01/09/2021
Environment

เมืองฟองน้ำ: แนวคิดที่ทำให้เมืองกับน้ำเป็นมิตรของกันและกัน

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์ ชยากรณ์ กำโชค
 


บ่อยครั้งที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในฤดูฝน หลายเมืองของประเทศไทยมักประสบปัญหาด้านน้ำ ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก น้ำรอการระบาย ฯลฯ เฉพาะปัญหาน้ำรอการระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ จนเกิดวลีอย่าง “ฝนตก รถติด” ทว่าปัญหาด้านการจัดการน้ำของเมืองในอนาคตมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าน้ำรอการระบาย หากคือความเสี่ยงเมืองจมน้ำ ตามที่หน่วยงานแหล่งได้คาดการณ์ไว้ว่า กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 11 เมืองทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงจมใต้บาดาล อันเป็นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การทรุดตัวลงของแผ่นดิน และการขยายตัวของเมือง คำถามคือคนกรุงเทพฯ จะยอมรับชะตากรรมดังกล่าว หรือใช้องค์ความรู้หลากหลายศาสตร์สร้างแผนรับมือ กระทั่งปรับวิถีคิดในการใช้ชีวิตร่วมกับน้ำให้ได้ 

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาด้านน้ำในเมือง ด้านประเทศจีนเองก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งในแง่ของการขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เนื่องจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง ตลอดจนความถี่ที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ส่งผลให้ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความเสียหายจากอุทกภัยเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้น้ำท่วมจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของภัยธรรมชาติที่ทำลายล้างมากที่สุดของจีน

ปี 2013 รัฐบาลจีน ประกาศใช้แนวทาง เมืองฟองน้ำ (sponge city) อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และได้เปิดตัวโครงการเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามแนวทางนี้ในเมืองนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก  ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายในการเพิ่มการแทรกซึม (infiltration) การคายระเหย (evapotranspiration) และการดักจับและการนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ในสภาพแวดล้อมเมือง

แผนภาพแสดงแนวคิดเมืองฟองน้ำ Source: Shuyang Xu

เมืองฟองน้ำ (sponge city) คืออะไร

เมืองฟองน้ำ คือ การจัดการและการออกแบบเมือง ด้วยหลักการฟื้นฟูความสามารถของเมืองในการดูดซับ แทรกซึม จัดเก็บ ทำให้บริสุทธิ์ ระบายน้ำ และจัดการน้ำฝน และควบคุมวัฏจักรของน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อเลียนแบบวัฏจักรทางอุทกวิทยาตามธรรมชาติ (natural hydrological cycle) ช่วยให้เมืองสามารถแก้ไขปัญหาน้ำขัง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและปล่อยน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ และบรรเทาผลกระทบของเกาะความร้อน (heat island effects) อาศัยวิธีการทางธรรมชาติและเทคโนโลยีทางวิศวกรรม

ทั้งนี้ มีเทคนิคพื้นฐาน 6 ประการ ได้แก่ การซึมลงดิน (Infiltration) การกักน้ำ (retention) การเก็บน้ำ (storage) การบำบัดน้ำ (purification) การใช้ประโยชน์น้ำ (utilization) และ การระบายน้ำ (drainage)  ดังนั้น เมืองฟองน้ำจะไม่เพียงสามารถจัดการกับน้ำที่มากเกินไปแต่ยังนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งได้อีกด้วย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเมืองฟองน้ำ คือ สามารถลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในกรณีเกิดน้ำท่วม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมโอกาสในการลงทุน ด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและผลิตภัณฑ์ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีของจีนได้ออกแนวทางปฏิบัติเมื่อปี 2015 เรียกว่า Directive on promoting Sponge City Construction ซึ่งกำหนดเป้าหมายว่า 20% ของเขตเมืองของเมืองจีนต้องดูดซับ กักเก็บ และนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ได้ 70% ภายในปี 2020 และควรเพิ่มขึ้นถึง 80% ภายในปี 2030 ทั้งนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่กลมกลืนกันระหว่างผู้คน น้ำ และเมือง ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกิดขึ้นภายใต้การบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการเคหะและการพัฒนาชนบท-เมือง กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรน้ำ

ภูมิสถาปนิกจีนผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเมืองฟองน้ำกว่า 500 แห่ง

ดร.ขงเจี้ยน หยู (Yu Kongjian) ภูมิสถาปนิกชาวจีน ภาพโดย radiichina

ดร.คงเจียน หยู (Yu Kongjian) คือภูมิสถาปนิกชาวจีนและศาสตราจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานวางแผนที่ชื่อว่า Turenscape ในกรุงปักกิ่ง มีชื่อเสียงอย่างมากในการออกแบบโครงการภายใต้แนวคิดเมืองฟองน้ำ หรือการจัดการน้ำอย่างยืดหยุ่น (water-resilient) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อรักษา ทำความสะอาด และนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ ต่างจากการใช้พื้นผิวคอนกรีตที่แยกน้ำออกจากระบบนิเวศธรรมชาติ แต่เป็นการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติเพื่อดูดซับน้ำลงในดินก่อนที่จะไหลลงสู่ถนนในเมือง

หลังเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเดินทางกลับบ้านเกิดในปี 1997 ศาสตราจารย์คงเจียนสังเกตว่าเกิดเหตุน้ำท่วมบ่อยครั้งในหลายเมืองของจีน จนเป็นแรงใจคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับอุทกภัย ศาสตราจารย์ขงเจี้ยนทดลองประยุกต์เทคนิคการทำนาของชาวนา (peasant farming techniques) กับระบบชลประทานแบบ mulberry fish ponds ซึ่งเป็นวิธีการแบบจีนโบราณ ในการใช้ธรรมชาติมาแก้ปัญหาทางนิเวศวิทยา

วิธีการทำชลประทานแบบ mulberry fish ponds ภาพโดย flickr

“แนวคิดของเมืองฟองน้ำนั้นเรียบง่าย แทนที่จะใช้คอนกรีตเพื่อระบายน้ำฝน คุณทำงานร่วมกับธรรมชาติในการดูดซับ ทำความสะอาด และท่วมไม่ใช่ศัตรู เราสามารถผูกมิตรกับน้ำท่วมได้ เราสามารถเป็นเพื่อนกับน้ำได้ สิ่งที่เราทำนั้นผิดอย่างสิ้นเชิง”  ศาสตราจารย์คงเจียน กล่าวในเวที World Economic Forum

ผ่านไปสองทศวรรษ โมเดลเมืองฟองน้ำได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลจีน กระทั่งโครงการเมืองฟองน้ำโดย ดร.คงเจียน ประสบความสำเร็จกว่า 500 โครงการ ทั้งในประเทศจีนและในเมืองทั่วโลก เฉพาะในประเทศจีนมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น เช่น Qunli Stormwater Park, Shanghai Houtan Park, Minghu Wetland Park เป็นต้น

Qunli Stormwater Park ฟองน้ำสีเขียวแห่งเมืองฮาร์บิน

หนึ่งใน 500 โปรเจกต์ที่น่าสนใจของศาสตราจารย์คงเจียนและทีม Turenscape คือ Qunli Stormwater Park เมืองฮาร์บิน (Harbin) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งกวาดรางวัลด้านสถาปัตยกรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น ASLA Excellence Award 2012, International Architecture Award 2012 และ International Energy Award 2015

Qunli Stormwater Park เริ่มเมื่อปี 2006 เป็นการออกแบบสวนสาธารณะขนาดประมาณ 200 ไร่ จากพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมของเมืองฮาร์บิน ที่ถูกโอบล้อมด้วยถนนและอาคารทั้ง 4 ด้าน แน่นอนว่าพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างหนาแน่นก็พัฒนามาจากพื้นที่ชุ่มน้ำเดิม และมีแนวโน้มว่าพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหลืออยู่ก็จะถูกคุกคามในไม่ช้า ทีม Terenscape จึงเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นฟองน้ำของเมืองด้วยแนวคิด urban storm water park

กลยุทธ์ในการออกแบบ Qunli Stormwater Park แห่งเมืองฮาร์บิน ประกอบด้วย

1) คงธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่ชุ่มน้ำในฐานะพื้นที่ส่วนกลางของเมือง และปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติ

2) สร้างวงแหวนรอบบ่อน้ำและเนินรอบพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยเทคนิค cut-and-fill อย่างง่าย เพื่อให้วงแหวนและเนินดินเป็นเหมือนรั้วธรรมชาติที่คั่นระหว่างเมืองและพื้นที่ชุ่มน้ำ

3) สร้างโครงข่ายทางเดินบริเวณวงแหวนบ่อน้ำและเนินดินเพื่อให้ผู้เที่ยวชมได้รู้สึกเหมือนกำลังเดินสำรวจป่า

4) ออกแบบพื้นที่สำหรับชมภูมิทัศน์ธรรมชาติ เช่น ทางเดินลอยฟ้า ชานชาลา ศาลา และหอชมทัศนียภาพเชื่อมโยงเนินที่กระจัดกระจาย ทำให้คนเมืองได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และมองเห็นคุณค่าของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้

โปรเจกต์ของศาสตราจารย์คงเจียนได้ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังถูกคุกคามและเสี่ยงทำให้เมืองน้ำท่วม ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองที่สามารถดูดซับน้ำ และยังช่วยสร้างการเรียนรู้ของเมืองด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน Qunli Stormwater Park ได้รับการจดทะเบียนเป็นอุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตเมืองแห่งชาติจีน ที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางการบริการระบบนิเวศที่มุ่งเน้นการออกแบบสวนสาธารณะในเมือง และแสดงแนวทางการจัดการน้ำในเมืองได้เป็นอย่างดี

ย้อนมองความท้าทายด้านน้ำของประเทศไทย

World Economic Forum รายงานว่า กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 11 เมืองที่ถูกคาดการณ์ว่าจะจมน้ำในปี 2100 อันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ ได้แก่ อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การสูบน้ำบาดาลมากเกินไป และการทรุดตัวลงของแผ่นดิน

สอดคล้องกับรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่รายงานเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ว่าโลกจะร้อนขึ้นถึงหรือเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในเวลาเพียงสองทศวรรษข้างหน้า ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแผ่นน้ำแข็งเวสต์แอนตาร์กติกา หลอมละลายจนระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7.2 เมตร และ 3.3 เมตรตามลำดับ การละลายของแผ่นน้ำแข็งดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวชายฝั่งทุกแห่ง รวมถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ผลวิจัย IPCC ยังระบุว่า น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับกรุงเทพฯ ปีละ 20,000 ล้านบาทอีกด้วย

แผนที่ระดับน้ำทะเลในกรุงเทพฯ ปี 2030 จาก Climate Central

แนวคิดเมืองฟองน้ำเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างการบูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ เพื่อเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในเขตเมือง โดยมีแนวคิดหลักให้คนอยู่ร่วมกับน้ำอย่างเป็นมิตรของกันและกัน นอกจากจะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมภายในเมืองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ลดอุณหภูมิภายในเมือง และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในเมือง ส่งเสริมให้ผู้คนภายในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหาน้ำท่วมตลอดจนการตั้งรับวิกฤตโลกร้อนเป็นความท้าทายที่จำเป็นต้ออาศัยความร่วมมือของทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ในการระดมสมองและสร้างนวัตกรรมบนเงื่อนไขที่ว่า ต้องเริ่มทันที ก่อนถึง The Point of No Return หรือจุดที่สายเกินแก้ ดังที่มีสัญญาณเตือนให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

Using nature to reshape cities and live with water: an overview of the Chinese Sponge City Programme and its implementation in Wuhan

Sponge Cities: Emerging Approaches, Challenges and Opportunities

Qunli Stormwater Wetland Park / Turenscape

5 Big Findings from the IPCC’s 2021 Climate Report

Climate Change นับถอยหลัง “กรุงเทพฯ” เมืองจมน้ำ : รู้สู้ภัย Don’t Panic

อีก 11 ปี กรุงเทพฯ จะจมบาดาล


Contributor