18/05/2021
Public Realm

สำรวจ 5 พื้นที่และสถาปัตยกรรมสร้างสรรค์เพื่อสรรสร้างแหล่งเรียนรู้ของเมือง

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ภาพโครงการ Weiliu Wetland Park จาก http://landezine.com/

เมืองของเรามีพื้นที่หรืออาคารสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมให้คนในเมืองเกิดการเรียนรู้อยู่บ้าง แต่ก็เรียกได้ว่ายังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้อาศัยนอกพื้นที่เขตเมืองชั้นในที่ยากจะเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งมักจะกระจายในเมืองชั้นใน จากข้อมูลของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) โดยโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) พบว่า กรุงเทพฯมีสาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้เฉลี่ยเพียง 35 % เท่านั้น

จากบทความ กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ อ่านต่อ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ศาลากลางจังหวัด ห้องสมุด แม้แต่สนามเด็กเล่น พื้นที่หรืออาคารสาธารณะเหล่านี้ จะมีบทบาทที่มากกว่าและหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ วันนี้เราจะพาไปดูเหล่าโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมให้คนเกิดการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับฟังก์ชันการใช้งานอื่นๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีวภาพและวิถีชีวิตของชุมชน พิพิธภัณฑ์ที่เป็นทั้งที่แสดงผลงานศิลปะ วัฒนธรรมและเป็นทั้งแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาวแอฟริกัน-อเมริกันในพื้นที่ไปพร้อมๆกัน อาคารศูนย์การเรียนพุทธศาสนาที่เปิดให้คนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชนที่เป็นทั้งโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ และการเปลี่ยนแปลงอาคารประวัติศาสตร์สู่ศูนย์วัฒนธรรมครบวงจร

ที่มา http://landezine.com/index.php/2019/01/weiliu-wetland-park-by-yifang-ecoscape

Weiliu Wetland Park โครงสร้างสีเขียวเชื่อมโยงชุมชนกับธรรมชาติ

Weiliu Wetland Park เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ สร้างขึ้นบนพื้นที่ราบลุ่มของแม่น้ำ Wei นอกเมืองเสียนหยาง (Xianyang) ประเทศจีน พื้นที่ราบลุ่มบริเวณนี้มีน้ำท่วมตามธรรมชาติ (naturally flooded river) ยาวประมาณ 3,200 เมตร และกว้าง 470 เมตร รวมพื้นที่ 1.25 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของจีนที่ปรากฏวรรณกรรมมากมาย ด้วยเป็นแควใหญ่ที่สุดของแม่น้ำเหลือง และเป็น “mother river” ของทั้ง Xi’an และ Xianyang City

การขยายตัวเป็นเมืองทำให้แม่น้ำ Wei ถูกแทนที่ด้วยคอนกรีตและต้นไม้ตกแต่ง สัตว์ที่เคยอยู่อาศัยกลับไม่มีที่อยู่ ความหลากหลายทางธรรรมชาติถูกทำลาย ภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเสื่อมโทรม และทำให้ชาวเมืองที่ผูกพันกับแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนสูญเสียความรู้สึกเป็นเจ้าของ

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงเกิดเป็นโครงการการฟื้นฟูและการสร้างระบบนิเวศที่ราบน้ำท่วมในท้องถิ่นอย่างครอบคลุม ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของเมืองผ่านชุดกลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงการควบคุมน้ำท่วมแบบปรับตัว (adaptive flood control) การจัดการน้ำฝน (stormwater) การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชุมชนและธรรมชาติในพื้นที่กลับมาเป็นแบบเดิม และเพื่อตอบสนองความต้องการของเมือง

ภายในพื้นที่ได้มีการสร้างกิจกรรมทางชนบทและธรรมชาติ เกิดเป็นพื้นที่พักผ่อนที่ผสมผสานกับวัฒนธรรรมท้องถิ่นเช่น จัตุรัสกลางเมือง สนามเด็กเล่น ฟาร์มในเมือง (urban farms) และโซนออกกำลังกาย ภายในพื้นที่ยังมีการถ่ายทอดองค์ประกอบทางศิลปะผ่านทางสะพานหลากสีสองแห่งในพื้นที่ชุ่มน้ำ โครงสร้างที่เชื่อมโยงกันทั้งสองได้ยกขึ้นและลดระดับลงตามปริมาณน้ำในพื้นที่ ก่อให้เกิดทางเดินริมทะเลสะพานและแท่นชมวิว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานของน้ำและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวนี้ก็ได้กลายเป็นสวนสาธารณะในเมืองที่ให้คุณค่าที่หลากหลายต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนภายในพื้นที่

ที่มา https://www.archdaily.com/907699/perkins-plus-will-design-mile-long-outdoor-museum-for-los-angeles

Destination Crenshaw พิพิธภัณฑ์เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมคนแอฟริกัน-อเมริกัน

Destination Crenshaw เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเปิดโล่ง หรือที่เรียกว่า open-air museum โครงการนี้มีขนาดความยาวที่ 1.3 ไมล์ ตั้งอยู่บริเวณข้างถนนเลขที่ 48 และ 60 ของ Crenshaw Boulevard ถนนเส้นนี้เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชุมชนคนแอฟริกัน-อเมริกันในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา สาเหตุที่โครงการเลือกสร้างบริเวณ เพราะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของงานศิลปะและการอัพเกรดต่างๆ ได้จากสถานี Crenshaw Line Hyde Park และในระดับของเส้นทางรถไฟ

Zena Howard ผู้อำนวยการบริษัท Perkins+Will บริษัทที่ออกแบบโครงการ กล่าวว่า ทุกสิ่งที่เราสร้างขึ้นเป็นเพียงฉากหลังของจิตวิญญาณแห่งศิลปะที่สร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวาภายในย่าน Crenshaw โดยโครงการได้เปลี่ยนโฉมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยส่งเสริมชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ยกระดับศิลปะและวัฒนธรรมของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีการจัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้ง และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เฉลิมฉลองนักคิด เคลื่อนไหวและนักแสดงแห่งลอสแองเจลิส

ที่มา https://www.dezeen.com/2016/08/15/sameep-padora-buddhist-learning-centre-forest-grove-india/amp/

Jetavan เรียนรู้วิถีพุทธไม่สะดุดด้วยอาคารสาธารณะจากวัสดุธรรมชาติ

เชตวัน (Jetavan) เป็นศูนย์การเรียนรู้วิถีพุทธศาสนา (Buddhist education and meditation centre) อยู่ในป่าแถวชนบทของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ประเทศอินเดีย ออกแบบโดย Sameep Padora & Associates ด้วยแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบหน้าตาอาคารศูนย์การเรียนรู้วิถีพุทธศาสนาให้ออกมาทันสมัยมากขึ้น แตกต่างจากอาคารรูปแบบเดิมๆ ตัวอาคารเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ภายในพื้นที่มีอาคารถูกแบ่งออกเป็น 6 อาคาร เพื่อให้ไม่ต้องตัดต้นไม่ที่มีอยู่เดิม

อาคารทั้งหกหลังมีผนังที่ทำจากฝุ่นหินบะซอลต์ (basalt dust) ซึ่งเป็นวัสดุที่สร้างขึ้นโดยการรวมฝุ่นหินที่เหลือจากเหมืองในบริเวณใกล้เคียงเข้ากับขี้เถ้าลอยเสียจากโรงงานในท้องถิ่น ไม้จากเรือเก่าถูกนำมาใช้ใหม่เป็นโครงหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่ได้จากอาคารที่ถูกที่ถูกทำลาย ยังมีวัสดุอื่น ๆ ได้แก่ พื้นโคลนและมูลสัตว์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ และโครงสร้างของฉนวนกันความร้อนที่ทำจากโคลนม้วน (mud rolls) สร้างขึ้นจากถุงผ้ากระสอบรีไซเคิล

ส่วนหลังคาแทนที่จะเป็นหน้าจั่วทั่วไป อาคารทั้งหมดมีหลังคารูปตัววี ทำให้ผู้อยู่ในอาคารสามารถมองออกไปที่ต้นไม้และท้องฟ้าในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆได้และช่วยให้สามารถระบายอากาศได้ดี โดยอาคารเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของช่างฝีมือในท้องถิ่น ส่วนที่ดินทั้งหมดได้รับบริจาคจากเจ้าของโรงงานน้ำตาล ศูนย์การเรียนรู้วิถีพุทธศาสนาแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อให้บริการชุมชนชาวพุทธ Dalit Baudh Ambedka ในเมืองได้มีพื้นที่สำหรับการทำสมาธิและโยคะ รวมถึงการฝึกอบรมด้านวิชาการและวิชาชีพอีกด้วย

ที่มา https://www.archdaily.com/924945/christensen-and-co-design-new-learning-spaces-in-copenhagen

Nordøst Amager School อาคารหลายฟังก์ชัน ที่ตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน

Nordøst Amager School เป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์กลางชุมชน (A communal epicentre for learning) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022 ตั้งอยู่ในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ออกแบบโดย Christensen & Co Architects ร่วมกับ Kjaer & Richter Architects และ the Nordøst Amager School เป็นการออกแบบพื้นที่รูปแบบใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ทั้งยังทำหน้าเป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมหลังเลิกเรียนให้กับผู้ใหญ่และเด็กอีกด้วย 

อาคารได้รับออกแบบที่ผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมและบริบทของเมือง บริเวณใจกลางของพื้นที่คือโซนพักผ่อน (leisure zone) ซึ่งมีฟังก์ชันต้อนรับที่หลากหลาย เชิญชวนให้ผู้คนบนท้องถนนมีปฏิสัมพันธ์กับอาคารการศึกษา แต่บางส่วนของอาคารก็ถูกจำกัดไว้เพื่อแยกพื้นที่ภายนอกออกจากสถานที่เรียน บันไดด้านนอกจะสร้างพื้นที่กันชน (buffer zone) ที่เปลี่ยนผ่านระหว่างทิวทัศน์ของเมืองและอาคารส่วนตัว ภายในบริเวณมีการจัดที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า บันไดยังสามารถใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ต้นไม้ได้ ในขณะที่เด็กๆ สามารถสนุกกับสนามเด็กเล่น ปีนกำแพง บันไดและสไลเดอร์ที่ช่วยให้ลงไปชั้นล่างได้

พื้นที่นี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในสภาวการณ์การเรียนรู้ในอุดมคติ ชั้นล่างสามารถการเข้าถึงได้หลายทาง ส่วนใหญ่เป็นห้องออกกำลังกาย ห้องประชุม พื้นที่ทำเวิร์คช็อป พื้นที่สร้างสรรค์งาน (maker space) และหอประชุม พื้นที่โรงละครสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่สดใสสำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรยาย งานฝีมือ คอนเสิร์ตและการประชุมส่วนกลาง ห้องโถงด้านในมีบันไดขนาดใหญ่เปิดขึ้นไปยังพื้นที่ต่างระดับช่วยให้แสงสว่างในทั้งอาคารผ่านสกายไลท์ (skylights) 

โครงการนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสถาปัตยกรรมที่มีการใช้งานหลายฟังก์ชัน เชื่อมต่อชุมชนเข้ากับโรงเรียนเพื่อให้เป็นสถานเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้และการพักผ่อนทั้งของผู้ใหญ่และเด็ก

 Kaserne Cultural Center อาคารประวัติศาตร์ทหารสู่ศูนย์กลางวัฒนธรรม

Kaserne Cultural Center เป็นโครงการด้านวัฒนธรรมที่ชาวสวิสมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดในรอบทศวรรษ โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ใจกลางเมืองบาเซิล (Basel) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีขนาด 9,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2021 ด้วยงบก่อสร้างกว่า 45 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 157 ล้านบาท ถือเป็นโครงการเปลี่ยนแปลงอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ (large facility) แห่งแรกในเขต Kleinbasel ที่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะ (publicly-funded) เพื่อรวมและปลดล็อกพื้นที่สองแห่งที่ถูกปิดล้อม และขาดการเชื่อมต่อก่อนหน้านี้บริเวณแม่น้ำไรน์

Kaserne เป็นย่านวัฒนธรรมและชุมชนที่สำคัญในเมืองบาเซิล มีร้านอาหารและบาร์หลายแห่งอยู่ติดกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ในพื้นที่นี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัฒนธรรมหลายแห่ง รวมถึงศูนย์การเต้นรำ โรงละคร การแสดงร่วมสมัยและดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ตะวันตกเฉียงเหนือ

ก่อนจะเป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งใหม่ เขตนี้เคยเป็นศูนย์การทหารของกองทัพสวิสเมื่อ 150 ปีก่อน แต่ถูกทิ้งร้างในปี 1966 กองทัพไม่ได้ใช้ประโยชน์อาคารและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ปิดล้อมจากสาธารณะอย่างชัดเจน คณะกรรมการรัฐบาลและตัวแทนชุมชนตัดสินใจใช้ประโยชน์จากอาคารทิ้งร้างให้กลายเป็นศูนย์กลางทางสังคมที่มีชีวิตชีวา

ผู้ออกแบบยังคงรักษาความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ของตัวอาคารไว้ ส่วนหน้าของอาคารจะยังคงรักษาแก่นแท้ดั้งเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ ศูนย์กลางของอาคารจะกลายเป็น “พลาซา” สาธารณะขนาดใหญ่สูง 3 ชั้น ด้านบนจะเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการแสดงสตูดิโอศิลปะ ห้องฝึกซ้อม (rehearsal studios) ห้องมัลติฟังก์ชัน ร้านอาหาร พื้นที่รับประทานอาหารและพื้นที่สำหรับสักการะบูชาทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยพลาซากลางและบันไดแนวตั้ง 3 ทาง ซึ่งจัดให้มีการไหลเวียนตรงศูนย์กลางและทางเข้าออกสาธารณะที่เชื่อมต่อกับจากแม่น้ำไรน์ไปยังอาคารและสวนสาธารณะ

ในอนาคตการพัฒนานี้จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้กับเมือง เป็นโครงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประวัติศาสตร์สู่การเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายให้ผู้คนได้มาทำกิจกรรมและเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมในเมืองของตนเอง

แหล่งข้อมูล

Weiliu Wetland Park

Perkins + Will Design Mile-Long Outdoor Museum for Los Angeles

DESTINATIONCRENSHAW

Sameep Padora builds Buddhist Learning Centre in an Indian forest grove

Jetavan  

NORDØST AMAGER SCHOOL A communal epicentre for learning

Christensen & Co Design New Learning Spaces in Copenhagen

Construction Begins on Focketyn Del Rio’s “Porous” Kaserne Cultural Center

Kaserne Cultural Center by FOCKETYN DEL RIO

KASERNE CULTURAL CENTER, A PUBLIC NEXUS IN THE HEART OF BASEL BY FOCKETYN DEL RIO STUDIO


Contributor