30/01/2024
Mobility

6 เหตุผล ที่ทำไมราชวิถีควรมี SKYWALK

ศุภกร มาเม้า
 


ย่านโยธี-ราชวิถี เป็นพื้นที่ศักยภาพในการเป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์ของเมือง จากการมีโรงพยาบาล สถาบัน และหน่วยงานการแพทย์ในย่านกว่า 12 หน่วยงาน พร้อมทั้งมีผู้เข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีปัญหาเรื่องการสัญจร โดยเฉพาะเรื่องการเดินเท้า เนื่องด้วยทางเท้าที่ยังไม่ได้มาตราฐาน และไม่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

แล้วทำไมแค่ปรับปรุงทางเท้าถึงไม่เพียงพอ? ทำไมย่านนี้จำเป็นต้องมีทางเดินยกระดับ?

ในวันนี้ The Urbanis จะมาบอกทุกท่านถึงเหตุผล 6 ข้อ ที่ทำไมราชวิถีควรมี Skywalk

1. คนเดินเยอะ ทางเท้าแคบ แต่ไม่สามารถขยายเพิ่มได้

แม้ทางเท้าราชวิถีในบางช่วงจะมีความกว้าง 3-3.5 เมตร แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้ใช้งานกว่า 120,000 คนต่อวัน สำคัญคือทางเท้าเส้นนี้ยังมีความกว้างที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยเฉพาะทางเท้าหน้าโรงพยาบาลพระมงกุฎ และมูลนิธิคนตาบอดที่มีความกว้างน้อยกว่า 1.5 เมตร ทั้งยังมีต้นไม้อยู่บนทางเท้าในหลายช่วง ถือเป็นอุปสรรคต่อการเดินเท้าของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย และผู้พิการทางสายตา

ทั้งนี้ทางเท้าราชวิถีกลับไม่สามารถขยายเพิ่มได้ เนื่องจากถนนราชวิถีเป็นหนึ่งในถนนของเมืองที่มีค่าดัชนีรถติดมากในแต่ละวัน ความสามารถในการรองรับปริมาณรถของถนนเส้นนี้จึงถึงขีดจำกัด การขยายทางเท้าจะทำให้พื้นที่ถนนลดลงจนส่งผลให้มีรถติดมากขึ้น Skywalk จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าที่ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวถนนราชวิถีน้อยที่สุด

2. รองรับผู้ใช้งานที่จะเข้ามาในย่านมากขึ้น จากโครงการพัฒนาในอนาคต

จากข้อมูลของหน่วยงานในพื้นที่ ถนนราชวิถีมีจํานวนผู้ใช้งานริม 2 ฝั่งถนน ประมาณ 120,000 คนต่อวัน อีกทั้งในอนาคตยังมีแนวโน้มผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กําลังจะมาถึง อย่างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีใหม่ที่สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 55,000 รายต่อปี ประกอบกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มที่เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

Skywalk จึงเป็นยุทธศาสตร์สําคัญในการรับมือกับปริมาณผู้คนที่จะเดินทางเข้ามาในย่านเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ พร้อมทั้งตอบโจทย์อนาคตของย่านที่กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ตลอดจนรองรับการใช้งานของกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้ป่วย คนใช้รถเข็น และผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

3. มีอุปสรรคบนพื้นผิวทางเท้าจำนวนมาก

ทางเดินเท้าแนวถนนราชวิถีเต็มไปด้วยอุปสรรคจากสาธารณูปโภคกว่า 204 จุด อาทิ ป้ายสัญญาณจราจร ป้ายประกาศ เสาไฟฟ้า ตู้ไปรษณีย์ เป็นต้น โดยเฉพาะบริเวณทางเท้าที่มีขนาดแคบกว่า 1.7 เมตร มีต้นไม้ใหญ่อยู่บนผิวทางเท้า ทำให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับคนเดินเท้า ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับกลุ่มผู้ป่วย ผู้ใช้รถเข็น และผู้พิการทางสายตา การทำ Skywalk จะช่วยส่งเสริมให้การเดินเท้าของคนทุกกลุ่มสะดวกมากยิ่งขึ้น

4. เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินเท้า

นอกจากมีสิ่งกีดขวางแล้ว ทางเท้าราชวิถียังไม่มีเบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการทางสายตา และไม่มีทางลาดสำหรับผู้ใช้งานรถเข็น อีกทั้งกลุ่มผู้สูงวัยและนักเรียนคนตาบอดยังต้องเสี่ยงอันตรายจากรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในทุกวัน เพราะต้องเดินเท้าผ่านทางเข้า-ออกรถหน้าหน่วยงานถึง 19 จุด การมี Skywalk จะช่วยส่งเสริมให้สามารถเดินเท้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องหยุดเดินระวังรถเข้า-ออก พร้อมเป็นทางเดินที่ส่งเสริมปลอดภัยสำหรับทุกคน

5. เชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะได้ในหลายระดับ

Skywalk เป็นการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ รถประจำทางสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถสองแถว รถตู้ และระบบรถไฟฟ้า BTS ตลอดจนโครงการในอนาคตอย่างรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มที่เชื่อมต่อกับสนามบิน พร้อมทั้งมีโครงสร้างป้องกันแดดและฝน ส่งเสริมการเดินเท้าถึงจุดหมายปลายทางได้ในทุกสภาพอากาศ เสริมสร้างความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางเพื่อคนทั้งมวล ทั้งผู้ป่วย ผู้มีข้อจํากัดด้านการเคลื่อนที่ ผู้สูงอายุ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาชนทั่วไปอย่างเท่าเทียม

6. เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาฟื้นฟูย่านโยธี-ราชวิถีอย่างบูรณาการ

Skywalk ช่วยเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน แบ่งปันทรัพยากรอย่างเครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล สถาบัน และโรงเรียนการแพทย์ 12 หน่วยงานในย่าน ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือของ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานโดยรอบ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาให้ย่านแห่งนี้ กลายเป็นย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการสาธารณะสุขระดับโลก

ด้วยเหตุผลทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมา “การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงแยกตึกชัย” จึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเดินเท้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเดินทางได้ในทุกสภาพอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อและแบ่งปันทรัพยากรการแพทย์ของหน่วยงานโดยรอบ สอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าฯ กทม. ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้มหานครแห่งนี้ เป็นเมืองเดินได้และเมืองเดินดีสำหรับทุกคน

ติดตามเรื่องราวการพัฒนาเมืองได้ที่เพจ UDDC และ The Urbanis


Contributor