30/09/2021
Life

อธิปัตย์ บำรุง: การกระจายอำนาจ และ การบริหารท้องถิ่น เครื่องมือเปลี่ยนท้องถิ่นสู่เมืองแห่งการเรียนรู้

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

หากพูดถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ในประเทศไทย หน่วยงานที่มีบทบาทโดดเด่นหน่วยงานหนึ่งต้องยกให้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ผู้ผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่อย่าง มิวเซียมสยาม และอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ห้องสมุดและพื้นที่จัดกิจกรรมภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนกระจายไปสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ทั่วประเทศในเวลาต่อมา ภารกิจตลอดระยะเวลา 15 ปีของ OKMD ในการสร้างแหล่งเรียนรู้ พบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ อาทิ กฎหมายและกฎระเบียบที่ตีกรอบให้ท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนปัญหาด้านงบประมาณและการบริหารจัดการท้องถิ่น ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการ OKMD ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย แก่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

เมืองที่มีศักยภาพเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย ตามมุมมอง OKMD

ขอแยกกรุงเทพฯออกไปก่อน เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างพิเศษมาก จึงขอเปรียบเทียบท้องถิ่นกับท้องถิ่น

ยกตัวอย่างโครงการที่ OKMD โดย TK Park (อุทยานการเรียนรู้) เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ยะลา ความโดดเด่นที่พบคือผู้นำเทศบาล หรือ ท่านนายกเทศมนตรีนครยะลามีบทบาทสูงมาก ทำให้เราทราบการพัฒนาในท้องถิ่นขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้นำเป็นหลัก นี่คือความโดดเด่นของเมืองยะลา

ที่ลำปางก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะผู้นำมีบุคลิกเข้มแข็ง เราได้ไปทำมิวเซียมสยามที่ลำปาง ระหว่างทางมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งเราก็ได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่พระราชบัญญัติกระจายอำนาจ มีส่วนทำให้การทำงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นมีอุปสรรคขึ้น อีกแห่งใกล้กรุงเทพฯ ก็คือฉะเชิงเทรา ซึ่งในจังหวัดมีความพยายามผลักดันเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้อยู่

ส่วนนครสวรรค์ ถามทีมงานว่าทำไมที่นครรสวรรค์ถึงไม่มี TK Park เขาบอกมาว่าเมื่อหลายปีก่อนเคยทาบทามสร้าง TK Park นครสวรรค์ แต่หลังจากทีมงานไปลงพื้นที่แล้วพบว่าที่ตั้งที่เขาให้มานั้นอยู่ไกล โครงการเลยไม่ได้ไปต่อ

ปัญหาที่พบการส่งเสริมเมืองให้กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

แหล่งเรียนรู้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นฮาร์ดแวร์ ไม่ว่าตึก อาคาร พื้นที่ ฯลฯ ในมุมของการทำงาน สิ่งเหล่านี้ท้องถิ่นจะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเอง เพราะฉะนั้นท้องถิ่นจึงต้องมีความพร้อม

OKMD ตั้งมา15 ปี และมีห้องสมุดในต่างจังหวัดเพียง 20 กว่าจังหวัด ประเด็นคือองค์กรของเราถูกออกแบบมาให้เป็นองค์กรที่ช่วยเสริม บางครั้งคนก็เข้ามาถามว่าทำไมไม่ตั้งห้องสมุดที่นั่นที่นี่ เราตอบว่าเราไม่มีเงิน แต่ว่าเราเข้าไปให้ความรู้ เข้าไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ได้ สอนวิธีการทำกิจกรรมได้ เรามอบหนังสือให้ห้องสมุดได้ แต่เราไม่สามารถไปลงทุนสร้างห้องสมุดได้เลย สิ่งที่ทำได้คือเข้าไปกระตุ้น ไปชักชวนผู้นำท้องถิ่นให้เข้ามาลงทุน เพราะฉะนั้นถ้าท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ลงทุน โครงการก็จะไม่เกิดขึ้น

ภาพโดย TK Park Yala

สิ่งที่ตนเองได้ความรู้จากท่านนายกเทศมนตรีนครลำปาง ท่านเล่าให้ฟังว่าปัญหาความไม่แอคทีฟของท้องถิ่นต่อการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าใน พ.ร.บ.กระจายอำนาจถือว่า การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ไม่ใช่หน้าที่หลักของท้องถิ่น หน้าที่หลักของท้องถิ่นคือการศึกษา วิทยาศาสตร์ สังคม แต่พอเป็นเรื่องแหล่งเรียนรู้ขอบเขตยังไม่ชัดเจน แต่ว่าก็มีหลายแห่งที่เขาพยายามอาศัยความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำควบไปกับเรื่องการศึกษา แต่ประเด็นที่ตามมาก็คือการจ้างพนักงานที่ทำงานในแหล่งเรียนรู้นั้น ไม่สามารถเอาเจ้าพนักงานของท้องถิ่นมาลงได้ ผลตามมาในแง่การบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ พบว่า ท้องถิ่นไม่สามารถที่จะหาคนที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานได้ หรือทำงานไปพักหนึ่งแล้วก็ลาออกไป ต้องหาใหม่ หรือบางทีนายกเทศมนตรีต้องใช้เงินของตัวเองเพื่อจ้างคนมาเป็นผู้จัดการ เป็นต้น

นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรือฮาร์ดแวร์แล้ว ก็ต้องมองซอฟต์แวร์ นั่นคือ กฎหมาย พ.ร.บ.กระจายอำนาจยังไม่สนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ ต้นทางของการจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อีกส่วนหนึ่งต้องนำกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะเจ้าภาพ สามารถดำเนินการได้ ลงทุนได้ ดังนั้นด้านกฎหมายจึงสำคัญ ส่วนที่สองคืองบประมาณ พอเป็นเรื่องงบประมาณของท้องถิ่น ส่วนกลางก็จะไม่เข้าไปข้องเกี่ยว ท้องถิ่นจึงต้องหาเงินเอง  แล้วการที่จะต้องเข้าไปของบประมาณในสภาเทศบาล ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ไม่ง่าย

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทำให้ท้องถิ่นเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้จะต้องทบทวน 3 ประเด็นพื้นฐาน 1) กฎหมาย ระเบียบ 2) งบประมาณ 3) บุคลากรที่มีคุณภาพ

บทบาทของ OKMD ในการช่วยเหลือเพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้

เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่าญี่ปุ่นไม่เจอปัญหาตรงส่วนนี้ เพราะพื้นฐานด้านการเรียนรู้ญี่ปุ่นพร้อมหมดแล้ว แต่สิ่งที่เขามีเด่นที่สุดคือชุมชนสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาได้เลย เพราะองค์ประกอบพื้นฐานไม่มีปัญหา แต่ของประเทศไทยเข้าไปแล้วเข้ายากเพราะพื้นฐานยังกระท่อนกระแท่นจึงเกิดความไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องจัดการแก้ไขกฎระเบียบอะไรต่าง ๆ

อย่างการที่มี OKMD เข้าไป บางครั้งก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งในกฎระเบียบได้มากนัก เราก็ได้แต่ยกเรื่องการเรียนรู้ขึ้นมา แต่ว่ามันไปไม่ถึงคณะกรรมการกระจายอำนาจ แล้วในคณะกรรมการอำนาจมันก็มีประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่เขาสนใจและเร่งแก้ไข แล้วประเด็นการเรียนรู้มักจะถูกพิจารณาเป็นประเด็นท้ายๆ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าการที่จะทำให้จังหวัดหรือท้องถิ่นเข้ามาให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ นอกจากการที่ OKMD จะไประดมผลักดันชุมชนหรือสร้างการมีส่วนร่วมก็คือ เราต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ไว้เป็นฐานที่มั่นคงด้วย

พอมีโอกาสไปทำงานกับท้องถิ่น เราได้เห็นปัญหาว่าพื้นฐานตรงนี้ยังไม่แน่น จึงมองว่าการแก้ไขกฎระเบียบมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างจริงจัง ต้องมีการยกประเด็นในเรื่องของการจัดการเมืองขึ้นมาให้ได้ หากแก้ในจุดนี้ได้ ผู้นำท้องถิ่นที่สนใจก็จะสามารถสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่ได้สำเร็จ

กลับมามองเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ประเด็นหนึ่งที่น่าพูดถึงคือเทคโนโลยี ซึ่งมีอุปสรรคเรื่องการบริหารจัดการเช่นกัน ยูเนสโกเองก็มีพูดถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่บ้านเราก็เป็นข้อจำกัดตรงที่ส่วนกลางยังทำได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นในระยะต่อไปของการกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คงไม่ใช่แค่เชิญชวนมานั่งอ่านหนังสือด้วยกัน แต่มันอาจมีอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมันก็กลับมาที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อม

อย่างที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ยกกรณีศึกษานครสวรรค์กับกรุงเทพฯ ในโครงการพัฒนาเมืองฐานความรู้ พอมองตรงนี้เราจะเห็นเลยว่าความต่างมันชัดมาก หากนำนครสวรรค์ไปเปรียบเทียบกับยะลา และเปรียบเทียบกับลำปาง แต่ละพื้นที่ก็จะมีปัจจัยที่ต่างกันออกไป มันไม่ใช่แค่เรื่อง learning city มันกลับมาที่ learning society เลย คือก่อนจะไปถึง city คำว่า learning society มันเกิดขึ้นในสังคมไทยหรือยัง ซึ่งคำตอบก็คือ ยัง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้าง learning society ได้ learning city มันก็อาจจะมาได้ง่ายขึ้น

บรรยากาศภายในมิวเซียมลำปาง ภาพโดย OKMD

แนวคิดที่จะทำให้เมืองมี learning society

เทียบกับญี่ปุ่นในเรื่องการอ่าน จะเห็นว่าคนประเทศเขามีการอ่านหนังสือบนรถไฟ สังคมเขาเป็น learning society อยู่แล้ว ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็สามารถดึงเรื่องการเรียนรู้ขึ้นมาได้ง่าย แต่ประเทศไทยที่ยังไม่มี learning society ตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญด้วย

ที่ผ่านมา OKMD มักจะทำในเรื่องของ knowledge supply มาก แต่งานที่เราจะทำต่อไปคือเน้นที่การสร้าง knowledge demand หรือ knowledge demand building คือทำอย่างไรให้คนอยากที่จะหาความรู้ ที่ผ่านมาเราทำโดยที่มองแค่ว่าคนต้องรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เราไม่ได้มองในมุมของคนหรือประชาชนว่าเขาอาจจะไม่อยากรู้ก็ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะสร้าง demand นี้ให้เกิดขึ้นมา ให้เขามีแรงจูงใจ เช่น หากเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สามารถเอาบัตรไปลดหย่อนภาษี หรือทำแล้วได้เครดิต แล้วเอาเครดิตไปทำอะไรต่อไป กระบวนการ demand building ก็อาจจะต้องทำด้วย

อย่างสิงคโปร์ก็มีเครื่องมือแบบนี้ คือเมื่อไปเยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ แล้วสามารถเอาตั๋วไปลดหย่อนภาษีได้ การทำ demand building อาจจะจำเป็นในการสร้าง learning city ในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายงานที่ต้องไปลงทุนหรือกับตัวประชาชนในพื้นที่ด้วย เพราะประชาชนโดยทั่วไปอาจจะไม่ถึงขั้นกระตือรือร้นที่จะเข้าหาองค์ความรู้มากเท่าที่เราคิด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีวิธีการจูงใจให้เขาเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ถ้าคุณลองมาอ่านหนังสือเล่มนี้เสร็จแล้ว จบแล้วคุณสามารถที่จะไปสอบใบรับรองเพื่อเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมา สามารถอัพเกรดด้วยตนเองได้ อันนี้อาจจะต้องมีการให้ความรู้เข้าไปอีกทางหนึ่งด้วย ให้เขาเห็นว่าช่องทางการได้ความรู้แบบใหม่นี้มันจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นการทำ knowledge demand building ก็อาจจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งต้องเอามาใช้ด้วย

กระบวนการสร้าง TK Park ในแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร

ความที่ว่าเราไม่มีงบประมาณ ทีนี้ท้องถิ่นเขามีงบประมาณอยู่ เราจะทำอย่างไรให้ท้องถิ่นเอาเงินมาลงทุน สมมติว่าเป็นการทำห้องสมุด สิ่งที่เราต้องทำคือไปคุยกับผู้บริหารท้องถิ่น ตั้งแต่ทีมงานของเขาไปจนถึงตัวท่านนายกเทศมนตรี เพื่อให้เห็นความสำคัญ เพราะฉะนั้นการโน้มน้าวช่วงนี้มีความจำเป็น ต้องมีคุยกันจนกระทั่งเขาสนใจ เราก็จะบอกว่าสิ่งที่เราจะเข้าไปช่วยคุณคืออะไรบ้าง เราจะเข้าไปช่วยในเรื่องการบริหารจัดการ การฝึกอบรมพนักงาน การดูแลและจัดการหนังสือในปีแรก แล้วก็จะมีหนังสือเวียนมาให้ไปเรื่อย ๆ เรามีอุปกรณ์ให้ มีคอมพิวเตอร์ให้ มีอะไรต่าง ๆ ให้

จนกระทั่งเขาโอเคแล้ว เราก็จะไปดูสถานที่ สมมติว่าได้ที่ดินมาแล้ว อาคารและการออกแบบควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม เราก็จะเข้าไปช่วยคำแนะนำหลายรูปแบบว่า คุณจะต้องมีชั้นหนังสือ คุณต้องออกแบบที่เป็น universal design เราจะต้องเข้าไปอธิบาย พอคุยกันได้แล้วในส่วนจัดซื้อจัดจ้าง ทำจนเรียบร้อย แต่ทั้งหมดทั้งปวงคือเขาต้องไปเอางบประมาณมาให้ได้

พอกระบวนการตรงนี้เสร็จแล้ว ที่เหลือเราก็จะเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการตั้งแต่การคัดเลือกคน เขาจะรับสมัครคนทำงานในห้องสมุดของเขา เราก็จะไปช่วยสัมภาษณ์ พอได้คนมาแล้วเราก็เทรนให้

ห้องสมุดแบบ TKPark เป็นห้องสมุดที่เป็นการอ่านผสมกับการทำกิจกรรม ในส่วนการสร้างกิจกรรม คนจะทำไม่ค่อยเป็น เราก็จะเข้าไปแนะนำว่าทำอย่างไรถึงจะมีกิจกรรมเพื่อดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้เด็กมาแล้วสนุกสนาน อยากเรียนรู้ มีนักเรียนเข้ามา พวกนี้เป็นงานที่ TK Park ถนัด

ห้องสมุดในแต่ละจังหวัด เราจะทำหนังสือขึ้นมาเป็นหนังสือเกี่ยวกับท้องถิ่นเรียกว่า สาระท้องถิ่น โดยนำบรรดาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ในจังหวัดมาเขียนเกี่ยวกับจังหวัดของตัวเอง เป็นหนังสือให้เด็กเข้ามาอ่านเพื่อจะได้รู้จักจังหวัดของตัวเอง เพราะฉะนั้นสาระท้องถิ่นก็จะมีเฉพาะจังหวัดนั้น ๆ  เช่นตอนที่เราไปทำที่ยะลา เราทำเป็นภาษามลายูด้วย

เพราะฉะนั้นสรุปกระบวนการคือ 1) โน้มน้าวผู้นำท้องถิ่นเพื่อให้เขามาลงทุนให้ได้ 2) ให้คำแนะนำด้านการจัดการ 3) สนับสนุนหนังสือ อุปกรณ์ และคำแนะนำด้านกิจกรรม

ปี ๆ หนึ่งเราก็จะ reunion กัน โดยเชิญชวนเครือข่ายทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนไอเดีย สร้างบรรยากาศครอบครัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นหัวใจมันจะอยู่ตรงสเต็ปหนึ่งและสอง คือ 1) ต้องทำให้เขายินดีที่จะมาลงทุนตรงนี้ 2) ต้องไปเอางบประมาณมาให้ได้ ซึ่งข้อหนึ่งพอได้แล้วมันก็จะมาติดที่ข้อสอง ถึงกลับมาตรงประเด็นแรกที่พูดถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มันมีความสำคัญอยู่

เพราะฉะนั้นการจะเกิด learning city หรือ learning society มองกลับมาที่ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ มิวเซียมสยาม มันก็จะมีความยากขึ้นไปอีก ยากตรงการไปโน้มน้าวให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะพิพิธภัณฑ์เป็นอะไรที่มันอาจจะห่างไกลสังคมไทย เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่ค่อยสนใจลงทุน ยกเว้นแต่ว่าจังหวัดนั้นมีอะไรสำคัญมากจริง ๆ เช่น ภูเก็ต ภูเก็ตมีชุมชนจีน ซึ่งเราเสนอไปว่าน่าจะทำประวัติของเมืองภูเก็ต ซึ่งเขาก็สนใจ หรือว่าบางจังหวัดมีพิพิธภัณฑ์อยู่แล้วอยากให้เราไปช่วยให้คำแนะนำ เราก็เข้าไปทำ

ยกตัวอย่างที่ลำปาง กรณีเอาศาลากลางเก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วเขาใช้ชื่อว่ามิวเซียมลำปางด้วยไม่ใช่ชื่อพิพิธภัณฑ์ลำปาง คือพยายามจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่แบบมิวเซียมสยาม ถ้าพูดถึงจริง ๆ แล้ว ที่มิวเซียมลำปางน่าจะมีความใกล้มิวเซียมสยามขึ้นมา คือมีความทันสมัยขึ้นมาหน่อย แล้วในนั้นก็มี TK Park ก็เข้าไปอยู่ด้วย ถือว่าเป็นกรณีศึกษาเดียวที่มีมิวเซียมสยามกับ TK Park อยู่ด้วยกัน

ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) OKMD

การผลักดันประเทศไทยให้เป็น Learning City จะต้องทำอะไร อย่างไร แล้ว OKMD จะช่วยสร้างให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ความยากของบ้านเราอยู่ตรงที่ว่าคนไม่ค่อยอ่านหนังสือ ตอนนี้มีโครงการกำลังจะทำคือค้นหาว่า จังหวัดไหนบ้างที่ไม่มีร้านหนังสือ คือเราแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าร้านหนังสือมันหายไปจากมุมเมืองมากขึ้น คือเศรษฐกิจอาจจะส่วนหนึ่ง บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องของอีบุ๊ค (eBook) ที่เข้ามา แต่อีบุ๊คมันก็มีข้อจำกัดเยอะในเรื่องของหนังสือที่ไม่ได้มีให้เลือกเยอะขนาดนั้น ยังไม่ครอบคลุมทุกสาขา

จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไมร้านหนังสือถึงหายไป? เราได้คุยกับสมาคมฯ สิ่งพิมพ์กันอยู่ตลอด ตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์หนึ่งคือโปรเจกต์ร้านหนังสือในดวงใจ ซึ่งจะให้คนแนะนำร้านหนังสือในจังหวัดที่ตนเองชอบหรือ  อยากไปเพื่อพยายามจะทำให้ร้านหนังสืออยู่ได้ ตอนนี้ร้านหนังสือต่างจังหวัดหลายแห่งนั้นก็จะแปรสภาพกลายเป็นพวกเน็ตคาเฟ่ บางทีก็เป็นร้านคอฟฟี่ช็อปบ้างอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นตัวสะท้อนการเสพความรู้ของคนไทยเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะว่าดิจิทัลเข้ามา มีโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ตัวหนังสือที่เป็นปริ้นบุ๊คจึงถูกอ่านน้อยลงหรือเปล่า แล้วเราจะกระตุ้นอย่างไรให้ปริ้นบุ๊คกลับมา มันก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่ว่า หนังสือมันน่าอ่านไหม หนังสือยังแพงอยู่หรือไม่ ก็ต้องกลับมาที่ต้นทางอีกเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือไทยมันราคาถูกแล้วก็เป็นหนังสือมีประโยชน์ ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าหนังสือมันค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับบ้านเราที่หนังสือค่อนข้างแพง แล้วหนังสืออาจจะจำกัดไว้เฉพาะในบางเรื่องตามที่ตลาดชอบ

สิ่งแรกที่ OKMD ทำโดย TK Park นั้นก็คือว่า ทำอย่างไรให้คนรู้สึกสนุกกับการอ่านหนังสือให้ได้ สิ่งที่ทำคือหยิบเอาเรื่องในหนังสือขึ้นมาเล่า พยายามดึงกิจกรรมเข้ามาให้คนเห็นว่าหนังสือมันให้ประโยชน์หลายเรื่อง แล้วโลกของ TK Park ไม่ใช่แค่ห้องสมุด แต่มันคือโลกที่คุณสามารถที่จะจินตนาการออกไปในเรื่องต่าง ๆ มากมาย มันต้องมีการสร้างในส่วนนี้ให้เห็นว่า การอ่านหนังสือหรือการเข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นห้องสมุดมันนำไปสู่โลกอันใหม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องทำให้เขาเห็นให้ได้ ตรงนี้ก็ประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง มันก็จะมีกลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับและคนที่ชอบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะขยายอย่างไรให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการเพิ่มจำนวนสาขา เพิ่มจำนวนพื้นที่มันจึงจำเป็น

แล้วในกรุงเทพฯ เราจะทำพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้มันเกิดขึ้น มันก็ค่อนข้างยาก แต่ถ้ามันมีพื้นที่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าถ้าเรามีพื้นที่แบบนี้ มีของแบบนี้ หนังสือแบบนี้ ไม่ช้าก็เร็วคนก็จะเข้ามา แล้วถ้าเรามี big bang building เข้ามาใส่เป็นกลไกด้วย มันก็จะดึงคนเข้ามาได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วเราจึงพยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่ให้ได้

ถ้าจะให้เมืองของเราเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ OKMD อยากจะเสนออะไร

ขอพูดในแง่ของภาครัฐ เพราะว่าการจะเป็นสังคมแบบนั้นได้ชุมชนต้องเข้มแข็งพอสมควร มันต้องมีกลุ่มคน ชุมชนหรือคนที่เขาชอบเรื่องพวกนี้ มันต้องมีกระดูกสันหลัง (back bone) อยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งส่วนนี้จังหวัดนั้นหรือเมืองนั้นมีมหาวิทยาลัยอยู่หรือไม่ มีสถานศึกษาอยู่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญ เพราะจะทำให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือว่าคนชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งอยู่ในนั้น

learning city ในความหมายยูเนสโก (UNESCO) คิดว่าสังคมนี้มันจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีคนที่เป็นชนชั้นกลางอยู่ประมาณหนึ่ง มันถึงจะขับเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ของความเป็นคอมมูนิตี้หรือว่าประชาสังคม มันก็ต้องเข้าไปกระตุ้นให้เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน ถ้าเกิดว่าไม่มีตรงส่วนนี้แล้วมันก็จะกลายเป็นว่า หน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่ทำ ซึ่งมันก็จะไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นต้องมีการสร้างหรือการสนับสนุนให้ชุมชนในจังหวัด ภาคประชาสังคมเข้ามารวมตัวกันได้

เคยทราบข่าวจาก TK Park แล้วสงสัยว่าขอนแก่นเป็นจังหวัดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยแต่ทำไม TK Park ทีมงานเขาอธิบายให้ฟังว่า ชุมชนหรือประชาสังคมด้านการอ่านของขอนแก่นเข้มแข็งมาก ขอนแก่นมีชมรม ชุมชนที่ทำเรื่องนี้อยู่เยอะแล้ว แล้วเขาก็ไม่ต้องการ ซึ่งเราก็ปล่อยชุมชนให้ดำเนินการกันเองแต่เราก็จะมีการคอยช่วยอยู่ข้างหลังแทน

กลับมาที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นโจทย์ของประเทศไทย ซึ่งตอนที่ทำงานเองก็มีข้อจำกัดตรงที่ว่าองค์ความรู้ มีทั้งองค์ความรู้ใหม่องค์ความรู้เก่า แต่องค์ความรู้เก่าใช้คำว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น OKMD ต้องรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหลายมาเพื่อนำเสนอ แต่ในภาพขององค์ความรู้ท้องถิ่น มันต้องมีการแยกว่าตรงไหนคือองค์ความรู้ท้องถิ่น เพราะมันอยู่ระหว่างความเป็นวิทยาศาสตร์และความไม่เป็นวิทยาศาสตร์

อย่างน้ำหมักป้าเช็ง ถามว่ามันใช่สิ่งที่เกิดองค์ความรู้หรือเปล่า ถ้าบอกว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ต้องตอบว่าใช่ แต่มันควรจะเอาไปทำอะไรต่อไหม พอกลับมาถึงเรื่อง learning city องค์ความรู้ดั้งเดิมเขามีอยู่หรือไม่ เขาอาจจะมีอยู่ แต่เราจะต้องดึงมันขึ้นมาหรือเปล่า อันนี้มันเป็นโจทย์อีกมุมหนึ่ง ไม่ใช่ learning city ของยูเนสโก แต่เป็นโจทย์ในเรื่องของคอนเทนต์ที่เราจะมาใส่ในตัว learning city ในส่วนที่มันเป็นความรู้ดั้งเดิมหรือความรู้เก่า เราจะเอาเข้ามาด้วยไหม อันนี้ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ OKMD คิดเอาไว้แต่ยังไม่ได้เข้าไปยุ่งตรงนั้นมาก

ภาพโดย TK Park Satun

OKMD ทำเรื่องกระบวนการจัดการองค์ความรู้ด้วยหรือไม่

เรามีการคัดเลือกองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าองค์ความรู้ไหนที่เราจะเอามาใช้ได้บ้าง ซึ่งก็มีข้อโต้แย้งว่ามันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำไมคุณไม่เอามาใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นโจทย์ของ OKMD ที่ต้องมาทำให้มันชัดเจนว่าตรงไหนที่เราจะเลือก แต่ว่าในการจัดทำองค์ความรู้ที่ทำอยู่ จะเป็นการจัดทำองค์ความรู้ที่โยงกับเรื่องของอาชีพ เพราะว่าอยู่ดี ๆ เราจะไปสอนเขาเรื่องการจัดทำองค์ความรู้ ชาวบ้านเขาไม่สนใจ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มันโยงเข้าเรื่องอาชีพให้ได้ ตอนที่เราไปทำโครงการ ศูนย์ความรู้กินได้ คล้ายกับเป็นการไปสอนชาวบ้านทำสินค้าโอท็อป (OTOP)

สิ่งที่เราเข้าไปสอนชาวบ้าน เราไม่ได้สอนชาวบ้านโดยเอาผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งต่างกับที่อื่นเพราะส่วนใหญ่องค์การอื่นจะยึดผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แต่เราเน้นกระบวนการ หมายถึงว่าเราจะไปอธิบายก่อนว่าในชุมชนนั้นคุณมีวัตถุดิบอะไรที่น่าสนใจ แล้วมันสามารถเอากระบวนการเทคโนโลยีการผลิต กระบวนการผลิต ถ้าจะปรับปรุงจะต้องทำอย่างไร เน้นเข้าไปสอนกระบวนการมากกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อผ่านกระบวนการไปแล้วต่อให้เปลี่ยนวัตถุดิบ เขาจะสามารถทำใหม่ได้ เพราะฉะนั้นมันอาจไม่ใช่เป็นการสอนทำแชมพูทั้งหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน แต่ว่าสอนวิธีการ ขั้นตอนการผลิต คล้ายเป็นการสอนกระบวนการมากกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องการโยงกับอาชีพมันเป็นเหมือนเป็นการเอาองค์ความรู้ที่เขารู้มากลั่นกรองและปรับปรุง มาเพื่อให้มันไปสู่สินค้าที่ขายได้   เราพยายามจะโยงไปตรงนั้นเพื่อดึงชาวบ้านเข้ามา ซึ่งที่เราทำมาแล้วชาวบ้านเองก็บอกนะว่าเขาไม่เคยรู้เพราะ  แต่ละหน่วยมาก็จะมาสอนเป็นคนละอย่างไป แต่ว่าพอฟัง OKMD เขาสามารถเอาความรู้ที่มีอยู่ย่อย ๆ มาต่อยอดได้ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราทำ


Contributor