19/11/2019
Environment
กู้โลกด้วยการออกแบบเมือง คุยกับสเตฟาโน โบเอรี – สถาปนิกผู้ออกแบบ ‘ป่าในเมือง’
ชยากรณ์ กำโชค
ช่วงที่ผ่านมา อิตาลีกำลังเผชิญกับน้ำท่วมในเมืองเก่าแก่อย่างเวนิซ จนอาจสร้างความเสียหายหนักให้เมือง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า – นี่คือผลจากภาวะโลกร้อน ผลจากน้ำมือมนุษย์ที่ย้อนกลับมาเป็นภัยใหญ่ที่คุกคามมนุษย์เอง
คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรกันดี
หลายคนอาจนึกถึงการทำงานของนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกร แต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอย่าง ‘สถาปนิก’
แต่ที่จริงแล้ว 70% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดถูกปล่อยออกมาจากเขตเมือง พื้นที่สีเขียวที่ถูกแทนที่ด้วยตึกสูงและถนนคอนกรีต โดยตัดความสัมพันธ์กับต้นไม้อย่างสิ้นเชิง ทำให้เมืองกลายเป็นศัตรูกับธรรมชาติ
ดังนั้น หากมองย้อนกลับไปถึงรากของปัญหา และเทรนด์ที่ผู้คนจะอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาชีพสถาปนิกที่ทำหน้าที่ ‘ออกแบบเมือง’ เป็นอาชีพที่น่าพูดคุยด้วยอย่างยิ่ง
Urbanis ชวนคุณไปสนทนากับ สเตฟาโน โบเอรี่ สถาปนิกชื่อดังชาวอิตาเลียน เขาคือสถาปนิกที่มีผลงานสร้างชื่ออย่างอาคารสวนแนวตั้งในมิลาน ที่มีต้นไม้ทั้งหมดถึง 800 ต้น จนแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปพัฒนาในหลายเมืองทั่วโลก
เขาคือสถาปนิกที่เชื่อว่า เมืองและป่าสามารถไปด้วยกันได้
ตึกสูงไม่ได้เป็นเพียงแค่บ้านของมนุษย์ แต่ยังเป็นบ้านของแมกไม้และฝูงนกได้ด้วย และเมื่อเมืองไม่ได้พัฒนาในแนวราบ ทว่าพัฒนาสูงขึ้นไปในแนวตั้ง การออกแบบระบบนิเวศแนวตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ที่จริงแล้ว ต้นไม้สามารถดูดซับมลพิษในเมืองที่เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 40% การพัฒนาเมืองและการออกแบบอาคารจึงเป็นอีกภารกิจกู้โลก ยิ่งโดยเฉพาะในเวลาที่ภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามทุกคน
แนวคิดการสร้างอาคารสวนแนวตั้งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่โจทย์ใหญ่คือ การสร้างอาคารสวนแนวตั้งที่ใช้เงินทุนในการออกแบบและการดูแลรักษา จะถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะผลกระทบรุนแรงของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
ดังนั้น การสนทนากับ ‘สถาปนิกกู้โลก’ อย่าง สเตฟาโน โบเอรี่ จึงอาจช่วยให้เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้บ้าง
อาชีพสถาปนิกของคุณจะกู้โลกได้อย่างไร
ไม่ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนหรือขับเคลื่อนไปในทางใด บทบาทของสถาปนิกย่อมยังเกี่ยวข้องกับอนาคตของเมือง เอกลักษณ์ของอาชีพเราคือ เรามีสองอย่างที่ต้องทำไปพร้อมกัน อย่างแรกคือ เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองตลอดเวลา เราต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเมือง เปิดรับความคิดเห็นจากคนอื่นเพื่อดูว่า เราควรจะพัฒนาเมืองอย่างไรในฐานะสถาปนิก ขณะเดียวกันเรามีสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องทำในฐานะสถาปนิกคือ เราต้องสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การเลือกใช้สี จนถึงการออกแบบ ซึ่งเราต้องเลือกสรรสิ่งเหล่านั้นให้สอดคล้องกับอนาคตของเมือง
เราไม่สามารถให้ความสำคัญกับอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ในฐานะสถาปนิก การออกแบบคือหัวใจของอาชีพเรา แต่เราก็ต้องมองไปถึงอนาคตของเมือง ซึ่งคืออนาคตของโลกใบนี้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้อาชีพของเราท้าทาย น่าสนใจ และก็เป็นอาชีพที่ยากในเวลาเดียวกัน
คุณเริ่มเป็นสถาปนิกที่สนใจต้นไม้และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ผมเป็นคนที่หมกมุ่นและชื่นชอบต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก ต้นไม้แต่ละต้นไม่เหมือนกันเลย แต่ละต้นมีเอกลักษณ์และเรื่องราวของมันเอง แต่เมื่อพูดถึงต้นไม้ มนุษย์เรากลับเหมือนคนใบ้บอด เราไม่เคยตระหนักว่าต้นไม้สำคัญกับเราอย่างไร เราไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อของต้นไม้ ซึ่งแท้จริงแล้วต้นไม้เป็นส่วนสำคัญของชีวิตพวกเราอย่างมาก
ความหมกมุ่นในต้นไม้ของผมเริ่มถูกนำมาใช้กับการออกแบบก็ตอนที่ผมเดินทางไปเมืองดูไบเมื่อปี 2005 ตอนนั้นดูไบเต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้าที่ถูกสร้างใหม่ และทุกตึกถูกสร้างด้วยกระจก ซึ่งกระจกเป็นวัสดุที่สวยงาม แต่มันไม่ใช่วัสดุที่ดีที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม ผมจึงเริ่มปรึกษากับนักเรียนของผมว่า ทำไมเราไม่ลองสร้างตึกที่มีต้นไม้เยอะๆ ดูล่ะ
ผมกลับมานำเสนอความคิดนี้ต่อนายทุนในเมืองมิลาน ผมบอกพวกเขาว่า ผมอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ตอนแรกๆ พวกเขาก็ยังไม่เชื่อในแนวคิดของผม จนกระทั่งพวกเขาเริ่มตระหนักว่า โลกเราต้องการตึกแบบนี้
การสร้างป่าในเมืองคืออะไร และจะกู้โลกได้อย่างไร
การสร้างอาคารสวนแนวตั้งเป็นเพียงส่วนประกอบเดียวของการสร้างป่าในเมือง การสร้างป่าในเมืองคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ เช่น การสร้างสวนสาธารณะ การทำสวนบนหลังคา ไปจนถึงการสงวนพื้นที่ป่ารอบๆ เขตเมือง แต่กระนั้นการสร้างป่าในเมืองก็ยังเป็นเพียงแค่อีกหนทางในการชะลอภาวะโลกร้อน หรือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ภาครัฐต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือ การบริหารจัดการการอพยพจากชนบทสู่เมืองของประชาชน การพัฒนาขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานทางเลือก ไปจนถึงการสร้างพนังกันน้ำในบางเมือง
การสร้างป่าในเมืองมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ การสร้างป่าในเมืองที่ดำรงอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า คุณต้องเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ คุณต้องแทรกแซงการพัฒนาของเมืองและเปลี่ยนทิศทางของมัน ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำคือ การทดแทนหรือปกคลุมพื้นผิวของเมืองที่เป็นคอนกรีต หินอ่อน หรือหินด้วยพื้นที่สีเขียว (Demineralization) เพราะวัสดุก่อสร้างเหล่านี้เพิ่มความร้อนให้กับเมือง และส่งผลต่อชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งการสร้างอาคารสวนแนวตั้ง หลังคาสีเขียว และสวนสาธารณะล้วนเป็นสิ่งที่ทุกเมืองทำได้
ประเภทที่สองคือ การสร้างป่าในเมืองที่กำลังสร้างขึ้นใหม่ ปัจจุบันเราแทบจะหลีกเลี่ยงการสร้างเมืองใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน สำหรับการสร้างเมืองใหม่ นอกจากคุณจะสร้างสวนสาธารณะ หรืออาคารสวนแนวตั้ง คุณยังสามารถรักษาพื้นที่สีเขียวรอบๆ เขตเมืองไว้ได้ ซึ่งมันยังเป็นการขีดเส้นพื้นที่เพื่อจำกัดการขยายของเขตเมือง เพราะปัจจุบันหลายเมืองทั่วโลกเผชิญกับการตั้งรกรากรอบๆ เมือง (Peripheral Settlement) เนื่องจากคนอยากอาศัยอยู่ใกล้กับความเจริญ แต่ในเมืองก็ไม่มีพื้นที่เพียงพอแล้ว จนเมืองขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ซึ่งมันคือฝันร้ายของทุกคน โดยตอนนี้ผมกำลังมีโครงการลักษณะนี้ในจีน เม็กซิโก และอียิปต์
กรุงเทพมหานครเรียนรู้อะไรจากคุณได้บ้าง
สำหรับกรุงเทพฯ แน่นอนว่าถูกจัดอยู่ในประเภทที่คุณต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทดแทนหรือปกคลุมพื้นผิวของเมืองด้วยต้นไม้ เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองใหม่ ซึ่งการพัฒนาเมืองสีเขียวในเมืองที่กำลังถูกสร้างขึ้นใหม่ กับเมืองที่ถูกพัฒนามายาวนานแล้วอย่างกรุงเทพฯ นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แนวคิดของผมสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกเมืองทั่วโลก และผมเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในกรุงเทพฯ อยู่
หากคุณกลับมาดูข้อเท็จจริงว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบทั้งหมดถูกปล่อยออกมาจากเมือง และมันคือหนึ่งในสาเหตุของการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ที่ทำให้กรุงเทพฯ อาจกำลังจมอยู่ใต้น้ำในอีก 30 ปีข้างหน้า คุณจะตระหนักว่า นี่คือปัญหาใหญ่ที่กำลังคุกคามคุณและทุกคน
ประเทศที่เผชิญกับผลร้ายของภาวะโลกอย่างรุนแรงที่สุด คือประเทศยากจน แนวคิดการออกแบบเมืองและอาคารของคุณที่ใช้ต้นทุนสูงในการสร้างและรักษา จะถูกนำไปใช้ในประเทศเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง
ผลกระทบของภาวะโลกร้อนกำลังกระทบส่งผลต่อคนจนมากกว่าคนรวย ผลกระทบของมันชัดและรุนแรงกว่าในบางประเทศ นี่คือสิ่งที่คุณเห็นได้ชัดเจน แนวคิดของผมไม่มีอะไรซับซ้อน แค่คุณต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ซึ่งมันสามารถทำได้หลายวิธี
ทุกประเทศสามารถเรียนรู้ได้จากข้อผิดพลาดของบางประเทศว่า การพัฒนาเมืองโดยตัดสัมพันธ์กับต้นไม้และป่าอย่างสิ้นเชิงนั้นมันสร้างผลร้ายอะไรได้บ้าง
ความจริงที่คุณเปลี่ยนไม่ได้คือ ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% ซึ่งหมายความว่า ต้นไม้คือพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของคุณ ยิ่งคุณรักษาหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองคุณได้มากเท่าไร คุณยิ่งสามารถต่อสู้กับศัตรูในบ้านของคุณเองได้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น เป็นวิธีที่ไม่ได้ซับซ้อน แต่เป็นวิธีอัศจรรย์ที่สามารถต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งมันหมายถึงการอยู่รอดของเมืองและสิ่งมีชีวิต
เราจะสามารถสื่อสารแนวคิดนี้ออกไปยังภาคส่วนอื่นๆ และประชาชนได้อย่างไร
ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนี่แหละครับ ทำให้พวกเขาเข้าใจภาวะโลกร้อน ซึ่งคือภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้น และอีกนัยนึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนจะถูกบรรเทาได้ก็ต่อเมื่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ผมมองว่า เราไม่ควรเอาความหวังทั้งหมดไปฝากไว้กับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจของประเทศ แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาต้องมาจากพวกเขาด้วย แต่ก็มีหลายอย่างที่เราสามารถเริ่มทำได้เอง การต่อสู้กับภาวะโลกร้อนต้องมาจากแนวทางล่างขึ้นบนด้วย
อย่างเช่นผมในฐานะสถาปนิก ผมก็สามารถทำได้ในส่วนของผม สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบ แต่สถาปัตยกรรมยังเกี่ยวโยงกับสังคมและการเมือง เพราะสถาปนิกคืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ล้วนๆ และพื้นที่ของเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน
เพราะผลกระทบรุนแรงของภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
กำลังเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
ดังนั้น การสนทนากับ ‘สถาปนิกกู้โลก’ อย่าง สเตฟาโน โบเอรี่
จึงอาจช่วยให้เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้บ้าง