชุมชนบางลำพู หรือโครงการต่อยอดจากเพจ Humans of Flower Market ที่ชุมชนปากคลองตลาด สิ่งที่น่าสนใจในกระบวนการลงพื้นที่ของอาจารย์หน่องและคณะนักศึกษา ก็คือการฟังเสียงความต้องการของชุมชนและดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ได้จึงล้วนเป็นโครงการพัฒนาชุมชนที่น่าสนุก และเป็นปรากฏการณ์ที่ชักชวนให้คนสนใจทั้งในในโลกออนไลน์และออฟไลน์ 

โอกาสนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis เลยชวนอาจารย์หน่องมาพูดคุยถึงกระบวนการและเครื่องมือทำงานร่วมกับชุมชน ถอดรหัสความสำเร็จเบื้องหลังโครงการเหล่านี้ที่ล้วนเต็มไปด้วยการดึงเอาองค์ความรู้ที่ชุมชนมีมาย่อยและนำเสนออย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลลัพธ์คือการร่วมกันหาไอเดียฟื้นฟูเมืองบนฐานของการเรียนรู้ และเข้าใจทั้งคนในชุมชนและคนนอกไปพร้อมกัน

อาจารย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาชุมชนหลายๆ แห่งให้กรุงเทพฯ อยากให้เล่าถึงโครงการต่างๆ เริ่มจากโครงการแรกที่ทำกับชุมชนริมน้ำคลองบางหลวง

โครงการชุมชนย่านคลองบางหลวงเป็นโครงการแรกที่ได้เริ่มทำเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากหน่องมีโอกาสรับผิดชอบรายวิชาการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและการพัฒนาชุมชน ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นซึ่งเป็นวิชาเรียนระดับปริญญาโทและเอก ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเริ่มมองหาจากย่านที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเป็นหลัก เนื่องจากต้องไปลงพื้นที่บ่อย จึงได้ค้นพบย่านนี้ที่น่าสนใจ โดยเริ่มด้วยการให้นักศึกษาระดับป.โทและป.เอกลงพื้นที่ก่อน ด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ แต่ถือเป็นโชคดีของรายวิชา ที่ตัวสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจะมีนักศึกษาหลากหลายแบ็กกราวน์ เช่น เด็กที่จบจากคณะโบราณคดี พวกเขาจะมีทักษะในเชิงมนุษย์สูงกว่าเด็กสถาปัตย์ฯ ก็สามารถใช้ข้อดีตรงนี้เข้าไปเริ่ม พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนได้ พอเราได้เข้าไปในพื้นที่ชุมชนคลองบางหลวงจริง ๆ ก็รู้สึกว่าพื้นที่นี้น่าสนใจมาก มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้สูงเพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ตอนนั้นย่านค่อนข้างเงียบเหงา ก็ได้เริ่มพูดคุย เก็บข้อมูลในชุมชนและทำแม็ปปิ้งขึ้นมา

หลังจากเปิดพื้นที่แล้วก็เข้าไปตามต่อด้วยรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ยังค่อนข้างเด็ก การเข้าไปลงพื้นที่จึงปรับเป็นทำการออกแบบขนาดเล็ก (Design Intervention) เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการใช้พื้นที่สาธารณะ (Activate Space) ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเป็นการจัดลำดับที่ดี เริ่มด้วยเด็กป.โท และ ป.เอก เราก็จะได้ข้อมูลจากการคุยกับคน ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างลึก พอเด็กป.ตรีเข้าไปก็สร้างต่อให้เกิดความต่อเนื่องขึ้น ทำให้มีโมเมนตัมที่ดีในการทำโครงการ ซึ่งวิชาของ ป.โท และ ป.เอก ก็ทำต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ 3 ปี ส่วนของ ป.ตรี ก็ยังทำจนถึงช่วงก่อนสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

ตอนที่อาจารย์พานักศึกษาเข้าไปลงพื้นที่ มีกระบวนการทำงาน พูดคุยร่วมกับชุมชนคลองบางหลวงอย่างไรบ้าง

พื้นที่ชุมชนคลองบางหลวงบริเวณริมคลองและรอบๆ บ้านศิลปินที่หลายคนรู้จักนั้นยังไม่ได้มีเป็นชุมชนที่จดลงทะเบียนอย่างเป็นทางการกับทางกทม. เพราะฉะนั้นงานจึงเริ่มจากส่วนที่ย่อยมาก ๆ ก่อน ตอนที่เริ่มปีแรกเป็นช่วงเริ่มทำความรู้จักพื้นที่ จนกระทั่งขยายการทำงานไปบริเวณฝั่งวัดกำแพงบางจาก ก็ได้เจอกับพี่อ๋อย หัวหน้าชุมชนกำแพงทองพัฒนา จะสังเกตได้เลยว่าพอเราได้เริ่มทำงานกับพื้นที่ที่มีแกนนำในชุมชน งานจะก้าวไปข้างหน้าได้ค่อนข้างยั่งยืน มีทิศทางที่ชัดเชน เรียบร้อยมากขึ้น ผลงานที่เราทำให้ก็มีชุมชนมาดูแลรักษาต่อ ไม่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นโชคดีมาก ๆ ที่เราได้มาเจอพื้นที่ตรงนี้และถูกจริตกัน เข้ากันได้กับคนในพื้นที่ ทำให้งานดำเนินไปต่อได้ไม่สะดุด

วัตถุประสงค์ของโครงการก็จะเป็นไปตามเป้าหมายของรายวิชา วิชา ป.โท และ ป.เอก จะเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่ในระดับ ป.ตรี ก็จะเน้นการออกแบบที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชน สิ่งที่คาดหวังคือเราเข้าไปสร้างอะไรก็แล้วแต่ จะต้องไม่ทำให้ชุมชนเขาแย่ไปกว่าเดิม เช่น งานออกแบบกลายเป็นขยะ เป็นต้น งานส่วนใหญ่จึงจะเป็นลักษณะการออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ที่ใส่เข้าไปในชุมชน หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องการแม็ปปิ้ง ทำแผนที่ ทำป้ายให้ข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งในชุมชนคลองบางหลวงเขาจะมีวัดกำแพงเป็นศูนย์กลางหนึ่งของการทำกิจกรรม เป็นวัดโบราณที่มีพื้นที่สาธารณะอยากให้คนได้เข้าไปใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ได้เข้าไปสนับสนุนตรงนี้ วัดนี้จะมีจุดเด่นเรื่องสวนสมุนไพร เจ้าอาวาสก็มีความรู้ด้านนี้อย่างเชี่ยวชาญ เราก็แค่เข้าไปจัดทำแผนที่ ป้ายให้ข้อมูลสมุนไพร และช่วยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชุมชนมีความเอิกเกริก

เราเริ่มทำงานเล็ก ๆ ลักษณะนี้ต่อเนื่องมาประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการเขตตามงานเปิดโครงการต่าง ๆ จึงเริ่มเกิดความร่วมมือกับทางเขตภาษีเจริญขึ้น เราเข้าไปในลักษณะของตัวกลาง เขตอยากปรับปรุงลานวัดให้เป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ทางเราก็จะช่วยประสานกับทางฉมาโซเอ็น (Shma Soen) ให้มาช่วยออกแบบ ทางเขตต้องการปรับปรุงแลนด์สเคป ก็จะไปหาอาจารย์ที่คณะมาช่วยให้คำแนะนำ เป็นการเริ่มโครงการในลักษณะย่อย ๆ แล้วค่อยขยายผลต่อมาเรื่อย ๆ จะเห็นว่ากิจกรรมมีความต่อเนื่อง เราไม่ได้เข้าไปจัดการเสร็จแล้วออกมา แต่ให้ชุมชนเสนอสิ่งที่ต้องการหรือจำเป็น และเราก็ประสานช่วยให้มันเกิดขึ้นจริงต่อ ซึ่งงบประมาณในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาโดยตรงนั้นก็ได้มาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากเป็นงานค่อนข้างยิบย่อย งบที่ใช้เลยไม่สูง เป็นงบส่วนที่เป็นโครงการเพื่อการบริการทางวิชาการ เพื่อสังคม ซึ่งมีการเชื่อมกับการเรียนการสอนอยู่แล้ว

การจัดการองค์ความรู้ให้กับสวนสมุนไพรชุมชนที่วัดกำแพง มีกระบวนการอย่างไรบ้าง

สวนสมุนไพรชุมชนเกิดจากหลังจากเราลงพื้นที่ ได้พูดคุยกับเจ้าอาวาส ทางเจ้าอาวาสก็จะชอบเล่าเรื่องสมุนไพรให้ฟังอยู่ตลอด เราก็จดเป็นข้อมูลไว้แล้วนำมาทำเป็นแผนที่ต่าง ๆ หรือแผ่นพับรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจัดเก็บมีทั้งเก็บไว้ที่ชุมชนด้วย และส่งต่อแผนที่หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมได้ไว้กับประธานชุมชนเพื่อให้ความรู้อยู่กับชุมชนต่อไป และเรายังทำข้อมูลเผยแพร่ให้กับคนภายนอกในลักษณะดิจิตอล โดยใช้ QR Code ลิงก์เข้าสู่ฐานข้อมูลในรูปแบบของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 

ขยับมาถึงพื้นที่ปากคลองตลาดที่เกิดเป็นหลายโปรเจกต์สนุกๆ มากมาย การลงพื้นที่ในโครงการนี้เป็นลักษณะอย่างไร มีกระบวนการทำงานอย่างไรบ้าง

พอเป็นพื้นที่ปากคลองตลาด เราก็ยังมีข้อได้เปรียบแบบเดิมคือนักศึกษาจากหลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นมาจากหลากหลายสาขาวิชา ในปีนั้นมีนักศึกษาคนหนึ่งชื่อนุ้ยที่ถ่ายภาพสวยมาก โครงการในปีนั้นกลุ่มนักศึกษาจึงเริ่มจากการทำ Photo Essay ในเพจในเฟสบุคชื่อ Humans of Flower Market ซึ่งเข้าถึงคนในพื้นที่มาก หลังจากนั้นก็มีการจัดเวิร์คช็อปร่วมกับทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ เกิดงานที่เป็นโมเมนตัม จนมีเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจที่จะจัดเวิร์คช็อปต่อยอดเป็นโครงการ ‘Flower Lab’ ทำให้พื้นที่นี้มีความฮิปขึ้น เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมแบบวัยรุ่น ทำให้เราค้นพบว่าปากคลองตลาดมีศักยภาพมาก โดยเฉพาะศักยภาพของคนในพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้

ปี 2018 ทาง TEDxBangkok ให้หน่องเป็น speaker โดยปีนั้นเป็นปีที่มีธีมจัดงานที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการทอล์กหรือปาฐกถา หากแต่เน้นที่ Ideas to Action ทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการจริงขึ้นในพื้นที่ปากคลองตลาดนี้ หน่องก็เลยชักชวนเพื่อน ๆ น้องๆ ดีไซนเนอร์มาช่วยกันทำงานออกแบบต่าง ๆ จัดเป็น installation กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ในปากคลอง และมีอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งก็คือผู้จัดการร้านดอกไม้ในปากคลองนั่นเอง ได้นำงานไฟนอลของนักศึกษา ในรายวิชาการจัดดอกไม้พื้นฐานมาจัดแสดงกว่า 200 คน แต่ด้วยตอนนั้นมีข้อจำกัดจากการปรับปรุงพื้นที่ที่ไม่ทราบล่วงหน้า ทำให้น่าเสียดายที่ไม่สามารถจัดงานเต็มรูปแบบได้

ต่อมาเราได้ทุนจากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ให้เข้าไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในปากคลองตลาด นำมาจัดหมวดหมู่ตามประเภทร้านดอกไม้ งานฝีมือ ที่มีเรื่องเล่าแทรกอยู่ แล้วจัดทำเป็นเว็บไซต์ www.flowerhub.space ขึ้นมา มีเรื่องเล่าผ่าน Photo Essay ตั้งแต่พื้นที่ก่อนการจัดระเบียบซึ่งทำให้เห็นวิถีชีวิตในย่านที่มีความสำคัญ หลังจากโครงการนี้ก็มีโครงการ ‘ปากคลองฯ Strike Back’ ที่ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาดให้สนุกมากขึ้นผ่านกิจกรรมออนไลน์และโลกเสมือน (AR) จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปากคลองตลาดมีการจัดงานที่ได้รับการร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ

เจอปัญหาอะไรบ้างไหมในการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นที่ปากคลองตลาด

พื้นที่ปากคลองตลาดจะแตกต่างจากคลองบางหลวงที่เราพยายามจะทำ Community Development แต่ที่ปากคลองตลาด เราไม่ได้เน้นศิลปวัฒนธรรมเพราะพื้นที่อาจไม่ได้มีวัฒนธรรมยาวนานเป็นร้อยปี แต่จะเน้นด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้คนกลับมาเดิน กลับมาจับจ่าย ซึ่งมันมีปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการจัดระเบียบพื้นที่ เราจะได้ยินฝรั่งที่มาเดินปากคลองตลาด ถามว่าปากคลองตลาดอยู่ที่ไหน มันสะท้อนได้เลยว่า Sense of Place ของปากคลองตลาดมันหายไป ไม่ชัดเจน เราเลยเน้นประเด็นนี้ตอนที่พัฒนาพื้นที่ปากคลองตลาด ถ้าจะมีความยากก็น่าจะเป็นการพูดคุยกับพี่ๆ แม่ค้า เนื่องจากทุกคนจะค่อนข้างยุ่งกับการค้าขายตลอดเวลา และไม่ได้มีแกนนำชุมชนที่ชัดเจน ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ก็ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การสำรวจพื้นที่ต้องทำกันเองมากขึ้น

หลังจากทดลองทำหลายๆ โปรเจกต์ในพื้นที่ปากคลองตลาด อาจารย์มองว่าการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ก่อนและหลังเป็นอย่างไร

เราก็อาจจะเข้าข้างตัวเองนิดนึง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเริ่มเห็นภาพ Sense of Place ของปากคลองตลาดที่ชัดขึ้น และอยู่ในรูปแบบที่ร่วมสมัยขึ้น ซึ่งทำให้เกิดภาพของความยั่งยืน มันไม่ใช่แค่ตลาดค้าส่งดอกไม้แบบเดิม และช่วงที่เราทำโครงการจะสอดคล้องกับช่วงที่ MRT เพิ่งเปิด ทำให้เห็นว่ารถไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่นี้แล้วนะ ที่นี่มาง่ายไม่ได้ลำบาก อยากให้ปากคลองตลาดสามารถเปิดโอกาสในอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ตอนที่ทำโครงการปากคลองฯ Strike Back ซึ่งมีทั้ง online quiz, Interactive AR filter และนิทรรศการภาพถ่าย ตอนนั้นมีเอนเกจเมนต์ค่อนขางสูงมาก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

มาถึงโครงการไฮไลท์อีกโครงการที่เข้าไปทำในพื้นที่ชุมชนบางลำพู เป็นอย่างไรบ้าง

บางลำพูเป็นโครงการที่เราเริ่มเข้าไปครั้งแรกในปี 2018 ช่วงที่เขากำลังจัดระเบียบพื้นที่กัน เริ่มต้นด้วยการทำเพจขึ้นมาชื่อ ‘Barefood Street Kitchen’ ซึ่งไอเดียริเริ่มมาจากการนำเสนอสตรีทฟู้ดในย่าน โดยนำมาถ่ายภาพและจัดองค์ประกอบให้ร่วมสมัย (ปัจจุบันก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Everyday บางลำพู’) ในช่วงนั้นทางพิพิธบางลำพูเขาก็ขอผลงานไปจัดแสดง ซึ่งกลุ่มเยาวชนจากชมรมเกสรลำพูเข้ามาเห็นงานแล้วเขาชอบ ตอนนั้นเลยเป็นโอกาสที่ทำให้เรารู้จักกับเยาวชนในพื้นที่มากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าไปทำนิทรรศการ ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’ ในพื้นที่ห้างฯ นิวเวิร์ลที่ดังมากจากโศกนาฏกรรมและการเป็นวังมัจฉา แต่กลุ่มเยาวชนและคนในย่านจริงๆ เขาชอบตึกนี้ เขาโตมากับยุคความรุ่งโรจน์ ความโก้หรูของมัน เลยเกิดเป็นงานนี้ขึ้นโดยมีกำลังสำคัญคือชมรมเกสรลำพู ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เก่งมากและน่ารักมาก เราก็แอบหวังว่าอยากให้ทุกชุมชนมีกลุ่มเยาวชนที่แข็งแรงแบบนี้เหมือนกัน

อยากถามถึงชุมชนใกล้ๆ บางลำพูอย่างถนนข้าวสาร ด้วยสถานการณ์โควิดตอนนี้ ถนนข้าวสารเป็นอย่างไรบ้าง

ถนนข้าวสารตอนนี้เหมือนจะอยู่ในวิกฤติที่กู้ไม่ทันแล้ว เราได้มีโอกาสเข้าไปลงพื้นที่อยู่ช่วงหนึ่งที่สถานการณ์โควิดในประเทศไทยกลับมาเกือบปกติ ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ทางกลุ่มผู้ประกอบการที่ข้าวสารเขาเห็นงานที่ห้างฯ นิวเวิร์ลก็อยากให้จัดที่นั่นบ้าง อยากเน้นเรื่องความสำคัญที่สามารถผูกโยงกับย่าน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เลยได้ชวนแก๊งเยาวชนเกสรลำพูมาทำที่ถนนข้าวสารด้วย ซึ่งก็มีความย้อนแย้งนิดหน่อย เนื่องจากถนนข้าวสารเป็นย่านที่ขึ้นชื่อด้านอบายมุข แต่ภาพของเราก็ชัดเจนว่าเป็นการเชื่อมโยงกับย่าน ซึ่งเยาวชนที่เข้ามาก็มีส่วนช่วยมาก ๆ เพราะพวกเขาจะรู้จักกันคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้การประสานงาน และความร่วมมือต่าง ๆ ได้รับการตอบรับดีมาก

ปกติแล้วในการลงพื้นที่มีการสื่อสารกับชุมชนอย่างไร

เราไม่ได้ประชุมชุมชนเลย เนื่องจากเรียกไม่ได้ แล้วด้วยลักษณะเฉพาะของบางชุมชน เช่นปากคลองตลาดที่มีการค้าขายตลอดเวลา เราก็จะไม่สามารถเรียกชาวบ้านมาประชุมได้ ตรงนี้ก็เป็นไปตามข้อจำกัดของแต่ละชุมชน ที่เราทำได้คือให้นักศึกษาเข้าไปเคาะประตูตามบ้านต่อบ้าน เป็นการเอื้อมออกไปหาเขา ถ้าเป็นในชุมชนขนาดเล็กก็สามารถทำตรงนี้ได้ สามารถคุยครบในระยะเวลาไม่นาน อาจจะอาศัยความถึกหน่อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ทำได้

โครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่ทำมา เจออุปสรรคกับทางเขตหรือกรุงเทพมหานครบ้างไหม

ชุมชนคลองบางหลวงจะเจอเรื่องการเปลี่ยนผู้อำนวยการเขตค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นอุปสรรค เนื่องจากงานยังเป็นสเกลเล็ก หากขยายผลไปในเชิงโครงสร้าง น่าจะเจอผลกระทบมากกว่านี้ แต่ยังมีข้อดีคือ เจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตและคณะทำงานในชุมชนยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่คุ้นหน้า ทำงานในชุมชนกันมาอยู่แล้ว บางโครงการที่เราเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงอย่างห้างนิวเวิร์ล ก็ไม่ได้มีปัญหามากเนื่องจากทางเจ้าของพื้นที่ได้ขออนุญาตไว้แล้ว มีวิศวกรเข้ามาดูแล จะยุ่งยากคือเราต้องทำหนังสือขออนุญาต และแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ 

จากการลงพื้นที่และริเริ่มโปรเจกต์พัฒนาชุมชนในเชิงทดลอง ร่วมกับคนในชุมชนและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง อาจารย์มองว่าขั้นตอนต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะขยายผลอย่างไรให้สามารถดึงศักยภาพและองค์ความรู้จากคนในชุมชนขึ้นมาได้ 

โครงการส่วนใหญ่ที่ได้ทำมาจะเป็นเหมือนการทำไปตามจังหวะ อย่างชุมชนคลองบางหลวงก็เป็นการถูกจริตกันกับคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการขยายผลต่อมาเรื่อย ๆ ในระยะยาว หน่องคิดว่าสื่อต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยเยอะ รวมถึงงบสนับสนุน อย่างการได้ทุนจากมหาวิทยาลัยก็ทำให้โครงการต้องเชื่อมโยงไปกับการเรียนการสอน การบริการทางวิชาการ การ integrate ของหลักสูตรหลายระดับ แล้วนำไปเขียนเป็นงานวิจัยนำเสนอตามงานประชุมทางการวิชาการต่าง ๆ เพื่อให้ตอบตัวชี้วัดจากมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ เรายังมีองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ และทางสำนักงานเขตที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ดำเนินโครงการต่อมาเรื่อย ๆ ซึ่งข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้ ก็จะส่งต่อให้ชุมชน อย่างหนึ่งที่เราเห็นชัดมาก ๆ คือถ้าหัวหน้าชุมชนเป็นคนที่มีไฟมาก ก็จะทำให้งานต่าง ๆ มีความชัดเจนและยั่งยืน

นอกจากนี้เรื่องของคอนเนคชั่นระหว่างแกนนำคนอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากทางหัวหน้าชุมชนช่วยประสานออกไปจะทำให้เกิดการขยายสเกลงานมากขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด

กระบวนการทำงานที่เริ่มจาก Bottom Up แบบนี้จะมีทิศทางต่อไปเป็นอย่างไร ในโครงสร้างของรัฐบาลไทยหรือกรุงเทพมหานครที่มีความ Top Down มากๆ

หน่องคิดว่าการอยู่ในสถาบันการศึกษาถือเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้เรามีพื้นที่ยืดหยุ่น สามารถทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น เช่น หากเป็นสถาปนิกอิสระที่อยากทำโครงการลักษณะนี้อาจจะไม่สามารถทำได้ในแบบเรา สถานศึกษาเลยเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมหน่วยงานข้างบนกับชุมชนให้แนบสนิทกันมากขึ้น ก็คิดว่ายังต้องมีการขยายสเกลโครงการและอาศัยความร่วมมือต่าง ๆ ทางเราเองอาจจะถนัดในด้านงานที่ออกแนวเชิงศิลปะมากกว่าการดูโครงสร้างเมืองหรือการวิเคราะห์ผังเมือง รวมถึงความร่วมมือจากทางภาครัฐ หน่องเองอาจจะไม่ถนัดที่จะไปวิจารณ์การบริหารท้องถิ่น  เรารู้สึกว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ นี่แหละที่ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้เอื้อต่อการทำโครงการบริการวิชาการสู่ชุมชนและสังคมต่างๆ ถ้าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้และทำได้ต่อเนื่อง ก็จะเกิดเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning Hub) ได้จริง ๆ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor