23/08/2021
Life

สนทนากับ อรรถ บุนนาค ย้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้ญี่ปุ่น กับบทบาทโรงเรียนเชื่อมร้อยครอบครัวและชุมชน

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

เรียบเรียงโดย ชยากรณ์ กำโชค, สรวิชญ์ อังศุธาร

สูญสิ้นความเป็นคน, เมียชายชั่ว, อาทิตย์สิ้นแสง ฯลฯ คือตัวอย่างวรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างยอดเยี่ยมโดยสำนักพิมพ์ JLIT โดยมี อรรถ บุนาค เป็นผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการ ลงมือแปลด้วยตัวเอง

หลายคนอาจคุ้นเคยคุณอรรถจากบทบาทอดีตพิธีกรร่วมในรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง” ทางวอยซ์ทีวีเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เช่นเดียวกับบทบาทผู้รักการอ่านและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ดิฉันได้รับเชิญจากสำนักพิมพ์ JLIT ร่วมงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ซันชิโร ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซันชิโรเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของโซเซกิ ว่าด้วยเรื่องคู่ขัดแย้ง เมือง-ชนบท ความขัดแย้งทางจิตใจ และคุณค่าความเป็นมนุษย์ งานนี้ทำให้ดิฉันทราบว่านอกจากความเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแล้ว คุณอรรถยังเป็นผู้สนใจและเชี่ยวชาญเรื่องเมืองอีกด้วย

ในฐานะหัวหน้าโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ดิฉันจึงขอความกรุณาจากคุณอรรถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ของญี่ปุ่น เพื่อหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด ญี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ที่เข้มข้น และจัดการองค์ความรู้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเมือง

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมอะไรที่ทำให้คนแปรความรู้เป็นสินทรัพย์และพัฒนาให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจได้

บางคนบอกว่าสังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่นคล้ายกัน เนื่องจากผ่านการ modernized (ทำให้ทันสมัย) มาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ถูก ถ้าหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมกระฎุุมพี หรือวัฒนธรรมชนชั้นกลาง และมีการค้าขายมั่งคั่งมาตั้งแต่ยุคเอโดะหลังช่วงศักดินาสวามิภักดิ์ หากเทียบกับไทยก็ตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ การที่วัฒนธรรมกระฎุมพีแข็งแรง มี pop culture (วัฒนธรรมประชานิยม) และมี subculture (วัฒนธรรมย่อย) ส่งผลให้เกิดลักษณะการพัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ การจดบันทึกทางวัฒนธรรม และส่งผลให้ประชาชนสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมองค์ความรู้ เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมการเรียนรู้จึงถูกปลูกฝังในตัวคนญี่ปุ่น และความรู้ที่เก็บสะสมไว้เกิดเป็นคลังสมบัติ หรือ asset (สินทรัพย์) เมื่อถึงยามที่ต้องใช้จึงสามารถดึงมาใช้เป็น soft power (อำนาจอ่อน) ได้ง่าย เพราะมีรากฐานและแหล่งข้อมูลอยู่แล้ว

เช่นเมื่อหยิบมาใช้ในการฟื้นฟูเมือง ตัวอย่างที่ง่ายมาก ๆ คือ เมืองซะไก บ้านเกิดของอากิโกะ โยซาโนะ กวีชื่อดังของญี่ปุ่น เนื่องจากมีบันทึกว่าตำแหน่งบ้านของโยซาโนะอยู่ที่ไหน จึงมีการจัดทำอนุสรณ์เล็ก ๆ ประกอบไปด้วยประติมากรรม แปลงดอกไม้ และป้ายเล่าประวัติของอากิโกะ โยซาโนะ แม้จะอยู่ริมทางหลวงและเป็นอนุสรณ์ที่เล็กมาก ๆ แต่ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ชื่นชอบอากิโกะ โยซาโนะ สร้างรายได้มาสู่เมืองซะไกและสามารถพัฒนาเมืองได้ต่อไป ในอนาคตอาจพัฒนาเป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น หอจดหมายเหตุ หรือ พิพิธภัณฑ์นักเขียน

ต่างจากสังคมไทยซึ่งมีการเรียนรู้ การจดบันทึกและการสะสมองค์ความรู้ต่าง ๆ ยังไม่เท่าคนญี่ปุ่น อาจเกิดจากวัฒนธรรมการอ่านที่ไม่มั่นคง ทำให้การอ่าน การเก็บหนังสือ ไม่ได้อยู่ในนิสัยคนไทย ดังนั้น การกระตุ้นความกระตือรือร้น อาจจะต้องปรับใช้วิธีการอื่น เช่น การเวิร์คช็อปที่อยู่ในรูปการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่รูปแบบการบรรยายวิชาการ เพื่อกระตุ้นและนำไปปรับใช้ รวมถึงสร้างการตระหนักและความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และส่งทอดความรู้

ในญี่ปุ่นจะมีโจไนไก เป็นการรวมตัวกันในชุมชนเล็ก ๆ มีแทบทุกที่ ถ้าเปรียบกับไทยจะคล้ายนิติคอนโดฯ  แต่โจไนไกมีหน้าที่มากกว่านั้น คือนอกจากจะสร้างความตระหนักเรื่องผลประโยชน์ของตัวเองแล้ว ยังมีหน้าที่ปลูกฝังผลประโยชน์ของส่วนรวมด้วย อาทิ ความตระหนักรู้ด้านคุณค่าของสมบัติของชุมชน หรือคุณค่าของการฟื้นฟูเมืองและท้องถิ่นที่ตัวเองอยู่อาศัย คิดว่าจุดนี้เป็นปัญหามาก เพราะจริง ๆ แล้วไทยมีความรู้ มี know how แต่แค่ยังขาดกระบวนการตระหนักรู้ ซึ่งทำให้เกิดความยั่งยืนในการส่งทอดความรู้

บทบาทโรงเรียนต่อรักษาและปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้กับเด็ก

คนญี่ปุ่นมีลักษะประการหนึ่ง ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ ถ้าพูดเป็นศัพท์ที่รู้จักกันดี นั่นคือ วัฒนธรรมโอตาคุ เช่นเวลาอยากรู้เรื่องอะไรจะศึกษาลงไปลึกมาก รู้ให้ได้มากที่สุด ถ้าพูดเป็นคำไทยง่าย ๆ ก็คงจะเป็น “แฟนพันธุ์แท้” เราเริ่มเห็นวัฒนธรรมโอตาคุในประเทศไทยแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นผลของการปฏิวัติดิจิทัล ที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย ต่างกับสังคมไทยสมัยก่อนมีลักษณะการเทิดทูนความรู้ ความรู้เป็นของสูง ถูกหวงแหนให้ได้ถ่ายทอดกันแค่ในชนชั้นศักดินา ความรู้ถือเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แพร่สู่บ่าวไพร่  ในประเทศไทยเพิ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในยุคสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาก่อร่างสร้างเมือง ยกตัวอย่างหลังยุคช่วงสงครามเย็นที่มีคำว่า “ผีคอมมิวนิสต์” ก็มีส่วนช่วยให้เราตระหนักถึงความสำคัญขององค์ความรู้ต่าง ๆ และเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อศึกษาเพื่อนบ้านและชาติตัวเองมากขึ้น

ส่วนของญี่ปุ่น ย้อนไปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นประเทศมีความเป็นชาตินิยมสูง เนื่องจากมี propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสู้กับชาติตะวันตกได้ และเพิ่งจะมีการศึกษาแบบยุคปัจจุบันภายหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทด้านการศึกษาและเปลี่ยนญี่ปุ่นให้เป็น  secular state (รัฐโลกวิสัย/รัฐฆราวาส) ส่งผลให้ในโรงเรียนรัฐไม่มีรูปเคารพสมเด็จพระจักรพรรดิหรือเกี่ยวกับลัทธิศาสนา เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่อใด สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ การศึกษาจึงมีความเป็นกลางและมีลักษณะเป็นวิชาการจริง ๆ โดยไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แฝงอยู่

การเรียนรู้ในโรงเรียนที่คิดว่ามีส่วนในการปลูกฝังกระบวนการทางความรู้ คือ การบ้านปิดเทอมฤดูร้อน ซึ่งจะปลูกฝังให้เด็กรู้จักการบันทึก อ่าน ค้นคว้า และเก็บรวบรวมความรู้ ในเด็กเล็กอาจเริ่มด้วยการให้เด็กปลูกต้นบานเช้าแล้วสังเกตุว่าปลูกไปกี่เมล็ด งอกกี่เมล็ด ทดลองวัดขนาด สังเกตการณ์เติบโต แล้วจดบันทึกเป็นรายงานหรือบันทึกด้วยภาพ นี่เป็นการสอนกระบวนการเรียนรู้และการวิจัยในเด็ก ยังมีโปรเจกต์อีกมากมายที่เด็กสามารถเลือกหัวข้อได้อิสระ เช่น บันทึกการดุของแม่ โดยจดบันทึกสาเหตุที่แม่ดุ ช่วงเวลาที่โดนดุ แล้วทำออกมาเป็นสถิติ เป็นวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อหาข้อสรุปว่าทำอย่างไรไม่ให้แม่ดุ หรืออาจจะเป็นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่น หากเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรมปลาทอง ก็อาจจะสัมภาษณ์คุณตาคุณยายร้านขายปลาทองหรือไปห้องสมุดเพื่อศึกษาค้นคว้า 

การบ้านปิดเทอมฤดูร้อนที่เด็กญี่ปุ่นได้ทำทุก ๆ ปีเป็นจุดสำคัญที่ฝึกกระบวนการเรียนรู้ การวิจัย การตั้งคำถาม ค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผล ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงเรียนเข้ากับชุมชน โดยการส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชุน ตลอดจนเชื่อมให้คนในครอบครัวได้ใช้เวลา และเกิดการเรียนรู้ร่วมกันเมื่อเด็กปรึกษาพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้การบ้านเป็นเหมือนศูนย์กลางที่เชื่อมระหว่างชุมชน บ้าน เข้ากับโรงเรียนและถึงแม้หลักสูตรอาจคล้ายกับไทยในเรื่องการเรียนเพื่อนำไปใช้สอบ แต่จะพบว่าหลักสูตรมาตรฐานของญี่ปุ่นมักเกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรมหรือวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการทำสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานเพื่อส่งเข้าประกวด ที่เกิดกระบวนการทำให้เด็กค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างรวดเร็ว และสอดรับกับวิชาชุมนุมที่จริงจังภายในโรงเรียน

นอกจากนี้ ยังมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน เช่น การวิจักษ์วรรณคดี ซึ่งส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านและวิเคราะห์ เด็กยังสามารถส่งผลงานการวิจักษ์วรรณคดีในระดับโรงเรียน ชุมชน เขต ไปจนถึงประเทศ หรือการสนับสนุนโดยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ซึ่งนอกจากเป็นการส่งเสริมการอ่านแล้วก็ทำให้หนังสือขายได้ด้วย เมื่อเด็กผ่านกระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้ในระบบการศึกษา จะทำให้เด็กถูกปลูกฝังและโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะด้านการเรียนรู้ระดับหนึ่งเลย ต่างจากไทยซึ่งวิชาชุมนุมเป็นเหมือนคาบเรียนที่มีเพื่อให้ครบหลักสูตร จริง ๆ แล้วเราอาจจะเอาวิชาลูกเสือออก แล้วเปลี่ยนเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้โลกจริง แล้วอาจให้วิชาลูกเสือเป็นส่วนหนึ่งของการเอาชีวิตรอดก็ได้ เป็นต้น

สัดส่วนการศึกษาในโรงเรียนกับนอกโรงเรียนของประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

ไม่แน่ใจครับ แต่ในระดับโรงเรียนน่าจะคล้ายกับในประเทศไทย คือเข้าเรียน 8 โมงเช้าเลิกบ่าย 3 โมง เมื่อก่อนเด็กญี่ปุ่นเรียนเยอะกว่านี้เพราะมีเรียนวันเสาร์ครึ่งวันด้วย เพิ่งมายกเลิกไปในช่วงปี 2000 ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือที่ญี่ปุ่นมีการจัดกิจกรรมชุมชน เช่น ทีมเบสบอล ทีมฟุตบอลของเยาวชนเขตที่อยู่อาศัย อาจเกิดจากการรวมตัวของผู้ปกครองหรือครูพละเก่าโดยได้รับการสนับสนุนจากคนในชุมชน ไปจนถึงบริษัทเอกชนที่อยู่บริเวณชุมชนนั้น นอกจากทีมกีฬายังมียกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ดิสนีย์แลนด์ ปัจจุบันคนในชุมชนอูรายาสึที่ดิสนีย์แลนด์ตั้งอยู่สามารถซื้อบัตรผ่านรายปีในราคาพิเศษและมีรถรับส่งจากชุมชนไปยังดิสนีย์แลนด์ ดิสนีย์แลนด์จึงเป็นเหมือนสวนสาธารณะสำหรับชาวอูรายาสึไปเลย จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรใหญ่ องค์กรเล็กและชุมชนอยู่เสมอ และจะร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เทศกาลฤดูร้อน เทศกาลดอกไม้ไฟ เทศกาลปีใหม่ การออกร้านในช่วงงานเทศกาลก็จะมีการตกแต่งประดับประดา ย่านโชเต็งไง หรือย่านการค้าในชุมชนเพื่อส่งเสริมการขายและธุรกิจในย่าน

ย่านโชเต็งไงในประเทศญี่ปุ่น ที่มา Kyushu x Tokyo

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เด็กสามารถเข้าร่วมได้ด้วย เช่นการประกวดระบำโยซาโกย เป็นระบำพื้นบ้าน ประยุกต์กับ contemporary dance (นาฏศิลป์ร่วมสมัย) ต้นกำเนิดจากจังหวัดโคจิ เป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้อาวุโส โดยมีการจัดตั้งทีมเพื่อลงประกวดแข่งขันและฝึกซ้อมเป็นปี งานเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในชุมชน ทั้งพื้นที่สำหรับฝึกซ้อม ส่วนห้างร้านก็ยินดีตัดเย็บชุดสำหรับการแสดงให้ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้จากความร่วมมือร่วมใจ คิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้สามารถประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ง่าย อย่างที่เห็นจากการจัดงานกีฬาสีในโรงเรียน มีวงโยธวาทิต มีขบวนพาเหรด อะไรที่มีความสวยงามคิดว่าจะเหมาะประยุกต์ใช้ในประเทศไทยมาก เนื่องจากพื้นฐานคนไทยชอบอะไรที่รื่นเริง เยอะๆ และสนุกสนาน และเราสามารถนำจุดนี้เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ระดับท้องถิ่นขึ้นมาได้ ต่อไปอาจพัฒนาเป็น soft power ที่สามารถนำมาใช้สร้างอัตลักษณ์และส่งขายเป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยวของท้องถิ่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพียงแต่จุดสำคัญคือการผูกโยงกับอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ได้ แล้วอาจพัฒนาต่อยอดเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในอนาคต อาจมีปราชญ์ชาวบ้านหรือวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้รวบรวมองค์ความรู้ ทั้งนี้ จุดด้อยของไทยคือการรวบรวมความรู้เป็นเอกสารหรือเป็นสิ่งบันทึกเก็บไว้ในที่เดียวกัน

ความน่าสนใจคือโรงเรียนในญี่ปุ่นเป็นจุดเชื่อมชุมชน เมือง เด็กและผู้ใหญ่

กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการศึกษาญี่ปุ่น ซึ่งหากเปรียบเทียบคงจะคล้ายวัดในประเทศไทย สิ่งที่นึกได้จากเหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้วคือ ประเทศไทยไม่มีการก่อสร้างที่หลบภัยภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นวินาศภัย หรือภัยทางธรรมชาติก็ตาม แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของการผูกโยงทางด้านจิตใจด้วย คือโรงเรียนจะมีหน้าที่เป็นสถานที่อพยพ มีการเตรียมความพร้อมอาหารแห้ง เครื่องนอน อุปกรณ์ทางการแพทย์และของใช้ยามฉุกเฉิน โรงเรียนจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหวได้ ซึ่งคนทุกคนในเมืองก็จะรู้วิธีการเดินไปโรงเรียนในชุมชนของตัวเองอย่างคุ้นเคย แม้กระทั่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงเรียนจึงเหมือนศูนย์กลางที่ได้รับการผูกโยงทางจิตใจสำหรับคนในพื้นที่

ชุมชนญี่ปุ่นยังมีลักษณะเป็นโจไนไกอยู่หรือไม่

ยังเป็นอยู่ แต่ถ้าชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนย่านการค้าก็จะเป็น โชเต็งไก ซึ่งในปัจจุบันก็กำลังประสบปัญหา เนื่องจากย่านโชเต็งไกซบเซาแล้วก็เริ่มเลิกกิจการกันไป จนเกิดปรากฏการณ์ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ชัตเตอร์มาจิ” หรือ “เมืองแห่งประตูเหล็ก” เป็นปัญหาจากกลุ่มทุนที่เข้ามาเปิดกิจการร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ทำให้คนเปลี่ยนไปซื้อสินค้าตามที่เหล่านี้มากขึ้น จนเริ่มเป็นปัญหาในชุมชนชนบท นอกจากนี้ เรื่องผลจากการอพยพเข้าเมืองใหญ่ ทำให้ในชนบทเริ่มขาดแคลนแรงงาน คนหนุ่มสาว กิจการต่าง ๆ ดำเนินด้วยคนเฒ่าคนแก่และขาดคนสืบทอด ซึ่งในสังคมไทยก็เริ่มเห็นปัญหานี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่เริ่มเกิดในญี่ปุ่นแล้วแต่ในไทยยังไม่เห็น คือในทางกลับกันศูนย์กลางของเมืองใหญ่ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ มักซบเซามากในช่วงกลางคืนหรือวันหยุด เนื่องจากเกิดการพัฒนารอบเขตชานเมือง มีห้างร้านเบ็ดเสร็จ ทำให้คนไม่ต้องเดินทางเข้าใจกลางเมืองเพื่อมาทำธุระอีกแล้ว ทำให้เกิดปรากฎการณ์โดนัทขึ้นคือตรงกลางของเมืองตายลง แต่ญี่ปุ่นก็พยายามแก้ไขปัญหา เช่น ในย่านมารูโนะอูจิ (Marunouchi) ของโตเกียวที่ปรับทางเท้าให้น่าเดินมากขึ้นและเปลี่ยนชั้นล่างของอาคารสำนักงาน เป็นร้านสินค้าแบรนด์เนม โดยสนับสนุนให้มีแบรนด์ต่าง ๆ มาเปิด เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาในย่าน จนตอนนี้ย่านนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทำไมศักดินาญี่ปุ่นถึงให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ ขณะที่ชนชั้นสูงของไทยในอดีตหวงแหนและมองเป็นอำนาจ

สมัยก่อนญี่ปุ่นมีระบบการศึกษาที่เรียกว่า เทระโกยะ มีลักษณะเป็นโรงเรียนวัดแบบไทยที่เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะได้รับการศึกษาให้อ่านออก เขียนได้ และสามารถคำนวณพื้นฐานได้ เนื่องจากรัฐส่วนกลางเห็นประโยชน์ของการศึกษา ในฐานะสิ่งสำคัญที่ช่วยให้รัฐสามารถสื่อสารใกล้ชิดและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

ในสมัยก่อนการกระจายประกาศไปตามเมืองต่าง ๆ ม้าเร็วเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้ที่บอร์ดประจำเมือง ทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์กฎหมายใหม่ไปจนถึงการเก็บภาษี ดังนั้น การที่ประชาชนสามารถอ่านออกเขียนได้ ก็จะสามารถลดข้ออ้างในการไม่รับรู้ หรือไม่เข้าใจประกาศ วัฒนธรรมดังกล่าวถูกฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน อย่างก่อนยุคที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือแพร่หลาย คนญี่ปุ่นจะมีการเขียนข้อมูลข่าวสารบนกระดานชอล์กตามสถานีรถไฟฟ้า เพื่อแจ้งข่าวกับคนที่นัด และจะเห็นว่าในปัจจุบันเมื่อญี่ปุ่นอยู่ในช่วงภัยพิบัติ ระบบสารสนเทศไม่สามารถใช้งานได้ เช่นในช่วงสึนามิ จะมีการติดประกาศตามศูนย์หลบภัย หน้าบ้าน เพื่อแจ้งข่าวสารให้ญาติ หรือคนสนิทมิตรสหายได้รับรู้ถึงที่อยู่ และเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ซึ่งวัฒนธรรมนี้ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคเอโดะ

ในส่วนของการอ่าน ก็มีมานานแล้วเช่นเดียวกัน ถึงแม้ในสมัยเฮอัน วรรณคดีเป็นของชนชั้นสูง จะเห็นได้ว่าในช่วงสงครามกลางเมือง วรรณคดีของญี่ปุ่นจึงซบเซา เนื่องจากเอาเวลาไปรบ ไม่มีเวลามาอ่านหรือแต่งอะไรเพื่อความสุนทรีย์ จนมาในยุคสมัยของเอโดะ ซึ่งมีวัฒนธรรมพ่อค้ารุ่งเรือง อุตสาหกรรมการพิมพ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง และเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตกระดาษได้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัฒนธรรมการอ่านมีความแข็งแรง ถึงแม้การซื้อหนังสือมาเป็นของส่วนตัวจะมีราคาค่อนข้างสูง เป็นสมบัติของพ่อค้าคนรวย แต่มีร้านเช่าหนังสือเกิดขึ้นในตั้งแต่สมัยนั้น รวมทั้งมีนิทานที่มีเนื้อหาที่เจาะตลาดชาวบ้าน พวกนิยายประโลมโลก นิทาน หรือนิยายโป๊ต่าง ๆ ให้เช่าเยอะมาก จนมาในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรือง คนกินดี อยู่ดี จึงไม่จำเป็นต้องเช่ายืมหนังสืออีกต่อไป เนื่องจากสามารถซื้อเป็นของส่วนตัวได้ ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องการอ่านจะมีประวัติมายาวนาน ตั้งแต่สมัยเอโดะ

แต่ในประเทศไทยหนังสือเป็นสิ่งที่มีราคาสูงและถูกมองว่าเป็นของมีคุณค่า เป็นของสูง ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติต่อหนังสือว่าเป็นของยาก เวลาอ่านจะต้องได้รับข้อคิด สะท้อนสังคม ซึ่งจริง ๆ แล้ว หนังสืออาจมีหน้าที่เพื่อให้ความเพลิดเพลินเท่านั้น จึงทำให้วัฒนธรรมหนังสือไม่เป็นมิตรกับผู้อ่าน กับเด็ก ๆ ซึ่งวรรณกรรมเยาวชนของไทย ก็จะมีลักษณะเป็น ศีลธรรมระดับกระแดะ ไม่ได้มีเรื่องให้เด็กสนุก เป็นเรื่องปลูกฝังคุณธรรม ศีลธรรม ซึ่งเด็กก็ไม่ได้อยากอ่านอะไรที่ดูเป็นการสั่งสอน เช่นนิยายแฟนตาซีที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ก็จะเป็นวรรณกรรมแปลทั้งนั้น ในเมืองไทยวรรณกรรมเยาวชนก็จะมีลักษณะเรื่องแบบความสุขของกะทิ จึงทำให้ไม่มีนิยายแนวนี้เป็นที่นิยม และให้ความเพลิดเพลินกับเด็กในประเทศไทย

คนญี่ปุ่นมีวิธีการปลูกฝังเรื่องความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างไร ทำไมถึงสามารถทำได้อย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

เวลาคนไทยพูดถึงคนญี่ปุ่นก็จะบอกว่าคนญี่ปุ่นมีระเบียบมาก แต่จริง ๆ แล้ว มันก็เป็นผลจากความกดดันของสภาพแวดล้อม เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศรวมกลุ่ม เวลาทำอะไรที่ดี อาจจะไม่ได้เป็นเพราะอยากทำจากจิตสำนึกของตัวเอง แต่เกิดจากการกดดันของรอบข้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนของญี่ปุ่น เป็นการทำเพราะทุกคนทำ หรือจากการกลัวการประณามโดยสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นกลัว แตกต่างจากในประเทศไทยที่แม้ว่าลักษณะสังคมจะเป็นแบบรวมกลุ่ม มีการรวมตัวในชนบทสูง แต่มีความเป็นปัจเจก ทำให้แต่ละคนสามารถแสดงออกอย่างแตกต่างได้ มีลักษณะแบบใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า ทำตามปัจเจกและความสบายใจของตนเอง มีความเป็นอิสระ แต่ในขณะที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นจะมีความเป็นปัจเจกในเรื่องของการไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว แต่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสาธารณะ ต้องเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว การรักษาสมบัติสาธารณะ หรือการปฏิบัติตัวในที่สาธารณะที่ต้องเหมาะสมเกรงใจผู้อื่น จากการปลูกฝังจึงเห็นว่าเด็กญี่ปุ่น แม้จะมีธรรมชาติของความเป็นเด็ก แต่จะมีลักษณะที่อยู่ในกรอบ

การต่อแถวอย่างเป็นระเบียบที่พบเห็นได้ทั่วไปในวิถึชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น ภาพจาก JAPAN in Pictures

วิธีการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ไทยกับญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร และส่งผลอย่างไร

แตกต่างกันอย่างเด่นชัด พ่อแม่ไทยมักจะตามใจลูก ขณะที่พ่อแม่ญี่ปุ่นจะเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ การกินที่เรียบร้อย การพูดคุยที่ไม่เสียงดัง มารยาทในสังคม จนถึงเรื่องการกล่าวทักทายต่าง ๆ ซึ่งจะมีลักษณะในแนวระนาบ แต่ของไทยจะเข้มงวดในแนวตั้ง คือเข้มงวดเรื่องความอาวุโส ต้องไหว้ใคร การกล่าวขอบคุณหรือขอบใจ นอกจากนี้พ่อแม่ญี่ปุ่นมักจะเลี้ยงดูให้ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าจะการสอนให้ลูกจับตะเกียบกินข้าวเอง การแต่งตัว ล้างหน้า ใช้ชีวิตประจำวัน การจัดตารางชีวิตการเรียนการสอน รวมไปถึงการเดินทางไปไหนมาไหนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากลักษณะบ้านเมืองที่ปลอดภัย การปลูกฝังเหล่านี้มีลักษณะเป็นมาตรฐาน เกิดขึ้นทั้งที่บ้านและโรงเรียน และจะมีเรื่องของวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม ซึ่งเมื่อลูก ๆ ไปเล่นกับคนอื่น ถ้าทำผิดมารยาทหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ขณะที่คนอื่นทำได้ ก็อาจจะถูกนำไปนินทาได้ ซึ่งลักษณะความเข้มงวด และการปลูกฝังต่าง ๆ จึงติดตัวและส่งผลไปต่อนิสัยที่ติดตัวไปของเด็ก

นอกจากนี้ พ่อแม่ไทยจะมีลักษณะออกไปทำงานทั้งสองคน ในขณะที่ของญี่ปุ่นแม่จะอยู่บ้าน เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกอย่างเดียว ซึ่งก็มีผลต่อการเลี้ยงดูและการเรียนรู้ของลูก แม้ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปเนื่องจากรายได้จากสามีคนเดียวอาจจะไม่เพียงพอจุนเจือทั้งครอบครัว จึงมีการทำงานพิเศษของภรรยา เช่นช่วงเช้าหลังสามีไปทำงานและลูกไปเรียน ช่วงบ่ายที่ว่างก็อาจจะออกไปทำงานแคชเชียร์ หรืองานอื่น ๆ ที่ทำเป็นเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานมากขึ้น มีสถานรับดูแลเด็กระหว่างวันมากขึ้น แต่หน้าที่หลักในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูก ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เมื่อก่อนหน้าที่หลักจะอยู่ที่ผู้หญิง แต่ในปัจจุบันพ่อก็มีหน้าที่ในการปฏิสัมพันธ์กับลูกมากขึ้นตั้งแต่ยุค 1980-1990

ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ญี่ปุ่นมีกลไกอะไรที่แตกต่างในการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้มหาศาลจากหนังสือและสิ่งพิมพ์

มีกลไกหลายอย่างที่ผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรมห้องสมุดของโรงเรียน ที่ได้พูดไปแล้ว ที่ส่งเสริมการอ่าน การบ้านฤดูร้อน และการเขียนสรุปวิจักษ์วรรณกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการอ่านในระดับโรงเรียน ชุมชน หรือสังคม นอกจากนี้องค์กรต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยในการสนับสนุน อย่างการให้รางวัลการประกวดบทความเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่สำนักพิมพ์จัด อีกเรื่องที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือหนังสือราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ เนื่องจากประชากรการอ่านมีเยอะมาก ส่งผลให้สามารถผลิตหนังสือออกมาจำหน่ายได้ในราคาถูก มีต้นทุนต่ำลง ลักษณะจะคล้าย ๆ อุตสาหกรรมหนังสือตะวันตกคือมีการออกปกแข็งออกมาก่อน แล้วหากเป็นที่นิยมก็จะมีขายเป็นปกอ่อน หรือ พ็อกเก็ตบุ๊ก ซึ่งมีราคาถูกลงและมีขนาดเล็กลง ทำให้สามารถขายหนังสือได้เยอะมาก นอกจากนี้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่นมีลักษณะที่ครบวงจร ร้านหนังสือขายได้ สายส่ง ผู้ผลิตมีรายได้ และนักเขียนเองก็เป็นอาชีพที่มีรายได้เพียงพอ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีส่วนร่วมเรื่องภาษีกระดาษ หรือการมีกฎหมายการผูกขาด ที่ไม่ให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหนังสือเป็นเจ้าของเดียวกัน ต่างจากไทยที่สำนักพิมพ์ก็มีหน้าร้านขายหนังสือ ทำให้หนังสือจากสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ถูกจำกัดจากพื้นที่บนเชลฟ์ วิธีการนี้ส่งผลกระทบต่อวงการหนังสือ แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือ ประชากรนักอ่าน เนื่องจากมีลักษณะนิสัยที่ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านการเรียนรู้ ทำให้เกิด economies of scale (การประหยัดต่อขนาด หรือ การที่ธุรกิจมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง เมื่อธุรกิจขยายขนาดการผลิตมากขึ้น) หนังสือจึงมีราคาถูกลง อย่างไรก็ตามจะมีหนังสือบางประเภทเช่น หนังสือทางวิชาการ หนังสือแปลจากภาษาที่ไม่ได้รับความนิยมต่าง ๆ ที่จะมีราคาสูง เนื่องจากความเฉพาะตัวของประชากรนักอ่าน แต่หนังสือโดยทั่วไปแล้วถือว่ามีราคาถูกมาก

ห้องสมุดในญี่ปุ่นสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้คนเข้ามาใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้

อย่างแรกเลยคืองบประมาณสนับสนุนที่ห้องสมุดได้สูงมาก และห้องสมุดจะปรับคอลเลคชั่นหนังสือให้เหมาะสมไปกับพื้นที่ เช่น ห้องสมุดในเขตคิตะในโตเกียวที่มีสถาบันการศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับ area study (อาณาบริเวณศึกษา)  ก็จะมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้เยอะในห้องสมุด นอกจากนี้ยังสามารถสั่งหนังสือที่อยากอ่านผ่านห้องสมุดได้ เช่นหากยังไม่มั่นใจเนื้อหาในหนังสือ หรืออยากอ่าน ก็สามารถยื่นเรื่องให้ห้องสมุดจัดหาได้ ซึ่งเป็นการจัดหาตามลำดับความสำคัญ และความนิยม แต่ส่วนมากหนังสือก็จะได้รับการจัดสรรอย่างรวดเร็ว และคลังหนังสือในห้องสมุดที่ญี่ปุ่นจะมีความหลากหลายสูงและครอบคลุมมาก บางเรื่องที่ไม่คิดจะหาได้อย่างวรรณกรรมไทยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นยุคก่อนที่หายากก็มักจะมีครบครัน นอกจากนี้เครือข่ายห้องสมุดยังช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างครบวงจรอีกด้วย เช่นสามารถยืมหนังสือข้ามห้องสมุดได้

ห้องสมุดยังเป็นเหมือนศูนย์กลางการจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมเล่านิทาน เป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดอื่น และยังเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ จัดเล็กจัดน้อย ตั้งแต่กลุ่มแม่บ้านปักผ้าจัดผ้ามาจัดแสดง พื้นที่ในการจัดแสดงเหล่านี้มีตั้งแต่ห้องสมุดจนถึงเทศบาล ไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าบำรุงรักษาในราคาที่ถูกมาก  ทำให้เกิดกิจกรรมการจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงระดับองค์กร หรืออาจเป็นผลงานส่วนบุคคล ของสะสมต่าง ๆ

ตัวอย่างจากช่วงโควิดที่ผ่านมาคือ ปกติโรงเรียนดนตรีจะมีการจัดแสดงความสามารถของนักเรียนประจำปี แต่ปีที่ผ่านมาไม่สามารถจัดได้ ครอบครัวญี่ปุ่นจึงเหมาจองพื้นที่คอนเสิร์ตฮอลล์เป็นคอนเสิร์ตส่วนตัวให้กับคนในชุมชน และให้บุตรหลานของตัวเองมีพื้นที่แสดงความสามารถ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าถึงพื้นที่จัดแสดงที่ง่ายและถูกของญี่ปุ่น ห้องสมุด จึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเมือง ของชุมชน ที่มีความทันสมัยและตอบสนองกับความต้องการของคนในชุมชน ถึงแม้ในสมัยนี้จะมีความนิยม co-working space ทำให้คนใช้ห้องสมุดลดลง แต่ห้องสมุดยังมีลักษณะเป็น third place (บ้านหลังที่สาม) ถ้าไม่ใช่บ้านหรือที่ทำงาน คนก็จะเลือกไปห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีการเปิดอบรมเรื่องเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์วิทยา การจัดการคอลเลคชัน ทำให้เกิดวัฒธรรมการจัดแสดงขึ้น การบอกเล่า มุขปาฐะต่าง ๆ การรวบรวมบันทึกการบอกเล่า จนกลายเป็นคลังสินทรัพย์ทางความรู้ที่เกิดขึ้นในเมือง

ห้องสมุดกลางประจำเมืองคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ภาพโดย Wikimedia

การเกิด มาจิสึคุริ สร้าง อีซง อีปิง ที่มีลักษณะคล้าย OTOP ของไทย ซึ่งเป็นการใช้สินทรัพย์ทางความรู้มาสร้างคุณค่า ต่อยอด จนสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเมืองได้ เกิดจากอะไร

เกิดจากการอพยพเข้าเมืองและการปฏิวัติอุตสาหกรรม เช่นหลังคำสั่งปิดเหมืองในนางาซากิ ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กมาแต่มีคนอยู่ถึง 5,000 คนจากอุตสาหกรรมเหมือง พอมีประกาศปิดเหมืองก็ทำให้กลายเป็นเกาะร้าง จึงต้องทำมาจิสึคุริ แรก ๆ ก่อนจะเรียกว่ามาจิสึคุริจะถูกนิยามว่า ชีกิโอโคจิ แต่เนื่องด้วยคำว่ามาจิสึคุริมีความคุ้นเคยมากกว่าและดูเป็นคำที่ไม่กระด้าง จึงถูกใช้อย่างแพร่หลาย มีตัวอย่างการจัดการที่ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวมากมาย อย่างล่าสุดที่พี่ไปอยู่ เห็นการพัฒนามาตั้งแต่ตอนแรกคือสถานีไดตาบาชิของรถไฟเอกชนสายเคโอในโตเกียว ซึ่งมีโชเต็งไกที่ซบเซามาก เนื่องจากอยู่ระหว่างสองสถานีใหญ่ คือสถานีเมไดมาเอะและสถานีซาซาซึกะ ซึ่งพลุกพล่านมีห้างร้านมากมาย สถานีเมไดมาเอะเองก็เป็นสถานีเชื่อมรถไฟสองสายใหญ่เข้าด้วยกัน คนหันไปซื้อของตามห้างดองกี้หรือซุปเปอร์มาเก็ตจนธุรกิจปิดตัวลง จึงเกิดการพัฒนาโดยมีคอนเซ็ปต์การสร้างพื้นที่ตรงนั้นเป็นเมืองโอกินาวาเพื่อดึงดูดคน โดยร้านขายผักแถวนั้นก็จะเปลี่ยนมาขายผักจากโอกินาวา พวกมะระ ซึ่งตอนนั้นดีใจมากเพราะมีมะละกอดิบ เอามาทำส้มตำได้ ร้านขายเนื้อก็มีเมนูโอกินาวาออกมาขาย ร้านราเมงเปลี่ยนเป็นขายราเมงโอกินาวา ปรับปรุงพื้นที่ ซุ้มประตู การตกแต่งต่าง ๆ ให้มีบรรยากาศเหมือนโอกินาวา สื่อต่าง ๆ ก็เข้ามาทำข่าวมากมาย คนก็แห่มาเที่ยวเต็มพื้นที่ มีการแสดงจากกลุ่มนักเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่ยั่งยืน ปัจจุบันเมืองโอกินาวานี้ก็หายไป แต่ก็มีคาเฟ่ใหม่ ๆ เก๋ ๆ เกิดขึ้น ที่หลายคนต้องเดินทางมาไกลเพื่อมากินโดยเฉพาะ ก็แสดงให้เห็นว่า การพัฒนา ถึงแม้มันอาจจะไม่ได้อยู่ยั่งยืน แต่เมื่อได้รับความสนใจจากสื่อ มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยียน ถึงแม้เมืองโอกินาวาอาจจะจบสิ้น แต่ก็มีการต่อยอดการทำร้านแบบอื่นผุดขึ้นมา

บทบาทของสื่อและการสร้างสังคมการเรียนรู้

สื่อโทรทัศน์โดยเฉพาะช่อง NHK เป็นช่องที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบและนิยมมาก มีบทบาทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ มีงบประมาณทำสารคดีสูง สารคดีจึงออกมามีคุณภาพ ทุกคนก็รู้กัน ทำสารคดีประหนึ่งการทำธีสิส ที่ทราบเพราะเคยอยู่ในทีมเบื้องหลังการทำงานของสารคดีชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้จะมีช่องที่มีคอนเทนต์ที่เฟี้ยวฟ้าว ซึ่งเป็นช่องเอกชน เช่นมีรายการไกยาโนอาเกะหรือซูปาเทเรบิ รายการยอดนิยมจะเป็นเชิงเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการตลาด เช่นการจัดเลย์เอาต์ของซูเปอร์มาร์เก็ตส่งผลอย่างไร ซึ่งก็เป็นการกระตุ้นให้คนอยากที่จะรู้เพิ่ม โดยปัจจุบันคนดูหลายการเหล่านี้เยอะและเหนียวแน่น และเนื่องด้วยในปัจจุบัน มีเรื่องการคุม PC (Political Correctness ความถูกต้องทางการเมือง) เยอะขึ้น คอนเทนต์ต่าง ๆ น่าสนใจลดลง ไม่กล้าแตะอะไรเยอะ ทำให้คอนเทนต์จาก NHK ซึ่งมีการคุมมาตรฐานเรื่องนี้มาแต่แรกแล้ว ดูน่าสนใจ และเริ่มดูสนุกขึ้น


Contributor