03/02/2022
Public Realm

วิศวกรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาเมือง

บุษยา พุทธอินทร์
 


ในโลกที่เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและต่อยอดอยู่เสมอ เมืองเองก็ต้องมีการปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ คือการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและตอบโจทย์ของเมือง วิศวกรรมสร้างสรรค์จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองรุ่นใหม่และปัญหาเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะโลกแห่งนวัตกรรมไม่เคยหยุดนิ่งเมืองจึงต้องไม่หยุดพัฒนา

วันนี้ The Urbanis จะชวนคุณมาติดตามการบรรยายจากกระบวนวิชาโลกรอบสถาปัตยกรรมปี 5 นำเสนอโดย ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วิศวกรรมสร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาเมือง” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 

อะไรคือวิศวกรรมสร้างสรรค์

ดร.เอกรินทร์ เปิดด้วยคำพูดของนักปรัชญาชาวกรีก เพลโต เมื่อสองพันปีที่แล้ว “Our need will be the real creator” ถอดความได้ว่า ความต้องการของเราเป็นตัวกำหนดว่าเราจะสร้างอะไรใหม่ๆขึ้นมา หรือความจำเป็นคือบ่อเกิดของนวัตกรรมนั่นเอง

Creative engineering หรือวิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วย ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) นวัตกรรม (Innovative) และวิศวกรรม (Engineering) โดยการกระบวนการคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ มีกระบวนการสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การเริ่มคิดจากปัญหา (Brainstorm) การออกแบบ (Design) ลองทำต้นแบบ (Prototype) การคิดในเชิงวิศวกรรม (Engineer) และ Manufacture กระบวนการผลิต

คำว่า crative ก็คือ การคิดสิ่งใหม่ๆ แต่การ crative จะยังไม่เป็น innovation จนกระทั่งความคิดนั้นถูกเอาไปใช้งานได้ ส่วนคำว่า innovation คือการเอาความคิดใหม่ๆ มาแปลงเป็นการแก้ปัญหาเพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้ใช้งานมาใช้งานให้ได้

ซึ่งการเป็นวิศวกรที่มี Creative engineering จำเป็นต้องมีทักษะทั้งด้านวิศวกรรมและศิลปะประกอบกัน ยกตัวอย่างสะพานที่ภูเขา Chongqing ในประเทศจีน ที่มีการออกแบบสะพานที่ไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งแต่เป็นการนำเอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประกอบ โดยการออกแบบเส้นสายที่มีลักษณะโค้งมนตามรูปร่างของมังกรซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีน ซึ่งสุดท้ายสะพานนี้ยังเป็นจุดดึงดูดสายตาและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

หรือตัวอย่าง เครื่องบิน X-59 ที่มีการออกแบบรูปร่างทางวิศวกรรมใหม่ทำให้สามารถการหักลบการเกิด SuperSonic ของเครื่องบินที่เร็วกว่าเสียงได้ ทำให้เครื่องบินทะลุกำแพงเสียงได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังเกินไป

จะเห็นได้ว่าวิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์คือการนำเอาความเป็นวิศวกรรมเข้ามาผสมกับศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ได้

ปัญหาของเมืองกับวิศวกรรมสร้างสรรค์

แม้กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่สวยงามแต่ด้วยความเป็นเมื่อที่มีคนอพยพเข้ามาอยู่สูง ก็ทำให้เมืองต้องรองรับกับปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบมากมาย เพราะพื้นที่ในเมืองไม่สามารถรองรับได้หรือศักยภาพของเมืองไม่เพียงพอกับประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่

กรุงเทพฯ นั้นมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาความไร้ระเบียบ ขาดพื้นที่สีเขียว ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาการวางผังเมือง ฯลฯ ซึ่งวิศวกรรมสร้างสรรค์ก็สามารถเป็นส่วนในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ซึ่งก่อนจะแก้ปัญหาต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการคิด ซึ่งกระบวนการในทางวิศวกรรม (Engineering Design Process) สิ่งแรกที่ต้องทำคือการระบุว่าอะไรคือปัญหา (Ask) จากนั้นจึงหาวิธีการแก้ปัญหาหรือก็คือการทำวิจัย (Research) การทำ creative thinking and engineering เป็นขั้นตอนการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา (Imagine) นำมาสู่ขั้นตอนการวางแผน (Plan) การสร้างโครงการนำร่อง (Create) ทดสอบ (Test) จากนั้นจึงพัฒนาแก้ไข(Improve) จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

จากปัญหาต่างๆ ที่เกริ่นไปข้างต้น ปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด วิศวกรรมสร้างสรรค์จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ในเมืองได้อย่างไรบ้าง

เรื่องแรก ที่ดร.เอกรินทร์หยิบยกขึ้นมาคือ ปัญหาการเดินทางด้วยเรือ การที่เราใช้เรือแบบโบราณในการเดินทางขนส่ง เช่น เรือหางยาว เรือไม้ ฯลฯ เรือเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง มลพิษทางน้ำจากน้ำมันรั่วไหล ซึ่งต่อมามีการใช้ Creative mobility และ E-mobility เข้ามาแก้ปัญหา มีการพัฒนาเรือขนส่งผู้โดยสารร่วมกับบริษัทเยอรมันเป็นระบบไฟฟ้าที่มีระบบที่ทันสมัย มีการติดตั้ง GPS อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการก่อมลพิษ ลดคลื่นกระแทกตลิ่ง และเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น จนต่อมามีงบประมาณจากภาครัฐ ต่อยอดโครงการไปยังคลองอื่นๆ มากขึ้น

ปัญหาที่สองคือปัญหารถติด ถนนแคบ โดยยกตัวอย่างบริเวณถนนเจริญนคร ด้วยความที่เป็นถนนย่านเมืองเก่าทำให้ถนนแคบ ทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าและคอนโดมิเนียมมากมายยิ่งทำให้ถนนบริเวณนี้การจราจรติดขัดมาก เกิดเป็นโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนเข้ามาในพื้นที่โดยไม่ใช้รถยนต์ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็คือการใช้ขนส่งระบบราง โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองก็เป็นหนึ่งโหมดการเดินทางที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ในระยะยาว โดยรถไฟฟ้านี้มีการใช้ระบบ Automated People Mover (APM) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าแบบไร้คนขับ เชื่อมต่อตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ธนบุรี ผ่านไอคอนสยาม ไปจนถึงโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งเชื่อว่าจะลดปริมาณการใช้รถยนต์ที่ไปยังห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดได้จำนวนมาก

อีกรูปแบบการเดินทางเรียกว่า Personal Rapid Transportation (PRT) หรือชื่อเล่นว่า Pods ซึ่งเป็นการเดินทางที่ตอบโจทย์ตามปริมาณของผู้ด้วยสาร หากมีผู้โดยสาร 10 คน ก็ไป 10 คน ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่าการขนส่งเป็นขบวนยาวๆ แต่มีผู้โดยสารน้อย

หรืออีกการเดินทางรูปแบบหนึ่งคือ Hyper loop teachnology ที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและกำลังมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ซึ่ง Hyper loop ก็อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกการเดินทางในอนาคต

ปัญหาที่สามที่คงไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาคลาสสิคของกรุงเทพฯ นั่นก็คือปัญหารถเมล์ที่เก่าหรือบางคนอาจเรียกได้ว่าเลยอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศภายในเมือง วิธีแก้ไขปัญหานี้ คือการหันมาใช้รถบัสไฟฟ้า หรือ E-bus ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มากขึ้น เช่นในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีการใช้รถบัสไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะ และมีโครงสร้างพื้นฐานเข้ามารองรับ เช่นสถานีชาร์จไฟฟ้า มีการใช้ระบบ Heliox หรือแท่นชาร์จไฟฟ้าตามจุดป้ายรถประจำทาง ซึ่งการหันมาใช้รถบัสไฟฟ้านี้ก็ส่งผลทำให้ไม่มีมลพิษทางอากาศและไม่มีเสียงรบกวนอีกด้วย

นอกจากรถโดยสารประจำทางรถยนต์อื่นๆ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้แบบไฟฟ้าได้เช่นกัน ตัวอย่าง mobile network testing (MNT) ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นรถขนตู้คอนเทนเนอร์ไฟฟ้าที่มีการใช้ระบบ 5G ซึ่งเป็นระบบขนส่งข้อมูลความเร็วสูงมาใช้ แทนการใช้รถยกทั่วไป หรือตัวอย่างรถบรรทุกของบริษัท Volvo และ Hyundai ที่มีการออกแบบให้เป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า

ปัญหาที่สี่คือปัญหาขยะ ไม่ว่าจะมีปัญหาทั้งเรื่องบ่อขยะไฟไหม้ ก่อมลพิษ กลิ่นเหม็นไกลหลายกิโลเมตร ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วย Creative waste management หนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์คือ Maximum Yield Technology (MYT) ตัวอย่างจากบริษัทจัดการขยะแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน โดยเทคโนโลยีนี้จะมีกระบวนการในการรับขยะเข้ามาบำบัด คัดแยกเอาส่วนที่เป็นชีวภาพไปหมักเป็น Biogas เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ส่วนอื่นๆ ก็นำไปแยกเป็น แร่ธาตุ (Minerals) เชื้อเพลิง (Fuels) โลหะ (Metals) และวัสดุเหลือใช้ (Residual material) มีระบบ Negative pressure ในการจัดการกลิ่นโดยการดูดอากาศไม่ให้ไหลออกไป แล้วมาบำบัดอากาศก่อนปล่อยออกไป 

อีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัท  startup ในประเทศเกาหลี มีการทำ CleanCUBE ถึงขยะโซล่าเซลล์ที่มีระบบ Internet of Things (IoT) บอกปริมาณขยะแบบเรียลไทม์ หากขยะใกล้เต็มก็จะขึ้นบนแผนที่ให้เห็นเป็นสีแดง รวมทั้งมีแพลตฟอร์มกลางในการจัดเก็บขยะอีกด้วย

และอีกระบบหนึ่งในการเก็บขยะ Pneumatic waste conveyance system เป็นระบบการเก็บขยะผ่านท่อ ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีการทำแล้ว ซึ่งระบบนี้ก็จะช่วยลดพลังงานในการจัดเก็บและขนส่งขยะได้

ปัญหาที่ห้าคือปัญหาความไร้ระเบียบของระบบท่อต่างๆ ใต้ดิน เมื่อเปิดฝาท่อออกมาจะพบได้เลยว่าใต้ดินนั้นมีการวางท่ออย่างไม่เป็นระเบียบ บางท่อเป็นท่อที่ไม่ได้ใช้งานแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการขุดออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำทางเท้าและการนำไฟฟ้าลงดิน ซึ่งมีการแก้ปัญหาโดยการประสานกับหลายหน่วยงานเพื่อรวมท่อต่างๆ ให้เป็นท่อเดียว มีการทำฝาท่อใหม่ที่สามารถยกเปิดได้ง่าย หรืออาจมีการทำ Smart Underground Infrastructure อย่างในประเทศสวีเดน ที่มีการทำ Common Duct ซึ่งเป็นท่อที่รวบรวมหลายๆท่อ ไม่ว่าจะเป็น ท่อน้ำทิ้ง ท่อทำความร้อน ท่อสายสื่อสาร ท่อดูดขยะ ไว้ในท่อเดียวอย่างเป็นระบบ

ปัญหาสุดท้าย คือปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำรอระบาย สิ่งที่สำคัญคือการมีพื้นที่พักน้ำไว้เพื่อรอระบายวิธีการหนึ่งที่กรุงเทพฯ ยังขาดคือข้อกฎหมายกำหนดให้มีบ่อพักน้ำในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การทำบ่อพักน้ำใต้ลานจอดรถ หรือการทำท่อพักน้ำใต้อาคารบ้านเรือนในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยๆ โครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ก็จะช่วยกักเก็บน้ำไม่ให้ท่วมและยังสามารถนำน้ำเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่นเอามารดน้ำต้นไม้ เอามาล้างถนนหน้าบ้าน เป็นต้น

หรือตัวอย่างในประเทศมาเลเซียที่มีการทำ SMART Tunnel หรืออุโมงค์ 3 ชั้น ที่ชั้นล่างสุดเป็นอุโมงค์ระบายน้ำและ 2 ชั้นบนเป็นอุโมงค์รถผ่าน โดยที่เมื่อน้ำท่วมหนักอุโมงค์สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานตามปริมาณน้ำที่กำลังท่วม เช่นหากมีน้ำท่วมสูงขึ้นอุโมงค์ชั้น 2 สามารถเปลี่ยนจากอุโมงรถวิ่งเป็นอุโมงค์รองรับน้ำแทนได้ ซึ่งอุโมงค์นี้สามารถรองรับน้ำได้สูงสุดถึง 3 ระดับ

อะไรคือพื้นฐานของ SMART CITY

การแก้ปัญหาของเมืองเราต้องรู้จักเมือง สภาพของเมือง รู้จักคน รู้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมือง รู้ปัญหา และทางออกของปัญหาแบบเรียลไทม์และรอบด้าน ในการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาเมือง ซึ่งพื้นฐานของ Smart City จะประกอบไปด้วย

Internet of Things (IoT) คืออะไรก็ตามที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์ เครื่องปริ้นท์ กล้องวงจรปิด ฯลฯ IoT มีหลักการง่ายๆ คือ มีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการ ต่อมาส่งผ่านโครงข่ายที่เป็นตัวกลางซึ่งก็คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ต่อมาข้อมูลที่ถูกส่งก็จะเข้าไปยังระบบที่ประมวลผลข้อมูล สุดท้ายมีการสรุปผลออกมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ IoT ก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อย คาดว่าในปี 2025 จะมีมูลค่ากว่า 75.4 พันล้าน ตัวอย่างของการใช้ IoT กับ Smart City ก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็น ใช้จัดการการจราจรผ่านกล้อง CCTV ที่ประเมินผลแบบเรียลไทม์ ใช้ในการติดตามและประเมินคุณภาพอากาศ ใช้ทำ Smart parking หรือที่จอดรถอัจฉริยะที่แจ้งเตือนว่าตรงไหนรถว่างหรือใช้จองที่จอดรถล่วงหน้า ใช้ทำ Smart lighting ไฟอัจฉริยะที่เปิดปิดอัตโนมัติเพื่อประหยัดพลังงาน ฯลฯ 

เมื่อมีการเชื่อมอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้มีการรวบรวมเกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีคุณสมบัติเด่นคือ มีจำนวนมาก (Volume) มีความรวดเร็ว (Velocity) มีความหลากหลาย (Variety) และ มีความคลุมเครือ (Veracity) ซึ่งข้อมูลจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่นี้จะถูกหยิบเอามาใช้ได้เมื่อผ่านการวิเคราะห์ (Analytics) ออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น กราฟ แผนภูมิ ฯลฯ เพื่อต่อมาข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือเพื่อสร้างมูลค่าต่อไปได้

AI and Robot หรือก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์ ซึ่งมีการหยิบยกเข้ามาใช้ใน Smart City ได้หลายประการ เช่น มีการใช้ในระบบกล้องวงจรปิด เช่นในประเทศจีนที่มีการใช้กล้องวงจรปิดที่มีระบบจดจำใบหน้าได้ มีการใช้ในระบบการจัดการน้ำ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น มีการใช้ในการจัดการปัญหาการจราจร มีการใช้ในการคมนาคมขนส่ง เช่น มีการใช้รถโดยสารไร้คนขับ (Autonomous bus) หรือรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous car) ในการขนส่งเดินทาง ฯลฯ 

กรุงเทพฯ กำลังทำอะไรบ้างในการไปสู่ SMART CITY

ล่าสุดกรุงเทพมหานครได้มีการกำหนดย่านต่างๆ ในการพัฒนาเมือง โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการทำโครงการนำร่องต่างๆ ซึ่งตอนนี้พื้นที่ที่ทางกรุงเทพฯ ให้ความสนใจในการพัฒนาอย่างมากคือพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในการผลักดันให้พื้นที่นี้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถบัสไฟฟ้าที่มีระบบติดตามผ่านแอบพลิเคชันมีการ ส่งเสริมให้วินมอเตอร์ไซต์ในพื้นที่เป็นไฟฟ้า มีระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ที่มีการนำเอาระบบ AI มาใช้ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตก็คงจะได้เห็นโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างสรรค์ใหม่เข้ามาเพื่อพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองต่อไป

วิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ การเข้ามาของเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นและหลายประเทศทั่วโลกมีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ  เข้ามาใช้ในการพัฒนาเมือง วิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์จึงมีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ภายในเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและเสียง ที่มีต้นเหตุมาจากการใช้ขนส่งรูปแบบเก่าๆ ก็มีการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ในอนาคตข้างหน้าที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมืองก็ต้องอาศัยนวัตกรรมวิศวกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ใหม่อยู่เสมอ ท้ายที่สุดนี้ ดร.เอกรินทร์ ฝากเอาไว้ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ ใช้เทคโนโลยี ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการปัญหาและสร้างนวัตกรรม”

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor