23/06/2023
Environment

เมืองยุงชุม: เมืองแห่งอาณาจักรยุง

นิธิกร ซาโต้
 


หากนึกถึงสัตว์ที่สร้างความรำคาญใจอันดับต้น ๆ ก็คงไม่พ้นเรื่องของ “ยุง” ที่ไม่ว่าจะอาศัยในสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้เเต่บ้าน ที่พัก ก็ต้องเผชิญกับสัตว์เหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งยุงบางชนิดไม่เพียงแต่ก่อความรำคาญโดยการดูดกินเลือดคน และสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้สมองอับเสบ โรคเท้าช้าง ฯลฯ

ทั้งนี้ โรคร้ายที่มี “ยุง” เป็นพาหะนำโรค นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ของพื้นที่เขตเมือง โดยในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องไข้เลือดออกตลอดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบที่เกิดจากยุงมากขึ้น จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสถานการณ์โรคไข้เลือดออก พบว่า กรุงเทพฯ ในปี 2565 มีผู้ป่วย 8,162 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายอัตราร้อยละ 0.06 ซึ่งมากกว่าปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังพบโรคอุบัติใหม่ “ไข้เลือดออกชิคุนกุนยา” หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโรคที่น่าจับตามอง เพราะในปี 2565 กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยถึง 927 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ (จากเดิม 275 ราย)

จากสถิติที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่ายุงพวกนี้มีฤทธิ์ในการเพิ่มดีกรีความน่ารำคาญ และส่งผลกระทบต่อเมืองมากขึ้น ด้วยพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการเพิ่มประชากรยุง เมืองควรจะรับมือและจัดการอย่างไร อีกทั้งควรมีการปรับปรุงพื้นที่อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเมืองยุงชุมและเกิดโรคตามมา

Free photo mosquito

ที่มาภาพ jcomp

ยุง – เมือง – โรค

จากแผนแม่บทด้านการป้องกันควบคุมโรค เขตเมือง ปี 2561-2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ “โรคไข้เลือดออก” เป็น 1 ใน 5 โรคของสถานการณ์โรคที่เป็นปัญหาในเขตเมือง จากรายงานสาธารณสุขแต่ละปี พบว่า จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าพื้นที่เขตชนบท เนื่องด้วยปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

ความหนาแน่นของประชากร การเพิ่มจำนวนประชากรทั้งคนและยุงจากการขยายตัวของเมือง มีผลต่อการแพร่กระจายโรคมากขึ้น เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมีการติดต่อจากเชื้อที่อยู่ในคนและยุง ดังนั้นการที่คนอยู่ร่วมกันหนาแน่นมักมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดโรคไข้เลือดออก

ข้อจำกัดด้านสาธารณสุข และสาธารณูปโภค เนื่องด้วยทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด และการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำได้ไม่ทั่วถึงทุกชุมชนภายในช่วงเวลาอันสั้น นอกจากนี้ หลายครัวเรื่อนยังต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้ต้องมีภาชนะกักเก็บน้ำในครัวเรือนให้เพียงพอ จึงเป็นการสร้างแหล่งเพาะพันธุ์ให้กับยุงลาย

การคมนาคมติดต่อสะดวกและเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรคแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง โดยคนที่อยู่ในช่วงที่มีเชื่้ออยู่ในกระแสโลหิต (viremia) เป็นผู้พาไป

นอกจากนี้ ด้วยผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัติ สภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและการแพร่ขยายพันธุ์ของยุง ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บ้านของ “ยุง” อาณาจักรยุงใจกลางเมือง

หากพูดถึงที่อยู่อาศัยของยุง ยุงจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ที่รกร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์ของพื้นที่นั้น รวมไปถึงแหล่งน้ำนิ่งซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ยุงจะวางไข่ในน้ำนิ่งสกปรก จึงเป็นแหล่งสำคัญของการอาศัยของยุง ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่รกร้างเต็มไปหมด จากการศึกษาข้อมูลจาก สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ) ร่วมกับ We! Park พบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างและพื้นที่รกร้าง มากกว่า 60 พื้นที่ รวมหลายแสนไร่กระจายทั่วทุกเขต นอกจากนี้ยังมีพื้นที่น้ำขังจากน้ำท่วมหรือน้ำสกปรก พื้นที่บริเวณคูน้ำริมถนน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่อันตรายที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นน้ำนิ่งที่สกปรก เนื่องจากไม่ได้รับการระบายน้ำออกอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังเป็นแหล่งของยุงนานาชนิดให้เข้ามาวางไข่และอยู่อาศัยอีกด้วย

ที่มาภาพ: https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2084188

เมืองที่ยุงชอบอยู่ ทำอย่างไรให้ยุงหาย

ด้วยสภาพพื้นที่รกร้างที่มีมากมายในกรุงเทพฯ หนึ่งในสาเหตุในการเพิ่มจำนวนประชากรยุง จนกลายเป็นอาณาจักรยุงในเมือง การออกแบบฟื้นฟูเมืองหรือนโยบายสาธารณะ ถือเป็นหนึ่งแนวทางที่เข้ามาช่วยบรรเทาได้ อาทิ การฟื้นฟูเมือง โดยเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยไม่ปล่อยให้รกร้าง

ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการของ UddC ได้ทำการศึกษาเพื่อปรับปรุงพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วน BKK LOW LINE โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ใต้ทางด่วนสายศรีรัช ช่วงถนนเพชรบุรี-ถนนสาทร สำหรับการเปลี่ยนเป็น ‘ทางด่วนจักรยาน’ เพื่อทางเลือกการเดินทางคนกรุงเทพ เชื่อมโยงพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลพลอยได้ คือ เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่านั้นให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความปลอดภัยจากโรคร้ายของยุงได้อีกด้วย

อีกหนึ่งโครงการที่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ คือ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็น “สวนกลางเมือง” หนึ่งในโครงการของ We! Park ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง ให้เป็นสวนขนาดย่อมในชุมชน ช่วยลดภาษี สร้างสุขภาพดี และทำให้สิ่งแวดล้อมสวยงาม

ดังนั้น เมืองที่ดี ควรเป็นเมืองที่ปลอดภัยจากพาหะนำโรคพวกนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ยุงมันไม่สามารถหมดไปจากโลกใบนี้ ไม่สามารถหมดไปจากเมืองกรุงนี้ได้ 100% เมืองก็ยังเอื้อต่อการเกิดยุงอยู่ดี แต่เราสามารถทำให้เมืองเรานั้นลดจำนวนยุงเหล่านี้ได้ โดยการปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่ใช้งาน พื้นที่รกร้างก็จะลดลง ลดจำนวนยุงลง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้เลือดออกได้อีกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

“โรคไข้เลือดออก”อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวจิ๋ว

กองระบาดวิทยา

ความรู้เกี่ยวกับยุง

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล. #เมืองยุงชุม : ฆ่ายังไงก็ไม่มีวันหมด เมื่อกรุงเทพฯ เอื้อให้เป็นฮาเร็มแห่งยุง. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ,จาก บทความ UddC


Contributor