02/06/2020
Life

ป่วยใจ : สึนามิลูกที่ 4 หลังโรคระบาด เมืองจะรับมืออย่างไร? คุยกับ นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


ผลสำรวจพบว่าประชาชน 51.85% มีความเครียดและความวิตกกังวล และจำนวนผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษากับ กรมสุขภาพจิต ทางสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้นจาก 20-40 ราย ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 เป็น 600 รายในเดือน มี.ค.63 

กรมสุขภาพจิต

ตัวเลขทางสถิติข้างต้นที่ยังไม่นับรวมความรุนแรงภายในครอบครัว และอัตราการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ความเครียดสะสมจากปัญหาเศรษฐกิจสังคมในประเทศไทยที่เรื้อรังมายาวนานและมาตรการในการควบคุมโรคโควิด-19 ทั้งการรักษาระยะห่าง การปิดสถานประกอบการ การลดการติดต่อทางกายภาพ ล้วนส่งผลให้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่แม่ค้าในตลาด เด็กนักเรียน ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์เอง ที่ต่างเจอกับปัญหาทางสุขภาพจิตและอาจถึงขั้นเข้าได้กับอาการผิดปกติทางจิตเวช 

จากการถอดบทเรียนในหลายประเทศพบว่าแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 นั้น แบ่งได้เป็นคลื่น 4 ลูก คือ คลื่นลูกที่ 1 ในช่วง 1-3 เดือนแรกที่เริ่มมีโรคระบาด และอาจยาวนานถึง 9 เดือนหากมีการกลับมาระบาดซ้ำเป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคนและขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง คลื่นลูกที่ 2 คือ ช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยผ่าตัดที่รอได้ต้องได้รับการดูแลหลังจากชะลอการพบแพทย์ไปก่อนหน้านี้ และอาจกลับมาสู่หน่วยบริการแบบ “ล้นทะลัก (Influx)”  คลื่นลูกที่ 3 คือ ช่วง 4-9 เดือนหลังเริ่มโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดัน เบาหวาน ซึ่งให้อยู่รักษาที่บ้านหรือรับยาผ่านไปรษณีย์ในช่วงก่อนหน้านี้ ต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์หรือรับการรักษา 

และคลื่นลูกที่ 4 คือช่วง 1-3 ปี หลังโรคระบาด เกิดผลกระทบระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (Economic injury) ซึ่งส่งผลลูกโซ่มายังผลกระทบด้านสุขภาพจิต เช่น คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การให้บริการในภาวะวิกฤตมาอย่างยาวนานยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟ โดยผลกระทบใน 3 ด้านมีความรุนแรงที่ “ขึ้นเร็ว” และ “ลงช้า”  

ขณะนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในขาลงของคลื่นลูกที่ 1 และกำลังจะเข้าลูกที่ 2 3 และ 4

เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลื่นลูกที่ 4 จะถาโถมเป็นคลื่นยักษ์สึนามิ The Urbanis มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการฟื้นฟูจิตใจและการรับมือของจิตแพทย์ไทยว่าเพียงพอกับสถานการณ์คลื่นลูกใหญ่ที่กำลังกระทบกับคนหมู่มากหรือไม่

คลื่นลูกที่ 4  จากวิกฤตโควิต ปัญหาสุขภาพจิต น่ากังวลขนาดไหน 

อะไรน่ากังวลแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้มากกว่าความเป็นจริง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรารับรู้เรื่องราวในสังคมว่าใหญ่เล็กเพียงใดผ่านสื่อต่างๆ และสื่อมีแนวโน้มที่ต้องการนำเสนอข้อมูลให้เล่นกับความรู้สึกคนรับข้อมูลเพื่อเรียกยอดวิว ในยุคดิจิตัล ประชาชนจึงต้องระวังและใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อมากๆ ซึ่งการเข้าถึงและเข้าใจสังคมจริงๆนั้น สามารถดูได้จากข้อมูลและค่าทางสถิติต่างๆ  ตัวอย่างที่ อาจารย์ทวีศิลป์  วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พูดถึงจำนวนสถิติการฆ่าตัวตาย ว่า “ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย” ก็พูดในเชิงสิถิติภาพรวมใหญ่ของประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับอารมณ์ว่า แปลว่าเสียใจด้วยหรือแปลว่าไม่แคร์ แต่สื่อซึ่งสนใจที่อารมณ์มากกว่าก็ดึงมาประโยคเดียวนำเสนอเลย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น ถ้าความเข้าใจว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ฯอัตราการฆ่าตัวตายในช่วงนั้นก็เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้จริงๆ แต่ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตทั้งหมดทั้งมวลจริงๆ เพราะปัญหาสุขภาพจิตใช้ได้จำกัดแค่เรื่องฆ่าตัวตาย เพียงแต่การฆ่าตัวตายสะเทือนใจร้ายแรงที่สุดเลยถูกนำเสนอ

ทำความเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพจิตในทัศนคติของผม ซึ่งหมายถึงสุขภาพจิตแบบความเจ็บความป่วย มีอาการซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิต ความผิดปกติสารเคมีในสมองที่ทำงานได้ไม่เหมือนภาวะทั่วไป เช่นภาวะเศร้าซึม วิตกกังวลคิดวนไปมาหยุดไม่ได้ ถ้าเอาแต่ว่า สุขภาพจิตไม่ดีคือไม่มีความสุข มันตัดสินในระนาบเดียว ค่อนข้างอธิบายกว้างไป ถ้าเราย้อนกลับไปดูพื้นฐานทางปรัชญาชีวิต มนุษย์ก็เป็นผู้มีความทุกข์อะไรบ้างเสมอและมันตรงไปตรงมา ไม่มีเงินใช้ ไม่ปลอดภัยมั่นคงใครๆก็แย่ สุขภาพจิตไม่มีทางดีได้ตลอดเวลา ยิ่งอารมณ์ความรู้สึกก็เปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆตามสถานการณ์ชีวิตได้ตลอด ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม โควิด- 19 ดังนั้น การมาดูที่ปลายเหตุ อย่างการไม่มีความสุข แล้วเรียกว่า “โรคซึมเศร้า” มันเหมือนผลักให้เป็นเรื่องการแพทย์เสียหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วการไม่มีความสุขอาจจะไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นปัญหาชีวิตคือชีวิตที่น่าเศร้า ชวนให้คนรอบข้างเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  หรืออย่างการฆ่าตัวตาย อาจจะไม่ใช่เพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ฆ่าตัวตายเพราะไม่เห็นความหวังในชีวิต คำว่า “คิดสั้น” นี่สื่อมากเลยๆ มันก็ไม่ได้ผิดนะครับที่คิดยาวไม่ได้ ต้องเห็นใจกันเพราะพอหดหู่ท้อแท้ มองอนาคตยาวๆย่อมไม่เห็นอะไร     

การรักษาที่ปลายเหตุ

หากมองปัญหาสุขภาพจิตหรือสุขภาพกายก็ตาม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงว่าต้องเจอผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการทางสมอง แต่จริงๆแล้วผู้เชี่ยวชาญก็ทำได้แค่แก้ปลายเหตุ ตัวอย่างเช่น ช่วงหนึ่งเคยมีนโยบายกำจัดความจน จริงๆแล้วความจนเป็นปลายเหตุที่มาจากหลายสาเหตุ  แก้ที่จนเลยเฉยๆไม่ได้ต้องย้อนขึ้นไปหลายปัจจัย ทั้งระบบอุปถัมภ์ผูกขาด ระบบการศึกษา สิทธิหรือโอกาสในการทำกิน ฯลฯ หากคนเข้าใจว่าจิตแพทย์เป็นคนกำจัดความทุกข์ ทุกข์ใจจากวิกฤตโควิดให้มาโรงพยาบาลเท่านั้น คงถือว่ามองแค่ปลายเหตุ จริงอยู่ที่หมอพอจะช่วยให้ยาลดความเครียด ช่วยนอนหลับ แต่ตัวต้นเหตุในโจทย์ชีวิต มันอยู่นอกการแพทย์ เพราะงานของจิตแพทย์นั้นคือการรักษาเมื่อมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความคิดและอารมณ์ทำงานผิดปกติไป ไม่ใช่พวกอารมณ์เศร้าธรรมดาที่เกิดจากการตกงาน เลิกกับแฟน สูญเสียญาติคนรัก แล้วรู้สึกเศร้า 3-4 วัน หรือเป็นเดือนก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การเศร้าตามเหตุการณ์ หรือตกงาน ไม่มีจะกิน ขอยืมเงินใครไม่ได้ การเศร้าแบบนี้ไม่แปลก

ดังนั้น เมื่อมองเรื่องโควิด จะมีส่วนเป็นปัญหาสุขภาพจิตในปัญหาสาธารณสุขก็จริง และก้อนใหญ่กว่านั้นคือปัญหาสังคมภาพรวมใหญ่ทั้งหหมด  ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณะสุขล้วนๆเหมือนตอนติดเชื้อไวรัส แต่ยังมีอีกหลายกระทรวงและองค์กรหลายหน่วยงานที่ต้องแก้ปัญหาด้วยกัน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ที่จะมาช่วยกัน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการความช่วยเหลือ ไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุ เช่นเจอใครเครียดแล้วอยากตายส่งมาที่โรงพยาบาล สมมติคนไข้มาถึง โอเค เศร้าเข้าเกณฑ์โรคซึมเศร้า หมอจ่ายยาแก้โรคซึมเศร้าไปให้รับประทาน แต่ถ้าคนไข้ยังไม่มีเงินใช้สักบาท คืนนี้ยังไม่รู้จะไปนอนไหน ลูกจะมีอะไรกิน มันไม่น่าจะเปลี่ยนด้วยการรักษาของแพทย์ปัจจัยเดียวได้

ศักยภาพของจิตแพทย์ไทยในการรองรับผู้ป่วยทางจิตหลังโควิด-19

การบริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19   ข้อมูลงานวิจัยทางระบาดวิทยาบอกว่า คนไข้หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เข้าสู่กระบวนการรักษาจริงๆ อาจจะไม่ถึงครึ่งมาตั้งแต่แรกแล้ว การให้การบริการยังไม่ทั่วถึง เช่น โรคทางสุขภาพจิตที่ดูป่วยชัดๆ อย่าง วิกลจริต ปัญญาอ่อน ออทิสติก หรือ สมองเสื่อมในวัยชรา การบริการของเรายังเรียกได้ว่าไม่เต็มที่ เพราะขาดแคลนทั้งทรัพยากร บุคคล เวชภัณฑ์ อยู่ก่อน หากดูตามค่าเฉลี่ยบุคคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนประชากรขององค์การอนามัยโลก จะพบว่าประเทศไทยยังมีอัตราส่วนที่น้อยมาก เช่น คร่าวๆ องค์การอนามัยโลกบอกควรมี 10 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ประเทศไทยอาจมีเพียง 1.7-2 คน ต่อประชากร 1 แสนคน  สติถิจำนวนบุคลากร การเข้าถึงการบริการ สถานที่ตรวจรักษายังไม่ทั่วถึง ซึ่งไม่เพียงแค่จิตแพทย์ แต่เกิดขึ้นกับทุกสาขาโรค ระบบสาธารณสุขค่อนข้างจะรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆ อย่างการรักษาในต่างจังหวัด หากรู้สึกไม่ไว้ใจต่อผลการรักษา คนก็จะแห่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ เช่น โรงพยาบาลศิริราช รามาธิบดี เพราะเข้าใจว่าการรักษาที่กรุงเทพฯ ดีกว่า การกระจายตัวของจิตแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางต่างๆมีจำนวนการกระจายตัวไปต่างจังหวัดที่ยังต่ำอยู่ 

การผลิตบุคลากรจิตแพทย์ 

เรียนตามตรงว่า ผลิตได้ไม่มาก และไม่ทันกับความต้องการ แพทย์ที่เรียนทางด้านจิตเวชหรือพยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางมีน้อย ต้องใช้บุคคลากรระบบสาธารณสุขทั่วไป เช่น การฝึกพยาบาล บุคลากร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เข้ามาช่วยรับมือ ในเรื่องความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต แต่ก็ต้องถือว่า ปัญหาโควิด-19 เปรียบเหมือนตัวป่วนระบบของทุกวงการ ขับเน้นให้เห็นถึงปัญหาที่เปราะบาง ที่แต่เดิมมีสัญญาณปัญหาเหมือนจะแย่อยู่แล้ว แต่พอเจอโควิดทำให้เห็นปัญหาเด่นชัดขึ้นมาก เกิดขึ้นทุกวงการ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต 

ในช่วงโควิด ปัญหาสุขภาพจิตเป็นอย่างไร  

มีปัญหาชัดเจนขึ้นแน่นอน ด้วยระดับความเครียดที่มากขึ้น สมองก็ทำงานผิดปกติ คนไข้ที่ผมพบ หลายรายอาการหนักขึ้น ต้องเพิ่มยาเพราะแก้ที่ต้นเหตุไม่ได้ อยู่บ้านแล้วเครียดก็ไปไหนไม่ได้ บ้านก็ไม่ได้ใหญ่ อยู่กับญาติแล้วเครียดก็แยกกันอยู่ไม่ได้ เด็กวัยรุ่นที่ต้องเรียนหนังสือออนไลน์หรือไม่มีอะไรทำ ก็เกิดความรู้สึกเบื่อหนักขึ้น ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวคงเพิ่มขึ้น ทุกคนต้องอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัดด้วยกัน เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เมื่อก่อนยังสามารถออกไปข้างนอกได้ เจอเพื่อนให้ระบายได้ แต่ตอนนี้ถูกจำกัดค่อนข้างเยอะ มีผลทั้งในแง่การเพิ่มปัญหา จำนวนการให้บริการที่ต้องมากขึ้นแต่ยังไม่ทั่วถึงแถมโรงพยาบาลก็ปิดหรือรับตรวจน้อยเพราะจะระดมคนไปตรวจรักษาโควิท คนกลุ่มที่มีบุคลิกแบบเก็บตัว (introvert) อาจจะคิดว่าเขาชิน แต่เอาจริงๆก็ไม่ได้มีความสุข เพราะบ้านไม่ได้อยู่คนเดียวแล้ว มีหลายคนมาอยู่ เช่นการอยู่กับพ่อแม่  เมื่อพ่อแม่ว่างไม่ได้ทำอะไรก็เกิดปัญหากันเรื่องความจุกจิก ปัญหาระหว่างเจนเบบี้บูมเมอร์ (baby boomer) กับ เจนวาย  (Gen Y) สูงขึ้น หรือ ในเจนวายปลายๆ พวกเด็กที่จบช่วงนี้ก็คงเคว้งคว้างทั้งเรื่องการสมัครงาน หรือคนที่ทำงานสายโรงแรมหรือทำโฮสเทลก็แย่ สายร้านอาหารก็แย่ ช่วงปิดกิจการถ้าเงินเก็บไม่พอก็พัง

การแก้ปัญหาต้องเริ่มในระดับสังคม 

สมมุติถ้ามีคนอยากตายแล้วพามาโรงพยาบาลพบจิตแพทย์ ก็คงช่วยๆคุยแก้ปลายเหตุกันไป แต่ถ้ามองการแก้ปัญหาองค์รวม เป็นระดับสังคม ตัวอย่าง เช่นถ้าผมอับจนหนทาง คิดจะฆ่าตัวตายแล้ว พอได้ข่าวแถวบ้าน มีญาติให้ยืมเงิน หรือพักชำระหนี้ ผมอาจจะไปรับข้าวแจกมากินก่อน หยิบอะไรจากตู้ปันสุขมากินที่บ้าน แล้วตั้งหลักได้ง่ายเมื่อท้องอิ่ม หรือถ้ามีองค์กรมาช่วยเรื่องปัญหาที่อยู่อาศัย รัฐมีมาตรการดูแล ผมยังรู้สึกได้ว่ายังมีฟางอีกเส้นหนึ่งให้คว้าไว้เป็นความหวัง ซึ่งการจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด ไม่ใช่การที่สิ้นหวังทุกด้าน ไม่มีการโอบอุ้มทางสังคมใดๆแล้วมาพบจิตแพทย์

ในเชิงสังคม กระทบทุกคน 

อย่างพวกแพทย์เองก็เครียดนะ ในฐานะผู้ช่วยเหลือแต่ปริมาณงานที่เยอะขึ้น แพทย์เองก็รู้สึกถึงความเสี่ยง เกิดความเครียดทั้งการต้องอยู่เวรนานขึ้นในการตรวจ ถึงแม้ส่วนหนึ่งที่สังคมพยายามให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์หรือส่งของบริจาคมาที่โรงพยาบาล มีการเลี้ยงข้าวทั้งโรงพยาบาล แต่ก็ยังเป็นคนละส่วนกัน เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาในช่วงแรกๆ ก็ถูกชาวบ้านกลัวและรังเกียจ พยาบาลเดินไปในชุมชน คนกลัวแพร่เชื้อก็มี เป็นอีกอาชีพที่เสี่ยงไม่ต่างจากคนที่ทำงานในสนามบิน 

เมืองแบบไหนที่ท่านมองว่าจะบรรเทาความตึงเครียด หรือ บรรเทาความเสี่ยงต่อโรคทางจิต หรือภาวะไม่ปกติทางจิตใจ

ถ้าเรื่องดีไซน์เมืองให้น่าอยู่ ดีต่อใจเนี่ยะ ปัญหามันมีตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว คือ คนเมืองไม่มีที่ไป ถ้าเราไปต่างประเทศที่เจริญมากๆ จะมีความรู้สึกว่ามีจังหวะเพลินในการเดิน มันร่มรื่นกว่า มีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่พักสาธารณะ สามารถแวะนั่งพัก นั่งเล่นในสวนสาธารณะ แต่พื้นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกดีให้พลังบวก ในกรุงเทพฯยังมีไม่เยอะ หากพูดกันตามจริง คนกรุงเทพฯ ทำอะไรแล้วรู้สึกดี ผมว่าคือการได้ไปตากแอร์ในห้างสรรพสินค้า หรือนั่งกินอะไรอร่อยๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาปิดหมดไง หรือมีการตรวจ เช็คอิน รายละเอียดเยอะ จึงไม่ชิลล์  คนไม่รู้จะไปเดินเล่นที่ไหน ยิ่งช่วงนี้อากาศร้อนมาก ต้นไม้ข้างทางก็ไม่มี ตัดเพราะสายไฟพันกับต้นไม้บ้าง ต้นไม้ใหญ่ก็ถูกตัดกลายเป็นต้นไม้กุด หาความจำเริญใจไม่ได้ พื้นที่สีเขียว ร่มไม้เย็น พื้นที่สงบที่กรุงเทพฯไม่มีมานานแล้ว 

นอกจากนี้ช่วงโควิด-19 ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มมากขึ้น คนซื้ออาหารใส่กล่องทำให้จำนวนขยะเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งแพจเกจ ขวดน้ำ ซองน้ำจิ้ม คนไทยกินข้าวพร้อมเครื่องเคียงต่างๆเยอะด้วย กลายเป็นขยะหนักมาก แต่เอาไว้ก่อนไงเรื่องสิ่งแวดล้อม คนกลัวตาย ทีนี้เลยเต็มไปหมด

เรื่องความเป็นชุมชนก็คงมีผล ในเขตเมืองคนไม่ค่อยรู้จักกัน ยิ่งในคอนโด ตอนนี้คนไม่ไว้ใจกันเพราะคอนโดมีพื้นที่เล็ก คนจะกลัวการติดโรค เลยระแวงกันมากขึ้น เช่น ขึ้นลิฟต์ก็เครียดแล้ว ดังนั้นพอเกิดวิกฤต แล้วมีความคิดอยากจะทำแชร์คอมมูนิตี้ (share communtiy) เมืองเลยได้ไม่ชัด นอกจากชุมชนที่ไม่ใช่ตึกสูงก็พอได้ มันอาจจะเหมือนที่ผ่านมา ขาดสถาบันที่ยึดเหนี่ยวอย่างวัด ที่เคยเป็นศูนย์กลางของสังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว ห้างปิดไม่รู้ไปไหนจริงๆน่ะคนกรุง

สะท้อนมุมมองด้านจิตเวช ในภาวะวิกฤตโควิด-19  

ผมอยากให้เข้าใจก่อน ว่าอาจจะไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์เสมอไป เช่น ลูกไม่อยากเรียนหนังสือออนไลน์ พ่อแม่ควรคุยก่อนว่าสิ่งที่ลูกเรียนนั้นใช่สิ่งที่อยากเรียนจริงๆไหม คนในครอบครัวต้องคุยกันก่อน ความสุขที่หายไปนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ต้องรับฟังกันมากขึ้น ไม่ใช่ฟังปุ้บตอบเลย ตัดสินเลย ให้แต่ละคนตัดสินใจเอง  คนเราต้องการพื้นที่ในเชิงที่อยู่อาศัยทางกายภาพ บางครอบครัวไม่ยอมให้ลูกล็อคประตูห้องด้วยซ้ำ เข้าไปยุ่งในพื้นที่ส่วนตัวของลูกหลาน พอต้องอยู่กันพร้อมหน้า จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างคนหลายรุ่น ต้องให้พื้นที่ส่วนตัวกับทุกคน ผมมีข้อสังเกตว่า เดี๋ยวนี้เด็กนอนดึก เพราะรอผู้ใหญ่นอนก่อน ถึงจะรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตของเค้าในพื้นที่บ้านนั้นไง

อีกประเด็นที่บอกว่า แก้ด้วยการแพทย์ล้วนๆไม่ได้ เช่น สมัยที่มีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แรงๆ จิตแพทย์จะไปปลอบใจหรือรักษาอะไรได้ ถ้าในพื้นที่ยังมีการยิงกันมีความรุนแรงอยู่ การปลอบใจต้องสอดคล้องกับปัญหารอบตัวด้วย คนที่บอกให้ชาวบ้านทำใจ สงสัยส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเองไม่ได้เดือดร้อน ก็ยังมีข้าวกินนี่นา ยังได้รับเงินเดือนประจำ ถึงแม้ยาจิตเวชอาจจะช่วยได้บ้างเช่น อาการนอนไม่หลับได้รับยานอนหลับก็ช่วยรักษาได้ที่ปลายเหตุ ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลยนะ หากแก้ที่ต้นเหตุไม่ได้ก็เลยต้องแก้ปลายเหตุก่อน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย นอนพอได้ค่อยแก้ปัญหากันไป 

ตอนนี้ระบบสาธารณสุขทางด้านสุขภาพจิตวางแผนรับมืออย่างไร

ระบบการให้บริการเปลี่ยนไปมากครับ เพราะลดการเผชิญหน้าตรงๆกลัวติดเชื้อกัน โดยเราเปลี่ยนเป็นระบบการคุยผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) แอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น  zoom msteam แต่ยังไม่คล่องตัวมากนัก  ในโรงพยาบาลเองก็มีการเพิ่มฉากกั้น หมอจะต้องนั่งห่างมากขึ้น ถ้ามนุษย์คุ้นชินถึงจุดหนึ่งทุกคนจะรู้สึกปกติกับการพูดคุยผ่านหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ได้ก็จะเป็นโอกาสในการให้บริการแบบใหม่ 

ในระยะสั้น เรามีการเพิ่มการบริการ เช่น เปิดให้บริการคำปรึกษาโดย อาสาสมัคร จิตแพทย์ นักวิชาชีพอื่นๆ หรือกระบวนกรที่เคยอบรมประเภทให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เป็นการพูดคุย ซึ่งการใช้โทรศัพท์จะเข้าถึงได้ง่าย แต่ในนโยบายระดับใหญ่ยังไม่ได้พูดคุยกันมากนัก หลายคนมีการแสดงความช่วยเหลือในหลายรูปแบบ เช่น บางคนอาจจะถนัดเขียนบทความ ทำคลิปผ่อนคลาย ซึ่งก็สามารถช่วยรักษาได้ 

การแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเรื้อรังมาก่อนหน้าก็ถูกโควิดเพิ่มแรงกระแทกด้วยคลื่นการเจ็บป่วยและความเครียดจากโรคระบาดที่ส่งผลต่อคนในสังคมเป็นวงกว้าง การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่สามารถฝากความหวังในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตด้วยวิธีการทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว ครอบครัวและคนใกล้ชิดสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันประคับประคองให้สังคมเดินหน้าต่อไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่มีใครรู้อนาคต อีกหน่อยอาจจะเคลียร์ได้ หรือถ้าเชื้อกลายพันธุ์โหดกว่านี้ อาจจะพังถ้วนหน้าแม้เป็นหมอเองก็เถอะ คิดไปก็กังวล เอาปัจจุบันก่อน. 

ที่มา https://www.dmh.go.th/covid19/pnews


Contributor