10/06/2023
Environment

TEMPORARY EDIBLE GARDEN URBANISM: จะทำเกษตรในปารีสได้อย่างไร หากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง?

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


เกษตรในเมือง (Urban Agriculture) เป็นหนึ่งในนโยบายที่ปารีสและเมืองใหญ่อื่นๆ ในฝรั่งเศส เช่น เมืองลียง (Lyon) เมืองบอร์โด (Bordeaux) ใช้ตอบโจทย์ความท้าทายของเมือง

เมื่อเกิดการกลายเป็นเมือง การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมคือสิ่งแรกๆ ที่หายไป ด้วยราคาที่ดินที่สูงขึ้น อันตรายจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รวมทั้งสิ่งรบกวนเช่น เสียงสัตว์ กลิ่น ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไป เกษตรในเมืองได้ถูกนำกลับมาใหม่เพื่อตอบโจทย์หลายอย่างในปัจจุบัน เช่น โจทย์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน (global warming) พื้นที่ซึมน้ำ ภูมิทัศน์ดาดอ่อน (softscape) ระยะทางอาหาร (food miles) รวมทั้ง ความปลอดภัยในอาหาร (food safety) และความมั่นคงทางอาหาร (food security)

ที่มา https://www.parisculteurs.paris/en/about/urban-agriculture-in-paris/

จากตัวเลขสถิติของเทศบาลกรุงปารีส ในปีหนึ่งปารีสต้องการอาหาร 30 ล้านมื้อ (รวมนักท่องเที่ยวและคนนอกเมืองที่เข้ามาทำงาน) 70% ของผักผลไม้มาจากการนำเข้าทั้งรอบเมืองและในประเทศ และระยะทางเฉลี่ยในการขนส่งอาหารคือ 660 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 20% ของ Carbon Footprint ในเมือง

ด้วยปัญหาต่างๆ ที่กล่าวในข้างต้น ปารีสจึงได้นำนโยบายเกษตรในเมืองมาใช้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ เกษตรแบบมืออาชีพและสวนผักชุมชน

รูปแบบที่ 1 เกษตรแบบมืออาชีพ: การเปลี่ยนพื้นที่ไม่คาดคิดเป็นพื้นที่ทดลองการเกษตร

เกษตรในเมืองแบบมืออาชีพนั้นมีเป้าหมายเพื่อการผลิตเป็นหลัก เป็นการเกษตรที่ต้องการการลงทุนสูง ไม่ว่าจะด้านนวัตกรรมและการก่อสร้าง มีการนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ เทศบาลกรุงปารีสสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเป็นทางการในปี 2016 ผ่านโครงการ 100 Hectares คือวางเป้าให้พื้นที่ 100 เฮกตาร์ หรือ 1 ตารางกิโลเมตรกลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร โดยเปิดรับไอเดียจากนวัตกรให้สมัครร่วมโครงการ

แน่นอนว่า เมืองที่มีความหนาแน่นสูงอย่างปารีสนั้นส่งผลให้ที่ดินหายาก ดังนั้นโครงการนี้จึงเปิดให้นวัตกรสมัครเข้ามา โดยใช้ “พื้นที่ประหลาดๆ” ในการทดลองปลูก เช่น ที่จอดรถใต้ดิน หลังคา ผนัง อาคารทั้งภาครัฐและเอกชน

Paris Expo porte de Versailles Exhibition Center

ที่มา https://www.urw.com/en/website~o~content/assets/convention~o~exhibition/paris-expo-porte-de-versailles/portfolio

ผลปรากฏว่าตอนนี้ แค่สวนผักบนดาดฟ้า (edible roof garden) ก็มีเนื้อที่รวมกันกว่า 80 เฮกตาร์หรือ 0.8 ตารางกิโลเมตรแล้ว เห็นได้จากโครงการเรือธงที่สารคดีนิยมมาถ่ายทำ เช่น การปลูกสวนสตรอเบอรี่บนหลังคาอาคาร Paris Expo porte de Versailles Exhibition Center ซึ่งเป็นสวนดาดฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งสวนบนหลังคาอาคารภาครัฐ เช่น โรงโอเปร่า Palais Garnier โรงโอเปร่า Bastille การปลูกเห็ดแชมปิญอง (Champignon de Paris) ในที่จอดรถใต้ดิน การปลูกสตรอเบอรี่ในตู้คอนเทนเนอร์ หรือ การปลูกหญ้าฝรั่น (Saffron) บนหลังดาดฟ้าสถาบันโลกอาหรับ (Institut du monde arabe) ที่เข้าธีมพืชจากตะวันออกกลาง จะเห็นได้ว่าพืชที่ปลูกจะเป็นพืชมีราคาสูง สำหรับใช้ส่งขายกับร้านอาหารและตลาดในปารีส

แน่นอนว่า ไอเดียเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยการสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐทั้งนโยบายเกษตรในเมือง ควบคู่กับข้อบัญญัติท้องถิ่น (Local Ordinance) การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเอาดาดฟ้าคอนกรีต เปลี่ยนมาเป็นหลังคาสีเขียว (Green Roof) ลดการสะท้อนความร้อนสู่ชั้นบรรยากาศ การเกษตรแบบนี้ใช้งบลงทุนสูงและมีการวิจัยสนับสนุนด้านต่างๆ มากมายทั้ง เกษตรกรรม เทคโนโลยี วิศวกรรม ฯลฯ รวมทั้งปลดล็อคข้อกำหนดอาคารบางอย่างเพื่อทำให้สามารถปลูกพืชได้

เป้าหมายของโครงการเกษตรในเมืองนี้ ถูกวางเป้าไว้อย่างทะเยอทะยาน เช่น ต้องผลิตผัก ผลไม้ เห็ดให้ได้ปีละ 1,650 ตัน ผลิตปลาได้ 7 ตัน ปลูกดอกไม้เพื่อขายได้ 1.2 ล้านดอก และเกิดการจ้างงาน 250 ตำแหน่ง

รูปแบบที่ 2 สวนผักชุมชน (Shared Edible Garden): การเปลี่ยนพื้นที่ร้างเป็นพื้นที่อาหารของชุมชน

การกลับมาอีกครั้งของแนวคิดสวนผักชุมชนเมืองในโลกตะวันตก มีมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และรัฐบาลฝรั่งเศส ต่างมีนโยบายคล้ายๆ กัน คือการเอาที่ดินรัฐมาให้ประชาชนปลูกพืชผักเพื่อผลิตอาหารในช่วงเวลาสงคราม

สำหรับฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ชนชั้นแรงงานที่มาจากภาคการเกษตรมาหางานทำตามเมืองใหญ่ ทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นไปมาของประชากร คริสตจักรคาทอลิก (Catholic Church) จึงเข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้มีการ “สร้างสวนผักของแรงงาน”

หลายคนคงทราบดีว่า หนึ่งในคุณค่าสำคัญของคริสตจักรคาทอลิก คือ ความเป็นครอบครัว จากเหตุการณ์การแรงงานย้ายไปมาส่งผลให้ความเป็นครอบครัวลดลง คริสตจักรจึงได้ผลักดันให้มีการสร้างสวนผัก ให้เป็นทั้งแหล่งผลิตอาหาร และที่สำคัญคือเป็นกลไกในการยึดโยงแรงงานพลัดถิ่นให้สามารถรวมตัวกันเป็นสถาบัน โดยการทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพย์สินที่ตัวเองไม่สามารถมีได้ นั่นคือที่ดินในการปลูกผักและสวนหย่อมสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน ซึ่งหากดูแผนที่สวนผักที่เป็นสวนร่วม ในปี 1970 จะเห็นว่ามีการกระจายตัวในทิศเหนือ ตะวันออก และใต้ของเมือง ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานในสมัยนั้น

ที่มา https://www.acme-journal.org/index.php/acme/article/download/1384/1262

นักวิชาการหลายคนเห็นว่า สวนผักเหล่านี้นับเป็นโอกาสที่ทำให้ชนชั้นแรงงานสามารถ “ควบคุมการผลิตอาหารของตนเอง” ในพื้นที่ชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งเป็น “สิทธิคนเมือง” และแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองและชุมชน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านจนถึงปัจจุบัน ภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) โบสถ์คาทอลิคลดบทบาทในเรื่องนี้ลง กลายเป็น “เทศบาล” ที่ผลักดันและส่งเสริมให้มีสวนทุกเขตแทน มีกลุ่มประชาชนอาสาสมัคร และองค์กรไม่แสวงหากำไรเข้ามาช่วยจัดการสวนผักเหล่านี้ โดยส่งเสริมให้มีทุกเขต

แน่นอนว่าที่ดินหายากและยากยิ่งกว่าเดิม ที่ดินที่ใช้ในการทำสวนผักชุมชนนี้ จึงมาจาก “ที่ดินเอกชนที่รอการพัฒนา” รอให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ แน่นอนว่าภาษีที่ดินก็ต้องเสีย เทศบาลจึงสำรวจและพยายาม “Matching Land Banks” เสาะหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีอยู่ในเมืองกว่า 3,300 เฮกตาร์หรือ 3.3 ตารางกิโลเมตร ให้นำมาพัฒนาเป็นสวนผักชุมชนแทน โดยมีการทำสัญญาในการใช้ที่ดินเป็นการชั่วคราวเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ตอนนี้ ปารีสมีสวนผักชุมกระจายทุกเขต รวม 100 กว่าแห่ง จัดการโดยอาสาที่มาจากเขตนั้นๆ รวมตัวเป็น “สมาคมสวนผัก” ในแต่ละเขต โดยมีเครือข่ายแม่ข่าย “The Garden Seeds” คอยเชื่อมโยงสมาคมเหล่านั้น รวมทั้งสมาคมสวนผักนอกปารีส ในการให้ความรู้ที่จำเป็นและจัดหานักวิชาการและทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น

แม้ว่า วัตถุประสงค์จะเปลี่ยนไปจาก “ทำสวนผักเพื่อกิน” มาเป็นตอบโจทย์คุณค่าใหม่ของคนเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสร้างความเป็นชุมชนให้เกิดขึ้นในย่าน แต่มีสถิติจากเทศบาลกรุงปารีสว่า สวนผักเหล่านี้สามารถเลี้ยงครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ 900 ครอบครัวในฤดูหนาว และ 500 ครอบครัวในฤดูร้อน และคาดว่าจะมากขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีครอบครัวที่ประสบปัญหายากจนเฉียบพลัน

เกษตรในเมืองก้าวต่อไป ที่มากกว่าการปลูกเพื่อกิน

เป้าหมายของสวนผักชุมชนนี้ นอกจากจะผลิตผักผลไม้แล้ว ได้ตั้งเป้าเรื่องการผลิตปุ๋ยไว้ใช้เองจาก ขยะอาหาร (food waste) ตามนโยบายขยะเหลือศูนย์ (zero waste)

เทศบาลกรุงปารีส นอกจากออกนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบแล้ว ยังเป็นตัวกลาง ในการทำสัญญาเช่าที่ดินเอกชน ช่วยจัดการเครือข่ายความรู้ที่จำเป็น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร วิศวกรรม และอื่นๆ รวมทั้งช่วยดูแลไม่ให้มีการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยโดยรอบ ทุกอย่างต้องเป็นออแกนิค รวมทั้งมีการช่วยทดสอบความปลอดภัยว่าดินเหมาะสมปลูกพืชไว้กินหรือไม่

จะเห็นว่า เกษตรในเมือง ดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กว่าจะถึงจุดนี้ ต้องทำการศึกษาวิจัยมาอย่างรอบด้าน รวมทั้งเทศบาลสนับสนุนจริงจังโดยการออกนโยบายและปลดล็อคระเบียบบางอย่าง เพื่อให้เกิดการริเริ่มและขยายไปในวงกว้างได้ รวมทั้งมีการศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนานโยบายต่อไป

จากการสัมภาษณ์อาสาสวนชุมชน เขากล่าวว่า “มันคงเป็นยูโทเปีย หากคิดว่าเกษตรในเมืองจะเลี้ยงคนทั้งเมืองได้ แต่อย่างน้อยมันคือจุดเริ่มต้นในการทดลองทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง” เขาเห็นว่าเกษตรในเมือง มีศักยภาพในการตอบโจทย์ทั้งสิ่งแวดล้อม ระยะทางอาหาร (food miles) ความปลอดภัยในอาหาร (food safety) และความมั่นคงทางอาหาร (food security) รวมทั้งสร้างความเป็นชุมชนในคราวเดียวกัน

ย้อนมองสีเขียวในกรุงเทพฯ

จากการวิเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เสนอแก่ผู้ลงสมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล ทั้งในเชิงปริมาณอยู่ที่ 7.6 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งยังน้อยกว่ามาตรฐานขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่ใกล้ที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 กิโลเมตร หรือ 50-60 นาที 

ยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงตัวเลขเหล่านี้คือ “ที่ดินภาครัฐ กึ่งรัฐ และเอกชนขนาดใหญ่” หากกทม. สามารถเจรจาร่วมกันเพื่อปรับปรุงพื้นที่และเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ได้ ก็เป็นไปได้ที่อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร (Green Area per Capita) จะถึงมาตรฐานเมืองปารีส เมืองลอนดอน หรือองค์การอนามัยโลก และจะทำให้การเข้าถึงเฉลี่ยจะลดลงเป็น 2.5 กิโลเมตร หรือ 30 นาที

หากเอกชนรายย่อยนำที่ดินมาให้ใช้เพื่อการสาธารณะชั่วคราว (10-15 ปี) ด้วยกลไกภาษีที่ดินและระเบียบของ กทม. จะทำให้ปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเพิ่มขึ้น และระยะทางและระยะเวลาในการเข้าถึงจะลดลงอีก ที่ดินเหล่านี้คือโอกาสการสร้างพื้นที่สีเขียวรูปแบบใหม่ๆ ทั้งกินได้ กินไม่ได้ ผสมผสานกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะและพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor