28/05/2020
Environment

เสียงสะท้อนของชาวเชียงใหม่จากภัยหมอกควันและ COVID-19

กฤติยาณี รังรักษ์
 


หากพูดถึงเมืองเชียงใหม่ทุกคนอาจนึกภาพของภูเขา ดอยสูง วัดวาอารามที่คงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรม รวมไปถึงผู้คนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ที่สำคัญเมืองเชียงใหม่ยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศมากมายมหาศาล 

หลายคนเลือกมาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เพราะ ชอบบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของที่นี่ ทุกครั้งที่มองไปรอบๆตัวมักเจอแต่ภูเขาสีเขียวเต็มไปหมด มันทำให้เรารู้สึกสดชื่นและมีความสุขทุกครั้งแม้ในวันที่เหนื่อยล้าจากงานการไปเที่ยวดอยชมธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย

แต่ความสวยงามของดอย ป่าเขานั้นในทุกวันนี้กลับไม่เป็นเช่นเดิมอีกต่อไป เพราะทุกๆ ปีจะเกิดไฟป่าซึ่งก็ว่ากันว่าเกิดจากธรรมชาติที่แห้งแล้งก่อให้เกิดไฟได้ง่าย อีกทั้งเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่เผาป่าเพื่อการหาอาหารเช่นกัน ทั้งหมดยังคงเป็นปัญหาที่กวนใจชาวเชียงใหม่มานาน ซึ่งมักจะเกิดซ้ำๆ ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ทำให้ชาวเชียงใหม่เคยชินกับการรับมือเมื่อหมอกควันจากไฟป่ามา ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หรือการซื้อเครื่องฟอกอากาศ อีกทั้งนิยมปลูกต้นไม้ในบ้านกันมากขึ้น เพราะเราทุกคนต่างอยากได้อากาศบริสุทธิ์กลับมา

แต่ในปีนี้เหตุการณ์ได้เจอหนักกว่าทุกปี ทั้งไฟป่าครั้งใหญ่และสถานการณ์ COVID-19 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเชียงใหม่ไม่น้อย  เมืองเชียงใหม่ไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายอย่างโควิดเพียงอย่างเดียว แต่กลับต้องต่อสู้กับหมอกควันไฟป่าที่มาพร้อมๆ กันอีกด้วย

แม้ในวันนี้สถานการณ์หมอกควันจะดีขึ้นแล้ว แต่เราก็ยังคงอยากได้ยินเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และมีวิธีรับมือกับผลกระทบอย่างไรบ้าง ดังนั้นแล้วเราจะมาฟังเสียงสะท้อนของชาวเชียงใหม่กัน

ชัยวัฒน์ วุวรรณวิภาต อายุ 35 ปี อาชีพ เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค 

“กระทบเรื่องของค่าใช้จ่ายในการป้องกันพวก mask ฝุ่นควันมาก็ซื้อเครื่องฟอกอากาศอีกเพราะผมมีลูกยังเล็กอยู่ ถ้าเป็นโควิดตอนนี้เรื่องงานเรื่องเงินผมไม่เท่าไหร่นะ ผมยังได้ทำงานปกติ ได้รายได้ปกติไม่ได้เดือดร้อน แต่เอาจริงก็กระทบ lifestyle ของผมด้วย ผมทำงานเครียดบางทีการผ่อนคลายของผมคือการไปดูหนังนะ ผมชอบดูหนังมาก ได้ไปเดินห้างผ่อนคลาย แต่พอตอนนี้มันปิดไปหมดเลยไม่รู้จะไปไหนทำอะไรดี”

“โควิดเราต้องเข้าใจโรค หาวิธีป้องกัน การกินร้อน ช้อนใครช้อนมัน ล้างมือ ยังคงสำคัญ โรคนี้มันเกิดง่ายในความชื้น เข้าใจในการใช้ชีวิตปรับตัว ถ้ายังใช้ชีวิตกับความชื้นโรคก็ยังคงอยู่ไม่ไปไหน ทุกวันนี้การควบคุมดูแลยังไม่ทั่วถึงดีพอ ยังได้รับการแก้ไขที่ไม่ตรงจุด อีกทั้งการให้ความรู้ประชาชนที่เข้าใจยาก เอาจริงควรให้ความรู้ประชาชนเรื่อง ความรอบรู้ด้านสุขภาพ Health Literacy นะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้เลย แต่ก็เนี่ยไม่มีใครมาพูดถึงตรงนี้เลย”

“ความน่ากลัวของโรคนี้คือ การพัฒนาสายพันธุ์ ถ้าตอนนี้เปอร์เซ็นต์การรักษาหายเป็น80% กำลังเป็น20% แต่ถ้าวันนึงมันกลายเป็นรักษาหาย50% เป็นอยู่50% จะทำยังไง หากยังไม่ได้รับการแก้ที่ตรงจุด วิถีชีวิตเราจะเปลี่ยน คนจะใช้ชีวิตระแวงมากขึ้น”

ไม่ประสงค์ออกนาม อาชีพ ผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่ง

“หมอกควันไม่ได้มีผลกระทบกับงานนะ ไม่ได้โดยตรงมีแค่ไปพบลูกค้าข้างนอกก็ต้องใส่หน้ากากหน่อย แต่ถ้าอยู่บ้านมีซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ ถ้าวันไหนฝุ่นแรงก็ไม่ออกบ้านเลย ปิดบ้านอยู่บ้านเอา เรื่องงานก็มีแต่ลูกค้ามาบ่นให้ฟังเรื่องสุขภาพนะ ตัวงานลูกค้าเองก็ไม่มีปัญหากับฝุ่น”

“โควิดมาโดนเต็มๆ กระทบโดยตรงเลยเรื่องมาตรการที่ออกมา ลูกค้าไม่ออกมาไม่พอแถมยังไม่ให้ไปพบที่บ้านอีก เขาเองก็กลัวกัน มันกระทบต่อๆกันไปหมดเหมือนโดมิโนเลยนะ ลูกค้าขาดรายได้ ไม่มีเงินมาลงทุน ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากแบงค์  ไหนจะมีนโยบายไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องจ่าย แบงค์เองก็ขาดรายได้ไปเหมือนกัน”

“โควิดมันทำให้เราต้องค่อยๆ ปรับตัวเนอะ คนหันไปใช้ออนไลน์กันมากขึ้น แต่มันจะเกิดพฤติกรรมความเคยชินนะ เพราะเราสร้างฐานระบบออนไลน์ไว้ให้ช่วงนี้ ถ้าอนาคตลูกค้าเคยชินสะดวกใช้ออนไลน์มากกว่าก็จะไม่มีใครต้องมาแบงค์ละ”

กฤช ทองเหลือง อายุ 49 ปี อาชีพ ธุรกิจโรงคั่วกาแฟ

“มีผลกระทบทุกปีนะ จนเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องอดทน คนเชียงใหม่ที่ทำธุรกิจรู้อยู่แล้วว่าเป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวหาย เจอสภาพแบบนี้จากที่อยากได้อากาศที่ดีกลายเป็นต้องไปใช้เครื่องกรองอากาศแทนจากที่ไม่จำเป็นแต่กลายเป็นว่าตอนนี้จำเป็น เรียกว่าฝุ่นเยอะจนต้องหลบอะเวลาออกไปไหนที”

“พอโควิดมาทำตื่นเต้นเลย เหมือนในหนังเลยอะ หมอกควันที่ว่าแย่แล้วเจอโควิดไปแย่ยิ่งกว่า ปกติหมอกควันมันยังเหลือลูกค้าบ้างนะ แต่โควิดนี่ไม่เหลือเลย คือมันมีผลกับธุรกิจเรามาก เหมือนเราเอาชีวิตทุกคนในครอบครัวมาแขวนไว้ เพราะบ้านเราหาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจนี้อย่างเดียว ก็ต้องหาทางปรับตัวกันไป หาช่องทางขายออนไลน์เอา”

“มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องกลับมาดูตัวเองใหม่ เราไม่ใช่ยักษ์ตัวใหญ่ที่ไปจัดการทุกๆอย่าง ทุกอย่างมันมาเพราะมนุษย์เราเกินตัว ภูมิต้านทางสิ่งแวดล้อมต่ำ เราต้องถ่อมตัวลงมาหน่อย เกรงใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราต้องยอมลดอะไรบางอย่างเพราะมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

เมธาสิทธิ เรืองประสิทธิพร อายุ 31 ปี อาชีพ ธุรกิจร้านกาแฟ

“ร้านมันเป็น outdoor concept  พอหมอกควันมันมามันทำให้ลูกค้าไม่ออกมาใช้บริการ กระทบยอดขายโดยตรงเลย แต่เรารู้อยู่แล้วว่ากลุ่มลูกค้าเราคือใคร ถ้าเราโฟกัสกลุ่มลูกค้าได้ก็ไม่กระทบมาก แบบต้องเก็บลูกค้าที่เป็น local ไว้ สร้างฐานลูกค้าประจำไว้ ถ้ายังพอมีนักท่องเที่ยวถือว่าเป็นรายได้เพิ่มเติม”

“กฎหมายเขาออกมาเรื่องไม่ให้นั่งที่ร้าน การขายเกิดขึ้นน้อยลง ไหนจะมี Social distancing ลูกค้ามาใช้บริการไม่ได้  ใช้ได้ไม่เต็มที่ก็กระทบยอดขาย รวมไปถึงรายได้ช่องทางอื่นพวกคลาสสอนต่างๆก็หายตามไปด้วย ยังดีที่ตอนนี้รายรับมันยัง cover รายจ่ายอยู่ ช่วงนี้อะไรที่ไม่จำเป็นก็หยุดไปก่อน หยุดทุกความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ปรับตัวให้ได้ หารายได้ช่องทางอื่นเพิ่มเติม”

“ยังไงเราก็หนีสถานการณ์แบบนี้ไม่พ้นไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งหน้า เรามีหน้าที่เตรียมตัวเองให้พร้อม ปรับตัวให้รวดเร็วให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ”

จำปี สุจิตตารมย์ อายุ 38 ปี อาชีพ Food Delivery

“อย่างหมอกควันก็แค่ทัศนะวิสัยในการมองเห็นเพราะเราต้องขี่รถตลอดเวลา มีเรื่องของการหายใจบ้าง แต่เราก็มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง แต่มันก็ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลงนะ เสียสุขภาพด้วย บางทีเขาไปหาบรรยากาศคล้ายๆ กันแต่ไม่มีหมอกควันเที่ยวกันก็ยังได้”

“แต่โควิดนี่ทำรายได้หายไปเลย คนอื่นที่เขาตกงานก็หันมาทำแบบเราเยอะ มองไปทางไหนก็มีแต่คนขี่ไม่มีลูกค้าสั่ง ถ้าเป็นงี้นานคงต้องขยับขยายหารายได้เสริมเอา”

“เอาจริงโควิดมันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ แค่ต้องป้องกันตัวเองให้ได้ แต่มันก็ทำให้เศรษฐกิจแย่ คนโดนหยุดงาน เงินก็น้อย อย่างหมอกควันมันก็มาทุกปีจนคนเขาปรับตัวกันได้หมดแล้ว”

ธันยพร กาเผือก อายุ 35 ปี อาชีพ พนักงานโรงแรมตำแหน่ง Assistance Front Manager

“ถ้าชีวิตประจำวันก็กระทบการเดินทางออกไปข้างนอกลำบากขึ้นต้องคอยใส่ mask ที่บ้านก็หาต้นไม้มาปลูก ใช้เครื่องฟอกอากาศเอา แต่ที่ทำงานนี่สิเป็น open air ถ้าใส่ตอนทำงานจะเกิดภาพพจน์ไม่ค่อยดี แต่ถ้าไม่ใส่เราก็ใช้ชีวิตลำบาก ช่วงฝุ่นมานี่ที่โรงแรมกระทบเรื่อง Booking ถูกยกเลิกเยอะเหมือนกันนะ บางทีลูกค้ามาเจอฝุ่นเยอะๆอยากจะเปลี่ยนแพลนกะทันหันก็เปลี่ยนเลย โรงแรมไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องคืนเงินค่าส่วนต่างให้ลูกค้าไป เราเองก็ไม่ได้ service charge ด้วย” 

“โควิดมาปิดโรงแรมเลยที่นี้ นักท่องเที่ยวหาย เปิดไปก็มีแต่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของด้วยเนอะ อันนี้เขาสั่งมาให้ปิดไปเลย แต่ตัวพี่เองยังได้ทำงาน เขาให้ไปเฝ้าโรงแรมช่วงกลางวัน เงินเดือนยังได้เต็มอยู่นะ แต่พนักงานคนอื่นโดนพักงานกันหมดแต่เขาก็จ่ายให้นะ 75% ของเงินเดือน แต่อย่างว่าอะไรๆมันไม่เหมือนเดิมเราเองต้องใช้ชีวิตประหยัดมากขึ้น ปรับตัวการใช้ชีวิตไม่ตระหนกแต่ต้องตื่นตัว”

“พี่มองว่าชาวบ้านคนอื่นๆเขาไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสาร อย่างน้อยหน่วยงานต้องมีแผนระยะยาวที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น ถ้าวันนึงมันเกิดอะไรแทรกซ้อนขึ้นมาอีก ชาวบ้านก็ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือบ้าง”

รัตมณี บงกชผล อายุ 38 ปี อาชีพ แม่บ้าน

“ตอนแรกพี่ทำที่ศูนย์อาหาร แต่เขาโดนปิดไปพี่เลยโดนเลิกจ้างไปด้วย แต่พอดีทางบริษัทเขาให้มาช่วยที่นี่ ยังดีที่ยังได้ทำงานอยู่ แต่มันก็กระทบเรื่องเงินนะ รายได้ลดลง เพราะเราต้องทำงานสลับกับแม่บ้านอีกคน ทำคนละ 15 วัน เงินก็ได้รายวัน เท่ากับว่ารายได้ต่อเดือนหายไปครึ่งนึงเลย ปกติได้เงินเต็มๆ ก็จะไม่พออยู่แล้ว แต่นี่ได้มาแค่ครึ่งเดือน พี่มีภาระเยอะ ไหนจะต้องเลี้ยงลูก ค่าเทอมเขาอีกนี่ยังต้องขอผ่อนเลย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้านอีก ช่วงนี้เลยอาศัยไปรอเขาแจกข้าวฟรีเอา มันยังพอช่วยเราได้บางวันนั่นแหละแต่ยังดีกว่าไม่มีเลยเนอะ”

“ทุกวันนี้ถ้ายังพอเก็บเงินได้ซักวันละ20-30ก็ยังดี ไว้เผื่อใช้จ่าย ใครจ้างไปทำงานที่ไหนก็ไปหมด แต่ไม่มีใครเข้ามาดูแลพี่เลยนะคนตัวเล็กอย่างเราใครเขาจะเห็น แต่ถึงเราไม่มีเราก็ไม่อิจฉาใครนะ อยู่อย่างนี้มีความสุขดี บางทีมันเครียดจนไม่รู้จะเครียดยังไงแล้ว อยู่แบบไม่เครียดเพื่อสุขภาพเราดีกว่า”

พิมลภัณฑ์ อายุ 51 ปี อาชีพ แม่ค้าขายของถนนคนเดิน

“ปกติหมอกควันทุกปีช่วงกุมภายังขายดีอยู่เลย ถึงฝุ่นมันมาแต่ลูกค้าก็ยังได้อยู่ เราขายของแบบนี้ได้รายได้จากถนนคนเดินเป็นหลักมันจะมีช่วงเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว บางที่ได้จากหน้า Hight มามันจะเฉลี่ยๆ กับช่วงหน้า Low ได้อยู่นะ แต่พอมาเป็นช่วงนี้นะไปหมดเลย คนจีนที่ว่าลูกค้าหลักนี่โดนก่อนเลย กลายเป็นช่วงกุมภา มีนานี่ทุกอย่างถูกปิดหมด ทุกวันนี้ขาดรายได้มาสามเดือนแล้ว เราเองไม่ได้ขายช่องทางอื่นด้วย เพราะของเรามันขายให้เฉพาะนักท่องเที่ยว ไม่รู้เลยว่าอีกนานแค่ไหนมันจะดีขึ้น ถึงกลับมาขายได้แต่นักท่องเที่ยวจะยังกลับมารึเปล่า เรายังต้องมีครอบครัวให้ดูแลเนอะ”

“ตอนแรกเขาบอกจะมาช่วยก็ยังไม่มาเลย ให้เราไปลงข้อมูลไว้แต่ยังไม่มีอะไรมาช่วยดูเลย อยากให้เขามาเห็นสภาพจริงๆ จะให้ไปเรียกร้องที่กระทรวงการคลังก็ใช่เรื่อง อย่างที่เขาว่ากันมา ถ้าไม่ตายเพราะโควิดก็อดตายก่อน”

เกศริน พยอมหอม อายุ 30 ปี อาชีพ  พนักงานร้านขายกระเป๋า ย่านนิมมาน

“ลูกค้าจะมีทั้งไทย ต่างชาติ ช่วงหมอกควันยังพอขายได้ ยังพอมีนักท่องเที่ยวบ้างแต่จะน้อยหย่อย แต่ร้านเรามีช่องทางการขายออนไลน์อยู่แล้วเลยทำให้ไม่กระทบมากเท่าไหร่ แต่ถ้ามาพูดถึงโควิดนี่ต้องปิดหน้าร้านไปเลยนะ เพราะเรากลัวเรื่องของ Social กลัวว่าเขาจะเอาไปพูดกันว่าร้านไม่ได้ป้องกันอะไร เลยตัดสินใจปิดหน้าร้านแล้วขายช่องทางออนไลน์อย่างเดียว แต่มีบ้างที่ลูกค้าอยู่ใกล้ๆ อยากมาดูสินค้า ทางเราก็จะเลี่ยงส่งรูปไปแทน จะไม่มีการให้มาที่ร้านเลย กลายเป็นเราต้องทำโปรโมชั่นออกมา มีบริการส่งฟรีในเชียงใหม่ รายได้ยังพอได้บ้างแต่หายไปเยอะ จริงๆ จะมีช่วงนี้ที่ได้ออกงาน Event ด้วย แต่โดนพักหมด มันคือช่องทางรายได้อีกทางแต่อย่างว่าแหละ”

“เราคิดว่าเขาวางแพลนกันไม่แน่นอนเลย ปรับตัวตามแพลนได้ยาก ควรมีมาตรการรองรับให้กับธุรกิจใหญ่ทางการท่องเที่ยวบ้าง  เจ้าของกิจการบ้าง เพราะเจ้าของกิจการก็คือส่วนหนึ่งที่ต้องดูแลพนักงานของเขาด้วยเช่นกัน”

ณัฐภัทร สิงห์คราม อายุ 20 ปี อาชีพ นักศึกษา

“สำหรับผม ผมมองว่าหมอกควันไม่มีผลเท่าโควิด ผมเรียนวิศวะซึ่งตอนนี้กระทบสุดคือการเรียน ถ้าตอนนี้ยังได้เรียนปกติก็กำลังจะปลายภาคพอดี มหาลัยเขาปรับเปลี่ยนเวลาเรียนใหม่ เท่ากับว่าผมจะไม่มีเวลาได้ปิดเทอม ชีวิตการเรียนตอนนี้ลำบากมากครับ ต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ ซึ่งยากมากและไม่เข้าใจเลย ในห้องเวลาเรียนธรรมดาก็เข้าใจยากอยู่แล้วแต่พอมาเป็นออนไลน์ยิ่งไปกันใหญ่ครับ แล้วยังมีบางวิชาที่สอบไปแล้วด้วยครับ สอบออนไลน์เอา ผมไม่โอเคมากๆ ข้อสอบเป็นแบบ open book ซึ่งมันไม่ได้เหมือนกับที่เรียนเลย อยากให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมไวๆ ครับ”

“ผมอยากให้ทุกคนทำตามนโยบายที่เขาให้ครับ แบบคนที่กลับบ้านต่างจังหวัดกันก็กักตัวกันดีกว่าครับ ทุกคนจะได้ปลอดภัย ยอดผู้ติดเชื้อจะได้น้อยๆ หมดๆ ไม่เพิ่มขึ้น มันจะได้จบๆ ซักที”

จุฬาทิพย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี เจ้าของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ร้านนี้เปิดมาได้ 5 เดือนแล้ว ปกติเราเป็นร้านนั่งกินชิวๆ มีโต๊ะมีอะไรให้นั่ง เปิดมาแรกๆ บูมมากเลย กลายเป็นลูกค้าติด รายได้ดีทุกวัน แต่พอโควิดมาเท่านั้นแหละ จบกัน ร้านโดนปิดไป 22 วัน รายได้ไม่มีเลย แต่เราเช่าที่เขาอยู่ มันเลยมีเรื่องของรายจ่ายที่ยังคงต้องจ่ายช่วงที่เราขาดรายได้ไป แต่ตัวเราเองไม่ค่อยเท่าไหร่เพราะทำธุรกิจอื่นควบคู่ไปด้วย มันเลยยังพอมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่เอาจริงเราเป็นห่วงพนักงานมากกว่า ที่ร้านมีน้องอยู่ 4 คน เราโดนปิด น้องๆ เขาเองก็จะไม่มีรายได้เพราะทำงานได้เป็นชั่วโมง เลยต้องให้น้องๆ เขากลับไปอยู่บ้านมันน่าจะโอเคสุด เพราะตัวเราเองก็ไม่รู้จะได้กลับมาเปิดเมื่อไหร่ ช่วงนี้ยังพอได้ขายแบบซื้อกลับบ้าน แต่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เขามาตรวจ ถ้าลูกค้ามารุมซื้อเยอะแล้วเราจัดการไม่ดีมีสิทธิ์โดนปิดอีกรอบแน่ๆ”

“ทุกคนเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันเนอะว่าหน่วยงานเขาไม่มีความแน่นอน เขาไม่ชัดเจนมากกว่า แบบประกาศอะไรออกมาก็ไม่มีเวลาให้ก่อนเลย หรือประกาศมาซักพักนึงเปลี่ยนอีกแล้ว มันทำให้เราเองก็ไม่มั่นใจไปด้วย นี่ขนาดถามตำรวจที่มาตรวจนะเขายังไม่รู้อะไรเลย ว่ามีแผนยังไงต่อ ร้านจะกลับมาเปิดนั่งได้เมื่อไหร่ สิ่งที่ทุกคนอยากได้คือความชัดเจนนั่นแหละ”

วิเชียร มาโนเด อายุ 62 ปี อาชีพ ขับสองแถวรถแดง

“เดือนที่แล้วทั้งเดือนยังได้ไม่ถึงพันเลย แล้วเนี่ยดูวันนี้ลุงออกมาขับตั้งแต่ตีห้าจนตอนนี้ได้มาอยู่ 60 บาท แล้วมันจะอยู่ได้ยังไง ลุงมีภาระตั้งเยอะ ไหนลูกไหนเมีย นี่ยังมีหลานต้องเลี้ยงอีก แล้วรถคันนี้ที่ขับก็ต้องผ่อนเขาเดือนตั้งแปดพัน ยังดีที่เขาช่วยผ่อนผันให้ 3 เดือน แต่เราก็ไม่มีรายได้อยู่ดี เดือนที่แล้วก็ไม่ได้ เดือนนี้จะยังไงก็ไม่รู้ หมดไปจะสองเดือนแล้วยังไม่มีเงินจะไปส่งค่ารถเขาเลย ลุงมีได้เงินคนแก่อยู่นะ แต่มันไม่พอใช้จ่ายหรอกลูก ช่วงนี้อาศัยไปรับข้าวฟรีที่เขาแจกเอา ทันบ้างไม่ทันบ้างแต่ยังพอได้กินเองกับเอาไปฝากเมียบ้าง”

“ช่วงที่หมอกควันมานะมันไม่ได้แย่เท่าโควิดเลย หมอกควันยังไงนักท่องเที่ยวยังมี แต่โควิดนี่แย่มากอย่างที่บอกไป นักท่องเที่ยวหายหมดไม่รู้จะหาทางไหนแล้ว เรื่องที่เขาจะเยียวยาเงินให้ ลุงว่ามันดีเลยแต่แค่ว่ามันลำบาก คนแก่จะไปใช้เทคโนโลยีเป็นยังไง ให้ไปเข้าเว็บๆอะไรก็ไม่รู้ ยาก ขนาดที่ต้องให้คนอื่นช่วยทำให้ นี่ลงทะเบียนไปรอมานานมากยังไม่ได้อะไรเลย”

“อย่างน้อยๆอยากให้หน่วยงานของรัฐหันมาเหลียวแลบ้าง อาชีพเราก็มีผลกระทบ บางทีเราก็ตกเป็นจำเลยของสังคมไปบ้าง แต่อยากให้ความเป็นธรรมกับสองแถวรถแดงหน่อย  เรามันชาวบ้าน เสียงเรามันเล็กนิดเดียวจะไปมีปากมีเสียงอะไรกับเขาได้”


Contributor