26/11/2019
Environment

ที่ผึ้งของเมือง คือที่พึ่งของคน

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
 


เรื่อง/นำเสนอข้อมูล: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์

คุณรู้ไหม – ว่าแมลงตัวเล็กๆ อย่าง “ผึ้ง” ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ผสมเกสรดอกไม้เท่านั้น แต่ผึ้งยังช่วยเราวัดคุณภาพอากาศได้อีกด้วย

หลายสิบปีก่อน กรุงเทพฯ เคยมีแมลงและสัตว์ขนาดเล็กมากมาย  ทั้งหนอนผีเสื้อตัวอ้วนกลมที่ตกลงมากระดึ้บดุ๊กดิ๊กอยู่บนพื้นถนน บุ้งที่โรยตัวลงมาจากกิ่งไม้สูงและห้อยตัวอยู่กลางอากาศ หรือไส้เดือนที่หลงทางมาอยู่บนพื้นคอนกรีต และหลายคนก็อาจคุ้นเคยกับผึ้งที่มาดูดน้ำหวานจากดอกไม้ หรือกระทั่งมาไต่เล่นอยู่ที่แขน 

แต่ในปัจจุบัน แมลงเหล่านี้หายหน้าไป เราปล่อยให้สภาพแวดล้อมที่เราอยู่อาศัยมาถึงจุดที่แมลงเล็กแมลงน้อยเหล่านี้แทบไม่มีเหลืออยู่ในสภาพแวดล้อมเมืองเลย 

ถึงแม้หนอนผีเสื้อ บุ้ง ไส้เดือน หรือแม้กระทั่งผึ้งจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจและน่ากลัวสำหรับคนหลายคน แต่การที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมของเรา ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า พวกมันคือ “ดัชนี” บ่งชี้ได้หรือไม่ ว่าเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน

(ที่มาภาพ:www.smithsonianmag.com)

ในระยะหลังๆ สภาพอากาศของกรุงเทพฯ เลวร้ายลงมาก โดยเฉพาะยามสภาพอากาศวัดค่า AQI (Air Quality Index) ได้เกิน 150 ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตที่ไม่ควรออกจากบ้าน แต่แทบทุกคนก็ยังต้องออกเพื่อไปทำงานและภารกิจของตนตามความจำเป็นของชีวิต นอกจากนี้ เมื่อ “หน้าหนาว” กำลังจะมาเยือน ความกดอากาศสูงก็ยิ่งกดให้อากาศแย่ๆ เหล่านี้อยู่กับเรานานขึ้น 

จริงๆ แล้ว มลภาวะเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตจากกิจกรรมของพวกเราในสังคมเมืองกันเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในมุมหนึ่ง หากเราไม่เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตในเมือง เราก็จะต้องทนกับเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ ปี 

จากการทบทวนงานวิจัยของ The Data-Driven EnviroPolicy Lab (Data-Driven Lab) โดยทีมนักวิจัยจาก Yale-NUS ประเทศสิงคโปร์ ประเด็นด้านคุณภาพอากาศไม่ใช่ปัญหาที่มีแค่เมืองในประเทศไทย แต่หลายเมืองทั่วโลกก็กำลังประสบปัญหาคุณภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน จากทั้งฝุ่นผงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 micron (PM2.5) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และสารพิษในอากาศอื่นๆ เช่น โอโซน (O3) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยสารพิษเหล่านี้มักเป็นผลพลอยได้มาจากกระบวนการเมือง (Urbanization) ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้รถยนต์ส่วนตัว ปริมาณอาคาร และความต้องการการผลิตพลังงานที่มาจากการเผาไหม้ ในปี 2017 รายงานของ The State of Global Affairs กล่าวว่า 92% ของคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นผง PM2.5 เกินกว่ามาตรฐานของ WHO (World Health Organization) ในปีเดียวกัน Telegraph ลงข่าวว่าเมืองลอนดอนมีมลพิษในอากาศขั้นวิกฤติถึง 197 AQI ซึ่งสูงกว่าปักกิ่งที่เผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง นอกจากนี้ เมืองลอสแองเจลิส ก็ได้รับผลกระทบจาก Smog หรือหมอกควันจากโอโซนจนเด็กหลายคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคหืดหอบกำเริบ (L.A.Times) ปารีสในปี 2015 ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้ประชากรปารีสมีอาการไอเรื้อรัง และมีอาการอื่นๆ กับระบบทางเดินหายใจตามมา 

France Pollution

PM2.5 มีที่มาสำคัญ คือ การเผาไหม้ สำหรับกรุงเทพฯ ทาง TDRI เคยจัดงานเสวนาสาธารณะเรื่อง PM2.5 ผลร้ายการพัฒนา สวนทางความยั่งยืน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 และชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ปัจจัยสำคัญของปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์ขณะขับรถ โดยการสร้าง PM2.5 จะยิ่งมากขึ้นเมื่อรถเดินเครื่องอยู่ในขณะรถติด ทั้งนี้ ฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างหรือฝุ่นจากท้องถนนทั่วไปมักอยู่ในกลุ่ม PM10 ที่มีขนาดใหญ่กว่า นอกจากนี้ประเด็น PM2.5 ของกรุงเทพฯ ยังต่างจากปัญหา PM2.5 ในเมืองทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เนื่องจากกลุ่มเมืองในหุบเขาดังกล่าวมีการเผาไหม้จากการเกษตรที่เกิดขึ้นอยู่รอบเมืองอย่างมาก ฉะนั้น การแก้ปัญหาก็ควรที่จะต่างกันตามบริบทและแหล่งกำเนิดของปัญหาเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่ง Data-Driven Lab ได้อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งเป็นสารพิษตั้งต้นของทั้ง PM2.5 และโอโซน ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันตามมา หลายประเทศในทวีปยุโรป เผชิญปัญหาหมอกควันจากไนโตรเจนไดออกไซด์ เพราะรัฐได้เริ่มสนับสนุนรถยนต์ดีเซลมากขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทรถยนต์บางราย เช่น Volkswagen ก็มีการหลบการตรวจสอบประสิทธิภาพในการกรองมลพิษจากการเครื่องยนต์เช่นเดียวกัน (BBC) แสดงถึงช่องโหว่ทางกฎหมายที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถควบคุมได้เต็มที่

เมื่อกระบวนการเมืองกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของประชาคมโลก คุณภาพอากาศในเมืองก็เริ่มกลับมาเป็นประเด็นสาธารณะสุขที่สำคัญอีกครั้ง แต่เดิมทีเราเคยมีผู้ร้ายเป็นโรงงานและโรงไฟฟ้าเผาไหม้ที่สร้างมลพิษในอากาศ แต่เมื่อเมืองโตขึ้นและโรงงานได้ย้ายออกไปบริเวณรอบนอกของเมือง ประชาชนเริ่มมีรายได้เพียงพอต่อการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ผู้ร้ายคนใหม่ของมลพิษอากาศในเมืองจึงกลับกลายเป็นรถยนต์ (Motorized vehicles) ทั้งสำหรับส่วนตัว บรรทุก และโดยสารมวลชนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนแทน จากข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ พ.ศ. 2534 – 2562 (รายเดือน) ของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ตามกราฟด้านล่าง จะเห็นได้ว่าปริมาณการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว หากเราคำนึงถึงกระบวนการเมืองที่แพร่กระจายออกสู่ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ปริมาณรถระหว่างวันในมหานครกรุงเทพฯ คงมีมากขึ้นอย่างมหาศาล (Exponential Growth)

คนในสังคมได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศไม่เท่ากัน หากคุณสามารถอยู่ในห้องปิด เปิดแอร์ และหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกอาคารได้ทั้งวัน คุณก็จะได้รับผลกระทบจากมลพิษนี้น้อยกว่าคนที่ต้องหาเลี้ยงชีพอยู่บนท้องถนนหรือในพื้นที่ภายนอกอาคาร ทำให้เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ (Vicious Cycle) คือ เมื่อมลพิษบนท้องถนนมาก คนก็จะอยากใช้รถเมล์น้อยลง เดินน้อยลง หรือปั่นจักรยานน้อยลง กลายเป็นว่าการขับรถจะเป็นหนทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทนกับมลพิษบนท้องถนน ซึ่งเราเห็นได้ถึงแนวโน้มนี้ตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อการขับรถนำมาซึ่งมลพิษในตัวของมันเอง ยิ่งเราขับรถกันมากเท่าไหร่ มลพิษที่เราก่อก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง เพิ่มเติมมาจากการมีถนนที่ไม่เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน ที่ผลักดันให้คนอื่นมาใช้รถยนต์ส่วนตัวตามมาเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากเราจะหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles หรือ EV) เราก็ควรคำนึงถึงมลพิษที่จะเพิ่มขึ้นตามมาในต่างจังหวัดที่ติดกับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ และเป็นเมืองที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับพื้นที่ต่างจังหวัดอื่นๆ ตามมา ทางออกที่สำคัญคือกรุงเทพฯ ต้องมีขนส่งมวลชนที่ดี ส่งเสริมให้คนเดินได้ หรือใช้ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorized vehicles) เช่น จักรยาน สกู๊ตเตอร์ หรือสเก็ตบอร์ด ที่เราจะสามารถใช้ในการเดินทางได้ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับโลกใบนี้

แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับ “ผึ้ง” ที่เราว่ามาตั้งแต่ต้น?

ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะตกใจว่ามลพิษทางอากาศจู่ๆ ก็กลายมาเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงภายในเวลาอันสั้น แต่แท้จริงแล้ว สัญญาณของมลพิษทางอากาศและความป่วยของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติคอยบอกเราอยู่อย่างเงียบๆ ถึงแม้จะมีตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศทางธรรมชาติ (Bioindicators) อยู่หลายอย่าง ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก (Microbes) (Frontiers in Life Science) ผึ้งนับเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อย่างดี โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโบโลญ่า อิตาลี อธิบายถึงการใช้ผึ้งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อม คือ ถ้าหากมีสารพิษในอากาศที่เป็นภัยต่อผึ้งอยู่ในปริมาณมาก ผึ้งจะตายและสูญหายไปจากพื้นที่ ในทางกลับกัน หากมีสารพิษในอากาศที่ไม่เป็นภัยต่อผึ้ง เราจะสามารถตรวจสอบได้จากสิ่งตกค้างในน้ำผึ้ง ทำให้เรารู้ถึงภัยของสภาพแวดล้อมที่กำลังคืบคลานเข้ามา และสามารถวางแผนนโยบายกันไว้แต่เนิ่นๆ

หลายเมืองทั่วโลกเริ่มเห็นคุณค่าของผึ้งต่อระบบนิเวศในเมือง โดยในบางแห่ง เริ่มส่งเสริมให้คนในเมืองเลี้ยงผึ้งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนไปในตัว (Smart City Dive) รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมปลูกดอกไม้ป่าในพื้นที่ต่างๆ ให้ผึ้งสามารถกลับมามีชีวิตในเมืองได้ เช่น ในอังกฤษ รัฐบาลได้วางแผนสร้างเครือข่ายถนนสำหรับแมลง โดยการปลูกดอกไม้ป่าริมถนน (Telegraph) ส่วนในเมืองอูเทรก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานรัฐได้เริ่มปรับป้ายรถเมล์ให้กลายเป็นพื้นที่พักพิงสำหรับผึ้งและแมลงเช่นกัน (PRI) ซึ่งการปรับตัวของเมืองทั้งหมดนี้ ควรที่จะพัฒนาควบคู่กันระหว่างการลดการสร้างมลพิษในเมือง และการเพิ่มศักยภาพของธรรมชาติในเมืองให้กลับมาอยู่คู่กับมนุษย์ต่อไป เพราะเมื่อเมืองของเรามีที่ให้ผึ้งอยู่ เราก็จะรู้ได้ว่าธรรมชาติในเมืองมีอยู่อย่างเพียงพอและอุดมสมบูรณ์ สามารถเป็นพึ่งให้แก่คนได้อย่างเท่าเทียมเช่นกัน


Contributor