19/05/2020
Economy

Redesigning the Covid-19 city : 8 แนวโน้มที่เป็นไปได้

วณัช บัณฑิตาโสภณ
 


การระบาดของ Covid-19 ทำให้หลายเมืองที่มีสีสันพลันเงียบเหงาลง วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นศูนย์กลางเป็นทั้งด่านหน้าและด่านสุดท้ายของการควบคุมโรคระบาดทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

Covid-19 ส่งผลร้ายแรงต่อบางเมืองมากกว่าเมืองอื่นและสร้างรอยร้าวขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความเหลื่อมล้ำของรายได้ เพศสภาพ ชาติพันธุ์และโอกาสในชีวิต มาตรการรับมือต่างๆที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกหลายช่วงรุ่น บางเมืองจะกลับมารุ่งเรืองและมีประชากรเพิ่มขึ้น ขณะที่บางเมืองจะค่อยๆ โรยราและเหี่ยวเฉาลงไป

ความรุนแรงของวิกฤตในครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากวิธีการบริหารจัดการ ในโคเปนเฮเกน โซล หรือไทเป ภาครัฐเป็นผู้นำ ขณะที่ภาคประชาสังคมให้ความร่วมมือจึงสามารถจำกัดการแพร่ระบาดลงได้ Covid-19 ทำให้เราย้อนกลับไปคิดและตั้งคำถามกับสัญญาประชาคมที่แตกต่างกันในประเทศที่ยากจนและร่ำรวยเลยทีเดียว

ในอนาคตเมื่อเมืองทุกเมืองผ่อนคลายและยุติมาตรการ Lockdown จะเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจขนาดเรียกได้ว่าเป็นการทดลองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แรงงานทั่วโลกกว่า 81% ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว คนส่วนมากมีภาระทางการเงินที่ต้องจ่ายแต่ไม่สามารถจ่ายได้ กระนั้น สถานการณ์เพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ในระยะอันใกล้อาจมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ จนกว่าจะคิดค้นวัคซีนหรือมีวิธีการจัดการไวรัสที่ชะงัดกว่านี้

เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเมืองไม่สามารถ Lockdown ได้ตลอดไป ในระยะสั้น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจโรค การติดตามผู้ติดเชื้อ (Digital contact tracing) และมาตรการ Social Distancing ควรทำอย่างต่อเนื่อง แต่ละมาตรการแปรเปลี่ยนไปตามความรุนแรงและขอบเขตการแพร่กระจายของแต่ละเมือง ยกตัวอย่างเช่น ในจีนใช้โทรศัพท์มือถือติดตามผู้ติดเชื้อโดยในแต่ละระดับความเสี่ยงมีสี (Color-coded) แตกต่างกันประกอบป้องกันไม่ให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านนอกเมืองเดินทางเข้าเมือง เป็นต้น

เมืองในยุโรปหลายเมืองเริ่มคิดที่จะผ่อนปรนมาตรการ Social Distancing ที่เข้มงวด เช่นเดียวกันกับหลายมลรัฐในสหรัฐฯ ขณะที่หลายเมืองในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่มาก หากเกิดการแพร่ระบาดมากกว่านี้ มาตรการที่ใช้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจใช้ไม่ได้ผล

หลังจากวิกฤตการณ์สิ้นสุดลง คำถามที่สำคัญคือ เมืองหลัง Covid-19 จะเป็นอย่างไร มีแนวโน้มที่น่าสนใจอยู่ 8 ประการด้วยกัน

1. สถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า จะถูก Redesign ให้เหมาะกับ Social Distancing มากขึ้น บางแห่งใช้ Virtual and augmented reality เป็นตัวช่วย และอัตราการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะมากและเร็วขึ้น 

2. การ Shift สู่การค้าขายออนไลน์จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมสินค้าส่วนใหญ่ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ถึงชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มทุนใหญ่จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ขณะที่กลุ่มทุนเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด

3. ระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ และเรือ จะมีบทบาทมากกว่าเดิม การเดินทางแบบ Ride-sharing จะซบเซาลงหากไม่มีมาตรการฆ่าเชื้อที่เหมาะสม พาหนะแบบ Self-driving จะออกสู่ตลาดและกระทบกระเทือนการจ้างงานจำนวนมาก หลังจากวิกฤตผู้คนจะทำงานจากบ้าน (Work from home) กันมากขึ้น บางส่วนจะหันมาปั่นจักรยานไปที่ทำงาน เมืองต้องสร้างพื้นที่รองรับคนกลุ่มนี้ 

4. วิธีการบริโภคจะเปลี่ยนไป เราไม่สามารถพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแบบ Just-in time และเป็น Meat-based diet ได้อีกต่อไป เมืองแต่ละเมืองจะเน้นการผลิตในพื้นที่ใกล้เคียงที่ยั่งยืนกว่ามากขึ้น สวนในเมืองและสวนแนวตั้ง (เช่น การปลูกพืชบนหลังคา ปลูกพืชโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ) จะเฟื่องฟู พื้นที่และสวนสาธารณะจะถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับการผลิตอาหาร ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัย เช่น น้ำท่วมและพายุ

5. วิกฤตการณ์ทำให้ความเป็นส่วนตัวและการเมืองย่ำแย่ลง จีนกำลังสร้างโครงการเพื่อสอดส่องพลเมืองครั้งใหญ่ในนามของสาธารณสุขซึ่งส่งผลให้ประเทศอื่นเอาเป็นแบบอย่าง การแสดงออกทางการเมือง การเลือกตั้งและสิทธิมนุษยชนจะถูกริดรอนเพิ่มขึ้น

6. แม้ว่าวิกฤตในครั้งนี้ส่งผลให้คนเดินทางและปล่อยมลภาวะลดลง เราเห็นได้จากปักกิ่งมีสภาพอากาศที่ดีขึ้น สถานการณ์นี้อาจทำให้ความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปริมาณการปล่อยมลภาวะตาม Paris Climate Agreement ลดความสำคัญลง ขณะที่กรอบความร่วมมือระดับเมืองหรือ C40 CITIES มีบทบาทมากขึ้น

7. Covid-19 ทำให้เครือข่ายพลเมืองในบางเมืองเข้มแข็งขึ้น เห็นได้จากคนที่อยู่ในย่านเดียวกันเชื่อมโยงกันในโลกออนไลน์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนไร้บ้านและคนอพยพ เครือข่ายเหล่านี้ทวีความสำคัญมากขึ้นในเมืองที่องค์กรระดับรัฐล้มเหลว 

8. Covid-19 กระตุ้นให้แนวโน้มต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเกิดเร็วขึ้น เช่น แนวโน้มการทำงานในออฟฟิศไปสู่การทำงานที่ยืดหยุ่นจากบ้าน (Flexible, virtual and home-based work arramgement) เมื่อความต้องการสร้างออฟฟิศลดลงย่อมส่งผลต่อพลวัตของเมือง อีกเรื่องหนึ่งคือความเหงาตลอดจนอาการป่วยทางจิตจะแพร่ระบาดมากขึ้น

แนวโน้มทั้งหมดมีจุดร่วมอยู่ที่การเชื่อมต่อ Digital connectivity และ Cyber security ทำให้เมืองต่างๆ ต้องคิดและออกแบบกันใหม่ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการผสานการออกแบบในภาวะวิกฤตเข้ากับการใช้งานระยะยาว ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือกรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งออกแบบ Post covid-19 city ผ่านหลักการ Doughnut economics ที่เน้นการอยู่ร่วมกันระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (Regenerative and distributive economy)

ปัจจุบันประชากรเกินครึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเมือง การมีมาตรการจัดการโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพในครั้งนี้จึงสำคัญมาก หากย้อนมองดูเมืองคือสถานที่ที่พัฒนาไปทุกครั้งไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดๆ ไม่แปลกเลยที่มีคนกล่าวว่า “อนาคตเกิดขึ้นก่อนในเมือง” หากผู้นำทางการเมือง ภาคธุรกิจและภาคพลเมืองตัดสินใจถูกต้องตั้งแต่วันนี้ เมืองหลายเมืองจะกลับมาเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าเดิม คนที่ตัดสินใจถูกต้องจะกลายเป็นผู้กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับเมือง

อ้างอิง
In Coronavirus Fight, China Gives Citizens a Color Code, With Red Flags, The New York Times, 1 March 2020
Think 168,000 Ventilators Is Too Few? Try Three. โดย Graeme Wood, The Atlantic, 10 April 2020
Amsterdam to embrace ‘doughnut’ model to mend post-coronavirus economy โดย Daniel Boffey, The Guardian, 8 April 2020


Contributor