11/06/2023
Public Realm
Massena Nord พลิกฟื้นย่านชายขอบสู่ย่านนวัตกรรมน่าอยู่ที่มีชีวิตชีวา
ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
Massena Nord ย่านชายขอบที่ถูกพลิกฟื้น
ที่มาภาพ https://i.pinimg.com/originals/73/9a/2e/739a2e374386c4c598ce70a259fefb3c.jpg
ย่านมาเซนานอร์ท (Massena Nord) ตั้งอยู่ในเขตที่ 13 บริเวณชายขอบทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปารีส ก่อนออกนอกถนนวงแหวน แต่เดิมย่านนี้ถูกจดจำเป็น “ย่านชาวเอเชียและแอฟริกัน” เลยไปอีกเล็กน้อยก็จะเป็นย่าน Place d’Italie, Tolbiac และ Olympiade ย่านที่พักอาศัยที่ภาครัฐจัดขึ้น (social housing) และยังคงแบบอาคารสูงยุคหลังสงครามไว้ ย่านเหล่านี้ถูกตัดขาดจากเนื้อเมืองโดยมีแม่น้ำเซนน์และลานรถไฟ (rail yard) ขนาดยักษ์ขวางกั้นไว้ รวมทั้งย่านเองก็เต็มไปด้วยอาคารประเภทโกดัง คลังสินค้า และโรงซ่อมบำรุง ส่งผลให้ย่านนี้แลดูเงียบเหงาทั้งที่อยู่ไม่ห่างจากตัวเมือง
ปัจจุบัน ย่านมาเซนานอร์ทกลายเป็น A NEW QUARTIER LATIN แหล่งปัญญาชนฝั่งซ้ายแม่น้ำเซนน์แห่งใหม่ที่มีชีวิตชีวา ที่เชื่อมโยงเนื้อเมืองจากแม่น้ำเซนน์เข้าสู่ย่านชาวเอเชีย-แอฟริกัน โดยการสร้างพื้นที่สาธารณะพาดผ่านไปบนลานรถไฟ และการเกิดขึ้นของ Start-Up Village หรือรู้จักในนาม “STATION F” PALAIS DE START-UP ที่เกิดใหม่โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอาคารโรงซ่อมบำรุงหลังเก่า
การฟื้นฟูย่านมาเซนานอร์ทนอกจากจะเป็นความพยายามในการผสานกับเนื้อเมืองของย่านอุตสาหกรรมชายขอบเดิมที่กระจัดกระจายแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญคือการกระจายความหนาแน่นของแหล่งงานและแหล่งวัฒนธรรมออกไปจากพื้นที่ศูนย์กลางปารีส รวมทั้งย่านนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อระบบรางที่สำคัญ ที่เชื่อมปารีสกับเมืองใหญ่ภูมิภาคทางตอนกลางและใต้ของประเทศ ผ่านสถานีใหญ่ ได้แก่ สถานีรถไฟลียง (Gare de Lyon) และย่านจุดรวมการขนส่งสถานีรถไฟตอนใต้ (Gare d’Austerlitz)
ดังนี้ ย่านมาเซนานอร์ทจึงเป็นย่านศักยภาพในการเป็นเกตเวย์และศูนย์กลางของเมืองฝั่งตะวันตกของปารีส ในการทำหน้าที่เป็นแหล่งงาน และการให้บริการทางสาธารณะด้านต่างๆ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ทำงาน หอสมุด สวนสาธารณะ และสันทนาการต่างๆ
จุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นชีวิตให้ย่านน่าอยู่
ที่มาภาพ http://playtime.betonsalon.net/playtime2008/reperages/historique
การฟื้นฟูย่านมาเซนานอร์ทเริ่มต้นขึ้นในปี 1982 ในสมัยของประธานาธิบดี Francois Mitterand ที่มีแผนที่จะสร้างห้องสมุดแห่งชาติของฝรั่งเศส (Bibliothèque François Mitterrand; BnF) หนึ่งใน 8 โครงการฟื้นฟูเมืองภายใต้โครงการ “แผนฟื้นฟูเมืองปารีส” (le Grands Projets) หรือการเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ของปารีส ที่มาพร้อมๆ กับโครงการฟื้นฟูเมืองอีกหลายโครงการ
ต่อมาในปี 1991 สำนักผังเมืองปารีส (Atelier parisien d’urbanisme: APUR) ได้มีการจัดทำผังการฟื้นฟูย่านเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งงานและสถานศึกษา โดยวิสัยทัศน์ของย่าน คือ ย่านคุณภาพดีแห่งใหม่เพื่อรองรับกลุ่มคนทำงานและนักศึกษา เพื่อการเป็นสำนักงานและที่อยู่อาศัย รวมทั้งเปิดให้มีการประกวดแบบ เพื่อค้นหาผลงานการออกแบบที่ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จากการประกวดแบบ แนวคิด OPEN-BLOCK (Îlot Ouvert) ของ Christian de Portzamparc ได้รับการคัดเลือก จากการพยายามรักษา Human Scale ของระบบบล็อคอาคารเดิมของปารีสไว้ โดยยังคงเก็บลักษณะ Perimeter Block เอาไว้ และเปิดพื้นที่ด้านในให้โปร่ง โล่ง เข้าถึงง่าย โดยพื้นที่ส่วนนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะหรือค้าขายได้มากขึ้น และเมื่อนำมาผสานกับโครงข่ายของถนนและทางเดิน การจัดวางอาคารประเภทหอคอยขนาดเล็ก และที่ว่างสาธารณะอย่างเป็นเนื้อเดียว ทำให้เนื้อเมืองมีความเป็นอิสระมากขึ้น มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มขึ้น ผังเมืองมีความงดงาม ประณีต และไร้รอยต่อ
ที่มาภาพ https://www.greaterauckland.org.nz/2017/08/29/legalising-perimeter-block-housing/
โครงการมาเซนานอร์ทได้ริเริ่มโดยเมืองปารีสร่วมกับหน่วยงานด้านการพัฒนาเมือง APUR แต่งตั้งองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงผสมผสาน (SEMAPA) ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งสาธารณะ ร่วมมือกับนายกเทศมนตรีเขต 13 และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองปารีส (57%) บริษัทขนส่งสาธารณะ SNCF (20%) Parisian building Authority RIVP (10%) the French State (5%) ภูมิภาค Île-de France (5%) และอีก 3% คือภาคนักลงทุนอิสระ โดยองค์กร SEMAPA ได้ลงทุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด รวมถึงสาธารณูปการและพื้นที่กึ่งสาธารณะ และให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาอาคาร นอกจากนี้ ยังมีองค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้ามามีส่วนร่วมไม่น้อยในการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ย่านมีชีวิตชีวา
ต่อมาในปี 1996 เมื่ออาคารหอสมุดแห่งชาติ ออกแบบโดย Dominique Perrault สร้างแล้วเสร็จ ประกอบด้วยอาคารสูงตระหง่าน 4 อาคาร ลักษณะเหมือน THE SILOs OF HUMAN KNOWLEDGE สร้างขึ้นบนแพลทฟอร์มขนาดใหญ่ริมน้ำที่ “ไร้รั้วกั้น” และล้อมคอร์ทไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อสื่อความหมายว่าศูนย์กลางความรู้ของมนุษย์คือธรรมชาติ โดยแพลทฟอร์มขนาดยักษ์นี้ เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ MK2 ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองปารีส และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ออกสู่ริมแม่น้ำเซนน์ที่ทุกคนเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะนั่งอ่านหนังสือ จ๊อกกิ้ง หรือเต้นโคฟเวอร์แดนซ์
กิจกรรมบนแพลตฟอร์มสาธารณะที่ไหลลื่นเชื่อมโยงไปกับขอบน้ำ มีการออกแบบเป็นทางเดินริมน้ำอย่างร่มรื่น มีร้านกาแฟ บาร์ ทั้งบนฝั่งและบนเรือ รวมทั้งมี “สระว่ายน้ำบนแม่น้ำ” ชื่อว่า Joséphine Baker ที่สร้างโดยเทศบาลเมืองปารีส ถัดไปอีกสักเล็กน้อย จะพบกับสะพาน Simone de Beauvoir สะพานคนเดินที่ไร้เสา ออกแบบเป็นทางเดินสองระดับ เชื่อมไปยังสวนสาธารณะและโรงภาพยนต์ Cinémathèque ในย่าน Bercy
หลังจากที่อาคารหอสมุดแห่งชาติมีการเปิดใช้งาน ย่านแห่งนี้จึงค่อยๆ ทยอยพัฒนาฟื้นฟูจนมีความ น่าอยู่ มีชีวิตชีวา จนในปี 2017 ได้มีการเปิด STATION-F หรือ START-UP CAMPUS ขนาดพื้นที่ใช้สอย 34,000 ตร.ม. ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส เพื่อเป็นที่ทำงานของสตาร์ตอัป กว่า 1,000 เจ้า หรือบริษัทอย่าง Facebook และ Microsoft เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรามองเห็นอะไรผ่านย่าน Massena Nord
จากช่วงแรกที่ย่านมาเซนานอร์ทมีการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกลายเป็นย่านที่คึกคัก มีหอสมุด มีโรงภาพยนตร์ มีที่ทำงาน ที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มต่างๆ มีพื้นที่สาธารณะและทางเท้าที่สวยงามมากขึ้น จนวันที่ STATION-F เข้ามาเป็นสมอหลักของคนรุ่นใหม่กลุ่มและสตาร์ตอัปมากมาย ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงภายในย่านได้อย่างชัดเจน เช่น สตาร์ตอัปด้านการวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพและสมองที่เข้ามาเปิดเมื่อไม่นานมานี้ มีร้านอาหารและบาร์เกิดมากขึ้น มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่มากมายปรากฎกายและสัญจรผ่านไปมาบนทางเท้า มีพื้นที่กิจกรรมที่รองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่เช่น กีฬาปีนผา และศูนย์กีฬาที่สร้างโดยเทศบาลเมืองปารีส ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาออกกำลังกายได้ เป็นต้น
ประเด็นสำคัญอีกด้านหนึ่งของเหรียญการฟื้นฟูเมือง คือ เจนทริฟิเคชัน (Gentrification) แม้ว่ามีกระแสการพัฒนาใหม่ๆ เข้ามา แต่ร้านค้า ร้านอาหารเก่าๆ ยังไม่หายไป ร้านขายผัก ร้านขายเนื้อ ร้านขายคูสคูส (Couscous) ของย่านยังคงอยู่และอยากให้คงอยู่ต่อไป หรือแม้กระทั่ง ตลาดเกษตรกร (Farmers’ market) ก็ยังมาสัปดาห์ละสามวันเหมือนเดิม คนก็ยังหิ้วตะกร้าไปซื้อของเหมือนเดิม เลยทำให้ย่านมาเซนานอร์ทมีทางเลือกเยอะ มีความหลากหลายและสนุกสนาน ทิศเหนือเป็นย่านการศึกษาและสตาร์ตอัปทิศใต้เป็นย่านเอเชีย-แอฟริกันที่เดินถึงกัน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ใช้เวลากว่า 30 ปีที่ย่านมาเซนานอร์ทแปรสภาพจากย่านอุตสาหกรรมชายขอบที่ไม่น่าอยู่ จนได้รับการฟื้นฟูอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในย่านที่น่าอยู่ของปารีส
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์