27/09/2021
Life

“เพราะเรารอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” ขอนแก่นพัฒนาเมือง บริษัทเอกชนที่ลุกขึ้นเปลี่ยนโฉมบ้านเกิด

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางโครงการแรกๆ  ในประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่เพียงเท่านั้น โครงการนี้ยังมีชื่อเสียง อย่างมาก ในแง่ที่เป็นการร่วมลงทุนของภาคเอกชน โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐอีกด้วย

โครงการที่โดดเด่นและเต็มไปด้วยความหวังนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรที่ทำให้โครงการชะลอมาแสนนาน และอะไรที่แสดงว่าการพัฒนาท้องถิ่นตาม “ขอนแก่นโมเดล” นี้ ยังคงเต็มไปด้วยความหวังเพื่ออนาคตของเมือง ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ได้พูดคุยกับ คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้านี้มาตั้งแต่ปี 2558 ที่จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการพัฒนาในขอนแก่น และแบ่งปันบทเรียนให้กับนักพัฒนาท้องถิ่นที่อื่นๆ ในประเทศไทย  

อะไรบันดาลใจ และอยากเห็นอะไรในขอนแก่น

คุณสุรเดชชี้ให้เห็นปัญหาการพัฒนาในโครงสร้างแบบเดิมๆ ในประเทศไทยทันทีที่ถามถึงประเด็นนี้ กล่าวว่าโครงสร้างแบบเดิมนั้นไม่ค่อยมีกลุ่มในพื้นที่เข้ามาลงมือพัฒนาเมือง และภูมิภาคของตนมากเท่าใดนัก ลักษณะเช่นนี้ทำให้หน้าที่หลักตกไปอยู่ในมือของภาครัฐ กลายเป็นว่างานพัฒนาหลายๆ อย่างมักจะถูก “ทำให้จบๆ ไป” การถูกกดทับด้วยโครงสร้างอำนาจต่อกันลงมาเป็นทอดจากส่วนกลาง มากกว่าจากท้องถิ่น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของหน่วยงานรัฐในภูมิภาคเช่นนี้ด้วย

หากมองดูจากชื่อเต็มของ KKTT หรือคือ Khon Kaen Think Tank นั้น จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์หลักของบริษัทฯ คือการเป็น “Think Tank” หรือองค์กรที่ศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอแนวคิด และทิศทางของนโยบายเท่านั้น แต่กระนั้นแล้ว จากประสบการณ์ของคุณสุรเดชและคณะ การคิดอย่างเดียว คงจะไม่พอสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอย่างที่กล่าวไป แต่ต้องมีตัวอย่างด้วย ว่าการพัฒนาสามารถเกิดขึ้นได้จริง ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงต้องพยายามที่จะ Active ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงต้องก้าวมาลงมือทำเองด้วยเช่นกัน

คุณสุรเดชและคณะให้ความสำคัญอย่างมากกับ “ระยะเวลา” ที่ใช้ในการไปถึงเป้าหมาย แน่นอนว่าลูกหลานของชาวขอนแก่นควรได้อยู่ในพื้นที่ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตได้ดีกว่าทุกวันนี้ แต่จะไม่ดีกว่าหรือ หากชาวขอนแก่นกลุ่มนี้เองจะได้แก่ชราอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมิตรกับทุกๆ คน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การพัฒนาที่ต้องรอกระบวนการอันเชื่องช้าเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เป้าหมายสูงสุดของบริษัทฯ จึงเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อสร้างขอนแก่นที่ดีให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขอนแก่นที่ดีที่ว่านั้นเป็นอย่างไร

บริษัทฯ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่แค่เพียงการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหวังว่าได้มีส่วนพัฒนาเมืองอื่นๆ และพัฒนาชนบทควบคู่ไปด้วย กล่าวคือพัฒนาหมดทั้งจังหวัด ให้มีโครงสร้างของการบริการสาธารณะต่างๆ ให้ครบถ้วนนั่นเอง ดังนี้ เป้าหมายหลักจึงไม่ใช่แค่การสร้างรถไฟฟ้าในเมืองขอนแก่น แต่เป็นการสร้างให้มีโครงข่ายของการพัฒนาในภาพใหญ่ทั้งจังหวัด

สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานของการกระจายการพัฒนาให้ทั่วไปทั้งพื้นที่คือการสร้างวิสัยทัศน์การพัฒนาร่วมกัน ทั้งในระหว่างหน่วยงาน และไปถึงระดับบุคคล ตรงนี้เองที่บริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมในการเรียบเรียง และนำเสนอ “ขอนแก่นโมเดล” ขึ้นเป็นหลักการใหญ่ของการพัฒนา และได้เผยแพร่ไปยังองค์กรต่างๆ ผ่านการอบรม ที่คุณสุรเดชเรียกว่าเป็น “ขอนแก่นศึกษา” เพราะก่อนจะมีโครงการพัฒนาใดๆ ขึ้นมานั้น ผู้มีส่วนร่วมจำเป็นต้องมีความเข้าใจ และมีความเป็นอนึ่งอันเดียวกันในพื้นที่เสียก่อน

ปัญหาที่จะต้องถูกขจัดให้หายไปทั้ง 3 ด้านได้แก่ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่โปร่งใส เหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัดหลักของการพัฒนาตามขอนแก่นโมเดล เป็นสิ่งที่โครงการใดๆ ที่เกิดขึ้นควรยึดถือเป็นกรอบ และพยายามที่จะแก้ไข เมื่อมีกรอบเป้าหมายที่ชัดเจน และมีกระบวนการสร้างสำนึกร่วมในการพัฒนาแล้ว คุณสุรเดชกล่าวว่า ด้วยลักษณะดังนี้ บริษัทจะไม่ต้องคงอยู่ตลอดไป แต่แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้มีการพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่จำกัด

แล้วจะทำได้อย่างไร

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงการทั้งหมดของบริษัทฯ เกิดขึ้นได้คือความร่วมมือจากผู้มีฐานะและเจ้าของกิจการใหญ่ๆ ในพื้นที่หลายราย ที่ทุกๆ คนมีความเห็นตรงกัน คืออยากเห็นจังหวัดบ้านเกิดของตนพัฒนาไปมากกว่านี้ เมื่อได้รับความร่วมมือเช่นนี้แล้ว การลงทุนลงแรงเพื่อสร้างแนวทางนโยบาย หรือกระทั่งลงมือสร้างโครงการเหล่านั้นเองย่อมไม่ยากเกินกว่าจะทำได้

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเห็นชอบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐ เทศบาล และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ กล่าวคือ โครงการที่มุ่งเน้นจะทำต้องไม่ทำให้เกิดปัญหากับโครงการดีๆ อื่นๆ และมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมในพื้นที่ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้คุณสุรเดชกล่าวว่าเราต้องค่อย “เคาะหินดูทาง” ไปเรื่อยๆ (คุณสุรเดชบอกว่าสำนวนไทยเขาโยนหิน แต่เคาะหินนี่เป็นสำนวนญี่ปุ่น ว่าให้เคาะสะพานหินดูก่อนจะข้าม) เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรหรือไม่ควรจะทำอะไรมากแค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีความร่วมมือกันนั้นสำคัญ เพราะบริษัทฯ เองก็สามารถต่อยอดงานมาถึงขั้นนี้ได้ ด้วยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คุณสุรเดชกล่าวว่าหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ได้มองบริษัทเป็นคู่แข่ง แต่เป็นแนวร่วม ที่ช่วยศึกษาและนำเสนอโครงการต่างๆ รวมถึงเป็นส่วนเชื่อมระหว่างภาครัฐเอง กับภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาจากล่างขึ้นบนที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย

ไม่เพียงแค่ความร่วมมือกับองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบพื้นที่เดิมเท่านั้น การสร้างเครือข่ายแนวร่วมกับองค์กรที่ศึกษาและทำโครงการพัฒนาเมืองรายอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะงานที่ทำจะทำได้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งดึงดูดให้เกิดความสนใจ และสร้างความเข้าใจออกไปในวงกว้างได้มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีถ้าในด้านการทำโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะในขอนแก่นนั้น “ถ้ามีใครขึ้น โห่ ต้องมีคนร้อง ฮิ้ว รับ”

ความสำเร็จและอุปสรรค

“ต้องดูก่อนว่าพวกผมใช้เงินไป 80 กว่าล้าน”

คุณสุรเดชตอบติดตลกเล็กน้อยเมื่อถูกถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ ก่อนจะกล่าวต่อว่าการลงทุนตรงนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากหน่วยงานรัฐในพื้นที่ กล่าวคือบริษัทต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เกิดการพัฒนาได้จริง และพร้อมที่จะทำงานจริง ไม่ใช่เพียงเสนอไอเดียสร้างสรรค์โดยขาดมูลในเชิงพฤตินัย เมื่อบทบาทของบริษัทถูกกำหนดและแสดงออกมาชัดเจนแล้ว ความยินยอม และความยอมรับของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ก็ย่อมเกิดขึ้นตามมาโดยเร็ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานในพื้นที่ เอกชน และประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม และเพื่อให้ยังได้รับความเห็นพ้องและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้อาจทำได้ผ่านเวทีเสวนา รับฟังความคิดเห็น หรือการประชุมเฉพาะเรื่องต่างๆ ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายเข้าร่วมก็ได้

อย่างไรก็ตาม คุณสุรเดชเล่าถึงอุปสรรคที่ต้องพบเจอ ซึ่งจำนวนหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานกับส่วนกลาง โครงสร้างของการกระจายอำนาจแบบที่บริษัทกำลังพยายามให้มีขึ้นนั้นไม่ได้ทำงานเชื่อมต่อกับโครงสร้างทางการปกครองของทั้งประเทศได้ดีนัก จนทำให้เกิดความล่าช้าไปมากในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป้าหมายงานของบริษัทไม่ได้จำกัดแค่ในเมืองขอนแก่น แต่พยายามจะมีการขยายผลออกไปทั้งจังหวัดแล้วนั้น ความไม่เชื่อมต่อเป็นอันเดียวกับระบบใหญ่ของส่วนกลางก็ยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น

ในส่วนตรงนี้ คุณสุรเดชก็ได้นำเสนอโครงสร้างที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับส่วนกลางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว คือ การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนจากภาคเอกชนในท้องที่ ร่วมเป็นประธานเพื่อกำหนดแนวทางในระยะยาวอย่างมั่นคง หรือเป็น “Duo CEO” เพียงเท่านี้ เมื่อมีเงินทุน ท้องถิ่นก็สามารถพัฒนาพื้นที่ของตนได้อย่างเต็มที่

จุดนี้เองที่รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนา เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ดี และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) จะเป็นเสมือน “กระเป๋าเงิน” ที่จะทำให้การดำเนินการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามดุลยพินิจของคณะกรรมการพิเศษฯ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น กลายเป็นระบบที่พร้อมจะผลักดันให้เมือง และจังหวัดพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทันทีที่ได้รับอนุญาตอย่างเต็มที่จากส่วนกลาง

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เราคงเชื่อได้ทีเดียวว่าโครงการของขอนแก่นพัฒนาเมืองนั้นไม่ได้ไกลเกินฝัน หากแต่มีแนวทางและวิธีจัดการโครงสร้างให้สามารถทำงานได้ทันทีที่ได้รับความยินยอม เป็นสัญญาณที่ดีแก่ชาวขอนแก่นทุกคน ที่คงจะได้เห็นบ้านเกิดของตนสวยงามขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor