15/05/2020
Environment

เมืองนอกโลก: ไม่ใช่แค่ Sci-Fi แต่จะเกิดขึ้นจริง อนาคตของคนหนึ่งล้านคนบนดาวอังคาร

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
 


ถมทะเลสร้างสนามบิน ใช้ชีวิตบนอาคารสูงกว่าร้อยชั้น เดินทางข้ามทวีปกันในหลักชั่วโมง เจาะอุโมงใต้ทะเล เมื่อพูดเรื่องนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อนทุกอย่างอาจจะฟังดูเหมือนเราอยู่ในโลกอนาคต ซึ่งก็ใช่ เพราะเมื่อตอนนั้นมันคืออนาคต แต่มันก็เกิดขึ้นจริง ๆ นั่นหมายความว่าอนาคตของวันนี้มันก็คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่นานข้างหน้านี้

เมื่อพูดถึงเมืองในอวกาศ การตั้งถิ่นฐานและใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ต่างดวงอย่างดาวอังคาร ทุกอย่างอาจจะฟังดูเหมือนมาจากหนัง Sci-fi แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันดวงจันทร์ได้กลายเป็นโมเดลที่น่าสนใจในการศึกษา “เศรษฐศาสตร์ของบนดาวดวงอื่น” ไปเสียแล้วที่ดินบนดวงจันทร์ต่างถูกจับจองเพื่อหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการซื้อขายพื้นที่บนยานอวกาศสำหรับบริษัทเอกชน หน่วยงานวิจัย และรัฐบาล เกิดความร่วมมือระดับนานาชาติในการวางแผนการจัดการบริหารทรัพยากร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วในปี 2020 ในโครงการ Artemis ของ NASA ที่จะพามนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 และในครั้งนี้เป็นการเบิกทางสู่การสำรวจอวกาศห้วงลึกของมนุษย์ และใช้ดวงจันทร์สานต่อเป้าหมายต่อไปของมนุษย์ก็คือดาวอังคาร

ภาพจำลองวิถีชีวิตบนอวกาศ แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในการออกแบบชีวิตบนดาวอังคารของ Forster and Partners บริษัทด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ส่งให้กับ NASA ในการออกแบบแนวคิดการใช้ชีวิตในอวกาศ เครดิต: Forster and Partners

สิ่งนี้เรียกว่า Space Commercialization หรือ Space Economy การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศที่ไม่ได้พูดถึงแค่ในแง่การเดินทางหรือสำรวจ แต่คือการสร้าง Norm ใหม่ ๆ ในแง่ของการใช้ชีวิต ธุรกิจ ชีวิตประจำวัน เหมือนกับที่ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่ส่งผลในเชิงชีวิต เรามีเมืองท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากการอยู่ติดทะเลหรือภูเขา มีเมืองอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อคมนาคม อวกาศก็เช่นกัน มันจะเปิดสู่โอกาสใหม่ ๆ อีกนับไม่ถ้วน

Elon Musk เคยกล่าวไว้ว่า SpaceX จะนำคนทั้งหมด “หนึ่งล้านคน” เดินทางสู่ดาวอังคาร ภายในปี 2050 นับเป็นแผนการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นในรอบศตวรรษ ไม่ต่างกับการเกิดใหม่ของสหรัฐอเมริกา

การพูดถึงการใช้ชีวิตอยู่บนดาวอังคารจึงเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในหลากหลายมิติมากขึ้น เรามีงานวิจัยด้านจรวด ยานอวกาศ วิศวกรรมมากมาย แต่งานวิจัยในทางมนุษศาสตร์สำหรับการดำรงชีวิตในอวกาศนั้นยังมีน้อยเมื่อเทียบจำนวนและการพูดถึงในสื่อต่าง ๆ

เศรษฐศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ความยั่งยืน เมื่อวิศวกรรมอย่างเดียว ไม่เพียงพอสำหรับการสร้างเมือง

เมื่อเราพูดถึงการตั้งถิ่นฐานในอวกาศ สิ่งแรกที่เราอาจจะนึกถึงคือการสร้าง จะใช้วัสดุแบบไหนที่ทนต่อรังสี หรือหลักชีววิทยาที่ทำให้เราปลูกพืชทำการเกษตรได้เหมือนกับบนโลก แต่จริง ๆ แล้วเมื่อการใช้ชีวิตแบบสังคมเมืองบนดาวอังคารเกิดขึ้น การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม การเมือง และคำถามด้านความยั่งยืน เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

การแข่งขันออกแบบเมืองบนดาวอังคาร โจทย์ตัวอย่างของความท้าทาย

ต้นปี 2020 The Mars Society หน่วยงานที่มีผลงานในการศึกษาความเป็นไปได้ในด้านการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารจัดการแข่งขันที่ชื่อว่า Mars City State Contest เปิดรับแนวคิดการสร้างและบริหารจัดการเมืองบนดาวอังคาร โดยพวกเขาแบ่งการให้คะแนนดังนี้

  • การออกแบบในทางวิศวกรรม โครงสร้าง และการทำงานในเชิงเทคนิค
  • เศรษฐศาสตร์ของเมือง การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การทำงาน
  • สังคม วัฒนธรรม และการเมือง รัฐบาลควรเป็นแบบไหน กฎหมาย รวมไปถึงรูปแบบสังคมการดำเนินนโยบาย การศึกษา, กีฬา, การท่องเที่ยว
  • ความสวยงาม สถาปัตยกรรม ความดึงดูดในการอยู่อาศัย
แนวคิดโครงสร้างแบบรากไม้ของทีม MIT ที่ส่งเข้าประกวดกับ โครงการ Mars City Design เครดิต: Valentina Sumini / MIT Redwood Forest Team

การตั้งคำถามถึงการออกแบบเมืองบนดาวอังคารมีมาก่อนหน้านี้อีกหลายครั้งมาก มีการจัดการแข่งขันอีกรายการที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2017 ชื่อ Mars City Design ซึ่งนักออกแบบจากสถาบันระดับโลกต่างส่งผลงานเข้ามา หนึ่งในทีมที่ชนะได้แก่การออกแบบจาก MIT ที่ออกแบบเมืองในคอนเซป Redwood Forest ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างรูปโดมขนาดใหญ่หลาย ๆ โดมที่เชื่อมต่อกันด้วย “ราก” ใต้ดินเพื่อป้องกันรังการโดนรังสีต่าง ๆ และใช้รากเหล่านี้ในการส่งน้ำ ทรัพยากร และการคมนาคม

จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์การ “อยู่อาศัยระยะยาว” และการ “เกิดขึ้นของสังคมเมือง” ในสถานที่ที่เราแทบจะต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

เมืองจำลองดาวอังคารที่ดูไบ สิ่งที่บอกว่าการศึกษาเรื่องนี้จริงจังมาก

นอกจากการเกิดขึ้นจริงของ Space Commercialization แล้ว ในแง่ของการพัฒนาเมืองบนดาวอังคารในบางประเทศก็นับว่าจริงจังมาก ตัวอย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ลงทุนศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองบนดาวอังคารและหนึ่งในแผนการพัฒนาชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็คือการสำรวจอวกาศ นอกจากแผนการไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารในปี 2117 แล้ว (อารมณ์ประมาณแผนยุทธศาสตร์ชาติร้อยปีของบ้านเขา) ยังมีการลงทุนสร้าง Mars Science City เพื่อศึกษาอนาคตของการใช้ชีวิตบนดาวอังคารด้วยงบประมาณกว่าหนึ่งร้อยสามสิบล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมืองจำลองดาวอังคารที่มีแผนสร้างขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เครดิต: Dubai Media Office

ดังนั้นการใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่นจึงไม่ใช่เรื่องอื่นไกลอีกต่อไป เราได้เห็นการพูดถึงในแวดวงวิชาการอย่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากวงของการสำรวจอวกาศ และวิศวกรรมแบบเดิม ๆ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนามนุษยชาติในระยะยาวรวมไปถึงการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ การพัฒนาบุคคล ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการมีอยู่ของมนุษยชาติในฐานะสิ่งมีชีวิตหลายดวงดาว (Multi-planetary life)

การออกแบบที่อยู่อาศัยและโครงสร้าง สถาปัตยกรรม

ดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางเพียงแค่ 1% ของโลก และมีสภาพแวดล้อมที่แห้ง มีพายุฝุ่นคล้ายกับพายุทะเลทรายบนโลก และการทำให้ดาวทั้งดวงมีบรรยากาศเหมือนโลก หรือที่เรียกว่า Terraforming นั้นไม่อาจทำได้ในหลักสิบปีหรือร้อยปี ในช่วงแรกของการอยู่อาศัยของสังคมเมืองบนดาวอังคารจึงต้องพึ่งพาโครงสร้างที่ทนต่อรังสี ความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงกลางวันและกลางคืน รวมถึงสามารถห่อหุ้มชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ปัจจุบันมีการศึกษาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Self-assembly Structure หรือโครงสร้างที่ประกอบตัวเองได้ในอวกาศ เพื่อลดข้อจำกัดด้านการขนส่งโครงสร้างขนาดใหญ่จากโลก ไปจนถึงแนวคิดในการทำ 3D Printing โครงสร้างเพื่อการอยู่อาศัยเพื่อทำลายข้อจำกัดด้านวัสดุและให้อิสระในทางสถาปัตยกรรม

แนวคิดการออกแบบโครงสร้างบนดาวอังคารที่ใช้เทคนิค 3D Printing เครดิต – SEArch/Clouds Architecture Office

อีกสิ่งหนึ่งก็คือการออกแบบเมืองไม่ใช่แค่ Function การใช้งานเพียงอย่างเดียวแต่มันสะท้อนถึงแนวคิด วัฒนธรรม และสังคม ซึ่งแม้กระทั่งบนโลกเองอิทธิพลทางวัฒนธรรมยังส่งผลให้เกิดการออกแบบที่แตกต่างไป เมืองยุคเก่าที่ออกแบบให้ใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของขุนนางและชนชั้นสูง กับเมืองยุคใหม่ที่คนมีเงินจะใช้ชีวิตอยู่ในเขต Suburb เพราะการเกิดขึ้นของรถยนต์ หรือการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่แสดงนัยทางการปกครอง อนุเสารีย์ จตุรัส การออกแบบถนน ทั้งหมดเมื่อไปอยู่บนดาวอังคารการศึกษาเรื่องการวางผังเมืองและออกแบบทั้งแง่วิศวกรรม และสังคมจึงต้องมาคู่กัน

ทรัพยากรและพลังงาน

ในปี 2020 NASA ได้ประกาศแผนการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ISRU หรือ In-Situ Resource Utilization ซึ่งเป็นกรอบการศึกษาการสร้าง และบริหารจัดการทรัพยากรบนดาวดวงอื่น มีหลาย ๆ งานวิจัยที่ถูกทำโดยหลากหลายมาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย พูดถึงเรื่องการจัดการกับพลังงานและทรัพยากร ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญก็ได้แก่

  • น้ำ และอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการใช้ชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากบนดาวอังคารไม่มีออกซิเจนและมนุษย์จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ ทำให้มีการศึกษาถึงการสังเคราะห์ออกซิเจนจากบรรยากาศบนดาวอังคารด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า MOXIE ซึ่งจะถูกส่งไปทดสอบในปี 2021 กับยาน Preserverence Rover ของ NASA รวมถึงน้ำที่การสังเคราะห์น้ำจากธาตุที่มีบนดาวอังคาร หรือแม้กระทั่งแนวคิดในการละลายขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารเพื่อให้เกิดน้ำ และเราก็ใช้วิธีการบริหารจัดการ Recycle น้ำคล้ายกับบนโลก
  • ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าในอวกาศส่วนมากได้มาจากการใช้ Solar Arrays หรือแผงพลังงานแสงอาทิตย์
  • เชื้อเพลิง เนื่องจากเรายังต้องมีการขนส่งทั้งมนุษย์และทรัพยากรอื่น ๆ กับโลก ทำให้เชื้อเพลิงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดเที่ยวบินระหว่างโลกกับดาวอังคาร ซึ่งวันหนึ่งเชื้อเพลิงบนดาวอังคารจะต้องมีราคาขึ้นและลงเหมือนกับราคาน้ำมันบนโลก การผลิตเชื้อเพลิงบนดาวอังคารจึงมีนัยสำคัญต่อการมีอยู่ของสังคมและเศรษฐกิจบนดาวอังคาร ในปี 2018 SpaceX ประกาศว่าพวกเขากำลังพัฒนาโรงงานผลิตเชื้อเพลิงบนดาวอังคารเพื่อผลิตมีเทนและออกซิเจนแล้วก็นำผลผลิตที่ได้ไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับยานลงจอดบนดาวอังคารสำหรับการบินกลับโลกได้

ปัจจุบันการศึกษา ISRU เป็นหัวข้อวิจัยที่ใหม่และน่าสนใจที่นอกจากจะมองในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว เศรษฐศาสตร์ของหารบริหารจัดการก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ไม่นำมาคิดร่วมด้วยไม่ได้เลย

ความยั่งยืนด้านอาหารและการเกษตร

การเกษตรและความยั่งยืนด้านอาหารคือสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม คำนี้มาฮิตช่วงหลัง ๆ ที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศบนโลกส่งผลให้เราต้องทบทวนถึงความพร้อมในอนาคต และบนดาวอังคารเราก็อาจเจอปัญหานี้เช่นกัน

อนาคตของการสร้างอาหารและปลูกพืชบนดาวอังคารในเรือนกระจกขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงคนนับล้าน ที่มา – เครดิต: Dubai Media Office

นักวิทยาศาสตร์พบว่าดาวอังคารมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการปลูกพืช แต่เราก็ยังต้องอาศัยการควบคุมสภาพแวดล้อมคล้ายกับเรือนกระจก รวมถึงสภาพแวดล้อมด้านแสงของดาวอังคารที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าบนโลก ดังนั้นเราคาดหวังที่จะได้เห็นโครงสร้างขนาดใหญ่สำหรับการเพาะปลูกโดยเฉพาะที่มีการบริหารจัดการอย่างละเอียด และการปรับปรุงพันธ์ุพืชบนดาวอังคารก็จะช่วยให้เรามี GMOs ที่เหมาะสมกับการเติบโตบนดาวอังคารเพื่อหล่อเลี้ยงคนหนึ่งล้านคน

สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ อาหารไม่ใช่สิ่งที่แค่กินเพื่ออยู่รอด แต่มันคือสิ่งที่เป็นตัวแทนของสังคมและวัฒนธรรม กลุ่ม Space Initiative จาก MIT Media Lab ได้พูดถึงวัฒนธรรมของอาหารบนอวกาศ สรุปเอาไว้ว่า “อาหารนี่แหละคือสิ่งที่บอกว่าเราเป็นมนุษย์” สิ่งนี้หมายความว่าการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารจะนำไปสู่วัฒนธรรมการกินและอาหารแบบใหม่ด้วยเช่นกัน

การปกครองและสังคม

เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคม แน่นอนว่าต้องมีรูปแบบของการปกครองรวมถึงลักษณะสภาพทางสังคมที่เป็นในเชิงการควบคุมทางสังคมหรือ Social Control อันนี้นักรัฐศาสตร์ก็ต้องมาคิดว่ารูปแบบของการปกครอง ทำความเข้าใจมูลค่าของทรัพยากร ความหมาย เป้าหมายในชีวิตของประชาชนดาวอังคาร นิยามของ Power และ Authority จะมาจากไหน รวมถึงการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Union) นิยามของการให้คุณค่าร่วมกัน และกำหนดเป้าหมายร่วมเพื่อให้ประชาชนบนดาวอังคารสามารถทำงานที่ผลักดันอนาคตของดาวอังคารต่อไปได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำการทูตกับโลก เราจะต้องมองโลกยังไง ถือว่าดาวอังคารเป็นเขตการปกครองพิเศษของโลกไหม หรือนับเป็นหนึ่งในชาติที่อยู่ใน United Nations ไหม หรือควรใช้บรรทัดฐานของชาวโลกในการกำหนดชีวิตของคนบนดาวอังคารด้วยหรือไม่

สุดท้าย เราไม่ได้สร้างเมืองใหม่เพื่อจะทิ้งโลก แต่ทำให้มนุษยชาติเดินไปข้างหน้าต่างหาก

การย้ายถิ่นฐานและการค้นพบดินแดนใหม่ ๆ ของมนุษย์ แฝงอยู่ในทุกหน้าประวัติศาสตร์ เราเดินทาง เดินทาง แล้วก็เดินทางเพื่อหาสิ่งที่ดีกว่า เพื่อค้นหาคำตอบใหม่ ๆ ของชีวิต เพื่อสร้างเผ่าพันธุ์ที่ดีขึ้น นิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องอาจจะมองการเดินทางสู่อวกาศเพื่อค้นหาโลกใหม่ ค้นหาดาวดวงใหม่ให้กับมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วการสำรวจอวกาศอาจจะไม่ใช่แค่เพื่อหาดาวดวงใหม่ที่ดีกว่าโลกหรือทอดทิ้งดาวบ้านเกิดของเรา แต่มันคือเหตุผลเดียวกับที่ทำไมเราต้องออกเดินทางเพื่อค้นพบทวีปใหม่ ๆ นั่นก็เพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และทำให้ชีวิตหลากหลายชีวิตบนโลกดีขึ้น ทลายกำแพงของความเชื่อเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ และเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ และนี่ก็คือความน่าทึ่งของมนุษย์

ด้วยเทคโนโลยี Terraforming วันหนึ่งดาวอังคารสีส้มจะค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นดาวเคราะห์สีฟ้าและเขียวเหมือนกับโลก ทั้งหมดนี้แม้อาจใช้เวลาหลักร้อยปีหรือพันปี แต่การที่มนุษยชาติมาไกลขนาดนี้ก็บ่งบอกว่าแนวคิดเรื่องดาวเคราะห์ดวงที่สองนี้ไม่ยากเกินกว่าจะเป็นจริง เครดิต: SpaceX

และในตอนนี้อวกาศกำลังจะเป็นเป้าหมายต่อไป ดาวอังคารจะไม่ไกลเกินเอื้อมของธุรกิจขนาดกลางด้วยซ้ำ การศึกษาความเป็นไปได้ ความพร้อมและวางเป้าหมายระยะยาวในทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การออกแบบเพื่อก้าวสู่ยุคของการใช้ชีวิตในอวกาศ เป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษาควรริเริ่ม ก่อนที่เราจะตกขบวนรถไฟของยุคแห่ง Space Commercialization ที่จะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของเรานี้

อ้างอิง
UAE Announces $140 Million BIG-Designed Mars Science City โดย Patrick Lynch, Arch Daily
– Algae Caviar, Anyone? What We’ll Eat on the Journey to Mars โดย Nicola Twilley, WIRED, 11 February 2020
Design the First 1-Million Person City on Mars, Mars City Slate Contest
Elon Musk says he plans to send 1 million people to Mars by 2050 by launching 3 Starship rockets every day and creating ‘a lot of jobs’ on the red planet โดย Morgan McFall-Johnsen และ Dave Mosher, Business Insider, 18 January 2020


Contributor