04/11/2021
Insight

มาแล้วลูกจ๋า “พื้นที่สีเขียว” ที่หนูอยากได้

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เรื่อง/วิเคราะห์ข้อมูล/แมพวิชวล โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

หากนี่คือเกมที่ว่าด้วยการจัดสรรและการกระจายสวนสาธารณะให้กับเมือง ในเมื่อเมืองเรากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสวนสาธารณะ และคนที่อาศัยอยู่ในเมืองกำลังต้องการพื้นที่สาธารณะเพิ่ม เราในฐานะนักวางแผน/นักวางผังเมืองจะมีส่วนช่วยในการจัดการสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร

ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี หากเมืองของเราจะมีการพัฒนา หรือฟื้นฟูพื้นที่สวนสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับผู้คนที่อยู่ในเมือง แต่คำถามสำคัญมากกว่านั้น หากเราเป็นนักวางผังหรือความจริงเป็นคำถามที่ใครก็สามารถตั้งคำถามได้ ไม่ว่าประชาชนคนธรรมดา ทั้งที่เป็นประชาชนตามทะเบียนราษฎร์หรือเป็นประชาชนชั้น 2 (ประชากรแฝง) ที่เข้ามาทำงาน มาเรียนอยู่ในมหานครแห่งนี้ ว่า “สวนสาธารณะ” นั้นเป็นสิ่งที่เราควรได้รับการให้บริการจากเมืองหรือไม่ หากคำตอบคือ ใช่ คำถามถัดมาที่เราควรถามหรือมีในใจ คือ ควรจะมีที่ไหน มีให้เท่าไหร่ และมีอย่างไร? 

คำถามว่าด้วยความเหลื่อมล้ำและหลุมพรางของเรื่องที่ดี

มาถึงตรงนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คงเป็นศตวรรษของกรุงเทพฯ สีเขียวจริงๆ แต่หลุมพรางที่ตามมาของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะ ที่ดูเหมือนว่าจะทำอย่างไรมันก็ดูเป็นเรื่องดีไปหมดนี้ ทำให้เกิดคำถามฉุดขึ้นในใจว่า หากเมืองจะมีนโยบายที่เด็ดเดี่ยวและตั้งใจเช่นนี้ คำถามของผมในฐานะนักผังเมืองที่เป็นประชากรแฝงคนหนึ่ง ก็คือ การตัดสินใจในการสร้างหรือพัฒนาโครงการเหล่านี้ หากพิจารณาตามหลักพื้นฐานของการวางผังหรือแผนของเมือง ซึ่งว่าด้วยศาสตร์ของการออกแบบและการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง พื้นที่เหล่านี้มันควรมีการกระจายตัวหรือมีการจัดสรรทรัพยากรนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็น “หลุมพรางของเรื่องที่ดี” และจะไม่สร้างความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ให้เกิดขึ้นไปมากกว่านี้

ดังนั้น หากสมมุติว่าเราสามารถเลือกหรือมีโอกาสได้เลือก เราจะจัดสรรทรัพยากรนี้อย่างไร ในเมื่องบประมาณในเรื่องนี้มีอยู่อย่างจำกัด เพราะคงมีเรื่อง หรือปัญหาทุกข์ร้อนในเมืองอีกมากโข ที่เมืองจะต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของถนนหนทาง ทางเดินเท้า น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ เศรษฐกิจปากท้อง หรือปัญหาทุกข์คนเมืองเรื่องอื่นๆ ดังนั้น การตัดสินใจในการลงทุนหรือพัฒนาพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ควรต้องตั้งอยู่บนหลักการหรือการพิจารณาที่มียุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาเรื่องอย่างจริงจังและจริงใจ

ผมลองจำลองความน่าจะเป็นในการจัดสรรทรัพยากร “สวนสาธารณะ” นี้อย่างง่าย ว่าหากอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรอันเป็นบริการพื้นฐานของเมือง ซึ่งทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึง มีสิทธิในการใช้งานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน (ซึ่งความจริงก็ควรเป็นเช่นนี้) โดยอาจจะพิจารณาง่ายๆ จากสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากร (ตัวชี้วัดเชิงปริมาณขั้นพื้นฐาน) และระยะทางในการเข้าถึงสวนสาธารณะ (ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพขั้นพื้นฐาน) ซึ่งถือตัวแปรพื้นฐานในการพิจารณามาตรฐานทางด้านพื้นที่สาธารณะในเมือง

เมื่อทรัพยากรจำกัดจึงเป็นโจทย์ของการจัดสรรและการกระจาย

หากนี่คือ เกมตามล่าหาพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาสวนสาธารณะ เป็นเกมที่สามารถคิดเล่นๆ คิดสนุกๆ (แต่อาจจะเป็นตลกร้ายสำหรับชีวิตจริง) ถ้าสมมุติว่าคุณเป็นพ่อเมืองและมีงบประมาณในมืออยู่สัก 1,000 ล้านบาท คุณจะเลือกพัฒนาสวนสาธารณะ/พื้นที่สีเขียวแบบไหน?

ระหว่างการลงทุนพลิกฟื้นที่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ที่เดิมก็เขียวอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว แต่ทำให้ดี พรีเมียมยิ่งขึ้นไปอีก หรือเลือกที่จะแบ่งก้อนงบประมาณเพื่อจัดสรรและลงทุนพัฒนาพื้นที่สีเขียวแปลงเล็กๆ ลงมาสักหน่อย แต่ให้กระจายไปสัก 10 แห่งในหลากหลายพื้นที่ที่ยังไม่มีสวนสาธารณะ แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องสมมุติที่ผมยกตัวอย่าง เพราะเรื่องบางอย่างเราเเทบไม่มีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเช่นนั้น หรือไม่มีสิทธิในการเลือกอะไรแบบนั้น

คราวนี้ผมจะลองเปิดข้อมูลให้เห็นถึงความสำคัญว่า “ทำไม” ในการออกแบบ การวางผัง การพัฒนา หรือฟื้นฟูเมือง จึงต้องขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อพอให้เราได้หยุดคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ก่อนที่จะได้ลงมือเสนอหรือพัฒนาโครงการอะไรในระดับเมือง ซึ่งข้อมูลที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็คงเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ในกระบวนการออกแบบ/การวางแผน หรือแม้แต่การศึกษาวิเคราะห์เพื่อทำการพัฒนาโครงการในระดับเมืองต่างๆ ซึ่งมันน่าจะเป็นข้อมูลที่พื้นฐานและง่ายที่สุดที่พอจะดูได้ว่า “ที่ไหนควรเป็นพื้นที่ที่จะได้รับเลือกให้มีการพัฒนาสวนสาธารณะมากที่สุด” หรือ “ต้องการมากที่สุด

กรุงเทพฯ กำลังจะเขียว

การเรียกร้องพื้นที่สาธารณะนั้น ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองนิตย์ในช่วงของความโหยหาชีวิตนอกบ้าน นอกเคหะสถานที่นับวันยิ่งคับแคบลงเรื่อยๆ จากมูลค่าและราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณ คำถามคือ เมืองพอจะมีพื้นที่บางส่วนไว้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เอาไว้เดินเล่น เอาไว้ออกกำลังกาย เอาไว้ผ่อนคลายได้มากน้อยแค่ไหน

หากกล่าวถึงเรื่องนี้ แล้วไม่พูดถึงเรื่องมาตรฐานที่ควรจะเป็นคงเป็นไปไม่ได้ ในมาตรฐานของการอำนวยความสะดวกสบายของการใช้ชีวิต ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ คงหนีไม่พ้นตัวชี้วัดด้านพื้นที่สีเขียวในเมือง หรือถ้าพูดให้ชัดๆ ก็อาจจะกล่าวไปเลยว่า คือ “พื้นที่สวนสาธารณะที่เราสามารถเข้าไปใช้ได้” มาตรฐาน WHO หรือองค์การอนามัยโลก กำหนดเอาไว้ว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรที่ดี ควรมีประมาณ 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งปัจจุบันเมืองกรุงเทพฯ ของเราก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานอยู่สักหน่อย คือ อยู่ที่ประมาณ 6.99 ตารางเมตรต่อคน (หรือหากคิดประชากรแฝงด้วยก็จะลดลงมา อยู่ที่ประมาณ 5 ตารางเมตรต่อคน) ซึ่งหากดูตามสถิติของพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีอย่างมาก

ความพยายามของกรุงเทพฯ ในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ มีให้เห็นอย่างเด่นชัดในนโยบาย มหานครกรุงเทพสีเขียว หรือ Greener Bangkok 2030 โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 กทม. จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสวนเล็ก สวนใหญ่กันอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบเกือบร้อยปีของการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ อาทิ การเปลี่ยนพื้นที่สนามม้านางเลิ้ง เป็นสวนสาธารณะ การเปลี่ยนพื้นที่โรงงานยาสูบเป็นพื้นที่สวนป่า โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงสะพานเขียวที่ใช้เชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ หรือโครงการสวนและพื้นที่สีเขียวอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินเก่าเป็นสะพาน(สวน)ลอยฟ้าเจ้าพระยา การพลิกฟื้นพื้นที่คลองโอ่งอ่าง เป็นพื้นที่สาธารณะริมคลอง  นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอื่นๆ อีกมากมายทั้งที่เกิดจากการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร และสถาบันการศึกษา หรือโมเดลของความร่วมมือในการจัดการพื้นที่บางส่วนของเอกชนในการเปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะในพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองเก่าและย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ (สยาม-ปทุมวัน-สาทร-สีลม)

พื้นที่สีเขียวต่อหัวและระยะทางในการเข้าถึง

ที่แล้วๆ มาเรามักได้ยินเพียงตัวเลขสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรเท่านั้น ความจริงแล้ว นอกจากเกณฑ์ด้านสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากร อีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ คือเรื่องของระยะการเข้าถึง หรือระยะของการเข้าใช้บริการ ว่าใกล้ไกลแค่ไหน ดังนั้น การกระจายตัวของสวนที่สอดคล้องกับขนาดและความต้องการของผู้คนในพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ จึงควรต้องมีการจัดสรรให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะทุกคนไม่สามารถมีบ้านอยู่ที่สยาม-ปทุมวัน-สาทร-สีลม หรือ จตุจักรที่จะมีสวนดีๆ ใกล้บ้านได้

ทีนี้ลองมาดูกันว่าสวน/พื้นที่สีเขียวโดยเฉลี่ย 6.99 ตารางเมตรต่อคนนี้ ปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ที่ไหนกันบ้าง จากข้อมูลพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะที่เราสามารถเข้าไปใช้งานได้ ส่วนใหญ่แล้วกระจุกตัวเฉพาะในพื้นที่เมืองชั้นในเท่านั้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองเก่าและย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจกลางเมือง แต่ทว่า ความหนาแน่นและการกระจายตัวของประชากรนั้น มิได้จำกัดเพียงในพื้นที่เหล่านั้นเพียงเท่านั้น แต่มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เมืองชั้นกลาง และพื้นที่ชานเมือง แต่กลับพบว่ามีน้อยมากที่จะมีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในพื้นที่อื่นๆ นอกจากพื้นที่ไข่แดงของเมือง หรือไม่ในทางกลับกัน เราก็มีสวนกลางถนนที่ข้ามไปใช้ไม่ได้ สวนกลางถนนต่างระดับที่หาทางเข้าไม่เจอ สวนขนาดใหญ่ชานเมืองในที่เปลี่ยวร้างซึ่งไม่มีคนใช้งานเพราะไกลเกินความพยายามที่จะเข้าไปใช้มัน

ดังนั้น สำหรับคนกรุงเทพฯ ที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางเมืองเราไม่มีโอกาสที่จะมีสวนดีใกล้บ้าน ซึ่งความจริงแล้วสวนดีใกล้บ้านนั้น มันอาจจะไม่ต้องกว้างใหญ่อะไรนักหนา เอาแค่วิ่งให้พอเหนื่อย ให้พอได้เดินพักผ่อนหย่อนอารมณ์ในบางโอกาส ได้สูดอากาศบริสุทธิ์จากพืชพรรณในสวนที่ช่วยปล่อยออกซิเจน ได้มีพื้นที่นั่งเล่นของเด็กๆ มีลานกิจกรรมให้ผู้สูงวัย มีม้านั่งเปลี่ยนอิริยาบถก็แค่นั้น ดังนั้น ความจริงสวนสาธารณะที่คนเมืองต้องการ มันอาจจะเป็นอะไรที่ดูเล็กน้อย ไม่ต้องหรูมาก แต่ที่สำคัญคือมันต้อง “เข้าถึงได้และสามารถใช้ได้” ในละเเวกบ้าน

เพราะฉะนั้น การออกแบบ/พัฒนาเมืองจึงต้องอาศัยข้อมูล

นี่คือ แผนที่แสดงการกระจายตัวของพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนระยะการให้บริการที่สอดคล้องกับขนาดของสวน ในระยะ 500-2,000 เมตร ตามขนาดของสวนสาธารณะ จะเห็นได้ว่ามีความหนาแน่นอย่างมากในพื้นที่ในกลางเมือง เรียกได้ว่าแทบจะอยู่ในระยะเดินถึงหรือระยะเดินพอเหนื่อย นั่นคือ ไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร แล้วก็ลดลง เบาบาง และกระจัดกระจายออกไปในพื้นที่ชานเมืองที่ไกลจากศูนย์กลางเมือง ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 4.5 กิโลเมตร

ส่วนแผนที่นี้ เป็นแผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากร ตามพื้นที่ที่เรียกว่ามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงการมีประชากร ผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้กระจุกตัวเฉพาะในพื้นที่ไข่แดงของกรุงเทพฯ อย่างพื้นที่เมืองชั้นในเท่านั้น หากแต่ขยายตัวไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ในเเนววงเเหวนรอบที่ 2 หรือภายในแนววงแหวนกาญจนาภิเษกทั้งฝั่งตะวันตก และหนาเเน่นมากๆ ในฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ หอพัก อพาร์ทเมนต์ในราคาที่พอจะเอื้อมถึงได้ ของกลุ่มคนชั้นกลาง เเรงงานบริการเมือง

ทีนี้ลองเอาแผนที่ทั้งสองแผ่นนี้มาซ้อนทับกัน ก็จะพอเห็นได้ว่าพื้นที่ไหนที่มีประชากรอยู่หนาแน่นแต่ไม่มีสวนสาธารณะที่ให้บริการอยู่เลย จากการวิเคราะห์พบพื้นที่ปราศจากสวนในระยะการเข้าถึงไม่ว่าจะเดินพอเหนื่อย (ภายในรัศมี 1.5-2 กิโลเมตร) หรือขับรถออกไปก็หาสวนเจอได้ยาก อาทิ ย่านบางนา ลาซาล อ่อนนุช ปรีดี เกษมบัณฑิต พัฒนาการ นวมินทร์ ประเสริฐมณูกิจ ลาดพร้าว-วังหิน จันทร์เกษม ชินเขต หลักสี่ ลาดปลาเค้า เเจ้งวัฒนะ ปิ่นเกล้า ท่าพระ ตลาดพลู บางแค ราชพฤกษ์ บางพรม บางซ่อน เป็นต้น

นี่คงเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้กับเมือง กับนโยบายเรื่องพื้นที่สีเขียว/พื้นที่สวนสาธารณะในเมืองแห่งนี้ ว่าหากวันหนึ่งเราสามารถเลือกได้ หรือมีสิทธิเลือกตำแหน่งแห่งที่ของมันได้ มันควรเป็นที่ไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด เหมาะสมที่สุด หรือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่พอจะอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเป็นธรรมให้กับผู้คนที่หลากหลายในเมือง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS


Contributor