24/08/2020
Economy
When the Office is Dead – เมื่อออฟฟิศกำลังจะตาย ในโลกใหม่ของการทำงาน
โสภณ ศุภมั่งมี
ว่ากันว่า ออฟฟิศยุคใหม่จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ให้จับตามองเหล่าบรรดาสตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอน แวลลีย์ หรือเมืองที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั่วโลก
Google และ Facebook, สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี, ประกาศอนุญาตให้พนักงานของพวกเขาทำงานจากบ้านได้จนถึงสิ้นปี (BBC, 2020) Twitter เองก็แจ้งในอีเมลถึงพนักงานของบริษัทว่าสามารถทำงานจากบ้านได้ “ตลอดไป” หรือ “ตราบเท่าที่เห็นควร” ออฟฟิศก็ยังพร้อมจะเปิดรับ หรือจะทำงานที่บ้านต่อไปก็แล้วแต่การตัดสินใจของตัวพนักงานเองเพราะที่ผ่านมาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานก็ไม่ได้ลดลง จึงไม่เห็นว่าการเข้าออฟฟิศเป็นเรื่องที่สำคัญเท่าไหร่อีกต่อไป (Techcrunch, 2020)
ในทางตรงกันข้าม บริษัทเทคโนโลยีใดที่ไม่มีมาตรการรองรับการทำงานจากที่บ้านกลับถูกวิจารณ์อย่างหนัก เช่น IBM ซึ่งเคยเป็นผู้บุกเบิกการทำงานจากที่บ้านมาก่อนเพื่อน แต่ดันยกเลิกโครงการไปในปี 2017 (Business, 2017) หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เงอะงะในการปรับต่อไปสู่การ work from home เช่น Accenture, ATT, Cognizant, Epic Systems, Tesla, SpaceX และ Wells Fargo (Medium, 2020) ก็ถูกประนามโดย David Heinemeier Hansson ผู้ร่วมก่อตั้ง Basecamp (แพลตฟอร์มจัดการโปรเจ็กออนไลน์) ทางทวีตเตอร์ว่าบริษัทเหล่านี้ควรหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว
ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่กำลังมองความสำคัญของออฟฟิศเปลี่ยนไป Jeff Haynie, CEO ของบริษัทสตาร์ตอัป Pinpoint ในเมือง Austin ก็ไม่ต่างกัน ช่วงประมาณต้นเดือนมีนาคม ตอนนั้นเขากำลังมองหาพื้นที่เช่าใหม่สำหรับออฟฟิศเพราะสัญญากับ WeWork กำลังจะหมดลงในเดือนสิงหาคม สิ่งที่เขาคิดอยู่ตอนนั้นก็คืออาจจะต้องหาพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนพนักงานในบริษัท แต่แล้วโรคระบาดก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนพนักงานของเขาต้อง WFH ทำงานจากบ้านตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา
Haynie ทำแบบสอบถามกับพนักงานเกี่ยวกับสถานการณ์หลังจากที่การระบาดของไวรัสดีขึ้นและสามารถกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้ กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานบอกว่าถ้าสามารถทำงานจากบ้านต่อไปได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก กลายเป็นว่าเขาต้องกลับมานั่งคิดใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับออฟฟิศ เพราะจากขนาดของออฟฟิศที่เคยคิดว่าต้องโตขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นเล็กลงกว่าเดิมเกือบครึ่ง เพราะมันไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่แล้ว อาจจะมีโต๊ะทำงานแบบชั่วคราวมาตั้ง มีห้องประชุม มีพื้นที่ทำงานแบบรวม แถมไม่พอถ้าพนักงานกว่าครึ่งไม่อยากเข้าออฟฟิศบ่อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่ค่าเช่าแพงเหมือนเดิมก็ได้ด้วย เขากล่าวว่า “มันเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้คิดถึงเลยเมื่อหกสัปดาห์ก่อน แต่กลายเป็นประเด็นที่ผมต้องเอามาคุยกับนักลงทุนในตอนนี้ โดยทั่วไปแล้วมันก็เป็นสถานการณ์ที่ win-win”
ออฟฟิศในฐานะต้นทุนก้อนโตของบริษัทและประสิทธิภาพของการทำงานจากที่บ้าน
นี่อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกการทำงานเลยก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้ออฟฟิศเป็นเหมือนหน้าตาของบริษัท ตบแต่งหรูหราสวยงาม ไม่ต่างจากโรงแรมห้าดาวสุดหรูเพื่อให้ลูกค้า พนักงาน หรือนักลงทุนเดินเข้ามาแล้วประจับตราตรึงใจ มันเป็นฉากหน้าที่ดีงามแต่ว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลและค่าเช่าต่างก็สูงมากเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้าไปอยู่ในย่านทำเลทองของเมืองใหญ่ ยิ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสิ้นเปลืองของบริษัทเลย เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้ต่อจากนี้ก็คือการลดลงของออฟฟิศใหญ่ๆ และการเติบโตของออฟฟิศขนาดเล็กที่เอาไว้เพื่อรองรับการเจอกับลูกค้า สัมภาษณ์พนักงาน หรือแค่ประชุมทีมกันเท่านั้น
อันที่จริง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ ‘ความจำเป็น’ ของออฟฟิศเริ่มเป็นที่ถกเถียงมากขึ้น เพราะออฟฟิศกำลังเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของบริษัท หลายสิบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการขยายตัวของเมือง และค่าเช่าที่ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ข้อมูลชี้ว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2562 กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สำนักงานทั้งสิ้น 8.764 ล้านตารางเมตร มีพื้นที่สำนักงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างราว 1.3 ล้านตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างปี 2562 – 2565 โดยค่าเช่าพื้นที่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจเกรดเอ อาจสูงถึง 1,100 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้ไม่นับว่า อัตราค่าเช่าเติบโตขึ้น 5 – 10% ต่อปี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา (ฐานเศรษฐกิจ, 2019)
แต่สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ข้อถกเถียงยังคงเป็นแค่การคุยกันถึงความเป็นไปได้ มากกว่าการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะหลายคนกังวลว่า หากไม่มีออฟฟิศประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง
หลังจากการแพร่ระบาดหนักของ Covid-19 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทน้อยใหญ่ต่างต้องปรับตัวกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าเต็มใจหรือไม่ หรือจะพร้อมแค่ไหนก็ตาม (แม้แต่บริษัทสตาร์ตอัปของผมเองยังต้องเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์และส่งงานผ่านสายเคเบิลมาเกือบสามเดือนแล้ว) ในตอนแรกนั้นทุกคนยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไง แต่สุดท้ายหลังจากเอาเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่มีอยู่มาปรับใช้ก็พบว่ามันไม่ได้ยากจนเกินไป
แม้แต่บริษัทการเงินระดับโลกอย่าง Morgan Stanley และ Barclays (CNBC, 2020) ที่มีรายงานว่าจะอนุญาตให้พนักงานของพวกเขานั้นทำงานจากบ้านต่อไปได้แม้ว่าการระบาดนั้นจะดีขึ้นแล้วก็ตาม สิ่งหนึ่งที่บริษัทเหล่านี้พบ (ที่ผิดจากที่คาดการณ์ไว้) ก็คือว่าการให้พนักงานทำงานจากบ้านนั้นไม่ได้น่ากลัวนาดนั้น ประสิทธิภาพของพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยซ้ำ มีบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งที่บอกว่าพนักงานทำงานมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ (CNBC, 2020) (นี่ขนาดว่าบางบ้านต้องสู้รบปรบมือกับเด็กๆ ในบ้านช่วงปิดภาคเรียนด้วยนะ) และต่อจากนี้เมื่อธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจที่หดตัวในหลายๆ ภาคส่วน
ดังนั้น การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปอย่างการจ่ายค่าเช่าออฟฟิศราคาแพงทุกเดือนก็เป็นทางเลือกที่มีเหตุผลไม่น้อย
และตอนนี้ทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าจะมุ่งไปทางนั้น บริษัท Alhabet (บริษัทแม่ของ Google) ได้ยกเลิกสัญญาการเข้าซื้อพื้นที่ขนาดมหึมา 185,000 ตรม. (ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นสัญญาที่มีมูลค่าสูงที่สุดใน Bay Area เลยทีเดียว) จากรายงานข่าวของ The Information (The Information, 2020) ทางด้าน CEO ของ Morgan Stanley, James Gorman, ได้ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าพวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพโดยสร้างมลภาวะให้กับโลกได้น้อยลงและคิดว่าเทรนด์นี้น่าจะดำเนินต่อไปในอนาคต (Bloomberg, 2020) บริษัทประกัน Nationwide ก็วางแผนที่จะปิดออฟฟิศกว่า 5 แห่งเพราะจะปรับให้พนักงานบางส่วนนั้นทำงานจากบ้านเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ (Nationwide, 2020) Groupon ที่เพิ่งปลดพนักงานกว่า 44% ของบริษัทออกก็พยายามแบ่งพื้นที่บางส่วนของออฟฟิศให้กับบริษัทอื่น สตาร์ทอัพอย่าง Culdesac ก็ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้สำนักงานใหญ่ที่ San Francisco ไปเลยเพราะตอนนี้การทำงานจากบ้านก็ดำเนินไปด้วยดี
ออฟฟิศเปลี่ยน, เมืองเปลี่ยน
การปรับออฟฟิศยังสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาโรคระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมีการคาดเดาว่ากว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติก็น่าจะอีกปีถึงสองปี (Iberian Property, 2020) ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ การอาศัยอยู่ในเมืองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าดึงดูดสักเท่าไหร่เมื่อก่อนคนกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเพราะต้องทำงานที่นี่ แต่เมื่อการใช้ชีวิตในเมืองมีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้องและตอนนี้สามารถทำงานที่บ้าน (ที่จริงจะที่ไหนก็ได้ในโลกแหละ) ผ่านสายเคเบิลได้แล้ว ก็คงอีกไม่นานที่เหล่าแรงงานมีฝีมือเหล่านี้จะเริ่มตระหนักได้ว่าการอาศัยอยู่ในเมืองเป็นเรื่องสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น พวกเขาสามารถย้ายบ้านออกมาจากความแออัดและใช้ชีวิตในพื้นที่ชานเมืองที่ประหยัดกว่าได้อย่างไม่เดือดร้อน
เพราะนอกเรื่องค่าเช่าที่พักอาศัยที่จ่ายน้อยลงแล้ว การใช้ชีวิตแบบ social distancing ในเมืองก็เป็นเรื่องที่ลำบาก โดยเฉพาะการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่สามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีได้ ยิ่งทำให้การอาศัยอยู่ในเมืองนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพตัวเองไปด้วย (แม้ว่าที่ผ่านมาอัตราห้องว่างในเมืองยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่เพราะพนักงานส่วนใหญ่ยังคงรอกลับไปทำงาน แต่เมื่อไหร่ที่บริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้และเข้าออฟฟิศแค่บางครั้ง ตอนนั้นเราอาจจะเริ่มเห็นอัตราห้องว่างที่สูงขึ้นและค่าเช่าที่ถูกลง)
ซึ่งก็นำมาถึงอัตราการชะลอตัวของป่าคอนกรีตในเมือง ตึกสูงระฟ้าวิวสูงหรือระบบลิฟท์ที่เคลื่อนที่เร็วอาจจะไม่เป็นที่ต้องการของมนุษย์ยุคใหม่อีกต่อไป แค่คิดว่าต้องไปยืนอยู่ในลิฟท์ที่แออัด เบียดกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในนั้นแย่งกันหายใจ (เราอาจจะเห็นราคาของห้องพักชั้นล่างนั้นราคาสูงขึ้นกว่าชั้นบนเหมือนช่วง 9/11 ก็ได้) แค่นั้นก็ไม่อยากทำแล้ว โรคระบาดระดับโลกครั้งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างช่วยไม่ได้ ทั้งรูปร่างหน้าตาของสัญญาเช่าซื้อต่างๆ ไปจนกระทั่งการกู้ธนาคารเพื่อลงทุน ตอนนี้สิ่งที่เห็นเกิดขึ้นแล้วก็คือการออกแบบพื้นที่ใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตแบบ social distancing มีปุ่มกดลิฟท์ด้วยเท้า มีการวางจุดเว้นระยะห่าง ห้องประชุมมีการจัดวางเรียงโต๊ะให้ห่างกัน ประตูเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด มีกล้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร จุดวางแอลกอฮอล์ล้างมือ มีการตรวจสอบการเข้าออกพื้นที่อย่างจริงจัง (บ้านเราก็มี “ไทยชนะ” ที่ไม่แน่ใจว่าทำงานได้ดีมากขนาดไหน ส่วนตัววันนี้ลองใช้ที่ซุปเปอร์มาเก็ตแถวบ้านแต่ระบบบอกว่า “เต็ม” ซึ่งก็น่าจะหมายถึงว่าสถานที่นั้นๆ ไม่ควรเข้าไป แต่ทางซุปเปอร์มาเก็ตเองก็ไม่ได้ห้ามเข้าแต่อย่างใด)
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามที ยังมีบางกลุ่มที่เห็นต่างและเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกับเรื่องร้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตอย่างเช่น SARS หรือ 9/11 ที่ตอนนั้นคนทั่วไปต่างกลัวไปต่างๆ นานา แต่สุดท้ายแล้วเราก็กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมและแทบจะลืมเรื่องราวที่เลวร้ายเหล่านั้นไปเลยทั้งหมด และยิ่งการที่เราต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างมาขึ้น ยิ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมความต้องการในพื้นที่นั้นจะยิ่งสูงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และการทำงานจากบ้านอาจจะมีประสิทธิภาพในตอนนี้ แต่ในระยะยาวไม่มีใครรู้เลยว่ามันจะเป็นยังไง หรือบางทีมันอาจจะเป็นจุดสมดุลกึ่งกลางที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ที่พนักงานในออฟฟิศอาจจะไม่เยอะ มีระยะห่างที่พอเพียงสำหรับทุกคน แต่ก็ยังใช้พื้นที่ไม่ต่างจากตอนนี้เท่าไหร่นัก
ในมุมของธุรกิจแล้วตราบใดที่พนักงานยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่ามันจะมาจากโต๊ะทำงานในออฟฟิศหรือโต๊ะทานข้าวที่บ้านก็ถือว่าไม่ต่างกัน เหมือนดั่งคำพูดของเติ้งเสี่ยวผิงที่บอกว่า “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี” ในอนาคตความสำคัญของออฟฟิศอาจจะน้อยลง อาจจะไม่ตายไปทั้งหมดแต่จะไม่ได้มีหน้าที่เหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้