11/11/2019
Mobility

Crosswalk art ที่ช่วยให้ทางม้าลาย ‘มีไว้ข้าม’ ไม่ใช่ ‘ถูกมองข้าม’

ณัชชา ทิพย์บำรุง
 


เคยไหม เวลาต้องข้ามทางม้าลายที่ไม่มีไฟจราจรให้กดปุ่มสัญญาณไฟข้ามถนน แล้วเจ้าสภาวะความรู้สึกเสี่ยงตายมักจะลอยหวิวๆ ขึ้นมาในใจ เพราะรถแต่ละคันขับกันเร็วเหลือเกิน อาจมีหนึ่งในล้านกระมังที่จะใจดีหยุดรถให้

         หลายคนตัดสินใจกัดฟันยอมเสี่ยงเดินออกไปเพื่อหวังให้รถหยุด แต่บางครั้งก็ต้องรีบชักเท้ากลับ พอข้ามได้แต่ละครั้ง คนเดินถนนกลับต้องเป็นฝ่ายพยักหน้ายิ้มแทนคำขอบคุณ ทั้งๆ ที่ข้ามอยุ่บนทางม้าลาย

         หรือบางที ปัญหาก็เกิดจากทางม้าลายอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม อยู่ไกลเกินจุดสัญจร ทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะไม่ไปข้ามทางม้าลาย แต่ข้ามถนนตามใจชอบแทน

         นี่เป็นสาเหตุที่นำมาสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน

         คำถามคือ แล้วเราจะมีทางม้าลายไว้ทำไมกัน?

         Crosswalk art หรือศิลปะบนทางม้าลาย คือสิ่งที่จะช่วยทำให้ทางม้าลายไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป เมื่อศิลปะถูกแต่งแต้มลงบนผืนผ้าใบยางมะตอยขนาดมหึมากลายเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ช่วยให้ผู้สัญจรทางเท้าและผู้ขับขี่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นไอเดียนี้อยู่เรื่อย ๆ ในต่างประเทศ

         ที่ลองบีช ทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีทางม้าลายที่มีสีสันสดใสหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ลวดลายเรขาคณิตไปจนถึงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองอย่างสัตว์น้ำเค็ม

         ที่นี่ มีการฟื้นฟูถนน Pine Avenue ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรหลักของเมืองด้วยการปรับปรุงไฟจราจร  ม้านั่ง ถนน แต่ส่วนที่น่าสนใจมากของโครงการนี้ คือแรกทีเดียวมีแนวคิดจะลบทางม้าลายแบบเดิมๆ แล้วทาสีทางม้าลายด้วยสีขาวแทน แต่ ฌอน วอร์เนอร์ ผู้จัดการฝ่ายการออกแบบพื้นที่ (Placemaking) ของบริษัท  the Downtown Long Beach Alliance (DLBA) กลับเห็นว่า

         “ในเมื่อเรามีทางเลือก ทำไมเราไม่ทำอะไรที่มันสร้างสรรค์กว่านี้”

         วอร์เนอร์จึงลงทุนกว่า 500,000 ดอลล่าร์ เพื่อปรับปรุงโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างคนกับทางข้าม และสามารถนำงานศิลปะมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์

“เพราะสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัย” วอร์เนอร์บอกอย่างนั้น

         หลังโครงการเสร็จสิ้น เห็นได้ชัดว่าผู้ขับขี่เริ่มขับรถช้าลงเมื่อใกล้ทางข้าม ส่วนคนที่ใช้ทางข้ามเองก็เริ่มรู้สึกว่า ถนนไม่ได้มีไว้แค่สำหรับเป็นทางผ่านของยานพาหนะเพียงอย่างเดียว แต่สำคัญกับคนเดินเท้าอย่างพวกเขาเช่นกัน

         ส่วนในประเทศไทย ไอเดียเปลี่ยนทางม้าลายให้กลายเป็นงานศิลปะนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน หากใครเดินผ่านย่านสยามสแควร์บ่อยๆ จะเห็นทางม้าลายสไตล์กราฟฟิตี้สีสันสดใสลายการ์ตูนสุดกวน ประกอบกับสีที่ตัดกันอย่างโดดเด่นของสีส้ม ขาว น้ำเงิน พาดผ่านระหว่างสยามสแควร์ซอย 1 ไปจนถึง 3

         นั่นคือโครงการ ‘Art and Crossing’ หรือ ‘ศิลปะ พา ข้าม’ เป็นโครงการแรก ๆ ในประเทศไทยที่สร้าง ‘ทางม้าลายต้นแบบ’ โดยนำ Crosswalk art เข้ามาสร้างสรรค์ให้ทางม้าลายขาวดำทึมเทาธรรมดา กลายเป็นทางม้าลายสุดจี๊ดดึงดูดนักสัญจร จนไม่มีใครเดินผ่านได้โดยไม่ควักกล้องถ่ายรูปออกมาลั่นชัตเตอร์เพื่ออัพลงโซเชียลมีเดียเก๋ๆ

         โครงการนี้เกิดจากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมืองเป็นผู้ดำเนินการ ออกแบบและจัดทำทางข้ามถนนในย่านพาณิชยกรรมเมือง

         จุดหมายของโครงการนี้คือช่วยสนับสนุนให้คนหันมาข้ามทางม้าลาย เสริมสร้างความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า ช่วยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะมองเห็นทางข้ามได้อย่างชัดเจน พร้อมผ่อนคันเร่งให้ช้าลงในพื้นที่ที่มีคนเดินข้ามถนน และถือเป็น Street art แนวใหม่ประจำท้องถนนที่ทำให้คนสัญจรรู้สึกมีคุณค่าที่จะใช้งานอีกด้วย

         อย่างไรก็ตาม หลังโครงการนี้เสร็จสิ้นลงได้ราวปีเศษๆ ก็ไม่มีใครนำศิลปะ Crosswalk art ไปต่อยอดสร้างสรรค์ทางม้าลายในสถานที่อื่นเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ศิลปะบนทางม้าลายมีดีทั้งในด้านของความปลอดภัย และคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นศิลปะที่คล้ายคลึงกับ Street art จนอาจต่อยอดขยับขยายงานไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้แบบเดียวกับ street art อื่นๆ

         เพราะในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเป็นใหญ่ เวลาคนเราเจออะไรแปลกใหม่ก็มักหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปกันเป็นนิสัย แต่ละสถานที่ท่องเที่ยวจึงต้องหาแลนด์มาร์ค หรือจุดเด่นของตัวเองให้แตกต่างจากที่อื่น กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่

‘Crosswalk art’ จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามา renovate ให้สถานที่ธรรมดาๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงเป็นโครงการที่มีทั้ง ‘รูปแบบ’ และ ‘เนื้อหาสาระ’ อยู่ในตัว ด้วยการเชิญชวนให้คนหันมา ‘ข้าม’ ทางม้าลายกันมากขึ้น

ไม่ใช่ทำได้แต่เพียง ‘มองข้าม’ เท่านั้น

โดย ณัชชา ทิพย์บำรุง

อ่านเพิ่มเติม

https://www.smartcitiesdive.com/news/creative-crosswalks-street-art-meets-safety-enhancement/526474/

https://www.thaihealth.or.th/Content/42906-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%20%E0%B8%9E%E0%B8%B2%20%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1.html


Contributor