31/10/2019
Environment

Singapore So Green สร้างเมืองเขียวอย่างไรให้เป็นแบรนด์

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


ทุกวันนี้ความเป็นเมืองสีเขียวของสิงคโปร์เป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก แต่ความน่าสนใจจริงๆ ของเรื่องนี้ต้องเริ่มที่ประโยคแท็กไลน์ของแผนการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ที่ว่า ‘Bring the bees and boeings to the City in the Garden’

น่าสงสัยว่าผึ้งกับเครื่องบินโบอิ้งมาเกี่ยวข้องอะไรกัน

เรื่องราวเริ่มต้นที่ ‘ที่ดิน’ ปัจจัยการพัฒนาประเทศที่สิงคโปร์มีน้อยกว่าเพื่อน ฉะนั้นการบริหารที่ดินต้องคิดอย่างถ้วนถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ส่งผลให้การสร้างแบรนด์ของประเทศออกมาในแนวคิด The Garden City ที่เชื่อมเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ กับ ‘ธุรกิจ’ เข้าด้วยกัน ผึ้งในแท็กไลน์คือตัวแทนพื้นที่สีเขียว ส่วนเครื่องบินโบอิ้งคือตัวแทนการพัฒนาเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ พูดง่ายๆ คือสิงคโปร์มองออกว่าคุณภาพชีวิตกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ทำอย่างหนึ่งต้องได้ประโยชน์อีกอย่างด้วย

จากประเทศที่มีขนาดเมืองเล็กกว่าครึ่งของกรุงเทพฯ ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายหมดในสมัยอาณานิคม กลายเป็นเมืองที่มีสีเขียวหนาแน่นที่สุดในโลกในอัตรา 30% ของพื้นที่ นี่คือปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นได้จริงด้วยวิธีคิดและนโยบายที่ ‘มาก่อนกาล’

คนทั่วไปรู้ดีอยู่แล้วว่าพื้นที่สีเขียวสำคัญกับสุขภาพคนและสุขภาพเมือง แต่ลองจินตนาการย้อนกลับไปในปี 1967 (พ.ศ. 2510) เวลานั้นลีกวนยูเกิดวิสัยทัศน์จะสร้าง The Garden City เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ทั้งที่เวลานั้นสิงคโปร์ยังเป็นประเทศโลกที่สามที่มุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม คนกว่าครึ่งค่อนประเทศอาศัยอยู่ในสลัม แม่น้ำลำคลองก็เน่าเสีย

สิ่งที่น่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดลีคือ ‘อุทยานนคร’ หรือ The Garden City of Tomorrow จากแนวคิดของนักผังเมืองสายสังคมนิยมนาม Ebenezer Howard ลีพบสถานที่นี้สมัยไปศึกษาต่อที่อังกฤษ การสร้างเมืองใหม่ให้แทรกตัวอยู่ในธรรมชาติ เชื่อมโยงถึงกันด้วยถนนหนทางสีเขียว คือตัวอย่างรูปธรรมที่เขาได้เห็นว่าจะแก้ปัญหาผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างไรได้บ้าง 

แต่จุดสำคัญที่ลีคิดต่างจากอังกฤษยุคโรแมนติกคือ พื้นที่สีเขียวไม่ได้มีคุณค่าแค่เรื่องทางจิตวิญญาณ ทว่ามีประโยชน์อย่างมากในการพลิกให้สิงคโปร์ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ดอกไม้ดึงดูดแมลงอย่างไร ต้นไม้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศโลกที่หนึ่งก็ดึงดูดนักลงทุนเช่นนั้น ยุคนั้นเมืองใหญ่เริ่มหันมาแข่งกันในสนามเศรษฐกิจฐานความรู้ ใครบริหารให้เมืองสะอาดเรียบร้อยและสะดวกสบาย จนดึงดูดบริษัททำงานสร้างสรรค์มาอยู่ได้มากกว่าก็มีแต้มต่อ

ตั้งแต่เริ่มแรก การสร้างแบรนด์ Green City ไม่ใช่แค่สักแต่ปลูกต้นไม้ให้เยอะๆ พวกเขาวางแผนอย่างดีให้มีต้นไม้ขึ้นแน่นเน้นในถนนสายยุทธศาสตร์ เช่น ถนนจากสนามบิน ถนนเชื่อมย่านสำคัญเพื่อเป็นร่มเงาให้คนเดินทาง เพียง 3 ปีหลังประกาศแนวคิด สิงคโปร์ก็ปลูกต้นไม้ได้กว่า 55,000 ต้น (ตกเดือนละ 1,500 ต้น)

ปี 1975 พื้นที่สีเขียวกลายเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งแผนกดูแลโดยเฉพาะในกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ มีพระราชบัญญัติสวนสาธารณะและนันทนาการเพื่อปลูก ดูแล อนุรักษ์ ปี 1991 มีกฎหมายการจัดสรรพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนร้อยละ 85 มีสวนห่างจากที่พักในระยะเดินไม่เกิน 400 เมตร จนกระทั่งปี 1996 ถนนอุดมต้นไม้ที่เชื่อมย่านสำคัญก็กลายเป็น Park Connector Network (PCN) เส้นทางที่เชื่อมโยงทุกสวนในสิงคโปร์เข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีระยะทางรวม 330 กิโลเมตร

การทำงานต่อเนื่องไม่ได้ต้องการแค่เม็ดเงิน สิงคโปร์ดึงให้หน่วยงานรัฐและเอกชนมาช่วยกันปลูกต้นไม้ แล้วใช้กลไกผังเมืองเป็นกุญแจสำคัญเพื่อเอาชนะข้อจำกัดทางที่ดิน สีเขียวของพวกเขาไม่ได้อยู่แค่บนพื้นดิน ผนังและหลังคาของสิ่งปลูกสร้างก็เขียวไปด้วย เพราะมีการกำหนดให้สร้างพื้นที่สีเขียวในอาคารตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา มีไกด์ไลน์วิธีเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับอาคารสูงโดยเฉพาะ ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจด้วยนโยบายสิ่งก่อสร้างสีเขียว อาคารไหนได้คะแนนประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเกณฑ์ดี เจ้าของตึกจะลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ส่วนคนทั่วไปก็มีส่วนร่วมได้ในสเกลที่เหมาะได้ เช่น ลงมือปลูกผักสวนครัว

ภาคหน่วยงานที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องต้นไม้ก็แข็งแรง ทุกวันนี้สิงคโปร์มี National Parks Board หรือ Nparks คอยจัดการดูแลพื้นที่สีเขียวให้งามและมีระบบนิเวศที่ดี ให้ความรู้ประชาชนและประสานงานกับหน่วยอื่นๆ ที่ทำงานกับเมือง เช่น จะสร้างทางคมนาคมก็ต้องพิจารณาเรื่องความเป็นอยู่ของต้นไม้ด้วย หน่วยงานหลักทำงานใต้ร่มเดียวกันในกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ เมื่อทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกัน ต้นไม้จึงได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง

ด้วยรูปแบบการทำงานที่ว่ามา จากประเทศที่แทบไม่เหลือต้นไม้สักต้น ปี 2017 MIT Senseable City Lab รายงานว่าสิงคโปร์มีต้นไม้เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านต้น สวนสาธารณะจาก 13 แห่งเพิ่มเป็น 330 แห่ง ต้นไม้กลายเป็นแคมเปญโฆษณาชั้นดีให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา นำไปสู่การเติบโตของ GDP ทั้งยังได้รับการจัดอันดับจากหลายสำนักให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

พื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์มีโฉมหน้าหลากหลาย ตัวอย่างเช่น PCN ที่จะมีการขยายเส้นทางจักรยานตามนโยบาย National Cycling Plan ถัดมาคือ Singapore Botanic Gardens สวนพฤกษศาสตร์ลำดับที่ 3 ของโลกและแห่งแรกในเอเชีย มรดกโลกที่เพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรมให้สิงคโปร์ ตัวอย่างสุดท้ายที่แสนโด่งดังอย่าง Gardens by the Bay ก็มีคนเข้าชมมากถึงปีละ 6.4 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบเส้นทางธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสวนบำบัดที่ตอบโจทย์ด้านจิตใจผู้คนด้วย

ภายในปี 2020 สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มระยะทาง PCN ให้ยาว 360 กิโลเมตร เพิ่มเติมแหล่งหย่อนใจให้ผู้คนมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครบ 56,250 ไร่ มุ่งไปสู่เป้าหมายปี 2030 ตาม The Singapore Property Master Plan ที่กำหนดนโยบายว่า ‘More Land, More Home, More Greenery’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เรียกว่า Biophilic Design หรือการออกแบบที่รักโลกรักชีวิต วันข้างหน้าสิงคโปร์จะออกแบบสวนบนตึกเพื่อสร้างลมหายใจให้ทั้งเมือง สร้างความยั่งยืนเตรียมรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต

หันกลับมามองกรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งนี้อาจไม่เหลือพื้นที่ใหญ่โตสำหรับระดมปลูกต้นไม้ แต่กลยุทธ์ทุกอย่างต้องปรับให้เข้ากับบริบท ดูอย่างสิงคโปร์ที่สีเขียวรุกคืบเข้าหาตึกสูง สอดส่องบ้านเราดีๆ จะเห็นโอกาสเพิ่มสีเขียวในพื้นที่บริเวณโครงสร้างทิ้งร้างมากมาย อย่างเช่นพื้นที่ใต้ทางด่วน แล้วมาติดตามกันต่อว่าเราจะเล่นเกมยาวในการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เขียวขึ้นอย่างไรได้บ้าง

โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง


Contributor