11/01/2021
Environment

เมืองเนเธอร์แลนด์แข่งรื้อพื้นกระเบื้องเพื่อปลูกต้นไม้ สู่เป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง

สิตานัน อนันตรังสี
 


เมืองกับความเป็นพลวัตเป็นของคู่กัน ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของเมืองล้วนเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมุมมอง

ตัวอย่างของการปรับมุมมองต่อเมืองเกิดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ “ประเทศแห่งกระเบื้อง” เห็นได้จากสวนสาธารณะของเมืองหลายแห่งมักปูพื้นด้วยกระเบื้องรูปแบบต่าง ๆ ทว่า ล่าสุดเมืองหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์มีโครงการรื้อพื้นกระเบื้อง แล้วแทนที่ด้วยต้นไม้และพืชพรรณธรรมชาติ

เช่น เมืองรอตเทอร์ดัม (Rotterdam) หรือที่ใคร ๆ หลายคนขนานนามเมืองนี้กันว่าเป็นเสมือน “ประตูสู่ยุโรป” (Gateway to Europe) เริ่มเพิ่มความเขียวด้วยการรื้อกระเบื้องในพื้นที่สวนรอบบ้านเรือน อาคาร และสำนักงาน และแทนที่ด้วยพุ่มไม้และต้นไม้ แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ก็เป็นที่สะดุดตาไม่น้อย การรื้อกระเบื้องที่ปูพื้นที่เรียงรายล้อมรอบตัวเป็นการปูทางไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และทำให้เมืองรอตเทอร์ดัมมีความ “เขียว” มากขึ้น 

หลายคนเคยได้ยินว่า ปัจจุบันไม่ใช่ยุคสมัยที่ประเทศแข่งประเทศ หากเป็นเมืองแข่งกับเมือง

เกิดการแข่งขันรื้อกระเบื้องอย่างดุเดือดในสองเมืองใหญ่ระหว่าง รอตเทอร์ดัม กับ อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เมืองหลวงแห่งประเทศกังหันลม แม้ช่วงแรกพี่ใหญ่อย่างอัมสเตอร์ดัมจะเอาชนะได้ก่อนก็ตาม แต่ไม่นาน รอตเทอร์ดัมก็ตามมาชิงชนะได้ จากการรื้อกระเบื้องทิ้งไป 47,942 แผ่น ซึ่งมากกว่าพี่ใหญ่ที่ทำได้ทั้งสิ้น 46,484 แผ่น

การแข่งขันสร้างผลกระทบทางบวกต่อทั้งสองเมืองอย่างเห็นได้ชัด แต่ละวันสมาชิกสภาท้องถิ่นของทั้งสองเมืองจะได้รับรายงานผลการแข่งขัน และเผยแพร่ต่อไปยังพลเมืองของพวกเขาผ่านช่องทางโซเชียล เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในการปรับเปลี่ยนเมืองให้เขียวขึ้นได้อย่างน่าสนใจ

Kop van Zui โครงการพื้นที่สาธารณะริมน้ำของเนเธอร์แลนด์ที่ระดมพลเมืองกว่า 70 คน เปลี่ยนพื้นที่ดาดแข็งเป็นพื้นที่ซึมน้ำของเมือง

ก่อนหน้านี้ Urgenda ภาคประชาสังคมของเนเธอร์แลนด์ ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนำไปสู่คำสั่งศาลให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25% ภายในปี 2020 ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างการรื้อกระเบื้องนี้ ไม่สามารถทำให้เนเธอร์แลนด์ไปถึงเป้าหมายของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้า แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย Bert Wijbenga สมาชิกสภาท้องถิ่นจากพรรคเสรีนิยมฝั่งขวาในรอตเทอร์ดัม ได้กล่าวถึงการรื้อกระเบื้องนี้ว่าคือ “less about adding volume” และเป็นการสร้างองค์ความรู้สาธารณะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในเป้าหมายความ “เขียว” 

การรื้อกระเบื้องและแทนที่ต้นไม้และพืชพรรณ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของการขยายพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง น้ำท่วม ภัยแล้ง และการสูญเสียความหลากลายทางชีวภาพ ฯลฯ ต้นไม้และพืชพรรณต่าง ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

Tim Van Hattum หัวหน้า Green Climate Solutions Program ของ Wageningen University & Research กล่าวว่า ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะปรากฏให้เห็นในเมือง ฉะนั้นเราจึงต้องขยับเข้าหาความเป็น “nature-inclusive”  และต้องออกแบบวิธีการปฏิบัติต่อโลกใบนี้และสร้างเมืองของเราใหม่

รอตเทอร์ดัมกำลังรับมือกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาน้ำท่วม ระบบคันกั้นน้ำ และการสร้างเนินทรายที่เป็นแนวป้องกันแนวชายฝั่งของเนเธอร์แลนด์กลายเป็นตัวแบบที่สำคัญของโลกในการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เช่นเดียวกันกับหลายเมืองทั่วโลกที่ต้องเผชิญจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรง

นอกจากการป้องกันปัญหาน้ำที่มากแล้ว รอตเทอร์ดัมยังต้องรับมือกับปัญหาใหม่ของเมือง ซึ่งก็คือการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อเป็นแหล่งน้ำดื่มและเอาไว้ใช้ในการรับมือภัยแล้ง สำหรับรอตเทอร์ดัม น้ำเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไปจากเมือง ในขณะเดียวกันน้ำก็คือสินทรัพย์ชั้นเลิศของเมือง การรื้อพื้นผิวที่ของเหลวผ่านไม่ได้อย่างกระเบื้องและคอนกรีต ทำให้น้ำฝนหยดลงไปเป็นน้ำบาดาล ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

เมืองรอตเทอร์ดัมตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างพื้นที่สีเขียวใหม่อีก 20 เฮกเตอร์ หรือราว 125 ไร่ ภายในปี 2022 ทั้งนี้ การรื้อกระเบื้องในช่วงที่ผ่านมา ได้บรรลุเป้าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใหม่ไปแล้วครึ่งทาง ส่วนอีกครึ่งทางที่เหลือเป้าหมายถูกเล็งไว้ที่พื้นที่ดาดฟ้าอาคารและพื้นที่สาธารณะที่ยังใช้ประโยชน์ที่เต็มศักยภาพ

ดาดฟ้าหลายแห่งของเมืองไม่เพียงเป็นหลังคา หากมีวัตถุประสงค์ด้านการรับและกักเก็บน้ำ เช่นดาดฟ้าของสปาร์ตาฟุตบอลคลับ ได้เก็บน้ำฝนไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในสนาม หรือที่ Benthemplein Water Square สนามบาสเก็ตบอลชื่อดังระดับโลก ที่สามารถเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำของเมืองได้เมื่อยามฝนตก

ด้วยจัตุรัสมีระดับความสูงต่ำกว่าพื้นผิวถนน น้ำจึงถูกกักเก็บใต้พื้นผิว สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ทั้งยังช่วยป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่รอบข้าง แต่ถึงแม้ว่าพื้นที่รับน้ำแห่งนี้จะเป็นความคิดริเริ่มที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้ แต่หลายฝ่ายยังมองว่า นี่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างจากคอนกรีต ที่แทรกแซงการทำงานของธรรมชาติในยามฝนตกหนักอยู่ดี

(C)Roel Dijkstra Fotografie-Vlaardingen / Foto Joep van der Pal Rotterdam – Benthemplein

การรื้อกระเบื้องทิ้งและเปิดทางให้ต้นไม้และพืชพรรณต่าง ๆ มีพื้นที่ฝังรากลึกในเมือง เป็นแนวคิดที่สนับสนุนการมีพื้นที่สีเขียวโดยธรรมชาติ การปรับมุมคิดด้วยการรื้อกระเบื้องไม่เพียงปลุกพลังให้พลเมืองร่วมกันสร้างพื้นที่ซึมน้ำได้ในแปลงที่ดินของตนเอง แต่ยังสามารถเปลี่ยนเแปลงมุมมองเกี่ยวกับรูปแบบของเมืองได้อีกด้วย อย่างบริเวณ Kop van Zui ด็อกแลนด์ทางตอนใต้ของรอตเทอร์ดัม ระดมพลเมือง 70 คน มาสร้างพื้นที่สีเขียวบนถนน จนทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะสีเขียวริมน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศ ด้วยระยะทางกว่า 210 เมตร

มุมมองทางความคิดที่เปลี่ยนส่งผลกับเมืองที่เปลี่ยนได้เช่นกัน การเปลี่ยนมุมมองทางความคิดจึงเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการออกแบบเมืองใหม่ Van Hattum กล่าวว่ามันมีความจำเป็นอย่างมาก อย่างเช่นในเรื่องของการลดการใช้รถยนต์

Van Hattum ได้อธิบายไว้ว่า เมืองในอนาคตจะมีพื้นที่สำหรับรถน้อยลง การเดิน การขี่จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะจะกลายเป็นศูนย์กลางซึ่งนำมาสู่โอกาสของการเป็นเมืองสีเขียว มนุษย์เราจะต้องการถนนที่เล็ก และจุดจอดรถที่น้อยลง และจะมีทางเดินสีเขียวเข้ามาแทนที่ เราต้องดึงธรรมชาติเข้ามาหาเมือง ไม่ใช่คิดว่ามันคือสององค์ประกอบที่แยกกัน

เรียบเรียงจาก One Way to Green a City: Knock Out the Tiles


Contributor