18/05/2020
Life

The Education Next Gen การศึกษานอกห้องสี่เหลี่ยม ผ่านมุมมอง ดร. สรชัย กรณ์เกษม และ อ.ปรารถนา เกลียวปฏินนท์

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


เมื่อปี 1918 หรือ 100 ปีที่แล้ว ใครจะคิดว่าห้องเรียนในช่วงที่เกิด Spanish flu กับห้องเรียนในปัจจุบันแทบไม่ได้มีหน้าตาต่างกันเลย

การคิดถึงห้องเรียนกับการสอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ไม่สามารถสร้างได้จากกระบวนการที่ใช้ในห้องเรียนแบบเดิม ห้องเรียนจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนเมื่อมนุษย์มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในยุคของการเกิดโรคระบาดอีกครั้ง 

องค์กร World Economic Forum ได้พูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 ไว้ทั้งหมด 16 ทักษะ โดยแบ่งเป็น 3 หมวด ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของ ทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้เหมาะกับบริบทของโลกปัจจุบัน เช่น การคำนวณ การใช้ภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงิน วัฒนธรรม  ทักษะในการจัดการกับความท้าทายในชีวิต เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสื่อสาร และทักษะการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป เช่น ความริเริ่มสิ่งใหม่ ความพยายาม การปรับตัว ความเป็นผู้นำ โดยกระบวนการที่ใช้ในการสร้างทักษะเหล่านี้ไม่สามารถสร้างได้จากจากกระบวนการที่ใช้ในห้องเรียนแบบเดิมๆ

ในช่วงที่ทุกสถานศึกษาต้องหยุดชะงักลง การเรียนออนไลน์เป็นช่องทางเดียวในการแก้ปัญหาระยะสั้นตอนนี้ อยากชวนทุกคนไปคุยกับ ดร. สรชัย กรณ์เกษม รองผู้อำนวยการสาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกนักออกแบบและนักวิจัย ที่ศึกษาพัฒนาการทางความคิดและการเรียนรู้ของมนุษย์ (Cognitive Science) โดยเฉพาะด้านสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ (Visuospatial Cognition และ Creative Thinking)  และ อาจารย์ปรารถนา เกลียวปฏินนท์ อาจารย์พิเศษ ประจำสาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจศึกษาด้านชุมชนและเมือง มีความสนใจด้านการผลิต ออกแบบการใช้งานทางกายภาพ และมีความเชื่อว่าสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศน์ของสถาปัตยกรรมเป็นช่องทางในการค้นคว้าและวิพากษ์สหวิชาทั้งในระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงโครงสร้าง ระบบ และเครือข่ายของสภาพแวดล้อม

อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอาจารย์จาก International Program in Design and Architecture หรือเรียกกันว่า INDA เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในเรื่องการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ และร่วมพูดคุยแง่มุมของอาจารย์ในฐานะการออกแบบหลักสูตรและอนาคตของการศึกษาในศตวรรษที่ 21  

เมื่อพูดถึงการศึกษาในอนาคต อาจารย์สรชัยเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่มีการเติบโตเรียนรู้ได้ทุกคน หรือที่เรียกว่า Growth Mindset และยังอธิบายถึงความเชื่อที่เข้าใจกันไม่ถูกต้องนักในการจำกัดและการแบ่งด้านสมองเป็นซีกซ้ายหรือขวา เพราะแท้จริงแล้วสมองหลายส่วนต้องช่วยกันทำงานให้เกิดศักยภาพร่วมกัน การไปมีความเชื่อแบบนั้นทำให้เกิดการจำกัดศักยภาพด้านอื่นๆ ทั้งที่ถนัดอยู่แล้วหรือยังไม่ถนัด ที่มนุษย์เราอาจจะพัฒนาขึ้นอีกได้โดยไม่จำเป็นโดยไม่จำเป็น

สถานการณ์โควิด กับการเรียนออนไลน์  

อาจารย์สรชัยมีความเห็นว่า “การเรียนจะมีการเปลี่ยนทางกายภาพอย่างเห็นได้ชัด แต่ในบริบทของมหาวิทยาลัย เมื่อทุกอย่างปรับเป็นออนไลน์ เด็กมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเด็กโตแล้วจะสามารถปรับตัวได้เร็วแต่ก็จะยังมีผลกระทบระดับนึง  ส่วนเด็กเล็กในบริบทอื่นๆ เช่น ปฐมวัย ยังจำเป็นที่จะต้องการสังคม ต้องรู้จักการปรับตัว ต้องมีการควบคุมตัวเองให้ได้ เด็กจะเติบโตขึ้นมากับสภาพแวดล้อมที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคม รวมไปถึงเศรษฐกิจในอนาคตที่เรายังไม่รู้”

อาจารย์ปรารถนาได้แลกเปลี่ยนในมุมมองผู้ปกครองว่า “ในชั้นมัธยมต้นโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนมีการเปิดเทอมเพื่อเรียนออนไลน์ในวันที่ 18 พ.ค. 2563  จนถึงปลายเดือนมิถุนายน ระยะเวลาในการเปิดเทอม คือ 1 เดือนครึ่ง เป็นมาตรการของโรงเรียนในการช่วยไม่ให้นักเรียนขาดช่วงเวลาการเรียนนานเกินไป อาจจะยังไม่มีการคาดหวังผลลัพธ์ของการเรียนรู้ในตอนนี้  เพราะเด็ก 40 กว่าคน ต่อคุณครู 1 คน ในความเป็นจริงแล้วอาจใช้เวลากว่า 20 นาที ในการเช็คชื่อและแก้ปัญหาการต่อสัญญาณไม่สามารถเริ่มเรียนได้เลยทันที  ทั้งนี้ปัญหาเด็กเล็ก เด็กโตจะไม่เหมือนกันในเรื่องการดูแล  เด็กเล็กยังควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้  เพราะฉะนั้นต้องตั้งความคาดหวังใหม่ในเรื่องการเรียนรู้” 

ปัญหาความพร้อมการเรียนออนไลน์

อาจารย์ปรารถนาเสริมว่าทางโรงเรียนก็ยังพยายามหาข้อมูลและสรุปข้อควรปฏิบัติ เช่น  ปัญหาทางด้านความพร้อมของอุปกรณ์ที่บางครอบครัวอาจจะไม่พร้อมในเรื่องของฮาร์ดแวร์ นักเรียนบางคนที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้อาจต้องเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยโรงเรียนอาจจะส่งเนื้อหา บทเรียนล่วงหน้าให้นักเรียนปริ้นท์ออกมาอ่านก่อน หรือ ตัวอย่างการแก้ปัญหาในต่างประเทศ มีครอบครัวที่มีลูก 3 คน อยู่ชั้นมัธยมที่บ้านไม่มีไวไฟ (wifi) ที่แรงพอ ต้องขับรถพาลูกไปลานจอดที่รถโรงเรียนมาจอดตามจุดต่างๆ เพื่อกระจายสัญญาณไวไฟให้เด็กใช้  เด็กก็นั่งเรียนในรถ  อันนี้คือปัญหาด้านการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต  ปัญหาทางด้านความพร้อมของอุปกรณ์ที่บ้าน บางครอบครัวอาจจะไม่พร้อมในเรื่องของฮาร์ดแวร์และไฮสปีดไวไฟ (Hi-speed wifi) หรืออาจเจอปัญหาที่เกี่ยวกับตัวซอฟท์แวร์แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้

ซึ่งผลกระทบจะมีทั้งด้านดีและบางอย่างอาจจะต้องปรับตัวอย่างกระทันหัน การสอนที่ต้องดูเนื้อหาว่าจะต้องสอนแบบไหนให้ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ 

เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์  “ศาสตร์แห่งการลงมือปฎิบัติ”

ในขณะที่ INDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็น Online (virtual studio) การเรียนของนิสิตบางคนในช่วงแรก อาจจะยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง เนื่องจากเป็นหลักสูตรนานาชาติ สอนโดยภาษาอังกฤษ จะมีปัญหาในการปรับตัวทางด้านภาษาของนิสิตที่เข้ามาใหม่บ้าง บางคนสามารถบริหารจัดการตนเองได้ดีก็มีพัฒนาการต่อเนื่อง โดยปัญหาจะเห็นชัดขึ้นตอนตรวจผลงานของนิสิต พอเปรียบเทียบกับเด็กอีกกลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบและสร้างมาตรฐานเพราะถึงแม้จะเรียนออกแบบแต่ต้องพึ่งภาษาในการอธิบายและความเข้าใจด้วย การประกบเด็กสอนและทำความเข้าใจเพราะปกติการสอนในห้องอาจารย์จะเดินดูไปมาได้ ทำท่าทางประกอบให้เห็นได้ (Gesture) ทั้งหมดนี้ถูกนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการสอนออนไลน์ ทั้งหมดก็นำไปสู่การเปลี่ยนวิธีการสอน อย่างเมื่อก่อนถึงแม้จะมีการส่งงานทางไลน์ ติดต่อทางไลน์บ้างแต่ตัวอาจารย์จะไม่ตอบข้อความหลัง 22.00 น. จะพยายามไม่คุยแต่พอตอนนี้อาจารย์ต้องคอยตอบคำถามหรือให้คำปรึกษาเพราะเด็กไม่ได้อยู่กับเพื่อนในชั้นเรียนไม่ได้เจอกันแล้ว จะไม่รู้ว่าเพื่อนทำงานถึงไหนแล้ว ปัญหาการสื่อสารกับนักเรียนค่อนข้างยากขึ้นไม่สามารถตามงาน ตรวจงานได้แบบเดิม เพราะไม่เห็นเหมือนเดิม

ดังนั้นอาจารย์ต้องกระตุ้นนักเรียนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผลกระทบจะมีทั้งด้านดีและบางอย่างอาจจะต้องปรับตัวอย่างกระทันหัน การสอนที่ต้องดูเนื้อหาว่าจะต้องสอนแบบไหนให้ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่ก็มีด้านดี เช่น การเรียนที่ INDA ปกติจะมี project review กินระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนสัปดาห์สุดท้ายของการนำเสนอผลงาน  จะจัดงานจบภาคการศึกษาที่เรียกว่า INDA PARADE มีทั้งการรีวิว (Final Review) ทั้งนิทรรศการ (Exhibition) ทั้ง guest lectures  ซึ่งจะมีศิษย์เก่า คนในแวดวงมาร่วมงาน  ปีนี้ย้ายทุกอย่างไปอยู่ออนไลน์หมดเลย ไปจัดในโลกเสมือนนับว่าเป็นแห่งแรกเลยก็ได้

ตัวอย่าง Prototype ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ในงาน INDA Parade บน Social Virtual Reality Platform โดย ทีม Don boy ช่วยในการจัด
ที่มา : INDA

INDA พูดถึงการปรับเป็น Virtual Event ทั้งหมด จากสถานการณ์กำลังเข้าถึง new norm การสร้าง Virtual space ขึ้นมา สร้างตัวจนเหมือนอวตารเข้าไปเดินผสมผสานกันระหว่าง Zoom กับ Virtual Reality (VR) คือการจำลองสภาพแวดล้อมจริง เอางานออกแบบที่ทำมา เอามาขยายขนาดให้เท่าสัดส่วนจริง เดินไปมารอบๆได้ มีข้อดีหลายอย่าง ในมุมมองเด็กเหมือนผลงานของตนเองมีตัวตน สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ อย่างใน Urbanism สร้างเป็นเมืองเลย เสมือนเป็นเมืองจำลองอย่างหนึ่ง ยังมีการถกเถียงได้ว่างานที่ทำมีความเป็นเมืองไหม สิ่งก่อสร้างแตกต่างกันในเรื่องของวัสดุ บางคนทำเหมือนจริง บางคนทำแบบไม่เหมือน เป็นเรื่องของจินตนาการ ส่วนเรื่องขนาดเป็นได้ทั้ง 1:1 หรือ ขนาดใหญ่ที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่นักเรียนที่ปรับตัวในการเรียน แต่อาจารย์ต้องหาวิธีสอนใหม่ๆที่ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาในระยะสั้นในรูปแบบออนไลน์ แต่ต้องคำนึงถึงการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำให้เราสามารถกลับไปเลือกดูวิธีการสอนได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ลงมือปฎิบัติให้มากขึ้นแม้จะเปลี่ยนรูปแบบ

อีกด้านของการเรียนออนไลน์

อาจารย์สรชัย พูดถึงการกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในชั้นเรียน จากเด็กบางคนที่ปกติไม่ค่อยพูดในชั้นเรียน พอเรียนในออนไลน์กลับเป็นกล้าพูดมากขึ้น แสดงความคิดเห็นมากขึ้น รู้สึกว่าเด็กมีความกลัวน้อยลง  การสอนออนไลน์จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับวิธีการ ต้องเลือกเนื้อหาว่าแบบไหนสามารถสอนออนไลน์ได้ ต้องรู้จักผสมผสานวิธีการ

แนวโน้มการเรียนรู้ ความเคยชินใหม่ ความแตกต่างของสาขาวิชา

อาจารย์สรชัย ตั้งคำถามถึงการเรียนรู้ในสาขาอื่นๆ เพราะมีแนวคิดเรื่อง การเรียนรู้ของคน เช่น ด้านการออกแบบจะถนัดสร้างถนัดลงมือทำ มีการปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ แต่ในบางสาขาจะมีระดับการเรียนรู้หรือระดับของการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่แตกต่างกันออกไป เพราะในความเป็นจริงการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ อาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าไปในห้องเรียนอย่างเดียว อาจจะสามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูเนื้อหาของแต่ละวิชา ว่ามีเนื้อหาที่เอาไปสอนในเกณฑ์ที่ต่างกันไปได้ไหม หรือเช่นการสอนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 (21 centery skills) ต้องสอนเรื่องการปรับตัว ทั้งเด็กและอาจารย์เองก็ต้องปรับให้ได้ต้องรู้จักวิธีการสอนได้หลากหลายวิธี และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งในตอนนี้เป็นแค่การแก้ปัญาในระยะสั้น ยังไม่ได้บูรณาการ 

ที่มา : https://www.weforum.org, 2016

วิธีการเรียนรู้ได้หลากหลาย

อาจารย์สรชัยได้พูดถึงรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ไม่จำกัดแค่ในจุฬาฯ การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นสามารถเผยแพร่เป็นสากลทั้งโลก ทำให้ไม่มีพรมแดนการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป

อาจารย์ปรารถนากล่าวถึงการเชิญคนจากนอกมหาวิทยาลัยมาเป็นอาจารย์รับเชิญสะดวกขึ้นมากและการตรวจแบบ ดูงาน การเรียนรู้สเกล กว้างขึ้นมีการแชร์ แบ่งปัน ร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนกัน ไม่ได้จำกัดระยะเวลาแบบเดิม เช่น แต่ก่อนกำหนดระยะเวลา 4-6 อาทิตย์ในการมาแลกเปลี่ยน แต่ตอนนี้มีเวลาเพียงวันเดียวก็สามารถแลกเปลี่ยนได้แล้ว ถึงจะมีบางด้านที่จำกัดแต่ในบางด้านก็ไม่จำกัดเลยโปรแกรมการสื่อสารอย่าง Zoom ทำให้ง่ายขึ้นและทำให้คนได้เจอกัน คุยกันมากขึ้น อย่าง INDA มีการจัดคุยกันทุกกวันศุกร์ เกิดการไปเรียนข้ามศาสตร์ หลายสาขาได้ง่ายขึ้นมาก 

บทบาทมหาวิทยาลัยและรูปแบบการเรียนการสอนในอนาคต

อาจารย์สรชัย กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในภาพรวมที่จะจำกัดลงไปเลยอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะทำได้ยาก เพราะแต่ละศาสตร์ก็มีรูปแบบเฉพาะของตนเอง จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายที่ค่อนข้างเปิด แต่ในฐานะอาจารย์ เราสามารถช่วยสนับสนุนบทบาทมหาวิทยาลัย ให้สามารถทำการศึกษาแบบผสมผสานต่างๆ ทั้งไปเรียนด้วยตนเองด้วย สอนด้วย ทำร่วมกันด้วย ทำให้เกิดเป็นภาพให้เห็นว่า จบมาก็มีคุณภาพได้ เพราะจากแนวทางการเรียนรู้และการปรับตัวที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้คงจะต้องมีการทดลองผลในระยะสั้นและระยะยาว  ต้องค่อยๆ ผสมผสานกัน ยังมีเด็กที่มีการควบคุมฝึกฝนตนเอง (Self regulation) ที่ดีและยังไม่ดี เรายังต้องคอยระวังดูแลไปด้วย เพราะฉะนั้น อาจจะเริ่มจากนำร่องมีการทดลองทำ แล้วดูว่าได้ผลลัพธ์ดีไหม มีประสิทธิภาพยังไง เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่านักเรียนที่ได้ผลอย่างที่เราคิดไหม จนกว่าเราจะเห็นผล ความสนใจและความถนัดของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน 

ส่วนรูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตอาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง อย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้การเรียนออนไลน์ เด็กเล็กๆ ที่ไม่ใช่ในบริบทมหาวิทยาลัยอาจจะรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานในช่วงเริ่มต้นของการเรียน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจจะต้องการสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป เด็กอยากไปโรงเรียน อยากไปเจอเพื่อน เล่นกับเพื่อน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียน ในโรงเรียน มีให้เด็กๆหลากหลายรูปแบบ และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ที่บ้านอาจไม่กระตุ้นเด็กให้อยากที่จะเรียนรู้ได้ทั้งหมด ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสิ่งที่เรียนรู้

ในมุมของ อาจารย์ปรารถนาเอง มีเรื่องการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องอาศัยการอธิบายให้ชัดเจนคือ การวัดผล ว่าต้องการอะไรจากห้องเรียนนี้ มีการวัดผลยังไง ทั้งในภาพรวมของแนวคิด และ ภาพย่อยของการทดสอบ การประเมินผลจากกิจกรรมที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะปรับกิจกรรมให้เป็นออนไลน์ยังไง อาจเปลี่ยน Format ของกิจกรรมไปและวิธีการเรียนที่หลากหลาย มหาวิทยาลัยอาจะสร้างบทบาทการเรียนเป็นกลุ่มขึ้นมาและคนอื่นๆสามารถเข้ามานั่งฟังได้

การออกแบบรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดรับต่อวิถีการเรียนในอนาคต

อาจารย์สรชัยเสริมประเด็นการประเมินว่า เราต้องรู้ก่อนว่าจะให้เด็กเรียนรู้อะไร เพราะการเรียนรู้สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกมากมาย การออกแบบหลักสูตรหรือบทเรียนที่ทำไว้ต้องกลับมาคิดใหม่ ถ้าเป็นออนไลน์จะทำอย่างไร หรือเปลี่ยนรูปแบบไหน บทบาทมหาวิทยาลัย ให้ทดลองเรียนแบบเป็นกลุ่มๆก้อนๆไหนได้บ้าง ถึงจะครบบทเรียนในหลักสูตรนั้นๆ เพื่อวัดผลประสิทธิภาพในการเรียนหลากหลายก่อนรึเปล่า มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทที่เปิดโอกาสต่างๆ หรือเปิดโอกาสให้เด็กคนอื่นๆเรียนได้ด้วย เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) เกิดการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้สังคมได้ 

อาจารย์ปรารถนาได้พูดถึงข้อมูลว่า “ยุคนี้มีการพูดถึงเรื่อง Data open source แต่ตอนนี้ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงกันได้ ในระดับโรงเรียน พื้นที่การเรียนรู้ของห้องเรียน การทำงาน ต้องดูอีกสักพัก ในการเว้นระยะห่าง หรือ การทำงานกลุ่มจะออกแบบยังไง  โดยส่วนตัวคิดว่าเด็กปี 1 ปี 2 ยังต้องมีการแนะแนวอยู่บ้าง อาจจะต้องคอยเรื่องการรักษาระยะห่าง”  

อาจารย์สรชัย เพิ่มเติมเรื่องจากประวัติการระบาดของ Spanish flu เมื่อก่อนเป็นยังไง ยังมีการนั่งเรียนติดกันแต่ใส่หน้ากาก ซึ่ง 100 ปีที่ผ่านมา เหมือนเราไม่ได้เรียนรู้กับโรคระบาด รู้สึกว่าเราต้องยืดหยุ่นให้เป็น แต่เมื่อเรามีภูมิคุ้นกันแล้ว เราก็ค่อยๆ คลายไปเพราะไม่มีปัญหา เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ห้องเรียนเมื่อร้อยปีที่แล้วกับตอนนี้ก็เลยไม่ค่อยต่างกัน แต่ในอดีตไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยเหมือนทุกวันนี้ ถ้าเราจะช่วยกันผลักดัน อนาคตการออกแบบห้องเรียน พื้นที่เรียนมันสามารถช่วยในการเรียนรู้ได้  ต้องปรับในด้านกายภาพ แบ่งเป็นระยะสั้นกับระยะยาว แล้วเริ่มกลับไปดูประเทศอื่นๆ ว่าทำยังไงกันตอนนี้ ระยะสั้นเค้าแก้แบบนี้ ได้ผลอย่างไร ประคองดูกันไป แต่ในระยะยาวห้องเรียนจะปรับเปลี่ยนได้เลยไหมถ้าใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว ไม่ใช่แค่นักเรียนปรับตัว อาจารย์ด้วย อาจมีการเทรนเพิ่มเติมหรือฝึกอย่างสม่ำเสมอในการรับมือ

ที่มาภาพจากบทความ Virginia Tech history class connects 1918 flu outbreak to COVID-19 pandemic

การพัฒนาเด็ก (Child development) นั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย สิ่งสำคัญคือสภาพแวดล้อมที่ยังคงเป็น Sense of Place เป็นจิตใต้สำนึกของมนุษย์ในการเรียนรู้ ทำให้เกิด social  และ physical interaction แต่อยู่ในข้อจำกัด 

มหาวิทยาลัยสามารถกระจายอำนาจในการบริหาร (Decentralized) ได้ไหม มหาวิทยาลัยในอนาคตมีศูนย์ย่อย สนับสนุนทรัพยากร มาใช้ประโยชน์มากขึ้นมากกว่าเพียงแค่ในตัวมหาวิทยาลัย เกิดวิธีการ การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา  (Educational technology) ให้เป็นโอกาสด้วยเช่นกัน การปรับตัวของเด็กในแต่ละวัย ต้องปรับ การเข้าถึงทรัพยาการ (Resource access) ไม่เท่ากัน เอาอะไรมาใช้ได้บ้าง ยกตัวอย่างในแง่เทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับทางยุโรป ดังนั้นเราต้องหาอะไรทดแทนเทคโนโลยีได้ไหม ต้องนึกถึงเด็กทุกๆกลุ่ม

อาจารย์ปรารถนายังเสนออีกว่าบางหน่วยงานของมหาวิทยาลัยสามารถกลับมาในเมืองได้ เพราะใช้พื้นที่น้อยลง โอกาสมีพลวัตรเสมอ มหาวิทยาลัยอาจจะไม่ต้องเลือก เอกวิชาแล้ว ไม่จำกัดเด็ก

การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ถูกพูดถึงกันมาสักพักแล้ว ด้วยโอกาสในวิกฤต การเรียนการสอนในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บทบาทของมหาวทิยาลัยที่จะปรับตัวและออกแบบหลักสูตร นำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงการวัดผลการเรียนรู้ที่ตรงกับการทำงานในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญในการตั้งโจทย์ร่วมกันในการออกแบบการแก้ปัญหานี้อย่างตรงจุด

อ้างอิงข้อมูล
What are the 21st-century skills every student needs? โดย Jenny Soffel, World Economics Forum, 2016
Virginia Tech history class connects 1918 flu outbreak to COVID-19 pandemic โดย Andrew Adkins, Virginia Tech, 2020


Contributor