09/03/2021
Environment

สะพานเขียว : สะพานไทยฟิลเตอร์ญี่ปุ่น

ศุภิฌา กัสนุกา
 


มากกว่าสะพานเชื่อมสวน แต่เป็นสิ่งที่หลอมรวมองค์ประกอบของ ‘พื้นที่’ ‘จังหวะ’ และ ‘ประสบการณ์’ เข้าด้วยกันอย่างมีสีสัน

สิ่งแรกที่หากเราค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ สะพานเขียว คงเป็นเรื่องของโลเคชั่นดี ๆ สำหรับการถ่ายรูป ถ้าจะให้เจาะจงลงลึกไปกว่านั้นคงต้องบอกว่า “โลเคชั่นถ่ายรูปแนวญี่ปุ่น”

เนื่องจากพื้นที่ 1.3 กิโลเมตรของสะพานแห่งนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบเห็นได้ตามสื่อภาพยนตร์หรือมิวสิกวิดีโอญี่ปุ่นอยู่บ่อย ๆ จนพอที่จะกล่าวได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็น “องค์ประกอบที่ดี” สำหรับผู้ที่ต้องการได้บรรยากาศของญี่ปุ่นให้หายคิดถึง

ในความเป็น ‘พื้นที่’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกิจกรรมต่าง ๆ

แน่นอนว่าสะพานเขียวเป็นพื้นที่ที่รวมความหลากหลายของผู้คนและกิจกรรมเอาไว้ในรูปแบบของเส้นทาง มุมมองของเด็กวัยรุ่นที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้ คงไม่พ้นกับการเป็น “โลเคชั่นถ่ายรูปแนวญี่ปุ่น” เพราะเส้นทางนี้เปิดมุมมองให้เห็นถึงท้องฟ้าที่ยาวจนสุดขอบ สอดแทรกด้วยเงาของต้นไม้ใหญ่เป็นระยะ และรายล้อมด้วยอาคารบ้านเรือนหลังเล็กน่ารักที่ทำให้เรารู้สึกถึง Filter ของความเป็นญี่ปุ่น เป็นเส้นทางสาธารณะที่เรียบง่ายแต่กลับเพิ่มเรื่องราวให้กับบทสนทนาของผู้คนได้เป็นอย่างดี  ไม่น่าแปลกใจที่ต่างคนต่างแปลกหน้าแต่กลับรู้สึกได้มาเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้และทำกิจกรรมร่วมกันท่ามกลางการมองเห็นของคนอื่นได้อย่างเป็นตัวเองแบบไม่ต้องเขินอาย

สะพานเขียว : สะพานไทยฟิลเตอร์ญี่ปุ่น ภาพโดย ศุภิฌา กัสนุกา

แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์สำคัญของสะพานเขียว คือการเชื่อมต่อ ’จังหวะ’ ของชุมชนและวัยรุ่นได้อย่างลงตัว

กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เช่น การค้าขาย การพักผ่อน การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของคนในชุมชน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น การถ่ายรูป การเต้น การเล่นสเก็ตบอร์ด ตามความสนใจของกลุ่มวัยรุ่นในแต่ละช่วงเวลา    ทั้ง 2 อย่างเป็นกิจกรรมที่แตกต่างแต่กลับเกิดขึ้นด้วยกันไปเป็นตามจังหวะ จะเห็นได้จากการที่ผู้คนรอบข้างแถวนั้นไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้คนในชุมชนก็ตอบรับด้วยความเป็นมิตรอย่างไม่น่าเชื่อ มีการพูดคุยอย่างสนิทสนม ทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง นอกจากนี้ชุมชนมีรูปแบบการดำเนินชีวิตกิจกรรมที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับคนที่มาเยือนอีกด้วย ส่งผลให้จังหวะที่เกิดขึ้นนั้นก็มีความแตกต่างกันในแต่ละวัน ถ้าหากอยากจะเข้าใจจังหวะจริง ๆ ก็คงต้องมาลองสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งมันก็ยิ่งทำให้สถานที่แห่งนี้มีคุณค่าและน่ามาหาอีกบ่อย ๆ

คุณลุงร้านขายน้ำสมุนไพรข้างสะพานเขียว เรียกใช้บริการโดยการเคาะสะพานเหล็ก แล้วส่งน้ำด้วยรอก D.I.Y. ภาพโดย ศุภิฌา กัสนุกา

ส่งต่อความรู้สึกของการอยากเข้าไปใช้ สู่ ‘ประสบการณ์’ ที่น่าจดจำ

ตั้งแต่พื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น เรื่องราวระหว่างทางจากการเปลี่ยนแปลงจังหวะของชุมชนและผู้คน ไปจนถึงความรู้สึกภายหลังของการได้มีส่วนร่วมของเส้นทางนี้ บอกได้อย่างชัดเจนว่าการได้เดินทางในเส้นทางของสะพานเขียวเป็นประสบกาณ์ที่น่าจดจำมากอีกที่หนึ่ง แต่หากลองตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ประสบการณ์และความรู้สึกนี้น่าจดจำมากยิ่งขึ้น คงไม่พ้นเรื่องของการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อต่อการเกิดปฏิสัมพันธ์ เพราะการรับรู้ประสบการณ์นั้นมีเครื่องมือสำคัญคือการใช้ประสาทสัมผัสต่างรูปแบบ ทั้งการสัมผัส มองเห็นและได้ยิน ในรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจง่ายมากที่สุด ซึ่งการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสก็มีผลต่อการจดจำที่แตกต่างกัน ถ้าหากพื้นที่สะพานเขียวเข้าถึงกลุ่มคนทั้งวัยรุ่นและคนในชุมชนมากขึ้น ก็จะเป็นผลทำให้สะพานเขียวครบด้วยองค์ประกอบ ‘พื้นที่’ ‘จังหวะ’ และ ‘ประสบการณ์’ ที่เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

แสงแดดช่วงเย็นวันอาทิตย์ ณ สะพานเขียว ภาพโดย ศุภิฌา กัสนุกา

Contributor