25/11/2019
Mobility

Why we walk? อะไรที่ทำให้เราเดิน

นลิน สินธุประมา
 


หากให้เลือกเส้นทางเดินได้ 3 เส้นทาง 1) เดินจากต้นถนนเยาวราชไปจนสุดถนนเยาวราช (กรุงเทพฯ) 2) เดินจากท่ามหาราชเลาะแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงท่าเตียน (กรุงเทพฯ) 3) เดินจากถนนนิมมานเหมินท์ไปวัดเจ็ดยอด (เชียงใหม่) คุณจะเลือกอะไร

ก่อนจะเลือก เราจะขอเพิ่มโจทย์นิดหน่อย ว่าถ้าหากให้คุณเลือกเดินบนเส้นทางเหล่านี้ตอนเวลา 20.00 น. คุณจะเลือกเดินทางใด?

หนึ่งกิโลเมตรของเราไม่เท่ากัน

“A mile in an American suburb is a lot longer than a mile in Rome” (หนึ่งไมล์ในชานเมืองอเมริกันนั้นยาวไกลกว่าหนึ่งไมล์ในโรมมาก)

คำกล่าวข้างต้นนี้เป็นข้อสรุปจากข้อเขียนของ Steve Mouzon ที่ให้เห็นว่าเมื่อสภาพถนนเปลี่ยนไป คนก็มีแนวโน้มจะเดินด้วยระยะทางที่สั้นลงเรื่อยๆ เช่น ในขณะที่ถนนใหญ่ใจกลางเมืองในยุโรปซึ่งมีทางเท้าที่ดี คนสามารถเดินได้มากถึง 2 ไมล์ (ประมาณ 3.2 กิโลเมตร) ในขณะที่พออยู่ย่านชานเมืองอเมริกันแล้วระยะทางลดลงมาเหลือแค่ 1/10 ไมล์ (ประมาณ 160 เมตร)  คำกล่าวนี้ประยุกต์ใช้ได้กับบ้านเราเหมือนกัน เพราะในระยะทางเท่าๆ กัน เวลาพอๆ กัน เราอาจพบว่าการเราสามารถเดินบนถนนบางสายได้อย่างรื่นรมย์ ขณะที่เรายินดีจะโบกมือเรียกแท็กซี่บนถนนอีกเส้นหนึ่ง แม้ระยะทางจะแค่แปดร้อยเมตรก็ตามที

ทั้งสามเส้นทางที่ยกมาข้างต้นมีระยะทางพอๆ กันคือประมาณ 1 กิโลเมตรกว่า ๆ  เส้นทางแรกนั้นเป็นย่านไชน่าทาวน์เมืองไทยที่คึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน สองถนนเรียงรายด้วยภัตตาคารร้านเก่าชื่อดัง พร้อมพรั่งด้วยอาหารสารพัดชนิดที่บางอย่างก็แทบจะหากินไม่ได้แล้ว ทั้งยังเดินถึงวัด ศาลเจ้า หรือพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและทำความรู้จักกับวัฒนธรรมจีนอย่างเต็มที่

คะแนน Good Walk[1] ของเยาวราชนั้นมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 62 คะแนน (ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพ) หากจะให้มาเดินบนถนนเส้นนี้ จะให้เดินไปแล้วเดินกลับสองรอบก็อาจจะยังไหว เดินตอนกลางวันก็จะได้รสชาติแบบหนึ่ง ถ้ามาเดินตอนค่ำ ช่วงสองทุ่มที่อากาศกำลังเย็นสบายก็จะได้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง

เส้นทางที่สองอยู่ในย่านพระนครอันเก่าแก่ เส้นทางนี้เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ช่วงกลางวันจะพบเห็นนักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ เพราะสามารถเดินถึงสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้หลายแห่ง นับตั้งแต่ท่ามหาราชที่ร้านอาหารหลายร้านให้เลือกสรร เดินออกมาถึงพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอันเป็นแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย แล้วจากนั้นยังสามารถเดินไปขึ้นเรือข้ามฟากจากท่าเตียนไปเที่ยววัดอรุณราชวรารามต่อได้ด้วย นอกจากนี้ทางเท้าช่วงท่าช้างมาถึงท่าเตียนยังเป็นหนึ่งในทางเท้าที่กว้างขวางและสะอาดตา มองทางขวาก็เห็นแม้น้ำเจ้าพระยา มองทางซ้ายก็เห็นยอดปราสาทราชวัง

คะแนน Good Walk บริเวณนี้อยู่ที่ 44 คะแนน อาจจะไม่สูงนักแต่ก็ชดเชยได้ด้วยคะแนนการเข้าถึงแหล่งนันทนาการ ซึ่งย่านพระนครได้รับการจัดอันดับให้เป็นย่านที่สามารถเดินเพื่อเข้าถึงแหล่งนันทนาการได้มากที่สุดในกรุงเทพ (แต่มากที่สุดแล้วก็ยังอยู่ที่ประมาณ 51 คะแนน) อย่างไรก็ตาม พอตกกลางคืน ถนนสายนี้จะเริ่มเงียบเหงา มีบางช่วงของถนนที่มืด มีมุมอับแสง และเปลี่ยว ดังนั้นหากจะให้เดินเล่นในช่วงกลางวันก็สบายมาก แต่ถ้าจะให้เดินช่วงกลางคืนก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่นัก ไม่ใช่แค่ว่ามืดแล้วน่ากลัว แต่พอตกค่ำก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำบนถนนเส้นนี้แล้วด้วย มิสู้ไปข้าวสารเสียเลยยังจะดีกว่า

ส่วนเส้นทางสุดท้าย หากรู้สึกไม่คุ้นเคยกับเส้นทางนี้เอาเสียเลยแม้ว่าจะเคยไปเที่ยวเชียงใหม่อยู่บ้างก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ปกติแล้วคนเขาไม่ค่อยเดินกัน ทว่า การที่ไม่ค่อยมีคนเดินไปเส้นทางนี้ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะวัดเจ็ดยอดเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ทั้งยังมีเจดีย์ที่เชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบเดียวกับวัดเจดีย์หลวง (ซึ่งองค์หลังนี้ปัจจุบันได้หักพังไปตามกาลเวลาแล้ว แต่ยังสามารถหาดูเจดีย์รูปแบบสมบูรณ์ได้ที่วัดเจ็ดยอดอยู่) วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งรวบรวมเรื่องราวและโบราณวัตถุชิ้นเอกของล้านนาเอาไว้จำนวนมาก และวัดแห่งนี้อยู่ห่างจากถนนนิมมานเหมินท์ไปเพียง 1.1 กิโลเมตรเท่านั้น!

วัดเจ็ดยอดควรจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีมากๆ สำหรับผู้รักในการเดินหรือนักท่องเที่ยวสายประหยัดที่ไม่อยากเช่ารถหรือต่อรองกับรถประจำทาง เพราะหากไปเที่ยวเชียงใหม่แล้วพักที่นิมมานเหมินท์ (ซึ่งเป็นย่านที่มีพร้อมสรรพแล้วทั้งที่พัก ร้านอาหารเมือง ร้านกาแฟ แกลอรีศิลปะ ร้านหนังสือ ฯลฯ) ก็ควรจะสามารถเดินชิวๆ ไปถึงวัดประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้ ดูจากระยะทางแล้วควรจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าหารถเข้าไปในคูเมืองซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2-3 กิโลเมตรหรือเช่ารถขึ้นดอยสุเทพ แต่อนิจจาน่าเสียดาย โลกแห่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถนนที่เชื่อมจากนิมมานเหมินท์ไปวัดเจ็ดยอดนั้นเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่มีรถคันใหญ่ๆ วิ่งฉิวไปฉิวมา แม้ข้างทางจะมีทางให้คนเดินอยู่บ้าง แต่ทางก็ขาดเป็นหย่อมๆ จนต้องหลุดออกไปเดินริมถนนใหญ่บ้างเป็นบางช่วง ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่าให้เดินตอนสองทุ่มด้วยซ้ำ ให้เดินตอนกลางวันยังหัวใจตุ้มๆ ต่อมๆ

หนึ่งกิโลเมตรสำหรับคนเดินจึงไม่ใช่แค่ระยะทางแต่ยังเป็นความรู้สึกด้วย ทางที่เพียงแค่เดินได้ แต่ไม่มีอะไรน่าสนใจหรือต้องเดินไปด้วยความยากลำบากย่อมดูไกลกว่าทางที่เดินสบายแถมสองข้างทางยังมีอะไรให้ชื่นชม

Walk Appeal กับแรงดลให้เดิน

การสำรวจของ UddC พบว่าระยะทางเฉลี่ยที่ไกลที่สุดที่คนกรุงเทพฯ พอใจที่จะเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ คือ 797.6 เมตรหรือ 9.97 นาที ระยะทางที่ว่านี้คือค่าเฉลี่ย หมายความว่าในสถานการณ์จริง เมื่อคนๆ หนึ่งตัดสินใจจะเดิน ระยะทางก็อาจจะยืดหรือหดได้อีก แต่ปัจจัยที่ทำให้ระยะทางนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนเดินเท้าคนนั้นอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนสมบุกสมบันแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมสองข้างทางด้วย ถ้าลองจับคนกรุงเทพสักคนที่เคยยืนกรานว่าจะไม่มีวันเดินจากสยามไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปหย่อนไว้กลางกรุงโรม ใครคนนั้นอาจจะยอมเดินได้มากกว่าสามกิโลเมตรก็เป็นได้

Steve Mouzon ผู้เสนอคำว่า Walk Appeal ขึ้นมาเพราะเขามองว่าการให้คะแนนของเว็บไซต์ Walk Score[2] ซึ่งให้คะแนนย่านเดินได้โดยพิจารณาจากความสามารถในการเดินเข้าถึงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้นเริ่มไม่เพียงพอ แม้ Walk Score จะให้ข้อมูลที่ใช้ได้ในเบื้องต้น แต่ยังไม่ครอบคลุมอีกหลายๆ เรื่อง เช่น คุณภาพทางเท้า (ความกว้าง สภาพพื้นผิว ความต่อเนื่องของทางเท้า) สิ่งดึงดูดใจสองข้างทาง การปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนที่อยู่บนทางเดินนั้น หรือเรื่องที่ว่าผู้คนในพื้นที่นั้นมีวัฒนธรรมการเดินเท้ากันเป็นปกติหรือไม่

เบื้องต้น Walk Score และ Good Walk ได้ให้คะแนนเรื่องพื้นฐานเช่น ระยะทางการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งทำงาน สถานศึกษา แหล่งจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ “เมืองเดินดี” ต้องมี แต่ Walk Appeal ได้เติมเต็มสองเกณฑ์แรกโดยไม่พิจารณาเฉพาะ “ระยะทาง” การเข้าถึง แต่พิจารณาคุณภาพของเส้นทางการเข้าถึงด้วย โดยเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมาเช่น การสร้างทิวทัศน์ที่ดีตลอดทางเดิน ข้อนี้สัมพันธ์กับผลสำรวจของเขาที่บอกว่าในย่านชานเมืองคนจะยอมเดินในระยะทางที่สั้นลง ส่วนหนึ่งเพราะทิวทัศน์สองข้างทางนั้นเปลี่ยนแปลงช้าเนื่องจากบ้านอยู่ห่างกัน Mouzon จึงเสนอว่านอกจากทิวทัศน์จะดีแล้ว ทิวทัศน์ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ด้วย เพื่อให้คนเดินถนนรู้สึกว่ามีอะไรให้มองอยู่ตลอดเวลา รวมถึงควรจะมีจุดหมายระหว่างเดินหรือจุดให้แวะพักกลางทางก่อนจะไปจุดหมายปลายทางจริงๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างที่สามารถเป็นตัวชี้วัดของ Walk Appeal แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ เช่น ธรรมชาติสองข้างทางที่น่ารื่นรมย์, มนต์สเน่ห์ของเมือง เป็นเรื่องที่อาจจะวัดได้ยากและเป็นอัตวิสัยที่ใครจะรู้สึกว่าเมืองนั้นๆ มีแรงดึงดูดใจให้เดินหรือไม่, ผู้คนบนถนน เพราะแม้ทางเท้าจะคุณภาพดีเพียงใด แต่หากไม่มีผู้คนอยู่บนถนนเลยหรือคนไม่นิยมมาเดินบนเส้นทางนั้นกันเป็นปกติ ก็ไม่เพียงแต่จะทำให้ทางนั้นกลายเป็นทางที่เปลี่ยวเหงา แต่ยังทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยได้อีกด้วย และความรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Walk appeal เพิ่มขึ้นหรือลดลง ดังนั้น การมีผู้คนและกิจกรรมบนทางเท้า เช่น ร้านขายของเล็กๆ ย่อมส่งผลดีต่อ walk appeal ของเส้นทางนั้น นอกจากนี้ สภาพอากาศและช่วงเวลาของวันก็มีผลอย่างยิ่งต่อความน่าเดิน คนย่อมเลี่ยงเดินในวันที่แดดร้อนเปรี้ยงๆ หรือช่วงเวลากลางคืนที่เงียบสงัด สถานที่เดียวกันจึงอาจจะมีความน่าเดินไม่เท่ากันในช่วงเวลาที่ต่างกันก็ได้

ย้อนกลับไปที่เส้นทาง 3 ข้างบน เราจะพบว่าถนนเยาวราชเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วย Walk appeal ตลอดสองข้างทาง อาจจะไม่แปลกหากใครเคยไปเดินบนถนนเยาวราชแล้วยังรู้สึกว่าใกล้กว่าเส้นทางอื่นๆ แม้มาดูระยะทางเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะการสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการเดินมีผลต่อความรู้สึก

เหมือนการวางมือบนเตาร้อนแค่หนึ่งนาทีอาจจะให้ความรู้สึกยาวนานเป็นชั่วโมง ขณะที่การใช้เวลากับคนรักหนึ่งชั่วโมง เวลาอาจผันผ่านรวดเร็วเหมือนเพิ่งได้ใช้เวลาเพียงหนึ่งนาที

#การเดินก็เช่นกัน

โดย นลิน สินธุประมา


[1] Good Walk คือเว็บไซต์ที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) ออกแบบมาเพื่อให้คะแนนพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ว่า “เดินได้” และ “เดินดี” แค่ไหน โดยคะแนนเดินได้นั้นให้จากความปลอดภัย ความสะดวก และความมีชีวิตชีวา ส่วนคะแนนเดินดีนั้นให้จากความสามารถในการเข้าถึงสถานที่ดึงดูดการเดินต่างๆ คือ สถานที่ขนส่งสาธารณะ แหล่งงาน พื้นที่นันทนาการ พื้นที่จับจ่ายใช้สอย สถานที่บริการสาธารณะสุขและธุรกรรม และสถานศึกษา

[2] Walk Score เป็นเว็บไซต์ให้คะแนนการเดินที่ใช้วิธีคล้ายกับ Goodwalk แต่เป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ


Contributor