19/01/2021
Public Realm

มหาวิทยาลัยสิงคโปร์รับมือโควิด-19 อย่างไรให้ยอดผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์มาแล้วเกือบ 1 ปี

สิตานัน อนันตรังสี
 


เมื่อปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินคำพูดคุ้นหูที่ว่า “อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ในปี 2020”

การระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของผู้คนและเมืองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเดินทางสัญจรที่ทำได้ยาก และผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การดำเนินชีวิตของผู้คนจึงตั้งอยู่ความปกติใหม่ (New Normal) สิ่งนี้นับเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญของสังคมโดยรวม

การปิดทำการของสถานที่หลายแห่งเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะสถานศึกษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัย พื้นที่การเรียนรู้หลักของผู้คนในเมือง ก่อให้เกิดวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่อย่างการเรียนการสอนออนไลน์ นับเป็นปรับตัวครั้งใหญ่ของทั้งผู้เรียนและผู้จัดการศึกษา อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ล่าสุดได้ประกาศปิดที่ทำการทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3-31 มกราคม 2564 และให้มีการจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 (ตามประกาศวันที่ 2 มกราคม 2564)

ตัวอย่างมาตรการรับมือกับโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา ที่สำนักข่าว The New York Times ยกเป็นให้กรณีศึกษา คือมหาวิทยาลัยหลักทั้งสามแห่งของประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University: SMU) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU) เพราะจากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อเกือบ 59,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 29 คน (ณ วันที่ 15 มกราคม 2564)

ทว่ากลับไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากทั้งสามมหาวิทยาลัยดังกล่าว

กรณีของเมืองสิงคโปร์ พบว่าร้อยละ 93 ของผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากเอเชียใต้และอื่นๆ ประเด็นนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับว่าไม่ทันได้เตรียมการรับมือกับการระบาด โชคดีที่ประชากรเกือบ 6 ล้านคนส่วนใหญ่คุ้นชินกับกฎระเบียบที่เข้มงวดและมักเคารพกติกา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยดังทั้งสามแห่ง ที่ขานรับและปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลสิงคโปร์อย่างเคร่งครัด ด้วยวิธีการบริหารจัการแบบ “top-down” ของคณะรัฐบาลในการจัดการกับโรคระบาด ผลปรากฏว่าตั้งแต่การระบาดในช่วงแรกเมื่อปีที่แล้วจนถึงวันนี้ยังไม่มีเคสผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นในสามมหาวิทยาลัยหลักของสิงคโปร์เลย

ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้สามมหาวิทยาลัยหลักในสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คือการตอบสนองอย่างรุนแรงต่อโรคระบาดนี้ของสังคมโดยรวม รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดบริการตรวจหาเชื้อและะรักษาอาการป่วยจากโรคโควิด-19 แก่พลเมืองชาวสิงโปร์และผู้อยู่อาศัยระยะยาว โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และได้ทำการจับแยกผู้ติดเชื้อตลอดจนติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ละเมิดกฎและข้อจำกัด ซึ่งรวมถึงการเนรเทศชาวต่างชาติ และเพิกถอนใบอนุญาตทำงานในสิงคโปร์ Rajesh Krishna Balan รองศาสตราจารย์ด้านระบบสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (SMU) กล่าวไว้ว่า “เราไม่พบการระบาดในมหาวิทยาลัยเพราะรัฐบาลจัดการกับนโยบายการควบคุมโรคระบาดได้ดี”

มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เผยถึงยุทธศาสตร์ในการรับมือกับ COVID-19 ว่า คือการยับยั้ง การลดความหนาแน่น และการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ทางมหาวิทยาลัยเองได้นำเทคโนโลยีมาบังคับในมาตการเว้นระยะห่างทางสังคม ได้กำหนดโซนที่แตกต่างกันแก่นักศึกษา และได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงหากมีการฝ่าฝืนข้อกำหนด หากในยามจำเป็นทางมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะทำการตรวจเชื้อในแต่ละคนอย่างถ้วนทั่ว นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตรวจสอบสิ่งปฏิกูลเพื่อหาร่องรอยของเชื้อไวรัสในบริเวณหอพักแล้ว เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐที่ได้ดำเนินการตรวจสอบในลักษณะนี้

เป้าหมายที่ศาสตราจารย์ Tan Eng Chye อธิการบดี NUS ได้ตั้งไว้คือต้องมั่นใจให้ได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อในหมู่นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ทุกๆ วัน ศาสตราจารย์ Tan จะต้องตรวจดูความแออัดของโรงอาหาร ผ่านช่องทางออนไลน์ dashboard หากว่าภาพที่ปรากฏ ณ ขณะนั้น เป็นภาพของโรงอาหารที่อัดแน่นด้วยผู้คนล้นหลาม ท่านอธิการบดีจะส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งเตือน เพื่อให้หลีกเลี่ยงการกระทำอันสุ่มเสี่ยงนี้ และย้ำเตือนนักศึกษาทั้งหลายว่าในที่นี้มีบริการรับส่งอาหารที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ศาสตราจารย์ Tan ตระหนักดีว่าที่มหาวิทยาลัยมีประชากรถึง 50,000 คน สิ่งใดก็ตามที่ทางมหาวิทยาลัยนำมาปฏิบัติย่อมส่งผลถึงชุมชนขนาดใหญ่นอกมหาวิทยาลัยด้วย

อาจารย์หลายท่านในสิงคโปร์ได้กล่าวถึงสายสัมพันธ์หลักที่เชื่อมสามมหาวิทยาลัยหลักของสิงคโปร์ ในการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้คือ ความร่วมมือของประชากรนักศึกษา David Tan รองคณบดีฝ่ายบริหารวิชาการของคณะนิติศาสตร์ NUS ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมานักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกมาคัดค้านการเรียนออนไลน์ แต่ในทางกลับกันนักศึกษาในคณะของเขาไม่ได้ออกมาคัดค้านการเรียนออนไลน์แต่อย่างไร เขากล่าวไว้ว่า “ในสิงคโปร์เรายอมรับกับมัน (การเรียนออนไลน์) ซึ่งเราก็พอใจกับมัน”

ความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่งไม่สามารถได้มาฟรีๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับความยุ่งยากในการดำรงชีวิต การจำกัดโซนของนักศึกษาส่งผลต่อความยุ่งยากในการเข้าถึงบริการธนาคาร การรับประทานอาหารในร้านที่ชื่นชอบ รวมถึงการจัดกลุ่มพบปะกันในหมู่เพื่อน ถึงแม้ว่าพวกเขาสามารถพบกันนอกบริเวณมหาวิทยาลัยได้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ก็นำมาซึ่งข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ร่วมกันลงนามยกเลิกมาตรการจำกัดโซนที่ออกมานี้เมื่อเดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมา

Kathlyn Laiu นักศึกษาปีชั้นปีที่ 1 อายุ 19 ปี ที่พักอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ออกมายอมรับว่ามันค่อนข้างยากที่ต้องใช้ชีวิตในรูปแบบนี้ เธอยังได้เล่าถึงการใช้ชีวิตของในสถานการณ์การระบาดว่าปาร์ตี้เดียวที่เธอได้ไปร่วมเมื่อปีที่แล้วคือปาร์ตี้ฮาโลวีนที่จัดขึ้นบน Zoom เธอใช้เวลาภาคเรียนแรกของเธออยู่กับการรับประทานอาหารในห้องของเธอที่หอพักเป็นส่วนใหญ่ เธอต้องมานับจำนวนคนที่อยู่ในห้องนั่งเล่นส่วนกลางก่อนเข้าไป และในทุก ๆ วัน เธอต้องรายงานอุณหภูมิร่างกายวันละสองผ่านทางแอปพลิเคชันของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดีหลายอย่างก็มีถูกมองข้าม และเกิดความหละหลวมในบางครั้ง ที่ NUS ในโซนยอดฮิตที่มีร้านอาหารมากมาย จะเห็นได้ชัดว่ามีนักศึกษาหลายคนเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต และนักศึกษาหลายคนก็ยอมรับว่าตนเองก็ไม่ได้รายงสานผลอุณหภูมิด้วยเช่นกัน Valencia Maggie Candra นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ NUS ได้กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกคนก็เคารพมัน” ที่ NUS นักศึกษาหลายคนเห็นว่าพวกเขาสามารถอดทนกับการมีข้อกำจัดต่าง ๆ เพราะพวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง

จากข้อสังเกตทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขสำคัญที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการป้องกันโรคโควิด-19 ของทั้งสามมหาวิทยาลัยนี้คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ บทลงโทษที่เข้างวด และ ความสมัครใจของนักศึกษาที่ร่วมทำตามกฎที่มาจากการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมของชาติ

ลักษณะของการใช้ชีวิตในประเทศสิงคโปร์ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นจากมาตรการของทั้งสามมหาวิทยาลัยหลักนี้ ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตในเมือง และวัฒนธรรม การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทั้งในสถานศึกษารวมถึงในพื้นที่เมืองในวงกว้างที่ส่งต่อกับไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สถานศึกษาคือพื้นที่ที่ให้การศึกษาแก่ผู้คนในวงกว้างก็จริงแต่ถ้าหากลองพิจารณาจากปรากฏการณ์การปิดสถานศึกษาในครั้งนี้จะพบว่า การปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำให้เราหยุดการเรียนรู้ แต่ยังทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เรียนรู้จากการปรับตัวในการใช้ชีวิต เพราะที่จริงแล้วการเรียนรู้เป็นมากกว่าการศึกษา


Contributor