09/08/2021
Life

ชัยรัตน์ ถมยา : เคล็ดลับผู้ประกอบการญี่ปุ่น เมื่อธุรกิจต้องอยู่รอดและชุมชนต้องอยู่ด้วย

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

เรียบเรียงโดย ชยากรณ์ กำโชค, สรวิชญ์ อังศุธาร, ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

หากใครติดตามข่าวสารต่างประเทศเป็นประจำ คงจะคุ้นกับชื่อ ชัยรัตน์ ถมยา กันบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นนัก เราขอแนะนำสั้นๆ ว่าชัยรัตน์คือนักข่าวและผู้ประกาศข่าวต่างประเทศที่ลงพื้นที่รายงานข่าวได้น่าติดตามและจับประเด็นได้ลึกซึ้งเคยเป็นผู้ดำเนินรายการทันโลกกับ ชัยรัตน์ ถมยาทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปัจจุบัน ชัยรัตน์เป็นเจ้าของเพจ ‘ย่อโลก’ ที่หยิบจับข่าวจากทุกมุมโลกมาเล่าอย่างสนุก ควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษาเพจข่าวออนไลน์ ‘The Opener’

นอกไปจากมุมมองต่อโลกกว้างซึ่งชัยรัตน์สะสมจากการคลุกคลีในวงการข่าวต่างประเทศมากว่า 20 ปี ตัวเขาเองยังเคยมีโอกาสไปศึกษาปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Hitotsubashi กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประตูบานแรกให้เขาได้ออกไปสัมผัสวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของสังคมญี่ปุ่น ประเทศที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้แข็งแรงไม่แพ้ใครอย่างใกล้ชิด ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis เลยชวนชัยรัตน์มาพูดคุยเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของญี่ปุ่นเฉพาะตัวที่สืบทอดกันมายาวนาน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาผ่านผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ที่หยิบเอาของดีและความรู้ที่มีในย่านมาใช้ฟื้นฟูชุมชนไปพร้อมกัน เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนนี้ออกมาพัฒนาเมืองในบริบทสังคมไทยบนฐานขององค์ความรู้ต่อไป

ในฐานะคนที่เคยไปอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมา คุณคิดว่าอะไรคือวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เข้มแข็งของสังคมญี่ปุ่น

จริงๆ แล้ว ตอนที่ไปเรียนยังไม่ค่อยได้สัมผัสเรื่องนี้มากนัก แต่ช่วงหลังที่ได้ไปเที่ยวเองบ่อยมากขึ้นในหลายจังหวัด ได้ดูรายการทีวีญี่ปุ่น จะรู้สึกว่าญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งของชุมชนมาก เขาอาศัยอยู่รวมกันเป็นเมืองมานานแล้วกว่าร้อยปี เห็นได้จากความภาคภูมิใจในกลุ่มชุมชนต่าง ๆ จังหวัดต่าง ๆ ว่ามีความเข้มแข็ง แต่ละจังหวัดสามารถปกครองตัวเองมานานโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐบาลกลาง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งต่าง ๆ มันมีการถ่ายทอด ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน

เวลาดูรายการญี่ปุ่นที่ไปสัมภาษณ์กิจการต่าง ๆ จะมีคำถามหนึ่งที่ได้ยินอยู่เสมอ คือ ‘กิจการสืบทอดมากี่ช่วงอายุคนแล้ว’ บางคนก็จะบอกว่าตัวเองเป็นรุ่นที่ 10 รุ่นที่ 12 ซึ่งยาวนานมาก 200 – 300 ปีขึ้นทั้งนั้น เราเห็นว่าเมืองหรือชุมชนเล็ก ๆ ก่อตั้งมานาน แล้วสืบทอดสิ่งต่าง ๆ มา ผมคิดว่าองค์ความรู้ก็ได้ถูกถ่ายทอดมาด้วย และการที่พวกเขารักชุมชน มันแสดงให้เห็นว่าเขารักในสิ่งที่เขาทำ จะเห็นว่าธุรกิจต่าง ๆ แม้จะสืบทอดมาเป็นระยะเวลานานก็ยังดำเนินต่อไปได้และยังรักษารากเหง้าไว้ได้ การที่องค์ความรู้ถูกสืบทอดต่อกันมา น่าจะส่งผลกับแนวคิดในปัจจุบันของเขา ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชุมชน ในความเป็นเมือง และต้องการจะอนุรักษ์และบอกกล่าวเรื่องชุมชนของเขาไปสู่ข้างนอก

นอกจากนี้ ในเมืองเล็ก ๆ ยังเต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชุมชน หรือแม้กระทั่งบุคคลที่ทำชื่อเสียงให้เมือง คนในเมืองก็จะรู้จักเป็นอย่างดีและพูดถึงบุคคลเหล่านั้น ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราว เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย เรายังไม่เห็นเรื่องของตรงนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันสามารถทำให้คนในชุมชนรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ และเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง

มีคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคนมีความรู้ มีปัญญา อ่านเยอะ จะใจกว้าง” คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือเปล่าในสังคมญี่ปุ่นที่ได้ไปสัมผัสมา

นิสัยรักการเรียนรู้ อ่านเยอะ รักการอ่าน ก็เป็นลักษณะพิเศษของคนญี่ปุ่น หากลองดูสารคดีประวัติศาสตร์ที่เล่าย้อนไปหลายร้อยปี จะเห็นว่าสังคมญี่ปุ่นมีการจดบันทึกแทบจะทุกขั้นตอน แม้กระทั่งบันทึกเล่าเรื่องราวชีวิตของสามัญชนคนธรรมดา ถ้ามองประวัติศาสตร์ไทยเรา สิ่งที่ถูกบันทึกก็มักจะเป็นเรื่องของชนชั้นเจ้านายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เล่าถึงการใช้ชีวิตของคนธรรมดา องค์ความรู้ตรงนี้ของคนไทยไม่มี ถูกตัดตอนจนแทบจะสาบสูญ ในขณะที่ญี่ปุ่น แทบทุกครอบครัวจะมีเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ เพราะฉะนั้นการที่เขามีตัวอักษร มีหนังสือ มีความรู้พื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ในอัตราส่วนที่เยอะ มันช่วยให้องค์ความรู้ถ่ายทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่น และเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้านจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่ชนชั้นสูง

วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนญี่ปุ่นร่วมสมัยเป็นอย่างไร แตกต่างหรือเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับประเทศอื่นไหม

ผมสังเกตุเห็นส่วนนี้เหมือนกัน อาจเรียกได้ว่าอยู่ในดีเอ็นเอของคนญี่ปุ่น คือเวลาที่เขาชอบอะไรแล้ว เขาจะโฟกัสลงไปตรงนั้น จะไม่สนอย่างอื่น หรือเรียกว่าโอตาคุก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าฉันชอบสปาเก็ตตี้ ฉันก็จะทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทำสปาเก็ตตี้

ผมเคยดูรายการหนึ่ง มีนิสิตมหาวิทยาลัยสองคนที่เป็นเพื่อนกัน ชอบดื่มชานมไข่มุกมาก เลยออกตระเวนกินทุกร้าน และจดว่ารสชาติแต่ละร้านเป็นอย่างไร เวลากินต้องกินแบบไหน ดูดเข้าไปกี่เม็ดแล้วจึงดูดน้ำตาม เคี้ยวเท่าไหร่จึงจะมีความหวานอร่อยพอดี พิธีกรรายการจึงถามถึงอนาคตว่า จบจากมหาวิทยาลัยไปแล้วอยากเป็นอะไร พวกเขาก็ตอบว่าอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชานมไข่มุก พิธีกรก็สงสัยว่าจะหาเลี้ยงชีพได้หรือ แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงนิสัยคนญี่ปุ่นว่าเวลาที่เขารัก เขาชอบ เขาอยากทำอะไร เขาจะมุ่งไปตรงนั้นแล้วทุ่มสุดตัว โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับการเรียนจบหรือได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย 

จากที่สัมผัสได้ คือเมื่อคนญี่ปุ่นรู้ตัวว่าชอบอะไรแล้ว คนรอบข้างก็จะคอยสนับสนุนให้เดินไปตามเส้นทางที่ใฝ่ฝัน ต่างจากสังคมไทย ตัวผมเองก็ชอบทำอาหารมาก แต่ถ้าบอกที่บ้านว่าชอบทำอาหาร อันดับแรกเลย แม่คงจะตั้งคำถามว่าแน่ใจใช่ไหม ว่าทำอาหารแล้วจะหาเลี้ยงตัวเองได้ ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย ต้องไปเอาใบปริญญามาก่อน แต่ญี่ปุ่นจะไม่มีชุดความคิดลักษณะนี้ เวลาคุยกับเด็ก ๆ จะสามารถสะท้อนได้เลย บ้านเราก็จะตอบว่าอยากเป็นหมอ อยากเป็นวิศวกร แต่ถ้าในญี่ปุ่น จะได้ยินคำตอบที่หลากหลายมาก ๆ

ที่สังคมญี่ปุ่นสามารถผลิตผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ได้เยอะมากๆ เป็นเพราะสาเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า

คนมักจะสงสัยว่าคนญี่ปุ่นพยุงเศรษฐกิจเขาได้อย่างไร อ้างอิงจากหนังสือ ทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น : การดำเนินกิจการ 100 ปีที่ยั่งยืน ที่ผมแปล มากิ ชิโอซาวะ คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เขาเล่าถึงธุรกิจ SMEs ที่อยู่รอดมานานนับร้อยปี ตอนผมแปล สิ่งแรกที่สามารถสัมผัสได้ ซึ่งในความเห็นของผมถือเป็นกุญแจสำคัญมาก คือการที่คนญี่ปุ่นนึกถึงชุมชน เอาใจใส่ชุมชนเป็นอันดับแรก สิ่งนี้คือจุดร่วมของสังคมที่ทำให้เขาอยู่รอด ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการของไทยเรายังไม่ได้มีคนคิดในลักษณะนี้นัก

อย่างตอนนี้ทุกคนอาจจะกำลังเจอกับสถานการณ์โควิด หนังสือเล่มนี้ก็เล่าถึงธุรกิจญี่ปุ่นที่ผ่านวิกฤติมา อย่างร้านทำโชยุที่โดนสึนามิพัดหายไปหมดภายในพริบตา แต่เขาก็สามารถกลับมาเปิดโรงงาน เปิดร้านได้อีกครั้ง สิ่งที่เจ้าของร้านพูดคือเขาไม่ได้ต้องการทำเพื่อตัวเอง แต่การกลับมาในครั้งนี้คือเพื่อชุมชน หากเขายังปักหลักที่นี่ กลับมาดำเนินธุรกิจ ชุมชนก็จะกลับมาด้วย และสิ่งสำคัญที่ช่วยเหลือให้เขากลับมาได้ก็คือการสนับสนุนจากชุมชนด้วยกัน อีกตัวอย่างคือโรงกลั่นเหล้า ซึ่งเจ้าของได้รับสืบทอดกิจการมา แม้จะไม่ได้เผชิญวิกฤติ แต่เขาคิดว่า ทำอย่างไรให้คนในเมืองรู้สึกว่าโรงกลั่นของเขาสำคัญ เมืองจะขาดสิ่งนี้ไปไม่ได้ ทำอย่างไรให้โรงกลั่นนี้สร้างชื่อเสียงให้กับเมือง เพราะเมื่อไหร่ที่คนในเมืองคิดว่าธุรกิจนี้จะมีหรือไม่มีก็ได้ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ จุดนี้เองทำให้เวลาคนญี่ปุ่นจะคิดผลิตภัณฑ์อะไร เขาจะคิดถึงภาพลักษณ์ของเมือง เพื่อยึดโยงอัตลักษณ์ให้สอดคล้องกับสินค้า

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการคิดถึงส่วนรวมของญี่ปุ่นอีกอย่างคือคนญี่ปุ่นเชื่อว่าหากเศรษฐกิจโดยรวมแย่ ธุรกิจของตนเองจะดีได้อย่างไร ฉะนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้น คนในชุมชนเดียวกันนี่แหละจะช่วยพยุงกันไป สร้างเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ และคนญี่ปุ่นจะมีชุดความคิดที่ไม่ได้เห็นธุรกิจอื่นเป็นคู่แข่ง ถึงแม้จริง ๆ แล้วธุรกิจนั้นจะถือเป็นคู่แข่งทางการค้าก็ตาม เวลาอีกคนล้ม เขาจะเข้าไปช่วย ด้วยความคิดที่ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมวงการ เพื่อนร่วมอาชีพ เช่นร้านขายไดฟูกุที่คิดค้นไดฟูกุสตรอเบอร์รี่สดออกมาเป็นเจ้าแรก ทำออกมาแล้วขายดี คนที่ส่งสตรอเบอร์รี่เลยคิดว่าหากร้านขนมญี่ปุ่นอื่น ๆ ทำขนมนี้ ก็จะทำให้ขายสตรอเบอร์รี่ได้มากขึ้น จึงซื้อไดฟูกุร้านนี้ไปให้ร้านอื่น ๆ ชิมแล้วบอกให้ร้านอื่นลองทำ สิ่งที่เจ้าของสูตรรู้สึกคือเขาภูมิใจและดีใจที่มีคนนำสูตรเขาไปทำ แล้วทำให้ขนมนี้แพร่หลาย ช่วยให้วงการขนมญี่ปุ่นมีอะไรน่าตื่นเต้นขึ้นมา และถือเป็นการช่วยเหลือกัน ต่างจากบ้านเราที่หากใครเป็นเจ้าแรกก็จะพยายามย้ำว่าตนเองคือต้นตำรับของแท้

นอกจากนี้ หากสังเกต ญี่ปุ่นจะมีคำว่าฉะโจซึ่งแปลว่าท่านประธาน หากพูดในบริบทบ้านเรา ก็จะนึกถึงประธานบริษัทใหญ่ แต่ในบริบทของญี่ปุ่น การเป็นเจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านทำร่มท้องถิ่นที่เปิดห้องแถวห้องเดียว ก็เรียกว่าฉะโจแล้ว เพราะถือว่าเป็นเจ้าของกิจการ ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรม และเป็นการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการในสังคมญี่ปุ่น

ธุรกิจ SMEs ของญี่ปุ่นก็แข็งแรงมากเพราะเขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล คุณมองเรื่องนี้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะเอามาปรับใช้ได้

ญี่ปุ่นมีธุรกิจ SMEs เยอะมาก ผมเคยได้รับเชิญไปเยี่ยมกลุ่ม SMEs บริเวณชานกรุงโตเกียว เขาจะมีองค์ความรู้ know how มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พูดให้เห็นภาพคือ ญี่ปุ่นจะมีอุตสาหกรรมใหญ่ครอบอยู่ด้านบน แล้ว SMEs ต่าง ๆ ก็จะผลิตสินค้า อุปกรณ์ ป้อนให้กับโรงงานใหญ่ ๆ อีกที แต่ระหว่างที่เขาป้อน ก็จะทำวิจัยและพัฒนาส่วนของตัว SMEs เองด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง เขาจึงมี know how ในส่วนนี้เยอะ จากที่พูดไปแล้วว่าคนญี่ปุ่นเขาจะเน้นโฟกัสไปที่จุด ๆ เดียว แต่ละธุรกิจก็จะมีความเฉพาะทาง ทำแค่อย่างเดียว แต่สิ่งนั้นจะออกมาดีที่สุด เป๊ะที่สุด คุณภาพไม่เป็นสองรองใคร

แต่ประเด็นปัญหาที่ SMEs ญี่ปุ่นเจอในตอนนี้ คือไม่สามารถขยายไปอยู่นอกประเทศได้ มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเรื่องภาษา และการหาพาร์ทเนอร์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับธุรกิจ SMEs รายหนึ่งที่ญี่ปุ่น ประมาณ 5 ปีที่แล้ว เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการจัดการขยะที่น่าสนใจมาก สามารถแยกขยะได้อัตโนมัติ ปรับความละเอียดการแยกได้อีกด้วย เขาสนใจจะร่วมมือกับที่ไทยมาก เลือกไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียนทั้งเรื่องการเชื่อมโยงธุรกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี คิดสินค้าร่วมกันเพื่อปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แต่ด้วยข้อจำกัดในการ matching ธุรกิจ และความระมัดระวังที่ตามมาด้วยความยิบย่อยในการเจรจาธุรกิจของคนญี่ปุ่นเอง ทำให้ตรงนี้เป็นอุปสรรค

ผมเห็นโครงการที่ทาง UddC ทำอยู่น่าสนใจมาก และทำให้นึกถึงโครงการหนึ่งที่เคยได้สัมผัสจากการเข้าไปทำสารคดีเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิ เรื่องการทำความสะอาดคลอง พัฒนาริมคลอง เราจะเห็นเลยว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นเขาเข้มแข็งมาก มีงบประมาณและอำนาจในการเสนอโครงการพัฒนา สามารถบริหารจัดการด้วยตัวเองได้จริง ๆ ว่าคนท้องถิ่นต้องการอะไร เกิดปัญหาอะไร ต่างจากไทยที่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลางทำให้ความต้องการของคนในชุมชนหลายอย่างถูกมองข้ามไป สิ่งที่ทำให้ผมนึกถึง UddC คือการพยายามดึงคนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ชุมชนรู้สึกว่าโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นเป็นสิ่งที่ตนเองเสนอ เป็นความต้องการของตัวเอง ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในโครงการ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ด้วยตัวเองจริง ๆ

ทำไมธุรกิจ SMEs ในญี่ปุ่นถึงยังสามารถผนึกกับความเป็นย่านและชุมชนอยู่ได้

หากย้อนไปดู สิ่งนี้เริ่มจากแต่ละชุมชนมีประวัติศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่น แต่ละเมืองมีวัฒนธรรมของตัวเองที่แข็งแกร่ง ทำให้สินค้าที่ทำขึ้นสามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมืองออกมาได้ ด้วยความรักและภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง คัดสรรเฟ้นหาสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น และดัดแปลงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของที่ขายออกมาก็อยู่ในนามท้องถิ่น ทำให้เป็นที่รู้จัก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวธุรกิจเองไปจนถึงสังคมในพื้นที่นั้น ทั้งหมดย้อนไปจุดเริ่มต้นที่ว่าเขารู้ว่าท้องถิ่นมีอะไร ซึ่งญี่ปุ่นได้เปรียบมากจาก know how ในชุมชนที่สั่งสมและสืบทอดกันมา ไม่ใช่แค่ 10 – 20 ปี แต่เป็นหลักร้อยปี และมันส่งผลมาถึงองค์ความรู้ระดับที่ลึกมากของ SMEs ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปและเป็นพื้นฐานของธุรกิจญี่ปุ่น ต่างกับบ้านเรา เวลาไปต่างจังหวัด ถามง่าย ๆ ว่า จังหวัดนี้อะไรอร่อย ของอะไรดี บางคนก็ยังนึกไม่ออก ตอบไม่ได้ว่าจะต้องกินอะไร

อีกเรื่องที่คิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมากคือญี่ปุ่นไม่มีการผูกขาดธุรกิจ เป็นส่วนหลักที่ช่วยรักษาธุรกิจระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดให้ยังเติบโตต่อไปได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือซุปเปอร์มาร์เก็ต ตามท้องถิ่นจะมีซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นที่มีเฉพาะในจังหวัดนั้น ๆ ของแต่ละอย่างที่ขายก็เฉพาะตัว มีอะไรที่เราไปเจอแล้วรู้สึกแปลกใหม่ตลอดเวลา และเขาเปิดให้แข่งขันกันค่อนข้างสูง ต่างจากไทยที่มีซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่ครอบทั้งประเทศอยู่ เข้าไปสาขาไหนก็เจอแต่สินค้าลักษณะเดียวกัน

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการผูกขาดสินค้าในเมือง

ความเสรีคือกุญแจหลัก ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกอย่างขึ้นกับกลไกการตลาด ความพึงพอใจ และความต้องการของลูกค้าที่ไปเลือกซื้อ หากต้องการสินค้าทั่วไปในราคาถูก ก็ไปซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของราคาถูก ในขณะที่บางคนอาจจะไม่ได้อยากได้ของถูก แต่อยากได้สินค้าที่มีความเฉพาะตัวโดยราคาที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นปัญหา ก็จะเลือกไปในร้านที่ตรงกับเป้าหมาย นี่คือความเสรี แล้วแต่ว่าผู้บริโภคจะเลือกตัวเลือกไหน ส่วนผู้ประกอบการเองก็ต้องมองยุทธศาสตร์ว่าตนเองต้องการเจาะตลาดกลุ่มไหน ไม่ได้มีลักษณะนายทุนรายใหญ่ที่เป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเจ้าเดียว ในไทย ทำไมไม่สามารถหาซื้อสินค้าบางอย่างได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ก็เพราะว่าราคาการขึ้นชั้นวางนั้นสูงจนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายได้ ทำให้เกิดการล้มหายตายจากของสินค้าไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น การค้าที่เป็นเสรีจึงช่วยธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่นให้ยังเติบโตได้

ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีร้านค้าแนว Antenna Shop ที่กำลังเป็นกระแสในโตเกียว เป็นร้านที่นำของจากพื้นถิ่นจังหวัดต่างๆ เข้ามาขาย ทำให้คนที่ห่างบ้านมาทำงานอยู่ในเมืองหรือคนโตเกียวเองได้ไปซื้ออาหารหรือสินค้าที่คิดถึง เปิดโอกาสให้ได้ลองของใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 80 แห่งแล้วในโตเกียว ตัวผมเองก็เคยไปแถวอากิฮาบาระ ชอบมาก เสียเงินไปเยอะมาก เห็นสิ่งที่ไม่เคยกิน อันนู้นก็อยากลอง อันนี้ก็ไม่เคยเห็น แม้กระทั่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังมีแบรนด์ที่เป็นประจำถิ่นเลย ก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ต่างจากไทย

Antenna Shop ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภาพโดย Japan Travel

คุณมองว่าสื่อมวลชนของญี่ปุ่นมีบทบาทในการสร้างและนำเสนอเรื่องราวของชุมชนด้วยหรือเปล่า

ช่วงนี้เนื่องจากไม่สามารถออกไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ รายการทีวีและสื่อมวลชนเป็นตัวแปรสำคัญมากในการนำเสนอและประชาสัมพันธ์เรื่องราวของท้องถิ่นให้น่าสนใจ ซึ่งในไทยยังไม่มีรายการทีวีในลักษณะนี้ เช่นรายการ Waratte koraete! ของ George Tokoro เขาจะเริ่มด้วยการนำแผนที่ญี่ปุ่นมาปาเป้า ปาโดนเมืองไหน ก็จะพาดาราไปเที่ยวสำรวจเมืองนั้น ๆ ไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ว่าเมืองนี้มีอะไรดี ต้องไปเที่ยวที่ไหนให้ได้สัมผัสความเป็นท้องถิ่นและจุดเด่นของเมืองนั้นจริง ๆ อาจจะฟังดูไม่มีอะไรมาก แต่สามารถสะท้อนได้เลยว่า แม้เมืองจะมีคนอยู่น้อยแค่ไหน เล็กแค่ไหนก็ตาม สื่อก็ยังสามารถดึงจุดเด่นที่เมืองมีให้ออกมาน่าสนใจ น่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ ให้อยู่ในรูปแบบรายการวาไรตี้ ซึ่งหน้าที่ของสื่อก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์ และโปรโมทสินค้าและการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

ช่วงนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็อยู่ในช่วงขาลงเป็นระยะเวลาพอสมควร ชุมชนมีบทบาทอย่างไรให้สามารถพยุงเศรษฐกิจต่อไปได้

เรื่องนี้ก็จะคล้ายกับที่ได้พูดคุยกันไปแล้ว หากยกตัวอย่างจากหนังสือ มันเกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ใกล้ชิดกันมากในชุมชน ปัจจุบันก็มีการช่วยเหลือกันในรูปแบบใหม่ๆ เช่นการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่เพื่อสนับสนุนร้านในชุมชน ด้วยความรู้สึกรักและหวงแหน ไม่อยากเห็นอะไรล่มสลายไปต่อหน้า ร้านค้าต่างๆ มีความสัมพันธ์เหมือนสมาชิกในครอบครัว อย่างร้านทำโชยุที่เล่าไปก่อนหน้า แนวคิดวิธีการทำธุรกิจของเขาจะมี insight เกี่ยวกับลูกค้าเยอะมาก รู้ลงไปในรายละเอียด เขาจะขับรถไปพูดคุยกับบ้านที่สั่งโชยุ ดูปริมาณคนในครอบครัว ดูประเภทอาหารที่ทำว่าจะใช้โชยุเยอะขนาดไหน ควรสั่งกี่ขวด และควรจะมาส่งอีกครั้งเมื่อไหร่ เมื่อลงไปเยี่ยมอีกครั้ง เจ้าของบ้านก็ปฏิบัติเหมือนคนในครอบครัว เตรียมข้าว เตรียมอาหารไว้รอ ไม่ได้เหมือนการต้อนรับเซลล์ขายของทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทางธุรกิจควบคู่ไปกับความเป็นชุมชน

ส่วนที่สองคือมุมมองความคิดเรื่องคู่แข่งของคนญี่ปุ่นที่แตกต่างออกไป มีรายการโทรทัศน์นำเสนอเรื่องของร้านอาหารหนึ่งต้องการจะทำเทมปุระขาย ก็พาไปเรียนรู้จากร้านขายเทมปุระชื่อดังระดับมิชลิน ซึ่งเชฟก็ยินดีที่จะสอน บอกเทคนิคที่มีอย่างเปิดเผยแม้จะเป็นสูตรเฉพาะก็ตาม แต่ความคิดของเชฟคือ ร้านอาหารกำลังประสบปัญหา อยากจะให้เพื่อน ๆ ในวงการอยู่ได้ เราต้องช่วยกันประคองวงการนี้ไปด้วยกัน มันสะท้อนถึงความเอื้ออาทร ความเชื่อใจ ความใจกว้าง นี่ก็เป็นจุดสำคัญอีกหนึ่งจุดที่แม้ว่าบางธุรกิจจะประสบปัญหามาตั้งแต่ช่วงสงคราม โรคระบาด หรือสึนามิ แต่ชุมชนก็ยังฟื้นขึ้นมาได้ ด้วยชุมชนเอง ที่เต็มไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อถือ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชน และเมื่อเขาฟื้นขึ้นมาได้ เขาไม่ได้หนีไปไหน เขารู้สึกว่าเขาต้องอยู่ที่นี่ต่อไป เพราะถ้าเมืองไม่มีคนอยู่ เมืองก็จะตาย เขาเลยอยากที่จะช่วยเมืองกลับเพื่อตอบแทนที่เมืองเคยช่วยเขา อย่างคำพูดของเจ้าของโรงงานผลิตปลาโอแห้งแห่งหนึ่งที่ว่าการตั้งโรงงานกลับมาอีกครั้งมันเป็นสัญลักษณ์ให้คนในชุมชนเห็นว่า เมืองต้องเดินต่อไปข้างหน้าได้

นอกจากชุมชนและธุรกิจจะเข้มแข็งกันภายในแล้ว ที่ญี่ปุ่นเองมีกลยุทธ์หรือนโยบายอะไรอีกบ้างเพื่อช่วยฟื้นฟูไม่ให้เมืองเล็กๆ ตาย

ประเด็นปัญหาอีกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นคือปรากฏการณ์คนย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน เมื่อจากไปแล้ว บ้านก็จะถูกทิ้งร้าง ความพยายามของเมืองเล็ก ๆ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนให้เมืองกลับมาน่าสนใจสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัยอีกครั้ง การสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงคนใหม่ ๆ เข้ามา มีหลากหลายกลยุทธ์มาก เช่นหากคุณมีอายุในช่วง 40 – 50 ปี ถ้าย้ายมาอยู่เมืองนี้จะได้ลดภาษี ได้อุดหนุนค่าเดินทางไปกลับจากเมือง หรือแม้กระทั่งอุดหนุนเรื่องการศึกษาของลูก หรือกรณีเด็กจบใหม่ที่หาที่อยู่ หากมาอยู่ในเมืองเล็กๆ นี้ เมืองจะช่วยออกค่าใช้จ่ายรถไฟชินคันเซ็นตามสัดส่วน เพื่อดึงให้คนรุ่นใหม่ที่แม้จะทำงานในโตเกียวสามารถเดินทางไปกลับมาอยู่ที่เมืองได้ โดยเฉพาะยุคนี้ที่นโยบายการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น อาจจะทำแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ สุดท้ายก็สามารถกลับมาอยู่ที่บ้าน ดูแลพ่อแม่ บางคนที่คิดอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ก็สามารถทำงานประจำ เก็บเงิน และเริ่มกิจการเล็ก ๆ ในชุมชนของตัวเองได้ ผมมองว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจมาก ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องอยู่โตเกียวก็ได้ อยู่บ้าน อยู่กับท้องถิ่นได้แต่ก็ไปทำงานสะดวก คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ซึ่งเหล่านี้เองทำให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น คนไม่ได้หายไปจากเมือง เมืองก็จะไม่ตาย ซึ่งมันเกี่ยวเนื่องมาจากบทบาท อำนาจหน้าที่ในนโยบายและการจัดภาษีของรัฐบาลท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

บทความเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor