23/11/2021
Public Realm

Livable+Economy ฟื้นฟูย่านผ่านกระบวนการชุมชน โดย กลุ่มปั้นเมืองและกลุ่มคนรักตลาดน้อย

บุษยา พุทธอินทร์
 


นอกจากการออกแบบเพื่อพัฒนาเมือง บทบาทสำคัญอีกหนึ่งประการของสถาปนิกผังเมือง คือการทำหน้าที่เสมือนกระบวนกร (Facilitator) หรือคนกลางที่เชื่อมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน คนในย่าน หน่วยงานภาครัฐ หรือคนภายนอกย่านอีกมากมาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาย่าน กลุ่มปั้นเมืองและกลุ่มคนรักตลาดน้อย นำโดย จุฤทธิ์ กังวานภูมิ (โจ) และ ปณัฐพรรณ ลัดดากลม (เตย) สองสถาปนิกผังเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและฟื้นฟูย่านในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร จากย่านชุมชนเก่าแก่ที่น้อยคนรู้จักไปสู่ย่านสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ก้าวแรกของชุมชนกับการฟื้นฟูย่านและเมือง

หากกล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากประสบการณ์ทำงานของทีมปั้นเมือง เราพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นมากกว่าในอดีต กล่าวคือ ประชาชน ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การวางแผนไปจนกระทั่งการตัดสินใจ ต่างจากในอดีตที่ชุมชนแค่รับรู้ รับทราบข่าวสารเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอะไรมากนักต่อการพัฒนาในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนที่ผ่านมา ย่านนั้นเปรียบเสมือนเป็นที่อยู่ ที่ทำกินและอาจมากกว่านั้น ทั้งนี้ การพัฒนาย่านโดยหน่วยงานท้องถิ่น มักจะเป็นการพัฒนาแบบบนลงล่าง (Top-Down) ผู้ที่ได้รับประโยชน์ อาจจะเป็นกลุ่มเจ้าของที่ดิน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือภาครัฐที่ออกนโยบาย ส่งผลให้การพัฒนาอาจไม่ได้เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมจะช่วยสร้างโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาพูดคุยในฐานะที่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยมีสถาปนิกผังเมืองเข้าไปจัดการและทำงานร่วมกันกับผู้คนในย่าน ทั้งในระดับครัวเรือน ละแวกบ้าน ชุมชน ไปตลอดจนชุมชนใกล้เคียงโดยรอบ เพื่อพัฒนาย่านให้เกิดความน่าอยู่

จุฤทธิ์กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านกระบวนการชุมชนกับการฟื้นฟูย่านและเมืองมาหลายปี คำถามที่พบบ่อยจากหลายคน นั่นคือ “ทำไมชุมชนในบ้านเรามันไม่ค่อยเกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่” เขาว่ามีอุปสรรค 3 ประการสำคัญคือ 

1) ความเคยชิน การใช้ชีวิตประจำวันในย่านทำให้เราไม่ได้ตั้งคำถามอะไรเป็นพิเศษ มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงและความพิเศษของย่าน 

2) ความไม่เชื่อมั่นว่ามันจะสามารถพัฒนาได้จริง ความคิดว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรอก การพัฒนาย่านเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและใหญ่เกินไป 

3) รู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ ความรู้สึกร่วมกันที่อาจหายไปในสังคมยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกันหากเป็นชุมชนที่อยู่ด้วยกันมานาน อาจจะได้เปรียบกว่าในเรื่องของสำนึกพลเมือง ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันที่มีมากกว่า (sense of belonging) นี่จึงเป็นก้าวแรกของกระบวนการมีส่วนร่วมที่ชุมชนต้องก้าวข้ามพ้น 3 ประเด็นนี้ไป ก็จะเป็นก้าวแรกที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ย่านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเก่าแก่ของเมือง

หากให้นิยามภาพจำของเขตสัมพันธวงศ์ เป็นย่านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร หลายคนคงคิดถึงย่านที่เต็มไปด้วยมรดกวัฒนธรรม อาหารการกิน และตลาด ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับภาพความเป็นตรอกซอกซอยเล็ก ความแออัด เก่า ตลาดเฉอะแฉะ ไม่สะอาด ไม่เจริญหูเจริญตา ที่บางอย่างนั้นจริง บางอย่างไม่จริง บางอย่างนั้นเป็นอยู่ และบางเรื่องเริ่มคลี่คลายแล้วในปัจจุบัน มีการปรับระบบท่อน้ำไม่ตัน น้ำไม่ท่วม ปรับปรุงถนนให้สะอาดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

เขตสัมพันธวงศ์ ประกอบด้วย 3 แขวง ได้แก่ แขวงจักรวรรดิ สัมพันธวงศ์ และตลาดน้อย เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ โดยเป็นชุมชนจีนเก่าแก่ มีความเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจอันเก่าแก่มาตั้งแต่ในอดีต มีจุดเด่นคือธรรมชาติ เป็นเขตที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาติดริมฝั่งยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีท่าเรือในย่านทรงวาด สำเพ็ง และมีวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน โดยปัจจุบันเป็นเขตที่มีผู้สูงอายุเยอะที่สุดในกรุงเทพฯ จำนวน 6,414 คิดเป็นร้อยละ 27 ของประชากรในย่าน ถ้าหากไปเดินเล่นในซอยจะพบกลุ่มอากง อาม่า คนไทยเชื้อสายจีนบางคนที่ยังพูดภาษาจีนได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ โดยที่ลูกหลานนั้นอาจจะย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ตัวเองยังอยู่เพราะผูกพันกับพื้นที่

นอกจากจะเป็นย่านเก่าแก่ที่มีการอยู่อาศัยมานานแล้ว ยังเป็นย่านที่มีความรู้ ส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของอาหารการกิน สินค้า อาคารเก่าแก่ โดยพบว่า ในย่านตลาดน้อยมีอาคารทรงคุณค่าถึง 68-70 อาคาร ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมไทย-จีน ของกรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกันผ่านทางเดินบนตรอกซอยที่เชื่อมทะลุถึงกันหมด ซึ่งเส้นทางเหล่านี้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีของผู้อยู่ในย่านที่มักจะไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมกัน ในขณะเดียวกันย่านเริ่มมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กินอาหาร ชมสถาปัตยกรรม ถ่ายรูปเช็คอิน ช็อปปิ้งของที่ระลึกตามตรอกซอกซอย

หากย้อนไปในอดีตเมื่อ 10-50 ปีที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีใครสนใจย่านนี้นัก นอกจากนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่มาเที่ยวตลาดน้อย เพราะเป็นทำเลค่อนข้างดีจากการที่อยู่ใกล้หัวลำโพงในอดีต แต่ 10 ปีให้หลังมานี้ ย่านตลาดน้อยเริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยแพร่หลายมากขึ้น ในฐานะพื้นที่ต่อเนื่องของย่านสร้างสรรค์เจริญกรุงที่จะมีศิลปินรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาจัดนิทรรศการ ผลงานศิลปะในพื้นที่ เผยแพร่ผ่านโซเชียล มีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นเสน่ห์ของย่านมากขึ้น

ย่านวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ

จากการทำงานของทีมปั้นเมืองที่ได้ศึกษาพัฒนาการย่าน แสดงให้เห็นว่าย่านไชน่าทาวน์นี้ เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจและท่าเรือแห่งแรกของกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อาคารบ้านเรือนที่อยู่ติดกันมาอย่างหนาแน่นทุกอณู ซึ่งหากเปรียบเทียบกับภาพถ่ายในปัจจุบันก็จะพบว่าความหนาแน่นเดิมของฟรุตปริ้นต์อาคารไม่เปลี่ยนไปมากนัก มีเพียงความสูงของอาคารที่เพิ่มขึ้น พื้นที่สีเขียวที่ลดน้อยลง โดยในปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว 30,555 ตร.ม. คิดเป็นร้อยละ 2.15 ของพื้นที่เขต มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุด กล่าวคือ ประเด็นปัญหาหลักของพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือย่านมีความแออัดและขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่โหยหาพื้นที่สาธารณะ 

ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ผู้คนยังใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นวงเวียนโอเดียน พื้นที่ริมแม่น้ำ และท่าเรือ แต่วิถีชีวิตเหล่านั้นได้หายไปจากการเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงลักษณะของย่าน (gentrification) มูลค่าของเศรษฐกิจในย่านที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการมาของรถไฟฟ้า สถานีวัดมังกร และสถานีสามยอด ส่งผลให้มีกระแสการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วใน 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันถ้าเรามาเที่ยวตลาดน้อย มองขึ้นไปบนอาคารที่ดาดฟ้า เราอาจจะเห็นว่ากลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้ออกกำลังกายแทน พื้นที่สาธารณะข้างนอกไม่ค่อยมี 

คุณโจเล่าต่อว่าในสมัยก่อนถ้าในบ้านมี 8-9 คน จะอยู่รวมกันบนพื้นที่ 12 ตารางวา เวลากินข้าวจะตั้งโต๊ะในซอยบ้าน กินเสร็จก็เก็บโต๊ะ สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในย่านส่วนมากจะใช้พื้นที่ในซอยบ้านตัวเองในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย รับลมริมน้ำ พักผ่อนหย่อนใจ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่คนในย่านใช้ทดแทน 

ถัดมาอีกปัญหาที่ชุมชนสะท้อนร่วมกัน นั่นคือ การไม่สามารถเข้าถึงริมแม่น้ำได้ง่ายเหมือนในอดีต เนื่องจากว่าในอดีตลักษณะความเป็นชุมชนนั้นมีความยืดหยุ่น ทุกคนรู้จักกันหมด จึงเป็นเหตุให้แม้ไม่ใช่บ้านตัวเองก็สามารถเดินเข้าไปใช้งานได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คน ช่วงวัยและความสัมพันธ์ ก็เริ่มเกิดรอยต่อมากขึ้น คนเก่าๆที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือลูกหลานย้ายออก คนใหม่ๆ ที่เข้ามาจัดการพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงไป ขาดความรู้สึกของความเป็นเพื่อนบ้าน การเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงเป็นสาเหตุที่ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงริมน้ำได้เหมือนในอดีต ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายจากการที่ย่านมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำ 2 กิโลเมตร แต่ไม่มีพื้นที่ที่ผู้คนจะสามารถเข้าไปได้เลย ยกเว้นจะเสียเงินเข้าไปนั่งกินข้าว หรือมีเพียงโป๊ะเรือบางแห่งเท่านั้นที่ปล่อยให้คนเข้าไปใช้งาน

พัฒนาอย่างไรให้ลูกหลานยังอยู่ วัฒนธรรมได้รับการสืบทอด ค้าขายดี คนคึกคัก

ปัจจุบันย่านเกิดการเปลี่ยนแปลง ถูกล้อมรอบด้วยโครงการพัฒนาสำคัญต่างๆ มากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพื้นที่เวิ้งนาครเขษม พิพิธภัณฑ์หัวลำโพง สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา การพัฒนาระบบราง รถไฟฟ้าสถานีวัดมังกรและสามยอด โดยเฉพาะในพื้นที่รัศมี 500 เมตร จากรถไฟฟ้า เริ่มมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ทั้งในเรื่องของราคาที่ดิน ค่าเช่าที่ที่อาจขึ้นไปสูงแบบก้าวกระโดด 3-5 เท่า ส่งผลต่อ ความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งพื้นที่ที่ถูกพัฒนาและจับจ้องโดยนายทุน จะทำให้คนเดิมในพื้นที่ถูกบีบออกไปแบบไม่รู้ตัว ค่าครองชีพ อาหารการกิน ค่าเดินทางของลูกจ้างแพงขึ้น ไม่เพียงแค่กลุ่มฐานแรงงานในย่านจะได้รับผลกระทบแต่คนทั่วไปก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อย่านการค้าส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น สินค้าที่ส่งออกปลายน้ำก็ย่อมแพงขึ้น หากแรงงานไม่สามารถที่จะอยู่ได้ ก็ไร้ซึ่งการขับเคลื่อนย่านไชน่าทาวน์ให้สามารถเดินต่อไปได้

เมื่อการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นส่วนเปลี่ยนแปลงของย่านที่สำคัญ ทีมปั้นเมืองจึงลงไปพูดคุยกับชุมชน แล้วพบว่าชุมชนมองเรื่องสำคัญสองเรื่อง คือ วิถีชีวิตที่คนยังสามารถอยู่ได้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน จึงมีวิสัยทัศน์ที่อยากที่จะอนุรักษ์และพัฒนาย่าน ให้อยู่ร่วมกันกับการพัฒนาใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับบริบท ดังนั้น เรื่องทั้งหมดจะถูกตีความหมายออกมาเป็นโจทย์สำคัญว่า พัฒนาย่านอย่างไร ให้ลูกหลานยังอยู่ วัฒนธรรมได้รับการสืบทอด ค้าขายดี คนคึกคัก ยังคงเป็นบ้านพ่อแม่ บ้านอากงอาม่า ที่สามารถส่งมอบให้ลูกหลานต่อไปได้ ยังกลับมาไหว้เจ้าอยู่ ยังสามารถลงทุนในพื้นที่ตัวเองได้ รวมไปถึงส่งต่อประเพณีวัฒนธรรมอย่าง เทศกาลต่างๆ ของคนจีนและคาทอลิก เพราะอยากให้ลูกหลานยังอยู่และสืบทอดต่อไป จึงมุ่งเน้นการพัฒนาที่สำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1) วัฒนธรรม ที่เป็นจุดขายของพื้นที่ 2) ภูมิทัศน์ของย่าน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียว 3) รองรับผู้สูงอายุให้มีชีวิตที่ดี 4) กลไกการทำงานร่วมกันระว่างเครือข่าย มีอำนาจในการต่อรองเจรจา 5) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6) ความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้ไปถึงเป้าหมายก็ยังคงเป็นการเน้นการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการเข้าไปสร้างพื้นที่หรือกิจกรรม โดยใช้เครื่องมือสื่อสารเผยแพร่ออกไป และยังเปิดกว้างให้ชุมชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย ทั้งในชุมชนเอง ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เป็นย่านน่าอยู่ เพื่อสนับสนุนบทบาทของชุมชนและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาจากคนข้างในชุนชนเอง

เครื่องมือที่ทรงพลังต่อการสื่อสารและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน

เครื่องมือที่สถาปนิกชุมชนและสถาปนิกผังเมืองใช้เข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนหรือชุมชน ช่วยให้คนก้าวออกมาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทบทวน ตั้งคำถาม ผ่านการทำแบบฝึกหัด กิจกรรม และใช้ความสำเร็จเล็กๆ ร่วมกันของชุมชนที่เป็นรูปธรรม ทำให้คนรู้สึกว่าสามารถทำได้ ก้าวพ้นความเคยชิน สร้างความเชื่อมั่น และสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน วิทยากได้ยกตัวอย่างเครื่องมือ 4 เครื่องมือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีสถาปนิกผังเมืองเข้าไปทำบทบาทกระบวนกร (Facilitator) คนกลางที่เชื่อมทุกคนเข้าไว้ด้วยกันหรือเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อชุมชน

1) แผนที่ชุมชน เป็นเครื่องมือแรกที่ทำให้คนเข้ามาร่วมพูดคุยกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่คนเริ่มเข้ามาช่วยกำหนดความเป็นตลาดน้อย ตลาดน้อยควรมีขอบเขตแค่ไหน ใครบ้างที่รู้สึกว่าเป็นคนในชุมชนตลาดน้อย แล้วอะไรบ้างคือความเป็นตลาดน้อย ด้วยสภาพของสังคมเมืองปัจจุบันเราก็พบว่าคนไม่ค่อยรู้จักอะไรไปมากกว่าซอยข้างๆ ตัวเอง ซึ่งการจัดทำแผนที่นี้เกิดแบบร่างขึ้น 18 ดราฟ โดยการจัดทำแผนที่ครั้งนี้ส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีการพูดคุยกับชุมชนแล้วเกิดประเด็นย่อยๆ ในการใช้ทำงานต่อ เช่นพอเกิดแผนที่ตลาดน้อยก็เกิดแผนที่ท่องเที่ยว แผนที่มรดกวัฒนธรรมของทั้งย่านต่างๆ ตามมา

2) กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและการเดินศึกษาย่าน เป็นการจัดกิจกรรมที่ถือโอกาสให้คนในชุมชนเป็นคนนำเที่ยว แนะนำมรดกวัฒนธรรม คุณโจได้เล่าว่าในช่วงต้นที่เราต้องแนะนำตลาดน้อยกับคนข้างนอก เราก็ไม่รู้จะแนะนำอะไรเพราะว่าเราชิน การที่เราทำงานกับคนข้างนอกหรือมีคนข้างนอกเข้ามาแลกเปลี่ยน มันทำให้เริ่มระบุคุณค่า เป้าหมายและการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยสร้างความภูมิใจ และสำนึกในการเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันชุมชนได้เป็นผู้ดำเนินการและจัดทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง และการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรวบรวมคนได้ง่ายที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันตรุษจีน บ๊ะจ่าง กินเจ ไหว้พระจันทร์ รวมไปถึงกิจกรรมเวิร์คช็อป การเขียนและปั้นขนมเต่า ก็ช่วยสร้างความภูมิใจให้กับชุมชนที่ได้ถ่ายทอด เพราะเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ไม่มีความขัดแย้ง ช่วยกระตุ้นกลุ่มคนใหม่ๆ ให้เข้ามาแชร์ประสบการณ์ ความรู้ ความทรงจำ และเข้ามาช่วยงาน จึงเกิดเครือข่ายใหม่ๆ ขึ้น

3) สตรีทอาร์ต สร้างผลกระทบในวงกว้างมาก เนื่องผู้คนมักจะรู้จักตลาดน้อยผ่านสตรีทอาร์ท ซึ่งสตรีทอาร์ตเป็นส่วนช่วยเล่าเรื่องราวของย่าน จุฤทธิ์เล่าว่าเดิมสตรีทอาร์ทมีกระจัดกระจายเต็มซอย แล้วพอถึงวันหนึ่งชุมชนพยายามลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลอนุญาตให้เพนต์สีรูป ที่เล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างกลมกลืนกับบริบท โดยมีชุมชนควบคุมผลงานด้วยตนเอง และทุกๆ 5 ปี จะมีการเพนต์ใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่เข้ามามีส่วนร่วม กิจกรรมนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่ซอยหลังบ้านให้กลายเป็นหน้าบ้านที่สวยสดใส สะอาดตา น่ามอง เนื่องจากแต่ก่อนเป็นซอยที่มีแต่สกปรก เฉอะแฉะ มีเศษขยะ บ้างมีราวตากผ้ารก จนชุมชนรู้สึกว่าบางทีเขาอายเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาดู จึงเริ่มบทบาทการเป็นเจ้าบ้านที่ดีมีน้ำใจ เข้ามาช่วยเคลียร์ของจนสะอาดไปทั้งซอย และได้กลายเป็นพื้นที่สตรีทอาร์ตที่น่าดึงดูดในปัจจุบัน

4) สื่อประชาสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้สื่อสารแก่คนในชุมชนและภายนอกให้เข้ามาสนใจผ่าน วารสาร เว็บเพจ ซึ่งการพัฒนาย่านนี้ยังสามารถเติบโตไปได้อีกมากและผู้คนเริ่มเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในย่าน

เมื่อเราทำงานด้านกระบวนการชุมชนกับการฟื้นฟูย่านและเมืองไปเรื่อยๆ ก็ได้เข้ามาสู่แก่นของการพัฒนาแท้จริง นั่นคือ ความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน ต้องการพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ สิทธิความเป็นอยู่ที่ดีซึ่งถูกลิดรอนออกไปกลับมา คุณโจได้เล่าถึง โครงการแรกเมื่อ 6-7 ปีก่อน บริเวณชุมชนโปลิศสภาซึ่งเป็นพื้นที่ไฟไหม้เก่าที่เขตเข้ามาดูแลจัดการ พื้นที่ตรงนั้นมีขยะกองพะเนินไว้อยู่ในชุมชน ชุมชนรู้สึกว่ามีขยะอยู่หน้าบ้านกองขนาดใหญ่จึงอยากเปลี่ยนแปลง จึงได้มีการเริ่มต้นจัดทำแบบเข้าไปคุยกับเขต แต่ในช่วงแรกนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าเขตได้พยายามทำตามกฎหมายและดูแลพื้นที่ 

ต่อมาจึงได้มีการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อสร้างทางเลือกกระบวนการต่อรอง เริ่มแรกมีการเจรจาขอแค่ทำความสะอาดและนำขยะออกไปจากพื้นที่ก่อน ต่อมาค่อยๆ ใช้กระบวนการออกแบบและต่อรองไปเรื่อยๆ มีการพูดคุยเจรจาขออนุญาตปลูกต้นไม้ ซึ่งชุมชนก็ได้ลงมือทำเอง ไม่ว่าจะเป็นขุดดิน ปลูกต้นไม้ ในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นการสร้างสวนเถื่อน แต่ต่อมาเกิดการใช้งานจริง จนเขตเริ่มเห็นประโยชน์และยอมรับจึงได้จัดทำสวนหย่อม หลังจากนั้นในบางช่วงก็มีการจัดนิทรรศการดีไซน์วีค (Design Week) สวนตรงนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินเข้ามาจัดแสดงงานศิลปะ และได้กลายเป็นพื้นที่กลางของชุมชนต่อไป 

ตลอดจนรวมไปถึงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ตลาดน้อยที่อยู่ในซอยภานุรังษี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลายเป็นพื้นที่กลางที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เป็นที่สาธารณะที่เด็กๆ สามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้ เข้าไปเล่นสเกตบอร์ด นั่งริมน้ำ นั่งกินน้ำกันตอนเย็น จนกลายเป็นพื้นที่ของทุกคน นอกจากการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมแล้ว ยังทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน อาทิ ตลาดนัด ซึ่งไม่ได้จัดตลาดนัดเพื่อขายของเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดพื้นที่และสร้างโอกาสให้แก่คนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพได้เข้ามาทดลองทำอะไรใหม่ๆ ในละแวกบ้านโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเช่า ซึ่งถือว่าเป็นส่วนช่วยให้ชุมชนได้ลองปรับตัว และเป็นการส่งเสริมคุณค่าทางสังคมอีกด้วย ชุมชนก็ดูแลหน้าบ้านตัวเอง ก็เอาโต๊ะมาวางหน้าบ้าน เอาลูกหลานมานั่งขายของ ในซอยก็มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เริ่มดูแลละแวกบ้านตัวเองมากขึ้น

สถาปนิกผังเมืองร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ในการทำงานชุมชน

หากพูดถึงบทบาทสถาปนิกผังเมืองในการทำงานฟื้นฟูย่านและเมือง ตลอดจนการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน จะต้องมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย โดยภายในทีมปั้นเมืองจะประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น สถาปัตยกรรมภายใน และสถาปนิกผังเมือง ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งกระบวนการทำงานหลังจากที่สถาปนิกผังเมืองได้จัดทำผังแม่บทแล้ว ตัวผังแม่บทโครงการจะถูกส่งต่อไปหลายศาสตร์ อาทิ (1) สถาปนิก ภูมิสถาปนิก (2) วิศวกรจราจร วิศวกรโยธา (3) นักเศรษฐศาสตร์ (4) นักกฎหมาย ที่จะเข้ามาช่วยกำหนดข้อกฎหมายหรือทำพื้นที่ นำไปสู่การปฏิบัติได้ (5) ศิลปิน นักออกแบบ ออกแบบป้ายบอกทาง สตรีทอาร์ทในพื้นที่ ฯลฯ จะเป็นกลุ่มบุคคลที่เราดึงขึ้นมาทำงานในพื้นที่ และอีกมากมาย

โดยมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของโครงการเอาไว้ร่วมกัน และนอกจากภาคีทำงานร่วมวิชาชีพแล้ว คนที่เราทำงานหลักด้วยตั้งแต่แรก หรือเป็นภาคีหลักในการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองนั่นคือ 1) ชุมชน 2) เจ้าของกรรมสิทธิ์ 3) หน่วยงานภาคนโยบาย หากชุมชนพูดมาว่าอยากทำพื้นที่ริมแม่น้ำ ในฐานะสถาปนิกผังเมือง เครื่องมือที่เราใช้นั่นคือ การทำผังแม่บท แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่จะสื่อสารออกไปให้ชุมชนเข้าใจ คือภาพทัศนียภาพ ที่เห็นภาพรวมของการพัฒนาโครงการ ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งภาพของทัศนียภาพ กระบวนการทำงานของเรามันจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักที่สอดคล้องกัน ส่วนแรกก็คือ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล การออกแบบวางผังชุมชน ส่วนที่สองก็คือ การคืนข้อมูล การให้ข้อมูล การชวนมองภาพอนาคต การตัดสินใจจากชุมชน และการวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่

“เราเชื่อว่าสถาปนิกผังเมืองที่ทำงานชุมชนไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่แตกต่างไปกับสถาปนิกผังเมืองที่ทำงานในส่วนอื่นๆ แต่กระบวนการระหว่างทางต่างหากที่เราต้องใส่เข้าไป แล้วทีมช่วยสนับสนุนข้อมูล เมื่อใดที่เราได้ข้อมูลมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชุมชน หรือข้อมูลที่เรารับฟังปัญหาอะไรต่างๆ จากชุมชน เมื่อรวมมาแล้ว เราต้องคืนกลับไปให้ชุมชน” ปณัฐพรรณ กล่าว

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor