08/09/2020
Life

ต่อจิกซอว์หาคำตอบเรื่องสถาปนิก เมือง และการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม กับคุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์

กรกมล ศรีวัฒน์
 


บางช่วงบางตอนของชีวิตคนเราคงคล้ายกับบทละครที่โลดแล่น หลายคนพยายามหาคำตอบบางอย่างในชีวิต เหมือนอย่างคุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง โดยเกริ่นไว้ตอนเริ่มต้นของบทสนทนาว่า “สารภาพว่าตอนเรียนจบไม่ได้รู้เรื่องที่ตอนนี้รู้ ก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ผมก็ลองผิดมากกว่าลองถูก”

“สารภาพว่าตอนเรียนจบไม่ได้รู้เรื่องที่ตอนนี้รู้ ก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ผมก็ลองผิดมากกว่าลองถูก”

คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผ่านทั้งบทบาทการเป็นบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกไฟแรงในช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน การไปเรียนต่อการวางผังเมืองเชิงนิเวศ (urban ecological planning) ที่ประเทศนอร์เวย์ และกลับมาหยิบจับงานอีกหลากหลายด้านกระทั่งมีบทบาทในการผลักดันพรบ. ส่งเสริมวิสาหกิจแห่งชาติในปีพ.ศ. 2562 จนมาถึงปัจจุบันในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงานหลากหลายวงการที่ผ่านมาเป็นดั่งเส้นทางที่ช่วยให้เขาต่อจิ๊กซอว์ค้นหาคำตอบว่าการทำงานสถาปนิกจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร?

องค์ที่ 1 สถาปนิก เมือง และการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

ความสามารถในการออกแบบ + PERSPECTIVE + ลูกค้าดีมีวิสัยทัศน์ = การเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือสมการที่คุณณัฐพงษ์เชื่อมั่นในตอนแรกว่าจะเป็นคำตอบของสิ่งที่เขาตามหา

“เริ่มต้นชีวิตด้วยสถาปนิก ผมเหมือนกับทุกคนเลยผมก็เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมก็คือใช้ความรู้ที่เราเรียนมา ตอนจบผมก็พุ่งเข้าไปสู่บริษัทใหญ่อยากทำโปรเจกต์ใหญ่ ตอนผมจบมีโครงการ Bangkok Terminal Project (1997) ตรงหมอชิตเก่า ตอนนั้นเศรษฐกิจมันบูมมาก ผมได้ทำทุกอย่างที่อยากทำในขณะที่เพิ่งจบปริญญาตรี ได้ออกแบบดีไซน์ทุกอย่างเอง

จริงๆ โปรเจกต์นี้ไม่ได้สร้างนะครับ ทำไปหนึ่งปี แต่ก็ทำให้ทราบว่าสมการไม่จริง ณ ตอนนั้นโครงการโดนล้มโดยไม่เกี่ยวกับเราเลย กรมธนารักษ์รู้สึกว่าโครงการไม่เป็นไปตามแผน สุดท้ายก็ไม่ได้สร้าง ผมก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเอนจอยกับการได้เงินเดือนแบบนี้ ได้ใช้ความรู้เราแต่ไม่นำไปสู่อะไรหรือเปล่า ตอนนั้นก็ยอมรับว่าค่อนข้างหุนหันพลันแล่นก็ลาออกเลย

ไม่ได้คิดอะไรมากก็ลาออก รู้สึกว่าจะทำแบบนี้ไปจนแก่ไม่ได้ ผมก็เลยดูตัวเองว่าสนใจเรื่องเมืองมากกว่าการเป็นสถาปัตยกรรมแบบโดดๆ ก็เลยไปเรียน”

องค์ที่ 2 สถาปนิก เมือง และการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ผมก็ไปเรียนต่างประเทศเลยกลับมาแบบอารมณ์มั่นใจสุดขีด มายเซ็ทก็เปลี่ยนไปนิดหน่อยคือเรารู้สึกว่าลำพังแค่ดีไซน์มันไม่พอ จริงๆ มันจำเป็นต้องมีศาสตร์อื่นที่เราต้องเรียนรู้ ผมเลยเปลี่ยนสมการใหม่ ตอนกลับมาอารมณ์อยากทำนู้นทำนี้เต็มไปหมด”

เรียกได้ว่างานของคุณณัฐพงษ์มาก่อนกาล เพราะโครงการแรกที่เขากลับมาทำคือการเป็นหัวหน้าโปรเจกต์ของโครงการ Thailand Cultural Environment Project Denmark + Thailand ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลเดนมาร์กเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท มีจุดประสงค์เพื่อทำงานผลักดันให้เกิดกลไกอนุรักษ์วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางผู้สนับสนุนมีความตั้งใจอนุรักษ์ ของสิ่งธรรมดาที่รวมกันแล้วพิเศษ (Collective value) มรดกที่จับต้องไม่ได้ (Intangible heritage) และพื้นที่กายภาพทางมนุษย์สร้างขึ้นที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีคุณค่าของท้องถิ่น (Cultural Landscape)

ในการทำงานโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม (Cultural Environment) ทำให้เขาค้นพบว่าคนทำงานยังมีการมองเรื่องการอนุรักษ์ที่ต่างกัน คนในพื้นที่ส่วนใหญ่มองการอนุรักษ์เป็นเรื่องของโบราณคดี สำรวจโบราณสถาน และศิลปวัฒนธรรม เมื่อพูดคุยกับเพื่อนชาวต่างประเทศก็พบว่าจะต้องย้อนมาที่การสร้างความเข้าใจในแก่นของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม (Cultural Environment concept & literacy) หลังจากทำงานในระยะเวลา 3 ปี ผลลัพธ์ที่ได้คือการศึกษาทั้งหมด 6 เมือง (น่าน กรุงรัตนโกสินทร์ ลพบุรี ลำปาง พิษณุโลก ตรัง) และพลิกฟื้นเมืองอัมพวาด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรม (Design Guideline + matching fund) 48 หลัง รวมถึงผลักดันให้เกิดระเบียบการประกาศเขตเมืองเก่าตามแนวคิด Cultural Environment และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า พ.ศ.2548-2552

ในช่วงนี้เองที่สมการใหม่ของเขาคือ เหตุผล + ความรู้ + ความตั้งใจ = การเปลี่ยนแปลงสังคม

งานถัดมาของคุณณัฐพงษ์คือการก้าวสู่เก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักชุมชนและเมืองของสสส.ทำโครงการชุมชนน่าอยู่ และเมืองน่าอยู่ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนปีละ 300 ล้านบาทให้กับองค์กรอื่นๆ พยายามผลักดันการสร้าง “Healthy Environment นำไปสู่ Healthy People” โดยให้องค์กร NGO ทำงานกับชุมชนต้นแบบ 200 แห่ง/8 ภูมิภาค แต่จากความเห็นส่วนตัวของเขาพบว่าเงินที่ลงทุนไป 1 ล้านบาท/ชุมชน/ปีกลับไม่คุ้มค่านัก เนื่องจากเสียค่าดำเนินการให้งบกับองค์กรเข้าไปฝังตัวค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้

และอีกหนึ่งโครงการที่เขาบอกเล่าว่าเป็นห้องทดลองทางเลือกเพื่อการสร้างเมืองน่าอยู่จากความรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ในชื่อโครงการเชียงใหม่เอี่ยม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคลองชองเกชอน ประเทศเกาหลีใต้ สำหรับโครงการนี้คุณณัฐพงษ์ได้หยิบเอาความรู้ทั้งหมดมาทดลองใช้จริง

 “ถ้าตามทฤษฎีผมงัดมาหมดแล้ว เรื่องการมีส่วนร่วมกับชุมชนใช้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ” โครงการนี้มีรูปแบบเป็นปฏิบัติการร่วม สร้างเมืองให้ดีดึงองค์กรในท้องที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการของคนท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งการลดขยะ ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ตอนท้ายของโครงการมีการทำแผนศักยภาพของเมือง (Potential map) และจัดการกระบวนการสื่อสาร ผ่านการเชิญองค์กรสื่อชื่อดังอย่าง GTH มาสอนการทำสื่อให้เด็กในเชียงใหม่, ทำรายการโทรทัศน์ฉายใน ThaiPBS และหยิบ Infographic เข้ามาสื่อสาร

แม้จะมั่นใจกับทฤษฎีพอสมควร สื่อก็มาจากระดับประเทศ แต่โครงการนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จในความเห็นของเขา

“มีปัญหาที่เราไม่ได้คาดการณ์เยอะมาก sense of belonging สำคัญมาก สิ่งที่เราเป็นคนนอกเข้าไปโดยเจตนาดีแล้วให้คนข้างในเขาทำการกำหนดการมีส่วนร่วมภายนอก ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นเจ้าของ โปรเจกต์มันไม่ได้ขึ้นกับเขา

 ทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมเป็นอย่างไร เราทำงานแบบไม่มีอินไซท์มากพอ สื่อสารให้ง่ายขึ้นไม่พอ เพราะมันทำจริงน้อย สารภาพว่าตอนจบโครงการแม้จะรู้ว่ามันเฟลแต่ก็ไม่รู้ว่าทางที่ดีกว่าเป็นอย่างไร”

องค์ที่ 3 สถาปนิก เมือง และการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

“ผมจบด้วยการลาออกและตั้งโจทย์ว่าเราอยากใช้ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคม เหตุผล+ความรู้+ความตั้งใจ+ barriers to change = การเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือเราพบว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดจากอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง”

 ทั้งการให้ข้อมูลความรู้และข้อดีของการเปลี่ยนแปลงอาจจะยังไม่พอให้เขาปรับพฤติกรรม

 “ผมไปเจอเปเปอร์อันนึงที่ผมชอบมาก เขาอยากพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ได้เกิดจากเหตุผล เขาเลยทดลองเอาคนเป็นร้อยคนมาทดลองสามแบบ โจทย์คือเขาอยากให้คนประหยัดน้ำมากขึ้น คนทั้งสามกลุ่มนี้ได้รับข้อมูลเหมือนกันเข้ามาฟังบรรยายหนึ่งชั่วโมงว่าประหยัดน้ำดียังไง แล้วเขาก็ทำสำรวจคิดว่าจะประหยัดจริงไหม 95% บอกว่าจะไปปฏิบัติ แล้วเขาก็ปล่อยสามกลุ่มนี้แยกกัน กลุ่มแรกปล่อยกลับบ้านไปเลย กลุ่มสองมีอุปกรณ์ประหยัดน้ำขายหน้าห้อง กลุ่มที่สามมีอุปกรณ์และเบอร์ช่างให้ด้วย หลังผ่านไปสองอาทิตย์เขาก็โทรไปติดตามกลุ่มแรกเปลี่ยน 5% กลุ่มที่สองเปลี่ยน 30% กลุ่มสุดท้ายเปลี่ยน 70%”

เมื่อรู้ว่าจะต้องจัดการกับอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง (barriers to change) เขาจึงทดลองผ่านการทำโครงการที่ทำ ได้แก่

Inclusive city

การออกแบบบ้านแบบ universal design เพื่อผู้พิการและผู้สูงวัย โดยถอดออกมาจากคู่มือในหนังสือให้เห็นจริงเป็นแบบจำลองบ้านขนาด 1 ต่อ 1 และจัดกิจกรรมให้มีอบรม บรรยายโดยผู้พิการในการสอบใบประกอบอบรมวิชาชีพในปีแรก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้พิการ นำไปสู่การออกแบบที่เหมาะสม

Disaster

งานที่ทำในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ. 2554 หลังเห็นโอกาสว่าวิชาชีพสถาปนิกน่าจะทำงานเพื่อสังคมได้ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากข่าวของคนในรังสิตที่โดนไฟช็อตตาย เนื่องจากบ้านผู้ตายต่ำกว่าพื้นที่ค่าเฉลี่ยที่นำเสนอในข่าวว่าจะปลอดภัย เขาจึงซ้อนแผนที่จำลองการเกิดน้ำท่วม(Flooding Simulation Map) และแผนที่ภูมิประเทศ(Topoghaphy Map) เพื่อช่วยในการตัดสินใจขนย้ายแก่คนในท้องถิ่น โดยเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ Call-Center , รายการโทรทัศน์และเว็บไซต์

Public policy

การสร้างกลไกในการพัฒนาประเทศผ่านนโยบายสาธารณะ ร่วมกับนักการเมือง แต่เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นแผนระยะยาวทำให้นักการเมืองไม่หยิบนำไปใช้จริง เนื่องจากไม่เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้สมการของเขาเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยเพิ่มตัวแปร Collaborative Prototyping การทำตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้ดูเพื่อให้เกิดการกระตุ้นในการทำต่อ จนนำไปสู่สมการใหม่

เหตุผล+ความรู้+ความตั้งใจ+ barriers to change+ collaborative prototype = การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

            นี่คือสมการใหม่ คำตอบสุดท้ายที่เขาค้นพบและนำมาปรับมาใช้ในการทำงานจนถึงปัจจุบัน คุณณัฐพงษ์หันมาทำงานรูปธรรมมากขึ้นในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทำงานในสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) – TSEO


Contributor