07/08/2020
Mobility
เรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมเมืองด้วยเรือไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียน
ชยากรณ์ กำโชค
“ค้ำจุนบ้านเมืองให้มั่นคงและมั่งคั่ง” คือความหมายของคำว่า ผดุงกรุงเกษม ชื่อคลองแสนไพเราะที่เชื่อว่าหลายคนคุ้นหู คลองเส้นนี้ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2394 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2395 ด้วยทรงมีพระราชดำริว่าควรขยายพระนครออกไป เนื่องจากขอบเขตเมืองเดิมเริ่มคับแคบ และคลองยังมีประโยชน์เป็นเส้นทางสัญจรทางเรือของชาวพระนคร ซึ่งขณะนั้นมีประชากรย้ายมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก
ท่ามกลางการขยายตัวกรุงเทพฯ อย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมา คลองผดุงกรุงเกษมถูกลดบทบาทจากคลองเชื่อมเมืองด้วยการสัญจรทางน้ำ จากย่านเทเวศไปยังย่านหัวลำโพงและแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเพียงคลองที่มีสะพานสำหรับรถยนต์ข้ามผ่านหลายสะพาน กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2558 คลองผดุงกรุงเกษมได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะตลาดน้ำ และต่อมาในปี พ.ศ.2560 กรุงเทพมหานครได้ทดลองเดินเรือโดยสารอีกด้วย ตามลำดับ ล่าสุดต้นปี พ.ศ.2563 ได้ทดลองให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรก และเตรียมขยายจำนวนเป็น 8 ลำในเดือนพฤศจิกายน 2563
เรือโดยสารไฟฟ้าแห่งแรกของอาเซียน
นิตยสาร Monocle ฉบับเดือนกรกฎาคม ได้รวบรวมนวัตกรรมที่ทำให้เมืองน่าอยู่จากทั่วโลก กรุงเทพมหานครเป็น 1 ในเมืองที่ถูกกล่าวถึง ผ่านโครงการเรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม เส้นทางสัญจรทางน้ำกลางเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถโดยสาร รถไฟฟ้า ฯลฯ ที่สำคัญคือเป็นเมืองแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าที่ไร้มลภาวะทั้งกลิ่นและควัน
คุณมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าได้จัดหาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าพร้อมระบบโซลาร์เซลล์ (ไร้มลพิษทางเสียงและอากาศ) จำนวน 8 ลำ เพื่อให้บริการประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ เรือมีศักยภาพจุผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 30 ที่นั่งและมีที่สำหรับจอดรถเข็นผู้พิการ
เรือใช้พลังงานไฟฟ้าจาก 2 แหล่งคือจากการชาร์จไฟที่สถานีชาร์จเพื่อการขับเคลื่อนเรือ และใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือเพื่อให้แสงสว่างภายในเรือ เส้นทางเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมจะเป็นเส้นทางเรือแห่งแรกของกรุงเทพมหานครและของประเทศ ที่จะใช้เรือไฟฟ้ามาให้บริการทั้งหมด ถือเป็นเส้นทางขนส่งมวลชนสีเขียว รองรับการเดินทางต่อเชื่อมระบบขนส่งมวลชน
“จากการทดลองให้บริการเรือไฟฟ้า พบว่ามีข้อดีทั้งในเรื่องลดผลกระทบทางด้านเสียงและควัน มลพิษในอากาศ และที่สำคัญช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้อย่างมาก โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 1 ใน 4 ของต้นทุนการเดินเรือด้วยน้ำมันดีเซล แต่ทั้งนี้เรือไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงเริ่มต้นโครงการเนื่องจากค่าแบตเตอรี่เรือมีราคาสูง แต่แนวโน้มในอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการคมนาคมขนส่งจะส่งผลให้ค่าแบตเตอรี่ในระยะยาวมีราคาถูกลง ดังนั้นในภาพรวมแล้วเรือไฟฟ้ามีข้อดีมากกว่าข้อด้อย เมื่อเทียบกับการใช้เรือที่ใช้น้ำมัน” นายมานิต กล่าว
คลองเชื่อมเมือง เรือเชื่อมคน
เส้นทางเรือโดยสารคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มี 11 ท่า สัญจรผ่านหลายเขตในเขตกรุงเทพฯชั้นใน ฝั่งพระนคร ตั้งแต่เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิตและเขตพระนคร นอกจากมีศักยภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่า ย่านเทเวศร์ ย่านนางเลิ้ง ย่านเยาวราช-ตลาดน้อย เป็นต้น คลองผดุงกรุงเกษมยังผ่านสถานที่ราชการขนาดใหญ่ เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ฯลฯ
ผ่านโรงเรียนและสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสายปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร รวมถึงผ่านย่านพานิชยกรรมและตลาด อาทิ ตลาดโบ๊เบ๊ ตลาดมหานาค ตลาดเทเวศร์ เป็นต้น การเชื่อมต่อทางสัญจรผ่านคลองผดุงกรุงเกษมจึงมีประโยชน์กับผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลหลากหลายกลุ่ม ทั้งในเวลาทำการของนักเรียน-นักศึกษา คนทำงาน และในวันหยุดของนักท่องเที่ยว
ศักยภาพที่โดดเด่นอีกประการของเส้นทางคลองผดุงฯ คือ เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนครบทั้ง รถ-เรือ-ราง เช่น รถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีหัวลำโพง เรือคลองแสนแสบบรรจบกันบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ เรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฝากที่ท่าเรือเทเวศร์ และรถโดยสารประจำทางตลอดเส้นทาง อาทิ สาย 171 (ปอ.) สาย 49 สาย 505 (ปอ.) สาย 511 (ปอ.) และ 53 เป็นต้น
อนาคตเรือคลองผดุงฯ และ การสัญจรทางน้ำของกรุงเทพฯ
กรุงเทพธนาคม เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะพัฒนาการเดินทางทางน้ำในคลองของกรุงเทพมหานครจำนวน 28 คลองที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เช่น คลองภาษีเจริญและคลองแสนแสบ แ
ละในอนาคตเตรียมจัดทำ “ท่าเรืออัจฉริยะ” โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบริเวณท่าเรือ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ท่าเรือมีแสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมง มีป้ายดิจิทัลแจ้งเวลาเรือที่จะเข้าเทียบท่า มีระบบการให้ข้อมูลการเดินทางที่ทันสมัย และจะพัฒนาให้บริเวณท่าเรือในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม เป็นจุดการเชื่อมต่อการเดินทางที่หลากหลายอย่างเช่น บริการจักรยานสาธารณะ และจัดให้มีจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับจักรยานไฟฟ้า และรถใช้พลังงานไฟฟ้าต่าง ๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้สนใจทดลองใช้งานเรือคลองผดุงกรุงเกษม สามารถไปทดลองใช้งานได้ทุกวัน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค.63) วันจันทร์-ศุกร์จะมีเรือบริการวันละ 14 เที่ยว เรือออกทุก 30 นาที รอบเช้าเวลา 6:00 – 9:00 น. รอบเย็นเวลา 15:30 – 19.00 น. ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และนักขัตฤกษ์ จะมีเรือบริการวันละ 12 เที่ยว เรือออกทุก 30 นาทีเช่นกัน รอบเช้าเวลา 8:00 – 10:00 น. รอบเที่ยงเวลา 12:00 – 13.00 น. รอบบ่ายเวลา 15:00 – 16.30 น. รอบเย็นเวลา 18:00 – 19.00 น.
ที่มาข้อมูล
ประวัติศาสตร์ชาติไทยและข่าวสาร
บริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด
นิตยสาร Monocle July/August 2020