05/10/2022
Environment

ขออภัยในความไม่สะดวก “น้ำกำลังรอระบาย”

พรรณปพร บุญแปง
 


เข้าสู่ช่วงหน้าฝนทีไร คงยากที่จะปฏิเสธกับบรรยากาศเดิม ๆ อย่างปัญหาน้ำค้างท่อรอระบายที่เอ่อล้นเกินครึ่งล้อ สร้างปัญหาจราจรติดขัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม ที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับฤทธิ์ของ “ลานีญา” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ จนสร้างความเดือดร้อนในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีการเตรียมการรับมือกับปริมาณน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วมมาโดยตลอด แต่ทำไมปัญหาน้ำรอระบายยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องจัดการและแก้ไข แล้วที่ผ่านมากรุงเทพฯ มีการรับมือกับปัญหานี้อย่างไร The Urbanis จะชวนทุกท่านมาไขข้อข้องใจในบทความนี้กัน

ทำไม “น้ำรอระบาย” ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก

หากพูดถึงข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่ทำให้กรุงเทพฯ ยังคงประสบปัญหาน้ำรอระบายแทบจะทุกครั้งเมื่อฝนตกนั้น พบว่ามี 3 สาเหตุหลัก คือ (1) โครงสร้างพื้นฐานของเมือง (2) ประสิทธิภาพการระบายน้ำ และ (3) ความสูง-ต่ำของพื้นที่ และแผ่นดินทรุดตัว

1. โครงสร้างพื้นฐานของเมือง

ด้วยสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับระบบระบายน้ำแก้ไขจัดการตามการเติบโตของเมืองไม่ทัน เช่น หากมีการยกระดับถนน แต่ไม่มีระบบระบายน้ำรองรับบริเวณที่ต่ำกว่า เมื่อฝนตกน้ำจึงมักไหลท่วมถนนและซอยที่ต่ำจนเกิดน้ำท่วมขังตามมา

2. ประสิทธิภาพการระบายน้ำ

เนื่องจาก คู คลอง ถูกบ้านเรือนชุมชนรุกล้ำจนไม่สามารถขุดลอกให้กว้างและลึกได้มากพอ รวมทั้งท่อระบายน้ำที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 – 80 เซนติเมตร ซึ่งหากมีปริมาณน้ำฝนสูงเกิน 80 มิลลิเมตร/วัน ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำนานกว่า 3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่) ทั้งนี้ แม้จะมีอุโมงค์ยักษ์ จำนวนกว่า 4 แห่ง ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แต่ด้วยปัญหา “คอขวด” อย่างท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กและคูคลองที่มีขยะ สิ่งปฏิกูลรุกล้ำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว

3. ความสูง-ต่ำของพื้นที่ และการทรุดตัวของแผ่นดิน

นับเป็นปัญหาที่น่าวิตกมากที่สุด เนื่องด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำปากแม่น้ำ มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย (MSL) เพียง 0 – +0.5 เมตร โดยพื้นที่ฝั่งธนบุรี อยู่ในระดับที่สูงกว่าฝั่งพระนคร เพราะเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่ฝั่งพระนครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีลักษณะแอ่งก้นกระทะ จึงง่ายต่อการเกิดน้ำท่วมขังมากกว่า

ประกอบกับ ข้อมูลจากกรมแผนที่ทหาร ปี 2551 พบว่า กรุงเทพฯ มีระดับการทรุดอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร/ปี จากการอัดตัวของดินอ่อนที่เกิดตามธรรมชาติ และจากการรับน้ำหนักจากสิ่งปลูกสร้าง การใช้น้ำบาดาล และการสั่นสะเทือนของจราจร ซึ่งแน่นอนหากไม่มีมาตรการที่สามารถชะลอหรือหยุดการทรุดตัวได้อย่างเพียงพอนั้น จะทำให้ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำที่ได้ลงทุนไว้แล้ว และวางแผนจะลงทุนอีกในอนาคตนั้นอาจประสบความล้มเหลวและลดประสิทธิภาพได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการเกิดน้ำรอระบายที่กล่าวข้างต้น ยังไม่นับรวมปัญหาขยะ ตะกอนไขมันที่อุดตันท่อระบายน้ำ และแผนปฏิบัติการที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาอย่างครบถ้วนของกรุงเทพฯ ที่ยังคงต้องเร่งแก้ไขและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในวันที่ฝนตกหนัก ที่ไหนคนร้องเรียนมากที่สุด

จากการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน แจ้งเหตุเกี่ยวกับ “ปัญหาน้ำท่วมขัง/น้ำรอระบาย” จำนวนกว่า 12,060 เรื่อง จากระบบ Traffy Fondue (ปี 2565) ในจำนวนดังกล่าวมีการดำเนินการแก้ไขเสร็จสิ้น 7,590 เรื่อง หรือคิดเป็น 62.9% อยู่ระหว่างดำเนินการ 3,994 หรือ 33.1% และรอรับเรื่อง 423 หรือ 3.5%

โดยบริเวณที่มีการแจ้งเหตุมากที่สุด 5 อันดับเเรก ได้แก่

  • เขตประเวศ มีการเเจ้งเหตุ 1,540 เรื่อง หรือคิดเป็น 12.8% ได้แก่ ถนนสายหลัก บริเวณถนนอ่อนนุช และ ถนนสายรอง บริเวณถนนทุ่งเศรษฐี เป็นต้น 
  • เขตบางเขน แจ้งเหตุ 844 เรื่อง หรือ 7.0% ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะขาเข้าวงเวียนบางเขน ถนนรามอินทรา ถนนพหลโยธิน และในหมู่บ้านอัมรินทร์ เป็นต้น
  • เขตสวนหลวง แจ้งเหตุ 698 เรื่อง หรือ 5.8% ได้แก่ ถนนกำแพงเพชร 7 ซอยพัฒนาการ 29 ซอยพัฒนาการ 54 เป็นต้น
  • เขตบางกะปิ เเจ้งเหตุ 684 เรื่อง หรือ 5.7% ได้แก่ ซอยรามคำแหง 12 ซอยรามคำแหง 53 เป็นต้น
  • เขตลาดกระบัง แจ้งเหตุ 673 เรื่อง หรือ 5.6% ได้แก่ ถนนหลวงแพ่ง ถนนประชาพัฒนา และ หมู่บ้านพูนสินธานี 3 เป็นต้น

จนถึงตอนนี้ กรุงเทพฯ รับมืออย่างไร

เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้การระบายน้ำแบบไหลตามธรรมชาติ (Gravity Flow) เป็นไปได้ยาก และประสิทธิภาพต่ำ กรุงเทพฯ จึงใช้ “ระบบพื้นที่ปิดล้อม” (Polder system) โดยทำผนังตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ และก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังจากกรณีฝนตกหนัก โดยระบายน้ำออกจากพื้นที่ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย ซึ่งประกอบด้วย 5 ระบบ ดังนี้

1. คูคลอง ลำราง ลำกระโดง

กรุงเทพฯ มีจำนวนรวม 1,682 สาย ความยาวรวมประมาณ 2,604 กิโลเมตร ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต ได้ดำเนินการขุดลอกเป็นประจำทุกปี เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลไปลงสู่อุโมงค์ และสถานีสูบน้ำ แล้วระบายน้ำไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

โดยในปี 2565 ได้รับงบประมาณขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 60,134 เมตร แบ่งเป็นงบประมาณประจำปี 32 คลอง ซึ่งแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565 และได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก จำนวน 10 คลอง นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังมีแผนการขุดลอกคลองเพื่อเชื่อม 9 คลองสายหลัก กับอีก 65 คลอง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต

ทั้งนี้ ด้วยระดับพื้นดินต่ำกว่าระดับน้ำควบคุมในคลองและในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงยังจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่อย่างการเพิ่มท่อระบายน้ำ โดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากพื้นที่

2. สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ

ปัจจุบัน มีสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบาย 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ จำนวน 316 แห่ง ทำให้มีขีดความสามารถของการระบายน้ำในพื้นที่รวม 2,510 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยฝั่งพระนคร มีขีดความสามารถของการระบายน้ำ 1,802 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และฝั่งธนบุรี 708 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการเปิด-ปิด เครื่องสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ฯลฯ ที่ขาดการซ่อมบำรุง ขาดการพัฒนาระบบให้ทันสมัย รวมถึงยังคงใช้ระบบที่อาศัย “คน” และอาศัยประสบการณ์ในการตัดสินใจ หรือในมีบางจุดมีการตั้งเปิด-ปิดเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ทำให้ตลอดระยะที่ผ่านมา จึงมักแก้ไขไม่ทันท่วงทีและเกิดข้อผิดพลาดจัดการปัญหา เช่น กุญแจหาย เป็นต้น

3. ท่อระบายน้ำ

ความยาวประมาณ 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร ในตรอก ซอย ยาวประมาณ 4,514 กิโลเมตร แม้ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ได้รื้อระบบท่อ และขยายเป็นเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 – 1.5 เมตร แต่ยังคงระบายน้ำไม่ได้ทั้งหมด เนื่องด้วยแนวถนนไม่ได้มีเพียงท่อระบายน้ำเท่านั้น แต่ยังมีท่อสาธารณูปโภคต่างๆ ประกอบกับขยะ เศษอาหารที่สะสมจนเกิดการอุดตันของท่อ

กรุงเทพฯ จึงแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยนี้ ผ่านการขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งดำเนินการทุกปีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แต่ด้วยงบฯ ที่แต่ละเขตได้รับไม่เท่ากัน (ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความยาวท่อในเขตนั้นๆ) ทำให้แต่ละเขตไม่สามารถลอกท่อได้ทั้งหมดในปีงบประมาณเดียว

เมื่อส่องงบฯ ในปี 2565 พบว่า มีแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ประมาณ 51% ของความยาวท่อทั้งหมด แบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย (1) แผนงานประจำ ความยาวประมาณ 2,856 กิโลเมตร โดยใช้แรงงานลูกจ้างและรถดูดเลน และจ้างเอกชนดำเนินการ (2) แผนงานร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ นำผู้ต้องขังมาช่วยลอกท่อ ความยาวรวมกว่า 530 กิโลเมตร

4. อุโมงค์ยักษ์

ช่วยเร่งระบายน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ผ่านระบบคลอง และเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำ และบริเวณที่มีขีดจำกัดในการระบายน้ำ โดยปัจจุบันรอบ กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 19 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 155.50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ เพิ่มเติม 6 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 39 กิโลเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 3.5 – 5 เมตร โดยมีประสิทธิภาพระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเทียบเท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำ ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 13 วินาที ได้แก่ (1) อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน (2) อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร (3) อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และ (4) อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ (5) อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด และ (6)  อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อุโมงค์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน จะมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แต่เนื่องจากท่อระบายน้ำและคูคลองไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว  ประกอบกับอุโมงค์ครอบคลุมพื้นที่ระบายน้ำเพียงบางจุด ทำให้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขัง

5. แก้มลิง

ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำ สามารถจัดหาพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำไว้ได้แล้ว จำนวน 34 แห่ง เก็บกักน้ำได้ประมาณ 13.68 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้สร้างแก้มลิงใต้ดินเสร็จสมบูรณ์ 2 แห่ง ได้แก่ Water bank บริเวณ สน.บางเขน (เก็บกักน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร) และ Water bank ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง (เก็บกักน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบ ๆ โดยมีระบบนำน้ำท่วมขังเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงชั่วคราว เมื่อเข้าสู่น้ำในท่อระบายน้ำและคลองพ้นภาวะวิกฤต จึงค่อย ๆ ผ่อนระบายน้ำในแก้มลิงไปสู่ท่อระบายน้ำ คลองและแม่น้ำ

ทั้งนี้ เนื่องจากแก้มลิงใต้ดินปัจจุบันมีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง กล่าวคือ หากแก้มลิงใต้ดินมีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร พบว่าจะสามารถลดระดับน้ำบนถนนได้เพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งแทบจะแก้ปัญหาไม่ได้เลย

ทุกวันนี้ แม้กรุงเทพฯ จะมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหากว่า 1,333 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 14,350 ล้านบาท (ระหว่างปีงบประมาณ 2560 – 2565) แต่ท้ายที่สุดแล้ว ควรมีการประเมินต่อไปว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมานั้น ยังคงสามารถจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้หรือไม่ และควรต้องวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเหล่านี้อย่างไร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อ้างอิง

แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565, สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

(https://dds.bangkok.go.th/public_content/files/001/0006340_1.pdf)

ผ่าปม ‘กรุงเทพฯ’ กับปัญหา ‘น้ำท่วม’ ซ้ำซาก แต่ไม่ไร้ทางออก (https://www.bangkokbiznews.com/social/901862)

น้ำท่วม : เปิดแผนป้องกันแก้ไขน้ำท่วม กทม. ปี 2565 มูลค่า 3.89 พันล้านบาท (https://www.bbc.com/thai/thailand-61491823)

DATABASE จุดเสี่ยง-จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง กรุงเทพฯ

(https://rocketmedialab.co/database-bkk-flood)


Contributor