07/05/2020
Life

Our common (safe) future ?

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์
 


ผมและเรียวเป็นนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัย KU Leuven ในเบลเยียม เรามาถึงเบลเยียมกันในเดือนกันยายน 2019 ทุกอย่างสวยงามเพราะเบลเยียมกำลังก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง แสงแดดที่มีมากกว่าฤดูอื่นๆ ทำให้เบลเยียมดูสวยงามเป็นพิเศษ

โรงเรียนของผมอยู่ในปราสาทอเรนแบร์ก ซึ่งเป็นอาคารเก่าตั้งอยู่นอกเมืองเลอเวิน ส่วนโรงเรียนของเรียวมีชื่อที่เรียกกันติดปากว่า Sint-Lucas Gent เป็นโรงเรียนที่มีการสอนสถาปัตยกรรมยาวนานมาตั้งแต่ปี 1862

ชีวิตเราดำเนินแบบนี้มาเรื่อยๆ จนผ่านฤดูใบไม้ร่วงเข้าสู่ฤดูหนาวจนแดดเริ่มออกอีกครั้งในเดือนมีนาคม แต่เราก็มีเรื่องชวนปวดหัวเล็กน้อยในวันที่ประเทศเริ่มมีการประกาศว่าประชาชนเริ่มติดไวรัสโคโรนา

วันที่มีคนติดกันคนสองคน ผมยังคุยกับเรียวว่ามันไกลตัวมาก

แต่ที่ไหนได้ วันนี้มีมากกว่าสามหมื่นคนแล้ว

เมื่อเริ่ม lockdown ผมเดินทางไปหาเรียว แต่เพราะรัฐบาลสั่งห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น บรรยากาศบนรถไฟจึงดูแปลกตาไป การนั่งรถไฟจากเลอเวินมาเกนต์นั้น ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งหากใครเคยดูหนังเรื่อง Train to Busan บรรยากาศบนรถไฟช่างเหมือนหนังเรื่องนั้น เพียงแค่ไม่มีซอมบี้เท่านั้นเอง

ผมแทบจะเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวบนรถไฟ พนักงานไม่กล้าเดินมาตรวจตั๋ว ที่สถานีรถไฟเองก็ปลอดผู้คนจนน่าใจหาย เมืองมาถึงที่เกนต์ หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดของเบลเยียมก็ช่างเงียบเหงาอย่างแปลกตา

เรียวเป็นนักเรียนปริญญาโท ในโรงเรียนสถาปัตย์ (Sint-Lucas Gent, Faculteit Architectuur) ในหลักสูตร Sustainable Architecture การมาหาเรียวในช่วงนี้น่าสนุกกว่าเคย เพราะในฐานะที่เรียวเป็นนักเรียนสถาปัตย์และกำลังทำโปรเจ็กต์เรื่องสวนสาธารณะในเมือง Brussels ผมเลยชวนเรียวนั่งคุยและถามว่าเขามีมุมมองที่เปลี่ยนไปกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร

ชีวิตปกติก่อน Lockdown เป็นยังไง

ชีวิตปกติจะยุ่งมาก ต้องเดินทางทุกวันในเมือง แต่เกนต์เป็นเมืองที่สะดวก เดินได้ พอออกไปก็เห็นเมืองที่มีชีวิตชีวา ไปห้องสมุด ไปนั่งทำงานที่สตูดิโอของมหาวิทยาลัย เห็นวิวเมืองกับผู้คน เครียดก็ออกไปนั่งชิวที่ร้านกาแฟกับเพื่อนได้ 

เราจะรู้สึกว่า เราคิดถึงเลเยอร์ของเมืองที่ซ้อนทับกันและเราเป็นหนึ่งในนั้น ในทุกๆ วันเราเป็นหนึ่งในชีพจรของเมือง

ชีวิตตอนนี้เป็นยังไง

ตอนเริ่มเกิดเรื่องขึ้นคือสับสน เพราะเราอยู่ต่างประเทศในที่ไม่คุ้นชิน พอมีประกาศออกมาจากรัฐบาลเราก็ทำตามและตามข่าว อยู่แต่ห้องรออีเมลจากทางมหาวิทยาลัยว่าจะทำยังไงต่อ พอผ่านไปสักระยะ มหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจให้เรียนออนไลน์จนถึงจบภาคการศึกษา เราเลยเตรียมใจ และเรารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยให้งานเยอะ เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนส่งอีเมลไปหาอาจารย์ในเรื่องความไม่พร้อมในการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์กับการส่งงานของโรงเรียนสถาปัตย์ตามปกติ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ตอบรับดีว่าจะลดความคาดหวังในการเรียนและคลาสเรียนลงเพื่อให้ง่ายต่อการเชื่อมต่อกันแบบออนไลน์

เรียวกับบรรยากาศเมืองเกนต์ที่ไร้ผู้คน

ชีวิตที่เคยออกไปนอกบ้านได้ แต่ตอนนี้ออกไปไม่ได้อย่างเคย เรามองมันอย่างไร 

ถ้าเรามองออกไปนอกหน้าต่าง เราเห็นภาพเมืองเปลี่ยนไป คือเงียบมาก แต่เห็นภาพธรรมชาติชัดมาก เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ เห็นสัตว์ที่เดินทาง นกที่บินในเมืองที่เงียบและไม่มีคน จากเมืองที่เคยสั่นสะเทือน สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนเร็วหายไป และแทนที่ด้วยธรรมชาติที่เราเห็นได้ชัดขึ้น

เลเยอร์ของเมืองที่ซับซ้อนหายไป พื้นที่เป็นทางเดินคนมีมากขึ้น คล้ายกับอุดมคติของเมืองที่ดี เหมือนกับเมืองเวนิสที่ไม่มีรถเลย คนสามารถเดินไปทุกที่ได้โดยที่ไม่ต้องกังวล มีคนปั่นจักรยาน และวิ่งมากขึ้น คนมีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความรีบร้อนในเชิงการเดินทางน้อยลงไปมาก ซึ่งเป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของเมืองที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันที่อยู่ๆ ในวันสองวันเมืองจะเปลี่ยนเป็นเมืองคนเดินไป

ดูเหมือนว่าเรียวจะมองว่ามันคือเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเชิงเมืองกับธรรมชาติใช่ไหม อยากให้เรียวลองขยายความเพิ่มในเรื่องนี้ว่าเรียวมองมันยังไง

มันแอบสแตรกต์มากขึ้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเมือง จากยุคจากโรแมนติก มาสู่ยุคโมเดิร์น โพสต์โมเดิร์น ยุคเหล่านี้เป็นผลสะท้อนมาจากปรัชญา แนวคิดทางการเมือง และระบอบเศรษฐกิจ ซึ่งเดินทางมาถึงจุดพีคในปัจจุบัน ที่เมืองส่วนใหญ่ที่เราอยู่เป็นกายภาพที่สะท้อนแนวคิดวัตถุนิยมสูงสุด

ในจุดนี้มันบอกอะไร?

ในเอเชียเอง เรายังไม่รู้ว่าเมืองเราไม่ใช่เมืองในยุคโพสต์โมเดิร์นแต่คือ ยุคแอนโทรโพรซีน (Anthropocene) หรือยุคที่การกระทำของมนุษย์มีผลต่อโลกในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นที่โรมในปี 1968 ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วยุโรป เพื่อการศึกษาโลกในเชิงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำรงเผ่าพันธุ์ของพืชและสัตว์ให้อยู่ร่วมกันกับมนุษย์ไปได้ โดยการศึกษาในยุคก่อนหน้า เป็นการเน้นความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก เช่นการศึกษาเข้าใจพันธุ์ไม้ที่เราจะนำมาปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการศึกษาป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ แต่ “แอนโทรโพรซีน” คือการศึกษาเพื่อการเข้าใจและการหาจุดร่วมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ซึ่งเน้นย้ำนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1987 สหประชาชาติออกมานิยามเรื่องความยั่งยืน (การตั้งนิยามของคำว่า Sustainable development) ที่พูดถึง Our common future ซึ่งคือการที่มนุษย์พัฒนาบางสิ่งบางอย่างโดยที่ยึดเอาผลประโยชน์ของคนในรุ่นอนาคตเป็นหลักไม่ใช่คนในยุคปัจจุบัน พอเราพูดถึงคนในอนาคต การพัฒนาของเมืองจึงไม่ได้คำนึงถึงปัจจุบันเพียงอย่างเดียว แต่คิดว่าอาคาร ถนน เมือง ในอีกยี่สิบปีจะอยู่ได้ไหม จะเป็นยังไง นี่ไม่ใช่การเห็นแนวคิดใหม่แต่เป็นแนวคิดที่ว่าสิ่งที่ทำในปัจจุบัน จะอยู่ร่วมกับคนในอนาคตยังไง 

ซึ่งเรามองว่ามันน่าสนใจมากแต่มันล้มเหลวมาตลอด เพราะมันมีแรงขับเคลื่อนจากงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในเชิงเทคนิคและทฤษฎี แต่การนำมาใช้จริง มันมีลิมิต เพราะคนยังไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ เราเลยคิดว่าการที่มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น (CORONAVIRUS) ในแง่นี้คือ ตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ที่มันจะทำให้เกิด Paradigm shift ที่ตั้งคำถามกับวิถีนิยมว่าเราควรจะเปลี่ยนหรือไม่ยังไง

แนวคิดนี้มันเชื่อมต่อกับเมืองและสังคมที่เราอยู่อย่างไร

จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของคน มันจะมีผลต่อโลก ตั้งแต่ขั้วอำนาจการเมืองของโลก ไปจนถึงการพึ่งพากันในสังคมในระดับประเทศ จนถึงหน่วยย่อยของการดูแลกันในครอบครัว คนรอบข้าง และตัวเราเอง ว่าเรากินอยู่และใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง 

มันทำให้เห็นชัดว่า การกั้นประเทศด้วยพรหมแดนมันเป็นสิ่งเปราะบางมาก ซึ่งจริงๆ แล้วโลกเราเชื่อมกันหมด เพราะมลพิษ สภาพอากาศและจุลชีพต่างๆ บนโลก มันอยู่ในชั้นบรรยากาศเดียวกันและเชื่อมถึงกันอย่างไร้พรหมแดน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ที่ไหน ไม่มากก็น้อยมันมีความเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าที่เราคิด เราเลยคิดว่าการออกแบบเมืองและวิถีชีวิตของคนเมืองในอนาคต มันน่าจะมีการตรึกตรองเรื่องนี้มากขึ้น

ได้ยินว่าเรียวกกำลังทำโปรเจ็กต์เรื่องพื้นที่สาธารณะในเมืองที่บรัสเซลส์ อยากให้ลองเล่าสักนิดหน่อย

เป็นการออกแบบที่เชื่อมระหว่างบริบทของที่อยู่อาศัยกับป่าอนุรักษ์นอกเมืองบรัสเซลส์ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่นี้มีพื้นที่ที่เบลอระหว่างป่ากับเมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบ บางจุดการก่อสร้างของคนบุรุก บางจุดป่าโตเองตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของโปรเจ็กต์ ซึ่งหัวข้อคือออกแบบองค์ประกอบที่ผสานเมืองกับป่าแบบไม่ทำลายหรือรุกรานป่า เราได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อนโคโรนาไวรัสจะมาถึงเบลเยียม เรารู้ว่าชุมชนดูแลป่าเองและกิจกรรมที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เพื่อช่วยให้ป่าสมบูรณ์ตามปกติ ซึ่งพวกเขารวมตัวกันในรูปแบบองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อาจพูดได้ว่าในเชิงสังคมมีการจัดการ แต่ในเชิงกายภาพเราเข้าไปเสริมได้

ฟังเรียวเล่ามาถึงตรงนี้อยากถามว่าเรียวกระหายอะไร คิดอะไรกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในฐานะที่เรียน Sustainability and Resiliency

ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานที่เน้นเรื่องการออกแบบในเชิงความงามและสุนทรียภาพ พอพูดถึงธรรมชาติมันก็คือการหยิบยืมและการเคารพ แต่ในตอนนี้ แม้กระทั่งในวัสดุหรือการต่อเชื่อมสิ่งใดก็ตาม เราจะทำยังไงให้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด รวมถึงเราเคยคิดว่าสถาปัตยกรรมมันคือพื้นที่ของมนุษย์ แต่การเข้าใจในเชิง sustainability คือทุกอย่าง ตั้งแต่ ต้นไม้ ดิน น้ำ สัตว์ ซึ่งมันเกิดคำถามว่า สิ่งเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันยังไง เพราะฉะนั้น หน้าตาของงานออกแบบในเชิงกายภาพ มันอาจจะไม่ได้ถูกแสดงออกในแบบเก่าเช่นงานเขียนแบบ หรือภาพสามมิติที่ยิ่งใหญ่ แต่เน้นความคิดในเรื่องกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ 

ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ถูกคิดอย่างจริงจังเท่าไหร่แม้กระทั่งในเบลเยียมเอง หรือแม้กระทั่งการไม่สร้างอะไรเลยอาจะดีสุดในบางกรณี หน้าตาของเมืองในอนาคตมันจะเป็นยังไง อยากให้ทุกคนเลิกคิดว่าเมืองที่ดีในอุดมคติคือเมืองในโลกที่หนึ่งแบบปัจจุบัน แต่เราต้องมองใหม่ว่าคนกับธรรมชาติจะอยู่ด้วยกันยังไง และเราจะใช้ศักยภาพของเมืองที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ให้มากที่สุดโดยที่ไม่ทำลายและกลืนกินบริบทของธรรมชาติมากเกินไป

อยากให้มองว่า เมืองในอนาคต ไม่ใช่แค่คน คือมีมนุษย์ มีสัตว์ กิจกรรมที่เรียบง่าย ไม่ใช่ความเร่งรีบ ไม่ใช่ภาพเดิม ที่คนต้องทำงาน ต้องมีเงินเยอะ ต้องรวย คำถามคือ เมืองมีพื้นที่ให้สิ่งมีชิวิตอื่นๆ ได้เติบโตไหม เราสามารถที่จะมีเมืองที่เราไม่ต้องจ่ายเงินแพงๆ แต่มีความเพียงพอเท่าที่เราต้องการในปัจจุบัน ไม่ใช่การสร้างเพื่ออนาคต 

เรียวกับการทำงานที่ห้องในบรรยากาศ lockdown

Our common (safe) future ? ส่วนตัวชอบคำนี้มาก เพราะจากที่เรียวเล่ามันเหมือนกับว่า Sustainable development มันคือการสร้างภาพหนึ่งเพื่อคนทั้งโลกจะได้มุ่งไปในจุดเดียวกัน แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้เราคิดว่า มันมีวงเล็บเล็กๆ ของคำว่า (safe) ซ่อนอยู่ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันถูกพูดคุยกันมากแค่ไหน แต่ถ้าคิดในเรื่องของ Sustainability and Resiliency ที่เรียวเล่าแล้ว มันน่าสนใจมากสำหรับเราว่า แล้วเราจะอยู่กันยังไง 

เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมต่ออนาคต แต่เราต้องเข้าใจว่า คนในโลกทั้งหมดคนไม่สามารถทำตามบริบทของโลกที่พัฒนาแล้วได้ คนที่ไม่มีจะกินปรับตัวไม่ได้ คนจนกำลังขาดแคลนอาหาร สิ่งนี้เองมันมีจุดเริ่มต้นมาจากคน เนื่องจากคนไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะจนไปสัมผัสและรับสิ่งนั้นมา จนกลายเป็นโรคใหม่ขึ้นมา และพอโรคใหม่มาเจอกับโลกมนุษย์ที่เชื่อมต่อกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันจึงสามารถแพร่เชื้อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน

เราจบบทสนทนาในบ่ายวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นบ่ายที่อากาศดี มีแสงแดดสาดเข้ามาในห้องที่เราคุยกัน ผมเองอดคิดไม่ได้ว่าเรามีกินอยู่หลังหน้าต่างบานนี้ และกำลังมองออกไปนอกหน้าต่าง พึงเมืองและโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ผมไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นยังไง แต่มันอิ่มใจที่ในเมืองที่เราเดินทางไม่ได้เหมือนเคย มันกับทำให้ความคิดของเราได้มีโอกาสโลดแล่นไปมากกว่าเดิม

ผู้ให้สัมภาษณ์ : (เรียว) อาทิตย์ มากชม นักเรียนหลักสูตร Master of Architecture (Sustainability and Resiliency) KU Leuven


Contributor